ดราม่ากันใหญ่โตเรื่องที่นักศึกษาศิลปะวาดภาพหัวพระพุทธรูปอยู่ในร่างอุลตร้าแมน ได้อ่านได้ฟังแล้วก็เป็นที่น่าหดหู่ใจ ว่าเมื่อไรระบบที่กดให้คนรู้สึกว่าคนที่แตะต้องสถาบันศาสนาจะต้องถูกสังคมลงโทษ จะเบาบางลงสักที 

ย้อนไปเมื่อสักปีก่อน ผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับมิวสิกวิดีโอ Apeshit ของคู่รักเดอะคาร์เตอร์ส์ ว่าบียอนเซ่และเจย์ซี หยิบเอาความเป็นคนดำเข้าไปปะทะกับศิลปะอันสูงส่งของคนขาวในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และพวกเขาก็ทำออกมาได้ดีเยี่ยม นับเป็นการปะทะที่สมศักดิ์ศรี ตอนนั้นมีคนมาคอมเมนต์ถกเถียงทำนองว่า “แค่หยิบเอาสองสิ่ง (คนผิวดำกับลูฟวร์) มาเปรียบเทียบกันก็ผิดแล้ว เหมือนเอาดอกดาวเรืองมาแขวนไว้กับพระพุทธรูปแล้วบอกว่าสองสิ่งนี้เท่ากัน” การเปรียบเทียบของเขาเป็นเรื่องค้างคาใจผู้เขียนอยู่สักพักแล้วก็ลืมไป จนกระทั่งเห็นข่าวพระพุทธรูป-อุลตร้าแมน จึงนึกถึงความคิดนั้นขึ้นมาอีกครั้ง ความคิดที่ว่าของแต่ละสิ่ง กลุ่มคนแต่ละกลุ่มคน อยู่สูง-ต่ำไม่เท่ากัน

ความคิดทำนองนี้ก็ดูจะแพร่หลาย และมีส่วนทำให้โลกใบนี้ยังคงติดอยู่กับระบบชนชั้นที่มีการจัดวางสิ่งต่างๆ ในสังคมไว้ตามลำดับขั้นจากสูงสุดลงไปสู่ต่ำสุด ซึ่งทำให้ผู้ไร้อำนาจไม่สามารถปลดแอกตัวเองได้เสียที

อาจเพราะเราโตมากับคำสอนว่า ให้ตั้งใจเรียน โตมาจะได้เป็น ‘เจ้าคนนายคน’ หรือให้มีสมบัติ ‘ผู้ดี’ อย่าทำตัวแบบ ‘ไพร่’ ทำตัวเหมือนพวก ‘กุลี’ และที่อยู่สูงสุดเหนือกว่าชนชั้นใดๆ ก็คือสามสถาบันหลักที่ดำรงอยู่ร่วมกันในสีธงชาติ ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน มันคือการกำหนดให้แต่ละชนชั้น แต่ละหน่วยในสังคมมีที่ทางของตัวเองที่ชัดเจน เพื่อให้คนมีบทบาทหน้าที่ต่างๆ กัน และได้รับผลประโยชน์จากสังคมไม่เท่ากัน 

และแม้เราจะเห็นๆ กันอยู่ ว่าบางอย่างในระบบก็มีความเสื่อมโทรม เช่นในร่มเงาของศาสนา เราก็ยังเห็นข่าวอยู่บ่อยๆ ว่ามีผู้ที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ หรืออาศัยผ้าเหลืองทำผิดศีลธรรมจรรยาที่คนไทยรักหนักหนาอยู่หลายต่อหลายข้อ แต่ท้ายที่สุด พระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ในลำดับชั้นที่แตะต้องแทบไม่ได้ ถูกทำให้กลายเป็นการ ‘ดูหมิ่น’ ไปเสียทุกครั้ง 

พระพุทธเจ้าคิดอย่างไรกับการจัดลำดับชั้นทางสังคม?

ใครจะไปรู้ใจพระพุทธเจ้า แต่หากอ่านเอาจากพุทธประวัติฉบับที่เราได้ร่ำเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก พระพุทธเจ้าเติบโตมาในวรรณะกษัตริย์ ที่อยู่ใกล้ชิดควบคู่กันมากับวรรณะพราหมณ์ ที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในเริ่มแรกนั้นพระพุทธเจ้าก็เพลินใจกับความสะดวกสบายของชีวิตที่อยู่ในจุดสูงสุด จนกระทั่งได้ออกไปนอกวังและพานพบกับผู้คนที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น โดยเฉพาะคนในวรรณะอื่นๆ ที่ต่ำกว่าพระองค์ ซึ่งล้วนแต่เต็มไปด้วยความทุกข์น่าอเนจอนาถ นั่นทำให้พระองค์เริ่มคิดที่จะออกบวชเพื่อศึกษาวิธีพ้นไปจากทุกข์เหล่านั้น 

เป็นไปได้ไหมว่า มากไปกว่าความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ ก็เป็นระบบชนชั้นวรรณะนั่นเองที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะสะเทือนใจ แน่นอนว่าคนที่นอนป่วยใกล้ตายหรือคลอดลูกอยู่ข้างถนนจะเป็นวรรณะอื่นไปไม่ได้นอกจากวรรณะต่ำๆ และการอยู่ในวรรณะสูงก็ไม่ได้แปลว่าความเป็นมนุษย์จะแตกต่าง อย่างที่พระองค์เห็นเหล่านางในวังนอนหลับใหลน้ำลายยืดไม่สวยงามเหมือนยามร่ายรำตอนกลางวัน 

ความเป็นจริงหลายข้อที่พระองค์เห็นและนำไปสู่การตรัสรู้ในที่สุด ส่วนหนึ่งก็คือชีวิตที่ดำรงอยู่ในระบบชนชั้นวรรณะใช่หรือไม่? คำตอบของแต่ละคนคงต่างกัน

และอีกข้อหนึ่ง หากมองอย่างสัตย์จริง ผู้เขียนมองว่าพระพุทธเจ้าออกจะเป็นคนเรียบง่ายและถ่อมตน ท่านไม่ได้ยกตัวเองให้ยิ่งใหญ่หรือสูงส่งเกินจับต้อง ดูเหมือนพระพุทธองค์จะปลดปล่อยตัวเองออกจากระบบชนชั้นวรรณะ​ไปแล้ว และคล้ายจะไม่มีคำสอนที่บังคับให้เรายกรูปเคารพไว้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เพียงแต่ให้มีไว้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า (แรกเริ่มอาจเพื่อเป็นวิชวลเอาไว้ให้สำหรับใครที่จินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำ) ขณะเดียวกัน เรายังมีวิธีอีกมากมายในการระลึกถึงพระพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์ได้ไม่ต่างจากการมองไปยังรูปเคารพ 

เป็นไปได้ไหมว่า มากไปกว่าความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ ก็เป็นระบบชนชั้นวรรณะนั่นเองที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะสะเทือนใจ

อย่างนี้แล้วหากพระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ท่านจะรู้สึกอย่างไร เมื่อมีคนที่พยายามทำร้ายหรือกดขี่คนอื่นในนามของการยกให้พระองค์หรือกระทั่งรูปเคารพของพระองค์อยู่ในจุดสูงสุด ไม่ต่างจากการยกพราหมณ์ให้อยู่สูงแบบในระบบวรรณะที่พระองค์ละทิ้งออกมา 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามีดราม่าทำนองนี้ หลายคนน่าจะเคยเห็นป้ายบิลบอร์ดที่บอกว่า “Buddha is not for decoration. Respect is common sense.” โอเค เรื่องของการเคารพในศรัทธาของผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ดูเหมือนว่าขอบเขตของคำว่าเคารพในพุทธศาสนาของบ้านเรายังค่อนข้างจะคับแคบอยู่ (แต่เวลาเดินไปตามถนนที่เขาขายพระเครื่อง พระพุทธรูปจิ๋วเป็นร้อยเป็นพันก็อยู่ในกระบุงเรี่ยทางเท้าเป็นปกติ ไม่มีใครดราม่าแต่อย่างใด)

อดนึกถึงไม่ได้และขอยกเป็นตัวอย่าง ที่ประเทศญี่ปุ่นที่ก็รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธเช่นกัน แม้จะคนละนิกาย แต่เขาก็สามารถแตะต้องพระพุทธศาสนาได้มากมายกว่าเรานัก และมันก็เป็นวิธีการอยู่รอดของสถาบันศาสนาในบ้านเขาด้วยการผนวกตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมป๊อป เช่นการมีหุ่นยนต์นักบวชที่มีต้นแบบเป็นพระโพธิสัตว์ที่วัดโคไดจิ หรือการที่พระญี่ปุ่นรับบทเป็นดีเจใช้ดนตรีเทคโนฯ เรียกคนเข้าวัด จนถึงซีรีส์ไลฟ์แอคชั่น Saint Onii-san หรือ Saint Young Man ที่ว่าด้วยวันหยุดฤดูร้อนของพระพุทธเจ้ากับพระเยซู ที่แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่มันก็ยังมีพื้นที่ให้ได้ไปต่อ ไม่ได้ถูกสั่งปลดออกจากที่จัดแสดงแถมเสียงก่นด่าที่ทำเอาศิลปินผู้สร้างงานต้องออกมาขอโทษทั้งน้ำตา เพราะไปแตะต้องสถาบันศาสนา ซึ่งในทางหนึ่ง นอกจากถูกวางบนหิ้ง นี่ยังเป็นการแช่แข็งให้นิ่งอยู่กับที่ ขณะที่คนอื่นๆ เขาไปไหนต่อไหนกันตั้งไกลแล้ว

ศาสนา เครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ

เหตุใดศาสนาจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฝังจิตฝังใจผู้คน ในข้อนี้ จะขอไม่อิงประวัติศาสตร์ แต่อิงจากซีรีส์เกาหลีเรื่องหนึ่งนั่นคือ Arthdal Chronicles ที่มีทฤษฎีน่าสนใจ ผู้เขียนบทเรื่องนี้เป็นสองนักเขียนชื่อดังที่ทำงานกับประวัติศาสตร์เกาหลีมาอย่างยาวนาน ทั้งคู่ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติตัวเองอย่างลงลึกระหว่างเขียนบทซีรีส์มหากาพย์อย่าง Six Flying Dragon และ Deep Rooted Tree ฯลฯ 

น่าสนใจที่หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์อารยธรรมเกาหลีในยุคสมัยต่างๆ จนพรุนแล้ว พวกเขายังศึกษาไปถึงวิธีการสร้างอารยธรรมในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเขียนบท Arthdal Chronicles ซึ่งว่าด้วยการ ‘สร้างชาติขึ้นเป็นครั้งแรก’ ของดินแดนที่พวกเขาสมมติขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบคำถามว่า สิ่งที่ประเทศเกาหลีเป็นอยู่ในทุกวันนี้นั้นเกิดจากอะไร

โครงสร้างสำคัญที่ปรากฏในตัวซีรีส์คือ ศาสนา ในรูปแบบของเผ่าคีรีขาวที่ทำหน้าที่เป็นนักบวชสูงสุด และประกาศตนว่าสื่อสารกับพระเจ้าได้ รวมถึง ราชา หรือตัวละครทากนและพ่อของทากนที่เป็นเจ้าเมืองผู้นำทัพออกไปตีพื้นที่อื่นๆ ในโลกอาร์ธดัลก่อนจะที่ผู้คนจะมีสังกัดเป็นชาติ (เขาใช้คำว่า Nara หรือ Nation) สองสถาบันนี้ดำรงอยู่ควบคู่กัน คานอำนาจซึ่งกันและกัน แย่งกันยึดที่นั่งสำคัญในจิตใจผู้คน และสองสถาบันนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้รวบรวมคนเข้าสู่ศูนย์กลาง ผู้คนที่อยู่กันกระจัดกระจายถูกดึงดูดเข้าหาศูนย์กลางด้วยความเชื่อที่ว่า หากมาอยู่ใต้ร่มเงาของสองสิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้แล้ว จะช่วยให้ชีวิตพวกเขามั่นคงขึ้น เพราะสองสถาบันนี้จะช่วยปกป้องพวกเขาจากสิ่งชั่วร้ายทั้งทางกายภาพในรูปแบบของข้าศึก และทางจิตวิญญาณในรูปแบบของภูตผีปีศาจหรือเภทภัย

แน่นอนว่าการให้ความหมายกับสถาบันสูงสุดเอาไว้เช่นนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างชาติ และเมื่อชาติได้ก่อร่างขึ้น ก็ย่อมมีคนกลุ่มหนึ่งได้ขยับสูงขึ้นภายใต้กลการเมืองและการฝังความเชื่อลงบนหัวผู้คน ใครที่ไม่เชื่อต้องถูกกำจัดออกในฐานะคนชังชาติ (เผ่าคีรีขาวเลือกกำจัดคนที่ปล่อยข่าวที่สะเทือนความศักดิ์สิทธิ์ของตนอย่างรุนแรง เพื่อให้พวกเขาเท่านั้นเป็นสิ่งเดียวที่ valid) และขณะเดียวกัน ชาตินั้นๆ ก็ต้องการแรงงาน จึงมีการออกไปจัดหาทาสเข้ามารองรับเช่นเผ่าวาฮันของนางเอก พร้อมพยายามทำให้พวกเขาเชื่อว่าตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นทาส ขณะที่ก็ได้มีการกำหนดหน้าที่ว่าใครต้องทำอะไร ซึ่งพูดกันแบบแฟร์ๆ ในเวลานั้น เหล่าชนชั้นปกครองก็ได้เสียสละในที่ทางของตนเช่นกัน เช่นทากนเองก็ต้องนำทัพออกไปกว้านหาคนมาสร้างบ้านสร้างเมืองจนแทบไม่ได้อยู่ติดบ้านเกิดเมืองนอน ส่วนหน้าที่อื่นๆ ก็ต้องเป็นของชนชั้นที่แยกย่อยลงมา และรับประโยชน์จากความเป็นชาติ สามารถเข้าถึงทรัพยากรในระดับที่แตกต่างลดหลั่นกันไป ผู้คนกลายเป็นไม่เท่ากัน ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐชาติเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปได้ 

การให้ความหมายกับสถาบันสูงสุดเอาไว้เช่นนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างชาติ และเมื่อชาติได้ก่อร่างขึ้น ก็ย่อมมีคนกลุ่มหนึ่งได้ขยับสูงขึ้นภายใต้กลการเมืองและการฝังความเชื่อลงบนหัวผู้คน ใครที่ไม่เชื่อต้องถูกกำจัดออกในฐานะคนชังชาติ

เมื่อเรามองเจาะไปยังสถาบันศาสนาของซีรีส์เรื่องนี้ ในครึ่งแรกมันแทบจะทำหน้าที่เป็นตัวร้าย กุมอำนาจสูงสุดเหนือยิ่งกว่าราชา คอยควบคุมผู้คนด้วยหลักคำสอน และแทรกแซงทางการเมืองได้อย่างเต็มรูปแบบ จนทากนต้องพยายามสุดชีวิตให้ประชาชนรักตนมากกว่าเผ่าคีรีขาว พระเจ้าและศาสดาที่แท้จริง นั้นมีอยู่จริงๆ ในอาร์ธดัล แต่ผู้เขียนบทก็ได้กระเทาะเปลือกให้เราเห็นถึงวิธีการของคนกลุ่มหนึ่งที่แต่งเติมเรื่องเล่าหรือวิธีประกอบสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมากล่อมใจผู้คนจนกลายเป็นสถาบัน ซึ่งเหล่านั้นแทบไม่ได้เชื่อมโยงกับพระเจ้าด้วยซ้ำ แถมยังมีเบื้องหลังที่รู้ๆ กันในบรรดาผู้มีอำนาจอีกต่างหาก และพวกเขาก็ยินยอมให้มันเกิดขึ้นเพื่อธำรงไว้ซึ่งชาติและอำนาจ

แม้นี่จะเป็นเรื่องแต่งเกี่ยวกับโลกเมื่อหลายพันปีก่อน แต่มันคงไม่ได้ตอบคำถามแค่สำหรับเกาหลีประเทศเดียว ว่าทำไมระบบชนชั้นจึงต้องมาคู่กับการเรียกร้องศรัทธาที่มากมายขนาดนี้  และไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปเป็นพันๆ ปี ระบบนี้ก็ยังคงแข็งแรงทนทานเหนือกาลเวลา หลายครั้งเข้มข้นจนเกินพอดีและแทบจะขาดเหตุผลที่เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ผู้คนจำนวนมากก็ยังคงภักดีกับมัน นี่จึงเป็นระบบที่ช่างน่าทึ่งในความขลังที่สามารถเปลี่ยนศรัทธาให้เป็นหมกมุ่นระดับที่สามารถเกลียดชังคนที่เห็นต่างได้อย่างแนบเนียน

Fact Box

  • ผลงาน 'พระพุทธรูปอุลตร้าแมน' ซึ่งมีเศียรพระพุทธรูปส่วนตัวเป็นอุลตร้าแมน เป็นภาพวาดของนักศึกษา สาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ ที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ระหว่างวันที่ 3-11 ก.ย. ถูกปลดออกจากนิทรรศการ หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพุทธศาสนา
  • ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา พานักศึกษาเจ้าของภาพวาดเข้ากราบขอขมาต่อเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา โดยนักศึกษาคนดังกล่าวระบุว่า ขอโทษในความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมชี้แจงว่า ไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่พุทธศาสนา เพียงแต่ต้องการสื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่เหมือนอุลตร้าแมน ที่อดทนต่อสิ่งเร้าและช่วยเหลือมนุษย์  
Tags: , , , , , ,