ที่ผ่านมา ขั้นตอนยุ่งยากของการหย่าร้างในสหราชอาณาจักร ทำให้เกิดเกมการโทษกันไปโทษกันมา จนเป็นเรื่องดราม่า โดยตามกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1973 ระบุว่า ผู้ที่ยื่นขอหย่าต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการสมรสของตนสิ้นสุดลงด้วยเหตุผลข้อใดข้อหนึ่งใน 5 ข้อนี้ ได้แก่ 1) การนอกใจ 2) พฤติกรรมไม่เหมาะสม 3) มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกทอดทิ้ง 4) แยกกันอยู่นานกว่าสองปี และ 5) ทั้งคู่ตกลงร่วมกันว่าจะหย่า
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ฝ่ายหนึ่งต้องกล่าวหาอีกฝ่ายด้วยเหตุผลข้อใดข้อหนึ่ง เช่น การนอกใจหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อให้กระบวนการหย่าเสร็จสิ้นโดยเร็วขึ้น
แต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เดวิด กอว์ค รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเสนอให้แก้ไขกฎหมายนี้ ในอนาคต กฎหมายหย่าร้างจะมีกระบวนการเร็วขึ้นและลดการกล่าวหากันลง เหตุผลเดิม 5 ข้อนั้นจะถูกย่อยเหลือเพียง ‘เหตุผลยืนยันว่าได้ขาดจากการสมรส โดยไม่อาจคืนดีกันได้’ เท่านั้น รวมทั้งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความต้องการร่วมกันของทั้งสองฝ่ายด้วย
กอว์คบอกว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยยุติเกมกล่าวโทษกัน “ขณะที่เราสนับสนุนสถาบันการแต่งงาน แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อกฎหมายที่ล้าสมัยสร้างหรือเพิ่มความขัดแย้งระหว่างคู่สมรส ผมได้ฟังเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายนี้ และเชื่อมั่นว่านี่เป็นเวลาที่เหมาะสมในการยุติเกมกล่าวโทษกันโดยไม่จำเป็น”
กฎหมายที่จะแก้ใหม่นี้กำหนดกรอบเวลาดำเนินการขั้นต่ำ 6 เดือน ตั้งแต่ขั้นการยื่นขอหย่าไปจนถึงการได้รับเอกสารยุติสถานภาพสมรส โดยจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนตามกฎหมายคือ ขั้นแรกคำสั่งเฉพาะกาลของศาลให้การสมรสสิ้นสุดลง (decree nisi) เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนนี้ผู้ยื่นขอหย่าต้องยืนยันการตัดสินใจอีกครั้งเพื่อขอคำพิพากษาให้หย่า (decree absolute) และยังมีตัวเลือกให้เป็นการยื่นขอหย่าของทั้งสองคนได้
รัฐบาลกล่าวว่า ขั้นตอนนี้จะเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายสำหรับการทบทวน และเปิดโอกาสให้เปลี่ยนใจ
การแก้ไขกฎหมายนี้มีขึ้นหลังจากที่ศาลฎีกาคัดค้านการอุทธรณ์ของ ‘โอเวน’ ผู้หญิงที่ขอหย่าจากสามีที่ไม่ยอมหย่า ทั้งคู่อยู่ด้วยกันมา 40 ปีแล้ว ฝ่ายหญิงอยากหย่าด้วยเหตุผลว่าเธอไม่มีความสุข แต่ผู้เป็นสามีปฏิเสธในข้อนั้น ศาลฎีกาก็คัดค้านคำร้องของเธอเช่นกัน เพราะเหตุผลของเธอไม่เข้ากับ 5 ข้อที่กฎหมายกำหนด เธอจึงต้องใช้ชีวิตคู่ไปจนถึงปี 2020
ผู้พิพากษาอาวุโสที่สุดของสหราชอาณาจักร บารอนเนส เฮล หนึ่งในคณะผู้พิพากษาตัดสินคดีนี้เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายนี้ตลอดมา ด้วยเหตุผลว่ามันไม่ยุติธรรม
ทนายความของโอเวนบอกว่า โอเวนยินดีที่ได้รู้ว่าจะมีการแก้กฎหมาย และหวังว่าจะไม่มีใครต้องผ่านกระบวนการที่ยาวนานและน่าเจ็บปวดเช่นเธออีก
กฎหมายนี้จะบังคับใช้ทันทีที่ผ่านสภา
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/uk-47860144