‘ย่างกุ้ง’ อดีตเมืองหลวงเก่าของประเทศพม่า ปัจจุบันแม้จะถูกลดบทบาทด้านการเมืองลง แต่ยังคงเป็นเมืองสำคัญที่สุดในด้านเศรษฐกิจของพม่า

ในอดีต ย่างกุ้งเป็นหมู่บ้านชาวประมงเก่า แต่ชื่อย่างกุ้งไม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตคนย่างกุ้งว่าชอบกินกุ้งย่าง 🙂 แต่ชื่อ ยานโกน (Yangon) ตามแบบที่คนพม่าออกเสียง มีหมายความว่า จุดจบของศัตรู

ในยุคที่อังกฤษเข้ายึดครองพม่า ย่างกุ้งถือเป็นจุดสำคัญเพราะเป็นเมืองท่าติดทะเล และเป็นปากแม่น้ำที่เชื่อมไปยังแม่น้ำอิรวดีเพื่อขึ้นไปสู่พม่าตอนบน จึงไม่น่าแปลกใจที่ใจกลางเมืองย่างกุ้งจะเต็มไปด้วยตึกใหญ่โตสวยงามสไตล์โคโลเนียล ทั้งเมื่อผสมกับศาสนสถานของแต่ละศาสนา ทั้งเจดีย์พุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด วัดจีน และวัดแขก ทำให้ย่างกุ้งเป็นเมืองที่แปลก แต่มีเสน่ห์มากแห่งหนึ่งในอุษาคเนย์

แน่นอนว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของย่างกุ้งคงหนีไม่พ้นเจดีย์ชเวดากอง กับเจดีย์โบดาทาวน์ (Botatauang Paya) หรือ เทพทันใจ แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่สายบุญ ย่างกุ้งยังมีอะไรน่าสนใจมากกว่านั้น

เลาะริมทะเลสาบอินยา เยื่ยมชมมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง

การเดินทางในย่างกุ้งที่สะดวกที่สุดคงต้องนั่งแท็กซี่ แต่ถ้าระยะทางใกล้ๆ การเดินเท้าก็สะดวกเช่นกัน ในเขตเมืองไม่มีมอเตอร์ไซต์ให้แว้น ส่วนรถเมล์ แม้จะมีจำนวนมากแต่ก็ลำบากสำหรับนักท่องเที่ยว

อากาศที่ย่างกุ้งร้อนพอๆ กับกรุงเทพฯ แต่มีต้นไม้ใหญ่กับสวนสาธารณะให้เห็นให้สบายตาอยู่เป็นระยะ ย่างกุ้งยังมีสวนสาธารณะจำนวนไม่น้อยให้ผู้คนได้มานั่งพักผ่อนหย่อนใจกัน ทางตอนเหนือของเมืองมีสถานที่แห่งหนึ่ง คือ ทะเลสาบอินยา (Inya Lake) ทะเลสาบแห่งนี้สร้างขึ้นโดยอังกฤษเมื่อปี 1883 เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค ที่นี้มีสวนสาธารณะเล็กๆ มีร้านอาหารริมทะเลสาบ และที่นั่งยาวริมอ่างเพื่อมองฟ้า มองน้ำ ตากลมให้สบายใจ เล่ากันว่าที่ทะเลสาบอินยาเป็นสถานที่โรแมนติกสำหรับหนุ่มสาวในการจู๋จี้กันด้วย

ถัดไปไม่ไกลจากด้านหน้าของทะเลสาบอินยา คือที่ตั้งของมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง พลันที่เดินเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย ต้องบอกว่าที่นี่คือกรีนแคมปัสจริงๆ เพราะทั่วบริเวณมหาวิทยาลัยร่มรื่นปกคลุมไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ใหญ่โต ผสมกับตึกเรียนเก่าๆ แบบโคโลเนียล ทำให้ได้กลิ่นอายอาณานิคมไปด้วย

อาจจะดูแปลกไปเสียหน่อยกับการมาเที่ยวมหาวิทยาลัย แต่สำหรับคนที่ชอบการเมืองหรือการศึกษา การมาที่นี้ก็คงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเป็นมหาวิทยาลัยแรกของพม่า (และเก่ากว่าทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย) ในอดีต ที่นี่เคยเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับต้นๆ ของเอเชีย เราอาจเคยได้ยินชื่อศิษย์เก่าผู้มีชื่อเสียงที่เติบโตไปเป็นผู้นำทางการเมืองคนสำคัญของพม่าและของโลก เช่น นายพลออง ซาน บิดาแห่งเอกราชพม่า อู นุ นายกรัฐมนตรีคนแรก นายพลเน วิน อดีตผู้นำเผด็จการพม่า หรือ อู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ฯลฯ

มหาวิทยาลัยย่างกุ้งยังเป็นศูนย์กลางของขบวนการนักศึกษาพม่า ที่ใช้เพื่อเคลื่อนไหววิพากษ์อำนาจรัฐของพม่าในแต่ละยุค ทั้งจากรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษและรัฐบาลทหาร ครั้งหนึ่ง รัฐบาลทหารเคยสั่งปิดมหาวิทยาลัยมาแล้ว ดังนั้นการแวะมาเยื่ยมมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ดูชีวิตนักศึกษา สูดกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ของที่นี่ก็ดีไม่น้อย

ถ่ายรูปหน้าบ้านอองซาน ซูจี

ออกจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง บนถนนยูนิเวอร์ซิตี้อเวนิว (University Avenue) มุ่งสู่ด้านทิศใต้ของทะเลสาบอินยา ตลอดสองข้างทางดูไปดูมาก็คงไม่ผิดนักถ้าจะเรียกย่านนี้ว่าย่านที่อยู่อาศัยของผู้มีอันจะกิน เพราะรอบทะเลสาบเป็นที่ตั้งของบ้านหรูหราใหญ่โตจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งสถานทูตของหลายประเทศ รวมทั้งบ้านของออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพม่าปัจจุบัน

บ้านหลังนี้เคยเป็นสถานที่กักขังซูจีอยู่ 15 ปี จนกระทั่งรัฐบาลทหารปล่อยเธอให้ได้รับอิสรภาพเมื่อปี ค.ศ. 2010 หลายคนอาจคุ้นภาพบ้านหลังนี้ตอนที่เธอออกมาเกาะประตูรั้วยืนถือไมค์ปราศรัยกับผู้สนับสนุนนับหมื่นคนที่มาเฝ้ารอหน้าบ้าน ก็มีเช่นกันที่ครั้งหนึ่งเคยมีฝรั่งว่ายน้ำฝ่าทะเลสาบอินยาเข้ามาหาเธอ นอกจากนี้ ผู้นำโลกและผู้นำไทยหลายต่อหลายคนก็เคยมาเยื่ยมเยือนเธอที่นี่

มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่บ้านซูจี น่าเสียดายที่บ้านหลังนี้ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปเยี่ยมชม แต่ก็มีนักท่องเที่ยวหลายคนแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนถ่ายรูปหน้าบ้านของเธอกลับไปเป็นที่ระลึก ปัจจุบัน บริเวณหน้าบ้านของซูจีติดป้ายสัญลักษณ์ของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคเอ็นแอลดี สำหรับคนที่สนใจการเมืองพม่า การแวะมาที่นี้ก็อาจช่วยให้ตายตาหลับได้เลย

บ้านอู ถั่น บ้านแห่งแรงบันดาลใจ

ในย่านที่พักอาศัยของอดีตข้าราชการสมัยอาณานิคม และผู้นำระดับสูงของพม่าสมัยเอกราช ที่เรียกว่า The Windermere Park มีบ้านหลังใหญ่สีเหลืองสองชั้นสไตล์โคโลเนียล บริเวณบ้านล้อมรอบไปด้วยบรรยากาศร่มรื่น ปกคลุมด้วยต้นไม้ ที่นี่เป็นมิวเซียมเล็กๆ เงียบๆ น่ารักๆ ชื่อว่า “อู ถั่น เฮ้าส์” (U Thant house)

บ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านพักของ อู ถั่น ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อู นุ จนกระทั่งในปี 1957 จึงย้ายออกเพื่อไปเป็นตัวแทนของพม่าในเวทีสหประชาชาติ และต่อมา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ คนที่ 3 โดยได้รับเลือกสองสมัยติดต่อกัน

บ้านสองชั้นของ อู ถั่น มีการจัดนิทรรศการแสดงประวัติชีวิตของเขาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเสียชีวิต แสดงให้เห็นบทบาทของอู ถั่น ในการรักษาสันติภาพของโลกระหว่างที่เขาเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งตรงกับช่วงสงครามเย็นที่สถานการณ์โลกมีความตึงเครียดถึงขีดสุด มีการแสดงภาพถ่ายจำนวนมากของเขาที่พบปะกับผู้นำจากทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย

อู ถั่น เสียชีวิตที่สหรัฐอเมริกา เมื่อร่างของเขากลับสู่ประเทศบ้านเกิด มีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากให้การต้อนรับยกย่อง แต่รัฐบาลทหารของนายพลเนวิน ในขณะนั้นไม่ได้ให้เกียรติยศหรือความสำคัญใดๆ ต่ออดีตเลขาธิการสหประชาชาติ

มิวเซียมแห่งนี้ นอกจากสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงชีวิตและงานของอู ถั่น แล้ว ยังเป็นสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมบรรยายสาธารณะต่างๆ ในอนาคต ที่นี่มีแผนจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น และยังต้องการงบประมาณอีกจำนวนไม่น้อย

บ้านอู ถั่น ยังไม่เป็นที่รู้จักนักสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป เจ้าหน้าที่ที่ดูแลมิวเซียมบอกว่า ปกติที่นี่จะมีผู้เข้าเยี่ยมชมประมาณ 20-30 คนต่อวัน เปิดเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สามารถบริจาคได้ตามกำลังทรัพย์ สำหรับคนที่กำลังหาแรงบันดาลใจในการทำงาน มาที่นี่อาจช่วยได้

นั่งรถไฟรอบเมืองชมวิถีสโลว์ไลฟ์

รถไฟรอบเมือง หรือ Circular Train เป็นบริการขนส่งสาธารณะที่คนพม่าใช้สัญจรปกติในชีวิตประจำวัน รถไฟวิ่งเป็นวงกลมจากสถานีรถไฟย่างกุ้ง (Yangon Central Railway Station) ไปรอบเมืองเพื่อขนส่งประชาชน ตลอด 39 สถานี จึงจะกลับมาที่เดิมอีกครั้ง

รถไฟรอบเมืองวิ่งหลายรอบตลอดทั้งวัน รางรถไฟเป็นรางคู่วิ่งสวนกันไปมา ขบวนรถไฟเหมือนกับรถไฟชั้นสามที่เมืองไทย รถไฟขบวนนี้สนนราคาแสนถูก จะเป็นคนท้องถิ่นหรือนักท่องเที่ยวก็ราคาเดียวกัน แค่ 200 จ๊าด หรือประมาณ 5 บาท ซื้อตั๋วบริเวณชานชาลา 7 แล้วกระโดดขึ้นรถไฟได้เลย

รถไฟพม่า แม้จะเคลื่อนไปอย่างช้าแต่นับว่าตรงเวลา เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสถานีรถไฟบอกเราว่า ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง จอดแค่ประมาณ 2 นาทีต่อสถานี แต่สถานีใหญ่ก็อาจจะนานกว่านั้นหน่อย พร้อมแนะนำให้ลงที่สถานีอินเส่ง (Insein) เพราะที่นั้นมีตลาดท้องถิ่นให้ได้เดินเล่นหาของกินและสามารถเดินทางกลับสู่ตัวเมืองได้ไม่ไกลนัก

ตั้งแต่ต้นทาง รถไฟขบวนนี้แน่นขนัดไปด้วยผู้คนและข้าวของเครื่องใช้ที่แต่ละคนต่างขนขึ้นมา ตลอดเส้นทาง เหมือนกับรถไฟบ้านเรา มีพ่อค้าแม่ค้าเดินขึ้นมาขายของกินเล่นตลอดทาง ตั้งแต่หมากพลูอาหารยอดนิยมของคนพม่า ถั่วต้ม จนถึงผลไม้ต่างๆ ของกินก็ราคาแสนถูก อย่างแตงโมถุงหนึ่งขนาดพอๆ กับรถเข็นบ้านเรา ราคาคิดเป็นเงินไทยประมาณแค่ 5 บาท

วิวทิวทัศน์สองข้างทางรถไฟ ผ่านทั้งตลาดสด บ้านเรือน ผู้คน ทุ่งนา ต้นไม้ และขยะ มันน่าตื่นเต้นเมื่อรถไฟจอดที่สถานีหนึ่งซึ่งเป็นตลาดสดขนาดใหญ่ ‘ติด’ รางรถไฟ เรียกว่าติดในแบบที่รถไฟสามารถกระชากแผงผักแผงปลาติดสอยไปสถานีต่อไปได้เลย คนบนรถไฟก็สามารถจับจ่ายใช้สอยผักปลาข้างรางรถไฟกันอย่างปกติ

ใครมาเที่ยวย่างกุ้งแนะนำให้ลองมาขึ้น Circular Train เพราะนอกจากได้ชมบรรยากาศชานเมืองย่างกุ้งแล้ว เสน่ห์ของรถไฟเส้นนี้จะทำให้เราได้สัมผัสวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ของคนย่างกุ้ง และทำให้เราเห็นและใกล้ชิดกับคนที่เป็นฐานล่างของสังคมนี้อีกด้วย

Tags: , , , ,