The Momentum ชวนไปเยือนนิทรรศการ ‘ตามสบาย BE MY GUEST’ ที่จะถูกจัดขึ้นตลอดทั้ง 9 วัน ตั้งแต่ 25 พ.ค. ถึง 2 มิ.ย. 62  ซึ่งองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดแสดงผลงานเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนผ่านงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ เพื่อชวนทุกคนทบทวนแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

ตามสบาย BE MY GUEST จัดแสดงงานศิลปะหลากหลายชิ้นงานจากศิลปินหลายท่าน ไม่เพียงเท่านั้น  ยังมีห้องเรียนสิทธิมนุษยชน การแสดง Live Painting การฉายภาพยนตร์สารคดีระดับโลก และเตรียมพบกับเกมที่จะทำให้คุณเข้าใจมุมมองของผู้ลี้ภัยมากขึ้น

พวกเราได้พบปะพูดคุยกับ Guest สุดพิเศษของแอมเนสตี้ฯ นั่นคือ ‘โทชิ คาซามะ’ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่ตระเวนเก็บภาพนักโทษประหารชีวิตเพื่อตีแผ่ชีวิตของนักโทษประหารเหล่านั้นสู่สายตาของชาวโลก นับตั้งแต่ ค.ศ. 1996

ช่วยเล่าความรู้สึกของเพชฌฆาตต่อโทษประหารได้ไหม

“คุณโทชิ ช่วยเล่าเรื่องราวของพวกเราให้กับผู้คนทั่วโลกที พวกเราจะได้ไม่ต้องฆ่าใครอีกแล้ว” นี่คือคำพูดของเพชฌฆาต ผู้ที่ต้องรับหน้าที่ในการประหัตประหารผู้อื่น

หลายคนมักจะบอกว่าคนคนนี้สมควรตาย เพราะเขาทำร้ายเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เขาสมควรได้รับโทษ แต่คนที่พูดแบบนั้นกลับไม่อยากเป็นคนลงมือประหัตประหารเอง

เพชฌฆาตก็เป็นเพียงแค่คนธรรมดาเหมือนพวกเรา เขาได้รับหน้าที่ในการพรากชีวิตผู้อื่น แต่ความจริงคือ ไม่มีใครอยากฆ่ามนุษย์ด้วยกันหรอก ไม่มีใครมีความสุขที่ต้องลงมือฆ่าผู้อื่น คุณก็คงไม่อยากเป็นคนลงมือฆ่าหรอกใช่ไหมล่ะ

โทษประหารชีวิตอาจเป็นแค่ความคิด แค่ไอเดียในมุมมองของใครหลายคน แต่สำหรับผม โทษประหารชีวิตคือ ‘ความจริง’ และการที่สังคมลงโทษคนคนหนึ่งด้วยการคร่าชีวิตก็เป็นแค่วงจรของความรุนแรง และเราก็จะมีเหยื่อเพิ่มขึ้นไม่จบไม่สิ้น

แล้วความรู้สึกของครอบครัวเหยื่อที่เคยได้สัมผัสมาเป็นอย่างไร

คุณอาจคิดว่าครอบครัวของเหยื่อต้องการโทษประหาร ใช่ หลังจากเกิดเหตุพวกเขาจะอยากได้โทษสูงสุด แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาเปลี่ยนแปลง  เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะมีชีวิตอยู่กับความเกลียดชังหรือความโกรธเกลียดไปได้ตลอด พวกเขาไม่ได้ให้อภัยนักโทษเหล่านั้นหรอก แต่พวกเขาต้องการให้อภัยตนเองที่มีความโกรธและเกลียดชังมากมาย หากไม่ทำอย่างนั้นพวกเขาคงจบลงที่การต้องฆ่าตัวเองแทน ครอบครัวเหยื่อหลายๆ คนฆ่าตัวตายเพราะแบบนี้

อุปสรรคของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนคืออะไร

อำนาจที่อยู่ในมือคนคนเดียวหรือคนกลุ่มเดียวคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด เพราะคุณจะไม่สามารถโต้แย้งอะไรได้ ต่อให้เรื่องนั้นเป็นสิ่งที่ผิดหรือคุณไม่เห็นด้วย คุณก็ทำได้เพียงแค่ทำตามเท่านั้น

ปัจจุบันการเคารพต่อมนุษย์ด้วยกัน เคารพต่อสิทธิมนุษยชนของทุกที่ทั่วโลกกำลังลดน้อยลงอย่างรวดเร็วมาก ผมกลัวมากว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ในญี่ปุ่นเรามีนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมาก เขามีสภาที่คอยสนับสนุนเขาอยู่ เขาสามารถทำอะไรก็ได้ เช่นเดียวกับทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา หรือประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่เป็นเผด็จการ แม้แต่หลายๆ ประเทศในยุโรปก็หันมาสนับสนุนอนุรักษนิยมฝ่ายขวา

เพราะฉะนั้นหลายๆ ประเทศก็มีปัญหาในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทย

นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องการองค์กรแบบแอมเนสตี้ฯ

หลายครั้งที่ความเชื่อและศาสนาถูกใช้เป็นข้ออ้างในการลิดรอนสิทธิมนุษยชน คิดว่าในความเป็นจริง ศาสนาช่วยสนับสนุนไอเดียเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ในความเห็นของผม  ศาสนาไม่ได้ช่วยให้คนเคารพสิทธิมนุษยชน เมื่อศาสนากลายเป็นระบบ สิ่งนี้จะนำมาสู่ชนชั้นแบบพีระมิด พอเรามีโครงสร้างทางชนชั้นแบบนี้แล้ว ศาสนาจะกลายเป็นสิ่งที่ต่างออกไปมาก

ศาสนาเป็นสิ่งที่ดีนะ แต่พอเราทำให้ศาสนากลายเป็นองค์กรหนึ่งๆ แล้ว เราก็จะมีลำดับ ชนชั้น แล้วคนที่อยู่บนสุดของยอดพีระมิดก็จะมีอำนาจ พอเป็นแบบนี้แล้ว ศาสนาก็จะไม่ใช่ศาสนาอีกต่อไป

ศาสนาควรเป็นเรื่องระหว่างตัวคุณกับสิ่งที่คุณเชื่อใช่ไหม แต่พอมีคนมาบอกว่าคุณต้องทำแบบนั้นนะ แบบนี้นะ มันก็ไม่ใช่เรื่องของศาสนาแล้ว

ช่วยเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้คุณรู้สึกสะเทือนใจระหว่างการทำงานของคุณได้ไหม

สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกแย่ที่สุด คือคนที่ผมถ่ายรูปเขาถูกประหาร มีเด็กที่ผมเคยถ่ายรูปถูกประหารไป 10 คนแล้ว เด็กคนแรกที่ถูกตัดสินโทษประหารขอให้ผมไปเป็นพยานในวันประหารชีวิตของเขาด้วย มันเป็นวินาทีที่ยากที่สุดในชีวิตผมเลย

“ผมถ่ายรูปคุณ ผมก็จะได้รู้จักคุณใช่ไหม ไม่ว่าคุณจะเป็นอาชญากร เป็นฆาตกรหรือไม่ ไม่สำคัญเลย เพราะผมรู้จักคุณ ผมใช้เวลาร่วมกับคุณ”

เวลาผมถ่ายรูปพวกเขา ผมกอดเขา ผมคุยกับพวกเขา แล้วหลังจากนั้นพวกเขาก็ถูกประหาร…

ผมตัดสินใจไม่ไปเป็นพยานในวันประหารชีวิตของเขา ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ยากที่สุดสำหรับผม

การยกเลิกโทษประหารจะทำให้คนเลิกเคารพกฎหมายหรือไม่

โทษประหารไม่ช่วยลดอาชญากรรม คนที่เขาก่ออาชญากรรม เขาไม่ได้คิดหรอกว่าถ้าเขาทำแบบนั้น เขาจะถูกประหารนะ เขาจะตายนะ เขาไม่ได้คิดถึงจุดนั้น คนที่ก่ออาชญากรรมเขาไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะคิดถึงเรื่องแบบนั้น

คุณบอกว่าคนจะไม่เคารพกฎหมายถ้ายกเลิกประหารใช่ไหม ตอนที่ยุโรปยกเลิกโทษประหาร ที่ฝรั่งเศส คนส่วนมากสนับสนุนโทษประหาร

เวลาที่รัฐบาลยกเลิกโทษประหารไป เขาต้องมีความเป็นผู้นำสูงมากนะ ต้องเอาหน้าที่การงานทางการเมืองมาเสี่ยงเลยละ

พอยกเลิกไปคนก็ไม่เห็นด้วย แต่พอผ่านไปปี สองปี สามปี เสียงแย้งเหล่านี้ก็น้อยลง จนสุดท้ายปีที่ห้า คนก็เลิกพูดเรื่องนี้ไปเอง คนฝรั่งเศสส่วนมากหันมาต่อต้านโทษประหาร พวกเขาเริ่มเข้าใจว่าการยกเลิกโทษประหารช่วยให้สังคมพวกเขามีอาชญากรรมน้อยลงได้ เพราะพอคุณยกเลิกโทษประหารไป พวกเขาก็จะพึ่งโทษประหารไม่ได้ พวกเขาเลยใส่ใจกับการป้องกันอาชญากรรมแทน

คนมักจะเห็นด้วยกับกระแสหลักเป็นส่วนใหญ่ ผู้คนไหลไปตามกระแสหลัก เป็นธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไปที่คนไม่ค่อยรู้

พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรคือแก่นของปัญหา พวกเขาแค่ทำไปตามกระแสหลัก เพราะพวกเขาต้องการความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย

ooo

ตลอดระยะเวลาที่ได้พูดคุยกับโทชิผ่านน้ำเสียงที่สดใสและเจือไปด้วยความหวัง ความฝัน และความเชื่ออันเปี่ยมล้นในสิทธิมนุษยชนของเขา ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราเป็นอย่างดีว่า ในวันหนึ่งเราจะตระหนักได้ถึงผลกระทบของโทษประหารชีวิต และสามารถอยู่ในสังคมที่ไม่มีเรื่องน่าเศร้าแบบนี้เกิดขึ้นอีก

 

Tags: , , ,