เมื่อเพลงปลุกใจไทยอย่าง ‘หนักแผ่นดิน’ เป็นกระแสในสังคมขึ้นมาท่ามกลางความร้อนแรงของการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทำให้สังคมต้องย้อนรอยบทเพลงเพื่อตีความเนื้อหากันอีกครั้งและคำว่า ‘หนักแผ่นดิน’ ก็ถูกสังคมใช้ล้อเลียนเขียนถึงและตีความกันอย่างกว้างขวาง
เมื่อเทียบกับเพลงปลุกใจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี พ.ศ. 2557 อย่างเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ ที่ถูกเผยแพร่และเป็นที่จดจำจนเกิดวาทกรรม ‘คืนความสุข’ ขึ้นในสังคม อีกทั้งบทเพลงยังเป็นดั่งเพลงเปิดตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช. ในขณะนั้นให้เป็นที่รู้จักต่อคนทั้งประเทศทั้งในแง่มุมของผู้ทำการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557และผู้เขียนเนื้อร้องของบทเพลงดังกล่าวทันที
เพลง ‘หนักแผ่นดิน’ ที่มีท่วงทำนองและเนื้อร้องที่ดุดัน แข็งกร้าว ฟาดฟันศัตรูเพื่อปลุกใจคนฟังให้อยากรุกรบย่อมใช้รองรับบริบททางสังคมการเมืองในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ ที่มีท่วงทำนองเพลงแนวป๊อปหวานซึ้ง อ้อนวอนร้องขอความเห็นใจจากผู้ฟังก็ถูกผลิตออกมาเพื่อรองรับบริบทในอีกช่วงเวลาหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า เพลงปลุกใจไทยทั้ง 2 เพลงดังกล่าวถูกปรุงแต่งต่างกรรมต่างวาระตามสภาวการณ์ของบ้านเมืองในแต่ละช่วงเวลากัน และบทเพลงทั้ง 2 ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เพลงปลุกใจไทยที่มีมาช้านานหลายยุคหลายสมัย
ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ของเพลงปลุกใจไทยจึงทำให้เราเห็นถึงบริบทสังคมและการเมืองในช่วงเวลาต่างๆ และความเป็นไปของเนื้อหาก็บอกเล่าเหตุการณ์ในอดีตให้เราได้รู้ว่าประเทศไทยในขณะนั้นอยู่ในสภาวการณ์แบบใด
ในการศึกษาพัฒนาการและการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของเพลงปลุกใจไทยจากยุคอดีตจนถึงยุค คสช. นั้น ผู้เขียนได้นำเอาส่วนหนึ่งของงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง กระบวนการและกลยุทธ์ในการสร้างสรรค์ ‘เพลงปลุกใจ’ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ศึกษาชุดบทเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ มาสรุปในแง่มุมของประวัติศาสตร์ โดยการแบ่งยุคต่างๆ ออกเป็น 6 ยุค ดังต่อไปนี้
ยุคที่ 1 : ยุคเริ่มต้นเพลงปลุกใจไทย (พ.ศ. 2453 – 2468)
ยุคที่ 2 : ยุคเพลงปลุกใจช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2468 – 2500)
ยุคที่ 3 : ยุคเพลงปลุกใจเพื่อสื่อสารอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสังคมนิยม (พ.ศ. 2500 – 2519)
ยุคที่ 4 : เพลงปลุกใจถ่ายทอดผ่านรูปแบบหลากหลายเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมและเศรษฐกิจไทย (พ.ศ. 2520 – 2538)
ยุคที่ 5 : เพลงปลุกใจเพื่อเกื้อหนุนสังคมไทยร่วมกัน (พ.ศ. 2539 – 2554)
ยุคที่ 6 : ยุค คสช. เพลงป๊อปทหารสื่อสารผ่านธีม ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ (พ.ศ. 2557 – 2560)
ยุคอดีตที่ผ่านมาจนถึงยุค คสช. การเกิดเพลงปลุกใจโดยภาพรวมของเนื้อหาของบทเพลงและแนวทางดุริยางคศิลป์ตามช่วงเวลาต่างๆ เป็นดังภาพด้านล่าง
โดยการศึกษายุคเพลงปลุกใจในอดีตจนถึงยุคของ คสช. ทั้ง 6 ยุค มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
ยุคที่ 1 : ยุคเริ่มต้นเพลงปลุกใจไทย (พ.ศ. 2453 – 2468)
เริ่มเพลงปลุกใจในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่กำเนิดเกิดขึ้นในรูปแบบของบทโคลงกลอน และบทละคร เช่น พระร่วง ซึ่งเหตุผลที่เน้นหนักไปทางละครมากกว่าเพลงเพราะมีอุปสรรคในเรื่องวิธีการบันทึกเพลงและการนำเพลงมาฟังยังไม่แพร่หลาย (สิรินธร กีรติบุตร, 2528)
สถานการณ์ทางการเมืองเป็นช่วงเวลาของ กบฏ ร.ศ. 130 และสงครามโลกครั้งที่ 1 เพลงปลุกใจจึงใช้รองรับวิกฤตการณ์ในยุคนั้น และเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองเป็นต้นมา ซึ่งพบว่าบริบทดังกล่าวทำให้เนื้อหาของเพลงปลุกใจเน้นที่การเสียสละเพื่อชาติ เพื่อรักษาความเป็นเอกราช ร่วมกันสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ ยั่งยืน
ข้อจำกัดด้านดนตรีสากลที่ยังไม่แพร่หลายทำให้การถ่ายทอดผ่านละครปลุกใจเป็นหลัก โดยเนื้อเพลงในยุคนี้ได้ถูกนำมาเรียบเรีบงทำนองดนตรีภายหลังอีก 15-20 ปีต่อมาโดยครูนารถ ถาวรบุตร และครูเอื้อ สุนทรสนาน (ดวงกมล บางชวด, 2554)
ตัวอย่างเพลงในยุคนี้ ได้แก่ : สยามานุสติ/ มาร์ชปลุกใจ/ คำปฏิญาณ/ ไทยรวมกำลัง
ยุคที่ 2 : ยุคเพลงปลุกใจช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตย (พ.ศ.2468 -2500)
เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย คือการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย และเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร เผชิญสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มได้รับอิทธิพลการแผ่ขยายของระบอบคอมมิวนิสต์ (สิรินธร กีรติบุตร, 2528)
มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีและมีการรัฐประหารนับเป็นช่วงเริ่มต้นเรียนรู้และทำความรู้จักกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย บ้านเมืองเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงคราม อินโดจีนซึ่งส่งผลให้เพลงปลุกใจเน้นเนื้อหาเพื่อมุ่งให้ความสำคัญต่อชาติ การรวมเชื้อชาติ ปลูกฝังให้รักชาติเป็นสำคัญ และสนองนโยบายของรัฐบาลด้านต่างๆ อีกทั้งยังพยายามเสริมสร้างการพัฒนาสังคม วัฒนธรรมให้เป็นรูปแบบสังคมอารยะ (ดวงกมล บางชวด, 2554)
ทางด้านดนตรียังมีข้อจำกัดเรื่องความรู้ด้านดนตรีสากลอยู่ เพลงส่วนใหญ่ใช้จังหวะเร็ว และจังหวะเดินแถว ให้รู้สึกฮึกเหิม มีกำลังใจ ทำนองคล้ายเพลงไทยเดิมบางส่วน แต่บทเพลงก็มีการพัฒนาให้เป็นสากลขึ้นโดยคนสำคัญเช่น หลวงวิจิตรวาทการ และวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งทำให้สมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผลิตเพลงปลุกใจออกมามากถึงกว่า 70 เพลง ตัวอย่างเพลง เช่น แหลมทอง/ ไทยช่วยไทย / เพลงชาติ / รักเมืองไทย/ ใต้ร่มธงไทย/ ตื่นเถิดชาวไทย/ เลือดสุพรรณ
ยุคที่ 3 : เพลงปลุกใจเพื่อสื่อสารอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสังคมนิยม (พ.ศ. 2500 – 2519)
ยุคที่เพลงปลุกใจเกิดมาจากการแบ่งฝ่ายของโลกเสรีและสังคมนิยม โลกเสรีเรียกฝ่ายขวา โลกสังคมนิยมเรียกฝ่ายซ้าย ซึ่งเกิด New Genre ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ที่ฝ่ายซ้ายและกลุ่มปัญญาชนและนิสิตนักศึกษานิยมเพื่อใช้เรียกร้องเสรีภาพ โดยเพลงฝ่ายขวา ถูกมองว่าเป็นเพลงต่อต้านเพลงฝ่ายซ้าย และโจมตีฝ่ายคอมมิวนิสต์
เพลงปลุกใจยุคนี้ตอบสนองและเป็นผลสะท้อนของบริบททางสังคมและการเมืองของ 2 สถานการณ์คือ เพลงปลุกใจฝ่ายรัฐบาล เพื่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ และเพลงปลุกใจฝ่ายประชาชนที่เป็นนักศึกษาหรือปัญญาชน ที่ใช้ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้ฝ่ายประชาน คนชั้นล่าง กรรมกรและชาวนาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ
ด้านดนตรีมีความแตกต่างจากยุคก่อนอย่างชัดเจน ไม่ได้มีแต่จังหวะเร็ว สร้างความฮึกเหิม แต่มีท่วงทำนองอ่อนหวานแฝงเนื้อหาเข้มข้นเพื่อเสริมสร้างความคิด ทัศนคติ มีการใช้คอร์ดของดนตรีสากล และใช้แนวเพลงแบบแจ๊ส (Jazz) หรือ แบบบลูส์ (Blues) เช่นในเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชการที่ 9 และจุดเปลี่ยนที่ค้นพบคือเพลงปลุกใจมีแนว ‘เพลงเพื่อชีวิต’ เพิ่มเข้ามาเป็นแนวดนตรีรูปแบบใหม่ของเพลงปลุกใจที่ใช้เพื่อการปฏิวัติและได้ถูกพัฒนาเป็นเพลงป๊อปเชิงพาณิชย์ในยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน ฝ่ายรัฐ/ฝ่ายขวา: รักกันไว้เถิด/ หนักแผ่นดิน/ เราสู้/ ความฝันอันสูงสุด/ เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย ฝ่ายนักศึกษา/ฝ่ายซ้าย: เพื่อมวลชน/ เดือนเพ็ญ/ แสงดาวแห่งศรัทธา/ ดอกไม้จะบาน
ยุคที่ 4 : เพลงปลุกใจถ่ายทอดผ่านรูปแบบหลากหลายเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมและเศรษฐกิจไทย (พ.ศ. 2520 – 2538)
ยุคที่สภาพการเมืองการปกครองและสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและเชื่อมโยงต่อระบบเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ภัยคอมมิวนิสต์เริ่มอ่อนกำลังลง และปัญหาความขัดแย้งภายในเริ่มคลี่คลาย เป็นเวลาที่ประเทศชาติหันมาพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศดำเนินการแบบทุนนิยมตามกระแสโลก
การนำเสนอเพลงปลุกใจยุคนี้มีความหลากหลายในรูปแบบ เช่น เพลงเพื่อชีวิต เพลงปฏิวัติ เพลงลูกทุ่ง เพลงป๊อป เพลงร็อค ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมผู้ฟังที่มีความหลากหลายมากขึ้น และเป็นยุคเริ่มต้นของการที่ภาคเอกชนมีบทบาทในการสร้างสรรค์เพลงปลุกใจซึ่งเป็นไปในรูปแบบของภาคธุรกิจที่มีการแต่งเพลงเพื่อการขายให้คนฟัง ซึ่งข้อสังเกตสำคัญในแง่มุมของพัฒนาการเพลงปลุกใจที่มีการขยายพื้นที่ทางความคิดจากจำกัดอยู่ที่ภาครัฐมาสู่ภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิตเพลงออกจำหน่ายและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบเพลงปลุกใจ โดยภาคเอกชนนำเสนอในรูปแบบของเพลงป๊อปที่ต่างจากที่ฝ่ายรัฐบาลเคยนำเสนอ
ด้านดนตรีมีการผสมผสานระหว่างท่วงทำนองแบบดั้งเดิมคือจังหวะเดินแถว (March) และเพลงทันสมัยแบบเพลงสตริงของต่างประเทศ มีเพลงปลุกใจแบบเพลงเพื่อชีวิต ทำนองไทยเดิมแต่เล่นด้วยเครื่องดนตรีตะวันตก มีการผสมผสานดนตรีไทยและตะวันตก เช่น ใช้ขลุ่ยไทยผสมขลุ่ยฝรั่ง เป็นต้น
ตัวอย่างเพลงในยุคนี้: รักเมืองไทย/ เมดอินไทยแลนด์/ รักเธอประเทศไทย/ เวลคัมทูไทยแลนด์/ วณิพก/ ลุงขี้เมา/ มหาลัย
ข้อสังเกต เห็นการใช้คำว่า ‘เธอ’ แทน ประเทศไทยในเพลง ‘รักเธอประเทศไทย’ ของชัชชัย สุขาวดี หรือ หรั่ง ร็อคเคสตร้า ว่าเป็นการนำคำในเพลงไทยสมัยนิยมมาใช้แทนการเรียกประเทศ และการใช้ลีลาการพรรณาถึงประเทศเหมือนการพูดถึงคนรัก ในเพลงป๊อปที่นิยมกันในสังคม ข้อสังเกตสำคัญคือ ผู้วิจัยเห็นจุดที่เชื่อมโยงถึงการแต่งเพลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเพลง ‘เพราะเธอคือประเทศไทย’ ที่ใช้คำว่า ‘เธอ’ ในการเรียกประเทศไทยเช่นกัน
ยุคที่ 5 : เพลงปลุกใจเพื่อเกื้อหนุนสังคมไทยร่วมกัน (พ.ศ. 2539 – 2554)
เพลงปลุกใจก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่ไม่มีข้อจำกัดในรูปแบบการนำเสนอ ทุกองค์กรล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ไม่มีแนวคิดใดสำคัญกว่า ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ส่งผลถึงกันและกัน เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มหัตภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ความขัดแย้งชายแดนใต้ ล้วนเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ส่งผลต่อคนไทยทุกคน
เนื้อหาของเพลงมี 2 ประเภทหลักๆ คือ (ดวงกมล บางชวด, 2554)
-
บทเพลงแต่งเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพิเศษของการครองราชย์หรือเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เช่น เพลง พ่อของแผ่นดิน ภูมิแผ่นดิน และ นวมินทร์มหาราชา เป็นต้น
-
บทเพลงที่ให้กำลังเพื่อให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ ไปด้วยความรัก สามัคคี เสียสละ เช่น เพลง ขวานไทยใจหนึ่งเดียว ของ แอ๊ด คาราบาว ที่แต่งขึ้นจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
เนื้อหาของบทเพลงโดยภาพรวมจึงเป็นการกระตุ้นการปลูกจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำใจให้กัน และร่วมใจกันยามมีวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือทางการเมือง โดยมีแบบอย่างที่ดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ด้านท่วงทำนองในยุคนี้ ไม่ได้มีท่วงทำนองแบบเดินแถวอีกต่อไป ทำนองเพลงมีความหลากหลาย และมีลักษณะการร้องที่มีการร้องกันเป็นกลุ่มแต่ไม่ได้ร่วมกันร้องพร้อมๆ กัน แต่เป็นการแบ่งท่อนการร้อง เป็นยุคที่ผู้ฟังสามารถเลือกรับฟังเพลงปลุกใจที่มีความหลากหลายรูปแบบและเห็นได้ชัดว่าผู้แต่งเพลงก็ปรับตัวตามความนิยมของผู้ฟัง ตัวอย่างเพลงในยุคนี้ เช่น ต้นไม้ของพ่อ/ พ่อแห่งแผ่นดิน/ ภูมิแผ่นดิน/ นวมินทร์มหาราชา/ ตามรอยพระราชา/ ขวานไทยใจหนึ่งเดียว/ รูปที่มีทุกบ้าน/ ของขวัญจากก้อนดิน
6) ยุคที่: 6 คสช. เพลงป๊อปทหารสื่อสารผ่านธีม ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ (พ.ศ. 2557 – 2560)
เพลงปลุกใจยุค คสช. กำเนิดเกิดขึ้นจากบริบททางการเมืองที่เกิดการรัฐประหารโดย คสช. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยการก้าวเข้ามายุติความขัดแย้งแตกแยกการแบ่งฝักฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมืองของคน 2 กลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม กปปส. ที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองที่ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ และกลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มาจากชนบทที่นิยมแนวทางของรัฐบาลชินวัตรและนายทักษิณ
เพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ ได้ดังขึ้นทั่วประเทศหลังการทำรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อบอกกล่าวเจตนาการมาถึงของ คสช. ที่แต่งเนื้อร้องโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในเวลาต่อมา และมีบทเพลงตามมาอีกหลายบทเพลง เช่น ‘เพราะเธอคือประเทศไทย’ ‘ความหวัง…ความศรัทธา’ และ ‘สะพาน’ ล้วนเป็นเพลงที่เขียนเนื้อร้องโดยผู้นำ คสช. ท่านนี้ และเป็นเพลงในท่วงทำนองเพลงป๊อปแบบอ่อนหวาน ซาบซึ้ง แบบเพลงป๊อปตามกระแสนิยมที่ผู้ฟังคุ้นหูและชื่นชอบ
เนื้อหาของเพลงแต่ละเพลงที่แต่งเนื้อร้องโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีลักษณะเนื้อหาที่เจาะจงลงไปถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะเข้ายึดอำนาจ และเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของผู้นำท่านนี้ โดยเนื้อหาหลักๆ คือ การบอกกล่าวถึงการเข้ามายึดอำนาจของ คสช. แลก้าวมาแก้ไขความขัดแย้งและคืนความสุขให้ประชาชน ให้สามัคคีร่วมใจกันฝ่าวิกฤตความแตกแยกของคนในชาติไปด้วยกัน
ลักษณะทางดนตรีที่ไม่ใช้ท่วงทำนองมาร์ช อีกต่อไปโดยเป็นทำนองเพลงป๊อปตามสมัยนิยมล้วน ทั้ง 4 บทเพลงที่ยกตัวอย่างมา เป็นเพลงช้าทั้งหมดจังหวะ Slow Soul ที่นิยมใช้ในเพลงป๊อปแนวหวานซึ้งของยุคสมัยปัจจุบัน เนื้อร้องสั้น ร้องซ้ำไปซ้ำมา ไม่เน้นทำนองโดดเด่น แต่เน้นให้ทำนองอุ้มเนื้อร้องให้โดดเด่น
ทั้งนี้ การก้าวเข้ามามีบทบาทในการผลิตเพลงปลุกใจของภาคเอกชนนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปของเพลงปลุกใจไทยในด้านดุริยางคศิลป์ที่เริ่มมีรูปแบบใหม่เข้ามาโดยเริ่มจากการมี แนว ‘เพลงเพื่อชีวิต’ และถัดมาเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นแนวเพลงป๊อปตามสมัยนิยมเพื่อสอดรับกับรสนิยมผู้ฟังที่มีความชื่นชอบเพลงที่หลากหลายและสอดคล้องกับการพัฒนาด้านดนตรีสากลในไทยที่แพร่หลายและตามกระแสความนิยมของโลก เพลงปลุกใจในจังหวะมาร์ชเริ่มหายไปและปรับเปลี่ยนเป็นท่วงทำนองเพลงป๊อปจากยุคที่ 4 เรื่อยมาจนถึงยุคที่ 6 คือ ยุค คสช. ที่ทหารผลิตเพลงปลุกใจเป็นแนวเพลงป๊อปที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบและยอมรับได้ง่าย ภาคเอกชนจึงเสมือนปัจจัยผลักดันการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเพลงปลุกใจไทยให้แปรรูปเป็นแนวเพลงป๊อปอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน
แต่มิติสำคัญที่ทำให้ผู้ส่งสารต้องเปลี่ยนรูปแบบแนวเพลงปลุกใจไปจากเดิมนั้นมีต้นเหตุหลักคือผู้ฟังที่เปลี่ยนไปที่พัฒนาความคิดมีความรู้ทางดนตรีและมีรสนิยมการเลือกฟังเพลงที่หลากหลายต่างไปจากยุคอดีตและกระแสของดนตรีป๊อปที่ได้รับความนิยมแพร่หลายครอบคลุมพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีสมัยใหม่และครองใจผู้ฟังทั่วโลกจนทำให้เพลงปลุกใจในจังหวะมาร์ชไม่สามารถดำรงอยู่และต้านกระแสของเพลงป๊อปได้
การศึกษาด้านการพัฒนาและปรับเปลี่ยนองค์ประกอบต่างๆ ของเพลงปลุกใจจากอดีตถึงยุค คสช. ที่ผลิตงานเพลงปลุกใจในรูปแบบของเพลงป๊อปนั้น พบว่า มิติที่ผลักดันให้เพลงปลุกใจไทยจากยุคอดีตถึงยุค คสช. มี 2 มิติที่เด่นชัด คือ มิติด้านดุริยางคศิลป์ ที่ได้รับอิทธิพลของการพัฒนาของดนตรีสากลโดยเฉพาะแนวดนตรีในรูปแบบป๊อปปูล่า มิวสิค (Popular Music) ที่แพร่หลายไปทั่วโลก และมิติด้านผู้ฟังที่พัฒนาตนเองด้านความรู้ทางดนตรีและรสนิยมในการเลือกฟังเพลงจนมีอิทธิพล ผู้ผลิตหรือผู้แต่งเพลงต้องปรับตัวตามผู้ฟังเพื่อให้เข้าถึงความชื่นชอบและรสนิยมของผู้ฟังที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จนทำให้การผลิตเพลงปลุกใจยุค คสช. เป็นการสร้างสรรค์เพลงตามผู้ฟังส่วนใหญ่ที่นิยมเพลงป๊อปและมีการปรับตัวในกระบวนการสร้างสรรค์เพลงปลุกใจที่เปลี่ยนแปลงตามความนิยมคนฟังจาก Sender-Oriented ดังในยุคอดีต เป็น Audience-Oriented อย่างชัดเจนในยุคของ คสช.
อนึ่ง การศึกษาย้อนรอยเส้นทางเพลงปลุกใจในอดีตไม่พบว่า ในยุคอดีตมีการนำบริบทเรื่องราวการทำรัฐประหารมาแต่งเป็นเนื้อเพลงเช่นเดียวกับงานเพลงปลุกใจของ คสช. และไม่พบว่ามีผู้นำการปฏิวัติรัฐประหารคนใดในในอดีตที่ทำการแต่งเนื้อร้องเพลงปลุกใจจากเรื่องราวการทำรัฐประหารของตนเองด้วยตนเองอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
บรรณานุกรม
- ดวงกมล บางชวด. (2554). การถ่ายทอดบทเพลงไทยสากลประเภทเพลงปลุกใจเพื่อเสริมสร้างสำนึกความรักชาติ. (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.
- สิรินธร กีรติบุตร. (2528). เพลงปลุกใจ (พ.ศ. 2475 – 2525): การวิเคราะห์ทางการเมือง (วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.
Tags: คสช., ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เพลงปลุกใจ, หนักแผ่นดิน