ปีนี้นับเป็นปีที่ 8 ของวันสถาปนาข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules – 21 ธ.ค.) หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง

ข้อกำหนดนี้ถูกริเริ่มอย่างมีนัยสำคัญจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาที่เริ่มจากการได้ดูงานที่เรือนจำหญิงสมัยทรงเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้อยากช่วยเหลือผู้ต้องขัง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นแม่ลูกอ่อน จากการช่วยเหลือด้วยเงินส่วนพระองค์ 300,000 บาทเพื่อซื้อผ้าอ้อม สร้างมุมแม่และเด็กในเรือนจำ จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายผลไปสู่การจัดการในเชิงระบบในโครงการ “กำลังใจ”

กระทั่งสหประชาชาติ (UN) ให้การรับรองข้อกำหนดนี้ในปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เริ่มมีเรือนจำต่างๆ พยายามปรับปรุงระบบการจัดการให้เคารพหลักสิทธิมนุษยชนตามแนวทางของข้อกำหนดนี้ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือนจำต้นแบบแล้ว 12 แห่ง (จากทั้งหมด 143 แห่ง)

นั่นคือเกร็ดที่มาของข้อกำหนดกรุงเทพที่ กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เล่าในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ ภายในงานมีการเสวนาที่น่าสนใจหลายเรื่องเพื่อหาต้นแบบในการรับผู้เคยต้องโทษเข้าทำงาน-กลับเข้าสังคม (Beyond Prison) ตัวอย่างเรือนจำที่พยายามสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ผู้ต้องขังหญิง (Inside Prison) และการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังแทนการจำคุก (Besides Prison)

000

การรับคนมีประวัติต้องโทษจำคุกเข้าทำงาน เป็นโจทย์ใหญ่ที่ TIJ และภาคส่วนอื่นๆ ช่วยผลักดันเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้ประกอบการและบริษัททั้งหลาย เพราะจากสถิติแล้วพบว่าผู้ที่ออกมาจากเรือนจำแล้วกระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปีนั้นมี 14% ที่มีสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นเพราะพวกเขาหางานทำไม่ได้

คลิปวิดีโอสั้นๆ ของโครงการเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่สะท้อนเรื่องนี้ โจทย์นั้นง่ายมากด้วยการนำผู้ประกอบการมาดูตัวผู้มีประวัติจำคุกที่จะมาสมัครงาน เมื่อสอบถามทัศนคติในเบื้องต้น ทุกคนต่างบอกว่า “เลือกได้ก็ขอไม่รับ” จากนั้นให้ผู้ประกอบการคุยกับผู้เคยต้องโทษเองถึงที่มาที่ไปของการต้องโทษและความตั้งใจในการเริ่มชีวิตใหม่ การคุยทำให้เข้าใจ และนั่นทำให้เจ้าของธุรกิจบางคนถึงกับขอเข้าไปโอบกอดผู้สมัครงานที่เขาเพิ่งบอกอยู่หยกๆ ว่าจะไม่รับเข้าทำงาน

งานนี้ยังมีการมอบประกาศนียบัตรให้แก่องค์กรสนับสนุนการสร้างโอกาสแก่ผู้ต้องขังเพื่อเป็นกำลังใจสถานประกอบการ ขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมเห็นตัวอย่างว่าพวกเขาเหล่านี้มีศักยภาพเป็นกำลังสำคัญเพียงไหน

ลีลานวดไท ร้านนวดในเชียงใหม่ที่มี 12 สาขา มีพนักงานนวดหลายร้อยชีวิต ทั้งหมดเป็นอดีตผู้ต้องขังทั้งสิ้น ลีลานวดไทยได้รางวัลทั้งในและนอกประเทศทั้งในด้านคุณภาพของบริการและการเปิดโอกาสกับคนขาดโอกาส เจ้าของลีลานวดไทยไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นอดีตผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิง เชียงใหม่ เนาวรัตน์ ธนะศรีสุธารัตน์

บ้านกึ่งวิถี SHE คือวิสาหกิจชุมชน ที่ทำเกี่ยวกับการนวดดัดสรีระสำหรับผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรม พนักงานที่ทำงานก็คืออดีตผู้ต้องขังหญิงทั้งสิ้น นพ.พูลชัย ประธาน SHE บอกว่า มันไม่ใช่แค่โครงการที่ช่วยคนไม่ให้กลับไปสู่วงจรกระทำผิดซ้ำ แต่มันคือโอกาสทางธุรกิจ ผู้ใช้บริการไม่แคร์ว่า “คุณเป็นใคร” เท่ากับ “คุณทำอะไร” ใช้เวลาเพียง 20 นาทีก็เปลี่ยนความตึงของร่างกายเป็นความเบาสบาย ยังไงเสียลูกค้าก็ประทับใจ เขายังมองเห็นว่า เรือนจำคือขุมทรัพย์ ในเมื่อมีผู้หญิงที่มีฝีมือแต่ไม่มีอาชีพหลายหมื่นคนอยู่ในนั้น จึงจับมือกับเรือนจำหลายแห่งทำการฝึกอบรมเรื่องนี้

นพ.พูลชัยเล่าด้วยว่า ได้เข้าร่วมกับกรรมาธิการของ สนช. แก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ในส่วนของการพักโทษ จากเดิมที่ต้องรับโทษแล้ว 2/3 ก็จะเปลี่ยนเป็น 1/3 โดยผู้ต้องขังจะออกมาอย่างมีเงื่อนไข ให้บริษัทมหาชน รัฐวิสาหกิจ มาช่วยจ้างงาน คนเหล่านี้จะได้ค่าแรงปกติและสามารถกลับบ้านได้

เรือนจัน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความพยายามสร้างโอกาสและรายได้ให้ผู้ต้องขังของเรือนจำจันทบุรี ชาญ วิชรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี เนรมิตที่ว่างราว 10 ไร่เป็นคล้ายๆ คอมเพล็กซ์ มีทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ คาร์แคร์ ร้านเบเกอรี่ ร้านนวด ร้านขายเกษตรอินทรีย์ ทั้งหมดนี้ปฏิบัติการโดยผู้ต้องขัง และเป็นการประสานการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในจังหวัดให้มาร่วมลงทุนปลูกสร้าง วางระบบ ฝึกผู้ปฏิบัติงาน และแน่นอนว่า เมื่อผู้ปฏิบัติงานนั้นพ้นโทษ บริษัทก็รับทำงานต่อได้เลย

“มันอยู่ที่วิธีการสื่อสาร ผมไปทุกเวที อบต., อบจ., การท่องเที่ยว, การประชุมจังหวัด ไปพูดให้เขาฟังว่าพวกเขา (ผู้ต้องโทษ) ขาดโอกาสและถูกมองข้าม เขาคือลูกหลานของท่าน ถ้าเขามีโอกาสเขาก็จะไม่กลับมาทำร้ายสังคมท่าน”

“การจะคืนพวกเขากลับสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ คนในจังหวัดต้องมาสร้างโมเดลร่วมกัน ให้ผมทำคนเดียว ทำไม่ได้”ชาญกล่าว

นั่นจึงเป็นที่มาของความร่วมมือภายใต้คอนเซ็ปจ์ “คนจันฟื้นฟูคนจัน” เกิด business matching เป็นการฟื้นฟูคนข้างในโดยไม่รองบประมาณจากรัฐซึ่งไม่เคยมีเพียงพอสำหรับคนชายขอบกลุ่มนี้อยู่แล้ว

ผู้บัญชาการเรือนจำจันทบุรี ยังระบุด้วยว่า เรือนจำจันทบุรีมีผู้ต้องขังทั้งหมด 2,500 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 300 คน หากดูสถิติการกระทำผิดซ้ำ พบว่าสูงถึง 25% ในส่วนของผู้หญิงคือ 4% เมื่อทำโครงการนี้มาสักระยะหนึ่งก็พบว่า การกระทำผิดซ้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด และการมีงานทำของผู้หญิงหลังพ้นโทษก็เพิ่มจาก 10% เป็น 30%

000

การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทำให้ผู้ต้องขังลดน้อยลง คุกไม่แน่นคุณภาพชีวิตคนข้างในก็ดีขึ้น งบประมาณก็เพียงพอมากขึ้นในการนำไปพัฒนาเสริมศักยภาพผู้ต้องโทษ แต่หนทางในเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ง่ายดาย

โกมล พรมเพ็ง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงยุติธรรม ให้ข้อมูลในภาพรวมว่า ณ สิ้นปี 2561 เรามีผู้ต้องขังอยู่กว่า 380,000 คน ขณะที่ศักยภาพในการรองรับจริงๆ ของราชทัณฑ์มีเพียงแสนกว่าคน สถิติการกระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปีสูงถึง 35% ปัญหาใหญ่คือพวกเขาไม่มีที่อยู่และไม่มีงานทำ สำหรับกลุ่มที่ศาลสั่งให้คุมประพฤติ (ไม่คุมขังแต่รายงานตัว) มีอีก 247,000 คน ส่วนของเด็กและเยาวชนมี 2,000 คนเศษ ในจำนวนทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ราว 80% คือ คดียาเสพติด ส่วนใหญ่เป็นโทษเสพและจำหน่าย หรือนำเข้าและจำหน่าย ทำให้โทษจำคุกสูง ตอนนี้งบประมาณ 65% ของกระทรวงยุติธรรมถูกใช้ไปกับการดูแลผู้ต้องขังและเด็กในสถานพินิจ

สำหรับการแก้ปัญหานั้น โกมลระบุว่า สังคมต้องถกเถียงกันอย่างจริงจังว่าจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างไร ควรจะแก้กฎหมายบางส่วนได้แล้วหรือไม่เพื่อลดจำนวนผู้ต้องโทษ นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการร่างพ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท ซึ่งอยู่ในชั้นกฤษฎีกา น่าจะประกาศใช้ได้ในรัฐบาลนี้

อีกฉบับหนึ่งที่หนทางยังยาวไกลหน่อยคือ ร่างพ.ร.บ.ยุติธรรมชุมชน ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้พื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ข้อเสนอรูปธรรมอีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ ปัจจุบันงานคุมประพฤตินั้นล้นเกินอย่างมาก ดังนั้น น่าจะมีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ศาลใช้มาตรการอื่นได้อย่างจริงจังแทนการคุมประพฤติ เช่น ทำงานสาธารณะประโยชน์ ทำงานบริการสังคม

สำหรับเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restoration Justice) นั้นเป็นแนวคิดหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาในสังคมไทย และเชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่เข้าใจมากนัก รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อันที่จริง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนดูสังคมโบราณจะเห็นว่า “ชุมชน” เป็น platform ของการแก้ปัญหาความขัดแย้งมายาวนานแล้ว ก่อนที่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักหรือระบบกฎหมายของรัฐจะเข้ามาจัดการแทน ทั้งโลกเน้นแนวคิดการลงโทษหนักมาตลอดศตวรรษที่ 20 แต่สุดท้ายก็พบว่ามันยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น จนศตวรรษที่ 21 จึงเริ่มผ่องถ่ายมาสู่มาตรการทางเลือกที่ให้ชุมชนเป็นตัวเอกในการจัดการ ทั้งการป้องกันอาชญากรรม (จัดระเบียบชุมชน) การแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การเยียวยาเหยื่อ การรับคืนผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัว

ถามว่าคุ้มไหม รศ.ดร.จุฑารัตน์ บอกว่า งานวิจัยของประเทศอังกฤษศึกษาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักกับแบบสมานฉันท์พบว่าสัดส่วนอยู่ที่ 1:8 แปลว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ประหยัดกว่า ในส่วนของการกระทำผิดซ้ำก็พบว่าแบบสมานฉันท์นั้นต่ำกว่า

น่าจับตาว่ากระบวนการเหล่านี้หรือข้อเสนอต่างๆ จะเข้าไปแทรกตัวอยู่ในสังคมและระบบยุติธรรมได้อย่างไรบ้าง ทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้เคยต้องโทษคุมขัง การปรับแก้กฎหมายเก่าที่กำลังทำกันอยู่เพื่อเปิดช่องในการใช้มาตรการทางเลือกได้ ที่สำคัญตัวแทนจากศาลยุติธรรมชี้ว่า แม้ผลักดันกันจนแก้ไขกฎหมายสำเร็จ สิ่งที่ลืมไม่ได้คือนำเสนอข้อมูลให้ผู้พิพากษาได้รับทราบด้วย

 

ที่มาภาพเปิด: Romeo GACAD / AFP

Tags: , , , ,