สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวฮ่องกงหลายพันคนประท้วงแผนการสร้างเกาะใหม่เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น โครงการถมดินเพื่อสร้างเกาะใหม่ที่ชื่อ ‘ลันเตา ทูมอร์โรว์ วิชั่น’ (Lantau Tomorrow Vision)  นี้จะเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดต้องใช้เงินลงทุนสูงและจะทำลายสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแคร์รี แลม (Carrie Lam) หัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง ประกาศแผนการสร้างเกาะขนาด 17 ตารางกิโลเมตรในมหาสมุทร เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการคมนาคมขนส่งเพื่อให้เกาะแห่งนี้เป็นพื้นที่ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเกาะนี้ซึ่งจะเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกงจะมีที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน 1.1 ล้านคนในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

แต่นักวิจารณ์บอกว่าโครงการนี้ ไม่จำเป็น หาเงินมาจ่ายไม่ได้ และไม่ยั่งยืน นักอนุรักษ์บอกว่ามันจะทำลายการประมงและสิ่งมีชีวิตในทะเล

โครงการลันเตา ทูมอร์โรว์ วิชั่น เป็นโครงการขนาดใหญ่ล่าสุดที่ทำให้ชาวฮ่องกงโกรธ โดยบอกว่ารัฐบาลใช้เงินไปกับโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมเมืองให้ใกล้ชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น แผนลันเตายังถูกมองว่าเป็นอีกประตูหนึ่งไปสู่พื้นที่ Greater Bay ซึ่งเป็นการรณรงค์เพื่อผนวกฮ่องกงเข้ากับเมืองที่อยู่ทางใต้ของจีน

เมื่อวันอาทิตย์ที่  14 ต.ค. ผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงรวมตัวกันบนถนนในใจกลางฮ่องกง ถือป้ายที่เขียนว่า “เราไม่ต้องการโครงการช้างเผือก” เด็กๆ ถือรูปวาดสิ่งมีชีวิตทางทะเล และป้ายที่ตัดเป็นรูปโลมาเผือกซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากการก่อสร้าง

ขณะที่ผู้สนับสนุนกล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ของฮ่องกง นั่นคือการขาดแคลนบ้านที่ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของได้ ฮ่องกงซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรชาวฮ่องกง 7 ล้านคนเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งที่อยู่อาศัยแพงที่สุดในโลก แลมให้คำมั่นว่าพื้นที่ 70% ของเกาะใหม่นี้จะถูกพัฒนาไปเป็นที่อยู่อาศัยของรัฐ

ความคิดเรื่องการสร้างเกาะเทียมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเป็นที่ถกเถียงกันมาหลายปี สนามบินฮ่องกงสร้างบนแผ่นดินที่มาจากการถมดินในทะเล พื้นที่ 6% ของฮ่องกงสร้างบนพื้นที่ที่มาจากการถมดิน มีประชาชน 1 ใน 4 ที่อยู่บนพื้นที่เหล่านี้

แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลที่ว่าทำไมโครงการลันเตาจึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ “ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในตอนนี้มาจาก 2 เหตุผลง่ายๆ ได้แก่ ไม่มีความต้องการจริงๆ และรัฐบาลไม่มีเงิน” ลัม ชิว หยิง (Lam Chiu Ying) อาจารย์พิเศษสาขาภูมิศาสตร์และการจัดการทรัพยากร มหาวิทยาลัยไชนีสแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) แสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์

ฝ่ายประชาธิปไตยกล่าวว่า โครงการนี้ใช้เงินลงทุนถึง 127,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูล แต่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังยอมรับว่ามันต้องใช้เงินลงทุนสูง

บางส่วนบอกว่ายังมีที่ดินซึ่งยังใช้งานเหลืออยู่ พื้นที่เกษตรกรรมที่เสื่อมโทรมซึ่งอยู่ในมือของนักพัฒนาที่ดิน ที่ดินซึ่งถูกกำหนดให้เป็นของชนพื้นเมือง หรือบางส่วนของเขตนิวเทอริทอรีส์

นักวิจารณ์ยังบอกด้วยว่าโครงการนี้ใช้เวลานานเกินไปในการแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ตามแผนแล้ว การก่อสร้างจะเริ่มได้ในปี 2025 ซึ่งเริ่มให้เข้าอยู่อาศัยในรอบแรกได้ในปี 2032

เอ็ดดี้ ชู  (Eddie Chu) ทนายความฝั่งประชาธิปไตยและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ปัญหาที่อยู่อาศัยของฮ่องกงต้องการการแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น ที่อยู่อาศัยชั่วคราวมากกว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่กินเวลา 20 ปีจึงจะเสร็จ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ รถไฟความเร็วสูงใหม่ของฮ่องกงที่เชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่ และสะพานที่เชื่อมระหว่างมาเก๊าและชูไห่ที่ใกล้จะเปิดก็มีการถกเถียงเช่นกัน ผู้สนับสนุนบอกว่าโครงการหลายพันล้านเหรียญจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้คัดค้านบอกว่าโครงการเหล่านี้มาจากแรงจูงใจทางการเมืองที่ต้องการทำให้พรมแดนระหว่างฮ่องกงและแผ่นดินใหญ่เบลอ

นาธาน ลอว์ นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วย กล่าวว่า รัฐบาลใช้กองทุนของรัฐไปกับเมกะโปรเจ็กต์มากกว่าโครงการด้านสวัสดิการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐขาดความตั้งใจในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน

 

 

ที่มาภาพ: ELAINE YU / AFP

ที่มา:

Tags: , , , ,