“ลูกเชื่อว่าพระเจ้าคงต้อนรับคุณพ่อให้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ คำสุดท้ายที่คุณพ่อบอกกับคุณแม่และลูกว่า อย่างน้อยพ่อได้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาอย่างดีที่สุด เท่าที่ชีวิตนี้จะทำได้ ได้ให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน ความดีที่ทำไว้กับประชาชน ความดีที่ทำไว้กับแผ่นดิน นี่คือความภาคภูมิใจที่สุดของพ่อ” – ท่อนหนึ่งในคำกล่าวไว้อาลัยก่อนการฌาปนกิจของลูกสาวนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาที่ปลิดชีวิตตัวเองเพื่อประท้วงการแทรกแซงระบบยุติธรรม
“ขอให้ผู้พิพากษาที่ดับชีวิตของตนสังเวยความอยุติธรรมของระบบกฎหมายและตุลาการจงเป็นคนสุดท้ายเถิด ประชาชนเหลืออดแล้วกับการแทรกแซงกระบวนการตุลาการเพื่อเป็นเครื่องมือของความมั่นคง และกับการที่สถาบันตุลาการ ‘อยู่เป็น’ ถวายตัวรับใช้รัฐอภิสิทธิ์ ถวายใจรับใช้ผู้ยิ่งใหญ่แทนที่จะรับใช้ความยุติธรรม นิติรัฐแบบนี้ผิด และจะต้องยุติ พอกันที ประเทศไทย สังคมไทยต้องการการปกครองของกฎหมาย ไม่ใช่การปกครองของผู้ยิ่งใหญ่ด้วยกฎหมาย ไม่ใช่นิติอธรรมอย่างเด็ดขาด” – ตอนท้ายของการกล่าวปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 ของธงชัย วินิจจะกูล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563
ปาฐกถานี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการพูดถึง ‘ความอยุติธรรม’ อย่างถึงรากและตรงไปตรงมาที่สุดครั้งหนึ่งในรอบทศวรรษ เป็นการตั้งคำถามถึงคน ‘อยู่เป็น’ ทั้งสังคม โดยเฉพาะคนในแวดวงตุลาการ นิติศาสตร์ ที่ดูเหมือนจะถูกท้าทายอย่างยากจะวางเฉย
ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เป็นอดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ย้อนอดีตนานกว่านั้น เขาเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นผู้นำนักศึกษา เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นผู้ต้องหาทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ราว 2 ปีก่อนไปเรียนต่อและเป็นอาจารย์ในต่างประเทศ เป็นเจ้าของหนังสือชื่อดังที่รื้อมายาคติว่าด้วย ‘ชาติ’ Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation
ชื่อของเขาปรากฏในงานเขียนและการพูดหลายต่อหลายครั้งตลอดสองทศวรรษ ส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับเรื่องความรุนแรง การลอยนวลพ้นผิด และประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ครั้งนี้เขาใช้เวลาราว 2 ปี ในการจัดทำงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและกลายมาเป็นปาฐกถาในครั้งนี้
ข้อสรุปของงานวิจัย หากจะกล่าวโดยหยาบและสั้นที่สุด คือ ประเทศไทยไม่เคยมี Rule of Law หรือการปกครองของกฎหมายอย่างที่กล่าวอ้าง หากแต่เป็น Rule by Law หรือการปกครองด้วยกฎหมาย สองอย่างนี้ต่างกันอย่างสำคัญดังจะกล่าวต่อไป
เขาลบล้างข้ออ้างที่ว่า ตัวระบบกฎหมายของเราดีอยู่แล้ว และปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก ‘การบังคับใช้’ หรือ ‘คนใช้กฎหมาย’ เขายืนยันว่าปัญหาอยู่ที่ ‘ราก’ ของกฎหมายไทยที่เติบโตมาจากหน่อเนื้อสมบูรณาญาสิทธิราชย์และยังสืบต่อวิธีคิด จิตวิญญาณเช่นนั้นมาจนปัจจุบัน และยังชี้ให้เห็นว่าเหตุใดนิติศาสตร์ไทยจึงรับใช้เผด็จการ
อย่างไรก็ตาม ต้องกล่าวไว้ด้วยว่าเขาละเว้นการกล่าวถึงระบบ ‘สองมาตรฐาน’ ในระดับปัจเจก เช่น ความแตกต่างในกระบวนการยุติธรรมระหว่างคนรวย-คนจน คนมีเส้น-ไม่มีเส้น เพราะประชาชนล้วนเห็นกับตาตนเองชัดแจ้งแล้ว การนำเสนอของเขาจึงมุ่งไปที่สิ่งที่ลึกและฝังอยู่ในระดับโครงสร้าง
ว่าแต่ทำไมเราต้องมาสนใจเรื่องนี้
“การปกครองของกฎหมาย (Rule of Law) เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับการสร้างประชาธิปไตย เพราะจะต้องมีระบบกฎหมายที่ยุติธรรมให้เข้มแข็งควบคู่กันไป หากแยกขาดจากกันก็จะล้มเหลวทั้งคู่”
คำตอบนี้อาจพอเป็นจุดตั้งต้น
“ผมขอเสนอว่าความอยุติธรรมผิดเพี้ยน มีรากฐานมาจากนิติศาสตร์และระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยที่มิใช่ ‘The Rule of Law’ นิติศาสตร์แบบบรรทัดฐานในสากลโลกเกิดขึ้นในบริบทประวัติศาสตร์ของยุโรปอเมริกัน แต่นิติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยเกิดและพัฒนาขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งต่างออกไปอย่างมาก ผลก็คือระบบกฎหมายที่มีคุณสมบัติผิดแผกผิดเพี้ยนไปจาก The Rule of Law แบบบรรทัดฐานหลายประการ”
เราลองมาไล่ดูคำอธิบายของธงชัยเป็นลำดับ
-1-
‘นิติรัฐ นิติธรรม’ ที่นักนิติศาสตร์ไทยทุกสำนักได้พยายามพูดกันมาตลอดนั้น มีรากมาจากแนวความคิดสองกระแส คือ
- นิติรัฐ (Rechtsstaat หรือ Legal State)
- การปกครองของกฎหมาย (The Rule of Law)
แม้จะมีพัฒนาการมาคนละทางกันและต่างกันพอควร แต่ทั้งสองกระแสผสานเข้าหากันเมื่อกลางศตวรรษที่ 20 มีหลักการร่วมกันที่หมายถึง รัฐที่ถือว่ากฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่การปกครองตามอำเภอใจของ ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ ใดๆ
คุณสมบัติสำคัญๆ มีดังนี้
- กฎหมายชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียว ประชาชนรับรู้กฎหมายนั้นได้โดยสะดวก
- ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย
- จำกัดอำนาจของรัฐ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล
- รัฐธรรมนูญ / รัฐสภา เป็นอำนาจสูงสุด
- มีหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการ
-2-
ธงชัยบอกว่านิติศาสตร์และระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยก่อตัวในบริบททางประวัติศาสตร์ที่ต่างกันลิบลับ นั่นคือ มันก่อตัวในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์และภาวะกึ่งอาณานิคม
ต้องไม่ลืมว่าเราเริ่มมีระบบกฎหมายสมัยใหม่ในช่วงรัชกาลที่ 5 ซึ่งบริบทของเราเป็นดังนี้
- สยามอยู่ในภาวะกึ่งอาณานิคมที่เผชิญทั้งความยั่วยวนให้ผันตัวสู่ความศิวิไลซ์ และการบังคับข่มขู่ให้ต้องเปลี่ยนแปลงตามตะวันตก
- ประวัติศาสตร์ยุโรปผ่านการปฏิวัติศาสนาในศตวรรษที่ 16 และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ในยุคเรืองปัญญา (The Enlightenment) ในศตวรรษที่ 17-18 ผลของสองกระบวนการนี้ทำให้รัฐกับศาสนาออกห่างจากกัน เป็นค่านิยมแบบโลกวิสัย (secularism) ระบบกฎหมายสมัยใหม่เกิดขึ้นเพื่อเป็นกฎกติกาของสังคมโลกวิสัย แต่การปฏิรูปศาสนาในสยามไม่เคยนำไปสู่การที่รัฐแยกห่างจากศาสนจักร
- นิติศาสตร์สมัยใหม่เติบโตคู่มากับกระฎุมพีในระบบทุนนิยมเสรีที่ไม่ต้องการให้รัฐเข้ามายุ่มย่ามกับปัจเจกบุคคล และทรัพย์สินของเอกชน ดังเป็นที่มาของคำกล่าว Power corrupts. Absolute power corrupts absolutely. แต่ระบบกฎหมายสมัยใหม่ของรัฐสยามยังอยู่กับปรัชญาการเมืองของพุทธที่ถือว่าอำนาจสะท้อนบุญบารมี อำนาจสมบูรณ์เป็นของผู้มีบุญบารมีสูงสุด
- นิติรัฐของยุโรปเป็นผลของการต่อสู้เพื่อจำกัดอำนาจของรัฐ ต้องการให้กฎหมายเป็นใหญ่เหนือกว่ากษัตริย์ แต่การปฏิรูประบบกฎหมายในสยามอยู่ใต้กำกับของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์
- การเปลี่ยนผันสู่ระบบกฎหมายสมัยใหม่จะต้องเผชิญกับจารีตกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว
-3-
คำถามสำคัญมากต่อความเข้าใจนิติศาสตร์ไทยก็คือ ‘กษัตริย์สยามตามจารีตเดิมใช้อำนาจบัญญัติกฎหมายหรือไม่?’ ธงชัยอธิบายว่า ความเชื่อหลักทางวิชาการเห็นว่ากษัตริย์ไทยสมัยก่อนไม่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย เพราะถูกจำกัดด้วยพระธรรมศาสตร์อันศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ได้มีอำนาจสมบูรณ์ ความเชื่อนี้กลายเป็นมาตรฐานในประวัติศาสตร์กฎหมายของไทยว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีอำนาจจำกัด สอดคล้องกับหลักของนิติรัฐและ Rule of Law สมัยใหม่อยู่แล้ว
ธงชัยนำเสนอว่า อันที่จริงแล้วในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ ในทางปฏิบัติ กษัตริย์มีอำนาจเขียนกฎหมาย
คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นหลักกฎหมายตามจารีตฮินดู-พุทธ ถือกันว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่ง มนุษย์ทั้งหลายรวมทั้งกษัตริย์ผู้ปกครองด้วยจึงต้องเชื่อฟังนับถือ แต่นั่นอาจไม่ใช่เอกสารที่ใช้ตรวจสอบอ้างอิงเคร่งครัดอย่างที่เชื่อกัน ส่วนที่มีผลจริงๆ แต่นักกฎหมายไทยเห็นว่าไม่สำคัญนักคือ ‘พระราชศาสตร์’ ซึ่งเป็นคำรวมของพระราชกำหนด พระราชบัญญัติ และกฎอื่นๆ ที่กษัตริย์บัญญัติขึ้น ในกรณีของไทยพระราชศาสตร์ถูกรวมเข้าไว้เป็นคัมภีร์เล่มเดียวกับพระธรรมศาสตร์ ธงชัยชี้ว่าการทำเช่นนี้ทำให้พระราชศาสตร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางกฎหมายไปด้วย และหลายอย่างก็ยังสืบต่อเรื่อยมาข้ามรัชสมัย เช่น กฎมณเฑียรบาล
-4-
เมื่อมาถึงรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่รวมถึงระบบกฎหมายด้วยนั้น ประวัติศาสตร์กระแสหลักมักเล่าว่าเป็นเรื่องของการทำกฎหมายให้ทันสมัย (modernization) เพราะระบบกฎหมายเดิมล้าหลัง เช่น ราษฎรไม่เสมอภาคกันตามกฎหมาย ทรัพย์สินเอกชนไม่ได้รับการคุ้มครอง ใช้ ‘จารีตนครบาล’ ลงโทษและสอบสวนด้วยวิธีทารุณ การพิจารณาคดีไม่เป็นระบบระเบียบที่ตรวจสอบได้
ในอีกด้านหนึ่งตัวบทกฎหมาย การตีความ และกำหนดโทษก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน นี่ทำให้ฝรั่งไม่ยอมรับอำนาจศาลไทย สยามจึงต้องเร่งปรับปรุงระบบกฎหมายให้ได้มาตรฐานที่ชาติยุโรปยอมรับ
“เราจ้างชาวต่างชาติผู้เชี่ยวชาญการร่างกฎหมายเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วมกับเจ้านายผู้ปกครองไทยหลายคนเพื่อสร้างระบบประมวลกฎหมายขึ้น ใช้เวลากว่าสิบปีประมวลกฎหมายฉบับแรกก็สำเร็จ นั่นคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 (พ.ศ. 2451) ตามมาด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและแพ่งจนสำเร็จหมดในปี 2478 ได้เอกราชทางการศาลคืนมาเมื่อปี 2481 นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ทั้งช่วยรักษาเอกราชของสยามและทั้งปรับปรุงระบบกฎหมายให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล”
-5-
ประวัติศาสตร์กฎหมายกระแสหลักบอกว่า เมื่อปฏิรูประบบกฎหมายให้ทันสมัยทัดเทียมตะวันตกแล้ว ทำให้ราษฎรทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลที่เสมอภาคกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ของเอกชน ฯลฯ
ธงชัยระบุว่า ‘ไม่จริง’ มันยังมีความขัดแย้งระหว่างกฎหมายใหม่ที่ไม่ลงรอยกับจารีตกฎหมายแบบเดิม เช่น ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายยังไม่เกิด แต่สถานะของ ‘บุคคล’ ทางกฎหมายและต่อรัฐเปลี่ยนไป เขายกตัวอย่างว่า แม้มีการเลิกไพร่ทาสและจัดตั้งกองทัพที่ราษฎรล้วนเป็นทหารเหมือนกัน เรียกว่าทำให้ราษฎรทุกคนเสมอภาคกัน มีสิทธิเท่าเทียมกันในสายตาของกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงความไม่เสมอภาคทางกฎหมายยังมีอยู่ทั่วไป กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ให้อภิสิทธิ์แก่พระราชวงศ์ชนชั้นเจ้าทั้งหมด แถมมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ไม่ต้องรับผิดเหมือนกับประชาชน ศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจดำเนินคดีพระบรมวงศานุวงศ์ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกษัตริย์เสียก่อน เป็นต้น
“อันที่จริงหลักฐานเรื่องการปฏิรูปกฎหมายไม่เคยมีชิ้นใดเลยที่กล่าวถึงความเสมอภาค เพราะนั่นย่อมหมายถึงเจ้าย่อมอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันกับราษฎร ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความแตกต่างระหว่างเจ้า ขุนนาง ข้าราชการ ราษฎร และสถานะของคนยังดำรงอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนไปเป็นว่าราษฎรล้วนเป็น ‘พลเมือง ที่เสมอภาคกันใต้ชนชั้นสูง’ ใต้คนมีอำนาจ และใต้ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว ระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยถูกสร้างขึ้นในสภาวะเช่นนั้น”
-6-
ผลสำคัญมากอีกอย่างคือ แนวคิดนิติศาสตร์ที่สนับสนุนระบอบเผด็จการ
ธงชัยอธิบายว่า นักนิติศาสตร์ไทยมักกล่าวว่าการปฏิรูปทำให้ ‘สำนักกฎหมายบ้านเมือง’ เข้าครอบงำวงการกฎหมายของไทย สำนักนี้ถือว่ากฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐ ราษฎรต้องเคารพกฎหมายทั้งปวงที่รัฐประกาศใช้ออกมาโดยไม่ต้องคำนึงว่ากฎหมายนั้นดีหรือเลว ยุติธรรมหรือไม่ ตัวอักษรของกฎหมายคือความยุติธรรม นั่นหมายความในที่สุดว่า อำนาจก็คือกฎหมาย ฝ่ายตุลาการใช้ความคิดนี้เพื่อรับรองการปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้งโดยอธิบายว่าเมื่อคณะรัฐประหารทำสำเร็จได้อำนาจแล้วก็ย่อมเป็นที่มาแห่งกฎหมาย ไม่ว่าจะได้อำนาจมาโดยชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ธงชัยคิดว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น เพราะเอาเข้าจริง วิธีคิดของนักกฎหมายไทยก็อาจไม่เหมือน สำนักกฎหมายบ้านเมืองแบบสากลอย่างแท้จริง หากแต่สำนักนี้เปรียบดั่งเสื้อคลุมฝรั่งที่สวมทับนิติศาสตร์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยามได้อย่างพอดิบพอดี
“แนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองเข้ากันได้พอดีกับจารีตกฎหมายที่ดำรงอยู่แล้วในสยามยุคนั้น กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใช้อำนาจบัญญัติกฎหมายอยู่แล้ว เป็นองค์อธิปัตย์ (The Sovereign) ในทางกฎหมายอยู่แล้ว ความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แถมยังเป็นของฝรั่งที่ศิวิไลซ์กว่าจารีตเดิมอีกด้วย การปฏิรูปกฎหมายก็เพื่อสนองและรับใช้รัฐสมัยใหม่แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรวมศูนย์อำนาจภายใต้ชนชั้นนำที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งระบบกฎหมายสมัยใหม่นั่นเอง”
“การที่ชนชั้นนำใช้วาทกรรมและโวหารของสำนักกฎหมายบ้านเมืองได้สนิท การที่สถาบันตุลาการด้วยหยิบยกคาถาของสำนักกฎหมายบ้านเมืองมาเป็นเหตุผลสนับสนุนความชอบธรรมของระบอบอำนาจนิยมทุกชนิดได้อย่างสะดวกใจ อาจดูเหมือนว่าพวกเขาสมาทานความคิดฝรั่งสำนักนั้น แต่แท้จริงแล้วพวกเขาได้ทำให้ ‘ของนอก’ กลายเป็นไทยแบบที่พวกเขาคุ้นเคยต่างหาก”
-7-
นับจากนั้นมา นิติศาสตร์และระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยพัฒนาต่อมาเป็นสองกระแสควบคู่กัน ได้แก่ นิติรัฐแบบรัฐมีอภิสิทธิ์ และ นิติธรรมที่อิงกับพุทธและธรรมราชา
-8-
นิติรัฐอภิสิทธิ์
ธงชัยนิยามลักษณะของมันว่า คือ ระบบกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทรัพย์สินเอกชนได้ด้วยข้ออ้างเพื่อประโยชน์สาธารณะ และสำหรับประเทศไทยมันพัฒนาไปสู่ข้ออ้าง ‘ความมั่นคงของชาติ’
“ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด กฎหมายอาญาสมัยใหม่นับแต่ฉบับแรกยังสืบทอดจารีตเดิม เพราะกษัตริย์ ราชวงศ์ และราชวัง = รัฐ และภายใต้เผด็จการหลายสมัยหลังจากนั้น ‘ความมั่นคงของชาติ’ ก่อให้เกิดอภิสิทธิ์ของรัฐมหาศาลโดยเฉพาะแก่กองทัพ จนยิ่งใหญ่เหนือรัฐบาล ถึงขนาดที่รัฐบาลพลเรือนไม่ค่อยกล้ายุ่งกับงบประมาณทหารและการโยกย้าย ‘บิ๊ก’ ทั้งหลาย”
‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ ยังเป็นเหตุผลให้รัฐและกองทัพสามารถงดใช้กฎหมายและกระบวนการตุลาการตามปกติได้หากมีสถานการณ์พิเศษหรือใน ‘สภาวะยกเว้น’ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐธรรมนูญชั่วคราว กฎอัยการศึก มีผลให้คณะรัฐประหารและกองทัพอยู่เหนือกฎหมายปกติ เหนือรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการของไทยให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารและอำนาจในสภาวะยกเว้นด้วย เพราะถือว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หากทำสำเร็จโดยไม่มีประชาชนลุกขึ้นต่อต้าน จึงมีอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมายได้
ปัญหาใหญ่อีกอย่างคือ ‘ความมั่นคง’ ของไทยมีนิยามลื่นไหลตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ ในขณะเดียวกันกลับไม่มีทางเข้าใจได้ชัด ธงชัยยกตัวอย่างกฎหมายในประมวลกฎหมายอาญา เช่น มาตรา 118 ว่าด้วยการตีความถึงการหมิ่งธงชาติ หรือ มาตรา มาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ว่ามันกว้างขวางลื่นไหลขนาดไหนและบางครั้งก็ non sense จนน่าหัวร่อ เช่น กรณีถุงเท้าลายธงชาติของนายแผน ทั้งสองมาตรานี้ล้วนเป็นมรดกรับมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีการตีความที่กว้างขวางลื่นไหลในปัจจุบัน ทั้งยังให้อำนาจรัฐมากเป็นพิเศษและทำให้เป็น ‘สภาวะยกเว้นอย่างถาวร’ เพราะปรากฏอยู่ในกฎหมายอาญาปกติ เป็นข้อยกเว้นที่แตกต่างจากหมวดอื่นๆ ในระบบกฎหมายปกติ เพราะให้อภิสิทธิ์แก่รัฐละเมิดสิทธิของบุคคลได้ในภาวะปกติ เช่น พรากสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา
-9-
หันดูหลายประเทศ รัฐก็มีอภิสิทธิ์ในนาม ‘ความมั่นคง’ เช่นเดียวกัน แต่มีความต่างกับประเทศไทยอย่างมาก เช่น
1) ญี่ปุ่นจำกัดอยู่ที่การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเท่านั้น ส่วนสิงคโปร์กำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าหมายถึงการกระทำอะไรบ้าง ไม่ลื่นไหลตามใจผู้มีอำนาจเหมือนไทย
2) ทั้งในญี่ปุ่นและสิงคโปร์ อภิสิทธิ์ที่รัฐมีเป็นของ ‘สถาบัน’ ไม่ใช่ของ ‘บุคคลที่ครองตำแหน่ง’ ปัจเจกบุคคลไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนล้วนอยู่ใต้กฎหมายเหมือนๆ กัน
3) อภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิด (impunity) เป็นสิ่งน่ารังเกียจสุดๆ ในญี่ปุ่น สิงคโปร์ และประเทศส่วนใหญ่ในโลก แต่ในประเทศไทยเป็นเรื่องปกติ
-10-
ราชนิติธรรม
ธงชัยนิยามว่า คือ นิติศาสตร์ไทยที่ถือว่ากษัตริย์เป็นหลักสูงสุดของกฎหมายและความยุติธรรม มิใช่รัฐธรรมนูญหรือรัฐสภาดังที่ถือกันเป็นบรรทัดฐานทางสากล
“จุดเริ่มต้นของหลักนิติธรรมแบบไทยคือการต่อสู้ระหว่าง ‘สำนักกฎหมายธรรมชาติ’ หรือ ‘ธรรมนิยม’ กับ ‘สำนักกฎหมายบ้านเมือง’ นักนิติศาสตร์ธรรมนิยมในไทยเห็นว่า ความยุติธรรมสำคัญกว่าและมาก่อนกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายธรรมชาติ (natural law) ของตะวันตก และกล่าวหาว่าสำนักกฎหมายบ้านเมืองแยกกฎหมายออกจากความยุติธรรม ธรรมะและศีลธรรม ฝ่ายธรรมนิยมเห็นว่ากฎหมายจะต้องผูกพันกับธรรมะและศาสนา และเห็นว่า ‘ธรรมราชา’ เป็นหลักสูงสุดของกฎหมายและความยุติธรรมแบบไทย ‘พุทธ + กษัตริย์’ เป็นแหล่งจารีตและประเพณีของหลักนิติธรรมไทย”
-11-
ประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนนิติศาสตร์แบบราชนิติธรรมมี 4 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงความยุติธรรมสูงสุดแต่ไม่ใช้อำนาจบัญญัติกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อว่ากษัตริย์ไทยไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์
ประเด็นที่ 2 หลังการปฏิวัติ 2475 อำนาจอธิปไตยยังเป็นของกษัตริย์หรือไม่ พวกกษัตริย์นิยมอธิบายว่าหลัง 2475 อำนาจยังเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่ได้พระราชทานให้กับคณะราษฎรเพื่อเริ่มระบอบใหม่ซึ่งพระมหากษัตริย์ก็เตรียมที่จะให้อยู่แล้ว
ประเด็นที่ 3 บทบาทของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการยุติการนองเลือดได้หลายครั้ง พวกกษัตริย์นิยมรุ่นเก่ามักย้ำว่ากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง พวกกษัตริย์นิยมรุ่นปัจจุบันกลับผลักดันความคิดใหม่ว่ากษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเหมาะสมจึงช่วยรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ (โปรดสังเกตว่า ประวัติศาสตร์แบบนี้จะยกเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 เสมอ แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2553)
ประเด็นที่ 4 ประวัติศาสตร์ของธรรมราชา โดยโหมโฆษณาพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และย้ำความสำคัญของทศพิธราชธรรมเพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนว่ากษัตริย์ไทยเป็น ‘ธรรมราชา’ ตามแนวคิดนี้ ทศพิธราชธรรมได้เขยิบจากหลักธรรมของพุทธราชา กลายเป็นหลักและธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญไปแล้ว
“กล่าวโดยสรุป ตามความคิดนี้กษัตริย์จะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นกฎหมาย เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของไทย”
-12-
“ในขณะที่นิติรัฐและ The Rule of Law แบบบรรทัดฐานยึดถือหลักการว่ารัฐธรรมนูญและรัฐสภาเป็นอำนาจสูงสุด แต่ในนิติศาสตร์แบบไทย สถานะขององค์อธิปัตย์ (The Sovereign) ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและเป็นเบื้องบนเหนือระบบการเมืองทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น จะถือว่าอยู่ใต้กฎหมายหรืออยู่เหนือกฎหมาย? ผู้สนับสนุนราชนิติธรรมต้องตอบคำถามนี้ และถ้าหากกล่าวตามหลักการของ Legal State และ The Rule of Law ที่ว่ากฎหมายต้องเป็นใหญ่สุด ใครหรือกลไกใดทำหน้าที่ตรวจสอบพระมหากษัตริย์ภายใต้นิติศาสตร์แบบราชนิติธรรมมิให้กลายเป็นทรราชย์?”
-13-
จอร์จ ออร์เวล เคยกล่าวไว้ “ถ้าควบคุมอดีตได้ ก็จะควบคุมอนาคตได้ ถ้าควบคุมปัจจุบันได้ ก็จะควบคุมอดีตได้” แต่ความพยายามนี้จะสำเร็จหรือไม่ มากหรือน้อย ยังขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ธงชัยเห็นว่า อดีตไม่ใช่สิ่งที่ควบคุมได้ง่ายอย่างใน 1984
“ความพยายามสร้างบุคลาธิษฐานของรัชกาลที่ 9 โดยอิงอยู่กับเรื่องเล่าแบบทางราชการนั้น โปรดตระหนักว่าประวัติศาสตร์มีหลายด้านเสมอ ในอนาคตอาจมีผู้มองไปยังรัชสมัยที่ผ่านไปแล้วสรุปว่าเป็นรัชสมัยที่เริ่มต้นด้วยอภิสิทธิ์ปลอดความผิดครั้งใหญ่ที่สุด และจบรัชสมัยด้วยการทำให้พระราชอำนาจแทบจะอยู่เหนือกฎหมาย เท่ากับว่าเป็นยุคสมัยของการทำลายหลักการสำคัญสูงสุดสองอย่างของการปกครองของกฎหมาย The Rule of Law จนพังพินาศ ยุคสมัยดังกล่าวจึงอาจจัดได้ว่าเป็นยุคมืดของประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ทัศนะประวัติศาสตร์เช่นนี้ปิดบังไม่ได้แล้ว การควบคุมอดีตก็ยากขึ้นในภาวะที่ความทรงจำไม่ได้เป็นเพียงวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างที่รื้อทำลายให้หายวับไปได้ แต่กลับโลดแล่นใน ปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) ที่รัฐคุมไม่ได้ แถมมีผู้เข้าร่วมผลิตความทรงจำนับไม่ถ้วน ดังนั้นอนาคตจึงอยู่นอกเหนือจากการควบคุมโดยสมบูรณ์”
ธงชัยเสนอว่า ทางเลือกอีกทางสำหรับสังคมไทยคือ พยายามเลิกเสพติดกับความคลั่งไคล้จนถลำลึกไปกว่านี้ เลิกอภิสิทธิ์สารพัดในนามของความมั่นคง สร้างการปกครองของกฎหมาย (The Rule of Law) อย่างแท้จริงขึ้นมา
ใช่ ทางเลือกนี้ยาก แต่มีอนาคตและยั่งยืนกว่า
-14-
นี่คือจดหมายของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนตอบธงชัยสมัยเป็นนักศึกษาและเพิ่งออกจากคุก ช่วงนั้นป๋วยลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเพราะเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และป่วยหนักเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง ธงชัยหยิบยกจดหมายฉบับนี้ขึ้นมาอีกครั้งในช่วงท้ายของการปาฐกถา
“นี่คงเป็นสิ่งที่เราทุกคนปรารถนาเช่นกัน ความปรารถนานี้หมายถึงไม่ควรให้อภิสิทธิ์แก่รัฐหรือผู้มีอำนาจและผู้ยิ่งใหญ่คนไหนทั้งสิ้น ทุกคนต้องเท่ากันเบื้องหน้ากฎหมายและต้องไม่มีอภิสิทธิ์ที่น่ารังเกียจสุดๆ อย่างอภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิดอีกต่อไป”
“หลายคนเห็นว่านี่เป็นอุดมคติ คงยังอีกไกลกว่าประเทศไทยจะไปถึงหลักการเหล่านี้ แถมเราไม่มีประวัติศาสตร์เหมือนอย่างประเทศที่ใช้หลักการปกครองของกฎหมาย ผมเห็นว่าหลักการเหล่านี้เป็นอุดมคติของคนได้ทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทยหากเราปรารถนา แต่หากเราต้องการอย่างนั้น เราต้องหาหนทางและสร้างประวัติศาสตร์ของเราเอง”
“ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นามนี้หมายถึงความซื่อสัตย์ เรามักเข้าใจว่าความซื่อสัตย์ของท่านหมายถึงการไม่โกงกิน แต่ความซื่อสัตย์ของท่านที่เราไม่ค่อยพูดถึงกันนักคือ การไม่ทรยศหลักการที่ท่านยึดถือ ท่านยอมงอไม่ได้ ขอ ‘อยู่ไม่เป็น’ ดีกว่า ถึงแม้ว่าจะทำให้ท่านอยู่ไม่ได้ก็ตาม ความสัตย์ประเภทนี้ต้องมีศรัทธาและมีความกล้าหาญที่จะรับผลของการไม่ยอมงอ”
*ดาวน์โหลดปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1hmXOVjZVxYdcLrzLSFMZ4XPA2lZZv_Zg/edit
หรือ ฟังปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่ https://prachatai.com/journal/2020/03/86739
Fact Box
ศ.ธงชัย วินิจจะกุล เป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เขาเป็นเจ้าของงานเขียนและงานวิจัยหลายชิ้น อาทิ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง, โฉมหน้าราชาชาตินิยม: ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย, ภูมิกายาและประวัติศาสตร์, กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ
นอกจากนี้เขายังเคยเป็นผู้นำกลุ่มนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ก่อนที่จะถูกคุมขังอยู่ราว 2 ปี และไปเรียนต่อในต่างประเทศ