ตอนที่แล้วผู้เขียนทิ้งท้ายด้วยอันดับของไทยใน ‘ดัชนีนิติรัฐ‘ (Rule of Law Index) ดัชนีระดับโลกโดย World Justice Project (WJP) ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดด้านต่างๆ 44 ตัว ประมวลผลจากสำรวจความคิดเห็นประชาชน 120,000 ครัวเรือนทั่วโลก และผู้เชี่ยวชาญ 3,800 คน

จากผลการประเมินล่าสุดปี 2019 ไทยอยู่อันดับ 76 จาก 126 ประเทศทั่วโลก ตกลงมา 1 อันดับจากปี 2018 โดยตัวชี้วัดที่ไทยได้คะแนนน้อยที่สุดห้าอันดับแรก ได้แก่ การมีระบบเรือนจำที่มีประสิทธิผล (effective correctional system) ได้ 0.27 (จากคะแนนเต็ม 1.00), การไม่เลือกปฏิบัติ (no discrimination) 0.33, สิทธิในความเป็นส่วนตัว (right to privacy) 0.37, สิทธิในชีวิตและความมั่นคงปลอดภัย (right to life & security) ได้ 0.38 และ หลักศุภนิติกระบวน (due process คือการกระทำของเจ้าหน้าที่ต้องชอบด้วยกฎหมาย) 0.40

ตอนแรกผู้เขียนตั้งใจจะไล่เรียงตัวอย่างรูปธรรมของห้าประเด็นข้างต้นที่ไทยได้คะแนนน้อยที่สุดในดัชนีนิติรัฐ แต่เมื่อได้ฟังปาฐกถาที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษของ ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ในปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 เรื่อง “นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย” เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา (ชวนดูคลิปย้อนหลัง หรืออ่านปาฐกถาฉบับเต็ม) ก็เกิดพุทธิปัญญาว่า สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะทำนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป ทุกคนควรไปดูคลิปหรืออ่านปาฐกถาของอาจารย์แทน จะเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้มากกว่าที่ผู้เขียนมีปัญญาทำมากมายหลายเท่า

จากการค้นคว้าและสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมายไทยอย่างลึกซึ้ง (และอาจารย์ก็ชี้ว่าเรายังต้องการงานวิจัยลักษณะนี้อีกมาก) และได้อ้างอิงดัชนีนิติรัฐของ WJP ด้วย ในการนิยามนิติรัฐและนิติธรรมฉบับสากล ปาฐกถานี้เสนออย่างน่าคิดอย่างยิ่งว่า rule of law หรือนิติรัฐ นิติธรรมแบบสากล (ซึ่งอาจารย์เสนอว่าให้ใช้คำว่า “การปกครองของกฎหมาย” อย่างตรงไปตรงมาแทน) ไม่เพียงแต่ตกต่ำลงมากในไทยเท่านั้น แต่แท้จริง “ไม่เคยมีอยู่เลย” ด้วยซ้ำไป!

อาจารย์ธงชัยเสนอว่า ในไทยมีแต่ “นิติรัฐอภิสิทธิ์” โดย “มีความโน้มเอียงที่จะให้อภิสิทธิ์แก่ฝ่ายบริหาร ตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ แทนที่จะมีบทบาทตรวจสอบอำนาจของรัฐบาล… ฝ่ายกฎหมายในระบบราชการก็เป็นผู้รับใช้รัฐ ยิ่งการเรียนนิติศาสตร์เป็นแบบท่องจำ จึงขาดการฝึกฝนวิจารณญาณอย่างเป็นอิสระ กล่าวโดยรวม ระบบกระบวนการยุติธรรมและตุลาการของไทยมีท่าทีเป็นผู้รับใช้รัฐ และทั้งหมดรับใช้สถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของคนในชาติ”

นอกจากนี้ “ในประเทศไทยก็มีสภาวะยกเว้นที่ให้อำนาจแก่กองทัพหรือคณะรัฐประหารยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการตุลาการตามปกติได้ มีผลให้รัฐและกองทัพสามารถอยู่เหนือกฎหมายปกติ เหนือรัฐธรรมนูญ และเหนือตุลาการได้ภายใต้สภาวะยกเว้น กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม “สภาวะยกเว้น” หมายถึง การปกครองด้วยภาวะฉุกเฉิน รัฐธรรมนูญชั่วคราว กฎอัยการศึก งดใช้กฎหมายปกติ ให้ใช้กฎหมายพิเศษสำหรับภาวะไม่ปกติ รัฐไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ในภาวะปกติถือเป็นความผิด”

อาจารย์ธงชัยชี้ว่ากฎหมายประเทศอื่นในทวีปเอเชียบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ กับญี่ปุ่น ก็ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐเช่นกัน แต่ของไทยแตกต่างกัน (และแย่กว่ากันมาก) เพราะ “ปริมณฑลอภิสิทธิ์ของรัฐไทยใหญ่โตกว่า[ในสิงคโปร์และญี่ปุ่น]มาก …“ความมั่นคงของชาติ” ของไทยกินความกว้างขวางมาก เกี่ยวข้องกับทุกแง่ทุกมุมของชีวิตจนอะไรๆ ก็ทำให้กลายเป็นเรื่องของความมั่นคงได้ทั้งนั้นหากรัฐและกองทัพต้องการแผ่อำนาจไปให้ถึง รวมถึงกิจการมากมายที่ควรเป็นเรื่องของพลเรือน” ตรงนี้ผู้เขียนอยากเสริมประเด็นที่เคยตั้งข้อสังเกตในบทความก่อนหน้านี้เรื่อง “เรื่องที่เราควรคุย เวลาที่คุยเรื่องกองทัพ” ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นครั้งแรกที่ “ความมั่นคงของรัฐ” ถูกกำหนดเป็นข้อยกเว้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญ “หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเสนอว่า ‘ความมั่นคงของรัฐ’ สำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน …ผู้เขียนเห็นว่าข้อนี้จะเท่ากับให้อำนาจกองทัพ ในฐานะหน่วยงานผู้กุมอำนาจในการนิยาม ‘ความมั่นคง’ มีบทบาทสูงเกินควรไปมากในการออกกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงที่กฎหมายหลายฉบับจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพียงเพราะอ้าง ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ที่ขาดความชัดเจน”

ซึ่งเราก็ได้เห็นปัญหาในโลกจริงมาแล้วมากมาย เห็นการใช้คำว่า “ความมั่นคง” อย่างเหมาโหลเหวี่ยงแหเพื่อข่มขู่และปิดปากประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐแล้วหลายกรณี นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

อาจารย์ธงชัยชี้ต่อไปว่า

“ทั้งในญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ปัจเจกบุคคลไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ล้วนอยู่ใต้กฎหมายเหมือนๆ กัน หมายความว่าอภิสิทธิ์ที่รัฐมีเป็นอภิสิทธิ์ในเชิงสถาบัน อภิสิทธิ์นั้นไม่เผื่อแผ่ถึงตัวบุคคลที่ครองตำแหน่ง หากเขาเอาอภิสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลย่อมถือเป็นความผิดร้ายแรง แต่อภิสิทธิ์ของรัฐในกรณีของไทยเผื่อแผ่ถึงบุคคลที่ครองตำแหน่ง ถึงวงศ์ตระกูล ถึงเพื่อนฝูงพวกพ้องก็มี การคอร์รัปชันอย่างร้ายแรงจึงมักควบคู่ไปกับการใช้อำนาจฉ้อฉลในทางราชการ …อภิสิทธิ์ของรัฐที่เผื่อแผ่ถึงบุคคลที่ครองตำแหน่งทรงอำนาจ เพราะเกรงว่าความผิดของคนจะเสียหายถึงสถาบันแห่งรัฐ จึงต้องปกป้องตัวบุคคลนั้นให้พ้นความผิด (เช่น กรณีนาฬิกา) รวมถึงการปกป้องบุคคลที่กระทำการในนามของรัฐ หรือทำเพื่อวัตถุประสงค์ของรัฐด้วย (เช่น เจ้าหน้าที่ที่บุกเข้าไปทวงคืนพื้นป่าแล้วทำร้ายชาวบ้าน) คำสั่งและการตัดสินใจผิดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐมักได้รับความคุ้มครองปกป้องเต็มที่ ถึงขนาดปลอดพ้นจากความผิด (impunity) เพราะรัฐเกรงจะเสียความชอบธรรม เกรงว่าอภิสิทธิ์ในการใช้อำนาจของรัฐจะถูกตำหนิและถูกจำกัด อภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิดเป็นสิ่งน่ารังเกียจสุดๆ ในประเทศส่วนใหญ่ในโลก รวมทั้งสิงคโปร์และญี่ปุ่น แต่ในประเทศไทยผู้ทรงอำนาจได้รับอภิสิทธิ์ชนิดนี้เป็นประจำด้วยวิธีการต่างๆ”

ผู้เขียนเห็นว่าปาฐกถาชิ้นนี้ทรงพลังทุกบรรทัด ทุกตัวอักษรปักเข้ากลางใจปัญหาของระบบยุติธรรมไทย ซึ่งรวมความถึงมโนทัศน์และโลกทัศน์ทั้งหลายของบุคลากรในระบบด้วย ตอนหนึ่งอาจารย์ธงชัยอธิบายว่าเหตุใด “ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย” ซึ่งเป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้ของหลักนิติรัฐ นิติธรรม จึงยังไม่ปรากฏในไทยว่า

“ในความเป็นจริง มีความขัดแย้งระหว่างกฎหมายใหม่ที่อาจจะไม่ลงรอยกับจารีตกฎหมายแบบเดิมหรือขัดฝืนค่านิยมเดิมในสังคมไทยอยู่ เช่น ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายยังไม่เกิด แต่สถานะของ ‘บุคคล’ ทางกฎหมายและต่อรัฐเปลี่ยนไป …ที่กล่าวว่าการเลิกทาส การเปลี่ยนไพร่เป็นทหารและกฎหมายสมัยใหม่ ย่อมเท่ากับว่าทุกคนเสมอภาคกันแล้ว น่าจะเป็นตรรกะที่ง่ายเกินไป การเลิกไพร่ทาสเป็นเพียงทำให้สถานะไพร่และทาสยุติลง แต่ความไม่เสมอภาคมีแบบอื่นอีกมากมาย สถานะของบุคคลยังแบ่งตามชนชั้นทางสังคม …คำว่า ‘พลเมือง’ ที่มักใช้ในความหมายเท่ากับ citizen ในรัฐประชาธิปไตยอย่างที่ใช้กันในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา แท้ที่จริงเป็นคำเก่า (พบได้ในกฎหมายตราสามดวง) แปลตรงตัวว่า พละกำลังของเมือง หมายถึงไพร่ฟ้าที่เป็นกำลังแรงงาน เป็นมือตีนและกล้ามเนื้อของบ้านเมือง ‘พลเมือง’ จึงหมายถึงราษฎรในเชิง ‘หน้าที่’ คือเป็นองคาพยพในองค์รวมที่เรียกว่าชาติ มีหน้าที่เป็นพละกำลังของเมือง ‘พลเมือง’ จึงไม่รวมชนชั้นปกครองเพราะพวกเขาเป็นศีรษะ สมอง หรือหัวใจของเมือง” 

“เหตุผลที่ใช้อธิบายความไม่เสมอภาคกันเป็นประจำก็คือ ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ เป็นความบกพร่องของบางคนที่ยังไม่ดีพอ เป็นกรณียกเว้นที่ตามปกติไม่เป็นเช่นนั้น แต่ความไม่เสมอภาคในสังคมไทยเป็นเรื่องทั่วไป พบได้เป็นปกติ แถมยังหนักหน่วงขึ้นในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด เพราะอภิสิทธิ์ทางกฎหมายของบางคนบางกลุ่มบางชนชั้นกลายเป็นเรื่องไม่ต้องละอายอีกต่อไป อวดกันโจ่งแจ้ง แก้ตัวน้ำขุ่นๆ แบบไม่ต้องเห็นหัวสาธารณชนก็บ่อย และถึงที่สุดคือออกกฎหมายให้อภิสิทธิ์แก่บางคนบางกลุ่ม ตามด้วยการเฉลิมฉลองอภิสิทธิ์เช่นนั้น ตอกย้ำอย่างชัดๆ โจ่งแจ้งว่าความไม่เสมอภาคทางกฎหมายนั้นเป็นไปตามกฎหมาย”

ปาฐกถาของอาจารย์ธงชัยน่าจะทำให้หลายคนเริ่มพอจะเชื่อมโยงได้ว่า เหตุใดท่านคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษายะลา จึงคับแค้นใจถึงขั้นตัดสินใจยิงตนเอง ไม่เพียงครั้งเดียวแต่สองครั้ง จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

ย้อนไปเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ครั้งแรกที่ผู้พากษารายนี้ยิงหน้าอกตัวเองกลางศาล หลังจากพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน เหตุผลที่เขาเขียนอธิบายอย่างละเอียดต่อสาธารณชนก็คือ ถูกผู้มีอำนาจแทรกแซงอย่างหนักในการพิจารณาคดี ถูกกดดันให้พิพากษาประหารชีวิตจำเลย 3 คน และจำคุกจำเลยอีก 2 คน ทั้งที่กระบวนการพิจารณาไม่ชอบธรรม เช่น

“คดีนี้เป็นคดีฆาตกรรมชาย 5 คน ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านหลังหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คดีความมั่นคง แต่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยกลับใช้กฎหมายพิเศษทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พยานหลักฐานทั้งหมดกลับเกิดจากหรือเกิดมีขึ้นในขณะที่จำเลยทั้ง 5 ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ซักถามเป็นเวลานานในฐานะผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายพิเศษที่ใช้สำหรับคดีความมั่นคงหรือคดีก่อการร้าย …พยานหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลซักถาม คำรับสารภาพหรือบันทึกการยืนยันข้อเท็จจริง รวมถึงบันทึกคำให้การของจำเลยทั้ง 5 ที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนที่เกิดจากหรือเกิดมีขึ้นระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัวไว้โดยกฎหมายพิเศษนั้น เป็นพยานหลักฐานที่ไม่ควรรับฟัง แต่หากศาลจะรับฟังก็เป็นเพียงพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อยมากๆ ต้องรับฟังอย่างระมัดระวังอย่างสูง กล่าวคือถ้าไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมาประกอบสนับสนุนแล้ว พยานหลักฐานดังกล่าวย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง”

แน่นอนว่าเมื่อเกิดโศกนาฏกรรมนี้ ประชาชนย่อมอยากรู้ความจริงสามเรื่องใหญ่ คือ 1. มีการแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษาในสามจังหวัดชายแดนใต้จริงหรือไม่ 2. มีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในสามจังหวัดชายแดนใต้จริงหรือไม่ (ก่อนหน้านี้มีรายงานมากมายหลายฉบับเกี่ยวกับเรื่องนี้ กอ.รมน. เคยฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำรายงานด้วยซ้ำ ก่อนที่อัยการจะสั่งไม่ฟ้องในปี 2560) และ 3. ท่านคณากรจะได้รับการคุ้มครองในฐานะ “ผู้ให้เบาะแส” (whistleblower) เรื่องความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นอื่นๆ ที่มีการถกเถียงกันกว้างขวางในโลกออนไลน์ อาทิ ผู้พิพากษาพกปืนเข้าไปได้อย่างไร, ผู้พิพากษาท่านนี้นิยมชมชอบพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษหรือไม่, ผู้พิพากษามีปัญหาทางจิตหรือไม่ ฯลฯ ล้วนเป็นประเด็นรองทั้งสิ้นเมื่อเทียบกับสามประเด็นใหญ่ข้างต้น ที่ประชาชนอยากรู้ความจริง

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เกิดเหตุ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรมออกมาแถลงเพียงสั้นๆ ว่า มูลเหตุเป็นเพราะ “ความเครียดเรื่องส่วนตัว” จากนั้นก็มีคำสั่งของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทุกประเด็น ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงก็สรุปแต่เพียงว่า “การก่อเหตุของท่านคณากร มีการนำอาวุธปืนเข้าไปภายในบริเวณศาลและก่อเหตุภายในอาคารศาลอาจจะผิดวินัย ที่ประชุม ก.ต.จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ซึ่งระหว่างนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและเป็นไปตามขั้นตอนจึงให้ย้ายท่านคณากร …มาช่วยราชการปฏิบัติหน้าที่ในกองผู้ช่วยศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ โดยทำหน้าที่ช่วยตรวจดูสำนวน เพียงแต่จะไม่ได้นั่งบัลลังก์พิจารณาคดีเหมือนศาลชั้นต้น ซึ่งปัจจุบันก่อนเกิดเหตุการยิงตัวเองครั้งล่าสุด การสอบวินัยยังดำเนินอยู่ตามขั้นตอน ยังไม่ได้มีมติใดออกมา …ส่วนการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับอาวุธปืนนั้น ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนก็รวบรวมพยานหลักฐานอยู่และเคยมีหนังสือแจ้งขออนุญาตประธานศาลฎีกาในการจะดำเนินคดีอาญาแล้ว”

“สำหรับประเด็นที่การแทรกแซงพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ในการตรวจสอบชั้นแรกของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เห็นว่าไม่มีมูล ไม่ปรากฏเรื่องการแทรกแซง” – ทั้งที่ตามเอกสารที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ “มีการตรวจแก้คำพิพากษา ขีดฆ่า ราวกับครูตรวจการบ้าน ต้องถามว่านี่เป็นมาตรฐานของศาลหรือไม่” มิใช่เป็นการชี้แนะด้วยเหตุผลแต่อย่างใด (จากบทความ “อย่าให้ผู้พิพากษาตายฟรี”)

ระหว่างที่การสอบสวนของ ก.ต. ยังไม่สร้างความกระจ่างแต่อย่างใดให้กับ 3 ประเด็นข้างต้นที่ประชาชนอยากรู้ความจริง ท่านคณากรกลับถูกสอบวินัย ตกเป็นจำเลยคดีอาญาจากกรณีที่พกปืนเข้าศาล(เพื่อไปยิงตัวเอง)

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ น่าแปลกใจหรือที่เขาจะตัดสินใจยิงตัวเองอีกครั้ง และลาจากโลกนี้ไปในที่สุด

กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยวันนี้จึงกล่าวได้ว่ามีปัญหาในทุกมิติ ตั้งแต่การเขียนกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐ ความ(ไม่)เสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ความ(ไม่)เป็นอิสระของผู้พิพากษา ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลของระบบตุลาการเองด้วย

ผู้เขียนหวังว่าทุกคน โดยเฉพาะตุลาการ นักกฎหมาย และนักศึกษากฎหมายทั่วประเทศ จะได้อ่านปาฐกถาอันทรงพลังชิ้นนี้ นำไปใช้เป็นตำราเรียน เอกสารประกอบการเรียนการสอนทุกระดับชั้น รวมทั้งถกเถียงอธิปรายเนื้อหากันอย่างเข้มข้นสืบไป

เพราะสุดท้าย ผู้เขียนเห็นด้วยกับอาจารย์ธงชัยว่า

“ประชาชนเหลืออดแล้ว กับการแทรกแซงกระบวนการตุลาการเพื่อเป็นเครื่องมือของความมั่นคง และกับการที่สถาบันตุลาการ ‘อยู่เป็น’ ถวายตัวรับใช้รัฐอภิสิทธิ์ ถวายใจรับใช้ผู้ยิ่งใหญ่แทนที่จะรับใช้ความยุติธรรม นิติรัฐแบบนี้ผิดและผิด และจะต้องยุติ พอกันที

ประเทศไทย สังคมไทยต้องการการปกครองของกฎหมาย ไม่ใช่การปกครองของผู้ยิ่งใหญ่ด้วยกฎหมาย ไม่ใช่นิติอธรรมอย่างเด็ดขาด” 

Tags: , , , ,