หากจะมีมังหงะสักเรื่องหนึ่งที่จะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็น ‘มังหงะการเมือง’ ชื่อของคุนิมิตซึ คนจริงจอมกะล่อน หรือ Kunimitsu no Matsuri ซึ่งเขียนเรื่องโดย ยูมะ อันโดะ (Yuma Ando) และวาดภาพโดย มาซาชิ อาซากิ (Masashi Asaki) คงจะต้องติดอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ เป็นแน่แท้ เพราะมังหงะเรื่องนี้เขียนถึงเรื่องนักการเมืองและการลงสมัครรับเลือกตั้งเต็มๆ โดยตรง เป็นมังหงะที่เขียนเรื่องการเมืองแท้ๆ ในความหมายอย่างแคบเลยทีเดียว ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในโลกของมังหงะนี้ ฉะนั้นมันจึงมีความน่าสนใจในตัวมันเองอยู่แล้วแค่ด้วยตัวธีมเรื่อง และโดยส่วนตัวผมยังคิดว่าทำออกมาได้สนุก ครบรสดีมากด้วย จึงอยากจะนำมาพูดคุยถึงครับ
เนื้อเรื่องของคุนิมิตซึจบลงโดยสมบูรณ์แล้วหลายปีดีดัก โดยเรื่องนี้จัดเป็นมังหงะยุคต้นของทศวรรษ 2000s ซึ่งอาจจะนับได้ว่าเป็นช่วงปลายๆ แล้วของยุคทองของมังหงะ (หลายคนมักจะจำชื่อสลับกับ ‘คุโรมาตี้ โรงเรียนคนบวม’ อีกหนึ่งมังหงะชื่อดังร่วมยุคกัน) คุนิมิตซึตีพิมพ์ในปี 2001 โดยค่ายโคดันฉะ (Kodansha) ในนิตยสารที่อาจจะชื่อไม่คุ้นหูคนไทยนักอย่าง Shuukan Shonen Magazine และก็อย่างที่ชื่อนิตยสารบอกไว้ มังหงะเรื่องนี้จัดอยู่ในกลุ่มมังหงะสำหรับเด็กผู้ชาย หรือ โชเน็นมังหงะ แต่นับเป็นมังหงะของเด็กที่มีผู้ใหญ่ให้ความสนใจไม่น้อยทีเดียว เพราะเนื้อหามีความเป็นผู้ใหญ่สูงมาก มีวิธีการเขียนหรือเล่าเรื่องในแบบกึ่งสารคดีว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่ใส่ความเมโลดราม่า หรือความเวอร์ๆ มันๆ ความยอดมนุษย์แบบมังหงะเข้าไปผสมในเนื้อเรื่องบ้าง ฉะนั้นจะบอกว่ามันเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กให้เข้าใจโลกการเมืองชั้นเลิศเลยก็คงจะไม่ผิดนัก
เนื้อเรื่องโดยคร่าวๆ ของคุนิมิตซึ เริ่มจากอีตาคนชื่อ มุโต้ คุนิมิตซึ (Muto Kunimitsu) ลูกชายของร้านโซบะชื่อดังและเป็นหนึ่งในสมาชิกแก๊งเด็กแว๊นอันธพาลที่คิดฝันอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศญี่ปุ่น
โดยการจะผันตัวมาสู่โลกการเมืองได้ เขาเริ่มนับหนึ่งจากการเป็นเลขานุการให้นักการเมือง ซึ่งคนที่คุนิมิตซึติดตามก็คือนักการเมืองน้ำดีอย่าง ซาซากามิ เรียวมะ (Sasakami Ryoma)
ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง คุนิมิตซึในฐานะเลขาฯ นักการเมืองทำงานร่วมกับสมาชิกในทีม ฟาดฟันกับการหาเสียงของนักการเมืองคนอื่นๆ ที่ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าของเมืองเช่นเดียวกัน โดยมีทีมของฟูวะ ชุนอิจิเป็นคู่แข่งคนสำคัญสุดของทีมซาซากามิ เรียวมะ
ในระหว่างการสู้กันทางการเมืองที่เรื่องคุนิมิตซึนำมาเสนอนี้ เราได้เห็นทั้งความยากลำบากของการหาเสียง ปัญหาและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การปะทะกันของนักการเมืองน้ำดีและนักการเมืองเลว การฉ้อโกง รวมไปถึงกลยุทธการหาเสียงต่างๆ ไปจนกระทั่งเรื่องวาทกรรมครอบงำผ่านการหาเสียง ซึ่งทุกเรื่องล้วนแต่ถูกพูดถึงอย่างลึกซึ้งและสามารถนำมาถกเถียงต่อได้อีกมาก แต่ประเด็นที่ผมอยากนำมาพูดคุยในบทความนี้คือเรื่อง ‘การเมืองของนโยบาย’ ในเรื่องคุนิมิตซึ ซึ่งเชื่อมโยงกับบริบทสังคมการเมืองไทยในช่วงปีหลังๆ มานี้ไม่น้อยทีเดียว
ในโลกของการ “ชี้ชวนให้ประชาชนมาเลือกตัวเองเป็นผู้แทนในระบอบประชาธิปไตย” นั้น หากตัดปัจจัยเรื่องการซื้อเสียงอะไรต่างๆ ออกไป (ซึ่งหลังๆ มามีงานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นแล้วว่าการจ่ายเงิน ซื้อเสียงไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดอะไรในการเลือกตั้งของไทยต่อไปอีกแล้ว) โดยทั่วไปจะแบ่งได้เป็นสองลักษณะหลักๆ คือ การเลือก(ตั้ง) โดยความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือเครดิตที่มีต่อบุคคลหนึ่ง เช่นเป็นที่รู้จักดีในพื้นที่ ได้รับการนับหน้าถือตา ได้รับความไว้วางใจโดยชาวบ้านว่าจะมาช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องที่เดือดร้อนกันได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่รู้สึกสะดวกใจที่จะเข้าหา ในฐานะหนทางในการเรียกร้องเมื่อเจอปัญหาที่หนักเกินกว่าจะแก้ไขได้เอง หรือรัฐใช้เวลาเนิ่นนานเกินกว่าจะมาจัดการแก้ไขบรรเทาให้ได้
ลักษณะแบบนี้โดยรวมๆ แล้วเราเรียกกันว่า ‘การเลือกตั้งโดยยึดกับตัวบุคคล’
ขณะที่การเลือกอีกแบบหนึ่ง คือการเลือกที่วางฐานอยู่บนตัวนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายภาพรวมใหญ่ในระดับรัฐ เราก็เรียกมันตรงๆ ตัวนี่แหละ ว่า ‘การเลือกตั้งเชิงนโยบาย’
การเลือกในลักษณะนี้จะไม่ได้สนใจตัวปัจเจกบุคคล เพราะมองว่าตัวคนมันเปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนจากนาย A เป็นนาย B ก็เกิดขึ้นได้ตลอด แต่สิ่งที่ต้องยืนพื้นไว้คือตัวไอเดีย ตัวกลไกที่จะมารับใช้ผู้เลือก ที่ควรจะมีภาพที่ชัดเจน ถาวร มั่นคง และเป็นระบบ ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนจากนาย A ที่มาลั่นวาจาไว้ตอนแรก กลายเป็นนาย B นาย C หรือนาง D อะไรใดๆ เพราะฉะนั้น การเมืองเชิงนโยบายนี้จึงมักจะอิงอยู่กับตัวพรรคการเมืองมากกว่าสมาชิกคนใดคนหนึ่งของพรรคการเมือง เพราะเมื่อมันเป็นนโยบายของพรรคที่ได้ประกาศหรือสัญญาไว้กับประชาชนแล้ว จะเปลี่ยนตัวใครในพรรค นโยบายที่สัญญาไว้ก็ต้องคงอยู่ตามเดิมและพยายามทำให้ได้ หากทำไม่ได้ หรือผิดสัญญาก็เท่ากับทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมืองของพรรคไป และเลือกตั้งครั้งถัดไปคนก็จะไม่เลือก
ระบบมันก็เป็นอะไรที่ซิมเปิ้ลๆ ประมาณนี้ (แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้ซิมเปิ้ลอย่างที่หวังก็เท่านั้น) แต่ไม่ว่าจะเป็นการเมืองของการเลือกตั้งแบบอิงกับตัวบุคคล หรืออิงกับนโยบาย (ของตัวพรรค) ก็ตาม สิ่งที่ดูจะเป็นพื้นฐานในโลกการหาเสียงทางการเมืองบนตรรกะนี้ก็คือ ความน่าเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจนั่นเอง ซึ่งวัดกันว่า จะไว้ใจตัวบุคคลหรือไว้ใจพรรคมากกว่า
เรื่องราวของคุนิมิตซึเอง จึงเป็นเรื่องราวของการสร้างและการทำลายความน่าเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจที่ชุมชนทางการเมืองมีต่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและทีมของพวกเขานั่นเอง ในเรื่องซึ่งมีการเลือกตั้งระดับจังหวัด (เลือกตั้งผู้ว่าฯ) ผมคิดว่าเราจะได้เห็นข้อเสนอสามแบบหลักๆ (ใครไม่อยากโดนสปอยล์ก็ข้ามๆ ส่วนนี้ไปนะครับ)
คือ 1. ข้อเสนอหรือแนวนโยบายของทีม ฟูวะ ชุนอิจิ คู่แข่งคนสำคัญที่สุดของทีมที่คุนิมิตซึอยู่ ข้อเสนอของทีมนี้โดยรวมแล้วเป็นไปในทิศทางการพัฒนาเมืองให้ก้าวกระโดด ทำเมืองให้ทันสมัยน่าอยู่ เป็นเหมือนหัวเมืองหลักอื่นๆ ให้ได้ ว่าง่ายๆ ก็คือ ข้อเสนอแนว Urbanization ที่พยายามให้มีการลงทุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในลักษณะแบบ Top-Down ลงมาสู่ชุมชน 2. ข้อเสนอของทีมซาซากามิ เรียวมะ ซึ่งตัวคุนิมิตซึสังกัดอยู่ หากพูดแบบรวบยอดแล้วคงจะเรียกได้ว่าเป็นข้อเสนอในกลุ่ม Glocalization ซึ่งเป็นการสมาสคำระหว่าง Globalization (โลกาภิวัตน์) กับคำว่า Localization (เทศวิวัตน์ หรือบางทีก็เรียกท้องถิ่นนิยม/ชุมชนนิยมด้วย) โดยเทน้ำหนักไปในทาง Localization มากกว่า นโยบายของฝั่งคุนิมิตซึเป็นการรักษาชุมชนแบบดั้งเดิมไว้ ให้โอกาสชุมชนและความแตกต่างหลากหลายได้พัฒนาไปในทิศทางที่มันต้องการ เหมาะสมกับตัวเอง และมีรากของเดิมอยู่ โดยใช้แนวคิดการบริหารจัดการและเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาช่วยเหลือ ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิธีคิดที่ค่อนข้างจะมีลักษณะ Bottom-Up ไม่น้อย และแบบที่ 3. คือ การเมืองของกลุ่มมัตสึไดระ ที่ไม่เน้นการสร้างความน่าเชื่อถือหรือฐานคะแนนให้กับฝั่งตนเองอะไรเป็นพิเศษนัก แค่ดึงคนดังที่พอจะมีฐานคนสนับสนุนชอบพออยู่บ้างมาก่อน แล้วมาเน้นใช้วิธีการทำลายความน่าเชื่อถือของคนอื่นๆ จนผู้เลือกไม่มีช้อยส์อื่นที่น่าเลือกนักนอกจากตัวแทนจากฝั่งของตน เป็นต้น
ในเนื้อเรื่อง เราจะได้เห็นสารพัดเทคนิคการขับเคี่ยว และสถานการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ที่เข้ามาทำให้ผลคะแนนความนิยม พลิกขึ้นพลิกลงไปตลอดทั้งเรื่อง ทั้งการพยายามสร้างข่าว การแก้ไขข่าวเสียหายในอดีต การชนกับอดีตนักการเมืองผู้มีอิทธิพล หรือการหาทุนเพื่อดำเนินงานทางการเมือง แต่เหนืออื่นใด เราจะได้เห็นการแข่งกัน การหาเสียงกันในเชิงนโยบาย ใช้นโยบายเป็นตัวนำในการหาเสียงอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนอยากจะมอบความไว้วางใจให้ไปบริหารเมือง
พูดอีกแบบก็คือ เรื่องคุนิมิตซึไม่ได้สนใจการเมืองในแง่ตัวบุคคลนักเลย จะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนหน้าผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่เป็นคนอื่น ไม่ใช่ ฟูวะ ชุนอิจิ หรือ ซาซากามิ เรียวมะ ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ทำให้เนื้อเรื่องเสียหายนักเลย เพราะสิ่งที่ขายกันนั้นคือตัวนโยบายต่างหาก
ในประเทศไทยก่อนหน้านี้ โลกของการเมืองแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการเมืองของตัวบุคคลแทบจะทั้งสิ้น ทุกอย่างอิงตามความสนใจ ชอบพอตัวตัวผู้แทน หรือผู้สมัครฯ ในพื้นที่ของตนเอง หรือคนที่ตัวเองมองว่าเป็นตัวแทนร่วมของพื้นที่ อย่าง ชวน หลีกภัย ของภาคใต้ หรือ เชาวลิต ยงใจยุทธ ของภาคอีสาน เป็นต้น การเมืองไทยที่ผ่านมาเนิ่นนานโดยตลอดจึงมักเป็นความผูกพันในเชิงความรู้สึกที่มีต่อตัวปัจเจกที่มาเป็นผู้แทนนั้นๆ ในทางส่วนตัวของผู้ไปเลือกตั้งแต่ละคนไปหรือห่างขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะเป็นความสัมพันธ์ของผู้ไปลงคะแนนเสียงที่มีกับหัวคะแนน ที่มีความสัมพันธ์ทางความรู้สึกกับตัวผู้แทนอีกต่อหนึ่งนั่นเอง ซึ่งความสัมพันธ์ทางความรู้สึกนี้ก็หมายรวมถึง ความรู้สึกในฐานะผู้แทนทางเชื้อชาติหรือพื้นที่แบบชวน หรือเชาวลิตที่ว่าไปด้วย
กระทั่งการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2540 (ซึ่งก็พังเละไปแล้ว) ที่เป็นครั้งแรกที่มีกำหนดให้มีผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อหรือ ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ ขึ้นมา ข้อกำหนดดังกล่าวนี้เองที่เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยอย่างมาก เพราะการเมืองเชิงนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายระดับรัฐของแต่ละพรรคนั้นได้รับความสำคัญขึ้นมาเป็นอย่างมาก และเปิดโอกาสให้ ‘หน้าใหม่’ ทางการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยอิทธิพลของพรรคการเมืองเก่า ตราบเท่าที่มีนโยบายที่ดีพอ เชิญชวนประชาชนมากพอ และประชาชนให้ความเชื่อใจว่าจะทำได้มากพอ
ผมคิดว่าคงจะปฏิเสธไม่ได้ที่เราจะพูดว่า การขึ้นมาสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยในยุคแรก และอาจจะยุคที่สองด้วยนั้น มาจากฐานของการเลือกตั้งในเชิงนโยบาย แม้กรณีของทักษิณ ชินวัตรจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นหน้าใหม่ในทางการเมือง แต่ชื่อเสียงของเขานั้นเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจและนักบริหารมากกว่าในฐานะนักการเมือง รวมไปถึงตัวพรรคไทยรักไทยในเวลานั้นเองก็เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นแบบสดใหม่ แต่เน้นไปที่การเมืองเชิงนโยบายและขายนโยบายอย่างจริงจัง ในขณะที่พรรคอื่นๆ ในเวลานั้นยังย่ำอยู่กับรูปแบบเดิมๆ ของการหาเสียงแบบการเมืองเชิงตัวบุคคลอยู่
หลังจากชัยชนะแบบขาดลอยของพรรคไทยรักไทย พรรคอื่นๆ ก็เริ่มปรับตัวมาทำการเมืองเชิงนโยบายตามบ้าง การเมืองหลังปี 2540 เป็นต้นมา พรรคต่างๆ ก็ขับเคี่ยวกันด้วยนโยบายกันมากขึ้น และจนวันนี้ เราได้เห็นพรรคใหม่ๆ ที่สร้างกระแสและความสนใจจากชูนโยบายและอุดมการณ์ โดยแทบจะไม่มีหรือไม่ใช้เห็นรากความเกี่ยวข้องกับพรรคที่เก่าแก่หน่อยอย่าง ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย หรือชาติไทยพัฒนาเลย
พรรคต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พรรคเสรีรวมไทย นำโดยเสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช, พรรคกลาง ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว กับ สุขทวี สุวรรณชัยรบ, หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทย นำโดย มรว. จตุมงคล โสณกุล ที่แม้ตัวสมาชิกพรรคจะไม่สามารถนับได้ว่า ‘ใหม่’ แบบพรรคอื่นๆ ที่เอ่ยชื่อมานักก็ตาม
ประเด็นก็คือ หากเราไม่ได้เข้าสู่สังคมของ ‘การเมืองเชิงนโยบาย’ อย่างจริงจังแล้ว พรรคใหม่ๆ เหล่านี้ คนใหม่ๆ เหล่านี้จะแทบไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้ หลายคนเป็นชื่อที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อนในโลกทางการเมือง แต่เพราะคนจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้สนใจว่าตัวบุคคลนั้นคือใครเท่ากับสนใจว่ามีนโยบายอย่างไร โอกาสของหน้าใหม่จึงเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้ว การเมืองไทยที่กำลังอยู่ในระหว่างการผลัดเปลี่ยนเข้าสู่โลกของการเมืองเชิงนโยบายแบบเต็มตัวนั้น (แต่แน่นอนว่าโดนขัดด้วยการรัฐประหาร และกระบวนการที่พยายามขัดความเป็นไปได้ในการเป็นประชาธิปไตยและการเมืองเชิงนโยบายเต็มตัวชนิดสุดตีนเหยียดอยู่ด้วย) จึงควรหันมาอ่าน มาดูเรื่อง คุนิมิตซึ คนจริงจอมกะล่อน นี้กันจริงๆ ครับ เพื่อให้เราได้เห็นภาพปลายทางของการเมืองเชิงนโยบายที่เราควรจะไปให้ถึง เพื่อให้เราได้เห็นเค้าลางของอนาคตที่ควรจะเป็น ภายใต้ทิศทางนี้ของระบอบประชาธิปไตย
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งของเรื่องคุนิมิตซึก็คือ เขาไม่ได้วาดแต่ภาพชวนฝันของการเมืองเชิงนโยบาย ไม่ได้บอกแต่เพียงด้านดีของมัน หรือให้เห็นแต่นักการเมืองน้ำดี แต่ฉายภาพนักการเมืองชั้นเลว พฤติกรรมแย่ๆ ของนักการเมือง หรือกระทั่งข้อเสียของระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในเรื่องมากมาย
ผมคิดว่ามันเป็นเครื่องเตือนใจเราในการกลับมามองการเมืองไทยเช่นกัน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเริ่มต้นด้วยการเมืองเชิงนโยบาย หากทำสำเร็จได้ ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนอย่างล้นพ้นได้ ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในทางการเมือง (จากนโยบาย) นั้น ก็มีโอกาสจะกลับกลายมาเป็นคนที่ถูกเชิดชูบูชาในฐานะตัวบุคคลได้ไปเสียอีกทีหนึ่ง
และนั่นอาจจะทำให้ไม่สนใจแยแสข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาของตัวบุคคลนั้นๆ หรือกระทั่งผลข้างเคียงที่เลวร้ายที่มาคู่กับนโยบายที่ร้ายกาจได้ อย่างกรณี กรือเซะ-ตากใบของรัฐบาลทักษิณ หรือการที่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังยกย่องบูชาในตัวทักษิณ ชินวัตร ในฐานะตัวบุคคล ไปแทนเสียแล้ว เพราะความสำเร็จในการดำเนินนโยบายของเขา (กรณีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับการฆ่าคนเสื้อแดงเกือบร้อยนั้นเป็นคนละกรณีกับเคสนี้ เพราะอภิสิทธิ์ไม่ได้รับการปกป้องจากความยอมรับของประชาชน แต่ดูจะได้รับการปกป้องจากสิ่งอื่นเสียมากกว่า)
ว่าอีกอย่างก็คือ การเมืองเชิงนโยบายที่พยายามจะเข้ามาแทนที่การเมืองในเชิงตัวบุคคล ในบางครั้งก็มีโอกาสที่จะไปสร้าง ‘การเมืองเชิงตัวบุคคล’ แบบใหม่ขึ้นมาได้เช่นเดียวกันหากไม่ระวังให้มากพอ
และมังหงะของเราอย่างคุนิมิตซึก็ฉายให้เห็นภาพเหล่านี้ นักการเมืองที่หลบอยู่หลังฉากของนโยบายแสนดีแต่หากินกับผลประโยชน์ต่างๆ แต่สิ่งสำคัญมากๆ ที่เรื่องคุนิมิตซึบอกกับเราก็คือ ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ของการเมืองเชิงนโยบาย หรือการเมืองการเลือกตั้งโดยรวมนั้น มันสามารถแก้ไขได้ด้วยระบบการเลือกตั้งและกลไกในระบอบประชาธิปไตยเอง ไม่ต้องไปอาศัยอำนาจนอกลู่นอกทางอะไรครับ แค่ต้องมีความเข้าใจมากพอ อดทนมากพอ และเชื่อมั่นในตัวระบอบมากพอ แก้ไขมันไป มันทำได้ครับ ไม่เชื่อก็ลองอ่านคุนิมิตซึดูซี
ขอให้สนุกกับมังหงะครับ
Tags: Theory of Manga, Kunimitsu no Matsuri, การเมืองเชิงนโยบาย, การเลือกตั้งเชิงนโยบาย