เราตัดสินใจมุ่งหน้าไปบางลำพูทันทีที่เห็นภาพต้น ‘คริสต์มาส’ แปลกตาตั้งเรียงรายอยู่บนถนนเส้นหนึ่งในย่านบางลำพู เราได้แต่บอกกับตัวเองว่า เราต้องทำตัวเป็นประชากรเมืองที่ดีและต้องเซลฟีกับทุกจุดที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พยายามชักชวนให้คนกรุงมาเยี่ยมชม

ต้องบอกว่า กทม. ไม่เคยทำให้เราผิดหวังเลยแม้แต่น้อย ต้นสนฉัตรที่ยืนเรียงตระหง่านเป็นแถวบนถนนไกรสีห์ในย่านบางลำพูทำให้บรรยากาศเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าดูคึกคักขึ้นมาทันตา

นี่คืออีกความพยายามของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะทำให้เมืองหลวงแห่งนี้มีเสน่ห์แบบดิสนีย์แลนด์ แบบที่คนกรุงเทพคิดว่าดี และดูเหมือนจะเข้าใกล้ความสำเร็จเข้าไปทุกที

นับตั้งแต่มีการริเริ่มนโยบาย ‘จัดระเบียบทางเท้า’ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 หรือหนึ่งปีให้หลังจากที่ คสช. เข้ากุมอำนาจ กทม. เริ่มเดินหน้าทวงคืนพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่ทางเท้า แต่รวมถึงพื้นที่สาธารณะหลายรูปแบบ โดยอ้างว่าเพื่อให้สาธารณชนได้ใช้งานอย่างที่ควรจะเป็น 

การจัดระเบียบในแบบของ กทม. คือการลบล้างแทบทุกสิ่งอย่างที่เคยมีให้หมดไป

ไม่ว่าจะเป็น ‘การจัดระเบียบ’ อาหารริมทางในย่านเก่าแก่หลายแห่งตั้งแต่ท่าเตียน ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ ไปจนถึงจุดขายอาหารริมทางกว่า 500 จุดทั่วเมือง ด้วยการห้ามขายของทุกชนิดบนทางเท้าโดยที่ไม่มีการจัดพื้นที่ค้าขายใหม่รองรับ ไปจนถึงปากคลองตลาดที่ได้ชื่อว่ารกรุงรังแต่มีเสน่ห์มากที่สุด การจัดระเบียบดังกล่าวเพื่อให้ทางเท้าดูเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม แต่ไม่ได้เพื่อที่จะเก็บรักษาอัตลักษณ์ชุมชนไว้

นอกจากนี้ยังมีการจัดระเบียบตลาดสะพานเหล็กที่โด่งดังในหมู่นักสะสมของเล่น ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่คลองที่เคยแออัดและอับเพราะถูกปิดทับด้วยสิ่งก่อสร้างเหล็กคร่อมคลองแบบผิดกฎหมาย ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่เป็นเวลากว่าสองทศวรรษให้เป็นพื้นที่เปิด ทางเดินเป็นระเบียบพร้อมไฟฟ้าส่องสว่างสองข้างทาง พร้อมกับน้ำในคลองที่ใสสะอาดจนใครๆ ก็กล่าวขานว่าเป็นแม่น้ำอัมสเทลแห่งกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้ทำกิจกรรมในวันหยุด

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าความพยายามนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุค คสช. ถ้าหากเรามองย้อนกลับไปจะเห็นว่า กทม. ได้ใช้เวลาถึง 26 ปี เพื่อขับไล่ชุมชนป้อมมหากาฬที่หลายครอบครัวอยู่ในชุมชนนี้มาถึงสามชั่วอายุคนได้สำเร็จในปี 2561 เพียงเพื่อ ‘จัดระเบียบ’ ให้พื้นที่กว่าห้าไร่หลังกำแพงเมืองเก่าสีขาวอันนั้นให้กลายเป็น ‘พื้นที่สีเขียว’ ในแบบของ กทม.

ล่าสุดนี้ ซอยไกรสีห์ในย่านบางลำพูก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน ‘ดิสนีย์แลนด์’ ที่เราได้เห็นต้นสนฉัตรสูงกว่าห้าเมตรยืนเรียงคู่ขนานไปกับถนน แต่ละต้นล้อมรอบด้วยที่นั่งปูนราวกับชักชวนให้คนมาเดินพักผ่อนหย่อนใจ ความเย็นของฤดูหนาวปีนี้คงไม่ได้ทำให้อึดอัดมากนัก แต่คงไม่ต้องจินตนาการการเดินหรือนั่งใต้ต้นสนที่แทบจะไร้ร่มเงาให้ฤดูร้อนที่อบอ้าว

ยิ่งไปกว่าร่มเงาของต้นไม้ที่ดูไม่ได้เข้ากับภูมิอากาศเมืองไทยสักเท่าไหร่ ย่านนี้ได้ชื่อว่า ‘บางลำพู’ ซึ่งหมายถึงว่าครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยต้นลำพู และชุมชนบางลำพูได้รำลึกต้นลำพูต้นสุดท้ายที่สวนสันติชัยปราการที่หมดอายุขัยไปเมื่อปี 2555 (แต่ตอนนี้มีลำพูต้นใหม่ขึ้นมาแทนที่เดิมแล้ว) ถึงแม้เราเชื่อว่าหลายคนคงไม่ได้ต้องการให้ กทม. ต้องพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อหาพื้นที่ริมน้ำปลูกต้นลำพูเพิ่มเติมสักเท่าไหร่ แต่พ่อค้าแม่ค้าบนถนนไกรสีห์ทำสีหน้างงงวยเมื่อพูดถึงต้นสนที่แลดูคล้ายต้นคริสต์มาสจำนวนหนึ่งถูกล้อมมาปลูกบนถนนในย่านบางลำพูในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาสเมื่อปีกลายว่าต้นไม้เหล่านี้นอกจากใช้ตกแต่งเสริมสวยพื้นที่ในแบบของ กทม. แล้ว มีอะไรที่เชื่อมโยงกับพวกเขาบ้าง

ดูเหมือนว่าตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา กทม. พยายามพาเมืองย้อนกลับไปหาอดีตโดยไม่พยายามค้นหารากของตัวเอง ไม่ยอมรับว่าผู้คนที่ร่วมสร้างเมืองและอาศัยอยู่ในเมืองเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่ต้องรักษาและพัฒนาไปพร้อมกัน หรือแม้แต่รักษาเอกลักษณ์อันเป็นที่ยอมรับเอาไว้ แต่ในทางกลับกัน กทม. กลับพยายามลบตัวตนบางอย่างและสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่ผู้ปกครองเชื่อว่าสวยงามและเป็นระเบียบกว่าขึ้นมาทดแทน

กทม. เลือกรักษาอาหารริมทางไว้เพียงไม่กี่จุด เช่น เยาวราช และข้าวสาร เพื่อเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยลืมนึกไปว่า อาหารริมทางคือวิถีชีวิตคนและเป็นแหล่งฝากท้องของคนรายได้น้อยไปจนถึงระดับกลางในเมือง ไม่ใช่แค่สิ่งดึงดูดการท่องเที่ยว ราวกับเป็นโรงอาหารราคาถูกให้กับนักท่องเที่ยว เพราะการจัดระเบียบร้านค้าริมทางนั้นเป็นไปได้หากมีการตั้งกฎระเบียบที่เคร่งครัด และผู้บังคับใช้กฎที่ไม่หละหลวม

กทม. จัดการคลองโอ่งอ่างให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมในวันหยุด เช่น แต่งคอสตูม หรือขายของที่มีของเล่นจากเมืองจีน ที่ล้วนไม่ได้ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ใดๆ ของพื้นที่ มีเพียงแค่ภาพอดีตที่ กทม. เลือกทำลายไปกับมือ เหลือไว้แค่ภาพกราฟฟิตี้บนฉากกำแพงชั่วคราวให้คนได้ไปถ่ายเซลฟี หรือจัดกิจกรรมพายเรือแคนูในช่วงเย็นราวกับเป็นโซน Donald’s Boat ในดิสนีย์แลนด์

กทม. เลือกลบประวัติศาสตร์และความเป็นธรรมชาติของชุมชนป้อมมหากาฬที่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยบ้านไม้ที่บางหลังเก่าแก่ย้อนไปถึงต้นยุครัตนโกสินทร์ใต้เงาต้นไม้ใหญ่ให้กลายเป็นเพียงสนามหญ้าสีเขียวคล้ายสนามกอล์ฟที่ท้ายที่สุดได้กลายเป็นสวนดอกไม้ในฤดูหนาวที่ผ่านมา ราวกับจะสร้าง Sleeping Beauty Castle ให้คนได้ถ่ายรูปกับป้อมปราการและดอกไม้หลากสีที่ไม่ได้มีอะไรกล่าวถึงชุมชนโบราณที่เพิ่งหายไปนอกจากป้ายชื่อตรอกในชุมชน

เช่นเดียวกับที่ กทม. เลือกปลูกต้นสนฉัตร พืชที่มีต้นกำเนิดจากแอฟริกาใต้หรือออสเตรเลียที่ทนได้ทุกสภาพอากาศและต้องการการดูแลต่ำ แต่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ กับย่านที่ครั้งหนึ่งเคยมีต้นลำพู หรือขนาดต้นสนที่ไม่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ถนนที่กว้างไม่เกินสิบเมตรกับสายไฟฟ้าที่ยังรอคอยที่จะถูกย้ายลงไปใต้ดิน

ราวกับ กทม. กำลังพยายามทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นธีมปาร์กที่ใหญ่ที่มี กทม. เป็นผู้จัด โฆษก กทม. ผู้เปรียบเป็นมาสคอตมิกกี้เมาส์ที่ขยันขันแข็งในการโฆษณาจุดเซลฟีและพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ในเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย ย่านต่างๆ เป็นธีมโซนที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว อาหารริมทางบนถนนหลักที่เก็บไว้บริการผู้มาเยือน และประชากรเป็นเพียงตัวประกอบสร้างบรรยากาศต้อนรับนักท่องเที่ยว

อาจพูดว่า กรุงเทพฯ ได้เข้าใกล้ความเป็นดิสนีย์ในแง่ที่เป็นเมืองสร้าง ไม่มีคนอยู่ ให้คนมาเที่ยวชม ทิ้งความเป็นเมืองหลวงที่มีชุมชนเก่าแก่ไว้ข้างหลัง แล้วมุ่งหน้าสู่ความเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่ไร้ราก

เราจะสนใจทำไมว่าตอนนี้โควิด-19 ระบาดจนทำให้เราเดินทางหรือบินไปเที่ยวไม่ได้ ก็ในเมื่อแค่ก้าวเท้าเดินออกจากบ้าน คนกรุงเทพก็ได้ความรู้สึกราวกับได้ไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ทุกวัน… ในบ้านตัวเอง

Tags: , ,