ในวันนี้การก้าวมาครองตลาดกระแสหลักของวงอินดี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยความหลากหลายของดนตรี และการเกิดขึ้นของวงดนตรีหน้าใหม่ราวกับดอกเห็ด การจะมีวงดนตรีสักวงหนึ่งที่โดดเด่นและแตกต่าง จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง วงดังกล่าวนั้นต้อง ‘มีของ’ อยู่ไม่น้อย
วง YEW ถือเป็นอีกหนึ่งวงที่เข้าข่ายกรณีนี้เช่นกัน เพราะนอกจากผลงานที่มีคุณภาพแล้ว สิ่งสำคัญที่ถือเป็น ‘ของ’ ดังกล่าว คือเอกลักษณ์และตัวตนที่ชัดเจนของพวกเขา ที่แสดงออกผ่านทั้งดนตรี เนื้อเพลง ไปจนถึงปกอัลบั้ม การตั้งชื่อเพลง วิธีการแสดงคอนเสิร์ต รวมถึงการแต่งตัวของพวกเขา ที่วันนี้ใครได้เห็นและฟังจะรู้ได้ทันทีว่า นี่คือวง YEW
น่าสนใจไม่น้อยว่า อะไรอยู่เบื้องหลังวิธีคิดและการทำเพลงของวงดนตรีวงนี้ ดังนั้นวันที่ The Momentum ได้พูดคุยกับสมาชิกทั้ง 4 คน ทั้ง ทิ้ว-ปรัชญ์ ปานพลอย (ร้องนำ), แดน-นรุตม์ จุฑาศานต์ (กีตาร์), พี-วรพัทธ์ การะเกตุ (กีตาร์) และทรัพย์-สหธรรม เมฆแดง (กลอง) ถึงการเดินทางตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่พวกเขาจะเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกอย่าง ‘SEASONS – YEW THE FIRST CONCERT’ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 21 กันยายน 2567 ที่จะถึงนี้
อะไรที่นำไปสู่การรวมตัวของพวกคุณ จนนำไปสู่วงดนตรีที่ชื่อว่า YEW
นรุตม์: ถ้าได้รวมวงกันจริงๆ ก็ตอนปี 2017 ตอนนั้นประเทศไทยเขาใช้คำว่า อยู่ในยุคที่ ‘เพลงอินดี้’ กำลังเป็นที่นิยม ดนตรีแนวโพสต์ร็อก (Post Rock) กำลังเป็นที่รู้จักในวงการ ตอนนั้นพวกเราเป็นน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่มีกิจกรรมคณะให้เด็กปีหนึ่งฟอร์มวงดนตรีไปแสดงโชว์
ปรัชญ์: การมารวมกันตอนนั้นก็ประหลาดอยู่นะ เพราะทุกคนในวงฟังเพลงแทบไม่เหมือนกันเลย
นรุตม์: อย่างตอนนั้นผมก็ฟังเพลงไทยอินดี้ป็อป ชอบฟังวง Sqweez Animal ชอบ Solitude Is Bliss หรือถ้าเป็นฝั่งต่างประเทศจะชอบวง Foals หรือวงร็อกญี่ปุ่นไปเลย
สหธรรม: ช่วงนั้นผมยังได้รับอิทธิพลมาจากเพลงที่ฟังสมัยมัธยมบ้าง ซึ่งเป็นเพลงในกระแสทั่วไป แต่พอเข้ามาเรียนดุริยางค์ สังคมก็หล่อหลอม เพราะเพื่อนมีเพลงฟังกันเยอะ เลยฟังตามจนได้ฟังหลากหลายแนว
วรพัทธ์: ผมเหมือนกันที่ถูกสังคมหล่อหลอม เพราะตอนแรกก็แทบไม่ได้ฟังเพลงนอกกระแสเลย แต่ด้วยช่วงเวลานั้นที่ดนตรีมันหลากหลายขึ้น ได้เจอคนใหม่ๆ เราเลยได้ฟังเพลงกว้างมากขึ้น
อีกเรื่องคือผมจำได้ว่า ตอนนั้นมีเหตุการณ์ต้องเลือกระหว่างจะไปเล่นดนตรีกับอีกวงหรืออยู่กับ YEW แต่สุดท้ายผมใช้วิธีการคือ ถ้าผมไปซื้อเอฟเฟกต์กีตาร์ชิ้นหนึ่งมา จะใช้เล่นดนตรีกับวงไหนได้มากที่สุด สุดท้ายคำตอบคือ YEW ผมเลยได้มาเป็นส่วนหนึ่งของวง
ปรัชญ์: จริงๆ เราคุยกันว่า จะฟอร์มวงกันแค่ตอนเล่นงานในคณะแล้วแยกย้ายกันไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว รู้สึกว่าหลายคนมีแพสชันที่จะทำเพลงของตัวเอง และความสนใจมันก็ไปในทางเดียวกัน มีความเชื่อคล้ายกัน เลยไปด้วยกันต่อได้
หากให้นิยามแนวเพลงของ YEW พวกคุณจะอธิบายว่าอย่างไร
นรุตม์: รู้สึกว่าตอบแบบอย่างมั่นใจไม่ได้ ไม่มีคำจำกัดความเฉพาะขนาดนั้น แต่ถ้าให้เรียกรวมๆ ก็อาจใช้คำว่าอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative) ก็ได้
ปรัชญ์: เพราะการเดินทางของเราตั้งแต่ Ep แรกจนถึงอัลบั้มเต็ม มันก็ค่อนข้างหลากหลายมาก ดังนั้นใช้คำว่า เป็นวงดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟดีกว่า
เพลงลมที่ลา ถือเป็นหนึ่งเพลงที่ทำให้คนรู้จัก YEW ช่วยเล่าที่มาของเพลงนี้ให้ฟังหน่อย
ปรัชญ์: ‘หมดเวลาของเราแล้ว ไม่มีใครปลอบเธอแล้ว’ เนื้อเพลงนี้แต่งมาตั้งแต่ตอนผมอยู่สมัยมัธยมปลาย หมดเวลาในที่นี้เลยหมายถึงการที่เราต้องแยกย้ายกับเพื่อนไปเติบโตอะไรทำนองนี้ แต่ก็ไม่ได้มาทำเป็นเพลงให้สมบูรณ์ จนพอได้อยู่กับ YEW ก็หยิบเพลงนี้ขึ้นมาทำใหม่ เพราะได้ไอเดีย การเปรียบเทียบคนเรากับสายลมตามฤดูกาลที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เลยเอาเพลงนี้มาเปรียบเทียบกับความรู้สึกของคน
รวมถึงเพลงจะมอบความรัก เช่นกัน ที่หลายคนยกให้เป็นหนึ่งในเพลงชาติของวง YEW ไปแล้ว
ปรัชญ์: ผมว่ามันเป็นเพลงที่มีเรื่องราว ปกติเพลงเศร้าหรือเพลงรักทั่วไป อาจจะเศร้าทั้งเพลงหรือรักทั้งเพลง แต่จะมอบความรักมันมีความเป็นหนัง เพราะมันเกิดการหักมุมขึ้นในระหว่างเพลง
การเล่าถึงเรื่องราวของคนที่กำลังมีความสุขมากๆ แต่มีอะไรที่ไม่สามารถควบคุมได้ทำลายความสุขนั้นลงไป ซึ่งความขัดแย้งตรงนี้เอง อาจทำให้มันเป็นเพลงที่สร้างอารมณ์รุนแรง ให้คนรู้สึกร่วมกับเพลงได้
แล้วหากพูดถึงการทำงานในรูปแบบอัลบั้มบ้าง ใน Ep nothing is unfamiliar and strange มีความแตกต่างจากทำเป็นซิงเกิลไหม
ปรัชญ์: สำหรับผมคือ การก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของการทําเพลง
นรุตม์: จาก Ep แรกที่ชื่อว่า everything is unfamiliar and strange ตอนนั้นเป็นการทําครั้งแรก เราเลยตีความว่า ทุกอย่างมันดูแปลกประหลาดและไม่คุ้นเคยไปหมด แต่ว่าพอมา Ep ที่ 2 เราเริ่มรู้สึกว่า จริงๆ ไม่ต้องคิดก็ได้นะว่าเราจะทําแนวอะไร เลยใช้คําว่า Nothing ก็คือมันไม่มีอะไรที่แปลกใหม่หรือไม่คุ้นเคยสำหรับเราแล้ว
ซึ่งยังเป็นคอนเซปต์เดิมอยู่ แค่เราสามารถตอบตัวเองได้แล้วว่า เราจะไม่กําหนดแนวเพลงแล้ว อยากจะทำแนวไหนก็ทำ
ในอัลบั้มครบรอบ 7 ปี Rainbow Landscape มีความพิเศษอย่างไรบ้าง
ปรัชญ์: ผมคิดว่า อัลบั้มนี้เป็นเหมือนคำตอบสำหรับคนที่สงสัยว่า YEW มีแนวเพลงเป็นแบบไหน เราจะแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของเพลงตลอด 7 ปีที่ผ่านมา พวกเราต้องการสื่อให้คนฟัง ไม่ว่าจะเป็นการเรียบเรียง หรือว่าเนื้อหาของเพลง
ซึ่งคิดว่า น่าจะทําให้คนเข้าใจความเป็น YEW และการเดินทางที่มาถึงในแชปเตอร์นี้ของวง
ทำไม YEW ถึงเป็นวงที่มักตั้งชื่อเพลงโดยมีธรรมชาติประกอบ เช่น ลม เมฆ ดาว หรือพระจันทร์
ปรัชญ์: ตอนเด็กๆ ผมโตมากับหนังสือของพี่เอ๋ นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) อ่านหนังสือเขาเยอะมาก ดังนั้นผมจะมีวิธีการเอาคำที่มันอาจไม่ตรงกับความหมายนั้นโดยตรง แต่พอจะสื่อหรือรู้สึกถึงมัน มาลองประยุกต์กับการแต่งชื่อเพลงดู
ความหลากหลายทั้งเพลงเศร้าและสุขของ YEW พวกคุณได้แรงบัลดาลใจจากไหน
ปรัชญ์: ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนจะบอกว่า อ่านหนังสือแล้วชอบอะไรก็ค่อยมาต่อยอดใช่ไหม แต่สมัยนี้ การมีโซเชียลมีเดียทำให้เราเกิดคําถามต่อจากเรื่องที่ได้อ่านมาว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แล้วมันจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะฉะนั้นเลยนำไอเดียจากที่เราอ่านมาต่อยอดได้
รวมถึงในหนัง ซีรีส์ และเรื่องราวรอบตัวเราด้วยนะ อย่างเช่นเพลง Moon ผมก็ได้ไอเดียมาจากเวลาคนเขาเดินจีบกันริมถนนตอนกลางคืน ต้องมีใครสักคนเอ่ยขึ้นมาว่า พระจันทร์คืนนี้สวยจัง เป็นแบบนี้ตลอดเลยไม่รู้ทำไม ผมเลยเอาเรื่องนี้มาต่อยอด กลายเป็นเพลง Moon ขึ้นมา
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือปกอัลบั้มของ YEW ที่เป็นภาพวาด มีวิธีออกแบบอย่างไร
นรุตม์: ผมให้ความสำคัญกับภาพปกอัลบั้มที่ไม่ใช่แค่การถ่ายรูปหรือทำกราฟิก แต่อยากให้งานวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นศิลปะในแขนงอื่น เกื้อกูลไปด้วยกันกับงานดนตรีของพวกเรา เลยตัดสินใจใช้ภาพวาดเป็นปกในซิงเกิลต่างๆ รวมถึงอัลบั้ม
ยกตัวอย่าง ถ้าพูดถึงปก Ep ใน nothing is unfamiliar and strange ศิลปินที่วาดคือ Palim เราจะส่งเพลงในอัลบั้มให้ศิลปินลองฟังแล้วตีความออกมา ส่วนวิธีการคัดเลือกศิลปินก็มาจากพวกเราที่ไปดูงานของพวกเขาก่อน แล้วใช้ความรู้สึกในการเลือกว่า ผลงานของเขามันเข้ากับเพลงพวกเราไหม หากพูดถึงคอนเสิร์ตครั้งแรกของ YEW วันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ปรัชญ์: ตื่นเต้น และพลังเหลือล้นกันมาก
สหธรรม: จำได้ว่าเล่นที่ TK Park เป็นที่แรก
ปรัชญ์: เหมือนว่าเป็นโปรเจกต์ที่เล่นที่งานดนตรีด้วยกันที่แรก ตอนนั้นเล่นก่อนวง Moving and Cut ด้วย ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ มีอะไรจัดเต็ม มีอะไรใส่หมด พอกลับมาดูคลิปตัวเองก็ตลกดี เพราะตอนแรกเป็นเพลงช้า แต่พอจบเพลงกลายเพลงเร็วแทน (หัวเราะ)
แล้วก็เป็นงานที่ได้เจอคนฟัง เป็นครั้งแรกด้วยที่ได้เห็นคนที่ชื่นชอบในผลงานของเรา
ในการแสดงคอนเสิร์ตมีความแตกต่างจากการทำเพลงในสตูดิโอขนาดไหน
นรุตม์: ปกติในพาร์ตอื่นของการเป็นศิลปินมันคือการทําเพลง อยู่กับเครื่องดนตรี อยู่กับสมาชิกในวง แต่พอไปเล่นคอนเสิร์ตเราได้เจอแฟนเพลง มันเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง คือเราเองได้ปล่อยของ คนดูก็ได้รับพลังงานที่ส่งไป มันเลยเป็นมวลความสุขที่จะไม่เกิดขึ้นในสตูดิโอเลย ต้องมาหาในคอนเสิร์ตเท่านั้น
ปรัชญ์: ในด้านดนตรี จริงๆ ทุนเดิมสายเลือดเรามีความเป็นวงร็อก ดังนั้นในอัลบั้มที่มันมีความอะคูสติก (Acoustic) เช่น Pauley & Jeen พอต้องนำมาแสดงสด ก็จะทำให้มันมีจังหวะเร้าใจขึ้น มีความดุดันขึ้น ผมคิดว่าหลายคนน่าจะรู้สึกว่า ในเพลงกับตอนแสดงจริงมีความต่างกันค่อนข้างชัดเจน เพราะเราตั้งใจตีความ Live Show เป็นคนละแบบกับ Audio อยู่แล้ว
นรุตม์: เพราะใน Audio Track จะเป็นเพลงที่เอาไว้เปิดฟัง ดังนั้นเราเลยทำให้มีความนุ่มนวล ฟังสบาย แต่พอเป็นในคอนเสิร์ต เรารู้สึกว่า ต้องทําให้มันมีพลังมากขึ้น
สำหรับพวกคุณ ความประทับใจในการเล่นคอนเสิร์ตคืออะไร
ปรัชญ์: หลักๆ คือคนดู เพราะเราได้เห็นเขาตั้งแต่ตอนที่เขามาแรกๆ มาจนถึงทุกวันนี้ที่เขายังอยู่กับเรา หรือแม้แต่ตอนที่เราเล่นเพลงบางเพลงแล้วคิดว่าคนอาจจะไม่รู้จัก ไม่น่าจะร้องตามได้ แต่เขาก็ร้องตามกันได้ มันเลยเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเรามีความสุขกันมาก
แล้วใน ‘SEASONS – YEW THE FIRST CONCERT’ คอนเสิร์ตใหญ่ที่กำลังจะมาถึง จะมีความแตกต่างจากคอนเสิร์ตอื่นอย่างไร
วรพัทธ์: ปกติเวลาเราไปเล่นข้างนอกจะเล่นได้แค่ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ก็จะไม่สามารถเล่นได้ครบทุกเพลง แต่คราวนี้เรามีเวลา 2 ชั่วโมงกว่า ทำให้เล่นทุกเพลงที่เรามีทั้งหมดได้
มันเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ เราก็เรียงเรื่องราวและอารมณ์ของการแสดงในแบบที่เราตั้งใจจะสื่อสารกับคนดูออกไปได้อย่างเต็มที่
หากสังเกตอัลบั้มของ YEW จะเห็นว่า แต่ละเพลงมันจะมีสีและมีอารมณ์ที่ชัดเจนมาก ถ้าได้มาดูที่คอนเสิร์ตใหญ่ ก็จะมีวิชวล (Visual) ช่วยให้คนดูมองเห็นอารมณ์ของเพลงเราชัดขึ้นด้วย
ในวันนี้ YEW ถือเป็นอีกหนึ่งวงประสบความสำเร็จในต่างประเทศ คิดว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้
นรุตม์: ผมว่าเพลงเป็นหลัก สุดท้ายแล้วถ้าเพลงเราไม่ได้ดี มันก็ไม่ได้ถูกพูดถึงต่อ
จริงๆ ภาษาก็เกี่ยว แต่ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น เพราะคนฟังดนตรีต่อให้ไม่เข้าใจภาษา เขาก็ฟังดนตรี ฟังเมโลดี้ เหมือนที่เราฟังเพลงเกาหลีหรือญี่ปุ่นกัน แต่ว่าถ้าจะให้มันเข้าถึงได้ง่ายขึ้นก็เป็นภาษาอังกฤษก็ดี
หากมองย้อนกลับไปที่เป้าหมายแรกของวง YEW พวกคุณมองว่า วันนี้มันสำเร็จแล้วหรือยัง
นรุตม์: เป้าหมายแรกผมว่าสำเร็จแล้ว กับการอยากเล่นที่ PLAY YARD by Studio Bar ถึงแม้จะปิดไปแล้วก็ตาม
ปรัชญ์: (หัวเราะ) จำได้ว่า ตอนนั้นอย่างน้อยขออยู่ในไลน์อัปประจําสัปดาห์ของร้าน ซึ่งก็เป็นจุดที่สำเร็จแล้ว
แต่ถ้าพูดถึงทุกวันนี้ เป้าหมายก็เปลี่ยนไป มันเติบโตไปพร้อมกับเรา แล้วมันก็ค่อยๆ สำเร็จไปทีละเรื่อง ทีละขั้น
ดังนั้นเราอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายสำคัญในแต่ละช่วงเวลา แต่ว่าก็พยายามตั้งอะไรบางอย่างขึ้นมาให้วงได้ก้าวข้ามไปเรื่อยๆ สำหรับตอนนี้ก็คือคอนเสิร์ตใหญ่ ที่วันนี้ทุกคนทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้แล้ว แต่อนาคตหลังจากนี้ การได้ร่วมงานกับศิลปินคนอื่น หรือการที่จะไปเติบโตในเมืองนอก ก็นับเป็นสิ่งใหม่ที่อยากจะไปให้ถึง
Tags: วงดนตรี, YEW, ดนตรีนอกกระแส, วงดนตรีนอกกระแส, วงอินดี้, ดนตรี, The Frame