เมื่อพูดถึงวงดนตรีวัยมัธยม รายชื่อแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาคงหนีไม่พ้น ‘Yes Indeed’ วงดนตรีป็อปวัยใส ที่การเติบโตบนเส้นทางดนตรีของพวกเขาน่าสนใจ และสะท้อนเรื่องราวมากมายให้พวกเราได้คิดตาม จากกลุ่มเด็กมัธยมเล่นดนตรีเปิดหมวก สู่การทำงานในฐานะศิลปิน ผู้ไขว่คว้าและโอบกอดความฝันได้สำเร็จ
Yes Indeed วงดนตรีน้องใหม่จากค่าย White Music ประกอบไปด้วย พอร์ส-นรากร อิสระวรางกูล (นักร้องและกีตาร์), มังกร-รัชชานนท์ วรกิจไพบูลย์ (กลอง), แพนเค้ก-อิสรีย์ อิสระวรางกูล (นักร้อง), ทะเล-ยศธกร ชะเอม (กีตาร์) และตฤณ-ตฤณ ฟูจิตนิรันดร์ (คีย์บอร์ด)
ที่เชื่อว่าการเล่นดนตรีคือ ‘ความสนุก’ ไม่จำเป็นต้องแข่งกับใคร ขอแค่มีพื้นที่โอกาสเปิดรับพวกเขา ภาพสะท้อนความสำคัญของ ‘Pucblic Space for Music’ ว่าการสร้างพื้นที่ให้เยาวชนแสดงความสามารถและศักยภาพของตัวเอง สามารถนำพาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จได้
‘Yes Indeed’ ชื่อนี้แหละใช่เลย!
พอร์ส นักร้องนำและมือกีตาร์ Yes Indeed เล่าว่าตัวเขาและน้องสาว (แพนเค้ก) ร้องเพลงคัฟเวอร์ลงยูทูบได้ประมาณ 1 ปี รู้สึกว่าเพลงดูขาดจังหวะและสีสัน เพราะดนตรีที่พวกเขาทำมีเพียงแค่เสียงกีตาร์ ประกอบกับช่วงนั้นเริ่มรู้สึกอิ่มตัว จึงชวนมังกรซึ่งเป็นเพื่อนสมัยประถมมาตีกลอง ไม่นานเค้กก็แนะนำทะเลให้รู้จัก ส่วนตฤณเข้ามาร่วมกันหลังจากเปิดหมวกไปได้สักพัก
ถ้านับจากการก้าวเท้าออกมาเปิดหมวกครั้งแรกจนถึงวันนี้ ก็เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ในเส้นทางสายดนตรีของพวกเขา
หลังจากรวมตัวกันได้สักพัก พวกเขาก็เล่นดนตรีเปิดหมวกกันไปเรื่อย ๆ เป็นกิจกรรมหลังเลิกเรียน ถ้าใครว่างจากการเรียนก็มาเล่นด้วยกัน โดยไม่ได้กำหนดวันหรือเวลา พวกเขาเล่นดนตรีเปิดหมวกกันแบบนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะมีโอกาสไปเล่นที่สยามสแควร์ แล้วเกิดกระแสโด่งดังในโซเชียลมีเดีย จนคอมเมนต์ต่างเรียกร้องให้พวกเขามีชื่อวง
“พอเริ่มมีกระแสในโซเชียลฯ ก็มีคอมเมนต์ต่างๆ เรียกร้องให้เรามีชื่อวง ให้ทำเป็นวงจริงจัง เราเลยตั้งขึ้นมาว่า Yes Indeed จากคอมเมนต์ ที่แปลว่า ใช่เลย มันใช่เลย มันเข้ากันมากๆ”
พอร์ชพูดถึงที่มาของชื่อวง ที่ได้รับมาจากคอมเมนต์ในโซเชียลฯ เมื่อพวกเขาเห็นก็รู้เลยว่า ชื่อนี้แหละ ใช่เลย!
เติบโตจากการไล่ตามความฝันสู่การเลื่อนชั้นเป็นศิลปิน
หลังจากเป็นกระแสในโลกโซเชียลฯ และเป็นที่รู้จักในฐานะวงดนตรีมัธยมเปิดหมวก จีเอ็มเอ็ม อะคาเดมี (GMM Academy) ได้ติดต่อให้พวกเขาไปออดิชัน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้พวกเขาก้าวเท้าเข้าสู่เส้นทางที่แตกต่างและท้าทายมากกว่าเดิม
“พวกเราไปเปิดหมวกที่สยาม แล้วก็เริ่มเป็นกระแสในโซเชียลฯ ทาง จีเอ็มเอ็ม อะคาเดมีจึงเรียกพวกเราเข้าไปคุย แล้วไปออดิชัน จึงได้มาอยู่กับ White Music เพราะด้วยอายุและแนวเพลงที่เราสนใจส่วนใหญ่ เป็นแนวเพลงที่ตรงกับค่าย” แพนเค้กเล่าเรื่องราวให้ฟัง ก่อนเสริมว่าการได้เข้ามาทำงานกับค่ายเพลงครั้งแรกเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ท้าทายพวกเขามาก มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไปและพวกเขาต้องปรับตัวให้ทัน
ทะเลบอกกับเราว่า การทำงานกับค่ายเพลงแตกต่างจากการเล่นดนตรีเปิดหมวกมาก พวกเขาต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น แข่งกับตัวเองมากขึ้น มีวินัยในการฝึกซ้อมมากขึ้น ตอนเล่นดนตรีเปิดหมวกพวกเขาไม่จำเป็นต้องซ้อมทุกวันก็ได้ แค่ฟังเพลง แกะเพลง ก็สามารถขึ้นเล่นได้เลย แต่การทำงานกับค่ายเพลงจะมีตารางชัดเจน พวกเขาต้องเรียนร้องเพลง เรียนเต้น เรียนดนตรี
แพนเค้กเสริมอีกว่า ‘เหมือนเป็นอีกห้องเรียนหนึ่ง เราไม่ได้อยู่แค่ในกรอบ’ และได้ลองทำอะไรหลายอย่างที่ตอนอยู่ในห้องเรียนเราไม่ได้มีโอกาสทำ ได้ฝึกฝนให้เราเติบโตขึ้นไปอีก พวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่ดีและท้าทาย
“อย่างผมเอง ต้องไปฝึกและเรียนทักษะด้านดนตรีของตัวเองเพิ่ม เพราะตอนแรกผมเล่นเพราะความชอบ แต่ตอนนี้มันขยับมาเป็นอาชีพบนความชอบ มันก็ต้องมีมาตรฐานมากขึ้น ต้องมีระบบ มีคิวที่ชัดเจน ต้องซ้อม ผมมีจุดอ่อนตรงที่เวลาตีกลองไปเรื่อยๆ แล้วแรงตก ก็ต้องเข้าฟิตเนสออกกำลังกาย เพื่อให้มีแรงมากขึ้น” มังกรกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาตัวเองหลังจากเข้ามาทำงานกับค่ายเพลง
ชวนขยับความสัมพันธ์กับ ‘เลื่อนชั้น’ ซิงเกิลแรก
เมื่อเข้ามาทำงานกับ ‘White Music’ สิ่งที่เรียบง่ายที่สุดที่พวกเขาคาดหวังคือการมีซิงเกิลแรกเป็นของตัวเอง พวกเขาจึงได้เข้าประชุมกับทางทีมงานค่ายเพลง เพื่อหาไอเดียและสไตล์เพลงที่ทุกคนในวงชอบ เพลงที่สามารถสะท้อนถึงตัวตนพวกเขา การเลื่อนชั้นจากศิลปินเปิดหมวกที่คัฟเวอร์เพลงอื่น สู่การเป็นศิลปินตัวจริง ที่มีซิงเกิลแรกเป็นของตัวเอง จนตกตะกอนออกมาเป็นเพลง ‘เลื่อนชั้น’ พวกเขาได้รับเกียรติจาก กบ-ขจรเดช พรมรักษา (กบ วงบิ๊กแอส) เป็นเอ็กซ์คลูซีฟโปรดิวเซอร์ (Exclusive Producer) และณัฐ-ณัฐวัฒน์ แสงวิจิตร (ณัฐ วงเคลียร์) นั่งแท่นโปรดิวเซอร์ (Producer)
สิ่งที่พวกเขาประทับใจในการทำงานกับค่ายคือ การที่พวกเขาทุกคนได้มีโอกาสแชร์ไอเดียและความคิดทางดนตรีอย่างอิสระ
“พวกเราประชุมกับโปรดิวเซอร์แล้วสัมภาษณ์กันว่าแต่ละคนผ่านหรือเจออะไรมาบ้าง ทั้งเรื่องความรักหรือแม้กระทั่งแนวเพลงที่ทุกคนชอบฟัง ไม่นานทางทีมงานก็ทำเดโมเพลงเลื่อนชั้นกลับมาให้พวกเราฟัง พอพวกเราได้ฟังเดโม เราก็ได้รับโจทย์จากพี่ณัฐให้ไปทำไกด์เพลงในสไตล์เรา แล้วส่งกลับไปให้เขา ซึ่งพี่ณัฐก็กลับไปแก้ให้เพลงเหมาะกับวัยพวกเรา
“และ Yes Indeed เปรียบเสมือนแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ วัยมัธยมกลับมาเล่นดนตรี หรือเวลามอง Yes Indeed ทำให้คิดถึงวัยมัธยม”
พอร์สพูดถึงกระบวนการทำเพลงเลื่อนชั้น พวกเขาทุกคนมีโอกาสช่วยคิดและถ่ายทอดความเป็น Yes Indeed
แพนเค้กเสริมอีกว่า เนื้อเพลงเลื่อนชั้น สามารถสื่อได้หลายความหมาย สำหรับใครหลายคน อาจเป็นการเลื่อนสถานะความสัมพันธ์จากเพื่อนมาเป็นแฟน
แต่สำหรับ Yes Indeed มันมีความหมายที่พิเศษมากกว่านั้น เพราะพวกเขาสามารถเลื่อนสถานะจากนักดนตรีเปิดหมวกมาเป็นศิลปิน ซึ่งมันมีความหมายมากมายเหลือเกินสำหรับเด็กมัธยมกลุ่มหนึ่งที่เติบโตจากการไล่ตามความฝัน
พูดคุยกันมาได้สักระยะ เรารู้สึกว่า Yes Indeed เป็นเด็กที่เก่งกันมาก และเราก็ชื่นชมพวกเขา ตฤณบอกว่า สมัยที่เล่นดนตรีเปิดหมวก มีเพื่อนนักเรียนในวัยเดียวกันอีกหลายกลุ่มที่เก่งและมีความสามารถ แต่พวกเขาเหล่านั้นได้รับโอกาสและการซัพพอร์ตน้อย
แพนเค้กมองว่าการที่ Yes Indeed ได้เป็นที่รู้จักและมีการเล็งเห็นจากค่ายเพลง เพราะจังหวะเวลาที่เหมาะสม หากพวกเขาไม่ได้มีโอกาสขึ้นไปเล่นดนตรีที่สยามวันนั้น วันนี้ก็อาจไม่มี Yes Indeed ในฐานะศิลปินก็ได้
เป็นเรื่องที่รู้กันดีว่า ‘การเล่นดนตรี’ คือหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่นักเรียน นักศึกษา ทว่าเรากลับเห็นวงดนตรีวัยรุ่นหรือวัยเรียนได้น้อยในอุตสาหกรรมดนตรีไทย โดยเฉพาะการแสดงโชว์ดนตรี ที่นอกจากพื้นที่ภายในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแล้ว เราก็ไม่ค่อยพบเห็นการแสดงวงดนตรีจากเด็ก ๆ ในพื้นที่อื่นเท่าไหร่ นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ‘Public Space for Music’ สำคัญมากหรือไม่ สำหรับการซัพพอร์ตศักยภาพของเยาวชนไทย
เมื่อยืนอยู่ตรงนี้ เราคือคนที่รักดนตรีเหมือนกัน
“เมื่อก่อนประมาณ 5-10 ปีที่แล้ว เด็กมัธยมที่อยากเล่นดนตรีหรือแสดงบนเวที มีเพียงไม่กี่ทาง เส้นทางหลักคือคุณต้องไปประกวด แต่การประกวดมันต้องทำให้เข้าเกณฑ์กรรมการ ซึ่งการเล่นดนตรีเปิดหมวกในที่สาธารณะนั้นแตกต่างออกไป คุณสามารถเล่นดนตรีได้โดยไม่มีใครมาตัดสินว่าสิ่งที่ทำถูกหรือผิด คุณสามารถเล่นดนตรีเพื่อความสนุก โดยปราศจากการแข่งขันหรือแรงกดดัน”
ทะเล มือกีตาร์ของวง กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังเมื่อพูดถึงความสำคัญของ Public Space for Music ที่พวกเขาเติบโตและบ่มเพาะประสบการณ์ทางดนตรีมาจากพื้นที่เหล่านั้น
มุมมองของทะเลสะท้อนสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งกับเรา บางครั้งสังคมตีกรอบและสร้างมาตรวัดให้เด็กๆ มากเกินไป พวกเขาแค่ต้องการพื้นที่อิสระทางความคิดและการแสดงออก อิสระที่จะรัก อิสระที่จะทำ เพื่อในอนาคตพวกเขาสามารถทำในสิ่งที่รักได้อย่างอิสระ ในฐานะผู้ใหญ่สิ่งที่เราทำได้คือการ ‘เปิดพื้นที่โอกาส’ ให้กับพวกเขา
พอร์ส นักร้องและมือกีตาร์กล่าวว่า การได้รับพื้นที่แสดงความสามารถคือความสุขสำหรับเขา ตลอดระยะเวลาการเปิดหมวกเขารู้สึกมีความสุขในการเล่นดนตรี เพราะไม่มีใครเอาทรรศนะส่วนตัวมาตัดสินความรัก ความชอบ หรือสไตล์ของคนอื่น อีกทั้งยังได้พบเจอผู้คนและแลกเปลี่ยน โดยไม่มีข้อจำกัดว่าคุณเป็นใคร มาจากที่ไหน ขอแค่เรารักดนตรี รักการฟังดนตรี เมื่อยืนอยู่บนพื้นที่นี้ เราคือคนที่รักดนตรีเหมือนกัน
พอร์สพูดเสริมอีกว่า ในฐานะของคนที่เติบโตมาจาก Public Space for Music เขาอยากขอพื้นที่สาธารณะ เพื่อแสดงความสามารถให้มากขึ้น ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพียงการเล่นดนตรี แต่เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถทำและแสดงในสิ่งที่ชอบได้ และอยากให้มีการสนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์บางอย่าง เพื่อส่งเสริมหรือพัฒนากิจกรรมนั้นๆ ในพื้นที่สาธารณะ
เราต่างมีความชอบที่กลายเป็นความฝัน ขอเพียงพื้นที่เล็กๆ ให้ความฝันอันแสนเรียบง่ายนั้นได้เติบโต ไม่มีคำว่าเร็วหรือช้าไปสำหรับการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความปรารถนา เพราะทุกคนสามารถเอื้อมมือไปไขว่คว้าและโอบกอดความฝันของตนเองได้
Tags: Music, White Music, The Frame, วงดนตรี, Yes Indeed, เยส อินดี้ด