ชื่อของ ‘สินา วิทยวิโรจน์’ เจ้าของเฟสบุ๊กเพจ Sina Wittayawiroj® โด่งดังในฐานะนักวาดภาพประกอบที่สื่อสารและแสดงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองผ่านลายเส้นอันเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

ทว่านอกเหนือจากบทบาทศิลปินผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว เขาคือศิลปิน NFT Art ผู้สามารถเลี้ยงชีพได้จากการขายงานศิลปะบนแพลตฟอร์มซื้อขายงาน NFT และยังมีความฝันที่อยากจะให้วงการ NFT ไทยไปเฉิดฉายอยู่บนเวทีระดับโลก 

The Frame สัปดาห์นี้ พาทุกคนไปรู้จักกับ ‘สินา’ ศิลปินผู้เชื่อว่า NFT Art คือสังคมในอุดมคติของศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน พร้อมความเห็นเกี่ยวกับเส้นแบ่งของการ ‘ลอกเลียนแบบ’ กับ ‘ได้รับแรงบันดาลใจ’ นั้นแตกต่างกันอย่างไร ตลอดจนขีดจำกัดของการสร้างสรรค์งาน NFT อยู่ที่ตรงไหนกันแน่

คุณเข้าสู่วงการศิลปะได้อย่างไร

เริ่มจากการเรียนศิลปะในช่วงปริญญาตรี แล้วก็เรียนโทต่อเลย ผมใช้เวลาในการเรียนรู้ศิลปะมาทั้งหมด 10 ปีเต็ม ระหว่างนั้นก็เป็นศิลปินอิสระไปด้วย จนกระทั่งเรียนจบก็ยังคงยึดอาชีพศิลปินอิสระมาอยู่ระยะหนึ่ง จนเจอจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องย้ายไปทำงานสายกราฟิกดีไซน์ให้กับบริษัทแฟชั่นแห่งหนึ่ง พร้อมๆ กับทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบไปด้วย 

ปัจจุบันก็หันมาทำงานในด้านวาดภาพประกอบเต็มตัวแล้วครับ

แล้วเริ่มทำดิจิทัลอาร์ตตั้งแต่เมื่อไร

สาเหตุที่มาทำในฝั่งดิจิทัลอาร์ต ก็เพราะว่างานของผมไม่ค่อยได้คิดถึงรูปแบบงานที่มันต้องปรินต์ออกมาให้จับต้องได้มากเท่าไรนัก 

จริงๆ มันน่าจะเริ่มจากการที่เรากลับมาวาดรูปด้วยสาเหตุอยากสร้างความเคลื่อนไหว (Movement) ทางการเมืองเมื่อช่วงต้นปี 2563 ผมทำงานในบริษัทที่ต้องวาดรูปอยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานส่วนตัว แต่ก็อยากจะวาดรูปที่เป็นงานของตัวเอง เลยเลือกวาดภาพประกอบที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมือง เนื่องจากกระแสที่รุนแรงในช่วงกลางปีที่แล้วด้วย ก็เปิดเพจและสร้างสรรค์ผลงานอย่างจริงจังมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้แหละครับ 

ตอนนี้ผมเพิ่งออกจากงานประจำเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทำงาน NFT Art อย่างเต็มตัว แล้วก็วาดภาพประกอบให้กับ Voice Comic ในเครือของ Voice TV พร้อมกับช่วยงานกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม

รู้จักกับ NFT นานหรือยัง ทำไมถึงสนใจวงการนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผมเริ่มสนใจพวกคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ก็ลองซื้อขายนิดหน่อย จนช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ได้ยินคำว่า NFT น้องคนหนึ่งเขาชวนผมเข้ากรุ๊ป เพราะเห็นว่างาน NFT มีความน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ได้ศึกษาจริงจัง กระทั่ง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมต้องทำงานที่บ้าน (Work from home) แล้วเวลาว่างมันเยอะ ก็เลยแบ่งเวลาจากการทำงานประจำในขณะนั้นมาลองขายงาน NFT ดู ทั้งงานการเมืองและงานที่วาดขึ้นมาใหม่ พอเราเห็นว่ามันเริ่มไปได้ ก็เลยจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นอาชีพหลักของในตอนนี้

คนทำงานสร้างสรรค์มีปฏิกิริยากับการมาถึงของ NFT อย่างไรกันบ้าง  

ผมคิดว่า NFT มันต่างจากดิจิทัลอาร์ตตรงที่ว่า งานของเรามันขึ้นไปเก็บอยู่บนบล็อกเชน บวกกับการมีเทคโนโลยีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ทำให้งานดิจิทัลอาร์ตเหนือขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะเราสามารถย้อนไปดูได้ว่าไฟล์ออริจินัลนั้นมาจากไหน มันถูก Mint (แปลงไฟล์งานศิลปะเป็น NFT) โดยใคร ซึ่งมันสามารถที่จะติดตามได้ว่าใครเป็นคน Mint งานคนแรก 

สมมติว่ามีงานชิ้นเดียวกันที่เหมือนกันทุกประการเลย เราสามารถที่จะเช็กได้ว่างานไหนเป็นงานที่แท้จริงจากการดูว่างานชิ้นไหนถูก Mint ก่อน และการตรวจสอบที่มาที่ไปแบบนี้เลยกลายเป็นธรรมชาติของวงการ NFT ด้วย 

ในตลาด NFT เราจะเห็นงานที่เป็นพวก Parody Art เยอะมาก แบบนี้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของตัวงานต้นฉบับ ลดทอนความคิดสร้างสรรค์ของคนทำงานหรือเปล่า

อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ สมัยเรียนผมได้เรียนวิชาหนึ่งที่ชื่อว่าประวัติศาสตร์ศิลปะ ผมเลยเข้าใจในแนวคิดที่เรียกว่า ‘ศิลปะของการหยิบยืม’ หรือ Appropriation Art มันกลายเป็นการผลิตงานในยุคหนึ่งเลยด้วยซ้ำ หลังจากการเกิดขึ้นของการลอกเลียนแบบกัน และถ้าเรามองย้อนกันดูไกลกว่านั้น ศิลปิน Fine Art ในประวัติศาสตร์จะมีการหยิบยืมสิ่งนั้นสิ่งนี้มาสร้างสรรค์เป็นงานของตัวเองอยู่แล้ว ทำให้ความรู้มันมีการถ่ายเทกันไปกันมา ซึ่งพอผมมีชุดความคิดเช่นนี้อยู่ในหัวแล้ว มันทำให้ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาเลย

ปัญหาของวงการสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียวคือการขโมยไปขาย ไม่ใช่การหยิบยืมไปสร้างใหม่ แต่ถ้ามันเกิดการทำขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน การหยิบยืม หรือ Hard Reference ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาเลย พอผมไม่ได้รู้สึก ผมก็ไม่สามารถไปตอบแทนคนที่มีปัญหาได้

เส้นแบ่งของคำว่า ‘ลอกเลียนแบบ’ และ ‘หยิบยืม’ อยู่ตรงไหน

หากจะพูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องวนกลับมาที่เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ของบ้านเราว่า คนที่เป็นเจ้าของเขาตอบสนองกับเหตุการณ์นั้นอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่า เพราะว่าทำผิด แต่ถ้าไม่โดนฟ้องคือไม่ผิด คือกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นมีอยู่เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของผู้คน แต่เราต้องมาดูกันว่าแล้วมันมีผลบังคับใช้ในรูปแบบไหนบ้าง มันมีความฉับพลันในการใช้มันไหม

ยกตัวอย่างเช่น คดีกระทงทรงแองกี้เบิร์ด (Angry bird) ที่ถูกดำเนินคดี แต่พอประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายแค่ในลักษณะนี้ซ้ำๆ ทำให้ในโลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ ถ้ามีกรณีที่มีงานภาพที่คล้ายกันออกมา จึงทำให้เข้าใจว่ามันผิด และเราก็จะต้องจัดการเขาให้ได้ โดยที่เราไม่ได้ให้ความสนใจเลยว่ามันผิดเพราะว่ามีการดำเนินคดีหรือเปล่า แต่ตัดสินใจไปก่อนด้วยความรู้สึกไปแล้วว่ามันผิด ซึ่งมันก็ห้ามไม่ได้ แต่สำหรับผม บางครั้งมันก็เกินเลยไปหน่อย

เราก็ต้องมาคุยกันต่อด้วยว่า คนที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ต้องการให้คนนำงานของเขาไปใช้ต่อไหม ถ้าเขาเฉยๆ แล้วเราจะไปคิดแทนเขาทำไม หากในอดีตศิลปินที่เริ่มวาดภาพแนวอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) เขาไปฟ้องศิลปินคนใดที่ใช้ฝีแปรงในการวาดเหมือนกัน งานศิลปะในรูปแบบของอิมเพรสชันนิสม์มันก็ไม่เกิด

อันนี้เป็นเพียงแค่มุมมองของผมนะ มันเรื่องของความเห็นส่วนตัวมากๆ สำหรับการมองเรื่องนี้

การหยิบยืมเช่นนี้เป็นการลดทอนความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างงานหรือเปล่า

องค์ความรู้ทางศิลปะวัฒนธรรมมันเป็นสิ่งที่ควรจะแชร์กัน หรือเกิดการถ่ายเทไปมาสำหรับคนในสังคม ไม่ใช่แค่สำหรับศิลปินนักสร้างสรรค์ คนทำมีมสนุกๆ ก็ควรจะล้อเลียนอะไรก็ได้ที่เขาอยากล้อ มันจึงเกิดการเคลื่อนไหวทางศิลปะในรูปแบบใหม่ คือการที่ศิลปินหลายคนพยายามให้งานของตัวเองได้ถูกใช้งานในรูปแบบต่างๆ 

เช่น การที่เชื่อว่างานศิลปะนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เลย (Non-Exclusive Licenses) หรือการที่อนุญาตให้งานของตนสามารถนำไปใช้ในรูปแบบใดก็ได้รวมถึงในเชิงพาณิชย์ด้วย (Creative Common Zero) ซึ่งแนวคิดแบบนี้มีชื่อว่า ‘Copyleft’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับเรื่องของ Copyright เลย ผมคิดว่านักสร้างสรรค์ก็ควรจะติดตามด้วยว่า ตอนนี้มันมีแนวคิดแบบนี้อยู่นะ

ผมก็เปิดตัวแล้วว่าผมเห็นด้วยกับแนวคิด Copyleft นะ ทั้งงานภาพประกอบการเมืองหรืองาน NFT ของผม ซึ่งมันไม่มีปัญหาเลย บางคนอาจจะกลัวว่างานของเราจะถูกด้อยมูลค่าลงเพราะการก๊อบปี้หรือเปล่า แต่งานออริจินัลชิ้นนั้นมันมีค่าเพราะมันอยู่กับผมไง ผมคิดว่างานของเราจะกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์งานใหม่มากกว่า ถ้างานของเราสามารถถูกนำไปใช้ดัดแปลงต่อได้เรื่อยๆ 

แนวคิด Copyleft ทำให้มีคนเอางานของคนอื่นไป Mint ขายเป็น NFT บ้างหรือเปล่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคน Mint งานเป็นเจ้าของงานจริงๆ 

เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้วครับ มีศิลปินดิจิทัลอาร์ตชาวไต้หวันคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในวงการ NFT แต่งานของเขาก็ถูกดูดไปเขียนทับ และก็ขายในรูปแบบ NFT สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนในสังคม (Community) ช่วยกันแจ้งแพลตฟอร์ม และขอให้ผู้ซื้อโอนงานคืนให้ศิลปินที่ลอกเลียนแบบ และให้ทำลายงานชิ้นนั้นทิ้ง จนทำให้ศิลปินชาวไต้หวันคนนี้กระโดดเข้ามาอยู่ในวงการ NFT 

ด้วยความที่วงการ NFT มันยังใหม่มาก สิ่งที่ผมสนใจคือการที่สังคมของ NFT พยายามเรียนรู้ที่จะปกป้องสิทธิของศิลปินคนอื่นในวงการ แต่มันไม่ใช่การที่ไปซ้ำเติมคนที่กระทำผิดให้ตายเพื่อความสะใจ แต่มันเป็นการปกป้องตัวสังคม NFT เอง เพราะวงการ NFT เป็นสังคมที่เปิดกว้างมาก ผมสามารถไปตามรีพอร์ตคนที่ดูดงานของศิลปินคนอื่นไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็เปิดงานของผมในรูปแบบสัญญาอนุญาตเสรี (Free License) ด้วย ในโลกอินเทอร์เน็ต ความเป็นพลวัตมันสูงมาก และเรากำลังเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ เรื่อยๆ 

พอผมเปิดตัวว่าสนับสนุน Copyleft ผมก็โดนว่าเหมือนกันนะว่าเป็นสลิ่มของวงการศิลปะ (หัวเราะ) ผมโดนด่าทุกคำ แต่ผมแค่สงสัยว่า ทำไมการที่เราออกมาพูดมุมมองอื่นๆ ของเรื่องลิขสิทธิ์มันถึงต้องโดนด่าถึงขั้นคอขาดบาดตายขนาดนี้วะ (หัวเราะ) 

สำหรับคุณ สภาพสังคมของประเทศไทยมีอิทธิพลในการตีกรอบนิยามของคำว่า ‘ศิลปะ’ และงาน NFT ไหม

ผมคิดว่าสังคมไทยมันโตมากับวิธีคิดทางการเมืองแบบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ทุนมันอยู่ตรงไหนบ้าง มันไปกระจุกกันอยู่กับรัฐหรือนายทุนใหญ่ๆ พอเรามีรูปแบบของสังคมเป็นแนวตั้ง เป็นพีระมิดแบบนี้ คนที่มีทุนใหญ่ๆ อยู่ข้างบน คนข้างล่างเป็นแรงงาน ทีนี้พอมันอยู่ในวิธีคิดเช่นนี้มานานมากๆ ทำให้คนที่อยู่ตั้งแต่กลางและล่างลงมาต้องการที่จะมีทรัพย์สินของตัวเอง เพื่อให้เราสามารถยกระดับฐานะทางสังคมได้ เราเลยไม่เคยลิ้มรสว่าการมีชีวิตที่ดีโดยที่ไม่ต้องทำงานนั้นเป็นอย่างไร แต่ในต่างประเทศมันมีไง พอสวัสดิการของประเทศอื่นมันช่วยเหลือคนในประเทศอย่างเต็มที่ นักสร้างสรรค์แทบจะไม่ต้องมานั่งคิดเรื่องนี้เลย บางประเทศสามารถของเงินจากรัฐฯ ได้เลย ทำให้งานศิลปะมันเติบโต ผู้คนสามารถเรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ และเพราะระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมแบบนี้ ทำให้ผู้คนเข้าใจแนวคิดของ Copyleft ได้เลย โดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แปลก

พอคนมันติดอยู่กับวิธีคิดแบบเดิม นักสร้างสรรค์จึงหวงทรัพย์สินของตัวเอง แต่ไม่ได้นึกถึงการแชร์องค์ความรู้กันในเชิงเศรษฐกิจ สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์มันก็ออกมาอย่างที่เห็น คนต้องการที่จะอยู่รอดในสังคม และไม่ได้คิดถึงรูปแบบอื่นในการสร้างสรรค์ ซึ่งมันน่าเศร้ามากนะ

แล้ว NFT ทำให้คนศิลปะเปิดกว้างขึ้นบ้างหรือเปล่า

อันนี้เป็นเรื่องที่ผมเซอร์ไพรส์มาก ตอนผมทำงานในรูปแบบของ Fine Art ผมก็ไม่ได้ขายงานได้เลย ผมต้องหาเงินทุนและพื้นที่ในการจัดแสดงงานของตัวเอง ซึ่งมันยากมากสำหรับผมนะ ในการเข้าถึงคนอื่นๆ ในวงการอย่าง เช่น นักสะสม (Collector) ภัณฑารักษ์ (Curator) เจ้าของแกลเลอรี ผมไม่รู้เลยว่าจะต้องเข้าไปคุยอย่างไร

แต่วงการ NFT มันไม่มีเส้นแบ่งเลย ทุกคนเหมือนถูกโยนลงไปอยู่ในที่ที่เดียวกัน ช่วงแรกก็ดูเหมือนมันตะเกียกตะกาย พยายามดิ้นรนที่จะขายงานให้ได้ แต่พอเราขายงานได้งานหนึ่ง นักสะสมจะแนะนำให้เรารู้จักกับคนอื่นในวงการต่อได้ง่ายมากขึ้น สังคม NFT มันเรียนรู้และสานสัมพันธ์กัน หรือเวลามีปัญหา คนข้างในก็จะช่วยเหลือกันเองรวดเร็วมากๆ 

มันค่อนข้างต่างจากการทำงานศิลปะแบบเมื่อก่อน เพราะเราไม่รู้จะเข้าไปสานสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อย่างไร มันมีกำแพงบางอย่างกั้นอยู่เต็มไปหมดเลย แต่พอเข้ามาอยู่ในโลกของ NFT การพบกับนักสะสมใหญ่ๆ นั้นง่ายมากเลย เขาไม่ได้สนใจเลยว่าเราเป็นใคร ถ้าเขาชอบงานเรา เขาก็ซื้อ แค่นั้น จบ จนรู้สึกว่า NFT มันกลายเป็นสังคมอุดมคติสำหรับคนทำงานศิลปะมากๆ 

คุณมองว่า NFT Art กำลังด้อยค่างานศิลปะแบบเดิมไหม

มันก็คงมีคนที่มองแบบนั้นนะครับ แต่สำหรับผม มันเป็นแค่ทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้นเอง 

ผมก็เห็นศิลปินที่ทำงานในแกลเลอรี เขาก็ทำงาน NFT ด้วย ในฐานะคนสร้างสรรค์ ผมมองว่ามันเป็นทางเลือกที่ทำให้อาชีพนี้สามารถขายงานได้มากขึ้นเท่านั้น แต่มันคงไม่ได้ทำให้มูลค่าของงานศิลปะในรูปแบบอื่นลดลงแต่อย่างใด อาจจะมีคนที่ต้องการครอบครองไฟล์ภาพโมนาลิซาแบบ NFT แต่มันก็คงไม่ได้ทำให้งานที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์มีมูลค่าน้อยลงเลย มันเพียงแค่เกิดงานที่เป็นออริจินัลขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

ในอนาคต NFT ก็จะกลายเป็นเพียงแค่ทางเลือกในการขายงานศิลปะในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น คนสร้างสรรค์งานก็จะรับรู้เองว่า งานของเขาควรจะอยู่ในรูปแบบใด

คุณอยากเห็นวงการ NFT ไทยเป็นแบบไหน

ผมอยากให้เป็นที่ที่ทุกคนช่วยเหลือกันครับ

สาเหตุที่ผมออกจากงานประจำมาเป็นศิลปิน NFT เต็มตัว เพราะผมมองว่ามันเป็นช่องทางที่สามารถเลี้ยงชีพได้ และผมสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย ผมอยากให้ทุกคนมีคิดว่าความรู้สึกแบบนี้อยู่ในตัว เพราะตั้งแต่ที่เข้ามาในวงการนี้ เราสังเกตเห็นได้เลยว่าสังคม NFT มันแปรเปลี่ยนไปตามผู้คนส่วนใหญ่ของสังคมเลยจริงๆ ทั้งช่วยเหลือ แชร์ข้อมูลกัน ช่วยกันแก้ปัญหาเมื่อมีคนเดือดร้อน พอทุกคนกลายเป็นคนที่ไร้ตัวตน (Anonymous) มันทำให้มีความเท่ากัน และพื้นฐานของคนในสังคมส่วนใหญ่ตอนนี้มันมีความเห็นอกเห็นใจกันสูงมาก ทำให้ตัวสังคมมันช่วยเหลือกันมาตลอด

แม้กระทั่งเรื่องของการก๊อบปี้งานคนอื่นมาทำเป็น NFT มันก็เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่คนก็ใจเย็นและช่วยกันหาทางออก สิ่งที่ผมไม่อยากเห็นก็คือ การไปตามล่าตามแขวนคนที่ทำผิดจนเขาต้องออกจากวงการไปเลย ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นจากความโกรธแค้นส่วนตัวด้วย 

ผมว่าภายใน 5 ปี 10 ปี วงการ NFT ไทยจะแข็งแกร่งมากในเวทีโลก เพราะเราจะเห็นศิลปินไทยขึ้นไปมีชื่อเสียงในหลายๆ แพลตฟอร์มแล้ว และวงการนี้มันมีศักยภาพมากพอที่จะช่วยผลักดันนักสร้างสรรค์ชาวไทยขึ้นไปได้ในอีกขั้นหนึ่ง หากเราไม่โดนขัดขาจากรัฐ หรือไม่เกิดดราม่าอะไรกันอีกเสียก่อน ในอนาคตมันจะดีแน่นอนครับ

 

ภาพ: Sina Wittayawiroj®

Fact Box

  • สินา วิทยวิโรจน์ จบการศึกษาปริญญาตรี คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ สาขาภาพพิมพ์ และปริญญาโท สาขาสื่อผสม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ปัจจุบัน เขามีเฟซบุ๊กเพจชื่อ Sina Wittayawiroj® ไว้สำหรับลงงานภาพประกอบที่เกี่ยวกับทางด้านเสียดสีสังคมและการเมือง สามารถเข้าเยี่ยมชมผลงาน NFT ของเขาได้ทาง https://www.imaginarysina.io
Tags: , , , , ,