หากพูดถึงปี 2567 ของ สัญญา คุณากร หลายคนคงได้เห็นเขาในฐานะนักแสดงมากกว่าพิธีกรที่หลายคนคุ้นเคย จากผลงานที่ปรากฏในช่วงปีนี้ทั้ง Bangkok Breaking: ฝ่านรกเมืองเทวดา และคุณชายน์ (The Cliche) ที่เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์

ทว่าน้อยคนจะรู้ว่า ก่อนจะเป็นที่จดจำผ่านรายการเจาะใจ เขาคือนักแสดงที่เข้าวงการผ่านการแสดงมาก่อนทั้งละครและภาพยนตร์ ซึ่งเป็นเหมือนผลงานสร้างชื่อให้เขาต่อยอดอยู่ในวงการบันเทิงได้ในปัจจุบัน

แม้จะเป็นงานในวงการบันเทิงเช่นกัน แต่สัญญากลับมองว่ามันมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเขาต้องใช้ทักษะและประสบการณ์ที่สั่งสมมาปรับตัวเพื่อทำงานกับวงการสื่อที่เคลื่อนตัวอยู่ตลอด แต่สิ่งที่เขายืนยันอย่างหนักแน่นว่า แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 2 ทศวรรษ สิ่งหนึ่งที่คนหน้ากล้องต้องมีติดตัวไว้อย่าให้ขาดคือ ทักษะการเรียนรู้ เป็นแก้วเปล่าที่พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ ห้ามคิดว่าตัวเองเก่งที่สุดแล้วอย่างเด็ดขาด 

ในการสัมภาษณ์วันนี้กับ The Momentum สัญญาบอกเล่าชีวิตในวงการบันเทิง โดยมุ่งเน้นในส่วนของงานแสดงเป็นส่วนใหญ่นับตั้งแต่ละครเรื่องแรก มาจนถึงภาพยนตร์เรื่องปัจจุบัน อีกทั้งยังพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อ ที่ทำให้คนโทรทัศน์ต้องปรับเปลี่ยนมาสู่โลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น

ตัวคุณเริ่มเข้ามาสู่วงการบันเทิงหน้าจอโทรทัศน์ได้อย่างไร

สมัยที่ผมเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกิจกรรมที่เหล่านิสิตจะทำตอนปิดเทอมคือ ‘ละคอนถาปัด’ เป็นละครเวทีที่ทำกันเองสนุกๆ เขียนบทกันเอง แสดงกันเอง ทำพร็อพกันเอง ทำฉากกันเอง จนเกิดเป็นหนังในสไตล์แปลกๆ ไม่ถูกต้องตามหลักการเท่าไร เป็นกลุ่มที่จะทำอะไรเอาฮาสนุกสนาน ซึ่งเราก็มีโอกาสได้ร่วมแสดงในละคอนถาปัด

แต่สุดท้ายหลังจากนั้น ผมก็ทำงานเป็นสถาปนิกตามแนวทางที่เรียนมา ไม่ได้สานต่อการแสดงของตัวเอง จนวันหนึ่งมีคนเขามาชวนเราไปเล่นงานแสดง เพราะเห็นเราเล่นละครสถาปัตย์สมัยเรียน เราก็สนใจอยู่แล้วนะ มันน่าสนุกดี ก็เลยไปทดสอบบท และได้แสดงเรื่อง ยุทธจักรนักคิด (2534) เป็นละครเกี่ยวกับบริษัทโฆษณา เล่นเป็นพระเอกวัยเด็ก

เราก็ทำเป็นงานรองนะ ในตอนนั้นเพราะก็ยังทำงานสถาปนิกอยู่ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ถึงจะได้ทำงานแสดงแทน ถามว่าตอนนั้นเหนื่อยไหม ก็เหนื่อย แต่ที่ยังตัดสินใจรับงานแสดงอยู่ เพราะเรามองเป็นความสนุก ไม่ได้คาดหวังขนาดด้านอาชีพนั้น ถ้าจะไม่มีใครจ้างก็ไม่เป็นอะไร เพราะมีงานประจำของเราอยู่ 

ในช่วงของการแสดงในยุคนั้น เราก็ไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นอะไร จนมันเยอะขึ้นตอนเราหยุดงานสถาปนิกคือปี 2540 ที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง วงการอสังหาริมทรัพย์ล่มสลายทั้งประเทศ สถาบันการเงินก็ล่มด้วย ทำให้ไม่มีงานให้ผู้ออกแบบ แต่ขณะเดียวกัน วิกฤตนี้ทำให้ผู้จัดรายการโทรทัศน์ถอนตัว ทำให้เราได้เข้าไปทำรายการสัญญามหาชน กับที่นี่หมอชิต 

จากนักแสดงละครสถาปัตย์ ทำไมอยู่ๆ ถึงกระโดดเข้าไปสู่วงการโทรทัศน์

จริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความชอบของเรา ที่ผ่านมาก็อยากรู้ตลอดว่าคนที่เขาทำรายการประเภทนี้เช่น วิทวัส สุนทรวิเนตร์ หรือไตรภพ ลิมปพัทธ์ เขารู้สึกอย่างไร กับการเป็นทั้งพิธีกร เจ้าของรายการ ต้องบริหารธุรกิจไปด้วยจะเป็นอย่างไร

งานพิธีกรแตกต่างกับงานแสดงที่ทำมาก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง

นักแสดงมีหน้าที่ไปเป็นคนอื่น เป็นนาย ก ที่พูดจาแบบนี้ บุคลิกแบบนี้ ชอบสิ่งนี้ เกลียดสิ่งนั้น ไปเป็นใครสักคนและทำให้คนดูเชื่อว่ามนุษย์คนนี้มีตัวตนจริงๆ

ส่วนพิธีกร คือการเป็นตัวเองที่ชอบสิ่งนี้ สงสัยสิ่งนั้น และมีความสามารถในการเป็นพิธีกร 

จนถึงจุดไหนที่คุณรู้สึกว่าต้องเอาจริงเอาจังกับการแสดงมากขึ้น

น่าจะเป็นช่วงที่ผมได้เจอคุณบอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ในยุคที่กำลังเริ่มสร้างบริษัท Exact เขาเป็นคนที่กำกับงาน โดยมีสไตล์เป็นของตัวเองคือ ดราม่า เข้มข้น แต่ High Production ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสร่วมงานกับเขาในเรื่องคู่ชื่นชุลมุน (2536)

ตอนแรกก็ลังเลนะ เพราะไม่เคยได้รับบทตัวเองแบบนี้เลย แต่คุณบอยเขาก็เล่าว่า เหมาะนะ เรื่องนี้เป็นซิตคอมของชายวัยกลางคน แต่งงานกันแล้ว ก็ฉายอยู่ปีกว่าเลย ก็ประสบความสำเร็จ มีแฟนคลับมาติดตามเรา 

คุณเรียนรู้ทักษะการแสดงมาจากไหน 

คงใช้คำว่าศึกษาไม่ได้ ขอใช้คำว่าเอาประสบการณ์ทั้งหมดที่เคยเล่นมา แล้วเอาความรู้ผู้กำกับมาปรับใช้ ผมว่าสิ่งสำคัญของงานแสดงคือต้องทำงานเป็นทีมให้เป็น รู้ว่าผู้กำกับต้องการอะไร คนที่เราเข้าฉากด้วยเขาส่งบทมาแบบไหน ต้องรับ ต้องส่งให้เป็น 

จนถึงเมื่อไรที่คุณได้เริ่มลองงานแสดงในส่วนของภาพยนตร์บ้าง

คือตอนนั้น อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ เขามีแผนจะทำหนังเรื่องแรก ก็เลยมาชวนผมเล่นหนัง หนังเรื่องนี้ชื่อลูกบ้าเที่ยวล่าสุด (2536) 

พี่เขาเคยบอกว่า เขาเลือกผมมาเป็นพระเอก เพราะดูเป็นคนธรรมดาที่สุดเลย พระเอกในเรื่องคือพนักงานมนุษย์คนเดือน ไม่มีอะไรพิเศษ เดินจะไปทำงาน รถขับเหยียบน้ำกระเด็นใส่เสื้อผ้าจนเปียก ก็ยังไม่โกรธ คือไม่ได้เป็นพระเอกแบบอุดมคติ แล้วจู่ๆ วันหนึ่งเขาก็หมดสติแล้วไปเจอกับยมทูต แต่ปรากฏว่า ยมทูตบอกว่า เขาไม่ได้ตายวันนี้ เขาตายวันอื่น

พอเป็นแบบนี้ เขาเลยรู้ตัวว่า ฉันจะไม่ตายวันนี้ ดังนั้นฉันจะไม่เป็นไอ้ขี้แพ้อีกต่อไป คือต่อให้แกเอาปืนยิงฉัน ฉันจะไม่ตาย เพราะมัจจุราชบอกฉันแล้ว ทำให้หลังจากนี้มุมมองพระเอกเปลี่ยน การปฏิบัติตัวเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน มันกลายเป็นลูกบ้าขึ้นมา ทำให้ชีวิตคนนี้มันเปลี่ยนไป ซึ่งก็เป็นบทบาทที่น่าสนใจ

คุณดูเหมือนจะได้รับบทประเภทมนุษย์ทั่วไป วัยกลางคน ไม่ได้มีพลังวิเศษหรือโดดเด่นอะไร เป็นเพียงชายธรรมดาคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตในสังคม คุณคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด 

ผมเคยวิเคราะห์เหตุผลที่มักได้รับบทแบบนี้เหมือนกันนะ ซึ่งคำตอบก็คือ ถ้าสมมติคุณเดินอยู่บนถนน แล้วถ่ายภาพนิ่งที่มีคนยืนเป็นสิบเลย ซึ่งผมคือหนึ่งในนั้น แน่นอนว่า สัญญาจะกลายเป็นพื้นหลัง เป็นภาพชาวบ้านทั่วไปที่กำลังเดินบนถนนอย่างแน่แท้ แต่ถ้าเปลี่ยนจากผมเป็นพระเอกหล่อๆ สักคน มันก็จะดูโดดเด่นออกมาจากภาพ ซึ่งเราไม่ใช่คนประเภทแบบนั้น

นอกจากหนังเรื่องลูกบ้าเที่ยวล่าสุดแล้ว มีหนังเรื่องอื่นที่อยากแนะนำอีกไหม

ผมอยากแนะนำ ท้าฟ้าลิขิต (2541) ผลงานกำกับของ ออกไซด์ แปง (Oxide Pang Chun) ตอนแรกผมปฏิเสธ กลัวมันจะคล้ายๆ กับลูกบ้าเที่ยวล่าสุด เพราะเรื่องเป็นของคนธรรมดาที่ไปเจอกับความตายที่ไม่ตาย

แต่ที่ผมชอบคือวิธีการเล่าแบบออกไซด์ เขามาขายไอเดียกับผมด้วยการเอาคลิปให้ผมดู ไม่เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้เลยนะ คือเขาไปถ่ายห้องน้ำบริษัทกันตนา ถ่ายคนขับรถคนหนึ่งกำลังล้างมือ แล้วเขาไปตัดต่อย้อมสี ซึ่งพอผมดูคนล้างมือเสร็จ ผมก็เกิดคำถามมากมาย เขาล้างมือทำไม เขาไปทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าเทคนิคนี้ที่ผู้กำกับจะเอามาใช้ในเรื่องนี้มันน่าสนใจดี

จริงๆ ดูเรื่องไหนก็ได้ที่เราเล่น ทุกเรื่องมีข้อดีของมัน

ทว่าในเวลาต่อมา ดูเหมือนคุณจะห่างหายไปจากการแสดง และมุ่งสู่งานพิธีกรมากกว่า 

คงเป็นเพราะจังหวะนั้นงานพิธีกรมันเข้ามามากกว่า คือต้องยอมรับว่าข้อดีของงานพิธีกร ไม่ต้องรอเยอะ เพราะนักแสดงอาชีพหลักคือแสตนบายด์ เพราะคุณต้องรอให้ความเหมาะสมเกิด ฉากพร้อม อุปกรณ์พร้อม ไฟพร้อม แต่งานดำเนินรายการ จะไม่รอนานขนาดนั้น ได้ทำเลย แล้วเราก็ทำอย่างสนุกสนาน เลยได้ทำหลายรายการในช่วงนั้น เจาะใจ, ที่นี่หมอชิต, กิ๊กดู๋ สงครามเพลงเงินล้าน ไหนจะเกมโชว์อื่นๆ ที่แล้วแต่ใครจะติดต่อว่าจ้างเราในตอนนั้น ก็ทำงานเป็นผู้ดำเนินรายการอยู่นาน จนงานแสดงห่างหายไป 

จนถึงจุดไหนที่ทำให้ความนิยมรายการโทรทัศน์ลดลง

ผมว่ามันมีเหตุการณ์สำคัญสองเด้งที่ทำให้กระแสของรายการโทรทัศน์มันลดลง

เด้งแรกคือการมาของโซเชียลมีเดีย ที่วันนี้ก็มีสถิติระบุแล้วว่า เราเป็นชาติต้นๆ ที่ใช้งานโซเชียลมีเดียของโลก ทำให้พฤติกรรมที่เขาจะนั่งรอเวลาที่จะดูรายการที่ชอบมันไม่มีอีกต่อไป เขาหันไปดูในโลกอออนไลน์แทน 

เด้งที่สองคือ การประมูลช่องดิจิทัล ทุกคนอยากจะมีช่องโทรทัศน์เป็นของตัวเอง มันเลยทำให้มีช่องมากมายเต็มไปหมด ผลกระทบก็จะเกิดกับทุกคน เพราะในวันที่มีช่องโทรทัศน์เยอะขึ้น เรากลับมีคนดูเท่าเดิม หรือน้อยลงด้วยซ้ำในเวลาต่อมา 

หากเป็นเช่นนี้รายการโทรทัศน์ควรปรับปรุงอย่างไร

ในมุมมองของผมที่ไปต่อไม่ได้ไม่ใช่รายการทีวีนะ แต่เป็นเรื่องแพลตฟอร์มที่ไปต่อไม่ได้ ทุกวันนี้มีรายการสัมภาษณ์ มีทอล์กโชว์อยู่ในโลกโซเชียลเต็มไปหมด กลับกันรายการที่คนชอบดูในโซเชียลมีเดีย กลับไม่มีในรายการวิทยุอีกต่อไปแล้ว 

ดังนั้นวิธีการปรับตัวคือต้องหากลุ่มคนดูของคุณให้เจอว่าอยู่ตรงไหน แล้วเข้าไปอยู่กับเขาในช่องทางนั้น 

ขณะเดียวกัน ในโซเชียลมีเดียก็มีการแข่งขันที่แข็งแรงไม่แพ้กัน คุณว่ามีวิธีต้องรับมืออย่างไรบ้าง

โลกโซเชียลมีกติกาที่อิสระมากกว่ารายการทีวี ดังนั้นผมจึงไม่ห่วงคนผลิตหรอก เขามีอิสระในการที่จะทำ จะเล่าอะไรมากขึ้น แต่สิ่งที่ผมว่าน่าเป็นห่วงคือคนชม โดยเฉพาะคนจากรายการทีวีที่ต้องปรับตัวมากกว่าเดิม ในแพลตฟอร์มที่ไม่มีการเซนเซอร์หรือกลั่นกรองเนื้อหาอีกต่อไป

แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคุณกลับมารับงานแสดงอีกครั้ง มันเปลี่ยนไปเยอะไหม

เยอะมาก ผมกลับมาเริ่มรับงานแสดงอีกครั้งน่าจะเรื่อง One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ (2562) คือวิธีการถ่ายทำก็ไม่เหมือนเดิม ผู้คนที่เข้ามาแสดงก็ไม่ใช่รุ่นใหญ่แบบเมื่อก่อนแล้ว มีแต่เด็กทั้งนั้น เรากลายเป็นผู้ใหญ่ที่เราเคยเล่นในอดีตแทน

แต่ผมไม่ใช่รุ่นใหญ่ที่ชั่วโมงบินเยอะ ไม่ใช่นักแสดงรุ่นใหญ่ที่แสดงตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ดังนั้นจึงต้องใส่ความพยายาม ใส่ความรู้ให้กับตัวเองมากกว่าเดิม 

ซึ่งข้อดีของการทำงานพิธีกรมาก่อนคือ เราจะปรับตัวได้เก่ง เพราะเราได้เจอคนเยอะ ได้รู้จักคนหลายแบบ 

แล้วมีอะไรบ้างที่คุณใช้ในการแสดงยุคแรกๆ แล้วยังคงนำมาปรับใช้กับการแสดงในทุกวันนี้ได้

วิธีคิดเรื่องการห้ามมองว่า ตัวเองเก่ง คือการมองตัวเองเก่งเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ในมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องดีนะ แต่ถ้าความมั่นใจทำให้คุณหยุดการพัฒนา เริ่มไม่ฟังคนอื่น ตอนนั้นคุณจะมีปัญหาชีวิต เพราะคุณจะเก่งของคุณคนเดียว แล้วสิ่งที่โลกสมัยใหม่ต้องการคือ การเก่งไปด้วยกันหลายๆ คน 

ตัวละครที่ได้รับยังคงเป็นประเภทคนธรรมดาอยู่ไหม 

ใช่ ยังเป็นคนธรรมดา แต่มันก็เป็นคนธรรมดาที่หลากหลายแบบมากขึ้น และก็จะมีบทที่มันออกจากกรอบเราอยู่บ้าง เช่นใน Bangkok Breaking: ฝ่านรกเมืองเทวดา (2567) ที่เราก็งงว่า เฮ้ย เขาชวนเราเล่นบทนี้จริงๆ เหรอ เพราะที่ผ่านมาเราเป็นผู้ถูกกระทำมาตลอด แต่คราวนี้เราได้เป็น Hitman ซึ่งก็ดีเราได้เรียนรู้ตัวละครเยอะมาก 

สำหรับเรื่องคุณชายน์ (The Cliche) มองเห็นอะไรจึงตัดสินใจมาร่วมแสดงด้วย

คือด้วยพล็อต มันเป็นละคอนถาปัด คือการเอาสังคมมาล้อเลียน ที่ยุคหนึ่งทำไมตัวละครพล็อตมันคล้ายกัน ทำไมตัวละครร้ายต้องร้ายเหลือเกิน ไม่คิดจะทำความดีเลยเหรอ แล้วทำไมนางเอกถึงไม่สู้คน อยู่ให้เขารังแกอยู่นั่น 

ซึ่งมันก็มีคนที่ชอบ เพราะมันเป็นเทรนด์ที่แข็งแรง เมโล-ดราม่าแบบนี้ เกาหลีก็มี ญี่ปุ่นก็มี เพียงแต่ในเรื่องนี้ ตัวเอกมาเจอกับผมที่เป็นผู้ผลิตละคร ซึ่งตัวเอกเป็นตัวละครอุดมการณ์​ จะไม่ทำงานละครลวงโลก ก็เลยไปด่า ไปประจานผม จนถูกฟ้อง ซึ่งพอมันแพ้คดี ไม่มีเงินจ่าย ก็เลยแก้เผ็ดให้มันมาทำละครแบบน้ำเน่าให้เรา นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้น

คือมันเป็นละครซ้อนละคร มีดราม่าระหว่างตัวเอก นางเอก แล้วก็มีเรื่องเสียดสีของความเป็นละครที่น่าสนใจ เช่นเหตุการณ์ประเภทมีปานที่กลางหลังเลยได้รับมรดก คุณรู้ได้อย่างไรว่าชีวิตจริง ไม่มี ซึ่งผมมองว่ามันเป็นพล็อตที่สนุก น่าสนใจ ดูได้ทุกคน

คนดูจะเห็นได้คุณในบทบาทแบบไหนมากหลังจากนี้

ถ้าถามผมวันนี้ ก็ยังมีความสุขกับการทำเจาะใจอยู่ และมีความสุขกับความแตกต่างของแต่ละกอง ภาพยนตร์ ซีรีส์ เพราะมันไม่ใช่การทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงชีวิต แต่เหมือนเป็นการได้ไปแดนเนรมิต ไปรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ของคนที่เขาเชี่ยวชาญในบางเรื่องที่เราไม่เคยรู้เรื่องเลย 

ที่สำคัญไปอยู่ในกลุ่มคนที่มีพลังบวกและไฟในการทำงาน มันก็ช่วยจุดไฟให้เราอยากทำงานให้มีคุณภาพต่อไปเรื่อยๆ

Tags: , , , ,