หากผมบอกว่าชายคนนี้เป็น นักวิ่งมาราธอน พวกคุณอาจจะมองว่า ก็เป็นเรื่องทั่วไป ใครๆ ก็ทำกัน

แต่ถ้าหาก ผมบอกว่าชายคนนี้กำลังวิ่งมาราธอนทุกประเทศในโลก แล้วเขาทำไปได้ 1 ใน 3 แล้วล่ะ 

ประเทศเกาหลีเหนือ บนเทือกเขาเอเวอเรสต์​ หรือกระทั่งในทวีปแอนตาร์กติกา เหล่านี้คือสถานที่และประเทศที่ เชษฏ์ สุวรรณรัตน์ เคยวิ่งระยะ 42.195 หรือมาราธอนมาแล้ว และยังมีเป้าหมายต่อไปว่าจะเป็นนักวิ่งที่สามารถพิชิตมาราธอนได้ทุกประเทศบนโลก โดยตัวเขาจะบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ในเพจที่ชื่อว่า ‘วิ่งรอบโลก: Running The World’

เขาจะวิ่งไปทำไม เหตุใดจึงต้องวิ่งให้ครบทุกประเทศรอบโลก และที่สำคัญคือที่เส้นชัยของภารกิจนี้ มันมีอะไรหรือเขาคาดหวังสิ่งใดเอาไว้อยู่ วันนี้ The Momentum ถือโอกาสช่วงเวลาที่เขาอยู่ประเทศไทยอันน้อยนิด ก่อนที่ 1 สัปดาห์หลังจากนั้น เขาจะเดินทางไปวิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นต่อ มาพูดคุยถึงเส้นทางการวิ่งของเขากัน

คุณเริ่มรู้จักและสนใจการวิ่งได้อย่างไร

ตัวผมเคยมีโอกาสไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา พอเรียนจบก็ได้งานทำที่นั่นเลย ทำงานเป็นนักสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ ( Software Architect) แล้วพอดีบริษัทที่ผมทำงานอยู่ทำโปรเจกต์ของงานวิ่งบอสตันมาราธอน (Boston Marathon) ต้องทำเว็บไซต์ให้กับงานนี้ คือย้อนกลับไปช่วง 15-20 ปีที่แล้ว ระบบจับเวลา (Timing System) ของงานวิ่งยังไม่ได้เป็นเหมือนทุกวันนี้ คือพวกเรายังต้องไปนั่งอัปเดตกันที่หน้าเส้นชัยอยู่ ดังนั้น ผมก็ต้องไปอยู่ที่งานวิ่งแทบทุกปี ได้เห็นนักวิ่งตลอด แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจเรื่องการวิ่ง คิดแต่ว่าเรามาทำงานอย่างเดียว 

แล้วยิ่งตอนนั้นผมไม่ใช่คนออกกำลังกายด้วย ตัวก็ใหญ่พอสมควร หนักเกือบแปดสิบกิโลกรัม ก็ตามประสาคนทำงานกับคอมพิวเตอร์ นอนดึก กินเบียร์ เวลาต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็สองห่อตลอด ในตอนนั้นสุขภาพก็เลยค่อนข้างแย่

แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นตอนปี 2013  เป็นปีที่บอสตันมาราธอนเกิดเหตุลอบวางระเบิดขึ้น จากจุดที่ระเบิดในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน ผมยังยืนอยู่เลย ผมยังมีรูปที่ถ่ายกับจุดนั้นอยู่เลย โชคดีที่ผมเดินออกมากินข้าวก่อน ซึ่งสุดท้ายเหตุการณ์ครั้งนั้นก็มีคนบาดเจ็บหลักร้อยเลย คนเสียชีวิตก็มี เขาเลยจัดงานอีกงานหนึ่งที่ชื่อ ‘Boston Strong Charity Run’ เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อหารายได้เข้าไปช่วยเหลือคนที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์ระเบิด ซึ่งผมสมัครงานนั้นไป 

คือสารภาพตรงนี้เลยว่า แค่อยากได้เสื้อที่เขียนว่า Boston Strong เฉยๆ แล้วก็จะวิ่งแค่ระยะ 4.2 กิโลเมตรเท่านั้น แค่นั้นเอง ไม่ได้รู้สึกว่าจะอยากวิ่งเลยแม้แต่น้อย ขนาดพอวิ่งเสร็จก็ยังคุยกับตัวเองเลยว่า ทำไมมันเหนื่อยขนาดนี้  

การวิ่งครั้งแรกที่งาน Boston Strong Charity Run เปลี่ยนมุมมองต่อการวิ่งไปเลยไหม

มันก็เป็นจุดที่ทำให้เริ่มรู้ตัวว่า ต้องกลับมาออกกำลังกายบ้างแล้ว แค่นั้น แต่ลึกๆ เราก็แอบตั้งเป้าหมายของตัวเองอยู่เหมือนกันว่า อยากจะวิ่งมาราธอนสักครั้งหนึ่งในชีวิต 

แล้วหลังจากนั้นผมก็เริ่มออกกำลังกาย ตอนแรกก็ใช้วิธีว่ายน้ำ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม จนน้ำหนักผมลดจากแปดสิบเหลือหกสิบ คือหายไปยี่สิบกิโลกรัม ช่วงนั้นมีสมัครงานวิ่งห้ากิโลเมตรงานหนึ่งด้วย แต่ก็เหมือนเดิม วิ่งเสร็จแล้วเหนื่อยมาก ก็ยังไม่ได้รู้สึกชอบการวิ่งเท่าไร 

จนวันที่กลับไปทำงานหน้าเส้นบอสตันมาราธอนอีกครั้งตอนปี 2015 จำได้ว่าตอนที่ทำงานอยู่หน้าเส้นชัย ผมเห็นนักวิ่งผู้หญิงคนหนึ่งใส่ขาเทียม แล้ววิ่งเข้าเส้นชัยมา แต่ที่แปลกคือ หลังจากเธอเข้าเส้นชัย ทุกคนต่างดีใจ มีนักข่าวกรูเข้าไปสัมภาษณ์ จนตอนหลังผมได้รู้ว่าเธอคือ รีเบกกา เกรกอรี (Rebekah Gregory)

เธอเป็นนักวิ่งบอสตันมาราธอนในปี 2013 ที่โดนระเบิดในปีนั้น จนต้องถูกตัดขา คุณคิดภาพตาม คนเป็นนักวิ่งที่โดนตัดขา สำหรับผม ผมคิดว่าเขาคงใจสลายน่าดู เหมือนคนเป็นนักเปียโนต้องโดนตัดนิ้ว เหมือนคนเป็นไวโอลินเล่นไวโอลินต้องโดนตัดแขน แต่อีกสองปีต่อมา เธอเขียนจดหมายถึงบอสตันมาราธอนว่า เธอคือหนึ่งในคนที่โดนระเบิดเมื่อปี 2013 ตอนนี้เธอใส่ขาเทียม และเพิ่งหัดเดินได้ประมาณหกเดือน เลยจะขอวิ่งด้วยขาเทียมเป็นระยะห้ากิโลเมตร ซึ่งบอสตันมาราธอนก็ตอบตกลง แล้วกลายเป็นเหตุการณ์ตรงหน้าผม ซึ่งเรื่องนี้เป็นสกู๊ปข่าวใหญ่โตเลย 

ทั้งหมดในวันนั้นมันทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองพอสมควรเลยนะ เมื่อสองปีก่อนที่ผมตั้งเป้าว่าจะวิ่งมาราธอนให้ได้ แต่พอวิ่งไปแค่ห้ากิโลเมตรก็จะยอมแพ้แล้ว แต่กับรีเบกกา ทุกวันนี้เธอขาดสิ่งสำคัญที่สุดของการวิ่งอย่างขาไป วันนี้เธอยังคงวิ่งอยู่เลย 

มันทำให้ผมกลับมามีแรงฮึด วันนั้นผมตั้งเป้าหมายว่า จะวิ่งบอสตันมาราธอนให้ได้ แม้จะรู้ว่าการได้วิ่งต้องวิ่งให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด (Qualify Timing) ที่โหดมาก โดยเฉลี่ยของรุ่นอายุผมคือสามชั่วโมงยี่สิบนาที แต่จนสุดท้ายผมก็ได้ไปวิ่งด้วยวิธีสมัครผ่านองค์กรการกุศล Charity Entry 

ความรู้สึกหลังวิ่งในวันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง 

เจ็บ แต่ก็ภูมิใจ 

ต้องเล่าก่อนว่าก่อนหน้านั้น ผมกลับมาที่ประเทศไทย ได้วิ่งงานมาราธอนมาก่อนหน้าแล้วประมาณสองงาน แล้วอาจเพราะตอนนั้นผมยังไม่รู้จักการวิ่งที่ถูกต้อง ลงเท้าไม่ถูกวิธี ผมเลยมีปัญหากับเข่าซ้าย เจ็บอยู่ตลอด เจ็บถึงขนาดเพื่อนที่เป็นหมอก็เตือนเลยว่า ต้องหยุดวิ่งได้แล้ว แต่ผมไม่ฟัง ผมตั้งเป้าหมายไว้แล้ว ต้องทำให้ได้ 

สุดท้ายงานบอสตันมาราธอน ผลก็คือ วิ่งๆ เดินๆ เอาให้จบก็พอ แล้วก็ทำได้จริง สุดท้ายก็ได้เหรียญ Finisher มาก็เหมือนกับว่ามันจะจบไป 

แล้วจากนั้น งานมาราธอนอื่นๆ ของคุณตามมาได้อย่างไร เพราะดูเหมือนเป้าหมายการพิชิตบอสตันมาราธอนก็สำเร็จแล้ว

จากนั้นปี 2016 ผมก็สมัครอีกงานคือ โฮโนลูลูมาราธอน (Honolulu Marathon) ที่ฮาวาย คือภารกิจของผมมันจบแล้ว ก็ใช่ แต่อีกใจหนึ่งผมก็ยังอยากวิ่งอยู่ แล้วด้วยความที่ตอนนั้นไปเที่ยวฮาวาย แล้วงานโฮโนลูลูมาราธอนก็สามารถสมัครที่หน้างานวิ่งได้ด้วย ก็เลยตัดสินใจลองวิ่งมาราธอนอีกครั้งดู 

การวิ่งครั้งนี้ก็ทำให้ผมมีความรู้สึกตอนวิ่งมาราธอนเปลี่ยนไปเลย เป็นงานที่ทำให้ผมรู้ว่า ไม่ต้องวิ่งตลอด เดินบ้างก็ได้ เดินดูบ้านเมือง สัมผัสบรรยากาศ คุยกับนักวิ่ง หรือคนที่มาให้กำลังใจข้างทาง แล้วด้วยความที่ฮาวาย มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่เยอะ เขาก็จะมาปั้นซูชิแจกนักวิ่งกัน เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกดีต่อการวิ่งมาราธอน

พอวิ่งเสร็จ กลับโรงแรมไปอาบน้ำ พักผ่อน จะออกมาเที่ยวต่อตอนเย็น เชื่อไหมว่างานวิ่งยังไม่จบเลย ด้วยความที่งานนี้ไม่มี Cut Off เขาก็จะรอยันนักวิ่งคนสุดท้ายเข้าเส้นชัย ซึ่งเป็นคุณปู่คนหนึ่ง แล้วพอเขาเข้าเส้นชัย ผู้จัดงานก็มามอบเหรียญให้ จุดพลุปิดงานกันใหญ่โต ตอนนั้นผมรู้สึกว่า โอ้โห เขาใส่ใจกันขนาดนี้เลย 

ก็เลยรู้สึกว่ามาราธอนแต่ละที่มันช่างให้บรรยากาศที่แตกต่างออกไป และเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมจะทำเพจเฟซบุ๊กที่บันทึกการวิ่งมาราธอนรอบโลกของตัวเอง 

อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกสนใจการจะท่องเที่ยวไปสถานที่ต่างๆ รอบโลก ด้วยการลงงานวิ่งมาราธอน

เรื่องความประทับใจของการจัดงานมาราธอนในที่ต่างๆ 

อีกอย่างคือผมได้รู้จักชมรมที่ชื่อ Marathon Globetrotters ที่คนในชมรมมีเป้าหมายคือ อยากพิชิตมาราธอนให้ได้ทุกประเทศในโลก ปัจจุบันมีสมาชิกเจ็ดร้อยคนที่จะคุยกันในแต่ละสัปดาห์ว่า จะไปวิ่งที่ไหนกัน ถ้ารวมตัวกันได้ก็จะเดินทาง เช่าโรงแรม หรือวิ่งไปด้วยกัน เป็นชมรมที่ทำให้ผมได้เจอคนแปลกๆ ที่มีแนวคิดเหมือนกัน และทำให้รู้ว่าความตั้งใจที่อยากจะวิ่งมาราธอนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมันเป็นไปได้นะ 

ความยากของการวิ่งรอบโลกคืออะไร

เรื่องเงินและเวลา แบบที่ทุกคนคิดกันเลย 

แต่ผมจะบอกว่าทุกอย่างมันดูยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้นะ สิ่งสำคัญคือเราต้องหาทางแก้ปัญหา ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ทำเรื่องที่ยากให้มันง่าย อย่างผมก็ไม่ได้บอกว่าตัวเองร่ำรวยอะไร แต่เรามีวิธีการบริหารจัดการทั้งเงินและเวลาเพื่อให้การวิ่งรอบโลกมันเกิดขึ้นได้ 

จนถึงตอนนี้คุณวิ่งไปแล้วทั้งหมดกี่ประเทศ 

ตอนนี้ผมวิ่งไปทั้งหมด 74 มาราธอน ใน 61 ประเทศ ถ้าให้นับประเทศตามสหประชาชาติซึ่งมีทั้งหมด 193 ประเทศ (ไม่รวมนครรัฐวาติกันกับปาเลสไตน์) ผมก็มาได้หนึ่งในสามแล้ว แต่ในชมรมของผม เขานับกัน 249 ประเทศ ที่จะรวมพวกมาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน ประเทศในกลุ่ม UK รวมถึงพวกหมู่เกาะต่างๆ ด้วย 

ตอนนี้ผมจะเหลือประเทศทั้งหมด 188 ประเทศ และตอนนี้ผมอายุ 45 แล้ว มีแผนจะวิ่งไปถึงอายุ 65 ดังนั้น ตอนนี้เวลาเหลืออีกประมาณ 20 ปี กับ 188 ประเทศ ในทุกปีผมจะต้องวิ่งในประเทศใหม่ๆ 10 ประเทศ ซึ่งไม่น่าใช่เรื่องยากอะไร แต่จะไปยากในพวกประเทศท้ายๆ เช่น ซูดาน เยเมน หรือประเทศที่มันอันตรายแบบอัฟกานิสถานอะไรแบบนั้น 

ในบรรดา 61 ประเทศ มีประเทศไหนที่ไปวิ่งแล้วรู้สึกว่า มันแปลก ถ้าไม่ได้มาวิ่งจะไม่รู้เลยว่ามันจะมีประสบการณ์แบบนี้ด้วย

ผมให้เปียงยางมาราธอน (Pyongyang Marathon) ที่ประเทศเกาหลีเหนือ คือมาราธอนนี้เป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้เราได้เห็นประเทศเขาในแบบที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว

อย่างที่รู้กันว่าการจะท่องเที่ยวในประเทศนี้ ต้องผ่านทัวร์ที่มีการคัดกรองโดยรัฐบาลแล้วว่าอยากให้เราดูอะไร เห็นอะไร ต้องถ่ายรูปกับผู้นำ ต้องมีคนคอยดูแลอยู่ตลอด จะเดินว่อกแว่กไปไหนไม่ได้ 

แต่การที่ได้ไปวิ่งเปียงยางมาราธอน มันจะเป็นแค่สี่ชั่วโมงครึ่งที่ไม่มีใครมาควบคุม เราจะได้เที่ยวแบบเกาหลีเหนือแบบโล่งโจ้ง ได้เจอคนเกาหลีเหนือจริงๆ มายืนเชียร์ ปรบมือให้ข้างทาง

มีงานมาราธอนไหนที่คุณรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษบ้าง

อย่างไรก็ให้บอสตันมาราธอน อะไรหลายๆ อย่างของชีวิตเรามันเริ่มที่งานนี้ มันเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองไปแล้ว ตัวผมก็อาศัยอยู่บอสตันเกือบยี่สิบปี อีกทั้งบรรยากาศในงานวิ่งมันก็มีชีวิตชีวามากๆ ผู้คนออกมาเชียร์ข้างทางกันหนาแน่นสุดๆ 

อีกงานที่ประทับใจคือ เอเวอเรสต์มาราธอน (The Everest Marathon) ที่ประเทศเนปาล งานนี้เอาแค่เดินทางไปก็สิบสองวันแล้ว ต้องขึ้นไปที่เบสแคมป์ซึ่งเป็นจุดสตาร์ท แล้วค่อยวิ่งลงมา แล้วตอนวิ่งนี่ก็โคตรเหนื่อย บางจุดระยะไม่ถึงร้อยเมตร แต่มันเป็นทางขึ้นเขาชันๆ เลย ออกซิเจนก็น้อย หายใจก็ไม่สะดวก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์แปลกใหม่ที่ลืมไม่ลง 

สุดท้ายผมให้ ยูกันดามาราธอน (Uganda Marathon) คือผู้จัดเขาเป็นคนอังกฤษ ไปทำค่ายอาสาพัฒนาชนบท ดังนั้น ใครที่จะมาวิ่งงานนี้ คุณต้องมาทำค่ายอาสาด้วยกันก่อน ซึ่งก็มีหลายโครงการทั้งสร้างอาคาร ปลูกผัก หรือใครเป็นหมอก็ไปอยู่อนามัยชุมชน ทำแบบนี้อยู่หกวัน แล้ววันที่เจ็ดคุณถึงจะได้วิ่ง ในช่วงที่วิ่งเราก็จะได้วิ่งไปกับเด็กๆ ที่เราไปทำค่ายด้วยกันตลอดหกวัน 

มีงานมาราธอนไหนที่อยากแนะนำนักวิ่งคนอื่นบ้าง

อิสตันบูลมาราธอน (Istanbul Marathon) ที่ประเทศตุรกี เป็นมาราธอนที่ข้ามทวีปจากเอเชียไปยุโรป ตอนผมวิ่งปี 2019 ค่าสมัครห้าร้อยบาทเอง งานวิ่งก็ได้มาตรฐานระดับ Gold Lebel เสื้อ Finisher ที่ได้เป็นของ Adidas ด้วย แค่นี้ก็คุ้มมากแล้ว 

จนถึงวันนี้ การวิ่งมาราธอนและเพจวิ่งรอบโลกของคุณ นำพาชีวิตไปสู่อะไรบ้าง ตอบโจทย์เป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรกไหม

ผมคิดว่ามันให้เรื่องประสบการณ์และ Community ที่ได้เจอเพื่อนใหม่ ได้มาแบ่งปันข้อมูลกัน 

แล้วก็นำไปสู่เรื่องธุรกิจ ที่ปัจจุบันผมทำทัวร์พานักวิ่งไทยไปวิ่งในงานวิ่งต่างๆ มันมีเรื่องน่าประทับใจและสำคัญกับตัวผมมาก คือการเห็นใครบางคนหันมาวิ่งจากการได้ไปเที่ยวกับทัวร์ของผม 

จำได้ว่าช่วงปี 2022 ที่มีโควิด-19 ตอนนั้นไม่มีใครกล้าทำทัวร์ไปประเทศไอซ์แลนด์เพราะราคาค่อนข้างสูง แต่ตอนนั้นผมยังทำทัวร์พาคนไปวิ่งมาราธอนที่นั่นอยู่ เลยจะมีคนบางกลุ่มที่เขาไม่ใช่นักวิ่ง แต่จะมาสมัครทัวร์กับผมเพราะอยากไปเที่ยวไอซ์แลนด์ แต่ด้วยความที่ทัวร์มีข้อผูกมัดกับทางประเทศปลายทาง ว่าต้องไปวิ่งด้วย แม้เขาจะไม่ใช่นักวิ่ง ก็ต้องวิ่งในทัวร์ของผม

ตอนนั้นมีคุณป้าคนหนึ่งก็เข้ามาในลักษณะนี้ ผมก็แจ้งกับแกว่า ทัวร์ของผมต้องวิ่งนะ แต่อาจจะวิ่งระยะแค่สามกิโลเมตรก็ได้ คุณป้าก็น่ารักนะ บอกว่าลองวิ่งดูก็ได้ จากนั้นผมก็พาไปทำวีซ่า ไปเลือกรองเท้าวิ่ง แล้วพอถึงวันงานวิ่ง แกก็ไปวิ่งจริงๆ 

ภาพที่ผมเห็นวันนั้น และยังจำไม่ลืมเลย คือตอนที่เห็นแกกับเด็กๆ ถ่ายรูปเหรียญ Finisher ที่หน้าเส้นชัย จากนั้นก็มานั่งคุยกันบนรถทัวร์ใหญ่เลย ว่าเจออย่างนั้น เจออย่างนี้ตอนวิ่ง เล่าให้ฟังว่าตอนแรกคิดว่าจะเดินไม่ไหวด้วยซ้ำกับระยะสามกิโลเมตร แต่สุดท้ายก็ทำได้ แล้วยังบอกกับเราอีกว่า หลังจากนี้จะไปเดินที่สวนลุมพินีบ้าง เผื่อครั้งหน้าจะไปวิ่งที่ประเทศอื่นๆ กับเราอีก  

อะไรแบบนี้มันทำงานกับผมมาก มันทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยสิ่งที่เราทำมันยังมีประโยชน์และมีคุณค่าอยู่มากนะ 

เชื่อว่าพอบทความสัมภาษณ์นี้ถูกเผยแพร่ จะต้องมีคนอ่านแล้วแย้งขึ้นมาว่า แค่เดินทางไปเที่ยวก็เหนื่อยอยู่แล้ว ทำไมจะต้องวิ่งไปเที่ยวไปด้วย คุณจะตอบคนเหล่านี้อย่างไร

เหนื่อยหรือไม่เหนื่อย ผมว่ามันอยู่ที่เราชอบและมีความสุขกับสิ่งนั้นขนาดไหน คือถ้าเป็นเป้าหมายของเราจริงๆ มันก็เป็นสิ่งที่คุ้มจะเหนื่อยนะ อย่างผมก็ตั้งเป้าหมายว่าจะเที่ยวแล้วก็วิ่งมาราธอนให้ได้ครบทุกประเทศบนโลก โอเคว่าเป็นเป้าหมายระยะยาว ต้องใช้เวลา ต้องอดทนกับมัน แต่พอมีเป้าหมายชัดเจนแบบนี้ก็ทำให้รู้สึกว่ามีแรงบันดาลใจ อยากจะตั้งใจทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ 

อีกอย่างคือพอได้มาท่องเที่ยวแบบนี้ ทำให้ผมเห็นและสัมผัสในมุมที่แปลกใหม่ ในแบบที่นักท่องเที่ยวทั่วไปจะไม่ได้เห็น เจอนักวิ่งที่เป็นคนพื้นที่ เห็นเมืองในแบบที่ไม่ต้องเป็นจุดไฮไลต์บ้างก็ได้ อะไรแบบนี้มันก็ให้ประสบการณ์ที่ล้ำค่าอยู่เหมือนกันสำหรับผม

Tags: , , , ,