“หากอัลบั้มนี้เป็นหนังสักเรื่องหนึ่ง เนื้อหาคงจะเหมือน Once Upon a Time in Hollywood ของ เควนติน ทารันติโน หนังเรื่องนี้ตรงกับอัลบั้มของเราที่พูดถึงแรงบันดาลใจคล้ายคลึงกัน เราทั้งคู่ต่างพยายามเขียนจดหมายรักให้กับเมือง ไม่ได้เขียนเพราะคิดถึง แต่เขียนเพราะอยากขอบคุณว่าในช่วงเวลาหนึ่ง สถานที่แห่งนี้ทำให้เราเอาตัวรอดและมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปได้”
คำอธิบายของ ณภัทร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ต่อ ร้อยหมื่นพัน (Thousands) อัลบั้มล่าสุดที่จะพาผู้ฟังย้อนกลับไปสำรวจกรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ซึ่งหล่อหลอมตัวตนของเขาให้กลายเป็นชายวัยกลางคนที่เข้าใจคำว่า ‘ชีวิต’ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เขาหวังว่าผลงานชุดนี้จะช่วยให้ผู้ฟังทุกคนเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวที่ได้บอกเล่า ช่วยปรับอารมณ์ สร้างบรรยากาศในคืนวันจันทร์อันแสนวุ่นวายให้สงบและผ่อนคลาย จนหลับฝันดีได้ในที่สุด
เป็นเวลาเกือบ 7 ปีที่คุณไม่มีความเคลื่อนไหวในฐานะศิลปินเลย มันเกิดอะไรขึ้น การปล่อยอัลบั้มครั้งนี้หมายถึงการกลับมาเดินบนเส้นทางดนตรีอีกครั้งใช่หรือไม่
จริงๆ ไม่มีอะไรเลย เราแค่ย้ายมาอยู่ที่อเมริกา ย้ายมาทำกิจการครอบครัวหลายปีแล้ว ตอนนี้ก็ทำงานประจำในบริษัทโฆษณาเจ้าหนึ่งอยู่ ส่วนเวลาว่างเราจะเป็นฟรีแลนซ์รับอัดเสียงในกองถ่ายหนัง เช่น เวลามีกองถ่ายที่ไทยยกโขยงมาถ่ายกันที่นี่ เราก็ไปช่วยเขา
ส่วนเรื่องดนตรีก็ไม่ได้ทิ้งนะ ที่ผ่านมาก็ยังคงเล่น เขียน แกะเพลงอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่ไม่ได้ออกไปแสดงที่ไหนเลย ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับความเป็นนักดนตรีคือการเขียนเพลงและเล่นคนเดียวอยู่ที่บ้านมากกว่า คล้ายกับว่าจะเป็นนักเขียนเพลงมากกว่านักดนตรี ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะอยากออกไปแสดงที่ไหนเท่าไหร่
ช่วงกลับไทยเราก็เคยมีโอกาสได้เล่นให้แฟนคลับฟังเหมือนกัน ช่วงนั้นแหละ ที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเองไม่ถนัดอะไรแบบนี้เลย มันตื่นเต้น กดดัน เครียดไปหมด ก็เลยเข้าใจว่าตัวเองเหมาะกับการเขียนเพลงทำเพลงมากกว่า
เพราะฉะนั้นช่วงที่ผ่านมาคุณถึงมีคลังเพลงที่เขียนเก็บไว้ประมาณหนึ่งเลยใช่ไหม
จะบอกว่าเป็นเพลงก็ไม่ได้ มันเป็นกลุ่มก้อนที่เราร่างขึ้นเอาไว้ลอยๆ และยังไม่เสร็จเสียทีเดียว การที่จะออกมาเป็นเพลงส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ต้องหยิบพวกนั้นมาเขียนเพิ่ม อัดดนตรีต่อจากเมโลดีในหัวนิดหน่อยถึงจะเสร็จ
ส่วนถ้าเป็นอัลบั้ม มันจะเป็นเหมือนช่วงสอบปลายภาคของการเขียนเพลง คือในช่วงที่มีกลุ่มก้อนแบบนี้เยอะๆ มันจะเห็นความเป็นหมวดหมู่อย่างหนึ่งอยู่ ถ้าช่วงไหนเราอยากพูดเรื่องอะไรก็จะหยิบเนื้อหาในหมวดนั้นมาทำเป็นอัลบั้มจริงๆ จังๆ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในจุดที่รู้สึกว่า ถ้าไม่ทำตอนนี้ หลังจากนั้นเราจะไม่อินแล้ว สุดท้ายก็เลยทำเลย รีบทำ รีบเขียน ทำให้เสร็จให้มันจบ ไม่อย่างนั้นก็จะมีเนื้อเพลงเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่จบสักที จนสิ่งที่เราอยากพูดมันช้ำ มันฟุ้งไปหมด เราต้องจับมาตีกรอบ เล่าไอเดียที่สดที่สุดให้ได้
สำหรับคุณการเขียนเพลงต้องแค่ไหนถึงจะเรียกว่าสมบูรณ์ ไม่ต้องไปแก้ให้ช้ำอีกต่อไปแล้ว
มันก็แล้วแต่ช่วง อย่างอัลบั้มที่ 2 ผลไม้ เป็นช่วงที่เราเพิ่งรู้จักเทคโนโลยีทางดนตรี ช่วงนั้นความสมบูรณ์ของเพลงก็จะขึ้นอยู่กับการค้นพบซาวด์ใหม่ๆ ที่เหมาะกับเนื้อเพลงเรา แต่ ร้อยหมื่นพัน อัลบั้มล่าสุดที่เราคุยกันวันนี้คือ ทำมาอย่างไร ทุกคนต้องได้ฟังใกล้เคียงแบบนั้นที่สุด เขียนเสร็จก็เข้าห้องอัดเลย
ในอัลบั้ม ร้อยหมื่นพัน คุณใช้เวลาแต่งเพลงไหนเร็วที่สุด
น่าจะเพลง มนุษย์กรุงเทพฯ ใช้เวลา 15 นาทีเสร็จ เป็นสิ่งที่ทุกคนได้ฟังเลย เพลงนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำอัลบั้มเลยนะ คือเพลงมันไม่ได้เกิดจากมานั่งคิดว่าจะเล่าอะไรดี แต่มันมีวัตถุดิบเรื่องนี้อยู่ในหัวมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เพลง มนุษย์กรุงเทพฯ มันเริ่มจากตัวเราที่อยู่อเมริกาเกือบ 10 ปี แล้วไม่ค่อยได้กลับไปกรุงเทพฯ เลย พอได้กลับไปหนหนึ่ง ก็จะตกใจว่าทำไมมันเปลี่ยนไปขนาดนี้ เวลาไปย้อนรอยดูสถานที่ที่เคยอยู่ เคยกิน เคยเล่น มุมหนึ่งก็ประทับใจ ว่า โห มันพัฒนา มันเปลี่ยนไปหมดเลยเหรอ แต่มุมหนึ่งก็ใจหายเพราะความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสถานที่ในประเทศไทยกลายเป็นความทรงจำไปแล้ว
แล้วพอได้เมโลดีที่เหมาะ ความรู้สึกตรงนี้ก็ไหลออกมาเอง โดยไม่ต้องมานั่งประดิษฐ์อะไร เราก็ใช้ชุดคำที่เคยแอบเขียนเอาไว้ก่อน เช่น ไปทำบุญที่วัดบางไผ่ ดูศิลปะตรงวงเวียน 22 กรกฎา ก็เอาพวกนั้นมาดึงหมุดต่อกันเป็นเส้นเรื่อง แป๊บเดียวเท่านั้นเสร็จ (ยิ้ม)
แล้วคอนเซ็ปต์ของอัลบั้ม ร้อยหมื่นพัน คุณต้องการพูดถึงอะไร
จริงๆ อัลบั้มนี้ไม่ได้เริ่มจากการที่อยากจะเล่าหรือพูดถึงอะไร แต่มันเริ่มจากวิธีเขียนเพลงแบบ ‘เล่าเรื่องผ่านเนื้อเพลง’ ก่อน ซึ่งเรารู้สึกว่าพักหลังไม่ค่อยเจอวิธีทำเพลงแบบนี้ในวงการดนตรีเมืองไทย ประกอบกับช่วงนี้เราติดรายการวิทยุที่ให้คนโทรศัพท์มาเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ ก็เลยอยากเอามาต่อยอดเป็นเพลง
ส่วนเนื้อหาใน ร้อยหมื่นพัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา เป็นเรื่องที่เรามีสิทธิ์จะเล่าได้ ซึ่งเราเลือกชีวิตของตัวเองในกรุงเทพฯ มาเป็นธีมหลัก เหมือนเราโทรศัพท์มารายการวิทยุว่า กรุงเทพฯ ช่วงที่เราอยู่เป็นอย่างไร ที่ตรงนั้นเคยเป็นอะไร เราชอบทำอะไรตอนอยู่กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ สมัยที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตตอนนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องไปยืนรอที่แผงขายเทปดนตรีทุกวันเสาร์ มันเป็นเรื่องส่วนตัวที่มีแค่เราเท่านั้นที่เล่าได้อย่างลึกซึ้ง จึงอยากพูดเรื่องนี้ของตัวเอง
หากตีความอัลบั้มเป็นประโยคสักประโยคหนึ่ง ร้อยหมื่นพัน จะบอกอะไรกับคนฟัง
เมื่อก่อนเราเป็นคนที่อยากมาอยู่ต่างประเทศ อยากทำตัวเดิ้นๆ (โมเดิร์น) มาตลอด แต่พอได้มาอยู่จริงๆ ก็ค้นพบว่าต่างประเทศไม่ได้ดีขนาดนั้น มันก็มีข้อเสียที่แตกต่างกันไปในแต่ละที่ ขณะเดียวกัน บางช่วงที่กลับไทยเรามีความสุขมากเลย รู้สึกได้ถึงการกลับบ้าน คิดว่ามันคงเป็นความรู้สึกประมาณนี้มากกว่าที่อยากบอกเล่า
เวลาพูดถึงคำว่า ‘ประเทศไทย’ คุณนึกถึงอะไร
คิดถึงเรือกับแม่น้ำ คิดถึงความอ้อยอิ่งของเมืองไทย ต่างจากคนในอเมริกาที่มักจะจ้ำ จะทำอะไรรวดเร็วอยู่เสมอ แต่ที่ไทยเราจะรู้สึกถึงวิถีของชีวิตที่มันมีจังหวะ มีขนบของมัน เวลาเห็นคนตื่นเช้ามาใส่บาตร ก่อนไปนั่งจิบกาแฟกันเป็นชั่วโมง เรื่องแบบนี้ทำให้เราประทับใจอยู่เสมอ
ในอัลบั้มนี้ทำไมถึงกลับมาเป็นดนตรีโฟล์กเหมือนอัลบั้ม Napat Snidvongs (2014) ไม่ได้มีการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ เหมือนอัลบั้ม ผลไม้ (2005) อีกแล้ว
ยุคสมัยที่นักดนตรีคนหนึ่งสามารถจบเพลงเองได้เพียงลำพัง ทั้งอัดกลอง อัดกีตาร์ อัดเบส ร้องเองอีกต่างหาก มุมหนึ่งมันก็ดีนะที่ทำให้นักดนตรีทำงานง่ายขึ้น แต่มุมมองของเราคิดว่าแบบนั้นไม่ใช่วิธีทำงานของตัวเองสักเท่าไร
สำหรับเรา วงดนตรีมันต้องเป็นวงดนตรี มันเป็นเรื่องระหว่างคน 3-5 คน ที่พยายามสื่อสารกันระหว่างเครื่องดนตรีและโน้ต มันจะมีเอกลักษณ์ มีน้ำเสียง มีบุคลิกที่แตกต่างกันในดนตรีแต่ละชิ้น ซึ่งเราเคารพเรื่องนี้มาก อัลบั้มนี้จึงพยายามทำทุกอย่างให้มันลีนที่สุด จนสามารถเล่นคนเดียวในเวลาอันสั้นได้
สุดท้ายมันเลยเป็นผลงานที่ไม่ดูพาสเจอไรซ์เท่าไหร่ ดิบๆ หน่อย แต่มุมมองของเราคิดว่าเป็นการสื่อสารผ่านเสียงของตัวเองที่จริงใจดี
เห็นว่าบางเพลงก็ยังได้ร่วมงานกับเพื่อนๆ ค่าย SO::ON DRY FLOWER ซึ่งยุคหนึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกดนตรีนอกกระแส คุณคิดว่าคนกลุ่มนี้ได้วางแนวทางอะไรเอาไว้ให้กับวงการดนตรีเมืองไทยบ้าง
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ คำว่า ‘เพื่อนร่วมวงการดนตรี’ เราช่วยกันทำ ช่วยกันดู ช่วยกันสนับสนุน สมัยก่อนใครทำอัลบั้มแล้วไม่มีเครื่องดนตรี ก็ให้ยืม มีเล่นคอนเสิร์ตที่ไหนก็ช่วยกันดู ช่วยกันผลักดัน แน่นอนว่าคำว่าเพื่อนรวมไปถึงคนดูด้วยเช่นกัน มันเป็นความสัมพันธ์ที่ช่วงหนึ่งมันหายไปนะ เหมือนนักดนตรีกับคนดูมันผ่านตัวกลางบางอย่าง อาจจะเป็นค่ายเพลงหรืออะไรก็ตามแต่ นักดนตรีกับคนดูมันเหมือนมีเส้นแบ่งกันชัดเจนเกินไป แต่ยุคนั้นแฟนเพลงคือแทบจะอยู่กันเหมือนเพื่อน รู้จักกันเยอะ สนุกดี
อีกเรื่องที่อยากพูดถึงคือ วิธีคิดแบบ Local to Universal เราเริ่มจากทำเพลงแล้วให้เพื่อนด้วยกันเองฟัง แล้วให้คนข้างนอกเห็นว่า พวกเรามีของจนต้องมาขอไปเผยแพร่ในต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าเราพยายามจะทำเพลงป้อนตลาดระดับโลกก่อน แล้วค่อยให้เป็นผลงานที่สะท้อนกลับมาว่าสร้างโดยคนไทย แบบความสำเร็จของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ซึ่งมันก็เป็นมุมมองที่แตกต่างกันจากตอนนั้น
คุณมีนักดนตรี นักเขียนเพลง ที่ชื่นชอบบ้างไหม
บอยด์ โกสิยพงษ์ ตอบแบบไม่ต้องคิดเลย หลายคนมักมองเขาเป็นเจ้าพ่อเพลงรัก แต่ถ้าติดตามงานเขามาตั้งแต่แรก ช่วงหนึ่งจะมีงานทดลองอยู่เยอะมาก เช่น เพลง U.H.F ของ มิสเตอร์ซี (สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์) ที่เขาจะเขียนเพลงเหมือนไดอารี แล้วจะตัดเอาบางท่อนบางคำเท่านั้นมาต่อกัน ถ้าอ่านเฉยๆ จะไม่รู้เรื่องเลย แต่ที่ตลกคือพอเป็นเนื้อเพลง มีดนตรีใส่เข้าไป ดันเข้าใจ และรู้สึกถึงอารมณ์เฉยเลย
เราเลยสนใจในตัวเขาทันที ในมุมหนึ่ง เรารู้จักเขาว่าเป็นนักเขียนเพลงที่ยึดโยงอยู่ในกรอบผ่านเพลงรักที่อย่างไรก็ขายได้ แต่มุมหนึ่งเขาก็ได้ทำลายกรอบทางดนตรีด้วยเช่นกัน แบบนี้เราจะไม่เรียกว่าเก่งได้เหรอ (หัวเราะ)
ส่วนวงดนตรีที่ชื่นชอบก็มีอยู่บ้าง เช่น วงครับ วงพราว ที่เรารู้สึกว่าเขานำดนตรีในยุคนั้นมาใช้กับเนื้อเพลงที่นำเสนอความเป็นคนได้หลากหลายแง่มุมดี อย่างเช่นเพลง เหรียญสลึง ของวงพราว ก็ถ่ายทอดชีวิตของคนเมืองกรุงได้ชัดเจน หรือเพลง มานี ของโมเดิร์นด็อก ก็เอาแบบเรียนในไทยมาผสมกับเพลงกรันจ์ได้เท่มากๆ
เวลาฟังเพลง คุณดูจะสนใจเนื้อเพลงมากเป็นพิเศษ
เวลาฟังเพลง เราจะอยากรู้จักว่าคนนี้เป็นใคร คิดเห็นต่อเรื่องนี้แบบไหน เราจึงชอบงานประเภท Demo งานที่ไม่ยังไม่ถูกปรุงแต่งให้สมบูรณ์ เพราะมันไม่ถูกความคิดคนอื่นมาเจือปน ยังไม่ถูกคอนเซ็ปต์ของค่ายมาตีกรอบ แล้วตัวงานมันจะดูจริงใจกับเรามากๆ เนื้อเพลงนี้เหมือนกับว่าเรากำลังแอบอ่านจดหมายของเขาที่เขียนถึงใครบางคนอยู่ มันรู้สึกส่วนตัวและเห็นตัวตนกว่ามาก
คุณเคยบอกว่าตัวเองเป็นแฟนคลับของ ฟิโอบี บริดเจอร์ (Phoebe Bridgers) ซึ่งเป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ไม่กี่คนที่เคยพูดถึง อยากรู้ว่ามุมมองของคุณนักดนตรีคนนี้มีความพิเศษอย่างไร
ฟิโอบี บริดเจอร์ น่าสนใจตรงที่เธอทำให้เรานึกถึงศิลปินในอดีตที่ชื่อ เอลเลียต สมิธ (Elliott Smith) วิธีการเขียนเพลง การร้อง มันเหมือนเธอเอาเพลงของเอลเลียตมาทำใหม่เป็นเวอร์ชันผู้หญิง ตอนเราฟังก็รู้สึกดีใจแปลกๆ นะ ที่เห็นเพลงจากเจเนอเรชันหนึ่งถูกส่งต่อมาอีกเจเนอเรชันหนึ่งได้ชัดเจนขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็นับถือในความยิ่งใหญ่ของเอลเลียตที่สร้างแรงบันดาลใจได้ แล้วก็ตัวฟิโอบีเองก็เป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ที่เก่งกาจน่านับถืออีกคนหนึ่งเช่นกัน
วิธีฟังเพลงแบบนี้ ก็เป็นอีกแบบที่เราสนใจ คือจะฟังเพื่อลากจุดไปยังประวัติศาสตร์ดนตรีในอดีต ว่าศิลปินคนนี้ตอนเด็กๆ ฟังวงอะไร มีแรงบันดาลใจมาจากไหน เชื่อมโยงให้เห็นว่าเขาเป็นคนอย่างไร โตมากับรสนิยมแบบไหน ถือเป็นการสำรวจความคิดของนักดนตรีที่น่าสนใจดีสำหรับเรา
แล้วตัวคุณเองมีศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจบ้างไหม
คิดว่าคงเป็นวงเฉลียงที่เราได้รับแรงบันดาลใจมาโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะวงนี้จะมีวิธีการเขียนเพลงที่หลากแนว หลายประเด็น พี่ประภาส ชลศรานนท์ ก็เป็นคนอีกคนที่เรานับถือในเรื่องนี้ เพลง เที่ยวละไม ที่มีท่อน “เอาตูดแช่น้ำแล้วเดินต่อไป” อะไรแบบนี้ มันฟังแล้ว เออ มันรู้สึกถึงอารมณ์ดีว่ะ คนจริงๆ มันไม่ทำแบบนั้นหรอก แต่ฟังประโยคนี้แล้วรู้สึกว่าหัวใจมันซู่ซ่าอย่างบอกไม่ถูก
หรือท่อน “โลกไม่มายาจะบ้าก็ในเมือง เรียกรุ่งเรืองก็คงจะไม่ โลกในความจริงคือสิ่งอยู่ในใจ นั่นแหละไซร้วัดความรุ่งเรือง” ประโยคนี้พูดถึงความศิวิไลซ์ของชีวิตที่มันอยู่ในใจไม่ใช่บ้านเมือง เขาก็มีวิธีออกแบบเนื้อเพลงที่น่าสนใจมากๆ
หากจะให้แนะนำตัวเองกับคนที่เพิ่งรู้จัก เขาควรฟังเพลงไหนของคุณดี
เพลงแรกคือ ผลไม้ เราจำได้ว่าตอนเขียนจบแล้วรู้สึกภูมิใจ มันเป็นเพลงที่เราเชื่อว่าอีกกี่ปีผ่านไป เรื่องราวที่พูดในเพลงมันยังคงจริงและเราจะเห็นด้วยอยู่เสมอ ดังนั้นหากอยากรู้จักตัวเรา เนื้อเพลงในนั้นจะช่วยแนะนำพวกคุณได้
อีกเพลงคือ 30 ที่พูดถึงความคิดความอ่านของเราในปัจจุบัน เป็นเพลงที่คนฟังจะได้รู้จักและเข้าใจชีวิตของชายวัยกลางคนที่หลุดจากสภาวะกดดันตัวเองไปแล้ว ก่อนหน้านี้ช่วงวัยรุ่นมันจะเป็นยุคที่เราต้องคำถามและตัดสินทุกสิ่ง ทำไมสิ่งนั้นไม่เป็นอย่างนี้ ทำไมสิ่งนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมเราถึงไปไม่ถึงตรงนั้น ทำไมเราถึงไม่ได้ตรงนี้ ทำไม ทำไม ทำไม เต็มไปหมด
แต่พอถึงวัยสามสิบเราอยู่ในสภาวะยอมรับมากขึ้น ทั้งกับตัวเองที่ไม่ต้องยิ่งใหญ่คับโลกก็ได้ ขอแค่มีความสุขในแต่ละวันก็พอ หรือมุมมองของคนอื่นที่ไม่ต้องเห็นเขาผิดหรือถูกเสียทีเดียว มองเขาเป็นมนุษย์มากขึ้น บางเรื่องเขาก็ดี บางเรื่องเขาก็บ้ง ก็ว่ากันไปตามเรื่องตามราว
พอใช้ชีวิตแบบนี้ มันรีแลกซ์ขึ้นนะ เจอคนก็ไม่ต้องอ้ำอึ้ง คุยกับใครก็ได้ ไม่มีอะไรติดใจกัน ในแต่ละวันก็ไม่ต้องโบยตีตัวเองเท่าเมื่อก่อน ไม่ต้องเก่งอยู่ตลอดเวลา ปล่อยให้ตัวเองได้พักบ้าง เลิกดูหนังพี่เจ้ยตลอดเวลา แล้วมานั่งดูหนังอย่าง Mortal Kombat คลายเครียดบ้างก็ดี (หัวเราะ)
หากตีความอัลบั้มนี้เป็นหนังสักเรื่องหนึ่งเรื่อง เนื้อหาจะเป็นแบบไหน
คิดว่าคงเป็น Once Upon a Time in Hollywood (2019) เพราะมันมีหลายอย่างที่ตรงกับเราเลย
เวลาดูหนัง เราจะดูเป็นประวัติศาสตร์ ดูตั้งแต่เรื่องแรกยันเรื่องสุดท้ายว่าผู้กำกับคนนี้เขาทำอะไรมาบ้าง ซึ่งหนังเรื่องนี้สิ่งที่เราประทับใจคือ มันเล่าผ่านมุมมองของคนที่กำลังจะหมดค่าอยู่แล้ว แล้วตัวเขาเองก็พยายามหาช่องทางที่จะเป็นบทสรุปของตัวละคร รวมไปถึง เควนติน ทารันติโน (Quentin Tarantino) ผู้กำกับภาพยนตร์เอง มันจึงพิเศษตรงที่จะได้เห็นมุมมองในบทสุดท้ายของเขาว่าจะเป็นอย่างไร เลือกใช้ประเด็นไหนมาเล่า
สิ่งที่เขาเลือกอย่างฮอลลีวูดก็ตรงกับอัลบั้มของเราที่พูดถึงแรงบันดาลใจที่คล้ายคลึงกัน เราทั้งคู่ต่างพยายามเขียนจดหมายรักให้กับเมือง ซึ่งไม่ได้เขียนเพราะคิดถึง แต่เขียนเพราะอยากขอบคุณว่าในช่วงเวลาหนึ่ง กรุงเทพฯ ทำให้เราเอาตัวรอด มีแรงบันดาลใจ และมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปได้
หากต้องโทรศัพท์ไปรายการวิทยุเพื่อขอเพลง มนุษย์กรุงเทพฯ เวลาดีเจถามว่าจะมอบเพลงนี้ให้ใคร คุณจะตอบว่าอย่างไร
พ่อแม่ เพื่อนฝูง ครอบครัว พวกเขาเหล่านี้คือคนที่เรานึกถึงเวลาเขียนเพลง อย่างที่บอกว่าเราเขียนเพลงนี้ด้วยความรู้สึกอยากขอบคุณ ซึ่งนอกจากเมืองกรุงเทพฯ แล้ว คนกรุงเทพฯ เหล่านี้ก็เหมือนกัน ตอนเด็กๆ ถ้าไม่มีเพื่อนพาเที่ยว พานั่งรถเมล์ ก็คงไปไหนไม่เป็น ตอนทำงานไม่มีพี่ที่ทำงานพาไปเที่ยว ก็คงไม่รู้จักร้านเหล้าหรือบาร์ที่มีดนตรีดีๆ หรืออย่างคนรู้จักที่เลี้ยงเรามา ในวันที่เขาไม่อยู่แล้ว เวลาเดินผ่านร้านการ์ตูนที่เขาชอบพาไปซื้อ ก็ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงเขาในตอนนั้น
มันเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นและอยากจดจำเอาไว้นานๆ
ภาพ: นิษฐกานต์ แก้วปิยสวัสดิ์
Tags: มนุษย์กรุงเทพฯ, ณภัทร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, Napat Snidvongs, ร้อยหมื่นพัน