ครึกครื้น แต่ไม่อึกทึกครึกโครม

คือนิยามแรกเมื่อเข้ามาที่ร้าน Mischa Cheap ร้านใหญ่ในซอยเล็กๆ แห่งนี้เหมือนเป็นอีกมัลติเวิร์สของถนนข้าวสาร ทั้งการตกแต่งร้านอย่างเข้าใจทฤษฎีสีและแสงไฟ ทำให้ในร้านไม่มืดสลัวจนน่ากลัว แต่ไม่สว่างโร่จนแสบตา และเพลงที่เปิดไม่ดังจนต้องตะโกนคุย

ที่สะดุดตาไม่แพ้ความเท่ของบาร์ คือพนักงานที่สวมเสื้อกาวน์สีเหลือง หนึ่งในนั้นคือ โน้ต-พงษ์สรวง ชุบ หรืออีกนามที่ขาปาร์ตี้รู้จักกันว่า ‘พี่โน้ต DUDESWEET’ เจ้าของร้านผู้คร่ำหวอดในวงการปาร์ตี้มามากกว่า 20 ปี

อันที่จริงนี่คือภาค 2 ของร้าน Mischa Cheap เดิมทีร้านเป็นบาร์ขนาดเล็กถึงเล็กมากที่ย่านอารีย์ ด้วยความที่ช่วงนั้นยังเป็นแค่ป็อปอัปบาร์ (Pop-up Bar) จึงมีลูกค้าแซวว่า “นี่มันบาร์มิจฉาชีพชัดๆ” จึงกลายเป็นที่มาของชื่อร้านภาษาไทยว่า ‘มิจฉาชีพ’ เมื่อมีคนรู้จักร้านมากขึ้นทำให้ค่ำคืนแห่งการสังสรรค์มีลูกค้าล้นถนนที่อารีย์ โน้ตจึงตัดสินใจขยับขยายย้ายร้านมาที่ย่านข้าวสาร

เต้นรำบนสวรรค์ ดื่มด่ำในนรก 

Mischa Cheap เป็นร้านที่มีสไตล์โดดเด่น แตกต่างจากร้านเหล้าร้านอื่นในถนนข้าวสารอย่างสิ้นเชิง ถือเป็นร้านที่มาเพิ่มเฉดสีใหม่ให้ถนนสายเริงรมย์แห่งนี้ ด้วยความที่ร้านอยู่ในซอยเล็กของถนนข้าวสารอีกที ปากซอยร้านจึงมักมีป้ายเขียนประโยคเชื้อเชิญ 

อย่างเช่น ‘XI JINPING IS DANCING INSIDE’ 

หรือว่าจะเป็น ‘THAI LOVE IS REAL, SOULMATE INSIDE.’

ดึงดูดผู้คนให้แวะเวียนเข้ามาในซอยเพื่อดูว่าในร้านมันมีอะไร มันจะเก๋เท่แค่ไหนกันเชียว

แม้จะเป็นร้านเหล้า แต่การออกแบบร้านได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมทางพุทธศาสนาอย่าง ไตรภูมิพระร่วง โดยจำลองเป็นเมืองที่แยกฝั่งนรกกับฝั่งสวรรค์ มีร้านหนังสือและร้านขายของเล่นสำหรับผู้ใหญ่ 

แต่โปรดอย่าเข้าใจผิดว่า Mischa Cheap ขายหนังสือและเซ็กซ์ทอย เพราะนี่เป็นเพียงร้านค้าจำลองที่สร้างขึ้นเพียงเท่านั้น

“ในเมื่อเมืองจริงมันทำไม่ได้ เราก็สร้างเมืองจำลองขึ้นมา” โน้ตกล่าว

ทุกองค์ประกอบของร้านทำให้เกิดความสงสัย อย่างแรกคือทำไมถึงเลือกเปิดร้านที่ย่านข้าวสาร แหล่งท่องราตรีที่คนสนใจการกินเหล้ามากกว่าชื่นชมความสวยงามของร้านเหล้า

โน้ตตอบคำถามนี้อย่างเรียบง่ายว่า คือความคิดถึงและความผูกพัน

“เรามองข้าวสารเป็นเหมือนบ้าน เราเรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สมัยเรียนก็เที่ยวกินดื่มที่ข้าวสาร” โน้ตเสริม

Community เปิดกว้างในการแสดงตัวตน

เพลง Caravan of Love – The Housemartins คือเพลงที่ยึดถือเป็นคอนเซปต์ของการทำบาร์ Mischa Cheap

“Every woman, every man. Join the caravan of love.

Everybody, take a stand. Join the caravan of love.”

คือเนื้อเพลงที่พงษ์สรวงฮัมออกมาหลังตอบคำถาม

กลุ่มลูกค้าของ Mischa Cheap คือใครก็ตามที่อยากเข้ามาร่วมคาราวาน

โน้ตเล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้เคยเปิดบาร์ที่ซอยนานาจนมาถึงร้าน Mischa Cheap ที่ย่านอารีย์ พอมองย้อนกลับไปก็มีลูกค้าหลายคนที่กลายมาเป็นเพื่อน และหลายคนก็ได้เพื่อนใหม่จากบาร์ หรือสมัยจัดปาร์ตี้ DUDESWEET มีคนที่รู้จักกันในงานปาร์ตี้และแต่งงานกันแล้วก็มี

“พวกลูสเซอร์หน่อยๆ มารวมตัวกัน หรือพวกเด็กจบใหม่ ตกงาน ไม่ค่อยมีเงิน แต่ก็อยากกินเหล้า สุดท้ายทุกคนมันก็เข้าใจกัน กลายเป็นเพื่อนกัน” พงษ์สรวงเล่า

ความพิเศษของ Mischa Cheap คือร้านที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นบาร์ที่เอื้อให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และสันโดษสำหรับคนที่อยากมาดื่มคนเดียว ฟังดูย้อนแย้ง แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ แสงที่เพียงพอให้มองเห็นหน้าคนบนฟลอร์ เสียงเพลงที่ไม่ดังจนคุยกันไม่ได้ยิน บรรยากาศของร้านเหมาะเจาะให้สามารถคุยกับใครก็ได้ เต้นกับใครก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากใครเกิดอารมณ์อยากนั่งจิบค็อกเทลเงียบๆ คนเดียวที่บาร์ มองดูคนโยกย้ายใต้แสงไฟดิสโก้ก็สามารถทำได้ และแน่นอนว่าคุณจะไม่ใช่ลูกค้าผู้แปลกแยกสำหรับร้านแห่งนี้

เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีที่ Mischa Cheap เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เหล่านักปาร์ตี้ทุกเพศ ปาร์ตี้มากมายถูกจัดขึ้นที่นี่ทุกสัปดาห์ ปาร์ตี้เลื่องชื่อของร้าน คือปาร์ตี้สำหรับ LGBTQIA+ ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

แม้ว่า Pride Month จะผ่านไปแล้ว แต่ทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนยังมีการจัดปาร์ตี้สำหรับ LGBTQIA+ หรือปาร์ตี้ Bangkok Darlingz ที่ โน้ตตั้งใจคิดธีมขึ้นมาและจัดขึ้นทุกเดือน ทำให้ร้านเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกทางเพศอย่างปลอดภัย เพื่อให้ทุกเพศได้มาปาร์ตี้ร่วมกัน ซึ่งจะมีโชว์ของแดร็กควีนและการแสดงอื่นๆ ของนางโชว์ที่แตกต่างออกไปในแต่ละเดือน

สำหรับนางโชว์ไม่ได้มีเพียงแค่มืออาชีพ แต่ร้านยังโอบรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนางโชว์ให้เข้ามาลองแสดงในงานปาร์ตี้ โดยมีผู้ชมยืนดูอยู่จริงๆ อีกด้วย

โน้ตบอกว่า บางทีนางโชว์หน้าใหม่ ก็ไม่กล้าไปขอโชว์เวทีใหญ่ หรือร้านสำหรับนางโชว์โดยเฉพาะ จึงเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้หน้าใหม่ได้เข้ามาแสดงในปาร์ตี้

นอกจากนางโชว์หน้าใหม่ ก็ยังเปิดพื้นที่ให้ดีเจหน้าใหม่ได้ลองเปิดเพลงที่ร้านในบางค่ำคืน เพื่อสั่งสมประสบการณ์อีกด้วย

เมื่อโน้ตคือนักจัดปาร์ตี้ตัวยง ธีมปาร์ตี้ของ Mischa Cheap ในแต่ละค่ำคืนจึงจัดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความหลากหลาย ทั้งความหลากหลายทางเพศ และความหลากหลายในรสนิยมการฟังดนตรี อย่างที่ร้านเคยจัดปาร์ตี้เพลงลูกทุ่ง หมอลำ หรือจะเป็นค่ำคืนของนักร้องในตำนานอย่าง David Bowie หรือปาร์ตี้ Britney Spear ก็เคยจัดมาแล้ว ปาร์ตี้ทุกแนวไม่เกี่ยงรสนิยม วันดีคืนดีก็เป็นค่ำคืนของ Passion Karaoke ที่เปิดพื้นที่ให้ลูกค้ามาปาร์ตี้ร้องคาราโอเกะ

ปาร์ตี้คือการสื่อสาร นี่คือสิ่งที่โน้ต-พงษ์สรวงเชื่อ

และพรสวรรค์ของเขาคงเป็นการสื่อสาร เพราะไม่ว่าจะจัดปาร์ตี้อะไร คนก็เข้าใจสารที่สื่อออกไปโดยอัตโนมัติ และมารวมตัวกันที่ร้านแห่งนี้

และปาร์ตี้ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือปาร์ตี้ธีมการเมือง ตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่มีนักการเมืองดังอย่าง ลีน่าจัง-ลีนา จังจรรยา มาร่วมแจม และช่วงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ร้านได้จำลองการเลือกตั้งให้คนเข้ามากากบาทเลือกนายกฯ ในดวงใจ พร้อมกับนับผลคะแนนอีกด้วย

โน้ต-พงษ์สรวงขยายความถึงเหตุผลที่จัดปาร์ตี้ธีมการเมือง เพราะเชื่อว่ามันต้องมีหลายคนที่คิดเหมือนกัน และมารวมตัวกันเพื่อพูดคุยเรื่องเดียวกัน ได้มาปลดปล่อยสิ่งที่มันอัดอั้น

“แต่ปาร์ตี้เป็นสถานที่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สุดแล้ว ดีเจคือเผด็จการ เป็นคนควบคุมทุกคนในปาร์ตี้ด้วยเพลง” พงษ์สรวงหัวเราะ

ย้อนมองปาร์ตี้ของ DUDESWEET ในยุค Y2K

กระแส Y2K และแฟชั่นช่วงยุค 2000s วนกลับมาอีกครั้ง ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมของเด็กวัยรุ่น และแกดเจ็ตในยุคนั้นก็กลายเป็นแรร์ไอเท็มที่วัยรุ่นยุคนี้อยากลองใช้

ในฐานะที่ โน้ต-พงษ์สรวงจัดปาร์ตี้มาตั้งแต่สมัย DUDESWEET เราสงสัยว่าเขารู้สึกอย่างไรที่เห็นคนในปาร์ตี้ทุกวันนี้แต่งตัวด้วยแฟชั่นเดียวกับ 20 ปีที่แล้ว

“DUDESWEET เริ่มปี 2002 ถัดจากยุค Y2K มานิดเดียว ถือว่าร่วมสมัยกัน พูดถึง Y2K แฟชั่นยุคนั้นมันน่าเกลียดมาก เราก็ไม่รู้ว่ามันวนกลับมาทำไม” โน้ต-พงษ์สรวงหัวเราะเมื่อรำลึกถึงไอเท็มการแต่งตัวของยุคนั้น 

แต่ถ้าเป็นเรื่องปาร์ตี้ เขากลับคิดถึงบรรยากาศสมัยนั้น

นอกจากเพลย์ลิสต์เพลงในปาร์ตี้ที่เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม พฤติกรรมของนักปาร์ตี้ในยุคนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมาก พงษ์สรวงเล่าว่า ในสมัยนั้น การปาร์ตี้ในแต่ละคืนไม่ได้จบลงที่เที่ยงคืนอย่างปัจจุบัน เข้าร้านนั้น ออกร้านนี้ รู้ตัวอีกทีก็ออกจากร้านสุดท้ายตอนฟ้าสว่าง อันที่จริงร้านที่เขาชอบไปปาร์ตี้สมัยนั้น ตอนนี้ก็ปิดตัวลงไปกันหมดแล้ว

อีกสิ่งที่สังเกตเห็นว่าต่างออกไปจากเมื่อก่อน คือรูปแบบการรวมกลุ่มของผู้คนในปาร์ตี้ ซึ่งแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างชัดเจน

“เมื่อก่อนในปาร์ตี้ ทุกกลุ่มจะมีฝรั่ง มีคนต่างชาติอย่างน้อยหนึ่งคนในกลุ่มเพื่อน ไทยกับต่างชาติรวมกัน แต่เดี๋ยวนี้จะแยกกลุ่มแบบคนไทยก็อยู่แค่กับคนไทย ฝรั่งก็เกาะกลุ่มแต่ฝรั่ง”

แฟชั่น Y2K ที่กลับมาฮิตอีกครั้ง แต่องค์ประกอบอื่นของปาร์ตี้ตอนนั้นผ่านไป ไม่กลับมา

ถึงกระนั้น ร้าน Mischa Cheap ก็ยังเคยจัดปาร์ตี้ในธีม Y2K เพื่อย้อนไปยังบรรยากาศเก่าๆ

Mischa Cheap ธีสิสที่เพิ่งปิดเล่ม

การเปิดร้าน Mischa Cheap ทำให้ได้เจอพื่อนเก่าที่เคยอยู่บนฟลอร์เดียวกัน เพราะการปาร์ตี้คือการสร้างคอมมูนิตี้ และคอนเนกชันของพงษ์สรวงก็เหนียวแน่นมาก

ในฐานะคนที่คลุกคลีกับการปาร์ตี้มาทั้งชีวิต เมื่อลงสมองลงแรงเปิดบาร์ที่กว้างใหญ่ขนาดนี้ เพื่อนฝูงคนรู้จักเห็นถึงความจริงจัง พากันตบเท้ากันเข้ามาเยี่ยมเยือนดูความสำเร็จที่ร้าน ไม่ใช่แค่เพื่อนเก่าเท่านั้น แต่ยังมีนักปาร์ตี้รุ่นใหม่ที่แวะเวียนเข้ามาที่ร้านจนกลายเป็นขาประจำ

“พอเรามาทำ Mischa Cheap ก็มีเพื่อนตามมาดูเยอะ เพราะมันรู้ว่าเราเอาจริง แล้วมันก็มีคนเต็มร้านตั้งแต่วันแรกๆ ทั้งที่เป็นช่วงโควิด-19” 

แม้ช่วงแรกที่เปิดร้านจะมีอุปสรรคใหญ่อย่างโรคระบาด และต้องฝ่าฟันด่านมาตราการของรัฐที่ควบคุมเวลาเปิด-ปิดร้านเหล้าบนถนนข้าวสาร หลายร้านรายได้หดจนล้มหายตายจาก แต่เขาก็ยืนหยัดผ่านด่านมาได้

พูดได้ว่า โน้ต-พงษ์สรวงเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แต่สำหรับตัวเขาเองกลับมองว่า การเปิดร้าน Mischa Cheap คือธีสิส 

“การทำ Mischa Cheap คือธีสิส เรารู้สึกว่ามันสำเร็จแล้ว” พงษ์สรวงกล่าว

ธีสิสชื่อ Mischa Cheap คือสิ่งที่พงษ์สรวงทุ่มเท เขายังคงมาที่ร้านทุกวันไม่มีหยุด เตรียมความพร้อมสำหรับปาร์ตี้ พูดคุยดูแลลูกค้าเหมือนเพื่อน

ในเมื่อตอนนี้ทำธีสิสเสร็จแล้ว ต่อไปจะทำอะไร? – ฉันถาม

โน้ต-พงษ์สรวงตอบมาว่า มันสำเร็จแล้วก็จริง แต่เป็นแค่ระดับปริญญาตรี จากนี้เขากำลังจะเริ่มทำธีสิสปริญญาโท โปรเจกต์นี้จะต้องยิ่งใหญ่ อลังการมากกว่าเดิมแน่นอน

เชื่อว่าหลายคนที่เคยมาปาร์ตี้ Mischa Cheap คงเฝ้ารอที่จะได้เห็นธีสิสปริญญาโท จนถึงปริญญาเอกของโน้ต-พงษ์สรวง ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และอยากเห็นบรรยากาศปาร์ตี้แบบนี้เกิดขึ้นในทุกย่านของกรุงเทพฯ 

Fact Box

ร้าน Mischa Cheap ตั้งอยู่ที่ถนนข้าวสารฝั่งวัดชนะสงคราม เดินเข้ามาประมาณ 50 เมตร 

เวลาเปิด 18.00-02.00 น. ปิดวันอังคาร

ที่ตั้ง https://goo.gl/maps/paXFMVAvzE8QTPqc8 

 

Tags: , , , , , , , , ,