ภาพจำต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคุณเป็นแบบไหน? 

อาจเป็นเสียงปืนที่ดังสนั่น เสียงระเบิด หรือภาพความสูญเสีย การบาดเจ็บของผู้คน แต่ภายใต้ภาพจำเหล่านี้ยังคงมีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ตามฉบับ ‘ปาตานี’ ที่ภาษามลายู หมายถึงพื้นที่ครอบคลุมจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาบางส่วน 

18 ปี ภายใต้กฎหมายพิเศษ และดินแดนที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดง หลายสิ่งหลายอย่างจาก 3 จังหวดชายแดนภาคใต้ถูกตีแผ่และเผยแพร่ แต่ยังคงมีอีกหลายเรื่องราวและหลายทัศนะของคนในพื้นที่ที่อยากถ่ายทอด

เมื่อปลายปี 2564 The Momentum มีโอกาสลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่ 2 กลุ่ม ที่เติบโตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีความหวังอยากเห็นดินแดนปาตานีที่ดีขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนและบอกเล่าเรื่องราวตามวิถีที่แตกต่างกันออกไป ทั้งประเด็นหนักและเรื่องราวความสวยงามในพื้นที่ กับ ราชิต ระเด่นอาหมัด ตัวแทนจากกลุ่มมลายู ลีฟวิ่ง (Melayu Living) และอานัส พงศ์ประเสริฐ์ จากกลุ่มเดอะลุกเกอร์ (The Looker) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หยิบจับงานศิลปะ ผลงานสร้างสรรค์แขนงต่างๆ มาเป็นภาษากลางในการบอกเล่า ที่เขาบอกกับเราว่า ศิลปะคือพื้นที่ปลอดภัย ที่ทำให้คนมีส่วนร่วมและเข้าใจได้อย่างแท้จริง

โดยแบราชิต (แบภาษามลายูแปลว่าพี่ชาย) บอกกับเราว่า ถ้าให้นิยามความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มนี้ มลายู ลีฟวิ่ง เปรียบเสมือนทุ่งดอกลาเวนเดอร์ ส่วนเดอะลุกเกอร์ คือลานประลองยุทธ์… 

เรียงลำดับภาพจากซ้ายไปขวา ราชิต ระเด่นอาหมัด , อานัส พงศ์ประเสริฐ์

อยากให้ทั้ง 2 คนแนะนำตัวเองหน่อย ว่าเป็นใครและตอนนี้ทำอะไรอยู่

ราชิต: ราชิต ระเด่นอาหมัด มาจากกลุ่มมลายู ลีฟวิ่ง เป็นสถาปนิกครับ

อานัส: ผม อานัส พงศ์ประเสริฐ์ มาจาก เดอะลุกเกอร์ เป็น Activist ในพื้นที่ครับ

เดิม เดอะลุกเกอร์ ชื่อ สายบุรี รุกเกอร์ (Saiburi Looker) ใช่ไหม

อานัส: ใช่ครับ เดิมเป็น สายบุรี รุกเกอร์ มานาน เพิ่งเปลี่ยนมาเป็น เดอะลุกเกอร์ เพราะเมื่อก่อนโฟกัสการทำงานอยู่ตรงอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี แต่ตอนนี้ส่วนงานของเราขยายพื้นที่มากขึ้น พร้อมกับสละความเป็นท้องถิ่นออกไปเพื่อให้เห็นภาพกว้างของปัตตานีทั้งหมด เลยเปลี่ยนเป็น เดอะลุกเกอร์ และตอนนี้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาคมแล้วครับ ยกระดับองค์กร

สมาคมอะไร

อานัส: ชื่อเชยมากครับ (หัวเราะ) บอกก็ได้ว่าชื่อสมาคมผู้เฝ้ามองแห่งเมืองเพื่อสร้างสรรค์สังคม เราไม่ใช่พวกถ้ำมองนะ แต่ตั้งชื่อให้มันง่ายต่อการขออนุญาต เพราะทางการไทย เขาจะมีความเยอะในเรื่องความหมายของชื่อก็เลยต้องออกแบบชื่อเพื่อให้มันง่ายต่อการได้รับอนุญาต

แบราชิตได้อยู่ในสมาคมนี้ด้วยไหม

ราชิต: ไม่ได้อยู่ครับอานัสไม่ให้อยู่ ล้อเล่น (พูดแกมขำ)

พื้นเพทั้ง 2 คน รู้จักกันมาก่อนไหม หรือเพิ่งมารู้จักตอนผลักดันพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อานัส: ผมเป็นเอฟซีแบราชิตครับ 

ราชิต: ผมก็เป็นเอฟซีอานัสครับ (หัวเราะ) พอดีเราอยู่ในวงโคจรเดียวกัน เพียงแค่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่พอได้คุยกัน เรากลับอยู่ในสถานที่เดียวกันและเรื่องเล่าเดียวกัน

อานัส: เมื่อปี 1990 ผมไปคอนเสิร์ตพังก์ แล้วแบราชิตขึ้นเวทีเล่นดนตรี คุณนึกออกไหม

ราชิต: พูดแล้วอยากให้เห็นภาพ ตอนนั้นคือตั้งตัวเป็นวงพังก์ ทำทรงโมฮอว์กย้อมสีผม

อยากเห็นรูปจัง

ราชิต: เดี๋ยวผมส่งให้ดูได้ 


หากอ่านงานสัมภาษณ์ที่ผ่านมา หรือการทำงานร่วมกัน มักจะเห็นชื่อของทั้ง 2 คนเสมอ บางครั้งชื่อของแบอานัสก็ไปโผล่ในบทสัมภาษณ์ของมลายู ลีฟวิ่งด้วย 

ราชิต: เราเป็นพันธมิตรกันครับ ทำงานร่วมกันบ่อยเช่น งาน PATTANI DECODED เทศกาลถอดรหัสปัตตานี ก็จะมีทั้งเดอะลุกเกอร์, มลายู ลีฟวิ่ง และคนทำงานในพื้นที่อีกจำนวนมากที่มาทำงานร่วมกัน 

ความเหมือนและความแตกต่างของทั้ง 2 กลุ่มคืออะไร

อานัส: ให้ผู้ใหญ่ตอบก่อน

ราชิต: โอเค ผู้ใหญ่ตอบก่อนก็ได้ (ขำ) ถ้าพูดความเหมือนคือเรื่องเจตนารมณ์ที่ต้องการขับเคลื่อน ‘เมือง’ เมืองในความหมายของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในทิศทางที่ต้องการให้มีความพัฒนาขึ้น ส่วนความต่างมันคือภาษาหรือวิธีการเล่า มลายู ลีฟวิ่งจะเล่าแบบหวานๆ สวยๆ โลกสวย โดยโฟกัสไปที่งานสร้างสรรค์และงานในชุมชน เน้นการเผยแพร่และให้ความรู้ Creative Economy ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ศาสนา และความมั่นคง เราเอางานครีเอทีฟเป็นตัวนำ เป็นตัวขับเคลื่อน แต่นัยของความต่างกันมันคือเรื่องที่อยากขับให้เมืองมีอนาคต ส่วนทางเดอะลุกเกอร์ก็ทำงานคล้ายกันในเรื่องการทำงานร่วมกับชุมชน แต่จะสะท้อนและตีแผ่ปัญหาในพื้นที่ออกมาเป็นงานสร้างสรรค์ครับ

ถ้าพูดง่ายๆ มลายู ลีฟวิ่ง คือทุ่งดอกลาเวนเดอร์ ส่วนเดอะลุกเกอร์คือลานประลองยุทธ์ครับ (หัวเราะ)

อานัส: เดอะลุกเกอร์ค่อนข้างจับหลายมิติ ทั้งประเด็นเรื่องนิเวศวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ความงงๆ ของเดอะลุกเกอร์คือ เราทำหลายประเด็นมาก แม้แต่เรื่องสิทธิเด็กเราก็ทำ บางทีสิ่งที่ต่างกันคงเป็นอย่างที่ราชิตบอกคือ การทำงานของเดอะลุกเกอร์ในบางประเด็นค่อนข้างที่จะชน บางเรื่องที่หนักๆ เราก็เปิดหน้าชนในการทำงานเลย

เคยอ่านเจอว่า มลายู ลีฟวิ่ง ต้องการเสนอภาพความสวยงามของ 3 จังหวัด เพราะภาพของความรุนแรงมันชัดเจนอยู่แล้ว

ราชิต: ผมจะอธิบายเกี่ยวกับไอ้ความสวยงาม ความสร้างสรรค์ในพื้นที่เพิ่มว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสวยงาม มีความสร้างสรรค์เยอะมาก จริงๆ มันเยอะกว่าความรุนแรงด้วยซ้ำ แต่เวลาคนหยิบประเด็นมาพูดคุยกัน กลับหยิบประเด็นความรุนแรงที่มีอยู่ไม่เยอะมาพูดแทน แต่คนดันสนใจเรื่องตรงนี้มากกว่า คือความโลกสวยของเราหมายความว่า นี่คือสิ่งที่ไม่ได้สร้างมันขึ้นมา เราไม่ได้ Fake นะ ว่าที่นี่มันดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่นี่มีของดีและมันดีจริงๆ 

อานัส: จริงๆ แล้ว เดอะลุกเกอร์กับมลายู ลีฟวิ่งก็มักถูกมองจากอีกกลุ่มว่าเป็นพวกโลกสวย หมายถึง พอเราใช้วิธีการสื่อสาร ใช้เครื่องมือที่มันสร้างสรรค์และแปรเปลี่ยนความหมายของมันออกมา ที่ไม่ใช่การสื่อสารแบบแข็งๆ บางงานของเราก็สร้างสรรค์ออกแบบในเชิงนัยยะ เชิงสัญญะ ซึ่งความหมายในเชิงสัญญะบางทีอาจจะแรงกว่าการพูดตรงๆ ด้วยซ้ำ

ราชิต: เห็นด้วยกับอานัสครับ บางงานที่เราพยายามทำให้มันสวย แต่มันซ่อนภาษาบางอย่าง เราแค่เปลี่ยนรูปประโยคใหม่ให้มันสุภาพขึ้นแค่นั้น คือปกติของมนุษย์ทุกคนล้วนอยากคุยด้วยภาษาปกติกันทั้งนั้น ไม่ใช่มาด่ากันเราแค่สร้างสรรค์วิธีการพูดคุยขึ้นมาใหม่ แต่บางกลุ่มอาจจะรับไม่ได้ เพราะพวกนี้มันดูสายลมแสงแดด

ทำไมถึงเลือกงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ มาเป็นภาษากลางในการสื่อสาร

ราชิต: ผมจะพูดรวมๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแขนงไหน ทั้งงานออกแบบ งานสถาปัตย์ฯ และงานสร้างสรรค์อื่นๆ ที่เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ควรจะเอามาคุยกัน อย่างที่บอกไปเบื้องต้น ความสร้างสรรค์ งานศิลปะในพื้นที่มันมีอยู่แล้ว มีอยู่จริง เราแค่หยิบมาเล่าเรื่อง หยิบมาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงมากกว่า เพราะว่าเมืองนี้เป็นเมืองท่า มันเป็นเมืองที่มีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมเรื่องศิลปะเข้ามาตลอดเวลาอยู่แล้ว

อานัส: มันคือเครื่องมือ เครื่องมือที่ช่วยให้สื่อสารประเด็นที่อยากจะสื่อสาร ศิลปะมันเป็น Soft Power เป็นภาษากลางที่สุด เพราะในบริบทการทำงานของเราเรื่องการสื่อสารค่อนข้างที่จะถูกแบ่งกลุ่ม มีความหวาดระแวงในเรื่องกลุ่มก้อนต่างๆ ในพื้นที่ ด้วยความคิดที่แตกต่าง วัฒนธรรมที่แตกต่าง หรือศาสนาที่แตกต่างเองก็ตาม เลยรู้สึกว่าการสื่อสารในภาษาเฉพาะกลุ่มทั่วไปมันไม่ตอบโจทย์นะ เลยนำงานศิลปะมาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและมันรู้สึกปลอดภัย อย่างงานแรกที่ทำในพื้นที่สายบุรีนั้นเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่กลางเมือง และมีความสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่าย และค่อนข้างเป็นเมืองร้าง ทั้งๆ ที่เคยเป็นเมืองครึกครื้นมีชีวิตชีวามาก่อน

เราเลยพยายามคิดหาวิธีหลายอย่าง ทั้งใช้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแต่ก็ไม่สำเร็จ ไม่มีใครกล้ามาร่วมงาน หลังจากนั้นจึงมีการทดลองใช้งานศิลปะมาเป็นเครื่องมือ สุดท้ายแล้วเกิดการตอบรับที่ดีและทุกคนรู้สึกปลอดภัยที่จะมานั่งพูดคุยกันโดยใช้ศิลปะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างกันและกัน เมื่อช่วง 9 ปีที่แล้ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นช่วงที่มีความรุนแรงต่อเนื่อง แตกต่างกับปัจจุบัน งานศิลปะจึงกลายเป็นเครื่องมือที่เราใช้ในการทำงานเป็นประจำ ทั้งการจัดอีเวนต์ เพราะในงานศิลปะของเราไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นแขนงไหน รวมไปถึงงานดนตรีหรืองานอะไรต่างๆ เรามองว่าเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะเช่นกัน 

ในหลายครั้งเราเปิดพื้นที่ให้คนที่มีความสนใจอยากจะระเบิดหรือระบายสิ่งที่ผ่านมาในชีวิต ศิลปะก็กลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เราสื่อสารกันได้ง่าย และคนข้างนอกก็เข้าใจเราเร็วกว่าภาษาพูดที่ยากๆ เพราะเมื่อพูดถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงมักเป็นความรุนแรง และมันจะถูกหันเหไปหาคนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ดังนั้นการใช้ภาษาที่ยากๆ การพูดคุยผ่านทฤษฎีการเมืองมันเลยเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจหรือรับรู้ 

ศิลปะคือสันติภาพที่จับต้องได้ คิดอย่างไรกับประโยคนี้

อานัส: ถ้าไปอ่านบทสัมภาษณ์ที่ผ่านมาของเราจะไม่มีคำว่า ‘สันติภาพ’ อยู่ในนั้นเลย เพราะส่วนตัวรู้สึกว่าคำว่าสันติภาพมันถูกใช้จนใครๆ ก็พูดคำว่าสันติภาพแปะไว้ด้านหลังเสมอ ทั้งด้านหลังชื่อตัวงานหรืออะไรก็ตามต้องมีคำว่าสันติภาพเข้าร่วมตลอด มันถูกใช้จนฟุ่มเฟือยและมักไม่ทำให้เกิดสันติภาพจริงๆ สำหรับผมแล้ว รู้สึกว่ามันเป็นคำที่ไม่สวยเฉกเช่นเดียวกับคำว่า ‘พหุวัฒนธรรม’ ที่มันถูกใช้ผ่านนัยยะทางการเมืองมากเกินไป 

จากประสบการณ์การทำงานของทั้ง 2 กลุ่ม มองว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังขาดพื้นที่ในการพูดคุยไหม

ราชิต: มันไม่ใช่แค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ขาด แต่มันคือทั้งประเทศ มันคือโครงสร้างทางการเมืองเพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่จำเป็นต่อประเทศไทย แต่ถ้าไปดูงานต่างประเทศ แทบทุกย่านจะมีพื้นที่สาธารณะให้คนออกมาใช้งานเต็มไปหมด วัยรุ่นก็สามารถสะท้อนความเป็นจริงออกมาได้ มันขาดตรงนี้ไปจริงๆ อย่างจังหวัดสงขลาเรายังมองว่ามีพื้นที่สาธารณะน้อยกว่าจังหวัดปัตตานีด้วยซ้ำ แต่ปัตตานีไม่ได้เยอะจากภาครัฐนะ มันเยอะโดยภาคประชาชนมากกว่า จากคนที่พยายามขับเคลื่อนกันเอง อย่างแรกที่ผมมองว่าทำไมประเทศเรามีพื้นที่สาธารณะน้อยเพราะมันไม่มีมูลค่านับเป็นเงินถ้ามองผ่านสายตาของภาครัฐ ทำพื้นที่สาธารณะแล้วอย่างไรต่อ แต่นี่คือปัจจัยหลักของเมืองที่มันต้องมี

ภาพกิจกรรมที่ทั้ง 2 กลุ่มจัดมักมีประชาชนเข้าร่วมค่อนข้างมาก สิ่งนี้สะท้อนว่าคนในพื้นที่ต้องการพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนกลางสำหรับพบปะพูดคุยด้วยไหม?

ราชิต: ถ้าพูดจริงๆ พื้นที่ส่วนกลางที่ภาครัฐทำค่อนข้างล้มเหลว เพราะคนสร้างไม่ได้เข้าใจความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างลึกซึ้ง 

อานัส: ผมเห็นด้วยกับราชิตว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนเรียกร้อง แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันน่าสนใจตรงที่ว่า เราพยายามหาพื้นที่ปลดปล่อย อย่างกระแสวัยรุ่นที่มีไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่นการตั้งแคมป์ นี่ก็เป็นพื้นที่ที่เขาสร้างกันขึ้นมาเองโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล ผมมองว่าพื้นที่ส่วนกลางมันไม่ใช่แค่พื้นที่รวมคนหลากหลายอย่างเดียว แต่มันรวมไปถึงความหลากหลายทางความคิด ที่เราสามารถนำความแตกต่างทางความคิดมาอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่ามันอาจจะไม่ชัด มีไม่เยอะ แต่ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันในความแตกต่างทั้งความคิดทางสังคม แนวคิดทางการเมือง แนวคิดทางศาสนาได้

นี่เลยเป็นสิ่งที่กลุ่มทำงานหลายกลุ่มเช่น มลายู ลีฟวิ่ง, เดอะลุกเกอร์ ต้องการให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อเปิดโลก เปิดมุมมอง ผ่านการดึงไลฟ์สไตล์ ความเป็นมาต่างๆ และนำมาปรับโดยเคารพสังคมที่พวกเราอยู่ เพื่อให้มีพื้นที่ของการทำงานข้ามกลุ่ม หรือข้ามวัฒนธรรมมากขึ้น

ความยากของการทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ราชิต: ถ้าผมบอกว่าจากการทำงาน 7 ปีที่ผ่านมามันราบรื่นหมดก็ดูจะขี้โม้ใช่ไหมครับ (หัวเราะ) คือมันก็มีความยากอยู่บ้าง แต่เราได้กลุ่มทำงานที่ดี กลุ่มชุมชนที่เขาให้ความร่วมมือ หรือแม้แต่คนในพื้นที่เองทุกอย่างเลยดูเหมือนราบรื่นไปหมด ส่วนความยากมันเป็นเรื่องของการทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการต่างๆ มากกว่า หลายคนจะบอกว่าทำไมเราไม่ร่วมมือกับองค์กรนั้นองค์กรนี้เพื่อให้ขนาดงานมันใหญ่ขึ้น แต่ปัญหาคือมลายู ลีฟวิ่งทุกคนทำงานแบบพาร์ตไทม์ ทุกคนมีงานประจำ ความยากมันเลยเป็นความคาดหวังว่ากลุ่มเราต้องทำได้มากกว่า 

อะไรที่ทำให้กลุ่มมลายู ลีฟวิ่งทำงานแบบพาร์ตไทม์เพื่อขับเคลื่อนเมือง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มามากว่า 7 ปี 

ราชิต: ใจล้วนๆ ครับเพราะไม่ได้ดูถึงเรื่องกำไรอยู่แล้ว มันอาจจะขาดทุนในแง่ของรายได้ด้วยซ้ำ เพราะเอาเวลาทำงานประจำไปทำ หรือบางครั้งเราก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินกันเองบ้าง มันคืองานที่ทุกคนในกลุ่มอยากทำจริงๆ มันคือการร่วมสนุก มาทำอะไรให้เป็นประโยชน์ มันเลยทำให้เราทำงานมาได้เรื่อยๆ จนเข้าปีที่ 7 

ส่วนของเดอะลุกเกอร์มีความยากในการทำงานบ้างไหม

อานัส: ของผมเป็นเรื่องของช่วงเวลา ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว สถานการณ์ตอนนั้นมันค่อนข้างยาก ที่หลายคนจะเข้าใจในสิ่งที่เราพูดที่เราทำ และคนในพื้นที่เองก็มีความหวาดระแวงมีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของแต่ละคนขึ้น หรือสร้างเกราะบางๆ กับสิ่งที่พวกเราทำ หรือเครื่องมือที่เราใช้ ในช่วงเวลานั้นหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมอยู่ๆ เราถึงจัดงานสเกตในพื้นที่ ไม่เข้าใจว่าทำไมอยู่ดีๆ เราจัดงานดนตรีในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวเรื่องสังคม ศาสนา วัฒนธรรม 

สิ่งเหล่านี้เองมันทำให้เรารู้สึกว่าต้องทลายเกราะเหล่านี้ออก และทำให้เกิดบทสนทนาขึ้น มันต้องเกิดการวิพากษ์ตัวเองในสังคม ซึ่งความยากในการทำงานคือการที่ต้องทนต่อเสียง ทนต่อแรงเสียดทานเหล่านี้ในช่วงเริ่มต้นที่มันหนักพอสมควรจนเราสามารถผ่านช่วงเวลาเหล่านี้มาได้ จนวันหนึ่งมีคนเข้าใจเราและมีกลุ่มที่สนับสนุน หลังจากนั้นทุกอย่างก็ไหลไปตามธรรมชาติ ตามสภาพ ตามสถานการณ์ในแต่ละช่วง 

เอาจริงๆ แล้วการทำงานที่ยากที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับเป็นการทำงานในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มันโคตรยากเลย เพราะฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างกดดัน หรือคอยสอดส่องตลอดเวลา เพราะการทำงานของกลุ่มเราค่อนข้างเปิดเผย ทั้งคอนเซ็ปต์ ทั้งไอเดีย ทั้ง Agenda ก็กางให้เห็นเลยผ่านเพจเฟซบุ๊ก มันเลยเกิดความหวาดระแวง ความกังวลต่างๆ ของการจัดพื้นที่ ความตึงเครียดในพื้นที่ มันเลยมาหมด แต่จริงๆ แล้วคงไม่ใช่แค่การทำงานใน 3 จังหวัดคงเป็นทุกพื้นที่ที่ทำงานยากขึ้น เพราะถูกสอดส่องโดยเจ้าหน้าที่

อย่างเดอะลุกเกอร์เองก็รับทุนในบางครั้ง ส่วนใหญ่รับทุนจากทางสหรัฐอเมริกา นี่เลยกลายเป็นความยากที่ทำให้เราต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์จริงๆ ว่าเราต้องการทำเพื่อพื้นที่ เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่ออะไรก็ตามที่มันจะดีขึ้น ไม่ได้เพื่อจะชนกับภาครัฐ หรือนำไปสู่ความรุนแรงอะไรก็ตาม ไอ้นี่เป็นความยากในการทำงานภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลเป็นครึ่งผีครึ่งคน

ภาครัฐส่งผลกระทบต่อการทำงานบ้างไหม

อานัส: ในมุมมองของผม 70% เพราะมันเป็นสิ่งที่มาผ่านนโยบาย จากโครงสร้างทางการเมืองที่มีปัญหาอยู่ มันไม่ได้ส่งผลแค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ส่งผลไปในทุกพื้นที่ ส่วนอีก 30% มันคือการที่สังคมเราถูกกดทับมานาน มันเลยมีข้อจำกัดมาก เพราะการถูกกดทับมานานมันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มีความละเอียดอ่อนและยังเป็นพื้นที่ความขัดแย้งมีความรุนแรงเกิดขึ้น รวมถึงสร้างผลกระทบทั้งความรู้สึกและความคิดอีกมากมาย นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความยาก 

แต่ปัจจัยหลักที่มันส่งผลให้สิ่งเหล่านี้ไม่พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ก็มาจากโครงสร้างรัฐที่มีปัญหา ทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ฉบับที่หนึ่งจนถึงฉบับปัจจุบันก็มีปัญหา ส่งผลต่อการพัฒนาในพื้นที่ การพัฒนาที่ไม่เข้าใจสภาพสังคมวัฒนธรรมของคนในท้องที่ เช่นที่ผ่านมามีความพยายามนำตลาดน้ำมายัดเยียดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่มีจริงในพื้นที่นี้ ซึ่งมันบ้าบอมาก ดังนั้นนโยบายที่ผ่านมามันมีปัญหา เพราะไม่ได้ถูกคิด หรือออกแบบ และผลักดันนโยบายจากข้างล่างสู่ข้างบน มันเลยส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาเยอะมาก 

ราชิต: ถ้าในแง่ของเจ้าหน้าที่ทหาร มันก็เป็นเรื่องของนโยบาย เราก็พยายามจะเข้าใจว่าการที่เขาพยายามสอดส่องหรือขอข้อมูลตลอดเวลา นั่นคือการกระทำในแง่ดี แต่ในแง่ของคนในพื้นที่ก็จะรู้สึกอีกแบบหนึ่ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันมาจากความรุนแรง มันคือแผลของคนในพื้นที่ว่าเขาจริงใจหรือเปล่าที่เข้ามาสอดส่องขอข้อมูล ตั้งใจมาช่วยแก้ปัญหาจริงหรือเปล่า และมันยังมีอีกหลายเหตุการณ์ในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นข่าว แต่คนในพื้นที่เขารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็พูดอะไรมากไม่ได้ มันเลยกลายเป็นว่าคนในพื้นที่เขาจะรู้กันว่าเกิดอะไรขึ้น เช่นวันหนึ่งคนในครอบครัวเขาหายตัวไป แต่อยู่ๆ เจ้าหน้าที่ทหารก็พยายามมาสร้างมิตรอะไรแบบนี้ ทางเราก็พยายามแก้ปัญหาพวกนี้อยู่ ซึ่งมันเป็นเรื่องยาก แต่ในส่วนของการทำงานอาจจะเพราะกลุ่มเราไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของเจ้าหน้าที่ เขาเลยไม่มายุ่งมาก เลยไม่มีประเด็นอะไรมากมายครับ

เงื่อนไขของศาสนาส่งผลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะหรือดนตรีในพื้นที่ไหม

อานัส: ถ้าถามว่ามีปัญหาไหม คนที่คิดต่างจากเรามันก็มี แต่ท้ายที่สุดเราไม่ได้มาปะทะกันแบบรุนแรง ยกตัวอย่างประเด็นการใช้ดนตรี มันก็มีทัศนคติไม่เห็นด้วยกับการเล่นดนตรีอยู่ แต่ส่วนตัวเราชอบใช้ดนตรีมาทำให้เกิดบทสนทนา เกิดการถกเถียงว่าสุดท้ายแล้วสามารถเล่นดนตรีได้หรือไม่ และดนตรีควรอยู่ในจุดไหน ความแตกต่างเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาทั้งในมุมมองความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนาเองก็ตาม ท้ายที่สุดเราก็ต้องมาถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่คำตอบว่าเราจะเดินหน้าไปด้วยกันในโลกแห่งความจริงนี้ได้อย่างไร 

เพราะเราปฏิเสธดนตรีในชีวิตประจำวันไม่ได้ เช่น ไปดื่มกาแฟในร้านกาแฟ ก็ได้ยินเสียงดนตรี หรือจะเปิดทีวีดูข่าว บางทีไม่อยากฟังดนตรีหรอก แต่ดนตรีก็แทรกเข้ามาอยู่ในช่วงโฆษณาหรืออะไรต่างๆ ก็ตาม และเราจะอยู่อย่างไรในบริบทสังคมแบบนี้ เราไม่ได้ต้องการหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาเพิ่มความขัดแย้งในพื้นที่ ที่ผ่านมาพวกผมเคยจัดงานดนตรีในช่วงเดือนรอมฎอนครั้งหนึ่ง ก็ถูกโจมตีด้วยคำพูดสารพัด เป็นมารศาสนาอะไรก็ว่าไป ซึ่งเราก็ยอมรับในความคิดเห็นของเขา และผมก็มีเหตุผลของผมซึ่งเราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ เมื่อต่างฝ่ายยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกันได้มันจะกลายเป็นสังคมที่เจ๋ง คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ ความแตกต่างไม่ได้เพิ่มความขัดแย้ง เราแตกต่างได้แต่ต้องเคารพในความแตกต่างของคนอื่นด้วย ซึ่งผมมองว่าสำคัญมากประเด็นนี้

ราชิต: ถ้าพูดถึงดนตรี เรื่องนี้จะเป็นประเด็นที่ถกเถียงอยู่ตลอดเวลา เพราะมันผิดหลักศาสนา คือเรารับรู้ว่ามันผิดระดับหนึ่งเช่น ดนตรีร็อค เป็นดนตรีบูชาซาตานอย่างแน่นอนซึ่งมันผิดอยู่แล้ว แต่ในยุคหนึ่งทั้งผมและอานัส เราก็เคยผ่านจุดเล่นดนตรีขึ้นงานพังก์เล่นเพลงฮาร์ดคอร์มาก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้ตัวเสมอมาคือเรายังอยู่ในศาสนา ต่อให้เปิดเพลงกรอกหูเราทั้งวันทั้งคืน สิ่งนี้ก็ไม่ทำให้เราหลุดไปจากศาสนาได้ แม้เราไม่ใช่เด็กดีแบบ 100% ก็มีเกเรบ้าง แต่เราจะรู้กันว่าสิ่งพวกนี้ไม่สามารถมาทำลายเราได้ แต่ผู้ใหญ่บางคนเขาจะกังวลจะคอยเตือนลูกเวลาทำสิ่งไม่ดี ประมาณว่าอย่าไปยุ่งกับดนตรีเลยเพราะกลัวว่าจะดนตรีจะนำพาเราไปทางอื่นมากกว่า

ส่วนตัวผมมองว่าดนตรี เป็นเรื่องของกาลเทศะมากกว่า เป็นอะไรที่เราควรเคารพ เช่นช่วงอะษาน ช่วงละหมาด เราก็ไม่ควรเปิดเพลงเปิดดนตรี หรือบางอีเวนต์ที่พวกเราจัดแล้วมีดนตรีเข้ามาประกอบบางทีก็เลือกเพลงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมในพื้นที่มานำเสนอได้ เลยมองว่าดนตรีคือเรื่องของกาลเทศะและความเหมาะสมมากกว่า

อานัส: คือท้ายที่สุดเราอาจจะมองข้ามประเด็นตรงนี้แล้วไปมองสิ่งที่เราอยากจะสื่อ สิ่งที่เนื้อหาเพลงพูดถึงว่าจะนำเราไปสู่อะไร แม้มันมีข้อจำกัดในความเชื่อในมุมมอง แต่ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับราชิตที่ว่า ดนตรีไม่ทำให้เราหลุดไปจากศาสนา การนึกถึงพระผู้เป็นเจ้า พอถึงเวลาละหมาด พวกเราก็ละหมาด มันคล้ายกับว่ามีภูมิคุ้มกันบางอย่างในตัวพวกเราอยู่ อย่างกระแสหรือคอมเมนต์ตอนเราจัดงานดนตรีในเดือนรอมฎอน ผมก็นำมาทบทวนว่า เออว่ะ ก่อนวันรอมฎอนเราไม่ควรจะจัดงานบันเทิงแล้วหรือเปล่า ก็เลยเคารพเรื่องความคิดเห็นและคอมเมนท์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะการสื่อสารของเราก็ไม่รู้จักเวล่ำเวลาจะชนอย่างเดียว มันก็ส่งผลเหมือนกัน

นี่คือบทเรียนหนึ่งซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของสังคม ส่วนตัวมองว่าสังคมต้องอยู่ให้ได้ในโลกสมัยใหม่ที่ไม่ใช่แค่คนมุสลิม เพราะโลกนี้มีความหลากหลายของผู้คน มีความหลากหลายเรื่องเพศ ความหลากหลายทางความคิด ความหลากหลายเหล่านี้เองมันเป็นสิ่งที่เราต้องมาถกเถียงกันว่าเราจะอยู่อย่างไร ศิลปะก็เช่นเดียวกัน คนที่สร้างศิลปะก็มีหลายแขนงหลายรูปแบบ ที่อยู่ในกรอบของศาสนาก็มี ที่หลุดออกจากกรอบก็มี ถามว่าในแง่ของหลักศาสนามันผิดไหมบนหลักการมันก็ผิด แต่ถามว่าเราต้องรังเกียจ หรือต้องผลักเขาออกไหม ก็ไม่นี่คือสิทธิ์ของเขาที่จะนำเสนอ และเราก็รู้ว่าจุดยืนตัวเองคืออะไร นี่คือการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง 

มันก็คือการเคารพในทุกความต่าง ในทุกความเชื่อของแต่ละบุคคลถูกต้องไหม 

อานัส: ท้ายที่สุดผมมองว่าอย่างศิลปะเอง เราจะหยิบใช้ หยิบบธรรมาภิบาลแบบไหนมาพูดมากกว่า อย่างเปอร์เซียที่เป็นโลกของมุสลิม ก็มีเรื่องของสัตว์ในตำนานอย่างสิงโตเยอะไปหมด หรือการบูรณะวิหารเซนต์โซเฟียในตุรกี ก็ยังคงรักษาภาพวาดฝาผนังซึ่งเป็นความเชื่อของคริสตจักรสมัยนู้นอยู่ นี่คือตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัด ผมเลยตั้งคำถามว่า แล้วคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะอยู่อย่างไรในสิ่งที่มีจริงในสังคมแต่อยู่บนฐานความคิด ความเชื่อของตัวเอง และเราก็ต้องเคารพ ในเรื่องความเชื่อ ศาสนา ความเป็นมนุษย์ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมาก ซึ่งคุณจะเชื่อแบบไหน เราก็ไม่ว่าคุณ เราเคารพความแตกต่างนี้ คุณจะตกขอบหรือคุณจะสุดโต่งเราก็จะไม่นิยามว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร

เป็นทั้งคนในพื้นที่ และผู้ผลักดันเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ละคนมีมุมมองต่อ 3 จังหวัดอย่างไร

อานัส: ผมมองว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ในปี 2547 หรือสถานการณ์ก่อนหน้านั้นมันทำให้เราถูกแช่แข็ง ในเรื่องต้นทุนทางสังคมเยอะมาก ทั้งๆ ที่ศักยภาพในพื้นที่เรามีเยอะมาก แม้แต่เรื่องวัฒนธรรม เรื่องทรัพยากร เรื่องวัตถุดิบต่างๆ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประตูแห่ง 2 อารยธรรม อารยธรรมแรกที่เป็นแบบโลกสังคมแบบสยาม และอีกอารยธรรมอีกประตูหนึ่งคือโลกมลายู ตรงนี้คือรอยต่อเป็นประตูมันที่มีการแลกเปลี่ยนของ 2 อารยธรรม ซึ่งมีเสน่ห์มาก มีความลงตัว ผมคิดว่าถ้าใครสักคนหรือใครก็ตามที่มีโอกาสลงมาในพื้นที่แล้วเห็นสิ่งเหล่านี้จะรู้สึกว่า เฮ้ย มันคือศักยภาพโว้ย และรัฐบาลเองไม่ควรมีนโยบายที่จะมาเปลี่ยนหรือพยายามให้คนในพื้นที่เป็นเหมือนคนไทยตามนิยามของภาครัฐ เราควรยอมรับตัวตน รับสิ่งที่มีอยู่ว่านี่คือศักยภาพ และสามารถทำเป็นมูลค่าทางเงินได้ ถ้าคุณยอมรับในสิ่งที่คนในพื้นที่เป็น ก็จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาในหลายๆ ด้านอีกมากมาย

ราชิต: ที่นี่เป็นพื้นที่มีเสน่ห์นะ แต่มันไม่ได้แบบคนเดินทางเข้ามาปุ๊บแล้วจะโอ้โฮ แต่ต้องค่อยๆ ซึมซับ ค่อยๆ อยู่ไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเริ่มเห็นอะไรบางอย่าง ประเทศไทยมีพื้นที่แบบนี้ไม่เยอะมากนะ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้ง อิสลาม ไทยพุทธ แล้วก็คนจีน โอ้โห ทุกอย่างมันวาไรตี้มากและมันอยู่กันแบบนี้มานาน แต่เราไม่ได้บอกว่าอยู่กันอย่างมีความสุขนะ แต่ก็อยู่ร่วมกันได้แบบปกติ ก็มีทะเลาะบ้าง ดีกันบ้าง มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง และเรื่องอาหารก็เป็นเอกลักษณ์ เพราะการเป็นพื้นที่ 2 วัฒนธรรมมันจึงเกิดการรวมตัวและรังสรรค์เป็นมื้ออาหารใหม่ขึ้นมา หรือเรื่องการละเล่นก็ตามมันเป็นการรวมของหลายวัฒนธรรมที่มันน่าค้นหา

แต่มันเสียอย่างเดียวคือภาพที่ถูกสื่อออกไป หรือโครงสร้างสังคมที่มันกดทับสิ่งเหล่านี้อยู่ อย่างที่อานัสว่าสิ่งเหล่านี้มันกดทับชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะให้กล่าวโทษก็คงเป็นการเมือง เป็นโครงสร้างสังคมที่ควรจะพัฒนา ส่งเสริมให้เกิดศักยภาพในพื้นที่ แต่หลายอย่างที่มาจากส่วนกลางผมจะเรียกว่าอะไรดี มันคือขยะ ขยะล้วนๆ เลยที่ลงมาสู่พื้นที่ อย่างสถานที่บางแห่งหรือการก่อสร้างที่ถูกส่งลงมาในพื้นที่ก็ตาม ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมไม่ทำให้มันดีกว่านี้ เพราะบางอย่างสร้างขึ้นมาแล้วมันรื้อไม่ได้ มันต้องอยู่แบบนี้อีกเป็นร้อยๆ ปี นี่คือสิ่งที่น่าเสียดาย ทั้งๆ ที่พื้นที่มีศักยภาพสูง

เป้าหมายต่อไปของมลายู ลีฟวิ่งและเดอะลุกเกอร์ สิ่งที่อยากจะเห็นในในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร

ราชิต: เป้าหมายต่อไปคงเป็นกลุ่มทำงานของคนมองพื้นที่ในเชิงสร้างสรรค์ แน่นอนมันจะต้องมีรายละเอียดบางอย่าง หรืออะไรบางอย่างที่มันเข้มข้นขึ้น และคงไม่ได้เล่าเรื่องแบบเดิมซ้ำๆ เราอยากมีงานหรือกิจกรรมบางอย่างที่มันจับต้องได้เป็นเรื่องของ Space เรื่องของพื้นที่สาธารณะ เพราะในแง่ของความเป็นสถาปนิก หรือคนทำงานสร้างสรรค์ก็อยากให้เมืองเป็นภาพที่เราอยากสะท้อนออกมาและคนสามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่อีเวนต์ หรือกิจกรรมที่จัดแปปเดียวจบ นี่คือเป้าหมายสำคัญที่มันสามารถเชื่อมระหว่างคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่เพื่อดึงศักยภาพออกมาได้ นี่คือสิ่งที่อยากจะทำ แต่มันคงต้องใช้เวลา 

ส่วนสิ่งที่เราอยากจะเห็นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางอย่างมันเริ่มมองเห็นแล้ว เช่นเรื่องที่อยากให้คนรุ่นใหม่กลับมาใส่ใจบ้านตัวเอง ทุกคนเตรียมดึงศักยภาพตัวเองออกมาให้มากที่สุด ทำงานเพื่อบ้านตัวเอง เราเชื่อว่าทุกคนคิดแบบนี้ และเมืองมันจะพัฒนาไปได้ไกล เราไม่ต้องมาคอยว่าเมื่อไร หน่วยงานรัฐจะลงมาพัฒนา

อานัส: เดอะลุกเกอร์ทำประเด็นหลายอย่างบางเรื่องเราก็ยังเปิดเผยไม่ได้ แต่ตอนนี้เราทำเกี่ยวกับโปรเจ็กต์อาชีพ นี่คือสิ่งที่เราพยายามผลักดัน อย่างแรกต้องยอมรับว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องของรายได้ ความยากจน ปัญหาโอกาสต่างๆ และตอนนี้ก็มีผลกระทบจากโควิด-19 เราเลยพยายามจะผลักดันเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้โอกาสกับเด็กเยาวชนที่ไม่มีอาชีพ ให้มีความมั่งคงทางชีวิต

ส่วนสิ่งที่คาดหวังคือ สิ่งที่เรากำลังผลักดันจะถูกนำไปเป็นนโยบายท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้หลายฝ่ายเห็นถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง ว่าปัญหาของสังคมตอนนี้จะนำไปสู่ปัญหา สภาพสังคม สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ท้ายที่สุดต้องเห็นว่าคนในพื้นที่สามารถยืนบนความเป็นเราได้อย่างไรบ้าง และสามารถดึงศักยภาพอะไรในพื้นที่ออกมาเพื่อเลี้ยงดูตัวเองให้อยู่รอดในสังคมที่มันมีความไม่แน่นอนของรัฐส่วนกลางของการเมือง ของอะไรก็ตาม ที่ส่งผลต่อพื้นที่ได้บ้าง ผมเลยคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นส่วนเล็กๆ น้อยๆ เป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่จะสร้าง ที่จะเพิ่มศักยภาพบางอย่างของคนในพื้นที่ให้สามารถอยู่รอดในสภาพสังคมแบบนี้ได้ ขณะเดียวกัน ก็คาดหวังว่าคนในพื้นที่จะลุกขึ้นมาเห็นศักยภาพแล้วแปลงมันเป็นมูลค่าทางสังคม มูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ หรืออะไรก็ตาม 

ทั้งสองคนขับเคลื่อน ‘เมือง’ และประเด็นทางสังคม ผ่านงานสร้างสรรค์แขนงต่างๆ หากให้เปรียบเทียบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือนำเสนอภาพเหล่านี้ผ่านงานศิลปะแขนงใดก็ได้ จะนำเสนอหรือเลือกงานศิลปะแบบใดมาบอกเล่า

อานัส: ผมขอนำเสนอผ่านลวดลายของเรือกอและ เพราะลวดลายเรือกอและมันอธิบายความหมายของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดีมาก เป็นการผสมผสานทั้งลายดอกแบบมลายู ลายแบบจีน และลายแบบไทย สิ่งเหล่านี้อธิบายความเป็น 3 จังหวัดได้ครบจริงๆ มันคือการผสมผสานอย่างที่บอกไปเบื้องต้นว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรอยต่อของหลายวัฒนธรรม มันมีการแลกเปลี่ยนผสมผสานกันเกิดขึ้น มีการอยู่ร่วมกัน สำหรับผมมันเลยเป็นศิลปะที่บอกเล่าความเป็น 3 จังหวัดได้ดี

ราชิต: ผมขอพูดรวมๆ คือ นำเสนอผ่าน Installation art เพราะมันเป็นศิลปะที่มีความหลากหลายในงานชิ้นหนึ่ง จะเป็นเรื่องของเสียงก็ได้ กลิ่นก็ยังได้ แบบหลับตาเราได้กลิ่นเลย และรู้ว่านี่คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อานัส: เช่นกลิ่นบูดู

ราชิต: กลิ่นบูดูได้ มันเหมือนสิ่งที่เราเติมเข้าไปได้ เปลี่ยนอะไรก็ได้ เพราะยุคนี้สิ่งที่เรียกว่าศิลปะ มันไม่สามารถระบุได้เลย มันพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา เพราะเราไม่ใช่เมืองที่อยู่กับที่

อานัส: อันนี้เห็นได้ชัดเลยครับ อย่างที่ราชิตบอก มันแสดงความเป็นพื้นที่ 3 จังหวัดได้ดี เพราะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันเป็นพื้นที่ที่โคตรเปิดรับมาตั้งแต่ไหนแต่ไร มาตั้งแต่โบราณกาลเราเปิดรับหมดและแปลงมาเป็นของตัวเองด้วยนะ เช่นเขายอมรับสิ่งที่เข้ามาแต่ก็ยังมีความหยิ่งทะนงในตัวตน ฉะนั้นกูรับมา แต่กูรับไม่หมดนะจะ Adapt เป็นของกู ซึ่งนี่คือความเป็นคนที่นี่

ราชิต: เคยเห็นภาพใส่สูทแต่นุ่งโสร่งไหม หรือแบบวัยรุ่นใส่เสื้อตัวละ 4-5 หมื่นบาท แต่ใส่กับโสร่ง หรือรสนิยมการฟังเพลงเองก็ตาม คุณเชื่อเถอะว่าที่นี่รับกระแสจากโลกได้เร็วมาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเมืองที่ไม่ได้เชยเลย แต่คือเมืองที่มันโมเดิร์นนิสมากๆ 

อานัส: อย่างชุดมลายู เป็นการรับวัฒนธรรมมาจากบริติช คือชุดมลายูที่สวมใส่กันอยู่มันคือ ชุดรายอ แพทเทิร์น หรือราชปะแตน มันเป็นการดึงความบริติชผ่านอินเดีย และมีความใส่คอจีนที่ได้รับอิทธิพลมาอีกทอดหนึ่ง มันเลยเป็นการ Adap ปรับเปลี่ยนมาเป็นชุดมลายูแบบของฉัน นี่คือเสน่ห์ของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการรับนวัตกรรมของหลายๆ ที่หลายๆ วัฒนธรรมมารวมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งลักษณะแบบนี้เห็นได้ทั่วไปในเมืองท่า จึงเป็นสังคมที่เปิดรับมาก ๆ 

ประเด็นนี้น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่โครงสร้างรัฐหรือนโนบายต่างๆ พยายามลบเอกลักษณ์ หรือกลืนกินเสน่ห์ของคนในพื้นที่ออกไป 

ราชิต: ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่นด้วยที่ไม่ได้สื่อสารกับคนในพื้นที่

อานัส: ใช่ นี่คือปัญหาเลย

ราชิต: ในเมื่อเขามีโอกาส มีอำนาจอยู่แล้ว โอเคเขาอาจจะทำงานได้ดีในส่วนหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าถ้าเขารับฟังหรือเกิดการพูดคุยกับคนในพื้นที่มากขึ้น เขาจะรู้ว่าสิ่งที่คนในพื้นต้องการ และควรพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบไหน ไม่ใช่หยิบจากที่อื่นมาวางในพื้นที่นี่มันไม่ใช่ มันรู้สึกน่าเสียดาย

Tags: , , ,