1
ทำไมต้องใช้ฝรั่งบูรณะวัด
“พี่รู้ไหม เขาใช้ฝรั่งบูรณะวัดไชยวัฒนาราม”
“เหรอ ทำไมอะ” ผมถามกลับ
“ไม่รู้เหมือนกันพี่ มาสืบราชการลับมั้ง”
คือบทสนทนาแรกๆ ที่ผมกับ ‘หมิง’ พรูฟมือหนึ่งของ The Momentum สนทนากัน ว่าด้วยเรื่องราวของ เจฟฟ์ อัลเลน (Jeff Allen) ตัวละครที่คุณจะได้อ่านต่อในเรื่องราวข้างล่าง
หลังจากนั้น เราก็ปล่อยให้หมิงนัดแนะกับ ‘เจฟฟ์’ ซึ่งปีหนึ่งจะมาประจำที่อยุธยาเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ เพื่อคุมงานบูรณะวัดไชยวัฒนาราม
กระทั่งวันหนึ่ง เราก็ได้คิวเจฟฟ์ พอดีกับช่วงเวลาที่ ‘พรหมลิขิต’ ละครภาคสองของ ‘บุพเพสันนิวาส’ กำลังออกฉาย ทำให้โมเมนตัมว่าด้วยประวัติศาสตร์ยุคอยุธยา พุ่งกลับมาอีกครั้ง
อีกไม่กี่วันถัดมา เราพบกับเจฟฟ์ในตู้ทำงาน ‘น็อกดาวน์’ ด้านหลังวัดไชยวัฒนาราม ตู้ทำงานของ ‘นายฝรั่ง’ ของบรรดาเจ้าหน้าที่โครงการบูรณะวัดไชยวัฒนารามเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่ติดแอร์ และดูจะเป็นมุมอันเงียบสงบ เมื่อเทียบกับด้านหน้าวัดไชยฯ ที่เต็มไปด้วยร้านเช่าชุดไทยหลากหลายสไตล์ ทั้งเข้ากับอยุธยาและชุดไทยแฟนซีจากหลากหลายยุคสมัย
ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเจฟฟ์ คือเป็น ‘ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ขององค์กร World Monuments Fund (WMF) องค์กรไม่แสวงหากำไร เอ็นจีโอที่ทำหน้าที่รับ ‘บูรณะปฏิสังขรณ์’ สถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วโลกให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสมบัติล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาวโลก
“คุณอยู่ร้อนๆ อย่างนี้ ไหวจริงเหรอ?” ผมถามเจฟฟ์ ใช่ – เราไปช่วงเช้า แต่ช่วงบ่ายของพระนครศรีอยุธยาออกจะร้อนระอุไม่น้อย ใครมาจากกรุงเทพฯ ก็เลือกจะหลบร้อนด้วยการหา ‘คาเฟ่’ เท่านั้น
“ถ้าเราติดแอร์ในไซต์งานของเรา ก็เท่ากับว่าเราตัดขาดจากคนอื่นๆ ข้างนอกโดยสิ้นเชิง” เจฟฟ์ตอบคำถามพร้อมกับยิ้มเล็กน้อย
2
Preservationist
งานอื่นๆ ของเจฟฟ์ ในฐานะ ‘นักอนุรักษ์’ หรือที่ชาวต่างชาติเรียกเท่ๆ ว่าเป็น ‘Preservationist’ มีตั้งแต่การเป็นหัวหน้างานบูรณะสวนลอยบาบิโลน หนึ่งในแหล่งอารยธรรมแรกๆ ของโลก อายุ 600 ปีก่อนคริสตกาล, หัวหน้างานบูรณะ ทากียัต อิบราฮิม อัล-กัลชานี (Takiyyat Ibrahim al-Gulshani) ศาสนสถานอายุ 500 ปี ในไคโร อียิปต์ รวมถึงงานบูรณะวิหารชเวนันดอว์ (Shwenandaw Monastery) อดีตอารามพระตำหนักทองคำ วัดพุทธอายุ 146 ปี ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสีป่อ ในมัณฑะเลย์ เมียนมา
อาชีพของเจฟฟ์ดูจะเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน ในแต่ละปี เจฟฟ์เดินทางไปทั่วโลกเพื่อคุมไซต์งานต่างๆ ของ World Monuments Fund ก่อนหน้าที่จะเดินทางมาถึงเมืองไทย เขาเพิ่งไปคุมไซต์งานที่อิรัก และหนึ่งวันก่อนให้สัมภาษณ์เรา เขาเพิ่งเดินทางมาถึงหมาดๆ และนั่งรถไฟมายังพระนครศรีอยุธยา เพื่อเตรียมพร้อมให้สัมภาษณ์
“คุณรู้ไหม ถ้าจะนั่งรถไฟมาอยุธยา คุณสามารถขึ้นได้จากทั้งสถานี ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’ และสถานี ‘บางซื่อ’ เดิม ซึ่งอยู่ข้างๆ ขึ้นอยู่กับว่ารถคันไหนออกเร็วกว่า นั่นเป็นเรื่องสับสนพอสมควรสำหรับฝรั่งอย่างผม” เจฟฟ์เล่าประสบการณ์เล็กๆ ให้ผมฟัง
“พื้นเพผมเป็นคนดีทรอยต์ มิชิแกน ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านศิลปะ กราฟิก และการวาดภาพประกอบ ที่ดีทรอยต์ ผมเคยเป็น Art Director งานโฆษณามาก่อน ซึ่งเป็นงานสำคัญมากในด้านการสื่อสาร การนำเสนอ ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ผมชอบมากอีกอย่างคือ ‘ประวัติศาสตร์’ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ว่าด้วยโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น
“สิ่งที่ทำให้ผมสนใจในสาขานี้ คือตอนที่เรียนปริญญาตรี มีอาจารย์ของผมคนหนึ่งที่สอนเกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์ของเก่า อาจารย์ผมคนนี้เรียนด้านการอนุรักษ์ และการเก็บรักษา ‘โบราณวัตถุ’ และ ‘โบราณสถาน’ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก วันหนึ่งในคลาส พวกเราไปลงพื้นที่อาคารโบราณแห่งหนึ่งในดีทรอยต์ แล้วรวบรวมข้อมูล ดูรายละเอียดโครงสร้าง สถาปัตยกรรม งานศิลป์ อย่างละเอียด ซึ่งทำให้ผมสนใจโบราณสถานเป็นอย่างมาก”
จากนั้น ในยามว่างจากการเป็น Art Director ของเจฟฟ์ คือการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งนอกเหนือจากการศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมา สถาปัตยกรรมแล้ว สิ่งที่เจฟฟ์สนใจก็คือ สิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นได้รับการบูรณะอย่างไร
แล้ววันหนึ่ง เขาก็ค้นพบว่า งานที่เขาสนใจมากกว่า Art Director ก็คือ ‘การบูรณะ’ นั่นทำให้เขาเลือกเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (University of Pennsylvania) สหรัฐอเมริกา ในสาขาการอนุรักษ์ การรักษาสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ (Historic Preservation) และหลังจากเรียนจบก็ทำงานในด้านนี้เรื่อยมา
“ความน่าสนใจก็คือ เมื่อคุณศึกษาประวัติศาสตร์ในสถานที่สำคัญเหล่านี้ แล้วคุณต้องเข้าสู่ขั้นตอนการบูรณะปฏิสังขรณ์ มันไม่ได้มีแค่มิติในเชิงประวัติศาสตร์ มิติในเชิงศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่มันมีมิติเรื่องการท่องเที่ยว มิติเรื่องสังคม ว่าชาวบ้าน-ชุมชนรอบๆ เห็นอย่างไร และมิติในเชิงการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ต้องผนวกรวมกัน แล้วทุกคนต้องเห็นพ้องรวมกัน”
“จาก Art Director มาเป็นนักโบราณคดี ก็ต่างกันฟ้ากับเหวเหมือนกันนะ?” ผมถามเจฟฟ์
“อืม สำหรับผม มันก็ไม่ใช่เสียทีเดียว สำหรับผมสองงานนี้เท่ากับว่าขาข้างหนึ่ง อยู่ในด้านวิทยาศาสตร์ ขณะที่ขาอีกข้างอยู่ในเรื่องศิลปะ รูปภาพพุทธประวัติรูปหนึ่งก็มีความสำคัญในเชิงศาสนา มีความเก่าแก่หลายร้อยปี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าคุณศึกษาศิลปะ ภาพเหล่านี้ก็คืองานศิลป์”
3
วัดไชยวัฒนารามกับ World Monuments Fund
อ่านถึงตรงนี้ สิ่งสำคัญที่หลายคนตั้งคำถามก็คือ แล้วทำไมต้องให้ ‘ฝรั่ง’ จากดีทรอยต์มาเป็นหัวหน้างานบูรณะวัดไชยวัฒนาราม แล้วในฐานะคนที่อยู่กับแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลก ไม่ว่าจะในอิรัก ไม่ว่าจะในอียิปต์ ทำไม ‘อยุธยา’ ถึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขา
วัดไชยวัฒนารามสร้างขึ้นในปี 2173 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์ที่ 24
ตามประวัติศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ภายหลังกษัตริย์พระองค์ก่อนหน้า สมเด็จพระเชษฐาธิราชพยายาม ‘ปราบกบฏ’ โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งครั้งนั้นดำรงตำแหน่ง ‘เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์’ ทว่าไม่สำเร็จ มีนายทหารใกล้ชิดมาแจ้งข่าวกับเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงนำสมเด็จพระเชษฐาธิราชไปสำเร็จโทษ บัลลังก์ตกเป็นของสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ น้องชายของสมเด็จพระเชษฐาธิราช ในห้วงเวลา 6 เดือน ก่อนเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จะสำเร็จโทษพระเชษฐาธิราชอีกที แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ และใช้วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดประจำพระองค์
ความน่าสนใจส่วนหนึ่งก็คือ พระเจ้าปราสาททองโปรดให้ช่างไปถ่ายแบบอย่างพระนครหลวงและปราสาทกรุงกัมพูชาประเทศ โดยตั้งใจจำลองจาก ‘นครวัด’ และตั้งชื่อว่าวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งแปลว่ามีชัยเหนือ ‘เขมร’ และสร้างขึ้นบนพื้นที่บ้านพระราชมารดาของพระเจ้าปราสาททอง
นับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 วัดไชยวัฒนารามก็กลายเป็น ‘วัดร้าง’ เรื่อยมา มีบ้านพักอาศัยของผู้คนปลูกอยู่รายล้อม ภายในเมรุทิศเมรุรายมีความพยายามขุดหา ‘พระพุทธรูป’ และสมบัติ เศียรพระบริเวณระเบียงคดและเมรุทิศรอบๆ ถูกตัดออกทั้งหมด สภาพภายในทรุดโทรม กระทั่งมีการขุดค้นพบอีกครั้ง กรมศิลปากรกลับมาอนุรักษ์ในปี 2530 และบูรณะจนแล้วเสร็จรอบแรกในปี 2535
“ความทรงจำของคุณกับอยุธยาเป็นอย่างไร?” เราถาม
“ผมมาอยุธยาครั้งแรกในปี 2533 สิ่งที่จำได้ก็คือ เราเช่าจักรยานขี่กัน แล้วจักรยานก็เกิดยางแบน สมัยนั้นอยุธยาไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวแบบนี้ ถนนหนทางไม่ได้พร้อมสมบูรณ์ ยังเป็นเมืองที่บริสุทธิ์มากๆ”
23 ปีจากนั้น เขากลับมาอีกรอบ ครั้งนี้ World Monuments Fund ถูกร้องขอให้มาช่วยเรื่องการป้องกันน้ำท่วมวัดไชยวัฒนาราม และบูรณะวัดภายหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554
“เรื่องมีอยู่ว่า ในครั้งนั้น ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์มายังอยุธยา แล้วเห็นภาพน้ำท่วมโบราณสถาน ท่านรัฐมนตรีคลินตันพูดกับตัวแทนรัฐบาลไทยที่นั่งไปด้วยกันว่า ‘มีอะไรให้ช่วย ก็บอกเราได้นะ’ โครงการป้องกันน้ำท่วมและการบูรณะวัดไชยวัฒนารามจึงเกิดขึ้น
“ถ้าคุณจำได้ อยุธยาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนัก ด้วยแม่น้ำสามสาย (แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี) มาเจอกันที่เกาะเมืองอยุธยา สิ่งที่เกิดขึ้นกับวัดไชยวัฒนารามและเกาะเมืองอยุธยา ก็คือทุกอย่างอยู่ใต้น้ำหมด ฉะนั้น เราจำเป็นต้องหาทางออกที่ช่วยไม่ให้วัดไชยวัฒนารามต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกับปี 2554 อีก”
จากนั้นมีการตั้งทีมทำงานร่วมกันระหว่าง World Monuments Funds กับกรมศิลปากร ในการออกแบบกำแพงรอบวัดไชยวัฒนาราม ขุดฐานรากลึกลงไป 6 เมตร ใต้ผิวดิน ทั้งยังมีเสารับน้ำหนัก รวมถึงใช้เทคโนโลยีตรวจสอบแรงสั่นระหว่างก่อสร้างกำแพง เพื่อให้กระทบกระเทือนโบราณสถานน้อยที่สุด
และต่อมา World Monuments Funds ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Wilson Challenge ยังสนับสนุนโครงการบูรณะเมรุทิศเมรุรายทั้ง 8 หลัง รอบวัดไชยวัฒนาราม ภายใต้ทุนสนับสนุนอีก 7 แสนเหรียญสหรัฐฯ โดยโครงการมีอายุ 10 ปี ซึ่งจะหมดอายุในปี 2024 และ World Monuments Fund จะถอนกำลังทั้งหมดภายในปีหน้า
4
ชีวิตประจำวันของ ‘นายฝรั่ง’
แต่ละปี เจฟฟ์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการ จะเดินทางมาคุมงานปีละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่า ‘ลูกมือ’ ที่เขาปั้นไว้ จัดการโครงการทุกอย่างได้ถูกต้อง และผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ
ขั้นตอนและกระบวนการเริ่มจากใช้คอมพิวเตอร์จำลองสภาพภายในให้สมบูรณ์ที่สุดว่า ในวันเวลาที่รุ่งเรืองที่สุด เมรุแต่ละหลังมีสภาพแวดล้อมอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร แล้วสำรวจการบูรณะรอบก่อนหน้าว่ามีอะไรต้องเพิ่ม เสริม เติมบ้าง
“ความท้าทายก็คือ มีการใช้ซีเมนต์ในการบูรณะครั้งก่อน ซึ่งผิดหลักการ สิ่งที่ใช้ในการอุด-เชื่อมควรต้องอ่อนกว่าอิฐ ฉะนั้น เวลาที่มีน้ำหนักกดทับ มีแรงสั่นสะเทือน เช่น เกิดแผ่นดินไหว ซีเมนต์นั้นแข็งกว่าอิฐ เมื่อมีรอยร้าว รอยร้าวจะผ่านไปใจกลางอิฐ ขณะเดียวกัน ซีเมนต์ยังไม่ยอมให้น้ำระเหย น้ำจะขังอยู่ในเมรุ และทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
หรือการบูรณะเพดานของเมรุ ที่มีการใช้ ‘สีน้ำ’ แทนสีหนักๆ ที่ทำให้ ‘ของเก่า’ กลายเป็น ‘ของใหม่’ แนวคิดของเจฟฟ์และ World Monuments Fund คือการทำให้เมรุทิศเมรุรายของวัดไชยวัฒนารามทั้งหมดเป็น ‘ของเก่า’ ที่ดูเก่า คงทน และอยู่ในสภาพดีมากกว่า
“เราต้องการทำวัดไชยฯ ให้เป็นแหล่งโบราณคดีที่ดี ผมกับคุณอาจจะชอบของเก่า แต่หลายคนต้องการให้เป็นแบบ ‘วอลต์ ดิสนีย์’ คือต้องการให้เป็นสถานที่แบบเทพนิยาย ทำให้ดูดี แต่แนวคิดเราคือต้องการให้เป็นแหล่งโบราณคดีที่ ‘ดีกว่าเดิม’ เท่านั้น”
วันที่เราไปถึง นั่งร้านของเมรุทิศเมรุรายด้านตะวันออกเต็มไปด้วยคนงานมากหน้าหลายตา พากันกะเทาะซีเมนต์ออกจากฐานของเมรุทิศเมรุราย และเติมปูนขาวลงไปแทน ขณะเดียวกัน คนงานอีกส่วนพากันใช้สีน้ำค่อยๆ ทาสีองค์พระพุทธรูปในเมรุทิศนั้น
“เมื่อเทียบกับงานของเราในประเทศอื่นๆ ที่ต้องทำงานในสภาวะสงคราม ทำงานในประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก งานในประเทศไทยไม่ใช่งานที่ยากนัก”
สิ่งที่เจฟฟ์พยายามทำก็คือการ ‘ปั้น’ ช่างฝีมือมือดีมาร่วมทำงานกับ World Monuments Fund และได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม จ่ายในราคาที่สมน้ำสมเนื้อ มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้งานออกมามีคุณภาพ
กระนั้นเอง แรงงานฝีมือซึ่งถูกยกเป็น ‘ช่างฝีมือ’ ในประเทศไทยก็ไม่ได้หาง่ายนัก ช่างฝีมือในอยุธยามีอาชีพอื่นๆ ให้เลือกมากกว่าการเป็นช่างบูรณะวัดไชยวัฒนาราม
“ในอิรัก ถ้าเราประกาศหาช่างฝีมือ 1 คน จะมีคนงาน 200-300 คน มายืนต่อแถวสมัครเป็นช่างทันที ส่วนในประเทศไทย อาจต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่งในการหาช่างฝีมือที่ตรงกับคุณสมบัติที่เรามองหา”
ถึงวันนี้ ช่างฝีมือที่ทำหน้าที่บูรณะเมรุทิศเมรุราย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งช่างก่ออิฐ หรือฝั่งช่างศิลป์ ต่างก็ทำหน้าที่กันอย่างขะมักเขม้น เจฟฟ์พาเราชวนคุยกับช่างรายคนไม่ว่าจะเป็นช่างวัยหนุ่มหรือช่างวัยเกษียณ ถึงงานที่พวกเขาทำอย่างภูมิใจ
แต่สิ่งที่เจฟฟ์อยากฝากฝังไว้ก่อนที่ World Monuments Fund จะหมดสัญญากับประเทศไทย ก็คือการถ่ายทอดแนวคิดการอนุรักษ์ให้อยู่กับประเทศไทยต่อไป โดยการทำงานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด หลักคิดก็คือ การสร้าง ‘นักอนุรักษ์’ ผ่านคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยนั้น เปลี่ยนได้ง่ายและเร็วกว่าการเปลี่ยนผ่านระบบราชการ
“ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ อยู่ที่มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม เพราะฉะนั้น เราอยากทำงานร่วมกับคณะ กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้รูปแบบการอนุรักษ์ฝังไปกับคนรุ่นใหม่”
เชื่อหรือไม่ว่า จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไทยที่มีหลากมหาวิทยาลัยสอนในคณะเกี่ยวกับศิลปะ สถาปัตยกรรม ทว่ายังคงไม่มีหลักสูตรว่าด้วยการ ‘อนุรักษ์’ ที่เจฟฟ์ใช้คำว่า ‘Preservation and Conservation’ โดยตรง คณะทำงานของเขาทำงานอย่างหนักโดยอาศัยนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี แต่บางมหาวิทยาลัยก็ ‘แข็ง’ เกินจะเปลี่ยน
5
วัดไชยฯ และ ‘ออเจ้า’
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ด้วยความที่วัดไชยวัฒนารามอยู่นอกเขต ‘เกาะเมือง’ หรือเมืองเก่าที่เป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนารามจึงไม่ได้ถูกรวมในฐานะ ‘มรดกโลก’ ของยูเนสโก ที่มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2534
แม้ที่ตั้งจะอยู่ริมแม่น้ำ ฝั่งตรงข้ามคือ ‘พระตำหนักสิริยาลัย’ ที่รัชกาลที่ 10 สร้างถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 แต่ความนิยมวัดไชยวัฒนารามก็ยังน้อยกว่าวิหารพระมงคลบพิตร วัดราชบูรณะ หรือพระราชวังเดิม
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ ‘บุพเพสันนิวาส’ ใช้วัดไชยวัฒนารามเป็นสถานที่ถ่ายทำ ทั้งในฐานะสถานที่ยุคปัจจุบันก่อน ‘ย้อนเวลา’ และในฐานะฉาก ‘สามมิติ’ เมื่อ ‘ออเจ้า’ ย้อนอดีตกลับไปยังสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
“จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวหลักร้อยคนต่อวัน แต่วันที่บุพเพสันนิวาสออกฉาย เรามีนักท่องเที่ยวมากกว่า 1.4 หมื่นคนต่อวัน ที่ต้องพูดตรงๆ ก็คือ กรมศิลปากรไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขนาดนั้น ในเวลาที่ละครออกฉายเมื่อปี 2561 ฝั่งตรงข้ามวัดมีเพียงร้านอาหารอยู่สองร้าน แล้วก็ไม่มีอย่างอื่น แต่ในปัจจุบัน เต็มไปด้วยร้านเช่าชุดไทย มีลานจอดรถอยู่ด้านหน้า แล้วก็มีคนหลักพันมาที่นี่อยู่ทุกวัน ช่วงที่คึกคักที่สุดคือช่วง 4-5 โมงเย็น ที่ทุกคนพร้อมใจกันแต่งชุดไทยถ่ายรูป
“ตอนแรกเป็นคนไทย ตอนหลังชาวต่างต่างชาติก็มาด้วย ทั้งหมดสะท้อนพลังของโซเชียลมีเดียที่แต่ละคนต่างก็โพสต์รูปเซลฟี่กับวัดไชยวัฒนาราม
“การท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ภาพที่คนมองวัดไชยวัฒนารามก็เปลี่ยน เราเองพยายามทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงนี้ และทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวที่มาวัดไชยวัฒนาราม ที่นี่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้น เราพยายามปิดกั้นพื้นที่ให้น้อยที่สุด จากเดิมที่รอบพื้นที่เป็นผืนดิน เต็มไปด้วยฝุ่น วันนี้กลายเป็นหญ้าสีเขียวขจี นี่คือสิ่งที่บุพเพสันนิวาสเปลี่ยนวัดไชยฯ”
จริงอย่างที่เจฟฟ์ว่า นักท่องเที่ยวเดินทางมายังวัดไชยวัฒนารามจำนวนมากนับตั้งแต่ช่วงเช้า ร้านชุดไทยหลากหลายรูปแบบต่างเรียกให้ ‘นักท่องเที่ยว’ เช่าชุดไทย
“แต่ผมไม่ได้เห็นด้วยเท่าไรนักหรอก ผมรู้สึกว่ามีคนรอบๆ วัดที่ทำเงินจากวัดไชยวัฒนาราม โดยที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมกับชุมชนรอบๆ ในการอนุรักษ์ ในการรักษาวัดไชยวัฒนารามเลยแม้แต่น้อย”
ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้ กรมศิลปากรและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่างก็ไม่ได้มีแนวคิดที่ตรงกันในการ ‘อนุรักษ์’ วัดอายุเกือบ 400 ปี แห่งนี้ แต่เมื่อออเจ้าออกอากาศเมื่อ 5 ปีก่อน และถูกรีรันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เป็นการท่องเที่ยวที่ทำเงินมหาศาล ต้องรับนักท่องเที่ยวที่ทะลักเข้ามา โดยที่ไม่เคยมีใครรับมือได้ทัน
“ก่อนหน้านี้ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ได้มีแนวคิดการอนุรักษ์ที่ตรงกัน บางคนมองในเรื่องการท่องเที่ยว บางคนมองในเรื่องเศรษฐกิจ บางคนมองในเรื่องการอนุรักษ์ แต่บุพเพสันนิวาสเปลี่ยนให้คนมองเห็นสถานที่นี้มากขึ้น และทำให้มีความสำคัญขึ้นมาทันตาเห็น”
เขายังหวังว่า ใครก็แล้วแต่ที่ทำหน้าที่ดูแลสถานที่นี้ จะปรับเปลี่ยนให้ชุมชนรอบๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น มี ‘ศูนย์การเรียนรู้’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ความรุ่มรวยของประวัติศาสตร์ช่วงนั้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบกับวัดไชยวัฒนารามและพระนครศรีอยุธยา รวมถึงบอกเรื่องราวของการพลิกฟื้นวัดไชยวัฒนารามให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งจะถ่ายทอดดีเอ็นเอการอนุรักษ์ให้กับนักท่องเที่ยวต่อไป
ขณะที่การเดินทางของเจฟฟ์ยังคงไปต่อ หลังให้สัมภาษณ์เรา เขาจะเดินทางไปยังชนบทของเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังแตกสลายเป็นเสี่ยง เพื่อเก็บภาพแบบบ้านไม้สักของชาวนาพม่าดั้งเดิม ซึ่งหลายแห่งถูกเผา ถูกทำลาย เพื่อนำไปอนุรักษ์ต่อไป เป็นโครงการต่อเนื่องของ World Monuments Fund ในภูมิภาคนี้
กล่าวสำหรับไทย เจฟฟ์กำลังสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับชุมชนโบราณ–สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์รอบแม่น้ำเจ้าพระยา และจะทำให้เขาได้ทำงานใกล้ชิดกับ ‘มหาวิทยาลัย’ และคนรุ่นใหม่ต่อไป
รู้สึกอย่างไรที่ถูกมองว่าเป็น ‘สายลับ’ เป็น ‘ซีไอเอ’ ระหว่างทำงานอนุรักษ์ หรือเป็น Monuments Man ในงานเหล่านี้? เราตั้งคำถามกับเจฟฟ์
“ใช่ ผมเจอบ่อยๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ บางพื้นที่ผมเข้าไปได้ บางพื้นที่ผมเข้าไม่ได้ แต่ก็ไม่มีอะไรนะ ผมถือว่าเป็นภารกิจที่เราทำเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ รักษาสถานที่เหล่านี้ให้อยู่ต่อไปเรื่อยๆ
“นั่นคือสิ่งที่ผมอยากเห็นมากกว่า”
Fact Box
- World Monuments Fund (WMF) เป็นองค์กรเอกชนระดับนานาชาติที่ไม่แสวงหากำไร ทำหน้าที่อนุรักษ์สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรม อารยธรรมทั่วโลก ผ่านการทำงานภาคสนาม การฝึกอบรม การสนับสนุนเงินทุน และการศึกษา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2508 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และมีสำนักงานพื้นที่หลายแห่ง เช่น เปรู กัมพูชา ฝรั่งเศส และสเปน
- เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้กำแพงป้องกันวัดไชยวัฒนารามสูง 4 เมตรพังลง และน้ำทะลักเข้าท่วมภายในวัดไชยวัฒนารามสูงกว่า 2 เมตร นานกว่า 2 เดือน