หากพูดถึงเรื่องเสียว เนื้อหาเกี่ยวกับเพศ คุณได้เสพครั้งแรกคือเมื่อไร

บางคนอาจตอบว่า ผ่านรูปภาพ วิดีโอคลิป หรือเรื่องเล่าแบบปากต่อปาก แต่หากสืบสาวลึกลงไปอีกสักนิด สื่อชนิดแรกที่ผู้คนได้คอนเทนต์เกี่ยวกับเพศ คงต้องย้อนไปช่วงยุค 70s ผ่านการตอบปัญหารวมถึงเรื่องเล่าบนหนังสือพิมพ์และนิตยสาร

ทำให้ ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว ซีรีส์เรื่องใหม่ของ Netflix ภายใต้การกำกับของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี และไพรัช คุ้มวัน ผู้เติบโตผ่านตัวอักษรทางเพศ ตั้งใจจะบอกเล่าวันแรกที่วงการสิ่งพิมพ์ตัดสินใจเปิดคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศว่า สร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างไร

จุดเริ่มต้นของซีรีส์เรื่องนี้คืออะไร วิธีการแปลงจากอักษรให้เป็นภาพเคลื่อนไหวต้องใช้วิธีแบบไหน รวมถึงคิดเห็นกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นเรื่องเพศอย่างไร ร่วมหาคำตอบได้ผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้กัน

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว เริ่มขึ้นได้อย่างไร

คงเดช: เริ่มจาก เอกชัย เอื้อครองธรรม ที่เป็น Showrunner ของโปรเจกต์นี้ เขาโทรศัพท์มาชวนว่า อยากจะทำซีรีส์เกี่ยวกับการตอบปัญหาทางเพศ ซึ่งตอนนั้นเขาก็ทำการบ้าน เตรียมข้อมูลมาประมาณหนึ่งแล้ว ซึ่งพอเราได้อ่านบทเสร็จ ก็รู้ทันทีว่าเรื่องนี้ต้องเข้ามือเรา เพราะด้วยความที่ซีรีส์มันบอกเล่ายุคที่เราโตมาพอดี เลยมีภาพจำอะไรหลายๆ อย่างที่น่าสนใจและอยากบอกเล่า 

อีกอย่างคือ เราคิดว่าเอกชัยเรียกเราไปกำกับ เพราะเราเคยทำหนังเรื่อ สยิว (2546) มาก่อนด้วย ซึ่งเป็นหนังที่ว่าด้วยนิตยสารปลุกใจเสือป่า ซึ่งก็จะมีความย้อนยุคอยู่บ้าง แต่สำหรับเรื่องนี้คือย้อนกลับไปไกลเลย คือ 40 กว่าปีที่แล้ว 

ดังนั้นตอนที่อ่านข้อมูลคือ ในหัวมีแต่คำว่า เข้าทาง สนุก อยากเขียนต่อ จำได้ว่าตอนแรกตกลงกันแค่จะให้เราเขียนบท แค่นั้นเอง จนเสร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งก็เป็นช่วงที่ได้รู้แล้วว่าจะต้องทำร่วมกับเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) จนตอนนั้นที่เอกชัยเริ่มเปรยๆ กับเราแล้วว่า คงเดชคงไม่ได้แค่เขียนอย่างเดียวนะ ต้องกำกับด้วย เพราะน่าจะเป็นงานที่เข้ามือเรามากกว่าใคร ซึ่งตอนนั้นเราก็บอกเขาไปตามตรงว่าไม่เคยกำกับซีรีส์ ทำแต่หนังยาวก็กลัวอยู่ไม่น้อยคือกลัวเหนื่อย เพราะมันยาว มันเยอะ เลยต้องหาคนมาช่วยกำกับ 

ตอนนั้นก็เลยนึกถึง ปกป้อง (ไพรัช คุ้มวัน) เราเองก็ทำงานกับปกป้องมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว ตัวเขาเองก็เคยทำงานซีรีส์มาก่อน ก็น่าจะมีประสบการณ์ เป็นรุ่นพี่เราได้ (หัวเราะ) ก็เลยเอามาช่วย แบ่งกันทำคนละ 4 ตอน เราทำตอนที่ 1 2 3 และ 8 ส่วนปกป้องทำตอนที่ 4 5 6 และ 7 ก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดีสำหรับตัวเรา 

หากพูดถึงผลงานเรื่องก่อนหน้านี้ของคุณอย่าง สยิว (2546) ซีรีส์เรื่องนี้มีความแตกต่างออกไปอย่างไร

คงเดช: จริงๆ ดูจะเหมือนกัน แต่มุมมองเราคือแตกต่างกันมาก คือถึงจะมีเรื่องเพศ เรื่องเซ็กซ์เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทั้ง 2 เรื่องพูด มันคนละแบบกันเลย ในสยิวเราพูดเรื่องของตัวตน พูดเรื่องการใช้เซ็กซ์เป็นเครื่องมือหลบหนี เราทำสยิวที่ว่าด้วยเรื่องที่เกิดปี 2535 แต่กับเรื่องนี้คือปี 2521 ดังนั้นสังคมในทั้ง 2 เรื่อง จึงมีมุมมองต่อเรื่องนี้ต่างกัน 

เพราะในดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว เรากำลังพูดถึงช่วงเวลาแรกของสังคมที่เรื่องเพศถูกนำมาพูดในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก ผ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อที่ยอดนิยมที่สุดในยุคนั้น จนกลายเป็นคอลัมน์ขายดีทั่วประเทศ​ และนำไปสู่การถกเถียงในประเด็นนี้ของสังคมในเวลาต่อมา

คล้ายกับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางเพศในยุคนั้น

คงเดช: ใช่ ซึ่งในมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นเลยนะว่า ในบางเรื่องเราก้าวหน้า เราเดินทางมาไกลขนาดไหน แต่บางเรื่องเราก็ยังอยู่ที่เดิมไม่ต่างกับช่วงสมัยที่ซีรีส์บอกเล่าอยู่ 

ก็น่าสนใจเหมือนกันนะว่า เราอยู่ในประเทศแบบไหนกัน

สำหรับไพรัช ในวันที่คงเดชทาบทามให้มากำกับซีรีส์เรื่องนี้ร่วมกัน ตอนนั้นตัดสินใจอย่างไร

ไพรัช: คือพอเป็นพี่คงเดชเขียน เราแทบจะไม่ต้องตัดสินใจอะไรมากแล้ว เพราะก็อยากทำงานร่วมกับเขามาตลอด แต่ว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ตอบรับคือ เราเองก็โตอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้เหมือนกัน ก็เลยมีความรู้สึกเหมือนกับเป็นตัวละครในเรื่องนี้ไปโดยปริยาย ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่เรียนรู้เรื่องเซ็กซ์ เรื่องเพศ ผ่านคอลัมน์เหล่านี้ 

ในสมัยก่อน การตอบปัญหาเรื่องเพศ มันเฟื่องฟูขนาดไหน

คงเดช: ในตอนนั้นเป็นช่วงที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างพากันมีคอลัมน์แบบนี้ เพราะคนในยุคนั้นมีความรู้สึกที่อยากจะรู้ตลอดเวลา แต่ไม่มีใครกล้าถาม เรื่องนี้เลยถูกเอาขึ้นมาถาม ซึ่งมันแสดงถึงความพยายามของคนในสังคมที่พยายามจะทะลุกรอบอะไรบางอย่าง 

ขณะเดียวกันในช่วงยุค 70s มันมีสีสันทางเชิงสังคม มีการเปลี่ยนแปลงของพลวัตโลกในหลายๆ แง่มุม ทั้งการเกิดเสรีชน บุปผาชน หรือสภาวะที่ฝุ่นเพิ่งหายตลบจากเหตุการณ์การเมืองของไทย เป็นสีสันที่ทำให้คนในยุคนั้นรู้สึกว่า กำลังมีอะไรบางอย่างที่ดีกว่าตามมาหลังจากนั้น

ซึ่งพอเราเอาเรื่องพวกนี้มาทำในกรอบประเทศไทย ที่บางเรื่องไม่อนุญาตให้บอกเล่าในที่แจ้งได้มันเลยรู้สึกสนุก เหมือนเป็นบริบทที่เราได้ทดลองว่า ถ้าหากเรื่องบางเรื่อง เช่น เรื่องเพศถูกนำมาพูดบนดินแดนที่ไม่มีใครเคยพูดมาก่อน จะมีปฏิกิริยาตอบรับกันแบบไหน 

ไพรัช: อีกเรื่องที่ต้องพูดถึงคือ อิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนั้นที่เป็นสื่อที่ดังที่สุดในสังคม ดังนั้นการเขียน การเล่าอะไรลงไปบนหนังสือพิมพ์ จะเป็นการตีกรอบให้สังคมจะพูดถึง สนใจ และดำเนินไปในแบบนั้นๆ ด้วย 

มีวิธีการแปลงการตอบจดหมายที่เป็นตัวอักษร ให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวในซีรีส์เรื่องนี้อย่างไรบ้าง

คงเดช: สิ่งนี้คือส่วนที่สนุกของการทำงานเรื่องนี้เลย เพราะเป็นโอกาสให้เราได้ออกแบบฉากต่างๆ โดยเฉพาะการตอบจดหมายในแต่ละตอน ที่เราต้องมาตีโจทย์ว่า จะเล่าตัวอักษรให้ออกมาเป็นภาพอย่างไรบ้าง ให้มันเคลื่อนไหว สอดคล้องกัน มันเลยเปิดโอกาสให้เรา Tribute หลายอย่างมาก ทั้งความเป็นหนังเก่า เป็นละครเวที สนุกมาก 

ปกป้อง: ในตอนหนึ่งเราจะพูดถึงคนที่มีเซ็กซ์แบบพิสดารหน่อย เลยเปิดโอกาสให้เราได้ลอง Homage ถึงหนังคัลต์ยุคเก่าๆ ก็เป็นหนึ่งในตอนที่ทำแล้วสนุก 

อีกเรื่องคือด้วยความที่ฉากเป็นยุค 70s การสร้างฉากเสื้อผ้า เมืองต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เราพาคนดูไปหาอดีต

คงเดช: เราว่าเป็นองค์ประกอบที่เหมาะสมกับการทำอะไรสนุกๆ มากเลย เพราะนอกจากเราจะได้ดีไซน์สังคมยุคก่อนที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ยังได้ออกแบบฉากต่างๆ ที่มันแฟนตาซีทับซ้อนไปอีก 

หนึ่งในตัวละครที่น่าสนใจคือ ลินดา (แสดงโดย อรัชพร โภคินภากร) สำหรับตัวละครนี้มีวิธีออกแบบกันอย่างไรบ้าง

คงเดช: สำหรับตัวละครลินดา จริงๆ เรามีภาพในหัวคือ ลินดา ค้าธัญเจริญ เป็นนักแสดงที่คนในยุคเราชื่นชอบเอามากๆ เธอมีภาพแทนของผู้หญิงหัวก้าวหน้า มีความเป็นเฟมินีน (Feminine) เป็นผู้หญิงสูง เราเลยตั้งชื่อตัวละครเป็นลินดา คือ Tribute ให้เธอเลย

พอวันที่ก้อยมาแคสติงบทนี้กับเรา มันถูกต้องเลย ที่ผ่านก็สงสัยว่า ทำไมไม่เคยมีใครเห็นออร่าแบบนี้ของเธอ แต่ก็คุยกันกับปกป้องว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นเรามาทำให้เธอดังเป็นพลุแตกกัน 

ไพรัช: จริงๆ ก้อยกับคุณลินดาเขามีความทับซ้อนที่เหมือนกันอยู่ ตรงที่เป็นคนที่หัวก้าวหน้า ล้ำสมัย มีความเป็น Spoker Person กล้าพูด กล้าสื่อสาร ในประเด็นบางอย่างที่ล้ำกว่ายุคสมัยเสมอ

ประเด็นการพูดเรื่องเพศ เรื่องเซ็กซ์ ในที่สาธารณะ เรื่องนี้พวกคุณคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง 

คงเดช: ที่ผ่านมา พอมีใครจะพูดเรื่องเซ็กซ์ สังคมจะมีค่านิยมบางอย่างกดทับอยู่ ว่าห้ามพูดถึง ห้ามบอกเล่าในที่สาธารณะ ทั้งที่ในวันนี้การเข้าถึงข้อมูลเรื่องนี้ เขาพูดกันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ดังนั้นมันควรต้องถูกนำมาพูดกันได้อย่างเต็มที่ด้วยซ้ำ เพียงแต่ต้องเอามาพูดกันอย่างสร้างสรรค์ 

ซึ่งถ้ายังมีการต่อต้านคือ ไม่ให้พูด และไม่ให้มองมาอย่างสร้างสรรค์ มันก็จะกลายเป็นปัญหาคือนำไปสู่ความรู้ ความเชื่อ แบบผิดออกไป ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครเลยในท้ายที่สุด 

คือจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไม่เป็นอะไรเลย แต่มันต้องพูดกันได้อย่างเปิดเผย

ปกป้อง: ไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กซ์นะ แต่ยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ เล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นความสัมพันธ์ของสามี-ภรรยาด้วย ทั้งที่ควรจะพูดได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าไม่เกิดการพูดคุยอย่างเปิดอก เปิดใจ ก็นำมาสู่ปัญหาชีวิตคู่ได้ เราว่าเรื่องเพศมันใกล้ตัวแบบนี้

สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจ ยังต่อต้าน การพูดเรื่องเพศในที่สาธารณะ จะมีทางออกให้พวกเขาได้อย่างไรบ้าง

คงเดช: ก็ต้องพูดกันให้เยอะๆ ให้กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น อย่างที่บอกคือ ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันก็ได้ เพราะการเห็นต่างแต่อยู่ร่วมกันได้ก็ถือเป็นความเจริญชนิดหนึ่งในสังคม แต่ประเด็นคือวันนี้เรายังอยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะไม่ยอมรับ ไม่ยอมอยู่ด้วยกัน 

ดังนั้นต้องคุยเยอะๆ ทำให้เป็นเรื่องปกติ สุดท้ายหากใครจะอดทนไม่ไหว ก็ไม่เป็นอะไร ปล่อยให้เขาอกแตกไป (หัวเราะ)

หากมีคนบอกว่าเรื่องนี้มีแต่ฉากโป๊ วาบหวิว พูดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ ไม่น่าดูเลย อยากบอกพวกเขาอย่างไรบ้าง

คงเดช: ไปดูเรื่องอื่น ไม่รู้จะพูดอย่างไร ก็ซีรีส์เรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องเพศ ถ้าจะดูอะไรเกี่ยวกับธรรมะ พี่ไปเปิดสาธุในเน็ตฟลิกซ์ดูก็ได้ (หัวเราะ) 

แต่ที่น่าสนใจคือปัญหาในวันนี้ คือบางคนไม่ได้ดูตั้งแต่ต้นจนจบ ดูเป็นเพียงบางช่วง แล้วตัดสินกันไปแล้วว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ไม่ได้เข้าใจว่าบริบทเขากำลังพูดถึงอะไร

ดังนั้นถ้าจะพูดหรือมีปัญหากับอะไรสักอย่างก็อยากให้ลองดูกันก่อนว่า เรื่องทั้งหมดเป็นอย่างที่คิดจริงไหม 

ในการทำงานเป็นซีรีส์ร่วมกับทางเน็ตฟลิกซ์ มีความแตกต่างไปจากผลงานอื่นๆ อย่างไรบ้าง

คงเดช: ปกติเราที่ทำแต่หนังยาว และเคยเขียนแต่ซีรีส์แบบจบในตอนกับเรื่อง เด็กใหม่ (Girl From Nowhere) อันนี้เลยเป็นซีรีส์ขนาดยาวที่ได้ทำครั้งแรก

แต่พอลองทำเข้าจริง ก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องที่ยากหรือท้าทายขนาดนั้น กลับกันเรามองเรื่องนี้เป็นข้อดีมากกว่า คือด้วยความเป็นซีรีส์ขนาดยาว ก็ทำให้เราได้สำรวจตัวละครถี่ถ้วน ครบทุกมุมมากขึ้น 

อะไรคือสารของเรื่องนี้ที่คุณอยากจะมอบให้กับคนดู

คงเดช: เราอยากให้หนังเรื่องนี้ฉายออกไป แล้วคนได้ดีเบตกันไม่ว่าจะเป็นประเด็นไหน แง่มุมไหนก็ตาม จะชม จะด่า จะดราม่าอะไร ก็จัดเต็มมาได้เลย เพราะเราเชื่อว่าการได้พูดคุยเรื่องนี้เยอะเท่าไร ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อสังคมในเรื่องเพศมากยิ่งขึ้น

ปกป้อง: นอกจากการพูดคุยแล้ว เราแอบสนใจพฤติกรรมการดูด้วย ว่าในทุกวันนี้ที่คนดูสื่อผ่านโทรศัพท์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ อยากรู้ว่าเนื้อหาในลักษณะนี้ พฤติกรรมการดูจะเป็นอย่างไร จะดูไปคุยไปไหม หรือดูแล้วปิดตาข้างหนึ่ง หรือคนที่เปิดดูคนรถไฟฟ้า แล้วเสียงมันดังออกจากลำโพง เขาจะรู้สึกอย่างไร เราอยากรู้พฤติกรรมตรงนี้หลังจากซีรีส์ฉายออกไป

Tags: ,