‘คนขบถตอบรับและปฏิเสธในเวลาเดียวกัน ในทุกกิริยาของการกบฏนั้น คนขบถประสบทั้งความรู้สึกรังเกียจต่อการละเมิดสิทธิ์ของตนและความซื่อสัตย์ที่สมบูรณ์’ 

จากหนังสือ คนขบถ: ความเรียงว่าด้วยการกบฏของมนุษย์ ของ อาลแบร์ กามูว์ 

 

ค่ำวันหนึ่งต้นเดือนมีนาคม ถนนคอนกรีตบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ถูกเปลี่ยนให้เป็นเวทีปราศรัยชั่วคราว เครื่องเสียงขนาดเล็กและไมโครโฟนถูกติดตั้ง ประดับประดาอย่างเรียบง่ายด้วยป้ายผ้าใบสีขาวเขียนหมึกสีแดงใจความว่า ‘ชาติพันธุ์ก็คือคน บางกลอย = คน’

ขณะที่เรากำลังนั่งอยู่หน้าเวทีปราศรัยท่ามกลางผู้ชุมนุมกว่าครึ่งร้อยในม็อบ #Saveบางกลอย ตอนนั้นเอง สายตาเหลือบไปเห็นหญิงสาวผมสั้นหน้าตาสวย รูปร่างสูงโปร่ง แต่งกายด้วยชุดสีดำ เธอคือ เฌอเอม-ชญาธนุส ศรทัตต์ หนึ่งในผู้เข้ารอบ 30 คนสุดท้าย เวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2020 

เฌอเอมคือนางงามที่ใครหลายคนหลงรักในความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งไหวพริบการตอบคำถาม ทัศนคติทางการเมืองที่ชัดเจน ซึ่งกองประกวดนางงามหลายเวทีพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด จนอาจเรียกว่าเธอเป็นผู้สร้างมาตรฐานนางงามยุคใหม่ก็ว่าได้

แต่วันนี้ เฌอเอมตัดสินใจขึ้นเวที #Saveบางกลอย เพื่อเปล่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาชาติพันธุ์ ด้วยความเชื่อว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศของใครคนใดคนหนึ่ง พร้อมแสดงอารยะขัดขืนด้วยการนั่งและนอนบนพื้นขณะเพลงชาติไทยกำลังบรรเลง

เรานัดคุยกันเพื่อฟังความคิดเห็นของเธอที่หลายคนมองว่า ‘ขบถ’ ตั้งแต่ทัศนคติการเมือง สังคม ศาสนา บางกลอย จนถึงบรรทัดฐานที่สังคมคาดหวังจากคนมีชื่อเสียงว่า อะไรที่ทำให้เฌอเอมเป็นเฌอเอมอย่างที่เห็นในวันนี้

 

ความแตกต่างไม่เคยเป็นความผิด

“เราว่าชีวิตเราคือความล้มเหลวนะ” 

เฌอเอมเริ่มต้นประโยคสนทนาด้วยการนิยามที่ผ่านมาของตัวเอง ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ แต่เธอยืนกรานว่าชีวิตเธอคือความล้มเหลว ทุกสิ่งที่เคยวาดฝันไว้ไม่มีอะไรเป็นดั่งใจต้องการแม้แต่น้อย

ในวัยเด็ก เฌอเอมเคยมีความฝันมากมายหลายอย่าง ทั้งนักการทูต นักวาดการ์ตูน นักออกแบบและสร้างภาพยนตร์การ์ตูน จิตรกร พอโตขึ้นเธอเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่สุดท้ายความฝันก็ต้องปิดฉากลง เมื่อต้องเผชิญกับระบบโซตัสในรั้วมหาวิทยาลัย จนเธออดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตัวเอง

“เราตั้งคำถามถึงระบบที่มันกดทับความเป็นมนุษย์ว่า สิ่งที่เรากำลังเผชิญมันสำคัญพอไหม สำคัญพอที่ต้องแลกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับการเรียนจบปริญญาตรีหรือเปล่า”

ทำไมถึงต้องซ่อมน้อง? นี่คือคำถามที่เธอสงสัย เมื่อมีการซ่อมเกิดขึ้นนั่นหมายถึงต้องมีการ ‘แตกแยก’ หรือไม่สมบูรณ์มาก่อน

“ถ้าเราไม่ผ่านพิธีนี้แปลว่าเราดีไม่พอเหรอ ทำไมถึงต้องซ่อม” เฌอเอมเล่าด้วยสีหน้างุนงงสงสัย แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ไม่อาจต้านทานจารีตประเพณีอันเก่าแก่ของคณะได้ จึงตัดสินใจลาออกแล้วย้ายมาเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง เฌอเอมเริ่มก้าวเข้าสู่วงการนางแบบ ด้วยใบหน้าสะสวย หุ่นดี มีความมุ่งมั่นเอาจริง ทำให้งานถ่ายแบบแฟชั่นต่างๆ ไหลมาเทมา จนได้รับการยอมรับจากผู้คน แต่ท้ายที่สุด เธอก็ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนางแบบได้

“เรารู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับบทบาทไหนเลย ตอนเป็นนักศึกษาจิตรกรรมก็ไม่เข้าพวก อาชีพนางแบบก็ไม่เข้าพวก แม้แต่ครอบครัวก็ไม่เข้าพวก”

เฌอเอมย้อนเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟังว่าเธอเป็น ‘ลูกหลง’ ในตระกูลที่สืบเชื้อสายราชนิกุลมาจากรัชกาลที่ 4 การเป็นลูกหลงทำให้เธอมีช่องว่างในครอบครัว ด้วยอายุที่ห่างกับพี่สาวและพี่ชายมากกว่าสิบปี หนังสือจึงกลายเป็นเพื่อนวัยเด็กโดยปริยาย

ด้วยการที่เติบโตมาพร้อมกับกองหนังสือ ทำให้เฌอเอมมีความคิดที่แตกต่างกับเพื่อนวัยเดียวกันอย่างมาก

“เราไม่เข้าใจการเล่นแบบเด็กในยุคนั้น ส่งผลให้เราปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกันไม่ได้ ครั้งหนึ่งเคยพกนิยายจีนกำลังภายในไปอ่านที่โรงเรียน เราโดนเพื่อนล้อทั้งโรงเรียนเลยว่าอ่านหนังสืออะไร ทำไมเชยแบบนี้”

การที่เป็นตัวของตัวเองทำให้ช่วงชีวิตวัยรุ่นของเฌอเอมรู้สึกโดดเดี่ยว และค่อยๆ ถูกผลักออกจากสังคม แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอเข้มแข็ง กล้าที่จะแตกต่าง กล้าที่จะเป็นตัวเองอย่างในทุกวันนี้

“เรารู้สึกเป็นคนชายขอบในสังคมที่เราอาศัยอยู่ คำว่า ‘คนชายขอบ’ ไม่จำเป็นต้องเป็นชาติพันธุ์ เป็นผู้พิการ หรือผู้มีสมรรถภาพพิเศษ จนทำให้รู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่น แค่เพียงเราเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวในสังคมที่กว้างใหญ่ก็ถือเป็นคนชายขอบแล้ว

“เมื่อเราเป็นคนส่วนน้อย เป็นคนนอก เราก็จะคิดแบบคนนอก เมื่อสามารถยอมรับในตัวเองขึ้นมาแล้วว่า สิ่งที่เราทำหรือสิ่งที่เราเป็น มันอาจไม่ถูกใจคนส่วนมาก แต่มันไม่ใช่ความผิด ความแตกต่างไม่เคยเป็นความผิด พอเราคิดได้แบบนี้มันเหมือนพลิกความเชื่อความเข้าใจต่อสังคมทั้งหมด และไม่เคยกลับมาคิดแบบเดิมอีกเลย”

 

ชาติพันธุ์ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม

“ทำไม #Saveบางกลอย ถึงเป็นเวทีปราศรัยแรกที่ออกมาพูด” 

เราถามเฌอเอมด้วยความสงสัย

“เราเชื่อในความเป็นชาติ เชื่อในระบบการปกครองที่มีสถาบันอำนาจอยู่ศูนย์กลาง แต่เราก็เชื่อในสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแตกต่างได้”

เพราะเชื่อในความแตกต่าง วันที่ 11 มีนาคม 2564 เฌอเอมจึงลงมือศึกษาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับปัญหาเรื่องกะเหรี่ยงบางกลอยอย่างจริงจัง ก่อนจะรวบรวมความกล้า คว้าไมค์ขึ้นเวทีปราศรัยเป็นครั้งแรกที่ #Saveบางกลอย หน้าทำเนียบรัฐบาล

นางงามสาวสวยผู้นี้ปรากฏตัวอย่างโดดเด่น ท่าทางมาดมั่น พูดจาฉะฉาน เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่กลั่นมาจากก้นบึ้นของหัวใจ เฌอเอมอธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นของชาติไทยอย่างสรุปรวบรัดเข้าใจง่ายว่า ทุกประเทศทั่วโลกไม่เพียงแค่ประเทศไทย ทุกชาติล้วนเป็นชนเผ่ามาก่อน ก่อนจะมาเป็นรูปขวานทองในวันนี้ รัฐไทยมีความผสมผสานทุกชาติพันธุ์ ทั้งมอญ ลาว พม่า ฯลฯ

“ชาติพันธุ์ไม่ใช่สิ่งที่แปลก แต่เขาคือคนดั้งเดิมก่อนจะรวมเป็นชาติ เราควรเก็บความหลากหลายนี้ไว้ เพราะสุดท้ายวัฒนธรรมไทยไม่ได้มีอยู่จริง บางทีวัฒนธรรมภาคกลางที่เราดำเนินกันอยู่อาจมีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงแทรกอยู่ก็ได้”

การที่เธอนิยามตัวเองว่าเป็นคนชายขอบ ทำให้เธอรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยต้องเผชิญ

เฌอเอมอธิบายต่อว่า อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้ แต่ปัญหาของรัฐไทยคือความเชื่อใน ‘ความเป็นไทย’ ที่ทุกคนต้องเหมือนกันทั้งหมด 

“ยกตัวอย่าง ชุดที่บ่งบอกความเป็นไทยก็จะเห็นชุดภาคกลางเป็นหลัก ทำไมชุดแว่นแคว้นที่เคยเป็นแคว้นใหญ่ๆ เช่น ล้านนา ปัตตานี เราจะเห็นเพียงชุดประจำภาคแต่ไม่เคยเห็นชุดประจำเผ่าในการแสดงออกความเป็นไทยสู่สายตาอารยประเทศ”

เมื่อธงชาติกลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นชาติ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ผู้คนที่ยึดถือชาติเป็นใหญ่หรือรัฐชาตินิยม กลับนำสัญญะนี้มาผลักไสชนกลุ่มน้อย ชนกลุ่มที่แตกต่างจากคำว่า ‘คนไทย’ ออกจากสังคม

“เราเป็นอนุรักษนิยม เรารักชาติและโบราณมากด้วย แต่ด้วยความเป็นไทยมันมีความขวา จนไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนเราก็จะเป็นฝ่ายซ้ายอยู่เสมอ แต่ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายซ้ายหรือขวา คำว่า ‘คน’ มันต้องเท่ากันอยู่ดี อย่างน้อยเกิดมาต้องได้พูด ต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า อคติทางชาติพันธุ์มันไม่สามารถคงอยู่ได้ในประเทศใด หรือชาติไหนก็ตาม”

 

ชาติควรเป็นสิ่งที่รักและพัฒนาได้

“ชาติในแบบของเฌอเอมเป็นแบบไหน” 

เฌอเอมไม่ลังเลที่จะตอบทันทีว่า ชาติเท่ากับแผนที่ ชาติเป็นเพียงเส้นแบ่งเขตแดนเท่านั้น

“เราเคยคิดกันใช่ไหมว่าความเป็นชาติเกิดขึ้นเพราะการต่อสู้ตีเมืองต่างๆ รวบรวมแว่นแคว้นจนได้รัฐที่เป็นขวานทอง ธงชาติคือธงที่มีความเป็นไทย แต่ตอนนี้เรากำลังนำประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มาเป็นของเรา

“เราเชื่อว่าหากย้อนกลับไป พระเจ้ากรุงล้านนา เจ้าแคว้นปัตตานีต่างๆ แม้แต่เจ้าเมืองสองแควก็ไม่อยากจะนับเป็นคนอยุธยาแต่อย่างใด ไม่อยากนับเป็นสยามประเทศด้วยซ้ำ มันเลยกลายเป็นว่าประวัติศาสตร์ความเป็นไทยกำลังยึดความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาหลอมให้เป็นชาติ เป็นไทย”

“ถ้าให้เฌอเอมนำเสนอประเทศไทยสู่สายตาอารยประเทศ จะพรีเซนต์อะไร”

“ความลำบากของการเป็นคนในชาติ”

เธอตอบอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเพิ่มเติมว่า “เคยคิดเหมือนกันว่า หากไปนำเสนอแบบนี้ เราจะได้กลับมาประเทศไทยไหม การนำเสนอความเป็นชาติมันมีหลายบทบาท หากให้พูดในนามเฌอเอมที่เป็นประชาชน ก็จะพูดเพียงว่า เราต้องการระบอบการปกครองอันเป็นประชาธิปไตย”

เฌอเอมให้ความเห็นว่า การขอความช่วยเหลือจากต่างชาติเป็นเรื่องสำคัญ แต่การขอความช่วยเหลือในมุมมองของเธอไม่ใช่การบอกให้ไทยไปเป็นเมืองขึ้นหรือเป็นทาสประเทศอื่น แต่มันคือการบ่งบอกว่าไทยกำลังขาดทรัพยากรในเรื่องไหน รัฐไทยสามารถให้อะไรกับคนอื่นได้บ้าง และเราต้องการอะไรจากประเทศอื่น เมื่อนำสองสิ่งนี้มารวมกันจะสามารถเพิ่มความเป็นพลเมืองโลกให้ประเทศได้ และเป็นการป่าวประกาศว่าไทยพร้อมที่จะพัฒนาไปทางเดียวกันกับอารยประเทศ

“เราอย่าทะนงตนในทิฐิที่ทำให้ชาติไม่เจริญ อะไรก็ตามที่สามารถพัฒนาได้ก็ให้มันพัฒนา เช่น ถนน ทางเท้า ทางม้าลาย ไฟจราจร ไม่ใช่ใครออกมาตำหนิก็มองว่าเขาชังชาติ ชาติไม่ใช่ถนนหรือทางม้าลาย 

“ชาติควรเป็นสิ่งที่เจริญต่อประชาชน ต้องเป็นสิ่งที่รักและพัฒนาได้ เฌอเอมที่เป็นประชาชนจะพูดเพียงเรื่องเดียวคือเราจะทำอย่างไรให้ประเทศดีขึ้น ดีขึ้นหมายถึงทุกคนจะมีชีวิตที่สุขสบาย ไม่ใช่มีความเป็นไทยแต่ยากจนข้นแค้น”

 

ประชาธิปไตยไม่ควรเป็นแค่ชื่อ

“ประชาธิปไตยที่เฌอเอมต้องการเป็นแบบไหน”

“ไม่ใช่แค่ชื่อ”

คำตอบที่สั้นกระชับและเรียบง่าย เธออธิบายว่า ประเทศไทยในขณะนี้เป็นประชาธิปไตยเพียงชื่อเท่านั้น แต่ไม่เป็นในทางปฏิบัติ ประเทศไทยมักจะสถาปนารัฐบาลเป็นชาติเสมอ เมื่อไหร่ที่ประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เมื่อนั้นคุณกำลัง ‘ชังชาติ’ ซึ่งแท้จริงแล้ว รัฐบาลควรเป็นกลุ่มคนที่รับฟังเสียงของประชาชนมากที่สุด เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามาเป็นตัวแทน

“เราคิดว่าชาติมิใช่บุคคล ชาติไม่ใช่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชาติไม่ใช่ทักษิณ ชินวัตร ชาติไม่ใช่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ชาติควรเป็นนโยบายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทุกวันนี้มันผิดไปหมด รัฐบาลต้องรับใช้นโยบายที่ประชาชนต้องการ มีหน้าที่ทำให้เป็นจริง มีหน้าที่เป็นตัวแทน ถ้าเราบอกว่าเราไม่ต้องการตัวแทนคนนี้ มันต้องเปลี่ยนผ่านได้ด้วยการเลือกตั้ง ไม่ใช่ใช้วิชามารทำยุทธศาสตร์ชาติ

“จนถึงตอนนี้ รูปแบบการรัฐประหารของไทย การสืบทอดอำนาจเผด็จการ การให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร และการแก้รัฐธรรมนูญได้กลายเป็นต้นแบบรัฐประหารของหลายประเทศ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เคยกล่าวไว้ว่า ไทยกับพม่าคือแฝดนรกแห่งอาเซียน เพียงแต่พม่าไม่มีชั้นเชิงเท่าไทย”

นอกจากความต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยทั้งชื่อและทางปฏิบัติแล้ว สิ่งที่เฌอเอมอยากพูดถึงคือ ‘การลงโทษจากสังคม’ ของผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย หรือผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง เช่นเดียวกับตัวเธอเองหลังจากออกมาเคลื่อนไหว ราคาที่ต้องจ่ายคือการถูกผลักไสออกจากวงการบันเทิง

“สิ่งนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย” เฌอเอมพูดด้วยสีหน้าและน้ำเสียงจริงจัง

ในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางความคิดความเชื่อ เราถามเธอว่า ในฐานะที่เธอเป็นผู้ได้รับโทษจากสังคม มีความเห็นอย่างไรกับกลุ่มคนที่ไม่สนใจการเมือง (ignorance)

“คนที่ไม่สนใจการเมืองมันมีหลายแง่มุม 1. คือพวกที่ไม่รู้ไม่สนใจ 2. รู้แต่ไม่เข้าใจ เราค่อนข้างมีความหวังกับคนกลุ่มนี้นะ เพราะหากเราสามารถมอบความรู้ความเข้าใจให้คนกลุ่มนี้ได้ เขาก็จะมีความคิดด้านการเมืองด้านสังคมขึ้นมา แม้เราจะไม่รู้ว่าเป็นความคิดฝ่ายไหนก็ตาม

“คนที่ไม่สนใจการเมืองเปรียบเสมือนเทียนไขที่เหลืออยู่ หากเรายึดแล้วว่าตัวเองเป็นคนฝ่ายไหน การที่ไปคุยกับฝ่ายตรงข้ามก็เหมือนเทียนที่มอดไหม้จนหมดแล้ว จะจุดอีกครั้งก็คงไม่ติด ส่วนการพูดคุยสื่อสารกับคนที่อยู่ตรงกลางหรือลังเล เมื่อเรารู้ว่ากำลังสื่อสารกับใคร ก็สามารถพูดเพื่อให้เขาเข้าใจได้ เรายังมีความหวังกับสังคมนี้อยู่”

“หลายคนตั้งคำถามว่า เรื่องประชาธิปไตยควรมาก่อนการพูดถึงเรื่องสิทธิการคุกคามทางเพศ เฌอเอมมีความเห็นอย่างไร” เราเปลี่ยนหัวข้อไปที่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

“ผู้หญิงไร้ประวัติศาสตร์ที่เป็นของตัวเองมาหลายร้อยปี การที่ผู้ชายมีอำนาจทางสังคมขึ้นมาก่อน และหลุดออกจากการเรียกร้องทางเพศได้ก่อน ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมาบอกให้ผู้หญิงหยุดเรียกร้องได้”

เฌอเอมเชื่อว่า ผู้หญิงเป็นนักเรียกร้องประชาธิปไตยระดับต้นๆ ได้ และสามารถเรียกร้องประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กับการทวงคืนสิทธิสตรีได้เช่นกัน

“เรากำลังสร้างประวัติศาสตร์ของเรา และกระทำไปพร้อมกับประวัติศาสตร์อื่น ผู้หญิงมองสังคมหลายมิติและหลายระนาบ ตอนนี้ผู้ชายบางกลุ่มมองว่าสิทธิสตรีกับเรื่องประชาธิปไตยไม่สามารถไปพร้อมกันได้ เรามองว่ามันไม่ควรมีเรื่องไหนด่วน ไม่ด่วน การกระทำของผู้หญิงในวันนี้จะส่งผลถึงผู้หญิงในอนาคต

“เรากำลังทำเพื่อคนที่อยู่ในวันพรุ่งนี้ เพราะหากคุณไม่เข้าใจการเรียกร้องของผู้หญิง อย่างน้อยคุณก็นั่งลงแล้วให้ผู้หญิงยืน” เธอเน้นท้ายประโยคด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

อีกสิ่งหนึ่งที่เฌอเอมให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการทวงคืนประชาธิปไตย หรือการสื่อสารทำความเข้าใจการเมือง คือการรณรงค์ให้ทุกคนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เปิดใจมองนักการเมืองใหม่

“ประเทศไทยไม่ได้เจริญเพราะถนนปูด้วยทองคำ หรือเพราะนักการเมืองไม่คดโกง นักการเมืองมีหน้าที่ต้องบริหารชาติ ถ้าโกงก็ให้เป็นไปตามการตัดสิน ประท้วงได้ ไล่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ประชาชนเพียงต้องการคนที่มีความสามารถในการบริหารประเทศได้

“คนดีมันคือหลักลอย อาจจะดีสำหรับคนหนึ่งและอาจไม่ดีสำหรับอีกคน แต่คนเก่งคือคนเก่ง ประเทศที่เจริญย่อมเจริญ ประเทศที่ร่ำรวยย่อมร่ำรวย เพราะฉะนั้น อาชีพนักการเมืองอย่าให้มันโรแมนติกมากเกินไป มองให้มันเป็นจริง แล้วเราเลือกตั้งใหม่ไปด้วยกัน”

 

‘กฎศาสนา’ หรือ ‘ศาสนากด’

หากใครเป็นแฟนนางงามก็คงจะเห็นการไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง พร้อมกับการนำดอกบัวจุ่มน้ำมนต์เคาะพรมที่ศีรษะเพื่อขอพรแบบไทยๆ ของเหล่าผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020

ในฐานะผู้ประกวดหมายเลข 82 เฌอเอมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมครั้งนั้น และเป็นคนเดียวที่ตั้งคำถามกับกองประกวดว่า ทำไมถึงไม่ไปศาสนสถาน หรือสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์อื่นๆ

‘หักคะแนน’ คือสิ่งที่เธอได้รับกลับมาในฐานะผู้เข้าประกวดเป็นตัวแทนประเทศไทย ด้วยการที่เธอนับถือศาสนาคริสต์ พิธีการนำดอกบัวจุ่มน้ำมนต์นำมาเคาะพรมที่ศีรษะจึงเป็นสิ่งที่ผิดกับหลักความเชื่อเธอ

“เราเป็นคนแรกในจำนวนผู้ประกวดที่ไม่นำดอกบัวมาเคาะที่หน้าผาก เพราะเราเชื่อว่าการแสดงหรือกระทำตนไปในบริบทที่รายล้อมด้วยความเชื่อทางศาสนา ต่อให้ใจเราไม่เชื่อ คนก็จะเข้าใจว่าเราเชื่ออย่างแน่นอน เรารู้ว่าการกระทำนี้มันมีนัย หากยอมปิดตาข้างหนึ่งเพื่อให้สังคมยอมรับ สิ่งนี้เฌอเอมเรียกมันว่าผิดต่อความศรัทธา

“ในฐานะที่เป็นคริสเตียน เราย่อมไม่ศรัทธา สักการะศาสนาอื่น เรารู้วิถีพุทธ รู้วิถีผี รู้วิถีศาสนา เพราะมันเป็นความรู้ รู้ว่านอกจากศาสนาเป็นเรื่องความศรัทธา มันยังเป็นเครื่องมือกลไกการควบคุมคนอีกรูปแบบหนึ่ง กิจกรรมวันนั้นจึงจบลงด้วยการนำดอกบัวมาแนบที่อก ไม่มีการเคาะ สิ่งที่เราทำลงไปวันนั้นไม่รู้ว่าโดนหักไปกี่คะแนน”

หลักศาสนาในปัจจุบันจึงคล้ายกับหลักปฏิบัติที่กดให้ทุกคนต้องทำตาม เพื่อการดำรงอยู่ในสังคม เพื่อการยอมรับจากคนรอบข้าง เฌอเอมยกตัวอย่างอย่างน่าสนใจว่า 

“การที่เราจะได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างหรือป้าข้างบ้าน เราต้องเป็นคนดี ตั้งใจเรียน กตัญญู อยู่ในศีลธรรม และรักษาศีล 5 เคารพศาสนาพุทธ อันเป็นศาสนาหลักของประเทศ หากเกิดเป็นผู้ชายก็ต้องเป็นสุภาพบุรุษ สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ถูกบัญญัติทั้งสิ้น แต่มันกลับกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่เมื่อไหร่เราทำผิดต่อขนบความเชื่อเหล่านี้ เมื่อนั้นจะรู้สึกว่ากำลังทำผิด และถูกสังคมลงโทษ ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ นี่คือกระบวนการที่บรรทัดฐานแบบไทยๆ กดเราไว้ แม้กระทั่งเรื่องของความรักก็ยังถูกครอบด้วยบรรทัดฐานแบบไทยๆ”

 

ความรักไม่แบ่งเพศ อายุ หรือส่วนสูง

“จริงๆ เราเป็นไบเซ็กชวล เคยคบกับผู้หญิงและไม่เคยปิดเป็นความลับด้วย อีกอย่างที่ชอบแต่มันขัดกับวิถีพุทธไทยคือการอยู่ก่อนแต่ง เพราะเรารู้สึกว่าความรักมันคือการใช้ชีวิตร่วมกัน และต้องอยู่กับคนนี้มากที่สุดในชีวิตนอกจากครอบครัว การที่เราทดลองอยู่กับแฟนก่อนแต่งมันคือการจำลองการใช้ชีวิตคู่ ว่าเราสามารถอยู่กับคนนี้ได้หรือไม่ และปรับตัวไปพร้อมๆ กัน

“คนที่รักคือคนที่สื่อสารกันได้ทั้งหมด และไม่จำกัดเพศ เรามีเพียงความรู้สึกที่เมื่อไหร่ อยากใช้ชีวิตกับใครสักคนทั้งชีวิต นี่คือความรักในฉบับเฌอเอม สุดท้ายคนเราก็คือคนเหมือนกัน เพียงแต่ความเป็นคนมันมี Sexuality อยู่”

อีกค่านิยมของสังคมเกี่ยวกับเรื่องความรักคือวาทกรรมที่ว่า ‘ผู้หญิงสูงหาแฟนยาก’ หรือ ‘ผู้ชายไม่ชอบผู้หญิงที่สูงกว่า’ เฌอเอมได้ทำลายบรรทัดฐานนี้ ด้วยการคบหวานใจคนปัจจุบันที่เธอสูงกว่าแฟนมากกว่า 10 เซนติเมตร เมื่อก่อนเธอเคยเชื่อว่า การจะรักใครสักคน คนคนนั้นต้องเป็นคนที่ดูแล้วสามารถปกป้องดูแลเธอได้ ต้องสมศักดิ์ศรี ต้องเป็นผู้ชายที่สูงมากกว่า 190 เซนติเมตร แต่ความคิดดังกล่าวได้มลายหายไป

“ความสูงเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไปตลอด แต่ข้างในจิตใจเรายังเป็นคนเดิมและสื่อสารกันได้ หากเรารักกันเพียงรูปลักษณ์ภายนอก วันหนึ่งสิ่งที่ทำให้คนสองคนอยู่ด้วยกันหายไป เราจะยังรักกันเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า หากเรายึดติดกับภายนอก ความรักมันจะหายไปตามกาลเวลาไหม”

ความรักในนิยามของเฌอเอมไม่มีเส้นกั้นแบ่งเพศ อายุ หรือแม้แต่เซนติเมตรที่บอกระยะส่วนสูง ความรักของเฌอเอมเป็นเพียงการยอมรับในข้อเสียของมนุษย์คนหนึ่งได้เท่านั้น

หลังจบบทสนทนาหลายเรื่องราว ตั้งแต่สังคม การเมือง ศาสนา จนถึงความรัก ผู้เขียนก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ได้ตกหลุมรักความเป็น ‘เฌอเอม’ โดยไม่มีเส้นแบ่งกั้นเพศ ส่วนสูง ทัศนคติ และความเชื่อ

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีค่าเท่ากัน

Fact Box

  • ‘เฌอเอม’ - ชญาธนุส ศรทัตต์ ก้าวเข้าสู่รันเวย์ครั้งแรกขณะอยู่ชั้นมัธยมปลาย โดยเริ่มจากการถ่ายแบบให้กับ Runway Magazine 
  • หลังจากนั้นเป็นต้นมา เธอเป็นนางแบบให้แบรนด์แฟชั่นชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะ Chanel, Dior, Jean Paul Gaultier, Giambattista Valli, Ashi Studio, Guo Pei, Giorgio Armani, Laura Biagiotti, DKNY รวมถึงเข้าร่วมเดินบนรันเวย์ในงานแฟชั่นโชว์ระดับโลกอย่าง Milan Fashion Week
  • ปี 2563 เฌอเอมเข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 และถูกตัดสิทธิ์การประกวด หลังเกิดประเด็นผู้จัดการส่วนตัวเป็นหนึ่งในทีมงานกองประกวด
  • ปัจจุบัน เธอปวารณาตัวเป็น ‘นักเคลื่อนไหว’ เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย พร้อมสนับสนุนเต็มที่ในการผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์
Tags: , , ,