ช่วงที่ผ่านมา กระแสของ ‘คราฟต์เบียร์ไทย’ ดูสนุกสนาน ครึกครื้นมากขึ้น หลังผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นต่างๆ เริ่มกลายเป็นที่รู้จัก จนทำให้เกิดกลุ่มนักดื่มคราฟต์เบียร์หน้าใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
แน่นอนว่าคนที่เป็นกำลังหลักสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้คือ เบนซ์-ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้จัดตั้งกลุ่ม ‘ประชาชนเบียร์’ เพื่อผลักดันความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง ซึ่งในงาน Beer Days และ Beer People Festival ที่เพิ่งจัดช่วงกลางปีที่ผ่านมา คือหลักฐานยืนยันว่า ชายผู้นี้เป็นคนดังในวงการคราฟต์เบียร์ เดินไปทางไหนก็มีคนสนใจว่าเขาเลือกเบียร์อะไรมาดื่ม
แต่ก็น่าแปลกใจไม่น้อยที่ถ้าหากเราค้นชื่อ เบนซ์ ธนากร หรือคำว่าประชาชนเบียร์ ในอินเทอร์เน็ต ก็จะพบเพียงแค่บทสัมภาษณ์ที่ล้วนพูดเรื่องกฎหมายสุรา ไร้ซึ่งประวัติส่วนตัว ที่บรรยายปูมหลังว่าเขาเป็นใครมาจากไหน แล้วเหตุใดจึงสนใจการผลักดันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย
The Momentum จึงนัดสัมภาษณ์เบนซ์ ธนากร ถึงชีวิตและตัวตนของชายที่ชอบดื่มเบียร์ จุดเริ่มต้นของประชาชนเบียร์ อาชีพปัจจุบัน รสนิยมการกินดื่ม รวมถึงหมุดหมายต่อไปในการแก้มาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ร้านโชว์ห่วยเล็กๆ ซึ่งเขาหวังให้เป็นต้นแบบการขายเบียร์คราฟต์และสุราพื้นบ้านในทุกชุมชน
อะไรบ้างที่หล่อหลอมเด็กชายธนากรในวัยเด็ก จนกลายมาเป็นธนากรแห่งประชาชนเบียร์แบบปัจจุบัน
ผมโตมากับครอบครัวฝั่งแม่ ถูกเลี้ยงมาโดยคุณตา คุณยาย โตมาในครอบครัวขายของชำ ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่มีอะไรมาก ตามประสาเด็กทั่วไป
แต่สิ่งที่จำฝั่งใจในวัยเด็กจริงๆ คือเรื่องของพ่อมากกว่า ความจริงผมไม่ได้อยู่กับพ่อเลยตั้งแต่ช่วงประถมศึกษาเป็นต้นมา แต่ก็พอรู้ว่าพ่อเป็นคนติดเหล้า ติดหนักมากด้วย แล้วก็มาได้เจอกันอีกทีก็ตอนผมอายุประมาณ 20 กว่าปี แล้วหลังจากนั้นพ่อผมก็เสียชีวิตด้วยโรคแอลกอฮอล์ลิซึม เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเห็นว่าการกินเหล้ามันน่ากลัว
พ่อเขาติดเหล้าถึงขนาดพูดกับผมเลยนะว่า “เบนซ์อย่าห้ามพ่อกินเหล้า เพราะนี่คือความสุขของพ่อ” คือถ้ามองจากวันนี้ย้อนกลับไปมันก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนได้ดีเลยนะ ถึงวัฒนธรรมดารดื่มกินในบ้านเรา ที่ไม่มีทางเลือกที่มากมาย นอกจากการกินในปริมาณมากๆ เพื่อให้เมาไปวันๆ ลืมความเครียดในชีวิตชั่วขณะ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยที่ผ่านมา มีภาพจำกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเช่นนั้นมาตลอด
แต่หลังจากนั้นคุณก็กลายเป็นนักดื่มตัวยง และเป็นคนที่ผลักดันเรื่องเบียร์และสุราโดยตรงเลย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
มันก็เริ่มขึ้นหลังจากได้ลองเบียร์ที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป ตามจังหวะของชีวิตที่วัยรุ่นต้องอยากรู้ อยากลอง แต่สำหรับผมมันแตกต่างไปหน่อย คือผมรู้สึกว่าเบียร์มันไม่อร่อย กลิ่นรสมันไม่ถูกจริตผมเลย ส่วนตัวผมว่ามันมีกลิ่นเหม็นหืน กลิ่นสาบเหมือนผ้าขี้ริ้ว ผมเลยหันมาดื่มเหล้า แต่วิธีดื่มของผมมีแค่เหล้า น้ำ และน้ำแข็ง ไม่ใส่โซดา เพราะมันกลบรสชาติของเหล้า
จนกระทั่งได้รู้จักคราฟต์เบียร์ ก็เลยกลับมาดื่มเบียร์อีกครั้ง
ผมรู้จักคราฟต์เบียร์ เพราะแฟนผมชวนไปงานอีเวนต์คราฟต์เบียร์ ตอนนั้นแฟนเป็นทีมงาน ผมเลยได้อานิสงส์ในการดื่มฟรี ซึ่งมันทั้งสนุกและแปลกใหม่ ทั้งเบียร์กลิ่นกาแฟ กลิ่นผลไม้ กลิ่นพริก เป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้ว่าเบียร์อร่อยมีอยู่จริง ดื่มคราฟต์เบียร์ครั้งแรกก็เมาเละเทะเลยครับ เพราะรู้สึกว่าเบียร์มันอร่อยมากเกินจินตนาการ
คำว่า ‘สนุกกับการดื่มเบียร์คราฟต์’ ของคุณ มันเป็นอย่างไร
ความสุขในการดื่มของผมมีสองแบบนะครับ แบบแรกคือความสุขชั่วคราวที่เราได้ผ่อนคลาย ได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ในขณะที่เราเมา ส่วนความสุขอีกแบบหนึ่งที่เพิ่งเกิดตามมา คือการดื่มของผมมันสามารถสนับสนุนผู้ผลิตกับผู้ค้ารายย่อยได้ ผมอุทิศร่างกายให้กับคนส่วนใหญ่ ผมไม่ดื่มเบียร์นายทุน ดังนั้น การดื่มมันคือการสนับสนุนอุดมการณ์ด้วย
จากคนที่ชื่นชอบมาสู่ผู้ผลิตและนักกิจกรรมในการผลักดันการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยได้อย่างไร
เริ่มต้นมาจากการที่แฟนผมเขียนคอลัมน์ก่อน เลยทำให้ผมได้มีโอกาสรู้จักคนที่ทำคราฟต์เบียร์ไปด้วย ได้ไปตระเวนชิมคราฟต์เบียร์หลายบ้าน ได้ดูวิธีการต้มเบียร์ ผมเห็นว่ามันไม่ยาก ประกอบกับผมชอบการทำอาหารอยู่แล้ว พอได้ลองทำเบียร์กินเองที่บ้าน กลายเป็นว่าผมก็ชอบเบียร์รสชาติแบบที่ผมทำ จากนั้นก็เริ่มทำแบรนด์ของตัวเองครับ
ที่สำคัญคือผมได้รู้ว่ามีคนอยากทำเช่นเดียวกับผมเป็นจำนวนมาก แล้วพวกเขาก็ดูจะทำได้ดีด้วยกับธุรกิจเบียร์และสุราตรงนี้ แต่ปรากฏว่าพอไปดูข้อกฎหมายกลับมีเงื่อนไขมาขัดขวางอยู่ คือมันต้องมีเงินทุน 10 ล้านบาท หากจะทำโรงเบียร์ก็ต้องผลิตเบียร์เป็นแสนลิตร จะเป็นไปได้อย่างไร กฎหมายมันไม่เอื้อให้คนตัวเล็กๆ เลย ในวงการคราฟต์เบียร์ คนที่มีฝีมือ มีภูมิปัญญาในการทำเบียร์อร่อย กลับไม่สามารถก้าวขึ้นมาทำธุรกิจนี้ได้
ตรงนี้เองที่ผมได้รู้ว่าเมืองไทยมีปัญหา ดังนั้น เลยพยายามรวบรวมคนกลุ่มนี้เข้ามาร่วมในกระบวนการแก้กฎหมายด้วย
ด้วยกฎหมายและข้อจำกัดด้านการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อประชาชนในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ผมมองว่ามันเป็นการปิดกั้นช่องทางชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งเลยนะ
มีคนเคยบอกผมว่า บางทีชีวิตเราทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่าง แต่เราอาจจะทำเบียร์ดีก็ได้ ขอแค่ให้มันเป็นกิจกรรมให้คนลองทำบ้าง ผมเชื่อว่าหลายคนมีพรสวรรค์ในการทำของอร่อย แม้คุณจะไม่รู้จักประเภทของเบียร์เลย แต่ตราบใดที่ลองทำออกมาแล้วมันอร่อย มันก็จะกลายเป็นรางวัลของคุณ
ด้วยเหตุผลนี้หรือเปล่า เป็นเหตุให้งานคราฟต์เบียร์ Beer Days และ Beer People Festival กลับเห็นสุราชุมชนในงานน้อยมาก ทั้งที่คุณก็ผลักดันเรื่องสุราชุมชนเช่นกัน
ต้องบอกตามตรงว่าเขาไม่มากัน เป็นเรื่องที่ผมเสียดายมากเหมือนกันนะ
สุราชุมชนจริงๆ แล้วมันมีความสนุกอีกมากมาย กับวัตถุดิบในท้องถิ่นที่อยากผลักดัน
จากที่ผมคุยกับสรรพสามิต ในไทยเรามีสุราชุมชนมากถึง 2,000 แบรนด์ แต่ที่ผมรู้จักมีเพียง 60 แบรนด์เท่านั้น ซึ่งในงานก็มีแค่ 5-6 แบรนด์ ตรงนี้เราก็ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของเรา ทำไมเราถึงไม่รู้จักสุราชุมชนเหล่านี้เลย
คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าจริงๆ ตัวคุณก็มีงานประจำอยู่ อยากรู้ว่าในอีกมุมหนึ่ง เบนซ์-ธนากร คือใคร
ผมทำงานเกี่ยวกับกาแฟ หน้าที่หลักคือควบคุมมาตรฐานในพาร์ตของการคั่วกาแฟ มีการชิมกาแฟ วางแผน และดูโปรไฟล์ของเมล็ดกาแฟ
มีคนเคยถามผมว่าเบียร์กับกาแฟมีอะไรคล้ายกันไหม ด้วยทักษะที่เหมือนกับกาแฟ การสังเกต ดมกลิ่น ชิมรส มันทำให้เราค่อนข้างได้เปรียบในการสร้างสรรค์กลิ่นรสของเบียร์ เพราะงานของเราต้องชิมกาแฟเปรียบเทียบแต่ละเมล็ด พอเป็นการทำเบียร์กินเองในบ้าน เรามองสี ดมกลิ่นก็จะรู้เลยว่าเบียร์ตัวนี้ผิดปกติ
มีข้อเสนอสำหรับการผลักดันสุราชุมชนหลังจากนี้ไหม จากที่คุณอยู่ในแวดวงเบียร์มาตลอด
ข้อเสนอเป็นเรื่องของกฎหมายขั้นต่ำในการผลิตสุราครับ ควรเปิดช่องให้รายย่อย
จากที่ผมเคยไปดูงานที่ญี่ปุ่นกับเวียดนาม ร้านขายเหล้าเบียร์ไม่ต่างกับร้านกาแฟเลยครับ ที่เคยเจอหลังร้านเป็นพื้นที่ต้มเบียร์ ใช้หม้อขนาดประมาณหม้อก๋วยเตี๋ยว 3 หม้อ ก็สามารถทำขายได้แล้ว ธุรกิจเล็กแต่มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานเคร่งครัด เป็นภาพที่ผมอยากเห็นในประเทศเรา พอเทียบกับบ้านเรา มันยังทำไม่ได้ กฎหมายบอกว่าเหล้าสีต้องผลิตวันละ 3 หมื่นลิตร ซึ่งมันเกินกำลังของรายย่อย
อีกเรื่องคือการจำกัดเวลาขายแอลกอฮอล์ ตรงนี้มันทำให้รายย่อยเสียต้นทุน สูญเสียเวลาที่เขาควรจะได้ขายสินค้า
สุดท้ายคือเรื่องโฆษณาแอลกอฮอล์ ทุกวันนี้มีคนอยากลองดื่มสุราชุมชนเป็นจำนวนมาก แต่พวกเขาไม่รู้ว่าต้องหาซื้อได้ที่ไหน แต่ละตัวรสชาติเป็นอย่างไร เพราะประเทศไทยยังห้ามโฆษณาหรือรีวิวอยู่
มีหลายคนบอกว่า ที่ไม่กินคราฟต์เบียร์ เพราะมันแพงมาก ไปซื้อเบียร์นายทุนกินดีกว่า ถูกกว่า เมาเหมือนกัน ในความคิดของคุณคิดว่าราคาคราฟต์เบียร์ในไทยราคาสูงไปไหม เมื่อเทียบกับคุณภาพและปริมาณที่ได้
เรื่องราคามองได้สองมุมนะครับ อย่างแรกผมอยากให้ตั้งคำถามว่าคราฟต์เบียร์แพง หรือค่าแรงบ้านเราถูก อย่างญี่ปุ่น ค่าแรงขั้นต่ำ 1 ชั่วโมงสามารถซื้อคราฟต์เบียร์ได้ 2 กระป๋อง แต่กลับมามองที่บ้านเรา กลายเป็นว่าค่าแรงขั้นต่ำ 1 วัน ได้คราฟต์เบียร์แค่กระป๋องเดียว
อีกแง่มุมหนึ่งคือ คราฟต์เบียร์สัญชาติไทยหลายยี่ห้อ ไม่สามารถผลิตในประเทศไทยได้ ต้องจ้างผลิตที่ต่างประเทศ พอนำเข้ามาขายในไทยก็จะบวกค่าภาษีต่างๆ ตรงนี้ถ้าปรับแก้กฎหมายการผลิต ผมว่าคนไทยน่าจะได้กินคราฟต์เบียร์ราคาถูกลงครับ
ส่วนเรื่องคุณภาพถ้ารัฐบาลสนับสนุนมากกว่านี้ คุณภาพของคราฟต์เบียร์ไทยจะพัฒนาขึ้นได้อีกครับ
คราฟต์เบียร์ในไทยมันแก้ได้ยาก เพราะคนยกให้ศีลธรรมอยู่เหนือกฎหมายหรือเปล่า
ประเทศเราใช้ศาสนามาตีกรอบด้วยคำว่า ‘ศีลธรรมอันดี’ ซึ่งไม่เคยได้รับการขยายความที่ชัดเจนเลยว่า เป็นศีลธรรมอันดีของใคร ของประชาชนหรือของผู้อำนาจ
ดังนั้น น่าตั้งคำถามว่าเราถูกยัดเยียดให้อยู่ในกรอบเดียวกัน โดยผู้มีอำนาจใช้ศีลธรรมมาอ้างหรือเปล่า
เพราะทุกคนไม่ได้เกิดมาเหมือนกันนะ ชีวิตคนเราไม่ได้เกิดมากินอะไรอย่างเดียว เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้กินของอร่อยและหลากหลาย แต่ก็น่าแปลกใจทำไมเรื่องนี้จึงเกิดกับวงการเบียร์และสุราในไทยยากเย็นนัก
คุณมีภาพฝันของคราฟต์เบียร์ สุราชุมชน กับประเทศไทยไว้อย่างไรบ้าง
ผมอยากให้คนหันมาดื่มคราฟต์เบียร์เพราะความอร่อย อยากให้เข้าถึงความอร่อยได้ง่าย อย่างร้านนี้ที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ก็เป็นร้านชำของชาวบ้าน ไม่ใช่ร้านคราฟต์เบียร์หรูหราเลย ซึ่งผมอยากให้ร้านนี้เป็นต้นแบบของร้านชำทั่วประเทศที่สามารถขายคราฟต์เบียร์ และสุราในชุมชนได้ ร้านโชว์ห่วยเอาเหล้าในชุมชนมาขาย บวกกำไรเพิ่มนิดหน่อย แต่กำไรมากกว่าขายเหล้าเบียร์นายทุนอย่างแน่นอน
หาก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าประสบความสำเร็จ แล้วก้าวต่อไปของประชาชนเบียร์จะเป็นอย่างไรต่อ
พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าเป็นแค่จุดเริ่มต้น ตอนนี้สวยงามแล้ว ซึ่งหลักๆ จะดูเรื่องการผลิต
จากนี้จะเป็นเรื่องการโฆษณาแอลกอฮอล์ และเรื่องเวลาห้ามขายแอลกอฮอล์ ตั้งแต่บ่ายสองโมงถึงห้าโมงเย็น ที่ต้องผลักดันกันต่อไป มันคงเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานพอสมควร อาจใช้เวลาถึงสิบปี
ตอนนี้เป้าหมายสูงสุดของผม คืออยากเห็นสุราชุมชนหรือรายย่อย เข้ามาแข่งขันในตลาดอย่างจริงจัง ได้รับส่วนแบ่งในตลาดเท่ากับรายใหญ่ เพราะแกนหลักของประชาชนเบียร์คือกระจายอำนาจให้ประชาชนส่วนใหญ่
ไม่นานมานี้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่อย่าง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าสนับสนุนคราฟเบียร์ในประเทศไทย คุณคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้
การสนับสนุนจากรายใหญ่ในภาคธุรกิจเป็นเรื่องปกติ
ผมมองว่ากลุ่มทุนมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ด้านไม่ดีคือเขาอาจจะได้เปรียบมากเกินไปในตลาดที่เกือบผูกขาด แต่ด้านดีคืออย่างน้อย ตอนนี้เขาก็พยายามสนับสนุนรายย่อย
สุดท้ายแล้วต้องพิจารณาว่าประชาชนได้ประโยชน์มากแค่ไหน
ความหวังในรัฐบาลใหม่คืออะไร อยากฝากอะไรถึงพวกเขาบ้าง
ในพรรคก้าวไกล พี่เท่า (เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร) เป็นคนที่ผมรู้จักมานาน ก่อนที่ผมจะเริ่มทำคราฟต์เบียร์เสียอีก และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมด้วย เห็นการต่อสู้มาตลอด ก็เป็นกำลังใจให้ครับ
ส่วนประชาชนเบียร์เราทำงานได้กับทุกพรรคครับ พรรคไหนที่ผลักดันเรื่องนี้ เราสนับสนุนทั้งหมดครับ
มีอะไรอยากฝากอะไรถึงรัฐบาลและนิติบัญญัติที่มีอำนาจแก้ไขเรื่องพวกนี้บ้าง
สำหรับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ที่เป็นปัญหากันอยู่เนี่ย อยากให้พวกคุณรู้ไว้ว่า มันคือความเป็นห่วงเป็นใยประชาชนมากเกินพอดี ที่เนื้อแท้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น เรายังเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากรายใหญ่ตลอดเวลา แต่ในรายย่อยการโฆษณาเท่ากับฝ่าฝืนกฎหมาย
ในโลกคู่ขนาน หากคุณไม่ได้หลงใหลคราฟต์เบียร์ ไม่ได้ก่อตั้งกลุ่มประชาชนเบียร์ ไม่ได้ผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า คุณเบนซ์คิดว่าตัวเองตอนนี้จะทำอะไรอยู่
ถ้าไม่ได้รู้จักคราฟต์เบียร์ ผมคงยังทำงานกาแฟเหมือนเดิมครับ แล้วก็เป็นคนขี้เมาคนหนึ่งเท่านั้นเอง
Fact Box
- กลุ่มประชาชนเบียร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 หนึ่งในผู้ก่อตั้งคือ ส้ม-สุภัค ก่ออิฐ ผู้ชักนำให้เบนซ์-ธนากร ได้รู้จักกับคราฟต์เบียร์
- เบียร์ของเบนซ์-ธนากร ชื่อแบรนด์ว่า ‘จุติ’ แปลว่า การตายของเทวดาเพื่อมาเกิดบนโลกมนุษย์ คอนเซปต์คือต้องการให้คนที่เกลียดรสชาติเบียร์ในตลาด ตายจากเบียร์แบบนั้น แล้วมากินคราฟต์เบียร์แทน
- พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือทางอ้อม