ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ‘แบงก์ชาติ’ มักจะเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีบทบาทในเชิงนโยบายการคลังโดยตรง แต่การควบคุมธนาคารพาณิชย์ กำกับดูแลนโยบาย ‘การเงิน’ ก็ทำให้ถูกมองได้ว่า วิธีคิดของแบงก์ชาตินั้น ‘ตึง’ เกินไป จนทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเดินหน้าได้ที่ควร

คำถามก็คือ แล้วทั้งหมดเป็นภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยจริงหรือไม่ ในห้วงเวลา ‘วิกฤต’ เช่นนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยทำอะไรอยู่ แล้วในสายตาของคนในแบงก์ชาติ การจะออกจากวิกฤตนี้ มีวิธีการ มีวิธีทำอย่างไรบ้าง

ในเวลาเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีบทบาทอย่างสูงในวิกฤตคอลเซนเตอร์ เพราะต้องยอมรับว่า เหตุที่ทำให้ขบวนการนี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือการเปิด ‘บัญชีม้า’ ที่ง่ายดายจากธนาคารพาณิชย์ ที่ชวนให้ตั้งคำถามว่า ในห้วงเวลาเช่นนี้ ผู้ที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย มีบทบาททำอะไร และต้องทำอะไรบ้าง

The Momentum สบโอกาสพูดคุยกับ ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงบทบาทของธนาคารกลาง ท่ามกลางกระแสลม ท่ามกลางพายุที่เชี่ยวกราก ไม่ว่าจะด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ และด้วยปัญหาคอลเซนเตอร์ ดร.รุ่งมองปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้ว บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยวันนี้ทำหน้าที่อะไรบ้าง

เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ธนาคารกลางของเราถือว่ามีบทบาทไม่น้อย นอกจากเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้ว เรายังดูแลในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน การกํากับในเรื่องของการเคลื่อนไหวของเงินทุนระหว่างประเทศ รวมถึงเสถียรภาพการเงินในระบบใหญ่​ให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติ หรือหรือเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ

อีกด้านหนึ่ง นอกจากกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์แล้ว เรายังดูแลสิ่งที่เรียกว่า Non-bank ด้วย แม้จะไม่ใช่ธนาคาร แต่ก็เป็นสถาบันอีกแบบหนึ่ง เขาอาจจะทำหน้าที่ปล่อยกู้ หรือทำหน้าที่ในเรื่องการชำระเงิน เราก็กำกับดูแลบางส่วนด้วยเช่นกัน 

ขณะเดียวกันอีกเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำเยอะ แต่คนไม่ค่อยทราบ คือดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำเอง ดำเนินการเอง เช่น พิมพ์ธนบัตร การชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน ผ่านระบบชำระดุล ที่เราเรียกว่า Baht Net โดยเราดำเนินการทุกวันทำการ แล้วทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็ต้องมีโครงสร้างอื่นเข้ามาสนับสนุน เพราะฉะนั้นในเรื่องของระบบ Payment นอกจากเรากำกับดูแล เราก็เป็นคนทำเองด้วย

ด้วยสภาพที่เกิดอยู่ขณะนี้ มีเสียงวิพากษ์ถึงธนาคารพาณิชย์ว่า มีกำไรเยอะ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจ ภาคประชาชนตัวเล็กตัวน้อยกลับไม่ค่อยดี คุณมองจุดนี้อย่างไร จะสร้างความเชื่อมั่นอย่างไร เพื่อลดความรู้สึกนั้น

ถ้าเกิดว่าเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นโดยรวม เราทำผ่านนโยบายต่างๆ เช่นลดดอกเบี้ยที่เพิ่งทำไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ นอกนั้นเราก็เพิ่มเรื่องผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ Loan to Value: LTV) เพื่อให้ประชาชนกู้บ้านได้ง่ายขึ้น เรายังมีโครงการ ‘คุณสู้เราช่วย’ ในเรื่องการการแก้ไขช่วยผ่อนชำระหนี้ของประชาชน หรือผู้ประกอบการคนตัวเล็กที่ช่วงหลังอาจขลุกขลักในการผ่อนชำระหนี้

นี่คือมาตรการที่เราทำเพื่อหวังว่า สภาพการตึงตัวต่างๆ ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้จะผ่อนคลายลง เป็นประเด็นในระยะสั้น 

ส่วนเรื่องธนาคารพาณิชย์ที่หลายคนมองว่ากำไรเยอะ ก็ต้องอธิบายว่า เขาเป็นภาคที่ใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจเราก็พึ่งพาธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นเขาก็เหมือนคนตัวใหญ่ เป็นคนตัวใหญ่ที่รายได้เยอะ แล้วรายได้ส่วนหนึ่งก็เป็นกำไรของเขาได้ด้วย

ซึ่งถ้าเทียบกับทุน เทียบกับขนาดสินทรัพย์ของเขา แล้วจับไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านก็อาจจะไม่ได้อยู่ในลักษณะที่แตกต่างกันมากนัก

แต่ถ้าเราพลิกคําถามไปว่า เขาทําอะไรดีขึ้นได้ไหม ในแง่ของการตอบโจทย์ประชาชนให้ได้มากขึ้น แข่งขันกันเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า ก็ต้องตอบว่าทำให้ดีขึ้นได้ อาจเป็นสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติตัวดีมาโดยตลอด แล้วก็แข่งกันหาลูกค้าดีๆ แบบนี้ เสนอผลิตภัณฑ์ที่ดี ลดดอกเบี้ยให้ ก็สามารถทำได้ 

ในภาพของธนาคารแห่งประเทศไทย เราอยากให้ธนาคารพาณิชย์มั่นคง สามารถเสนอบริการที่ปลอดภัย ได้คุณภาพ ของพวกนี้ ต้องบอกว่ามันมีต้นทุนอยู่ แต่บางเรื่องก็ต้องพิจารณากับธนาคารพาณิชย์ว่า เรา ‘มัด’ เขาแน่นเกินไปไหม อะไรที่ผ่อนได้ ก็จะเป็นการลดต้นทุนบางประการให้เขา ซึ่งเราก็คาดหวังว่าต้นทุนเหล่านี้จะถูกส่งผ่านไปถึงประชาชนคนใช้บริการด้วย

แต่ถามมาบอกว่ามันจะไปได้ง่ายๆ แบบนั้นไหม ไม่ได้หรอก เพราะทุกคนก็อยากเก็บกําไรไว้กับตัวเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ จะต้องเกิดการแข่งขัน และต้องมีการแข่งขันที่มากขึ้น ต้องมาในรูปแบบทั้งการแข่งขันกันเองระหว่างธนาคาร และธนาคารกับ Non-bank นี่คือสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปูพื้นมาโดยตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ในเรื่องดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะผลักดันเรื่องอะไร เพื่อให้ระบบทางการเงินเปิดกว้างมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เราจะผลักดันเรื่องนี้ผ่านกลยุทธ์ 3 Open ให้ระบบทางการเงินเราเปิดกว้างมากขึ้น 

อย่างแรกคือ Open Infrastructure ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์เขาเป็นเจ้าของ Infrastructure หลายอย่าง เช่นระบบพร้อมเพย์ ต้องยอมรับว่า ประเทศเราได้ประโยชน์อย่างมากจากพร้อมเพย์ เราสามารถจ่ายเงินสะดวกสบาย ไม่คิดเงิน นี่คือระบบธนาคาร

แต่คนอื่นมาใช้พร้อมเพย์ ยังไม่ได้ง่าย สมมติ Non-bank อยากใช้ อาจใช้ได้ แต่ไม่ได้สะดวกมากนัก อย่างไรก็ตามหากเขาสามารถจัดการเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยได้ปลอดภัยมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เปิดกว้างให้กลุ่มนี้สามารถใช้งานได้มากขึ้น

ส่วนที่ 2 ก็คือ Open Data เรารู้อยู่แล้วว่า ในปัจจุบันทั้งข้อมูลและการใช้ข้อมูลเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะฉะนั้นใครที่ใช้ข้อมูลได้ดี มีข้อมูล แล้วก็พบข้อมูลไหลเวียนได้มากเท่าไร ระบบเศรษฐกิจก็จะมีประสิทธิภาพ สถาบันการเงินจะรู้จักลูกค้ามากขึ้น เสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้าได้มากขึ้น และลูกค้าก็จะแยกแยะได้ หากใครมีความเสี่ยงสูงกว่า ดอกเบี้ยที่คิดในแง่ของเงินกู้อาจต้องสูงกว่า แต่ถ้าเกิดคุณเสี่ยงน้อย เรารู้จักคุณดี ลูกค้าก็ควรจะได้รับผลิตภัณฑ์ ที่มีค่าใช้จ่ายน้อยลง มีภาระดอกเบี้ยที่น้อยลง เราอยากให้ข้อมูลลูกค้าไหลเวียนในระบบได้มากขึ้น คนที่ไม่ได้รู้จักลูกค้ามาก่อนหน้า ก็ยังสามารถจะได้รับข้อมูลนี้เพื่อไปให้บริการที่ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเรามีโครงการที่เรียกว่า Your Data ให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกส่งข้อมูลให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เผื่อให้ได้รับบริการการเงินที่ตอบโจทย์มากขึ้น สะดวกสบายขึ้น

ส่วนที่ 3 Open Competition ในเบื้องต้นก็ได้เริ่มทําไปแล้ว ในเรื่องของการเปิดให้มี Virtual Bank ที่บอกว่าอยู่ในกระบวนการสมัคร แล้วก็พิจารณาตัดสิน ความคาดหวังเราคือให้มีคนที่มีทักษะ มีเทคโนโลยี ใช้ข้อมูลเป็น ใช้ข้อมูลเก่ง และที่สำคัญ ไม่ต้องถูกกดทับด้วยระบบเก่าๆ เข้ามาอยู่ในตลาดมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา-ตัดสิน 

เพราะต้องยอมรับก่อนว่า บางทีธนาคารที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ไม่เก่ง แต่ด้วยโครงสร้าง เขาจำเป็นต้องเซอร์วิสลูกค้าตั้งแต่คนตัวใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ ไปจนถึงคนตัวเล็ก โครงสร้างของเขาถูกสร้างไว้เพื่อรองรับคนจํานวนมากและรองรับลูกค้าที่มีความหลากหลายมากเขามีตั้งแต่โมบายแบงก์กิ้ง สาขา สํานักงานใหญ่ เยอะแยะไปหมด

โครงสร้างแบบนี้ไม่ได้เอื้อกับการที่คนที่เป็นผู้ประกอบการกลุ่มเล็ก กลุ่มที่เป็นชายขอบ และเป็นกลุ่มที่เราอยากจะให้เขาได้รับบริการที่ดีขึ้นได้ง่ายนัก เพราะฉะนั้นเราเลยอยากเปิดกว้างให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากคนกลุ่มใหม่ๆ

ในระบบนิเวศเช่นนี้ คุณคาดหวังให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อะไรขึ้นมาบ้าง

แน่นอน เราคาดหวังจะต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างน้อยที่สุด ถ้าเขาเห็นข้อมูลของลูกค้าแล้วว่าแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน ราคาดหวังให้เขาเสนอดอกเบี้ยที่ไม่เท่ากัน อาจจะบอกว่าดอกเบี้ยไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่หากระหว่างทาง เขาดูดีขึ้น คุณควรจะเปลี่ยนดอกเบี้ยระหว่างทางได้ 

ด้วยโครงสร้างธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันอาจทำได้ยากมาก ไม่ใช่ว่าเขาอยากหรือไม่อยากทำ แต่ระบบของเขาไม่สามารถทำได้ง่ายๆ เหมือนเราอยู่บ้านเดิมที่ระบบไฟฟ้า ประปา ถูกกำหนดไว้แบบหนึ่ง ปรับแต่งอะไรไม่ได้แล้ว

ฉะนั้นผู้เล่นใหม่ๆ เขาอาจจะสร้างโครงสร้างองค์กรของเขา มีระบบเทคโนโลยี มีการพิจารณาสินเชื่อที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่า ตอบโจทย์ลูกค้าบางกลุ่ม หรือลูกค้าที่อาจจะมีรายได้ไม่ประจำ ไม่สม่ำเสมอ อาจจะมาปีละ 2 ครั้ง ปีละครั้ง เราอยากเห็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนเหล่านี้ด้วย

อีกส่วนหนึ่งที่เราก็คาดหวัง ที่เราเห็นจากต่างประเทศก็คือ พอเกิดการแข่งขัน คนเก่าๆ ก็กระฉับกระเฉงขึ้น มันก็มีไอเดียใหม่ๆ มันก็เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นสิ่งที่เราอยากเห็น

ถ้าเกิดแบงก์เดิมๆ ทำโมบายแอพตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เอาบางส่วนไปแข่งกับ Virtual Bank เราก็คิดว่าน่าพอใจ

หลายคนวิจารณ์ว่าแบงก์ชาตินั้นอนุรักษนิยมเกินไป คุณคิดว่าจริงไหม ความอนุรักษนิยมของธนาคารกลางแท้จริงแล้วคืออะไร

อย่างแรกคือคงต้องเข้าใจก่อนว่าพันธกิจของธนาคารกลางคืออะไร ถ้าพูดให้ง่ายที่สุดก็ขอเทียบกับทีมฟุตบอลแล้วกัน ถ้าอยู่ในทีมฟุตบอล จริงๆ แล้วเราคือกองหลัง

แต่เอาละ ส่วนใหญ่เราคือกองหลัง ในการระวังข้างหลัง หน้าที่ของเรา ไม่ใช่คนที่จะไปยิงประตู สิ่งที่เราทำคือคิดรอบ มองไกล ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤต นี่คือพันธกิจของเรา แต่ถ้าในเรื่องการไปทำคิดสิ่งใหม่ๆ ล้ำๆ อันนั้นเราอาจจะมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เราเป็นฝั่งสนับสนุนมากกว่า 

ฉะนั้นเราอยากให้เห็นบริบทของการระวังหลัง ช่วยให้กองหน้าทํางานของเขาได้อย่างไม่ต้องกังวล มีคนดูอยู่ไม่ต้องกังวล มีคนคอยปิดหลังให้ นั่นคือการทำงานที่เป็นทีม เป็นทีมที่สำเร็จ 

แต่ถ้าบอกว่า เป็นทีมที่ให้กองหลังไปทําประตูเนี่ย ไม่แน่ใจว่าจะได้แชมเปียนชิปไหม (ยิ้ม) เพราะฉะนั้นการทํางานของธนาคารกลาง เราต้องมองไกล เราทํางานในระยะยาว 

ใช่ คุณอาจจะไม่ค่อยเห็นการกระตุ้นในระยะสั้น แต่เราจะพูดอยู่เสมอว่าทําอันนี้ในวันนี้ อาจจะดีในระยะสั้น แต่สิ่งเหล่านั้นจะแลกมาด้วยต้นทุนอะไรในระยะยาว นี่คือลักษณะการทำงานของเรา เพราะเราเน้นเรื่องการมองไกล อันที่ 2 คือต้องให้ข้อมูลกับประชาสังคมว่า ทําอย่างนี้แล้วอันตรายไหม ทําอย่างนี้ดีไหม แล้วชวนคิดให้มองเรื่องอื่นให้ไกลมากขึ้น

แต่ท้ายที่สุด การทํางานของธนาคารกลางต้องอยู่บนหลักการของความไว้เนื้อเชื่อใจของประเทศนะ เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรไม่มีคำที่เราเรียกว่า Credibility โอกาสที่เศรษฐกิจจะไปรอดก็มีน้อยแล้ว เพราะถ้ากองหลังยังเชื่อไม่ได้ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลแล้ว

เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ทุกคนเชื่อใจว่า เราทำหน้าที่เราให้ดี เพราะฉะนั้นเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด สนับสนุนให้เขาทำหน้าที่เขาให้ดี อันนั้นน่าจะเป็นจุดหลักของเรา มากกว่าพยายามที่จะไปทําหน้าที่แทนคนอื่นในสิ่งที่อาจจะไม่ใช่พันธกิจหลักของเรา

ในฐานะที่ดูแลหน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจไทย คุณมองภาพรวมเศรษฐกิจตอนนี้อย่างไร 

ต้องยอมรับว่า ฟื้นตัวช้ากว่าที่คิดและยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ จากปัญหา Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ฉะนั้นยังไงก็ยังเป็นช่วงที่ไม่ง่าย การฟื้นตัวต่างๆ น่าจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างเยอะ 

แต่หลักๆ เรามีปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศเราเป็นอย่างแรก เราเป็น Aging Society (สังคมผู้สูงอายุ) อย่างไรสังคมที่แก่ลงเศรษฐกิจก็ไม่ค่อยโตอยู่แล้ว อีกอย่างคือโครงสร้างเศรษฐกิจ เรายังเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจเก่าค่อนข้างเยอะ 

แล้วเรามักจะได้ยินกันว่า คนไทยไม่ค่อยเรียนในเรื่องของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โลกปัจจุบันเป็นโลกของเทคโนโลยี เราเห็นว่าหุ้นทั่วโลกที่โตดีๆ ก็จะเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การที่ประเทศเรา พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างตามหลังคนอื่นอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เราต้องแก้ปัญหาในจุดนี้ก่อน เราถึงจะโตกลับไปมีเหมือนกับจุดที่จะกระตุ้นการโตได้อย่างจริงจังและยั่งยืน

ฉะนั้นปัญหาของส่วนที่เรากําลังพยายามทํากันอยู่เยอะๆ ช่วงนี้อาจจะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาระยะสั้น อาจจะพอให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ แต่ไม่ได้เป็นคำตอบที่จะทดแทนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเรา ไม่ว่าจะเรื่องระบบการศึกษา หรือการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น 

การเพิ่มการลงทุนก็ต้องมาจากความสดใสของประเทศเราว่าจะมีอะไรที่สดใส แล้วทำให้ผู้ลงทุนสนใจ เป็นที่น่าดึงดูดของผู้ลงทุน ขณะเดียวกันรูรั่วต่างๆ ก็ต้องลดน้อยลง ไม่ว่าจะเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องเศรษฐกิจสีเทา ที่อาจไม่ได้กลับมาเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจได้ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไข

เวลาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีบทบาทในการดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง

ถ้าระยะสั้น เราก็จะเป็นคนดูแลในเรื่องของตัวแปรทางการเงินหลักๆ ที่เป็นต้นทุนกับธุรกิจหรือประชาชนก็เช่นดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน จุดพวกนี้คือต้องหมุดให้ตัวแปรเหล่านี้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้กระตุ้นมากไปในภาวะที่เป็นฟองสบู่ แต่ก็ไม่ใช่ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองจนเกินไป 

นอกจากนั้นเรายังต้องทําให้ระบบสถาบันการเงินทํางานได้ ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมที่ดี จากผู้ออมไปสู่ผู้ลงทุน ไม่ใช่ว่าให้ธนาคารพาณิชย์หุบตัวจนไม่ปล่อยสินเชื่อ

แต่ในระยะยาวก็คือ การมองว่าประเทศจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชําระเงิน เรามีหน้าที่ที่จะปูทางเรื่องพวกนั้น ต้องกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ให้เกิดธรรมาภิบาล ของพวกนี้คือสิ่งที่ถ้าทําแล้วจะช่วยให้ระบบการเงินของเราเข้มแข็ง และเข้มแข็งจากภายใน ไม่ใช่แค่มีทุนหนาเพียงอย่างเดียว

ในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือ Non-bank เอง ก็ต้องมีความสามารถในการแข่งขัน ใช้ข้อมูล ใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย ตอบโจทย์ แข่งกันเองในการเสนอสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้าทั้งกลุ่มใหม่และกลุ่มเก่า แต่สิ่งที่เราทํามันไม่ได้เกิดผลชั่วข้ามคืน แต่เราก็คิดว่างานระยะยาวเป็นงานที่ทิ้งไม่ได้ก็ต้องทําควบคู่ไปกับงาน ระยะสั้นก็คือดูแลเศรษฐกิจ

แล้วตกลงธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอนุรักษนิยมไหม

โดยพันธกิจของเราเป็นหนึ่งในคนที่อนุรักษนิยมมากกว่าคนอื่น เพราะพันธกิจของเรา ไม่ว่าจะเรื่องมองยาว มองรอบ มองให้ครบ และเป็นคนที่น่าเชื่อถือในระบบเศรษฐกิจการเงินทำให้เราทำยังไง ก็เหมือนต้องค่อนไปทางอนุรักษนิยม แต่คงต้องพูดอย่างนี้ว่า ถ้าเราจะบอกว่า อนุรักษนิยมแล้วแปลว่าอยู่นิ่งๆ ไม่ใช่นะ บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนต้องเปลี่ยนด้วย

แต่ถึงอย่างไรเรายังต้องยึดหลักว่า การทํางานของเรายังต้องรอบคอบ มองไกล ยั่งยืน เป็นคำที่หมุดความเป็นธนาคารกลาง ถ้าทิ้งตรงนี้แล้ว ถ้าเศรษฐกิจไม่มีกองหลังที่ดี ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

มีคนบอกว่าส่วนหนึ่งที่เศรษฐกิจโตช้า เพราะธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อยาก และแบงก์ชาติคุมเข้มเกินไปจนเศรษฐกิจไม่ดี ในฐานะที่คุณดูแลตรงนี้เป็นเรื่องจริงไหม

คิดว่าส่วนหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อยากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มาจากภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ส่วนหนึ่งคือฐานะของลูกหนี้ จากรายได้ของลูกหนี้ที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่ทุกคนคิด ก็อาจทำให้พอร์ตลูกหนี้เขาดูไม่ค่อยดี

แต่อีกส่วนหนึ่งที่อย่างไรก็ยังเป็นปัญหาในประเทศเรา ก็คือข้อมูลของลูกหนี้ไม่ค่อยมี โดยเฉพาะคนตัวเล็ก เรามองไม่เห็นตัว หรือถ้ามีก็กระจัดกระจาย อาจยังไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ ฉะนั้นการที่ธนาคารพาณิชย์หรือคนที่จะปล่อยกู้ ได้มาซึ่งข้อมูลแล้วบอกว่า มั่นใจจนกล้าจะปล่อยกู้ เขาก็มีต้นทุนเหมือนกันในการรวบรวมข้อมูลพวกนี้ นี่คือสิ่งที่เราถึงได้บอกว่าเราก็ต้องทําให้ต้นทุนพวกนี้มันลดลง

อันหนึ่งที่เราได้รับคอมเมนต์มา คือเรื่องของ Responsible Lending (หลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม) เป็นมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาในช่วงปลายปี 2566 โดยมีเจตนาคือ อยากจะให้ช่วยพิจารณาว่าเรื่องอะไรที่เอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ อะไรที่บอกลูกหนี้ไม่ครบ เราไม่อยากให้ทำ 

ขณะเดียวกันในเรื่องการช่วยเหลือลูกหนี้ สถาบันการเงินก็ต้องช่วยก่อน ไม่ใช่รอให้เขามีปัญหาแล้วค่อยไปช่วยเขา นี่คือหน้าที่ของคนปล่อยกู้ที่เราคาดหวัง 

ตอนที่ออกมา ความคาดหวังของเราคือเราไม่อยากปล่อยลูกหนี้ให้มีหนี้เกินตัว แต่หนี้ที่ไม่เกินตัว เราก็อยากให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพียงแต่ว่าเรื่องนี้เกิดไปผสมโรงกับช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ทำให้เข้าใจว่า อาจจะมีจุดที่ทําให้ธนาคารพาณิชย์หุบตัวเรื่องการปล่อยสินเชื่อมากกว่าที่ควร ตรงนี้เราก็คุยกับธนาคารพาณิชย์อยู่ว่า เราไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น 

ทราบอีกเรื่องว่า คุณดูแลเรื่องอาชญากรรมทางการเงินด้วย อยากให้ช่วยเล่าบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการหยุดอาชญากรรมทางการเงินว่า คุณทำอะไรบ้าง

บทบาทของเราก็คือตรวจสอบเรื่องการที่กลุ่มอาชญากรเขาใช้โครงสร้างพื้นฐานของเรา คือ ‘บัญชีเงินฝาก’ และการ ‘โอนเงิน’ ต่างๆ เป็นแหล่งในการทำอาชญากรรม นี่คือสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ 

ฉะนั้น สิ่งที่ทำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งตำรวจ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และภาคเอกชนคือธนาคารพาณิชย์ คือเราจะไม่ปล่อยให้มีบัญชีม้า สามารถที่จะอยู่ได้แบบง่ายง่าย เพราะฉะนั้นเลยนํามาซึ่งการกวาดล้างบัญชีม้าในช่วงที่ผ่านมา โดยเราได้เก็บสถิติ เราได้เห็นแพตเทิร์น ของคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็น ‘ม้า’ 

จริงอยู่ บางคนเขาอาจจะไม่ได้เป็น แต่ถ้าเกิดดูแล้วมีความเสี่ยงเยอะ เราคาดหวังให้อย่างน้อย ธนาคารพาณิชย์มีระบบเตือน หรือมีระบบรู้จักลูกค้าให้ดีขึ้น เชิญลูกค้าพูดคุย เชิญลูกค้าไปยืนยันตัวตน เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการใช้บัญชีเงินฝากทำร้ายประชาชน

อย่างน้อยธนาคารพาณิชย์อาจต้องตรวจดูว่า พฤติกรรมลูกค้ามีอะไรแปลกๆ หรือเปล่า ให้ลูกค้ารู้ตัวมากขึ้น ทำควบคู่ได้กับการลดปัญหาอาชญากรรม

บทบาทอาจจะคล้ายๆ กับลักษณะการใช้บัตรเครดิตในที่แปลกๆ ไม่เคยใช้ อาจมีการสอบถาม ยืนยันทำให้ลูกค้ามั่นใจ เพราะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้ต่างจากธนาคารกลางในการอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจของลูกค้า แล้วก็ของประชาชน 

 เรายืนยันว่า ตอนนี้บัญชีม้าเปิดได้ยากขึ้น เราเห็นการเปลี่ยนแปลง ที่บัญชีม้าเปลี่ยนจากบัญชีบุคคล ไปเป็นบัญชีนิติบุคคลมากขึ้น ฉะนั้นเรากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์ ก็จะช่วยเข้าไปดูแล เข้าไปดูบัญชีม้านิติบุคคล และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็จะจับตามากขึ้นว่า ผู้บริหารหรือกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลเหล่านั้น มีความเป็น ‘ม้าดำ’หรือ ‘ม้าเทา’ อยู่ด้วยหรือไม่

ในความเห็นคุณ การกวาดล้างบัญชีม้าถือว่าประสบความสําเร็จแล้วหรือยัง

คงไม่ถึงกับไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะข้อมูลจากตำรวจสะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ บัญชีม้าบุคคลนั้นใช้ยากขึ้น หายากขึ้น และแพงขึ้น อันนี้ตํารวจก็บอกแล้วว่า การจะไปหาบัญชีพวกนี้ยากขึ้น ก็แปลว่าประสบความสำเร็จมากขึ้น

แต่ถามว่าภัยลดลงไหม ความเสียหายเหยื่อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็ยังไปไม่ถึงจุดที่เราพอใจ ภัยการเงินมันพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ถ้าเมื่อไรเราพึงพอใจ เหมือนตำรวจจับผู้ร้าย คิดว่าเราทำพอแล้ว วันนั้นจะเป็นการเปิดช่องให้ภัยใหม่เกิดขึ้น

อีกอันที่เราผลักดันไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) แล้ว กลต.ก็รับลูกแล้ว ก็คือเรื่องของม้าคริปโตเคอร์เรนซี เป็นอีกลักษณะของบัญชีที่เป็นช่องทางมิจฉาชีพเช่นกัน เดี๋ยวมิจฉาชีพก็พัฒนาตัวเองไป เดี๋ยวก็จะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ พัฒนารูปแบบการหลอกลวงให้ซับซ้อนขึ้น ใช้เสียง ใช้ภาพ มากขึ้น ก็คิดว่ามีงานซับซ้อนมากขึ้น 

ทำไมก่อนหน้านี้บัญชีม้าถึงแพร่หลาย และเป็นส่วนสำคัญให้คอลเซนเตอร์นำไปใช้ต่อ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการกำกับดูแลด้วยหรือเปล่า

ต้องยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริบทวันนั้น เราอยากสนับสนุนให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย เราเลยค่อนไปทางเปิดบัญชีได้ง่ายหากเทียบกับต่างประเทศ เราเอาบัตรประชาชนไปก็เปิดบัญชีได้แล้ว แล้วก็ในเรื่องเพดานธุรกรรมต่างๆ เราจะไม่ค่อยมี ต่างกับบางประเทศที่กำหนดไว้ว่าช่วงต้นๆ ก่อนจะมาเป็นลูกค้า เขายังไม่สามารถใช้บริการได้เต็ม 100% ต้องรู้จักกันไปสักพัก ก็จะมี Cooling-off Period อาจจะ 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อจะใช้บริการได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่เราไม่มี ณ วันนี้ บัญชีเงินฝากเราไม่ได้มีปัญหาแล้ว คนไทยสามารถจะเปิดบัญชีเงินฝากได้สบายมาก

เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เคยดี วันนี้มาพร้อมกับภัย เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองและกลับมาดูเหมือนกัน ถ้าลูกค้ามาเปิดบัญชี ธนาคารอาจต้องรู้จักตัวตนเขาให้มากขึ้น สอบถามแหล่งรายได้ให้มากขึ้น 

ยกตัวอย่าง สมมติคุณรุ่งเปิดบัญชีเงินฝาก บอกว่ามีรายได้จากการเก็บค่าเช่าในธุรกิจห้องเช่า แต่ถ้าธนาคารพบว่า มีเงินเข้าทุกวันเลย อาจไม่ได้ตั้งเป้าว่าคุณรุ่งผิด แต่ก็อาจต้องสอบถามกันให้ชัดว่า ตกลงบัญชีเงินฝากที่เคยแจ้งว่า มีรายรับสม่ำเสมอจากธุรกิจห้องเช่า สุดท้ายคุณรุ่งทำธุรกิจอะไรกันแน่ เพราะฉะนั้นธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องติดตามเข้มข้นขึ้น

แต่ทั้งหมดฝากสำหรับประชาชน คงต้องบอกว่า ถ้าเงินออกจากบัญชีคุณแล้ว ไม่ว่าหน่วยงานไหนจะช่วยอย่างไร โอกาสที่ได้คืนนั้นไม่ได้เยอะ และจากสถิติที่ติดตามอยู่ สิ่งหลักคือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นดูแลคนรอบข้างของเราไม่ให้หลงเชื่อง่ายๆ นี่คือเรื่องสำคัญที่สุด

ทราบว่าในฐานะที่คุณเคยทํางานกับธนาคารพาณิชย์มา แล้วกลับมาทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย บทบาทแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ขอกลับไปใช้ในการเปรียบเทียบเรื่องฟุตบอลอีกครั้ง เราอยู่ในภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ก็เหมือนเป็นผู้เล่น แต่อยู่แบงก์ชาติจะเป็นเหมือนกุนซือ ที่ต้องมองภาพใหญ่ ต้องดูภาพรวมว่า ทีมเราไปได้ไหม บริบททั้งหมดเป็นอย่างไร แล้วเราอยากปรับอะไร เพราะฉะนั้นงาน 2 ลักษณะมีความแตกต่างกัน 

จริงๆ ก็ต้องบอกว่าใช้ทักษะไม่เหมือนกัน ทักษะหนึ่งคือวเคราะห์ภาพใหญ่ มองไกล อีกอันคือกระฉับกระเฉง อยู่กับระยะสั้น นี่เป็นสกิลที่แตกต่างกัน 

ชีวิตเราเริ่มต้นจากอยู่แบงก์ชาติ แต่ถ้าไม่รู้จักเลย เอาแต่เป็นกุนซือ ก็คงพูดอะไรที่ไม่รู้เรื่อง หรือหลุดอยู่นอกโลกเนี่ย แต่ว่าพอเราไปรู้จักเขา อาจไม่ได้เก่งในเชิงผู้เล่น แต่อย่างน้อย เข้าใจเขา เข้าใจบริบท เข้าการทำงาน เข้าใจปัญหาที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน เรากลับมาก็ทำให้บทบาทในการเป็นผู้กำกับดูแล เป็นกุนซือนั้นดีขึ้นมาก 

อันหนึ่งที่ตัวเองเอามาใช้ ก็คือพอมาเป็นผู้กํากับดูแล เราคุยกับธนาคารพาณิชย์บ่อยมาก ซีอีโอแบงก์ก็เจอกันบ่อยมาก เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งเรามีความรู้สึกว่า เราอยากได้อะไร เราจะรู้ แต่สุดท้าย ในฐานะผู้กำกับก็ต้องยึดภาพใหญ่ ยึดภาพไกล แต่ในอีกขณะก็ต้องทํางานในระยะประชิดและก็สม่ำเสมอ คล่องตัวกับคนที่เป็นพันธมิตรของเรา

สิ่งที่อยากผลักดันต่อให้ดีขึ้น

อันหนึ่งที่อยากผลักดันคือให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความกระฉับกระเฉงเพิ่มขึ้น เราอาจจะเป็นคนที่ค่อนไปทางอนุรักษนิยมนิดหน่อย แต่เราก็ยังต้องวิ่งตามระบบเศรษฐกิจให้ทัน ซึ่งอันนี้ หมายถึงการเปลี่ยนวิธีคิด ของคน 3,000 คนที่นี่ ไม่ได้ง่าย

อย่างเช่นตอนต้นๆ เวลาเราคุยกับผู้ตรวจ ท่านก็จะค่อนไปทางกังวลในเรื่องของพอร์ตสินเชื่อ แต่เราก็ต้องบอกว่า แบงก์ยุคใหม่พอร์ตสินเชื่อไม่ใช่ไม่สำคัญ เราเห็นว่าพอร์ตสินเชื่อสำคัญ แต่เขามีเรื่องของไซเบอร์เข้ามา มีเรื่องของวัฒนธรรมความเสี่ยง (Risk Culture) มีเรื่องความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk) ที่จะเข้ามาด้วย แล้วเราไม่สามารถมองแบงก์ให้เหมือนกันหมดทุกคน เพราะในอนาคตเราก็ยังจะมี Virtual Bank เข้ามา

ฉะนั้นเราต้องเป็นหมอที่ต้องเข้าใจคนไข้ทุกคน เข้าใจว่าเราไม่สามารถให้ยาเม็ดเดียวกันกับทุกท่านได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องปรับตัว ต้องตอบโจทย์ประเทศในเชิงที่กระฉับกระเฉงมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ง่าย

ความคล่องตัวของแบงก์ชาติที่จะเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง Digital Assets (สินทรัพย์ดิจิทัล) ​ที่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยมีรั้วกั้นไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ไปยุ่งเกี่ยว ในเวลาที่สถานการณ์ค่อนข้างฟู่ฟ่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวลขนาดนั้น ก็ต้องมาต้องทบทวนว่า จะผ่อนเกณฑ์อะไรได้ 

เราอาจจะยังยึดหลักอยู่ว่าแบงค์ก็ยังต้องเป็นสถาบันที่มีความมั่นคง แต่ความมั่นคงนั้นก็ต้องปรับไปตามบริบทที่เปลี่ยนไป ปรับไปตามเวลาที่เราเข้าใจบริบทต่างๆ มากขึ้น 

หมายเหตุ 

สัมภาษณ์เมื่อ 27 มีนาคม 2568

Fact Box

  • ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส ทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมานานกว่า 20 ปีและยังเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ด้านบริหาร, ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน และผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร
  • ช่วงหนึ่งของชีวิต ดร.รุ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Global Business and Strategy ของธนาคารกรุงไทย ในช่วงปี 2560-2562 ก่อนกลับมายังแบงก์ชาติ 
  • ดร.รุ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Harvard University  ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) 
Tags: , , , , , ,