ไม่มีใครรู้ว่า ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คิดอะไรอยู่ในตอนนี้

หลังจากคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ยื่นใบสมัคร 6 คน ประกอบด้วยคนในระดับผู้บริหาร 2 คนได้แก่ เมธี สุภาพงษ์และรณดล นุ่มนนท์ อีก 4 คนก็เป็นชื่อที่คุ้นเคยอย่าง ต้องใจ ชนะธานันท์ สุชาติ เตชะโพธิไทร ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ และ ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ 

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการได้เชิญผู้สมัคร 4 คนที่ผ่านคุณสมบัติมาแสดงวิสัยทัศน์ และเกิดกระแสข่าวโค้งสุดท้ายว่ามีตัวเต็ง 2 รายชื่อสุดท้ายได้แก่ รณดลและ ดร.เศรษฐพุฒิ ซึ่งชื่อที่สองนี้ถูกจับตามาอย่างต่อเนื่องเพราะดูจะเข้าฟอร์มมากที่สุดในขณะนี้

ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่และทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล นี่เป็นช่วงวัดใจที่สำคัญมากของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการบริหารประเทศต่อไปท่ามกลางกระแสเปลี่ยนม้ากลางศึกกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมทั้งการหมดวาระของ ดร.วิรไทที่ทำงานร่วมกันมาตลอด 5 ปี

ถ้าทรงออกมาไม่ดี กำลังใจก็จะทรุดได้เพราะเบอร์ 1’ ขององค์กรนั้นสำคัญเสมอ ถ้าก้าวพลาดก็เกิดความเสียหายทั้งระบบ
The Momentum จึงชวนสังเกตแรงกดดันที่มีต่อตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อสะท้อนแต่ละก้าวที่ไม่ง่ายเลยของ ดร.วิรไท ในช่วงที่ผ่านมาและตั้งโจทย์รอผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้นี้วาระถัดไปในอนาคตอันใกล้นี้   

หากพิจารณาหน้าตาของผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยรอบนี้เทียบกับเมื่อปี 2558 ถือว่าเป็นคนละฟอร์มกันก็ว่าได้ รอบก่อนนั้นมีชื่อของ ทองอุไร ลื้มปิติ และไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการฯ ทั้งคู่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจาก บล.ภัทร เกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ อดีตคนแบงก์ชาติและผู้บริหารสถาบันการเงิน และตัว ดร.วิรไท ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในขณะนั้น

แม้ครั้งนั้น สื่อหลายสำนักเก็งว่า ดร.ศุภวุฒิหรือไพบูลย์ จะเป็นผู้คว้าตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของระบบการเงินไทย แต่สุดท้ายก็ปรากฏชื่อของ ดร.วิรไท และกลายเป็นหนึ่งในผู้ว่าแบงก์ชาติที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของทำเนียบผู้บริหาร คงไม่กล่าวเกินไปหากจะบอกว่าแบงก์ชาติในยุคนี้เป็นแบงก์ชาติที่สร้างการเปลี่ยนแปลง จับต้องได้ และเกิดมุมมองที่หลากหลายต่อธนาคารกลางมากที่สุดครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ระบบพร้อมเพย์ที่ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมการทำธุรกรรมไปสู่สิทธิขั้นพื้นฐานของคนในระบบเศรษฐกิจ มาตรการสินเชื่อบ้านใหม่หรือ LTV (Loan to Value) ที่ท้าทายเสียงวิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างมากในปี 2562 จนนำไปสู่แรงกดดันทุกทิศทุกทางจากภาคเอกชน ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน

หากเลือกมองแรงกดดันสำคัญที่มีต่อเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติในปัจจุบัน ถือว่าน่าจับตามาก และไม่แปลกที่บรรดาคนดังที่เป็นข่าวว่าจะลงสมัครก่อนหน้านี้ถึงพากันหลบฉาก เมื่อต้องรับมือกับโจทย์ดังกล่าวในรอบนี้

ธนาคารกลางในยุควิกฤติเศรษฐกิจ

เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศในระดับที่สูงนั้นได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันปัญหาความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและภาคเอกชนเองก็ยังเป็นเรื่องใหญ่และดูเหมือนตอนนี้ใครๆ ก็กอดเงินสดเก็บไว้กับตัว ไม่กล้าใช้ ไม่กล้าลงทุน รอดูสถานการณ์กันหมดแทบจะทั้งระบบ มีเพียงยักษ์ใหญ่ไม่กี่รายที่เก๋าเกมในโลกธุรกิจมากพอที่ยังขยับและกล้าเสี่ยงกับโอกาสใหม่ๆ
องค์กรระหว่างประเทศรายสำคัญอย่างธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจของไทยในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า จะเติบโตติดลบ 5% กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF คาดว่าจะติดลบถึง 7.7% ขณะที่ธนาคารซิตี้แบงก์ประเมินตัวเลขติดลบที่ 6.8% จับใจความได้ชัดเจนว่าเกือบทุกสำนักมองเศรษฐกิจประเทศไทยทรุดหนักที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจในประเทศทั้งแบงก์ชาติเองก็ประเมินการหดตัวมากถึง 8.1% สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์คาดว่าจะติดลบ 5-6% หรือกระทั่งสำนักวิจัยกรุงศรีก็ยังมองภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งประเทศติดลบถึง 10.3% ในปีนี้

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ถ้าใครจะสักคนจะบอกว่าวิกฤติโควิด-19 นี้ หนักหนากว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เพราะเดือดร้อนกันทั้งระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ประชาชนที่มีระดับหนี้ครัวเรือนสูง ขาดรายได้ ธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นรากฐานสำคัญก็ล้มหายตายจากลงทุกวัน ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ตัดสินใจชะลอการลงทุนและการจ้างงาน รวมทั้งความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจจะกดดันให้เกิดวิกฤติการณ์มิติอื่นนอกจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงได้

แบงก์ชาติเหนื่อยแน่นอน

ผู้ว่าแบงก์ชาติเหนื่อยแน่นอน

หากพิจารณาจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะพบข้อความที่สะท้อนภาวะที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้อย่างน่าสนใจดังนี้ 

1. “ระบบการเงินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโรคจะสิ้นสุดลงเมื่อใดและผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินจะยืดเยื้อเพียงใด จึงจำเป็นต้องรักษากันชน (buffer) ระดับสูงไว้อย่างต่อเนื่อง

ประโยคนี้เน้นเรื่องผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่ลากยาว คาดเดายาก สิ่งที่สำคัญคือการตรึงกำลังในภาคการเงินเพื่อรองรับปัญหาที่จะตามมาอีก เห็นได้ชัดจากการย้ำเตือนให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนให้สูง ขอความร่วมมือไม่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและไม่ซื้อหุ้นคืน เพื่อให้มั่นใจว่าบรรดาธนาคารยังมีกระสุนเพียงพอ แม้ว่าบางรายอาจจะเริ่มออกอาการแล้ว โดยเฉพาะรายที่เน้นปล่อยกู้ให้กลับกลุ่มที่เปราะบางหรือได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงนี้

สอดคล้องกับสัญญาณหนี้เสียขั้นวิกฤติที่ปรากฏในรายงานอย่าชัดเจนว่า 

2. “ รายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ปรับลดลงมาก และยังต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติ / ต้องเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จำนวนมากด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นคือภาวะขาดรายได้อย่างรุนแรงหรือ Income Shock จะยังส่งผลกระทบในวงกว้างและนานกว่าที่คิด มองผลที่ตามมาเป็นลำดับได้ง่ายๆ คือ เมื่อคนไม่มีรายได้ ก็ลดการบริโภคลง คงเหลือไว้แต่ของจำเป็นที่ต้องกินต้องใช้เพื่อเอาชีวิตรอด ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจที่ขายของได้น้อยลง รายได้ลดลง เป็นไปได้ที่จะลดกำลังการผลิตและการจ้างงานลงเพื่ออยู่รอดเช่นกัน โดยระบายสินค้าในสต็อกที่มีออกไปก่อนเพื่อให้มีกระแสเงินสดเข้ามาในองค์กร สิ่งที่น่ากลัวคือความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งลูกหนี้รายย่อยและองค์กรจะหายไป เมื่อเป็นหนี้แต่ไม่มีเงินใช้หนี้ก็กลายเป็นเบี้ยวหนี้ สุดท้ายคนที่ตกที่นั่งลำบากก็คือเจ้าหนี้หรือบรรดาสถาบันการเงินนั่นเอง   

จึงไม่น่าแปลกที่แบงก์ชาติจะตอกย้ำอีกครั้งว่า 

3.“ภาคส่วนต่าง ในระบบการเงินควรให้ความสำคัญกับการประเมินความเพียงพอของ buffer ภายใต้ภาวะวิกฤต (stress test) เพื่อเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า / ภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนสูง การเตรียมพร้อมมาตรการเชิงป้องกัน (pre-emptive) อย่างครอบคลุมจึงมีความจำเป็น” 

ทั้งนี้เพื่อตรวจแถวความพร้อมของบรรดาธนาคารทั้งหลาย เพราะที่ผ่านมาแบงก์ชาติก็ออกมายอมรับว่าสถาบันการเงินแข่งขันกันปล่อยกู้ (Easy Credit) ในทุกพอร์ตสินเชื่อและนำไปสู่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 80% ของ GDP จนต้องยกประเด็นเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและการธนาคารเพื่อความยั่งยืนมาพูดบ่อยครั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายพยายามตีความนโยบายเชิงป้องกันอย่างครอบคลุมว่าหมายถึงอะไร เหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนี้ที่เป็นช่วงวิกฤติหรือไม่ และธนาคารกลางโลกต่างฉีกตำรา ก้าวข้ามจากกรอบเดิมที่มีเพื่อพยุงเศรษฐกิจและทำให้ทุกชีวิตเดินต่อไปข้างหน้าได้ การดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดหรือ  ‘ผ่อนคลายน้อยเกินไปนั้น อาจทำให้สถานการณ์ลุกลาม เจ็บลึกไปมากกว่านี้หรือไม่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำถามที่ยากจะตอบ เพราะตอนนี้ก็ยังไม่มีใครมั่นใจพอว่าวิธีการของตนเองนั้นเหมาะสมที่สุดกับโลกในยุคโควิด-19 นี้ ขณะเดียวกันแบงก์ชาติก็ย้ำว่าพร้อมดำเนินการเพิ่มหากเกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินในท้ายที่สุดด้วย

นอกจากเรื่องหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจแล้ว สิ่งที่ ดร.วิรไทกล่าวถึงและตรงกับมุมมองของบรรดานักเศรษฐศาสตร์แทบทุกสำนักคือ ปัญหาที่เป็นรากเหง้าสำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทยก็คือตัวโครงสร้างเศรษฐกิจเอง ที่ขีดความสามารถในการแข่งขันถูกลดทอนลงเมื่อโลกก้าวไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่ง และดูเหมือนคู่เปรียบเทียบอย่างเวียดนาม มาเลเซียหรืออินโดนีเซียจะเปล่งประกายในเวทีโลกมากขึ้นเรื่อยๆ  ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมานานแล้วและตอนนี้ก็ยังไม่เห็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกได้ นั่นคือเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับเศรษฐกิจ และยิ่งเป็นไปไม่ได้ถ้าจะแข่งขันเรื่องแรงงานราคาถูกเพื่อผลิตสินค้าพื้นฐานแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ค่าแรงปรับสูงขึ้นตามค่าครองชีพ ขณะที่แรงงานหนุ่มสาวหดตัวลงสวนทางกับผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น และกำลังจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ 

เรื่องดังกล่าวสะท้อนผ่านตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งต่ำกว่าระดับศักยภาพ 3-4% เมื่อเจอกับปัจจัยสำคัญภายนอกประเทศอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนด้วยแล้ว อาการของความเปราะบางทางเศรษฐกิจก็ยิ่งสำแดงออกมาให้เห็นจากตัวเลข GDP ปี 2562 ที่โตเพียง 2.4% และยิ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสโลกไม่ลืมอย่างโควิด-19 ด้วยแล้ว นี่จึงเป็นศึกหนักครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่จะต้องรับมือให้ได้ ในวันที่ฝั่งรัฐบาลเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจที่เคยนำโดยดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ไปสู่กลุ่มใหม่  แนวทางใหม่ท่ามกลางความกังวลเรื่องความต่อเนื่องของนโบายจากชุดเดิม
เส้นทางจากนี้ถือว่ายากยิ่งกว่ายาก

แรงเสียดทานจากทุกด้านและจุดวัดใจผู้ว่าแบงก์ชาติ

ไม่มีใครลืมชื่อเริงชัย มะระกานนท์และชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้ามาทำงานในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และปรากฏในฉากหน้าประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเริงชัยที่เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติในวันที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท (2 กรฎาคม 2540) และนำไปสู่ประเด็นสวอปค่าเงินบาทที่เป็นเงาหลอกหลอนเขามาเกือบ 20 ปีจนเพิ่งพ้นวิบากกรรมในปี 2559 

นับจากนั้นระบบการเงินของประเทศไทยก็เปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ จากเดิมที่เคยสนับสนุนเรื่องเปิดเสรีทางการเงินจนเกิดการก่อหนี้ต่างประเทศในระดับที่สูง พอลอยตัวค่าเงินบาทเศรษฐกิจก็ล้มระเนระนาด ภาคการเงินถือว่าเจ็บหนักมากที่สุดไม่แพ้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ เกิดประชากรคนเคยรวยจำนวนมากและการเปิดท้ายขายของก็เป็นวิถีทำมาหากินรูปแบบใหม่ที่ผุดขึ้นมาในขณะนั้น แบงก์ชาติจึงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ทั้งเข้มงวดและเข้มข้นตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ปรับกระบวนยุทธ์สถาบันการเงินให้แข็งแกร่ง ตั้งทุนสำรองในระดับที่สูง และอีกสารพัดเครื่องไม้เครื่องมือที่ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมทั้งสถานะของระบบการเงินที่เข้มแข็งระดับโลกในปัจจุบัน

ผู้ว่าแบงก์ชาติจึงมักจะตีธงเสถียรภาพของระบบการเงิน’ (Financial Stability) อยู่เสมอ ซึ่งเป็นคำที่น่าภาคภูมิใจของผู้กำหนดนโยบาย ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นคำที่บาดใจสำหรับผู้ประกอบการบางส่วนในโลกธุรกิจ

แบงก์ชาติมักถูกสังคมประเมินอย่างไม่เป็นธรรมเรื่องการใช้นโยบายแนวอนุรักษนิยมหรือเข้มงวดมากเกินไปจนกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความไม่เข้าอกเข้าใจผู้ประกอบการและนักลงทุนที่โลดแล่นอยู่ในตลาดการเงิน ในช่วงที่ผ่านมา ดร.วิรไทและทุกส่วนงานของแบงก์ชาติพยายามออกมาพูดกับสังคมผ่านช่องทางต่างๆ มากยิ่งขึ้น ออกนโยบายและมาตรการที่เข้าถึงและเป็นประโยชน์กับผู้คนได้จริง ทั้งระบบพร้อมเพย์ การสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน ธุรกรรมระหว่างประเทศที่ทำได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ถูกลง รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในตอนนี้ด้วย

กระนั้น เสียงวิจารณ์ก็ยังมีอยู่เสมอ

เรื่องมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้านหรือ LTV ที่ปรับอัตราเงินดาวน์สำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไปเพื่อสกัดการเก็งกำไรและสัญญาณอันตรายจากอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นจุดวัดใจสำคัญทีมงานแบงก์ชาติในยุค ดร.วิรไท ซึ่งต่างรู้กันว่างานนี้จะได้ทั้งก้อนหินและดอกไม้ เนื่องจากที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างมาก เกิดโครงการใหม่พร้อมกับผู้เล่นหน้าใหม่ขึ้นแทบทุกวัน โครงการก่อสร้างคอนโดฯ ตามแนวรถไฟ้าหรือกระทั่งตามตรอกซอยเกิดขึ้นเต็มเมืองจนยอดขายเริ่มอืดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเหลืออุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยให้ดูดซับน้อยลงทุกที
การปล่อยกู้บ้านในช่วงก่อนหน้านี้ จึงเป็นทั้งการสานฝันให้คนมีบ้านไปพร้อมกับการแจกเงินก้อนใหญ่จากสินเชื่อเงินทอนเอาไว้ใช้หนี้สินหรือนำไปบริโภคต่อได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนเมื่อมาตรการ LTV บังคับใช้เมื่อ 1 เมษายน 2562 ยอดขายที่อยู่อาศัยก็ทรุดตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งสมาคมและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างโอดครวญว่ามาตรการนี้ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและการจ้างงานจำนวนมาก ถ้าโครงการสะดุดก็กระทบกับคนจำนวนมาก บ้างก็ขอให้ยกเลิก บ้างก็ขอให้ผ่อนปรนกฏเกณฑ์ลง ซึ่งแบงก์ชาติก็ยอมถอย แต่ถอยแบบค่อยเป็นค่อยไป เรื่องนี้จึงยังเป็นสิ่งที่คาใจผู้ประกอบการมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ละฝ่ายก็มีความถูกต้องของหลักการที่ตนยึดถือทั้งนั้น

อีกเรื่องที่ผู้ว่าแบงก์ชาติต้องรับมือคือความผันผวนของค่าเงินบาท ปี 2562 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดระดับภูมิภาค และถ้าถอยออกไปหลายก้าวเพื่อมองภาพรวม จะพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมานานแล้วเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เพราะประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความต้องการถือเงินบาทจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยขยายตัวอย่างมากสอดรับกับภาคการส่งออกที่เติบโต เรื่องบาทแข็งนี้ทำให้แบงก์ชาติถูกวิจารณ์อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา แม้จะชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงที่มาที่ไปของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แต่ดูเหมือนยังไม่สามารถทำให้บรรดาผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคการส่งออกพอใจได้มากนัก 

ความจริงคือแบงก์ชาติจัดการและดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทอยู่ตลอดเวลา จนถูกจับตาจากต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเรื่องการแทรกแซงค่าเงินอยู่บ่อยครั้ง สิ่งที่ทำได้คือการให้ความรู้กับผู้ประกอบการเรื่องการป้องกันความเสี่ยง ทั้งการใช้สัญญาซื้อขายเงินต่างประเทศล่วงหน้า การประกันค่าเงิน หรือกระทั่งการใช้เงินสกุลท้องถิ่นแทนดอลลาร์สหรัฐ เรื่องนี้ท้าทายอย่างมาก เพราะมีผู้ประกอบการไทยไม่มากนักที่ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว แน่นอนการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนย่อมแลกมาด้วยต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น โจทย์สำคัญที่แบงก์ชาติต้องทำต่อและทำให้ดีกว่าเดิมคือ ทำอย่างไรเรื่องนี้จึงจะสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจโดยแท้จริงในหัวใจของผู้ประกอบการ

เมื่อมองกลับมาที่การช่วยเหลือธุรกิจในยุควิกฤติโควิด-19 นโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทก็ถูกตั้งข้อสังเกตอยู่หลายประการ ไม่มีใครปฏิเสธว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กตอนนี้ต้องการเงินเพื่อนำไปหมุนใช้กับธุรกิจเพื่อประคับประคองการจ้างงานและต่อลมหายใจให้ตัวเอง แต่จากตัวเลขในเดือนนี้ ยอดปล่อยกู้ยังอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทหรือราว 20% ของวงเงินทั้งหมด บางส่วนมองว่าเป็นเพราะกฏเกณฑ์ที่รัดกุมเกินไป รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันสินเชื่อเต็มจำนวนและค้ำประกันเพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่บรรดา SMEs จะใช้หนี้ได้หมดในระยะเวลาดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์จึงตั้งการ์ดสูง ปล่อยกู้ให้เฉพาะรายที่แข็งแรง ขณะที่รายย่อยที่เปราะบางได้รับเงินช่วยเหลือเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ดร.วิรไทเคยออกมาชี้แจงว่าสภาพคล่องของระบบการเงินไทยยังมีอยู่มาก แต่ปัญหาคือการกระจายสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาการส่งผ่านนโยบายของธนาคารกลางไปที่ธนาคารพาณิชย์จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากไม่เพียงแต่แบงก์ชาติของไทย กระทั่งธนาคารโลกยังออกมาแสดงความผิดหวังกับสถาบันการเงินทั้งหลายที่ขยับตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากกลัวความเสี่ยงกันหมด 

หากมองกลับมาที่หัวอกของนายแบงก์ทั้งหลาย กฏเกณฑ์ที่มีอยู่รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ยากที่จะวิ่งตามนโยบายได้อย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะต้องรับผิดชอบต่อเงินฝากของประชาชน ความคาดหวังของผู้ถือหุ้น รวมทั้งชีวิตของพนักงานในองค์กรจำนวนมากด้วย ล่าสุดทางแบงก์ชาติก็ตอบรับแนวคิดให้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อต่อจากรัฐบาลแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้แบงก์ปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น เงินไปถึงมือคนตัวเล็กได้ดีขึ้น

คำวิจารณ์แบงก์ชาติเรื่องทำช้าไป เข้มงวดไป ไม่ยืดหยุ่นหรือกระทั่งไม่เข้าใจภาคธุรกิจ ยังจะเกิดขึ้นต่อไปพร้อมๆ กับการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่อยู่ตรงหน้าทั้งเรื่องระเบิดเวลาหนี้รายย่อย ค่าเงินบาทที่ผันผวน ปัจจัยท้าทายภายนอกประเทศรวมทั้งการทำงานร่วมกับทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล 

นี่ยังไม่นับรวมเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง การผลักดันโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ยังไม่เข้าเป้าและช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่ยังเป็นจุดบอดขนาดใหญ่ใจกลางรัฐบาลท็อปบู๊ตส์ แต่ละด้านนั้นล้วนยังอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น ชื่อของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนต่อไปจะต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน เพราะเป็นแม่ทัพอีกคนที่อยู่แถวหน้าสุดและแบกความคาดหวังของชาติในการฟันผ่าวิกฤติครั้งนี้ให้ผ่านไป ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้
ดร.วิรไทเคยกล่าวกับผู้เขียนว่า เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลและธนาคารกลางมักจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญของแบงก์ชาติคือการมองเสถียรภาพที่สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังจึงต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่วนรวม ในวันข้างหน้า ผู้คนไม่จำเป็นต้องจดจำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2558-2563 คือผลงานของ ดร.วิรไท แต่เป็นการทำงานของแบงก์ชาติทุกส่วนงานร่วมกันมากกว่า จึงน่าจับตาว่าโจทย์ที่เขาจะส่งต่อไปให้กับผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่คืออะไร และบทบาทใหม่ของวิรไท สันติประภพจะอยู่ที่ตรงไหน

พายุลูกใหญ่รออยู่ข้างหน้าพร้อมกับภาระที่หนักอึ้ง ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่า ดร.วิรไทจะนึกเสียดายหรือโล่งใจกันแน่เมื่อก้าวพ้นจากตำแหน่งนี้ไป

มีแต่ตัวเขาเองที่รู้

Tags: ,