ปัญหาใหญ่ของ ‘ความชรา’ ก็คือความไม่แน่นอนว่า ถึงเวลาหนึ่งความแก่และปัญหาสุขภาพจะทำให้ชีวิตคนหนึ่งคน ‘ถดถอย’ ได้เพียงไหน

แล้วเราจะมีเวลาเหลือนับถอยหลังขนาดไหนจนถึงวันที่เราทุพพลภาพ ติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จนกลายเป็นภาระของผู้อื่น

และเมื่อกลายเป็นภาระของผู้อื่นเกินไป ถึงเวลาหนึ่ง ‘บ้าน’ ‘ลูกหลาน’ อาจไม่พร้อมรองรับเราเสมอไป เมื่อถึงเวลานั้น ก็เป็นเวลาของ Nursing Home

หลายปีที่ผ่านมา Nursing Home ถือเป็นธุรกิจที่ไม่ว่าใครก็อยากไปเกี่ยวข้อง ตั้งแต่หลังการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้นมา จำนวนของ Nursing Home เพิ่มขึ้นกว่า 300% แต่ทั้งหมดก็ยังโตไม่ทันตัวเลขของผู้สูงอายุ ทุก 1 วัน เรามีคนแก่เพิ่มขึ้น 2,637 คน ทุก 1 ปี ประเทศไทยมีคนแก่เพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กกลับลดน้อยลงเรื่อยๆ

“คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า” คือคำที่ นายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเฌ้อสเซอรี่โฮม (Chersery Home)  และนายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย (SHSTA) ให้คำนิยามกับธุรกิจนี้ไว้

ภายใต้ซีรีส์ Grayscale The Momentum มีโอกาสพุดคุยกับหมอเก่งพงศ์ถึงอนาคตของ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ โอกาสของธุรกิจ Silver Economy และทำไมนายแพทย์ผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุอย่างเขา ถึงอยากให้คนแก่ ‘ป่วยให้สั้น’ และ ‘ตายให้ไว’ 

สถานการณ์ผู้สูงอายุวันนี้ คุณมองอย่างไร น่ากังวลแค่ไหน

เราแบ่งผู้สูงอายุตอนนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มติดสังคม ติดบ้าน และติดเตียง ตามฟังก์ชันของการใช้ชีวิต ผู้สูงอายุที่อายุไม่เกินสัก 75 ปี สามารถออกไปแฮงเอาต์ได้ มีสังคมได้ อยู่ที่ประมาณ 60% ของทั้งหมดที่มีอยู่ กลุ่มนี้ไม่ค่อยห่วงเท่าไร 

แต่สิ่งที่อยากโฟกัสในกลุ่มนี้คือ ทำอย่างไรให้เขาติดสังคมได้นานๆ ให้แอ็กทีฟอยู่ตลอดเวลา กับอีกส่วนคือ ทำอย่างไรให้เขาไม่ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อร้ายแรง (Non-communicable Diseases: NCDs) เพื่อป้องกันเรื่องภาระโรคที่จะเกิดในอนาคต

กลุ่ม 2 คือกลุ่มติดบ้าน เริ่มทุพพลภาพในระดับหนึ่ง อาจเข่าไม่ดี หลังไม่ดี หูไม่ดี ตาไม่ดี ติดอยู่กับบ้านมากกว่า 50% ของชีวิตในแต่ละวัน กลุ่มนี้อาจอยู่ที่ 25% ของผู้สูงอายุทั้งหมด อาจจะอายุสัก 75-85 ปี กลุ่มนี้ต้องโฟกัสในเรื่องการปรับบ้านให้ปลอดภัย ต้องดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่กระทบจิตใจ กลุ่มนี้แม้ยังไม่ถึงกับติดเตียง แต่ติดบ้าน เหมือนกับถูกขังอยู่ในสถานที่ที่เขาอาจมองว่า ไปไหนไม่ได้ เกิดความเครียด เกิดความวิตกกังวล นอนไม่หลับ 

และกลุ่มที่ 3 กลุ่มติดเตียง กลุ่มนี้การดูแลจะเยอะขึ้นมาก อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เป็นสโตรก เป็นโรคเลือดหัวใจ เป็นมะเร็ง เป็นโรคไตที่ต้องการการไปฟอกไตตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการดูแลจะเยอะขึ้นมาก อายุของคนกลุ่มนี้จะอยู่ที่ 85 ปี++ ซึ่งต้องมีผู้ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ต้องมีคนจัดยาให้ ต้องมีคนหาอาหารให้กิน และการดูแลก็ต้องไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อชีวิต

กลุ่มที่ดูแลยากคือ กลุ่มที่ตั้งแต่ติดบ้านไปจนถึงติดเตียง เพราะต้องใช้ทั้งเวลา ใช้งบประมาณ ใช้เวชภัณฑ์ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์

จริงอยู่ ทุกวันนี้คนไทยทุกคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้การดูแลเป็นแบบ Long Term Care ก็ต้องจ่ายเงินเองหมด ต้องหา Caregiver (ผู้ดูแล) ต้องหาพยาบาล ต้องควักกระเป๋าเอง แทบไม่มีสิทธิประกันสุขภาพอะไรที่เบิกจ่ายได้ นี่เป็นความท้าทายของสังคมไทยที่ ‘แก่ก่อนรวย’ 

ทาง Chersery Home ของคุณดูแลกลุ่มไหนเป็นส่วนใหญ่

เราตั้งจากโจทย์คือเราดูแลคนในสังคมเมืองก่อน เพราะสังคมเมือง สังคมกรุงเทพฯ มีทั้งโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ โรงพยาบาลเอกชน

Chersery Home เราเริ่มจากเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราดูแลกลุ่มซับซ้อน หลังจากผ่าตัด หลังป่วยจากการรักษามะเร็ง หลังป่วยจากอาการสโตรก 

ต้องยอมรับว่าการแพทย์ไทย เรารักษาพยาบาลได้ดีมาก แต่ยังขาดการดูแลต่อเนื่อง เป็นช่องว่างขนาดใหญ่ ที่ประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีทักษะความรู้ที่เหมาะสม ขาดแพทย์ที่ดูแลเรื่องผู้สูงอายุ ขาดพยาบาลที่ดูแลผู้สูงอายุ และที่สำคัญคือขาดความเข้าใจ ไม่ใช่ขาดความเข้าใจเฉพาะตัวโรค แต่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องสถานที่สำหรับดูแลผู้สูงวัย

ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้เข้ามาดูแลเลยเกิดช่องว่างใหญ่ จริงๆ เราในฐานะแพทย์คนหนึ่งก็อยากปิดช่องว่างตรงนี้ อยากให้เกิดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม เกิดการตื่นตัวทางสังคม เกิดการฝึกคนรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อจะได้มีทักษะเพียงพอในการอุดช่องว่าง

แต่ความท้าทายสําหรับผู้สูงวัยคือเป็นมิติเชิงกว้าง ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการเงินการคลัง ด้านระบบประกันสุขภาพ เป็นภาพกว้างที่ต้องแตะทุกมิติ 

อย่างที่ผมทำเป็นต้นแบบ เรามีโรงพยาบาลผู้สูงอายุ เรามี Nursing Home แต่ในเวลาเดียวกัน ประกันสุขภาพเอกชนต้องเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเบิกจ่ายในอนาคต ต้องคุยกับทางสมาคมโรงเรียนบริบาล ในการจัดหา Caregiver ดูแล แล้วมองไปในอนาคต จะทำอย่างไรให้เด็กไทยในอนาคต เด็กไทยเจน Z เจนอัลฟา เพื่อเข้ามามีส่วนร่วม

แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือ อนาคตไทยจะนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้ามาทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ อาจจะทำเหมือนญี่ปุ่นที่นำเข้าแรงงานไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เข้าไปทำงาน อนาคตเราอาจต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำหน้าที่นี้หรือเปล่า

เพราะภาพวันนี้ชัดเจนว่า เด็กไทยอัตราการเกิดต่ำ โอกาสที่เขาจะมาอยู่ในแรงงานที่ใช้ทักษะค่อนข้างสูง ต้องมีความอดทนสูง อาจไม่ถึงขั้นงานโรงแรมที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่งานด้านดูแลผู้สูงอายุนั้น แรงงานจำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด ต้องรองรับอารมณ์ ต้องรองรับความเจ็บป่วย นี่อาจเป็นสิ่งที่เด็กไทยอาจไม่ชอบนัก 

หลังจากนี้ช่องว่างจะเริ่มห่างกัน คำถามคือกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ของเรา จะเห็นตรงนี้หรือเปล่า การส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ทำงานก็เรื่องหนึ่ง แต่ก็ต้องหาแหล่งแรงงานอื่นที่จะเข้ามาทำงานในประเทศเรา

ตั้งแต่คุณเข้ามาในวงการนี้ ผ่านมา 10 ปีมีจุดเปลี่ยนใหญ่ๆ อย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าเรื่องใหญ่มี 3 ส่วน

เรื่องแรก สังคมเริ่มยอมรับ Nursing Home ที่มีคุณภาพมากขึ้น อาจไม่ได้ยอมรับ Nursing Home ทุกที่ แต่วันนี้ Nursing Home ที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ การใส่ใจงานบริการ การมีแบรนด์ที่ดี สังคมเริ่มให้ความเชื่อถือมากขึ้น เปิดใจยอมรับการให้บริการมากขึ้น เมื่อเทียบกับสิบกว่าปีที่แล้ว 

 อย่างน้อยก็ทําให้วันที่เราต้องดูแลพ่อแม่ วันที่พ่อแม่เราป่วย แล้วเราดูแลไม่ไหว เรากลัวว่าจะติดเชื้อซ้ำไหม กลัวจะมีปัญหาเรื่องการแพทย์หรือไม่ การฝากให้ Professional ดูแลนั้นอุ่นใจมากกว่า 

เรื่องที่ 2 คือกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล เข้ามากำกับการเปิดให้บริการของเอกชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้บริการ ด้านอาคารสถานที่ ด้านความปลอดภัย และการให้บริการ เรามีกรมสนับสนุนการบริการสุขภาพเข้ามาควบคุมดูแล การเปิด Nursing Home ใหม่ก็ต้องมีผู้อนุญาต สัดส่วนพยาบาลต่อผู้ป่วยก็ต้องตรงตามกฎเกณฑ์ อย่างน้อยผู้บริโภคก็อุ่นใจที่สุดท้าย มีคนมาตรวจสอบทุกปี

เรื่องที่ 3 คือ เราเริ่มมีผู้ที่เข้ามามีบทบาทในการจ่ายมากขึ้น เรามีประกันสุขภาพเอกชนเข้ามาออกแคมเปญ ออกแพ็กเกจ เพราะตลาดสังคมผู้สูงวัยในประเทศเราเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พอเริ่มมีจำนวนมาก มีสถานพยาบาลที่ดูแลมีคุณภาพ มีกระทรวงสาธารณสุขรองรับ Nursing Home ที่มีคุณภาพก็มากขึ้น เมื่อบริษัทประกันเห็นว่ามีคนรับรองแล้ว ตลาดนี้จึงน่าสนใจมากขึ้นในการออกแคมเปญใหม่ 

สุดท้ายประโยชน์ตกกับผู้บริโภคแล้ว ใครซื้อประกันในช่วงเวลาที่ยังสบายดี วันหนึ่งต้องใช้บริการ เช่น กระดูกหัก ไม่สบาย เป็นสโตรก ต้องพักฟื้นต่ออีก 3 เดือน ก็กลายเป็นว่า ประกันสุขภาพสามารถดูแลผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ผ่านมา

ส่วนอนาคต น่าจะเป็นการหามุมใหม่ๆ ในการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับ Hospitality เช่น การเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการท่องเที่ยว มีการพูดถึง Thailand as a Second Home ประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง เป็นสวรรค์สำหรับผู้สูงวัยทั่วโลก 

ไม่ใช่แค่ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เราอยู่ในภูมิภาคที่เป็นกลาง เรารับได้ทุกที่ทุกคน เรามีอากาศที่ดีกว่า เรามีความสงบในเชิงยุทธศาสตร์ เมื่อประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง เราสามารถเพิ่มบริการให้กับการท่องเที่ยว สุดท้ายต่างชาติก็อยู่นานขึ้น กลายเป็นจุดหมายใหม่ได้เหมือนกัน

แล้วความคิดในการฝากพ่อแม่ไว้กับ Nursing Home ยังเป็นความคิดเชิงลบอยู่หรือไม่ คุณสู้กับแนวคิดนี้อย่างไร

ผมคิดว่าคนที่พร้อมก็ยังอยากดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพราะด้วยวัฒนธรรมของเอเชีย ทุกคนย่อมอยากให้พ่อแม่อยู่กับเรา หากมีกำลังทรัพย์ก็จะพยายามหาผู้ดูแลมาดูแลที่บ้าน แต่ในสังคมเมืองอาจมีความจำเพาะ เพราะทุกคนพักอยู่ในคอนโดมิเนียมหมด ตัวเองอยู่ในคอนโดฯ แม่อยู่ชานเมือง ฉะนั้นในเมืองอาจจะมีการเปิดใจรับ Nursing Home มากกว่า ต่างจากชนบทพอสมควร

ทั้งนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่จะหา Nursing Home ให้กับพ่อแม่ ผู้สูงวัยอาจจะหาเองน้อยกว่า แต่ในอนาคตเทรนด์อาจจะเปลี่ยน เพราะเราอาจจะหาเริ่มมองหา Nursing Home ของเราเองแล้ว

สำหรับคนที่เข้า Nursing Home มักเป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านสุขภาพ มีอาการป่วยบางอย่าง เช่น ติดเชื้อ กล้ามเนื้อไม่มีแรง ขาดอาหาร หรือว่ามีสายสวนปัสสาวะ มีสายต่างๆ ต้องการการดูแลใกล้ชิด ต้องการหาคนดูแลใกล้ชิด

โจทย์ของเขาก็คือว่า ส่วนใหญ่ต้องการการดูแลระยะไม่ได้ยาวนานมาก เช่น 2-3 เดือน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด เขาไม่ได้อยากอยู่ Nursing Home ตลอดกาล แต่อยากอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ช่วงที่เขาป่วยหนักก่อนที่เขาจะสบายดี เขาก็จะหาพื้นที่ในการฟื้นฟูร่างกายเขา เป็นการชูจุดเด่นในการช่วยทลายกำแพงความรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ความรู้สึกไม่ค่อยอยากมาอยู่ Nursing Home เพราะลูกหลานอยากที่จะดูแลเองมากกว่า

สำหรับค่าใช้จ่ายขึ้นกับความหรูหราของแต่ละที่ วันนี้ในตลาดส่วนใหญ่เป็นของเอกชนดูแล อีก 5% ก็เป็นสถานสงเคราะห์เช่นบ้านบางแค อัตราของเอกชนก็หลากหลาย เดือนหนึ่ง 2.4 หมื่นบาท วันละ 800 บาท หรือเดือนละเกิน 1 แสนบาท คิดเป็นวันละ 3,000-4,000 บาทก็มี ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ขนาดห้อง แอร์ การให้บริการ ‘พรีเมียม’ ขนาดไหน พยาบาลสัดส่วนเท่าไร 

อย่างของ Chersery Home เรากำหนดไว้ที่พยาบาล 1 คนต่อผู้ป่วย 6-7 คน ซึ่งทำให้เราสามารถดูแลเคสซับซ้อนได้มากขึ้น เช่น ติดเตียง เจาะคอ ใส่เครื่องช่วยหายใจ ค่าใช้จ่ายก็สูงตามบุคลากรที่เราใช้ ขณะเดียวกันเรามีกิจกรรมทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นวาดภาพ ระบายสี เกมกลุ่ม ลูกๆ หลายคนบอกว่า มีกิจกรรมให้พ่อแม่ทำทุกวัน เขายินดีที่จะจ่ายสูงหน่อย กับบางส่วนอาจไม่มีกิจกรรมมากนัก อาจมีสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ผู้บริโภคก็จะมีตัวเลือกว่าเขาจะเลือกที่ไหน

ในรอบ 10 ปี สิ่งที่หลายคนรู้สึกคือ ใน ‘สังคมสูงวัย’ การเติบโตของธุรกิจนี้ดูจะมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าดูจากการลงทะเบียน ดูจากการขอใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข ช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงตอนนี้ 4 ปีธุรกิจนี้โตประมาณสัก 300% จากเดิมลงทะเบียนราว 300 กว่าแห่งช่วงโควิด-19 จนถึงปี 2567 ตอนนี้เรามีประมาณ 900 แห่ง ก็ขึ้นมา 3 เท่า อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์ในสมาคมเองมองว่า ทั้งหมดที่เปิดมีประมาณ 2,500 แห่ง แสดงว่ายังมีอีก 1,000 กว่าแห่งที่เปิดดำเนินการ แต่ไม่ได้ขอใบอนุญาต

ทางกระทรวงสาธารณสุขก็พยายามผลักดันเรื่องการจดทะเบียน วันนี้ถ้าไม่ขึ้นทะเบียนก็เหมือนสปาเถื่อน ทําได้นะ แต่ว่าถ้ามีปัญหา ลูกค้าร้องเรียน เกิดเคสที่ฟ้องร้อง คุณผิดเต็มๆ เพราะไม่มีใบอนุญาตดูแล 

เพราะ Nursing Home ก็คล้ายกับสถานพยาบาล คล้ายโรงพยาบาล คล้ายคลินิก สมัยก่อนใครใคร่เปิด เปิด ใครมีห้องแถว ใส่เตียงเข้าไป หาแรงงานข้ามชาติมาทำงานก็ได้ แต่ตั้งแต่ปี 2564 ไม่ได้แล้ว ต้องดูความปลอดภัย อาคารสถานที่ การให้บริการ ความปลอดภัย ทางลาด มือจับ อุปกรณ์ช่วยชีวิต บุคลากร สัดส่วนพยาบาล สัดส่วน Caregiver น้อยไปก็ไม่ได้ แล้วยังต้องตรวจสอบว่าผ่านการอบรม Caregiver จริงหรือไม่ ถ้าต่ำกว่ามาตรฐาน โทษตกกับผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้ มีเรื่องบุคลากรผลิตไม่ทัน ทั้งเรื่องพยาบาล Caregiver และแพทย์

ใช่ครับ เราผลิตบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เติบโตในความชันที่ต่ำกว่า ขณะที่จำนวนคนที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นทุกนาที นาทีละหลายร้อยคน แต่ Caregiver กว่าจะผลิตมาสักคน ต้องผ่านหลักสูตร 3-6 เดือน ผลิตมาแล้ว ก็ไม่ได้อยู่ในระบบ หลายคนไปทำเสริมสวย ไปขายของ กลายเป็นว่าผู้สูงวัยโตขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีใครเด็กลง Caregiver เลยเติมไม่เต็มเสียที ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผู้สูงอายุ ทั้งประเทศมีเพียง 70 คน

นั่นเป็นที่มาของการมองหาแรงงานต่างด้าวที่มีทักษะในการอุดช่องโหว่ตอนนี้ หรือการหาคนในบ้านมาอบรมเป็น Caregiver ไหม เช่น หากอาม่าป่วย อากงมาเป็น Caregiver หรือคนในบ้าน อาจต้องเป็น Caregiver เพื่อเปิดช่องว่างตรงนี้ เป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะคนที่จะเข้ามาทํางานทางด้านการบริการประเภทนี้ต้องอดทนสูงมาก เพราะต้องรองรับอารมณ์ ต้องมีทักษะเพียงพอ และต้องอยู่กับผู้สูงวัย 24 ชั่วโมง

ในเชิงนโยบาย คุณอยากเห็นอะไร

เราอยากเห็นคนสุขภาพดีนานๆ ป่วยให้สั้น ตายให้ไว สุขภาพดี ติดสังคมให้นานๆ อายุ 90 ยังสามารถไปแฮงเอาต์ ไปสภากาแฟได้ ติดบ้านให้สั้น ขอแค่ไม่กี่ปี และถ้าติดเตียง ให้ตายให้ไว เพราะภาระค่าใช้จ่ายน้อย ใช้สตางค์น้อย ใช้คนที่มาเป็น Caregiver น้อย สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับตลาดอย่างไรให้คนรักใน ‘สุขภาพดี’ ให้นานที่สุด กินให้ดี ออกกำลังกายให้มาก นอนให้เต็มอิ่ม อย่าเครียด อย่าใช้สารเสพติด

เป็นโจทย์ที่ยาก ที่ต้องให้ความรู้ตั้งแต่พ่อแม่ตั้งครรภ์ เพราะหากพ่อแม่สูบบุหรี่ สมองเด็กก็ไม่ดี เกิดมาแล้วทำนายได้เลยว่าไอคิวต่ำกว่า 90 เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีโอกาสเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ เมื่อไม่มีคุณภาพก็ไม่มีทางรวยก่อนแก่

หรือว่าวัยทำงานที่ต้องทำงานแลกเงิน เราใช้ร่างกายแบบหนักมากๆ ก็ต้องให้ความรู้เรื่องการกิน การออกกำลังกาย อาจไม่ต้องถึงกับ Work-life Balance ชีวิตชิลๆ แต่ทำอย่างไรให้บาลานซ์ในตัวเอง งานก็สำเร็จ ได้เงิน ได้หน้าที่การงาน แต่ร่างกายก็ไม่ได้เสื่อมถอยเกินไป เพราะถ้าเราเครียดตลอดเวลา นอนไม่พอ หลอดเลือดก็พัง เราจะเป็นสโตรกไวกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่

อีกอย่างคือเราจะอยู่อย่างไรในสภาพที่มีมลภาวะทางอากาศอย่างนี้ มีตัวเลขที่สะท้อนชัดว่า ถ้าเราสูดอากาศกลางแจ้งอยู่ 1 ชั่วโมง เท่ากับสูบบุหรี่ 2 มวน ทั้งที่เราไม่สูบบุหรี่ ทั้งหมดเป็นโจทย์ที่ต้องดูแลสุขภาพแบบ Lifetime Care เป็นโจทย์ในการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ใช่ดูแลตอนแก่อย่างเดียว

แล้วคุณคิดอย่างไรกับการขยายอายุเกษียณให้คนแก่ช้าลง

เห็นด้วยครับ เราควรจะอยู่ให้ยาว ติดเตียงให้สั้น ตายให้ไว เพราะติดเตียงทีหนึ่งใช้เงินสัก 1.5 แสนบาทต่อเดือน เจาะคอ ฟีดอาหาร ขยายอายุเกษียณให้ยาวขึ้นก็ดี เพราะถ้ายังออกสังคมได้ ทำงานได้ สมองก็ไม่ฝ่อ ถ้ายังมีรายได้ อาจไม่ได้เยอะมากถึงขั้นหลายหมื่นบาท แต่ถ้ายังมีเข้ามาบ้างก็จะทำให้คนอยู่ในสังคมนานขึ้น

จาก 60 ปีเป็น 65 ปี จะไปเท่าไรก็แล้วแต่อาชีพ อย่างแพทย์น่าจะขยายได้ 70 ปี อย่างศาล ข้าราชการ ยังขยายได้ ขณะที่ฟรีแลนซ์ไม่มีอายุ หรืออย่างกลุ่ม White Collar ก็สามารถขยายเพดานออกไปได้ ให้แก่ช้าลง 

คุณคาดหวังไหมว่า ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม จะมีส่วนช่วยในการดูแลผู้สูงอายุ

จริงๆ ประเทศเรา เก็บภาษีไม่น้อย (ยิ้ม) ถ้าบริหารจัดการเงินดีๆ น่าจะเพียงพอทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เราสามารถทำให้เกิด Co-payment (การร่วมจ่าย) ได้นะ สมมติเราเป็นโรคบางอย่าง เราก็ไม่ได้ต้องการฟรีทุกอย่าง บางอย่างที่เราจ่ายได้ อาจ Co-payment บางส่วนได้ไหม เพื่อแลกกับบริการที่ดีขึ้น เราก็ยอม หรือเราอาจพร้อม ‘ออม’ กับรัฐมากกว่านี้ หากพิสูจน์ได้ว่า เงินออมของเราถูกบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้มีใครโกงกิน ฉะนั้นระบบภาษี เงินที่เรามีในภาครัฐนั้นไม่น้อย ถ้าบริหารจัดการดีๆ ก็เพียงพอและยั่งยืน

ก่อนหน้านี้ยังเคยมีการพูดถึงเลยว่า ในวัยทำงานเราจับจ่ายใช้สอยกันมาก เท่ากับจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเยอะมาก คำถามคือถ้าใครซื้อเยอะ เราสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายบางส่วนเก็บไว้เป็นเงินออมได้หรือไม่ สมมติจากเดิมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เราแบ่งสัก 1% เป็นเงินออมได้ไหม เป็นเงินของเราในอนาคต ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด

หรือถ้าจะผลักภาระให้ประกันสุขภาพและประกันชีวิต เอกชนไปเลย ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง วันนี้ประกันหลายเจ้าเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเก็บเงินในวันที่เรายังไม่แก่ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี คือถ้าภาครัฐเขาช้า วันนี้เอกชนเข้าไปก่อน ผู้บริโภคก็อาจซื้อประกันไว้ก่อน ถ้าวันหนึ่งไม่สบาย เป็นสโตรกขึ้นมา ก็มีประกันพอที่จะครอบคลุมได้ในวันที่เราต้องการพักฟื้น 

ในหมวกของนักธุรกิจ ทุกคนเห็นตรงกันว่า Aging Society น่าจะมีโอกาส มีกำไรมากมาย ความจริงเป็นแบบนั้นไหม

ในต่างประเทศที่มันประสบความสำเร็จ เพราะ Nursing Home คนจ่ายคือรัฐบาล คนจ่ายคือกองทุน คนจ่ายคือ Third Party ที่มีหน้าที่ต้องจ่าย แต่เมืองไทยเอง ในส่วนของ Nursing Home ก็ต้องบอกว่า คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า 

คนในอยากออกคืออย่างที่เราทำอยู่ เรารู้ว่าค่าใช้จ่ายมหาศาล ถ้าต้องทําให้ดี ต้องจ้างหมอ จ้างพยาบาล จ้างทีมงาน แต่ว่าคนจ่ายคือกระเป๋าผู้บริโภคใช่ไหม มันก็จ่ายได้ระดับหนึ่ง อย่างสมมติ มี Nursing Home ที่หนึ่ง เดือนละ 9 หมื่นบาท ก็คือวันละ 3,000 บาท ถ้าจ่ายเอง ก็เต็มกลืน ต้องรอประกันสุขภาพอีกสัก 2-3 ปี ที่จะเริ่มมา Co-payment ถูกไหม 

แต่ในระหว่างนี้สำหรับคนทำธุรกิจ ใครจะทำงานคุณภาพก็ต้องบอกว่า Margin ต่ำมาก เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง รายได้ก็เก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะว่าลูกค้าเราจ่ายได้เท่านี้

แต่เราพยายามที่จะสร้างแบรนด์ สร้างชื่อเสียงไว้ก่อน อย่างเราก็เอาระดับราคาที่พอจ่ายไหว แต่คุณภาพสูง สามารถดูแลเคสที่ซับซ้อนได้ หรือหากต้องการ Margin ดีๆ ก็ต้องไปกดค่าใช้จ่าย เขาอาจไม่ได้จ้างพยาบาลเก่งๆ เขาไม่ได้เอาคนทำงานที่มีทักษะเก่งพอ ภาพแบรนด์อาจไม่ได้ดูดีนัก แต่ก็ยังพอได้กำไร ก็เป็นสิ่งที่เขาต้องแลก

แต่ว่าถ้าเป็นธุรกิจอื่นๆ ก็บอกได้ว่า ยังมีโอกาสโตในเรื่องผู้สูงอายุค่อนข้างมาก เพราะปัจจัย 4 อาหาร ยารักษาโรค เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย มันแทบต้องดีไซน์ใหม่ทั้งหมด

บ้าน ชัดเจนมาก สมัยก่อนเราซื้อบ้านก็ไม่ได้คำนึงอะไรมากถูกไหม แต่พอผู้สูงวัย ขนาดต้องเหมาะสม ถ้าใหญ่เกินไป กลายเป็น Space of Death ถ้าไกลมาก มีสิทธิล้ม มีสิทธิมีปัญหาได้ ต้องทำให้บ้านปลอดภัยที่สุด

ยารักษาโรค ตลาดก็ยังโตได้อีก พาราเซตามอลเรากินอยู่ที่ 500 มิลลิกรัม ถามว่าทุกคนต้องกิน 500 ไหม ผู้สูงวัยไม่จำเป็นนะ 375 มิลลิกรัมเหมือนเด็กก็ได้ กลายเป็นว่ายาที่ผลิตสำหรับผู้สูงวัยอาจมีความจำเป็นมากขึ้น เหมือนยาลดความดัน ยาต่างๆ ต้องดีไซน์สำหรับผู้สูงวัย ตลาดยายังไปได้อีกไกล

เสื้อผ้า มีการพูดถึงสิ่งทอที่เหมาะกับผู้สูงวัยมากขึ้น ลดแผลกดทับ ลดแรงเสียดทาน รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีปัญหากับผู้สูงวัย

แล้วตลาดโรงพยาบาลล่ะ

จะมีโรงพยาบาลประเภทเฉพาะที่ดูแลผู้สูงวัยอย่างมากขึ้น เรื่องค่าใช้จ่ายเป็นส่วนหนึ่ง สมมติโรงพยาบาลที่เปิดในกรุงเทพฯ ตอนนี้คือแทบไม่มีที่ยืนแล้ว เต็มพื้นที่ไปหมด แต่ส่วนที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยยังพอขยับไปได้อยู่ เช่น โรงพยาบาลตามีมากขึ้น โรงพยาบาลกระดูกจะเห็นมากขึ้น โรงพยาบาลข้อวันนี้มีโรงพยาบาล kdms ข้อดีมีสุข โรงพยาบาลรักษ์ข้อ ตามที่มีข่าวก็น่าจะเปิดอีกสัก 2-3 โรง แต่ไม่ได้แข่งระดับใหญ่ แข่งกันในตัวโรค โรคผู้สูงวัยทั้งนั้น ไม่ว่าจะโรคกระดูกและข้อหรือโรงพยาบาลโรคไต สถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ที่รักษาโรคไตอย่างเดียว

วันนี้ตลาดของกลุ่มโรงพยาบาลมีความจำเพาะมากขึ้นเพื่อประหยัดงบประมาณ เราไม่ได้มีไอซียู ไม่ได้มีห้องฉุกเฉิน ไม่ได้มีห้องผ่าตัด ทำให้ค่าใช้จ่ายของการจ่ายบิลต่อการรับคนไข้แต่ละคนย่อมเยาลง ไม่ต้องจ่ายแพงมาก เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า ประกันสุขภาพยังไม่ได้เข้ามาครอบคลุมทั้งหมด

อย่าง Chersery Home ที่ร่วมมือกับโรงพยาบาลวิมุตเป็นอย่างไร วางแผนอย่างไร 

วิมุตพยายามจะเป็น Specialized Care อย่างโรงพยาบาลวิมุตที่สะพานควาย หรือที่เราไปร่วมมือด้วย คือเรื่องผู้สูงอายุและเรื่อง Wellness คือถ้าถอยออกมานิดหนึ่ง วิมุตกับเครือพฤกษาเป็นเครือเดียวกัน วิมุตจะดูแลสุขภาพลูกบ้านพฤกษาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ

ของเราตอนนี้พอตั้งอยู่ในโรงพยาบาลวิมุต ก็ช่วยดูแลผู้สูงอายุในเชิงของ Long Term Care หรือ Life Time Care ให้กับลูกบ้านพฤกษา คือดูแลทั้งหมู่บ้าน ดูแลทั้งชุมชน 

ปัจจุบัน Chersery Home มีทั้งโรงพยาบาลผู้สูงอายุ Chersery Home International มีศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูผู้สูงวัย The Senizens Wellness Center อยู่ที่จรัญสนิทวงศ์ 13-ราชพฤกษ์ มี Chersery Home Senior Care สาขาพระราม 2 บางบอน มี Baan Thammachart by Chersery Home ที่ซอยแบริ่ง มี Chersery Home International and Rehabilitation Hospital อยู่ที่บางนา-วงแหวน มี Baan Thammachart by Chersery Home อยู่ที่แจ้งวัฒนะ 19 มีโรงพยาบาลกายภาพบำบัด Chersery Home International วัชรพล และยังมีคลินิกกายภาพบำบัดอยู่ที่โลตัส หลักสี่ และพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ เป็นคลินิกในห้าง

จากนี้เราวางแผนจะเปิดคลินิกตามเซเว่นอีเลฟเว่น จากนี้เซเว่นฯ จะเป็นคอมมูนิตีมอลล์ในชุมชน จะมีร้านนวด ร้านทำผม ร้านขายยา ร้านอุปกรณ์ด้าน Wellness และจะมีคลินิกกายภาพบำบัดอยู่ในนั้นด้วย

อีกหน่อยหากปวดหลัง ปวดคอ ออฟฟิศซินโดรม จะไปโรงพยาบาลก็เหนื่อยใจ ขอใกล้บ้านดีกว่า อาจจะแวะเซเว่นฯ กายภาพสักชั่วโมงหนึ่ง เบิกจ่ายประกันสุขภาพได้ก็กลับบ้าน เป็นแนวคิดที่เราพยายามไปบุกชุมชน Chersery Home จะไม่ได้เป็นแค่โรงพยาบาล แต่จะเป็นบริการด้านการดูแลต่อเนื่อง การพักฟื้นระยะยาว และกายภาพบำบัด

เทรนด์สุดท้ายคือการดูแลที่บ้าน คือเราส่งพยาบาลไปที่บ้าน เฝ้าไข้ที่บ้าน ส่ง Caregiver ไปเฝ้า เราทำมาสัก 2 ปี แล้ว ชื่อว่า Harmoni Home Care ทำทั้งกายภาพบำบัดด้วย เตรียมพร้อมผู้ดูแลด้วย ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีรถรับส่ง เป็นเซอร์วิสที่ลูกค้ายังมีส่วนร่วมกับเราได้ต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น หากพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลกับเรา 2 เดือน เขาแข็งแรงขึ้น แต่เขาอยากจะกลับบ้านแล้ว ก็จะจัดหา Caregiver หาโฮมแคร์ไปให้อีกที่หนึ่ง

กลุ่มผู้สูงอายุที่คุณดูแลขณะนี้ เป็นกลุ่มไหนมากที่สุด

เราดูแลทั้งหมด 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มติดเตียง อาจติดเชื้อจากอุบัติเหตุจากใดๆ ก็แล้วแต่ ต้องฟีดอาหารทางจมูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง สัดส่วนอยู่ที่ราว 20% 

กลุ่มที่สอง กลุ่มใหญ่หน่อย อาจเป็นกลุ่มผ่าตัด ผ่าตัดกระดูกและข้อ ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ผ่าตัดสมอง สัดส่วนกลุ่มนี้อยู่ที่ 30%

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มพวกระบบสมองโดยตรง อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน สโตรก กลุ่มนี้ราวสัก 30% เหมือนกัน 

กลุ่มสุดท้าย เป็นพวกมะเร็ง ผ่าตัดมะเร็ง ให้เคมีบำบัด เป็นมะเร็งระยะท้ายที่ญาติบอกว่าต้องดูแลซับซ้อน ต้องปรับมอร์ฟีน ต้องให้ออกซิเจน ต้องมีการกายภาพ ต้องอยู่บนเตียง เราก็ดูแลเป็นหลัก

ทั้งหมดนี้ 70% มาจากภาคเอกชน อาจจะมาจากบ้าน อาจจะมาจากโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่เขามองว่า คนกลุ่มนี้กลับบ้าน กลับคอนโดฯ ไม่ไหว เพราะต้องการการดูแลที่ซับซ้อน แล้วต้องใช้บุคลากรเฉพาะทาง ขณะที่อีก 30% มาจากโรงพยาบาลรัฐบาล ที่เรารับหลักๆ ตอนนี้มาจากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ เป็นเคสที่ซับซ้อนกว่าโรงพยาบาลทั่วไป

ความท้าทายของธุรกิจนี้ ณ ขณะนี้คืออะไร

ภาพของคนไทยเลยคือ ‘แก่ก่อนรวย’ และต้องพึ่งพาภาครัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ ถามว่าเอกชนได้เม็ดเงินมากไหม ได้ แต่ก็ไม่ได้สูงมากนัก สิ่งที่ Chersery Home พยายามสร้างขณะนี้คือพยายามสร้างโมเดล หาทางอ้อมในการร่วมกับบริษัทประกันสุขภาพ ร่วมกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ให้ส่งเคสให้เรามากขึ้น

ขณะที่ในภาคสังคม ภาครัฐคงต้องดูแลเราเป็นหลัก ต้องกลับไปตั้งต้นว่า Co-payment ได้หรือไม่ ยกตัวอย่าง ‘บ้านบางแค’ วันนี้ เดือนละ 1,500 บาท ตกวันละ 50 บาท วันนี้ต้องรอคิวกันอยู่ที่ 5,000 คิว มีอยู่สัก 200 ห้อง คนที่อยู่เขาจะออกไหม ก็ไม่ เพราะมันถูกมาก 

ภาครัฐอาจต้องเพิ่มจำนวนเตียงมากขึ้น แล้วเพิ่มราคา อย่าให้ถูกเกินไป อาจจะสัก 2.5-4 หมื่นบาทต่อเดือน โครงการพวกนี้อาจจะขยายได้ พอไปได้ แต่ภาครัฐต้องคิดนอกกรอบ ต้องมี Co-payment เอกชนอาจต้องร่วมลงทุนหรือรัฐลงทุน เปิดประมูลให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ยังมีอีกหลายวิธีให้เลือกทำ

แต่ความท้าทายของบ้านเรา คือมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทยที่ดูแลเรื่องท้องถิ่น เขาเปลี่ยนฐานอำนาจบ่อย เลยทำให้งานที่ทำไม่ได้ต่อเนื่อง

วันนี้มีคนพูดกันมากว่า อาจต้องเก็บเงินซื้อบริการคอนโดมิเนียมผู้สูงวัยที่แถมบริการสุขภาพไปด้วย สำหรับคนโสด คนที่ไม่ได้วางแผนมีลูก คุณเห็นอย่างไร

ผมคิดว่าตอนนี้อาจต้องเก็บเงินสดไว้ก่อน อีก 20 ปีข้างหน้า เรื่องเทคโนโลยี เรื่องการทำงาน ก็คงเปลี่ยน ระบบประกันสุขภาพก็คงเปลี่ยนไปเหมือนกัน

เพราะว่าสมัยก่อน ตอนผมเด็กๆ ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ตอนที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) เข้ามาทำ 30 บาทรักษาทุกโรค ตอนนั้นก็ยังต้องจ่ายเงินบางส่วน ถ้ากลับไปแบบเดิม ก็มีสิทธิว่าต้องเก็บเงินสดไว้ก่อน หรืออาจต้องหาประกัน ต้องซื้อไว้ อนาคตเดี๋ยวค่อยว่ากัน 

สำหรับเครือ Chersery Home ตอนนี้มี 5 สาขา เราอยู่ในลิสต์ของบริษัทประกันสุขภาพบางแห่ง ถ้าเกิดผมไม่สบาย ต้องกลับมาพักฟื้น ก็จะยิงหมอจากโรงพยาบาลใหญ่มายัง Nursing Home เลย ไม่ต้องกังวลว่าอยูที่ไหน ลิสต์ที่ลงไว้กับบริษัทประกันฯ จะบอกเองว่าไปที่ไหน 

ส่วนถ้าจะต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์สักชิ้น สำหรับคนที่ยังอายุไม่มาก ตอนนี้มีแนวคิดที่เรียกว่า CCRC (Continuing Care Retirement Community) หมายความว่า ในพื้นที่อาจจะสัก 10 ไร่ มี Developer เพิ่งทำ จะมีทั้งคอนโดมิเนียมสำหรับผู้ที่แอ็กทีฟ มี Nursing Home มีโรงพยาบาล มีศูนย์กายภาพอยู่ในพื้นที่นี้ 

สมมติเราซื้อแอ็กทีฟก่อน จ่ายไปก่อนสัก 7 ล้านบาทก็ได้อสังหาริมทรัพย์ (คอนโดมิเนียม) บวกกับประกันสุขภาพ แต่ไม่ใช่แค่ประกันอย่างเดียว เราเป็น Life Time Care Insurance เอาเงินไปบริหารจนตาย จะหาหมอก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาลครบวงจร

ผมเชื่อว่าการซื้ออสังหาริมทรัพย์บวกกับประกันสุขภาพจะมีคนทำมากขึ้นในอนาคต คุณไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเตะไปที่ไหน ก่อนหน้านี้ อาจจะมีบางที่ ที่หากป่วยระดับหนึ่งก็ต้องออกเพราะไม่มี Nursing Home อยู่ในนี้ แต่คนจะทำ CCRC ได้ ก็ต้องใช้ความกล้า เพราะจะเป็นโครงการแรกของประเทศไทย 

สมมติว่าวันหนึ่งคุณอยู่คอนโดฯ ถ้าเริ่มป่วย ดูแลตัวเองไม่ไหว ก็ย้ายไป Nursing Home หากต้องเข้าโรงพยาบาล ก็ย้ายไปโรงพยาบาล แล้วก็ตาย จบที่นี่ คุณไม่ต้องดิ้นรนย้ายไปที่อื่นเลย นี่เป็นอีกหนึ่งโมเดลทางธุรกิจที่น่าสนใจ

Fact Box

  • Chersery Home (เฌ้อสเซอรี่ โฮม) มาจากคำว่า เฌอ + เนอสเซอรี่ ที่หมายถึงสถานที่การบริบาลที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้และความร่มรื่น โดยเป็นโรงพยาบาลผู้สูงอายุที่ให้บริการเต็มรูปแบบโดยอายุรแพทย์ ภายใต้บรรยากาศที่เต็มไปด้วยธรรมชาติร่มรื่น
  • นายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ จบการศึกษาด้านอายุรกรรมจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเฌ้อสเซอรี่โฮม ตั้งแต่ต้น พร้อมทั้งเป็นเจ้าของแฟนเพจ รู้ก่อนลืมแก่กับหมอเก่ง ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.2 แสนคน 
Tags: , , , , , , , , ,