กวาดสายตามองย้อนกลับในปี 2023 คงจะสังเกตเห็นว่า บ้านเรามีคอนเสิร์ตน้อยใหญ่เต็มไปหมด นอกจากใจเต็มร้อยและขาสองข้างที่พระเจ้าประทานไว้กระโดดท้าแรงโน้มถ่วงโลก ‘เสื้อวง’ ก็เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการแสดงออกถึงความรักและภักดีต่อศิลปินที่ชอบ
จะเลือกซื้อจากห้างดัง ควานหาตามตึกแดงจตุจักร หรือคุ้ยจากตลาดนัดท่ามกลางแดดจ้าส่องแยงหัว เหล่านี้คือ ‘เสน่ห์’ น่าหลงใหล ที่ทำให้ใครต่อใครหันมาสนใจวัฒนธรรมการเก็บเสื้อวง
นั่นเองทำให้ชื่อของ ‘JOY2’ (จอยทู) แบรนด์เสื้อของ โอห์ม-ทัศนัย สมบัติธีระ สมาชิกวง Two Pills After Meal ถูกพูดถึงปากต่อปากและฮิตติดลมบนในหมู่เด็กแนว ไม่ว่าจะเสื้อวง Polycat, YONLAPA, Srirajah Rockers, Safeplanet, Dept, Penguin Villa และวงอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนผ่านฝีมือการออกแบบจากเขา มากจนถึงโปรเจกต์พิเศษอย่าง ‘JOY2 United’ กับการนำคนดังอย่าง ‘สเตฟาน’ อินฟลูเอนเซอร์คนดังจากแชนแนล Anti Hero หรือเจ้าพ่อแรปไทยอย่าง ‘ดาจิม’ มาสร้างสีสันผ่านกิมมิกเสื้อฟุตบอลแนวเรโทร
แต่ที่น่าสนใจคือไม่ว่าจะเสื้อวงหรือเสื้อบอล มีจุดเริ่มต้นและรากฐานมาจาก ‘เสื้อมัดย้อม’ สีสันฉูดฉาด ซึ่งครั้งหนึ่งวัยรุ่นบ้านเรานิยมใส่กันแทบทุกหย่อมหญ้า
อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทัศนัยตัดสินใจก่อร่างสร้าง JOY2 และเหตุใดต้องเป็นเสื้อวงนั้น ขอเชิญคุณผู้อ่านไขคำตอบจากคอลัมน์ The Chair คราวนี้
จากคำแนะนำโดย ‘บู้ Slur’ นำมาสู่ความหลงใหลในวัฒนธรรมเสื้อวง และการกระโจนสู่ธุรกิจเสื้อวง
“ยุ่งมากเลยครับช่วงนี้”
คำพูดแรกจากปากของทัศนัย หลังเพิ่งฝ่าด่านรถติดย่านสุขุมวิทเพื่อมาพูดคุยกับเราถึงออฟฟิศของ The Momentum ที่ตั้งอยู่แถวย่านพระเก้า ขณะที่ในมือของเขาหอบหิ้วเสื้อวงแบรนด์ JOY2 พะรุงพะรังเต็มสองมือเพื่อมาอวดเรา แน่นอนว่าระยะนี้เขาเผชิญกับงานล้นมือ ทั้งเรื่องธุรกิจส่วนตัวและชีวิตนักดนตรีที่หยุดนิ่งไม่ได้
นั่งพักหายเหนื่อยครู่หนึ่ง ทัศนัยก็เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์เสื้อวงขวัญใจเด็กแนว ว่าแท้จริงแล้วเกิดขึ้นจากคำแนะนำของ ‘บู้ Slur’ (ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ – มือเบสวง Slur และเจ้าของแบรนด์แฟชั่น Rompboy) ที่เปิดโลกการทำธุรกิจเสื้อผ้า โดยที่ก่อนหน้านี้ ทัศนัยมีความชอบในวัฒนธรรมการสะสมเสื้อวงดนตรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
“เท้าความก่อนว่าเราทำงานกับค่ายเพลง Smallroom และมีเพื่อนนักดนตรีในค่ายที่รู้จักอยู่หลายคน หนึ่งในนั้นคือพี่บู้ Slur ซึ่งเราสังเกตและเรียนรู้วิธีการทำแบรนด์แฟชั่น Rompboy ของเขามาโดยตลอด ตอนนั้นเราก็ยังไม่สนใจที่จะทำแบรนด์เสื้อหรอกก็มุ่งกับการเล่นดนตรีไป
“กระทั่งวันหนึ่งเราอยากที่จะลองทำอย่างอื่นนอกจากการเล่นดนตรี จนฉุกคิดได้ว่า เราชอบเรื่องศิลปะชอบงานกราฟิก อย่างนั้นงานเสื้อก็น่าจะเป็นอะไรที่น่าสนใจ ขณะเดียวกัน เราทำวงดนตรีของตัวเอง เคยผ่านการทำ Merchandise อย่างเสื้อวงมาก่อน เลยรู้ขั้นตอนการทำเสื้อวงอยู่ประมาณหนึ่ง
“ส่วนตัวเราชอบ ‘เสน่ห์’ การเก็บเสื้อวง เราว่านี่เป็นเสื้อที่มีเรื่องราว มีคุณค่าในการเก็บสะสม เหมือนการแสดงออกความรักต่อวงที่คุณชอบ อย่างงาน CAT TSHIRT ก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่า มีแฟนคลับมากมายที่แสดงความรักต่อศิลปินด้วยวิธีนี้ เขาซัพพอร์ตวงดนตรีที่เขารักด้วยการใส่เสื้อวงไปดู
“อย่างเราก็เริ่มจากการซื้อเสื้อวง Slur เนี่ยแหละ (หัวเราะ) ในงานคอนเสิร์ตสักงานหนึ่ง ไปยืนต่อแถวยาวเหยียดอยู่หนึ่งชั่วโมงจนได้มา แต่พอเอากลับมาซักสีเสื้อมันดันตกก็เลยมาหาวิธีแก้ ทีนี้เผอิญแฟนเราเรียนด้านศิลปะมาอยู่แล้วก็เลยลองเอาเสื้อไปแก้ด้วยวิธี ‘มัดย้อม’ ผลปรากฏว่า เสื้อที่เอาไปมัดย้อมออกมาดูดีว่ะ พอโพสต์ลงโซเชียลฯ ก็ได้กระแสตอบรับดีจากเพื่อนๆ เลยบอกกับตัวเองว่า เราทำเสื้อแบบนี้ก็ได้นี่หว่า อย่างนั้นโอเค ลองทำเสื้อมัดย้อมขาย เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่งงงวยพอสมควร (หัวเราะ)” ทัศนัยย้อนเล่าความหลังของการกำเนิดของแบรนด์เสื้อ JOY2 ที่น้อยคนนักจะรู้
ดังนั้น ในปี 2018 แบรนด์เสื้อ JOY2 จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยลายที่มีตัว ‘แร็กคูน’ เป็นกิมมิกสำคัญ โดยทัศนัยบอกกับเราว่า ช่วงเวลานั้นตัวเองกำลังชื่นชอบสัตว์ชนิดดังกล่าว ที่มีความขี้เล่น ยียวน รวมไปถึงชอบใน ‘ร็อกเก็ตแร็กคูน’ คาแรกเตอร์ตัวสำคัญจากภาพยนตร์เรื่อง Guardians of the Galaxy ก่อนจะกระโดดไปร่วมโปรเจกต์กับ TRYSTAND ซึ่งเป็นศิลปินที่เคยออกแบบลายเสื้อให้กับวง Srirajah Rockers ก่อนจะขยายความสนุกไปทำโปรเจกต์เสื้อวงดนตรีให้กับวงเพื่อนพ้องในวงการดังที่เห็น
ส่วนชื่อ JOY2 ที่ใครหลายคนสงสัย (รวมถึงตัวผู้เขียน) ทัศนัยเฉลยความหมายว่า มาจากความสนุกในการออกแบบเสื้อมัดย้อมที่มีขอบเขตกว้างขวาง แต่ครั้นจะใช้ชื่อแบรนด์ตามประโยคแรกที่นึกขึ้นมาในหัวว่า How To Enjoy คงจะยาวไป จึงลดทอนเหลือเพียงคำว่า To Enjoy แต่เพิ่มความขี้เล่นด้วยการสลับคำและใช้ตัวเลขสองที่พ้องเสียงกับคำว่า To จนสุดท้ายเป็นคำว่า JOY2
JOY2 แบรนด์เสื้อวงสัญชาติไทยที่มีพื้นฐานมาจากเสื้อมัดย้อนสีสันจัดจ้าน และสมการความต่างที่ไม่เหมือนใคร
แน่นอนว่าการสร้างแบรนด์แบรนด์หนึ่งให้เป็นที่จดจำย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อตั้งโจทย์ไว้ในใจว่าเราจะ ‘ต่าง’ และ ‘แปลก’ กว่าชาวบ้านเขา ซึ่งนี่เป็นหลักประกันที่ทัศนัยคิดไว้ในใจตั้งแต่วันแรกที่เริ่มกระโจนเข้าสู่ธุรกิจเสื้อวง
“เราชอบสีที่เยอะๆ ฉูดฉาด ดูไหลๆ มีความ Psychedelic เป็นทุนเดิม นี่เป็นคาแรกเตอร์ที่พิเศษของ JOY2 นั่นคือมีพื้นฐานมาจากเสื้อมัดย้อม เพียงแต่เสื้อมัดย้อมปกติทั่วไปพื้นฐานจะใช้เป็นสีที่ใช้ในเสื้อวงทั่วไป ดำบ้าง ขาวบ้าง หรือสีม่วงก็ตาม แต่เราอยากเพิ่มสีสันให้มันหน่อย เรามองว่าเทคนิคมัดย้อมเป็นทั้งแบ็กกราวนด์ เป็นทั้งองค์ประกอบให้กับเสื้อวงได้ แล้วแต่เราจะหยิบไปใช้เท่านั้นเอง
“สมมติเรามองไว้แล้วว่า ซัมเมอร์ปีนี้เทรนด์แฟชั่นนิยมหยิบสีส้มกับสีฟ้ามาใช้ เราจะมองบ้างนิดหนึ่งแต่ไม่ตาม เราอาจจะฉีกไปเล่นสีส้มคู่สีชมพู หรือส้มคู่สีม่วงแทน เป็นความปะแล่มต่างจากที่เขาทำกัน แต่การใช้สีก็จำเป็น ถ้าสีส้มมาแรงจริงๆ ก็อาจจะแบ่งสัดส่วนใช้ในเสื้อสัก 60% ตามด้วยสีชมพูแล้วค่อยตบท้ายด้วยสีดำประมาณนี้
“ยกตัวอย่างเสื้อวง Penguin Villa ที่เราเคยทำในโปรเจกต์ 6 Artist เราก็วางไว้ว่าคาแรกเตอร์ดูแล้วจะต้องสุขุม เพราะเราเทิดทูนเขาเป็นรุ่นใหญ่และ พี่เจ (เจตมนต์ มละโยธา) ก็เป็นเจ้าของค่าย Smallroom (หัวเราะ) เราก็ใช้สีหลักเป็นสีดำกับสีขาว ฉะนั้น สีสันเยอะๆ สามารถใช้ได้ แต่ก็ต้องดูบริบทกับคาแรกเตอร์ของวงวงนั้นด้วย”
อย่างไรก็ดี ทัศนัยเล่าว่า การใช้เทคนิคมัดย้อมในการทำเสื้อวงถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวด และไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการเลือกใช้สี แต่ยังรวมไปถึงเทคนิคการย้อมจนถึงการเลือกเนื้อผ้าที่เหมาะ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทัศนัยและแฟนสาวร่วมกันขวนขวายพัฒนาโดยปราศจากตำราหรือกูรูแนะนำ จึงไม่แปลกใจนักที่เขาจะเปรียบเทียบการทำแบรนด์ JOY2 เป็นดัง ‘มวยวัด’
“จริงๆ ถ้าเป็นลายมัดย้อมทั่วไปอาจจะไม่ยาก เพียงแต่เราหาควานหามาตลอดว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะนำเสนอกลุ่มผู้ซื้อ จนเรามาค้นพบว่า งานที่เราชอบคืองานที่มันยาก เพราะความยากมันคือสตอรีของเรา และเราภูมิใจที่จะเล่าเรื่องราวนั้น นี่คือ ‘สมการ’ ที่เราใส่ลงไปในทุกๆ งาน
“เช่นถ้าเราอยากได้เสื้อผ้าลายนี้ เราก็จะลองร่างลายขึ้นมาก่อน จากนั้นก็ค่อยมาลงสีตามลาย แต่ด้วยความเป็นสีน้ำมันก็ไหลไม่ได้เป๊ะตามตำแหน่งที่เราต้องการ ก็ต้องใช้การมัดและการหยดสีทีละนิดช่วย ซึ่งผลลัพธ์ครั้งแรกไม่ตรงกับที่ต้องการแน่นอน ก็ต้องมาทำซ้ำจนกว่าจะได้ดังใจ จนกว่าจะรู้ว่า โอเค ห้ามหยดสีแบบนี้นะ ตรงนี้ทำแบบนี้ไม่ได้นะ นี่เป็นความภูมิใจ เป็นความยากที่เราตั้งใจทำนะเว้ย
“เรื่องเนื้อผ้าและทรงเสื้อก็สำคัญ ตรงนี้โรงงานที่เขาผลิตจะมีแบบให้เลือกจำกัด ก็ต้องเอาเสื้อตัวต้นแบบจากแต่ละโรงงานมาลองจับ ลองสัมผัส
“เราพบว่า เนื้อผ้าแต่ละที่มีความต่าง บางยี่ห้อถ้าเอาไปย้อมผ้าอาจจะหด ตอนนั้นเลยตัดสินใจไปถึงต้นน้ำที่เขาผลิตแถวตลาดผ้าวัดสน ไปสังเกตว่ากว่าเสื้อตัวนี้ที่มันย้อมแล้วหดก่อนหน้ามีที่มาอย่างไร จนสุดท้ายเราประมาณได้ว่า เสื้อวงของเราเนื้อผ้าต้องประมาณนี้ เหมาะกับการย้อม ไม่บางเกินไปแต่ใส่แล้วต้องไม่ร้อน ราคาประมาณนี้น่าจะโอเค ซึ่งก็แล้วแต่ฤดูกาลนั้นๆ ด้วยนะ” ทัศนัยเล่าถึงกระบวนการผลิตเสื้อวงของเขาให้เราฟังอย่างหมดเปลือก
ฉีกกรอบเดิมด้วยการทำโปรเจกต์ ‘เสื้อบอล’ สไตล์เรโทร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า 2 ปีที่ผ่านมา กระแสแฟชั่นเสื้อบอลแนวเรโทรมาแรง ถึงขั้นที่คนไม่นิยมดูกีฬาฟุตบอลยังต้องรื้อตู้เสื้อผ้าหามาใส่สักตัว
ในต่างประเทศอาจจะเป็นแมนฯ ยูไนเต็ด ลิเวอร์พูล บาร์เซโลนา เอซี มิลาน หรือที่ฮิตๆ กันอย่าง อินเตอร์ มิลาน ยุค 90s แต่ที่ไทยเรามี ‘JOY2 United’ แท็กไลน์เสื้อบอลที่ทัศนัยตั้งใจไว้ว่าอยากจะลองทำสักครั้งในชีวิต เริ่มจากการชวน ‘DAJIM’ แรปเปอร์ขวัญใจเด็กแนวยุค Y2k มาร่วมแจม ตามมาด้วยการชวนอดีตพระเอกช่องเจ็ดสีที่ผันตัวเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายลูกหนังอย่าง ‘สเตฟาน’ จากช่อง Anti Hero มาร่วมเป็นโปรเจกต์ที่สอง ก่อนจะปิดท้ายปี 2023 อย่างสวยงาม ด้วยการจำหน่ายเสื้อฟุตบอลแขนยาวลายลิมิเต็ดในงานเฟสติวัลระดับโลกอย่าง MAHORASOP หมดเกลี้ยง
“จริงๆ โปรเจกต์ JOY2 United ที่เราทำกับพี่ดาจิมเริ่มทำตั้งแต่ปี 2022 เพียงแต่เพิ่งถูกพูดถึง ส่วนหนึ่งเพราะกระแสคนเล่นเสื้อบอลในบ้านเราเพิ่งมา
“ตอนนั้นเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองนะ ว่าคนเขาจะงงไหม ทำเสื้อวงมัดย้อมอยู่ๆ แล้วมาทำเสื้อบอลได้ไง (หัวเราะ) นี่มันผ้าคนละชนิดเอาไปย้อมก็ไม่ได้ เราก็เลยตั้งพาร์ตแยกออกมาให้ชัดเจนโดยใช้ชื่อว่า JOY2 United บอกกลุ่มแฟนเราไปเลยว่าเรากำลังมาสายสปอร์ตนะ แล้วอะไรก็ตามที่แนวสปอร์ตก็มาอยู่ในพาร์ตนี้
“เหตุผลที่ตัดสินใจทำ JOY2 United ส่วนหนึ่งเพราะเราชอบดูฟุตบอล เป็นทีมแมนฯ ยูไนเต็ด และชอบเก็บสะสมเสื้อฟุตบอล โปรเจกต์แรกก็เลยมาทำกับพี่ดาจิม เราเลือกพี่เขาเพราะเขาเป็นตำนานวงการเพลง อีกอย่างคือพี่เขาชอบเตะฟุตบอล เคยอยู่ทีมแมงปอล้อคลื่น ของพี่ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง เราก็หยิบกิมมิก ‘เวฟ’ บนหน้าปัดเวลาเราอัดเพลงมาใช้เป็นลายเพื่อสื่อถึงพี่เขา
“ส่วนที่ได้มาทำกับพี่สเตฟาน ต้องยกความดีความชอบให้กับพี่ชายของเรา ซึ่งเป็นคนสอนดูบอล ชักชวนเข้าสู่วงการนี้ เขาก็แนะนำว่า ชวนพี่สเตฟานมาทำสิเขาน่าสนใจนะ เดี๋ยวนี้เขาทำวิเคราะห์บอลหลังเกมจบ จริงๆ เราก็ชอบพี่เขาตั้งแต่เล่นละครแล้วแหละ
“ตอนที่เรานำโปรเจกต์ไปเสนอพี่เขาก็นึกในใจนะว่า พี่สเตฟานเขาจะยอมมาทำกับ JOY2 หรอวะ (หัวเราะ) เราก็นึกขึ้นได้ว่า เรามี JOY2 United นี่หว่า อีกอย่างเสื้อบอลก็น่าจะเข้ากลุ่มแฟนคลับของพี่สเตฟาน ทำในจำนวนลิมิเต็ดสัก 90 ตัว หรือ 99 ตัว ตรงกับกิมมิกของพี่เขาเวลาไลฟ์ที่ชอบให้แฟนคลับกด 9 ถ้าเห็นด้วย โดยที่ลายเสื้อของพี่เขาเป็นการหยิบรูปแบบของผ้ามัดย้อมมาใช้ ย้อมเป็นแนวตรงลงมา ก่อนจะนำไปใส่กราฟิกตรงดีเทลต่างๆ
“จริงๆ ตอนเอาโปรเจกต์ไปเสนอพี่สเตฟานเราเกร็งมากนะ เพราะเราไม่ชายแท้ขนาดนั้น (หัวเราะ) เขาดุดันแต่เราชอบเขานะ ซึ่งเราบอกกับตัวเองว่า ถ้าเราจะไป Collab กับใครเราอยากให้ปฏิสัมพันธ์ครั้งแรกดีที่สุด ก็ต้องทำการบ้านไป เอาความเนิร์ดเรื่องดนตรีเราเข้าสู้
“เราก็พบว่าพี่สเตฟานเขาชอบดนตรี ฟังเพลงเยอะมาก เขาชอบวงร็อก เช่นพวกวง Metallica หรือ Led zeppelin เขาชอบเก็บสะสมพวกเสื้อวงด้วย และอีกจุด คือพี่เขาชอบเรื่องศิลปะ ชอบงานสีไหลๆ นี่เป็นจุดคลิกของเราที่ตรงกัน กลายเป็นหนึ่งชั่วโมงที่คุยสนุกมาก นั่นเลยเป็นที่มาของ Merchandise ต่างๆ ในโปรเจกต์
“ยกตัวอย่างหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับพี่สเตฟานที่เราทำ เพราะพี่เขาชอบพวกซูเปอร์ฮีโร่ คอมิก และช่วงนั้นเราก็ชอบเก็บสะสมการ์ตูนของมาเวลพอดีด้วย ก็เลยชวนน้องที่รู้จักมาวาดการ์ตูนเล่าถึงเรื่องราวของพี่สเตฟาน ก่อนจะแตกออกมาเป็นไอเทมชิ้นต่างๆ ที่สื่อถึงแต่ละช่วงชีวิตของพี่สเตฟานอีกที เช่น ปี 2000 คือช่วงที่พี่เขาเป็นดารา ก็ออกแบบเสื้อล้อเลียนละคร หรือกางเกงบ็อกเซอร์ ที่สื่อถึงพี่เขาในปัจจุบัน (เวลาไลฟ์ชอบใส่บ็อกเซอร์ จนกลายเป็นสีสันและภาพจำในกลุ่มแฟนคลับ)
“ส่วนที่ทำกับงาน MAHORASOP เราเริ่มต้นทำกับเขามาตั้งแต่ปี 2019 ก็ไปขายเสื้อมัดยอม ซึ่งผลตอบรับดีมาก ตลอดสองวันเราไม่ได้ดูคอนเสิร์ตเลย จนมาถึงปี 2023 เราได้ร่วมงานกับ MAHORASOP เราก็วิเคราะห์ว่า กระแสเสื้อมัดย้อมน่าจะลดลง ถ้าจะตื่นเต้นเข้าเทรนด์ก็ทำเสื้อบอลเลยแล้วกัน
“ต้องบอกว่าที่ผ่านมาเราไม่รู้เลยว่ามีเทรนด์แฟชั่นที่เรียกว่า Blokecore เราเพิ่งมารู้ว่ามีกลุ่มนี้อยู่เมื่อไม่นานนี้เอง เพราะเราก็ไม่ได้ตามเทรนด์แฟชั่นจ๋าอะไรขนาดนั้น ถ้าคุยกับพี่บู้ Slur เข้าน่าจะเข้าใจกว่า (หัวเราะ) เราแค่อยากทำ อยากเอาจุดแข็งของ JOY2 คือลายผ้ามัดย้อมมาผสมกับความเป็นสปอร์ต” ทัศนัยร่ายยาวถึงความเป็นมาในการทำเสื้อบอล ที่ต้องบอกว่า นอกเสียจากความชอบและความสนุกยังต้องผ่านกระบวนการคิดมากมากพอสมควร
สิ่งที่ได้ ‘เรียน’ และ ‘รู้’ ในฐานะ ‘พ่อค้าขายเสื้อ’
“เมื่อไม่นานมานี้คุณโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กของ JOY2 ว่า การทำธุจกิจนี้ทำให้คุณได้เรียนรู้อะไรมากมาย ช่วยเล่าหน่อยว่าอะไรที่คุณได้เรียนรู้มาบ้าง” เราถามทัศนัยถึงคำถามที่ค้างคาใจมาตั้งแต่วันนัดสัมภาษณ์
“(หยุดคิดครู่หนึ่ง) เราว่าการทำเสื้อได้อะไรเยอะเลย ไม่ใช่แค่เดินไปบอกป้าคนนู้น ลุงคนนี้ว่าตัดเสื้อให้หน่อย ตัดกางเกงให้หน่อย มันคือการทำงาน การปฏิสัมพันธ์ ไม่ใช่เพียงสั่งงานเฉยๆ เราไปเจอเขาเป็นอาทิตย์เพื่อจะรู้ว่า ป้าคนนี้ตัดผ้าเป็นอย่างไร นิสัยเป็นอย่างไร ช่างคนนี้ฝีมือดี คนนี้ทำงานเนี้ยบ
“คือเราทำทุกอย่างตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ อย่างแบรนด์อื่นเขาก็มีตำแหน่งที่ชัดเจน ถ้าคุณเป็นผู้จัดการก็ไม่จำเป็นต้องไม่เจอลูกค้า ไม่จำเป็นต้องเจอคนออกแบบลายเสื้อ แต่เราต้องทำเอง ต้องอยู่ในทุกๆ ขั้นตอน ต้องเข้าใจนิสัยใจคอ เข้าใจวิธีทำงานของคนที่เราทำงานด้วย แม้แต่การไป Collab กับคนอื่นอย่างพี่สเตฟานก็เปิดโลกเราเหมือนกัน เราได้ปฏิสัมพันธ์กับโลกของยูทูเบอร์
“ตอนแรกเราก็กลัวว่าจะสื่อสารโปรเจกต์ที่เราทำไปไม่ถึงกลุ่มผู้ติดตามของพี่สเตฟาน เราก็เลยตัดสินใจเปิดไลน์กลุ่มที่รวมแฟนคลับของ Anti Hero เพื่อที่จะได้พูดคุยกับแฟนคลับกลุ่มนี้ ซึ่งพอเข้าไปก็ได้ค้นพบศัพท์เฉพาะของกลุ่มคนดูบอล วิธีโวยวาย วิธีหยอกล้อต่างๆ พอเราไป Collab กับคนอื่น เราก็จะพบสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้อีก แม้แต่งาน MAHORASOP ปีนี้ เราก็ได้พูดคุยได้ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติมากขึ้น
“ว่าง่ายๆ คือคุณเป็นคนที่ชอบออกจากเซฟโซนอยู่ตลอดเวลา” เราตั้งคำถามกลับทิ้งท้าย
“ใช่ เราเป็นคนชอบท้าทายตัวเอง จากตอนแรกทำเสื้อมัดย้อม ทำเสื้อวง เราก็อยากจะทำให้คนอื่นเห็นว่า JOY2 ทำอย่างอื่นได้ ก็เลยลองมาทำเสื้อบอล หรืออย่างปีที่แล้วเราก็เริ่มทำกางเกงขาย จริงๆ ก็อยากบอกตัวเองว่า ไม่ต้องมาเยอะก็ได้มึง มันเหนื่อย (หน่อย) เพราะยิ่งทำอย่างอื่นมากขึ้นก็ยิ่งมีขั้นตอนซับซ้อนตามมา เช่น กางเกง เราก็ต้องไปหาแพตเทิร์นมาเรียนรู้ เพื่อที่จะนำมาประยุกต์เป็นของตัวเอง
“เอาจริงการทำหลายอย่างไม่ได้ตอบโจทย์ที่ดีในแง่ของธุรกิจเลย (หัวเราะ) แต่ตอบโจทย์ในแง่ของการเรียนรู้มากกว่า แฟนเราก็เตือนตลอดว่าไม่ต้องทำเยอะ เรามีกันแค่สองคนเอง แต่เราก็พร้อมที่จะเหนื่อย พร้อมที่จะเรียนรู้ อย่างเร็วๆ นี้ก็จะทำกางเกงมวย ทำเสื้อฮาวาย ทำกางเกงขาสั้น และทำ ‘ไวนิล’ กับป๋าเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม)
“คือเราอยากเป็นมากกว่าแค่แบรนด์เสื้อ แต่อยากสร้างกลุ่มคนที่ทำงานศิลปะมากกว่า จะภาพประกอบหรือจะไม้กลองแบบที่เราเคยทำก็ได้ ขอแค่เราสนุกกับมันก็พอ ส่วนในพาร์ตนักดนตรีเราก็พยายามจะบาลานซ์ให้ดีที่สุด ก็มีแพลนตั้งเป้าจะออกอัลบั้มให้ได้ในปี 2024 รวมถึงทัวร์ต่างประเทศด้วย (ยิ้ม)”
Fact Box
- ใครที่สนใจอยากมีเสื้อวงสุดเท่หรือเสื้อบอลสุดจ๊าบ สามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก JOY2 และอินสตราแกรม @joy2.bkk
- วง Two Pills After Meal ของทัศนัย เริ่มเดบิวต์กับค่าย Smallroom ตั้งแต่ปี 2015 โดยมีอีกหนึ่งสมาชิกและคู่หูคนสำคัญคือ ลิตเติ้ล-คัมภิรดา แก้วมีแสง
- จุดเด่นที่น่าสนใจของวง Two Pills After Meal นอกจากเป็นวงดนตรีแนวอินดี้-ป็อปที่มีเมโลดี้ชวนโยก พวกเขายังสร้างผลงานด้วยเครื่องดนตรีเพียง 2 ชิ้น คือกลองและคีย์บอร์ด
- วัฒนธรรมการแต่งตัวด้วยเสื้อฟุตบอลแนวเรโทรหรือ ‘Blokecore’ ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นชาวยุโรป ก่อนขยายอิทธิพลมาถึงฝั่งเอเชีย เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมถึงไทย ซึ่งผู้นิยมแฟชั่นดังกล่าวส่วนใหญ่มักหยิบเสื้อฟุตบอลยุค 70s-90s มาแต่งตัวร่วมกับกางเกงหรือกระโปรงแบบต่างๆ ตามความชอบ