กลายเป็นธรรมเนียมประจำปีที่คอหนังสือตั้งหน้าตั้งตารอไปแล้ว กับสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่วนเวียนกลับมาทุกฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สัปดาห์หนังสือแห่งชาติต้องย้ายจาก On Ground ไปสู่ออนไลน์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ปีนี้ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 49 ต้องปรับแผนเปลี่ยนรูปแบบสู่ออนไลน์เป็นการชั่วคราวอีกครั้ง ด้วยความหวังว่าในเร็ววัน เราจะสามารถกลับมาเจอกันได้อีก
ใครบ้างจะรู้ว่างานหนังสือที่ดำเนินมายาวนานถึง 49 ปี มี ‘สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมด โดยสมาคมฯ นั้นก่อตั้งมานานกว่า 62 ปี และนอกจากสัปดาห์หนังสือที่ทุกคนรู้จักกันดี ทางสมาคมฯ ก็ยังเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในวงการสิ่งพิมพ์ส่วนอื่นๆ อีกมากมาย
‘โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ’ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งในปี พ.ศ. 2562 จนถึงวันนี้ ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับสารพัดการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งคาดเดาได้และคาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องของการย้ายสถานที่จัดงาน การต้องสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ในเวลากระชั้นชิด การต้องรับมือกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนที่มีต่องานหนังสือ ตลอดจนการระบาดของไวรัสหลายระลอก
ในฐานะผู้นำคนสำคัญของวงการ โชนรังสีและสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยตั้งใจจะขับเคลื่อนวงการนี้ไปข้างหน้าอย่างไร ความสำคัญและบทบาทของงานหนังสือแห่งชาติจะเปลี่ยนไปเช่นไร ในวันที่กาลและเทศะของการอ่านไม่ได้จำกัดเพียงพื้นที่ออฟไลน์หรือในฤดูกาลใดประจำปีอีกต่อไป
ภาพรวมของตลาดหนังสือเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้างหลังเจอกับสถานการณ์โควิด-19
ต้องบอกว่าเป็นปีที่สนุก เพราะต้องคิดและปรับตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนแรกเราจะจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 จนกระทั่งการระบาดของโควิด-19 ขยายไปในวงกว้าง เราเลยตัดสินใจจะไม่จัดงาน on ground แล้วไปทุ่มกำลัง 3 อาทิตย์สุดท้าย เพื่อพลิกทุกอย่างลงออนไลน์ ความยากคือ มันไม่ใช่สามารถดีดนิ้วได้เลย แต่พอเราพูดถึงเรื่องหนังสือ พูดถึงเรื่องส่งเสริมการอ่าน ทุกคนอ้าแขนรับหมด ทุกคนพร้อมจะเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นทางเทพช็อปหรือทางสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ซึ่งการสร้างว่ายากแล้ว แต่การพาสมาชิกของสมาคมขึ้นออนไลน์ยากกว่า เพราะหลายคนเขาไม่คุ้นเคยจริงๆ ไม่เคยเปิดร้านค้าออนไลน์ที่ไหนเลย จึงต้องฝึกกันพอสมควร รวมถึงให้ทีมจูเนียร์โปรแกรมเมอร์ของเรามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นเราไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่า ไม่รู้ว่าเป็นคำตอบที่ใช่ในจังหวะนั้นหรือเปล่า แต่เราพอใจในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ถ้าวันนั้นไม่มีงานหนังสือออนไลน์ เพื่อนสมาชิกที่เขาทำหนังสือใหม่ออกมาก็ไม่มีทางออกเลย เพราะร้านค้าโดนล็อกดาวน์ทั้งหมด ยอดขายเขาจะหายไปเลย 3 เดือน และ 3 เดือนมันหนักสำหรับคนค้าขายพอสมควร บางคนยอดขายในงานหนังสือคือครึ่งหนึ่งของทั้งปีเลยนะ เพราะฉะนั้น งานหนังสือจึงค่อนข้างเป็นลมหายใจของเขา
ดีที่ทุกคนสามารถปรับตัวได้ ร้านหนังสือเองก็มาร่วมด้วยเป็นกำลังสำคัญ ไม่ใช่มองว่าพอขึ้นออนไลน์แล้วจะมาแย่งยอดกัน เรามองว่านี่คือ Book fair นี่คือการรวมพลังของวงการที่ทำให้เกิดตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด หลังจากนั้น Thaibookfair.com ก็ให้บริการสำนักพิมพ์และมาอย่างต่อเนื่อง มีการกระตุ้นการตลาดเข้าไปเป็นระยะๆ เดี๋ยวปีนี้จะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาอีก
ยอดขายปีที่แล้วคาดว่ายอดตกลงมา 30-50% เพราะเกือบทุกสำนักสำนักพิมพ์ชะลอการผลิตไปในช่วงโควิด ประมาณ 4-6 เดือนที่ไม่มีหนังสือใหม่ออกมาเลย ทางร้านหนังสือเองก็บอกเหมือนกันว่าทั้งปียอดขายน่าจะหายไปประมาณ 30-40% อันนี้เฉพาะร้านเครือข่ายใหญ่ๆ ที่แจ้งมานะ แต่รวมแล้วมีมูลค่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยมีมูลค่าประมาณ 12,000 หมื่นล้านบาท
ส่วนงานหนังสือในต่างจังหวัดปกติหนึ่งปีเราจะจัดประมาณ 5 งาน แต่ปีผ่านมาเราวางแผนจะจัดเพิ่มให้เป็น 7 แต่สุดท้ายจบที่ 5 งานเหมือนเดิมด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง และปีที่ผ่านมา สถิติการอ่าน E-book สูงขึ้น จากที่ได้นั่งคุยกับแพลตฟอร์ม E-book หลายที่ เขาก็บอกว่ายอดขายเขาดีขึ้นเหมือนกัน และพฤติกรรมการอ่านคอนเทนต์ของคนรุ่นใหม่จะอ่านสั้นๆ อ่านเป็นตอนๆ จึงเห็นวรรณกรรมเขียนเป็นตอนสั้นๆ เอามาขายในราคาไม่สูงมาก วรรณกรรมแนวนี้เพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2563 ก็เรียกว่าเป็นปีที่ทุกคนก็ต้องดิ้นรน อย่างที่ผ่านมามีก็มีงาน Book fair ย่อยๆ เต็มไปหมดเลย ต่างคนต่างช่วยกันทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
ในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือ จริงไหมกับคำที่ว่า ‘คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง’ หรือ ‘สิ่งพิมพ์ตายแล้ว’
ในความคิดเห็นของกรรมการสมาคมและคนในวงการหนังสือส่วนใหญ่ เรารู้สึกว่าหนังสือมันไม่ได้ตายหรอก และการอ่านก็ไม่ได้ลดลงเลย เพียงแต่พฤติกรรมการอ่านถูกปรับเปลี่ยนจากการอ่านแบบเล่มไปสู่การอ่านแบบ E-book หรือการอ่านบล็อกสั้นๆ มากขึ้น
สถิติของการใช้เวลาในโลกออนไลน์พบว่า คนไทยใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง 40 นาที ซึ่งใน 8 ชั่วโมง จริงๆ แล้วเขาอ่านข่าว อ่านอะไรที่เป็นเรื่องของการอ่านแบบอ่านจริงๆ 2 ชั่วโมงกว่า และทีมประชาสัมพันธ์เองก็เคยค้นคว้าเอาไว้เมื่อปี 2561 ว่า คนไทยใช้เวลาในการอ่านประมาณ 80 นาที เพิ่มขึ้นมาจากเมื่อก่อนที่แค่ 60 นาที ฉะนั้นเราไม่ได้อ่านน้อยลงเลย เพียงแต่พฤติกรรมการอ่านไปอยู่ที่ออนไลน์แทน
คนที่เป็นสำนักพิมพ์ต่างหากจะต้องพิจารณาด้วยว่าเขาจะปรับเอาคอนเทนต์ไปอยู่ในรูปแบบไหน ไปอยู่แบบเล่ม ไปอยู่แบบ E-book หรือไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นๆ แต่ไม่ใช่ทุกสำนักพิมพ์จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ทันที เพราะขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์หรือเรื่องความถนัดของความเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย รวมถึงลักษณะของคอนเทนต์ที่เขามีด้วย
ปีที่แล้วเป็นช่วงที่ทำให้เกิดเรื่องอะไรใหม่ๆ ที่จำเป็นจะต้องมีขึ้นมาเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อการค้า หรือเพื่อการอ่าน แต่ว่ามีสิ่งหนึ่งที่กรรมการสมาคมตั้งคำถามกันเยอะมากว่า เรามาส่งเสริมการขายด้วยการจัดแฟร์นั้น เราแน่ใจได้ยังไงว่าการขายที่ว่ามันเพิ่มส่งเสริมการขายได้มากขึ้นจริงๆ เพราะคนก็พูดกันว่ายอดขายลดลง เราก็เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น บางคนมองว่าหนังสือเล่มตายแล้ว ต้องเป็น E-book แต่ยอดขาย E-book เฉลี่ยแค่ 5-6% ของยอดขายทั้งหมด พอมีโควิดเข้ามา ยอดขาย E-book เติบโตอย่างน้อย 3 เท่า แต่ส่วนใหญ่เฉลี่ยแล้วน่าจะ 5 เท่า ซึ่งก็แค่ 25% ของยอดทั้งหมด ถึงดิจิทัลมาแทนที่ได้ก็จริง แต่มันไม่ได้เท่าเดิม
พันธกิจหลักของสมาคมฯ ที่จำเป็นต้องหันกลับมาโฟกัสให้มากขึ้นก็คือ การสร้างวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทย กับอีกทางหนึ่งคือ เราต้องทำคอนเทนต์ให้มีความหลากหลาย ต้องมีจุดที่มาเจอกันระหว่างขายได้กับเนื้อหามีสาระ เพราะฉะนั้นก็เหมือนฝั่ง Demand กับ Supply นั่นแหละ
ฝั่ง Demand นักอ่าน เราต้องคิดว่าทำยังไงให้การอ่านมันเกิดขึ้น ฝั่ง Supply ทำยังไงให้การอ่านมีความสนุกและหลากหลายขึ้น ก็ต้องคุยกับฝั่งผู้ผลิต นักเขียนหรือตัวเพื่อนสำนักพิมพ์เองต้องเลือกซื้อลิขสิทธิ์หรือผลิตคอนเทนต์ของตัวเองให้น่าสนใจ แต่ฝั่งนักอ่าน สมาคมฯ สามารถทำได้เลย เพราะมันเป็นสิ่งที่เราสามารถรณรงค์ได้ แต่มันจับต้องยาก เราไม่สามารถวัดได้เป็นเม็ดเงินเหมือนงาน Book Fair นี่ก็เป็นสิ่งที่สมาคมตั้งคำถามกันเยอะในช่วงปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ มีสมาชิกใหม่สมัครเข้ามาในสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ต่อเนื่องทุกเดือน หลายๆ รายเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ทำนิยายวาย วงการนี้หรือการทำหนังสือยังคงอยู่ในหัวใจของคนรุ่นถัดๆ ไป การอ่านก็ยังอยู่แหละ เพียงแต่เวลาที่ใช้อาจจะถูกบางอย่างดึงออกไป นิสัยบางอย่างที่เคยอ่านแบบจมลึกถูกพฤติกรรมของสื่อที่สั้นๆ มาทำให้การอ่านเปลี่ยนไปนิดหนึ่ง
ฉะนั้น ตัวสำนักพิมพ์ต้องปรับตัว ถ้าคุณจะยังอยู่เฉพาะหนังสือเล่มก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าอยากจะก้าวไปสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ต้องกล้าจะเริ่มลงมือทำ หลายคนเห็นคุณค่าของคนทำหนังสืออยู่แล้วว่ามันเป็นการสร้างบางสิ่งบางอย่างไว้ให้กับสังคม ไม่ใช่แค่เลี้ยงชีพตัวเอง
ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนวงการหนังสืออย่างไรบ้าง
ปีที่แล้วเราพยายามเดินคุยกับภาครัฐค่อนข้างเยอะเพื่อเรียกร้องเรื่องความช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นผ่อนปรนร้านหนังสือให้เร็วหน่อย อย่าให้มันอยู่เฟสหลัง ทั้งเรื่องของมาตรการช่วยเหลือในแง่การผลิต ส่งเสริมวัฒนธรรม และให้มองว่าหนังสือคือกลไกหรือเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่จะเผยแพร่ได้ แต่ว่าคงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจร่วมกัน เสียดายที่แต่ละที่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานคืบหน้าได้เร็วนัก เพราะฉะนั้น ภาคเอกชนเราต้องเดินด้วยบนลำแข้งตัวเอง 80% อยู่แล้ว
อีกเรื่องที่สมาคมพยายามจะเชื่อมโยงในปีที่แล้ว เป็นเรื่องของ Creative economy คาดว่าน่าจะเกิดเป็นรูปธรรมปีนี้ หลายคนคงคิดว่าหนัง เกม เพลง เป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เขาพัฒนา แต่จริงๆ หนังสือก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย การพิมพ์ การผลิตก็เป็นหนึ่งในนั้น เพียงแต่เขายังไม่ได้หยิบขึ้นมาพัฒนา เราเลยไปบอกว่าปีนี้เริ่มเถอะ อุตสาหกรรมเราพร้อมที่จะเดินแล้ว ซึ่งมียกตัวเองเรื่องการใช้ Soft Power ไป เหมือนที่ทางเกาหลีใช้ K-pop ญี่ปุ่นใช้ J-pop แล้วของเรา T-pop ควรจะมีบ้าง
อย่างช่วงละคร บุพเพสันนิวาส ดัง ‘รอมแพง’ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เขาสามารถหาทางขายลิขสิทธิ์ให้จีน ขายลิขสิทธิ์ไปเป็นละครอะไรอีกหลายๆ อย่างได้ ถ้ารัฐเข้ามาผลักดันโดยไม่คิดมากว่าทำให้ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทำเพื่อเป็นกรณีศึกษาของประเทศ จากยอดที่เขาเคยพัฒนาได้ มันจะขึ้นมาเป็นอีกสิบๆ เท่าแน่ เพราะละครเรื่องนี้เข้าในยังมีคอนเทนต์อีกเยอะมากที่นำออกมาใช้ได้ แต่กลับไม่ถูกนำมาสร้างให้กลายเป็นระดับนานาชาติ เสียดายที่ขาดโอกาสลักษณะนั้น
มองเห็นศักยภาพอะไรในวงการหนังสือไทย ถึงเชื่อว่าสามารถผลักดันให้มันเป็นเครื่องมือส่งออกทางวัฒนธรรมได้
จริงๆ สัดส่วนในท้องตลาด หนังสือส่วนใหญ่ของประเทศเราเกินครึ่งเป็นหนังสือซื้อลิขสิทธิ์ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่สำหรับนำไปสร้างเป็นสื่อต่างๆ มีหนังสือเป็น Original Source ค่อนข้างเยอะ ถ้าไปดูละครในทีวีจะเห็นเยอะแยะไปหมดเลย เพียงแต่ว่าหยิบเสร็จแล้วเอามาบอกเล่าใหม่ อาจจะเปลี่ยนโครงนิดหน่อย เพราะฉะนั้น คุณภาพมีอยู่แล้วที่พร้อมจะเอาไปทำอะไรหลายๆ ต่อ แต่คนสร้างสรรค์ออกมานั้นมีไม่มาก
การจะให้เป็นทูตวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ เราว่าสามารถทำได้ และมันก็เป็นของมันอยู่ เพราะเวลาที่เราไปขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศ เนื้อหาที่ขายได้ง่ายและเป็นภาษาสากลก็คือหนังสือเด็ก เพราะเป็นภาษาภาพ มีคำอยู่ไม่มาก พฤติกรรมของเด็กหรือการที่เราจะเลี้ยงเด็กก็มีอยู่ไม่กี่อย่างหรอก จึงค้าขายลิขสิทธิ์กันได้ง่าย
ส่วนคอนเทนต์อื่นๆ ที่พอไปได้บ้างก็พวกวรรณกรรม สืบสวนสอบสวน แฟนตาซี แต่ Non-Fiction จะเหนื่อยหน่อย เพราะการลงลึกในการเขียนอาจไม่เหมือนกับต่างประเทศที่ต้องหาข้อมูลกันเยอะมาก และความเป็นสากลเขาไม่ได้เข้าใจความเป็นไทยของเรา เมื่อเราเขียนแบบไทยมันจึงไปไม่ได้เต็มที่ การจะเขียนอะไรบางอย่างเพื่อมุ่งเป้าเวทีสากลบางทีต้องมีการวางแผนมาเลยว่า เราจะไปเล่าเรื่องนี้เพื่อสู่จุดไหน เล่าไม่เล่า แล้วเล่าแค่ไหน อันนี้คนที่เป็นนักเขียนน่าจะเข้าใจได้ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเราส่งเสริมกันอย่างถูกต้อง และผลักดันอย่างจริงจังเพื่อไปสู่เวทีสากล มันทำได้ เพราะเรามีนักเขียนฝีมือดีๆ เยอะ แต่ถ้าจะส่งเสริมให้สามารถไปได้ต้องส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ
ลองนึกดูว่าหากเราสร้างอะไรได้เหมือนที่แฮร์รี่ พอตเตอร์สร้างมันจะดีแค่ไหน นอกจากจะเป็น Soft Power แล้ว ยังสร้างมูลค่าได้เท่าทวีคูณไปอีก เพราะไม่ได้ไปแค่อุตสาหกรรมหนังสือ แต่จะไปทั้งวัฒนธรรม ไปทั้งประเทศ ซึ่งต้องทำกันเป็นภาพใหญ่ เพียงแต่เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องบูรณาการทุกๆ องคาพยพของประเทศเลย ถ้าจะทำให้ใหญ่ได้ขนาดนั้น
จากที่ฟังดูสิ่งที่ทางสมาคมฯ ทำไปไกลกว่าเรื่องจัดงานหนังสือเยอะเลย
จริงๆ สมาคมฯ เรามีหลายพันธกิจ พันธกิจแรกเป็นเรื่อง Book fair ซึ่งก็คือเรื่องเงินๆ ทองๆ เรามีจัดที่กรุงเทพฯ ระดับภูมิภาค และต่างประเทศ มีงานหนังสือเด็กที่เราอยากจัดเพิ่ม แต่มีโควิดเสียก่อน รวมถึงเราอยากจะจัดเหมือนงานหนังสือเล็กๆ ที่มีความโดดเด่นในตัวเอง เช่น งานหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องสุขภาพ แล้วบูรณาการเข้ากับผลิตภัณฑ์อื่นๆ คิดไปถึงตรงนั้นเลย แต่มันมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ถ้าไม่มีโควิดอาจจะพอได้เห็นบ้าง
พันธกิจหลักขององค์กรเป็นเรื่องการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ปีที่แล้วทางสมาคมฯ ได้ทำแพลตฟอร์ม NoGongDong.com ออกไป ซึ่งมาจากแนวคิดของกรรมการรุ่นใหม่ๆ ว่าการจะทำให้เกิดนิสัยรักการอ่าน ต้องเกิดการวัดผล เกิดการทำให้เป็นประจำ NoGongDong.com จึงเหมือนเป็นตู้หนังสือส่วนตัว สำหรับใส่ข้อมูลว่าชั้นนี้เป็นหนังสือกองดอง ชั้นนี้ยังไม่ได้แตะ ชั้นนี้คือชั้นที่กำลังอ่านอยู่ มีสถิติบอกด้วยว่าเมื่ออ่านแล้วเป็นอย่างไร ตอนนี้มีผู้ใช้อยู่ประมาณ 4,000 แอคเคานต์ แต่นั่นเป็นเฟสแรก เฟสสองเรากำลังอยากหาผู้ร่วมพัฒนาด้วย เพราะมันต้องลงทุนไปอีกก้าวหนึ่งเลย แล้วจริงๆ มันทำอะไรต่อได้อีกหลายอย่างเลย เราสามารถเอาตัวนี้เป็นกลไกช่วยเรื่องการอ่านในระบบการศึกษาได้ โดยมอบหมายการอ่านในชั่วโมงโฮมรูม แล้วคุณครูก็สามารถเห็นได้ด้วยว่านักเรียนของตัวเองทำอะไรยังไง และเราก็มีโครงการ ‘1 อ่านล้านตื่น’ ที่นำงบประมาณไปช่วยโรงเรียนด้อยโอกาส ให้เขานำเงินมาเลือกซื้อหนังสือ รวมถึงมีการทำห้องสมุดด้วย ปีที่แล้วก็ไปทำที่จังหวัดเชียงใหม่กับอุดรธานี
นอกจากนี้มีพันธกิจในส่วนของการสร้างฐานพลังเครือข่าย ที่เราดำเนินการร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชน มีโครงการสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาในวงการหนังสือ มีการคุยถึงเรื่องภาษี เรื่องลิขสิทธิ์ และปีนี้ไปคุยกับสมาคมนักเขียนมา เราอยากทำ one province one book shop and one writer หนึ่งจังหวัด หนึ่งร้านหนังสือ และหนึ่งนักเขียน ที่เราอยากผลักดันให้เป็นเรื่องของกิจกรรมในพื้นที่ เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็งจะช่วยให้หลายคนกลับบ้านตัวเองไปประกอบอาชีพต่างๆ ได้
อีกเรื่องที่เราพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นคือ การตั้งองค์กรกลางในการจัดเก็บลิขสิทธิ์ (Collective Management Organization: CMO) เพื่อช่วยผู้สร้างสรรค์ ซึ่งหลายๆ ประเทศเขาพัฒนาไปแล้ว ในอุตสาหกรรมหนังสือ นักเขียนและนักวาดภาพประกอบเองก็มีลิขสิทธิ์ในผลงานของเขา ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมหนังหรือเพลง ดังนั้นควรจะมีตรงนี้ขึ้นมา
ปีที่ผ่านมาเทรนด์การอ่านหนังสือของคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง
การ์ตูนยังได้รับความนิยมทั้งออนไลน์และ On ground หลายคนอาจจะคิดว่าการ์ตูนไม่ได้รับความนิยมแล้ว แต่จริงๆ ยังคงได้รับความนิยมอยู่ อันที่แผ่วๆ จะเป็นการ์ตูนความรู้ (Educational comic book) มากกว่า เพราะเด็กกลุ่มนี้หายไปเลย เข้าใจว่าเขาน่าเปลี่ยนพฤติกรรมไปเสพสื่อออนไลน์หมด ส่วนงานวรรณกรรมยังได้รับความนิยมเหมือนกัน เพราะคนทำวรรณกรรมเยอะ ทั้งวรรณกรรมวาย โรแมนซ์ สืบสวน ทุกอย่างเลย และกระแสของ Non-Fiction ประวัติศาสตร์การเมือง ก็ยังคงได้รับความนิยม ในงานหนังสือปีนี้คาดว่าจะมีไฮไลต์เยอะเลย โดยส่วนตัวเรามองว่าต้องมีอิสระในการตีพิมพ์ (Freedom to publish) สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เองก็อยู่บนพื้นฐาน Freedom to publish เพราะเราเชื่อว่าสังคมต้องมีความหลากหลาย ต้องเปิดกว้างทางการศึกษาให้แก่สังคม แต่เราเลือกที่จะเป็นอยู่ยังไงเป็นเรื่องส่วนบุคคล
ในต่างจังหวัด หนังสือที่ขายได้ส่วนใหญ่เป็นหนังสือแบบเรียน เน้นเรื่องการสอบ เน้นเรื่องการยกระดับตัวเอง และคนยังไม่ได้นิยมอ่าน E-book เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ยังอ่านหนังสือเล่มกันอยู่ แต่ไม่น่าเชื่อว่าเชียงใหม่กับหาดใหญ่จะมียอดขายเพิ่มขึ้น บางจังหวัดยอดขายอาจจะไม่ได้ดีมาก บางรายโอเค ขึ้นอยู่กับปัจจัยในแต่ละจังหวัดด้วย
อย่างกรณีที่เราเอานิทรรศการของ สวทช. ชุด ‘Evolution board game’ ซึ่งเกี่ยวกับสัตว์บรรพชีวินที่ค้นพบในประเทศไทยไปจัดแสดง น้องๆ ในต่างจังหวัดเขาก็มีความตื่นเต้นมากที่ได้เห็นเทคโนโลยี AR และเราก็ได้เห็นว่าคอนเทนต์สามารถเป็นอย่างนี้ได้นะ ไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเทนต์แบบอ่านอย่างเดียว นี่คือความมีชีวิตชีวาของมัน ขณะที่คนส่วนใหญ่ในเมืองจะเป็นเรื่องความเอ็นเตอร์เทนเยอะกว่า อ่านการ์ตูน อ่านวรรณกรรม ยอดขาย E-book ก็มาจากวรรณกรรมเป็นหลัก แต่ถ้า Non-Fiction นี่ E-book ไม่ค่อยได้
คาดการณ์ว่าปีนี้หนังสือแนวไหนจะมา
เข้าใจว่าช่วงที่คนทุกข์ ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีตลอดเวลาที่ผ่านมา คนจะต้องหันกลับมาพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่ช่วยทำให้เขายกระดับตัวเองในด้านอาชีพ ด้านที่จะสร้างรายได้ เขาไปหมดแน่ เพราะจริงๆ แล้วหนังสือเป็นการลงทุนที่ต่ำ หนังสือเล่มหนึ่งมันอ่านได้ตั้งไม่รู้กี่คน อีกอันคือหนังสือประเภทที่ทำให้เขาไปต่อกับชีวิตได้ แต่คงไม่ใช่ธรรมะจ๋า จะต้องเป็นอะไรที่ร่วมสมัย และยอดขายหนึ่งที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามีอยู่ด้วยเหรอ คือหนังสือสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นยอดขายที่ดีมาตลอดเลยนะ อาจจะมีลดลงไปบ้างช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่พ่อแม่ยังคงลงทุนกับลูก ฉะนั้น เชื่อว่าหนังสือที่ไปได้ดีกับภาวะแบบนี้คือหนังสือที่จะทำให้เขาพัฒนาตัวเอง ทำให้เขามีรายได้ และทำให้เขามีความสบายใจ แต่ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่เขาจะค่อนข้างศึกษาอะไรที่เป็นเชิงลึกเกี่ยวกับสังคมการเมือง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบภูมิศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้นะ เป็นประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์มากกว่า
ในขณะที่มีงานหนังสือเล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย อะไรคือความแข็งแรงของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่สามารถดึงให้สำนักพิมพ์และคนอ่านมาเข้าร่วมได้อย่างเนื่อง
งานเล็กๆ ที่สมาชิกรายย่อยๆ จัดเองก็เป็นตัวเสริมที่ทำให้เกิดพลังที่ไดนามิก ลองนึกภาพว่าถ้าปีหนึ่งมีงาน Book fair ครั้งเดียว มันก็คงไม่สนุก ซึ่งงานหนังสือแต่ละงานก็ตอบโจทย์คอมมูนิตี้บางอย่างของเขา จริงๆ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมีคนมาแค่จำนวนหนึ่งนะ ถึงแม้ว่าจะเยอะ แต่เมื่อเราไปทำงาน Book fair ออนไลน์ เราพบว่ามีคนเข้ามา 2 ล้านคน ซึ่ง 2 ล้านคนไม่ได้อยู่แค่กรุงเทพฯ 40% เป็นคนต่างจังหวัด เขามางานสัปดาห์หนังสือไม่ได้ และเขามีโอกาสได้เข้ามาซื้อแบบออนไลน์จากทั่วประเทศเลย จริงๆ เรายังมีความเชื่อว่าแต่ละเครื่องมือเป็นคำตอบให้กับกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม อย่างบางคนชอบอ่านหนังสือเล่ม บางคนชอบอ่าน E-book บางคนชอบที่จะฟังมากกว่าอ่าน
เหมือนกับบางคนชอบไปงานแบบนี้ บางคนไม่ได้ไปงานแบบนั้น ยังไงแต่ละงานย่อมมีเสน่ห์ด้วยตัวมันเอง งานใหญ่มีความเยอะเป็นตัวดึง และทุกๆสำนักพิมพ์เอาสรรพกำลังมารวมกัน เป็นความสมัครสมานสามัคคีที่ทำให้เกิดบางสิ่งบางอย่างที่ใครก็ทำไม่ได้ ด้วยความที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ อายุ 60 กว่าปีแล้ว มันสั่งสมอะไรหลายอย่าง สมาชิกในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มารวมตัวกัน มันคือความตั้งใจบางอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องการทำธุรกิจ เชื่อเลยว่าทุกสำนักพิมพ์ที่มาไม่ใช่แค่ทำธุรกิจ แต่เป็นบางอย่างที่ดึงเขาเอาไว้ในการสร้างสรรค์ร่วมกัน และงานใหญ่ยังไงทุกนักเขียนที่มีเวลาต้องไปนั่งแจกลายเซ็น ต้องไปอยู่ที่บูธ ต้องไปขึ้นเวที นี่คือเสน่ห์ของมันที่ได้จับต้อง ได้พบปะตัวต่อตัว ไม่ใช่แค่ออนไลน์ Book fair จึงเป็นเหมือนงานเชิงวัฒนธรรมด้วย เป็นงานเชิงที่จะนำความคิดของสังคมด้วย ไม่ใช่แค่ค้าขายอย่างเดียว
สามารถพูดได้ไหมว่างานสัปดาห์หนังสือยังคงเป็นงานที่ดึงเม็ดเงินมหาศาลให้กับสำนักพิมพ์อยู่
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว งานหนังสือเคยสร้างยอดขายได้ถึง 500 ล้านบาทต่องาน แต่ช่วงหลังๆ เราประเมินว่าอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านบาทต่องาน ต้นปี 250 ล้านปลายปี 250 ล้าน ส่วนหนึ่งทุกคนสร้างกลไกทางการตลาดสำหรับงานแฟร์ ต้องยอมรับว่าถ้าในแง่เศรษฐกิจเขาได้เก็บเงินสด สมมุติถ้าไปฝากร้านต่างๆ ขาย กว่าจะได้ยอดก็หลายเดือนเลย ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่ได้เงิน ในขณะที่งานแฟร์ได้เงินสดทันที ทุกคนเลยทุ่มเทกับงานแฟร์ แล้วบางคนไม่ได้ไปออกงานแฟร์เพื่อขายอย่างเดียวนะ เวลามีงานวรรณกรรมบางงาน หรืองานหนังสือสำหรับนักเขียนบางงานที่เราปลื้ม เราก็อยากให้นักอ่านได้ไปสัมผัสด้วยการทำอะไรบางอย่างเป็นกิมมิกเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นไม่แปลกเลยที่นักอ่านจะเอาเงินตัวเองทุ่มในงาน ซึ่งงานปีนี้เราจัดทำ E-Coupon ที่จำหน่ายล่วงหน้าในราคา 400 บาท ทางเว็บไซต์ pubat.net แต่สามารถซื้อของภายในงานได้ 500 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเงินด้วย
คาดหวังอย่างไรในการกลับมาจัดงาน On ground ที่ ‘ไบเทคบางนา’ เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
เราคาดหวังว่าคนจะมีจำนวนมามากขึ้นทั้งออนไลน์และ On ground โดยเฉพาะ On ground และเพื่อนสำนักพิมพ์จะได้ยอดขายตามเป้าที่เขาต้องการ เข้าใจว่าน่าจะเห็นอะไรสนุกๆ เพราะเป็นการกลับมาอีกครั้งหนึ่งของงานสัปดาห์หนังสือหลังจากหายไป อยากให้มันต้องปังในแง่การตอบโจทย์วัฒนธรรมการอ่าน ตอบโจทย์ภาคเศรษฐกิจ ตอบโจทย์ให้สำนักพิมพ์ ตอบโจทย์ให้นักอ่านได้มาสนุกกัน และก็หวังว่าหนังสือหนังสือเล่มจะยังอยู่ในใจใครหลายคน
Fact Box
- ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติออนไลน์’ เริ่มเปิดให้เหล่านักอ่านสามารถสั่งซื้อหนังสือผ่านเว็บไซต์ ThaiBookFair.com ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2564 พบกับหนังสือกว่า 200 สำนักพิมพ์ และโปรโมชันจากการผนึกกำลังกับ 3 มาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ของประเทศอย่าง Lazada, Shopee, JD Central พร้อมมอบส่วนลดรวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท
- สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง Facebook: Thai Book Fair
- เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพโดย Zombie Books ร้านหนังสืออิสระบนถนนอาร์ซีเอ ที่ครบครันทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เปิดทำการตั้งแต่เวลา 10.00-00.00 น. สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมทาง Facebook: Z-books