ฮีโร่ในความคิดของคุณต้องเป็นแบบไหน

ใส่ชุดยอดมนุษย์ มีพลังพิเศษต่อสู้กับเหล่าร้าย เพื่อปกป้องโลก?

หรือจะให้ตรงกับโลกยุคปัจจุบันสักหน่อย ถ้าเขาหรือเธอคนนั้นไม่ใช่คนเก่งระดับสั่นสะเทือนโลกทั้งโลก ก็คงเป็นผู้มีตำแหน่งใหญ่โตที่มีอำนาจพอที่จะขับเคลื่อนโลกได้ หรือคนมีชื่อเสียงที่ทุกคนต่างจับตามอง

แล้วคนธรรมดาๆ ที่ไม่มีชุดยอดมนุษย์ ไม่มีพลังพิเศษ ไม่มีตำแหน่งใหญ่โต หรือชื่อเสียงเกียรติยศ จะมีโอกาสได้เป็นฮีโร่บ้างไหม

เรื่องราวของเขาและเธอ 3 คนนี้ อาจทำให้ฮีโร่ในความคิดของคุณเปลี่ยนไป

 

มาลัย ดำเนตร ผู้ใหญ่บ้านบ้านหวายหลืม จังหวัดขอนแก่น  
หญิงแกร่งผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเอาชนะปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดในชุมชน

นางมาลัย ดำเนตร ก็เหมือนกับชาวอีสานจำนวนมาก ที่เลือกละถิ่นฐานบ้านเกิดที่จังหวัดขอนแก่น มุ่งหน้าสู่เมืองหลวงเพื่อชีวิตที่ดีกว่า หนีจากความยากจนแร้นแค้น หนีปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ที่พบเจอตั้งแต่เกิด

หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เธอเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนอยู่ถึง 21 ปี แต่แล้วเธอก็ค้นพบว่า แม้กรุงเทพฯ จะมีความสะดวกสบาย แต่ที่นี่ก็ไม่มีครอบครัว ไม่มีคนที่เธอรัก และคนที่บ้านหวายหลืม บ้านเกิดของเธอ ก็ยังต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำที่เป็นมาตลอดตั้งแต่บรรพบุรุษ

เธอจึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อนำความสุขจากการมีน้ำใช้ที่เพียงพอมาให้พี่น้องที่บ้านหวายหลืมได้สัมผัส โดยได้ลงสมัครผู้ใหญ่บ้าน ด้วยความหวังว่าตำแหน่งหน้าที่นี้จะทำให้เธอสามารถทำตามความฝันของเธอได้

ด้วยพลังนักสู้ที่แสดงให้ชาวบ้านได้เห็น แม้จะห่างหายไปจากบ้านเกิดถึงยี่สิบเอ็ดปี มาลัยก็ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านในที่สุด จากนั้น ได้ร่วมกับคนในชุมชนสร้างถังเก็บน้ำและระบบประปาพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ ‘รักน้ำ’ ของโคคา-โคลา ทำให้บ้านหวายหลืมมีน้ำสะอาดใช้สำหรับอุปโภคบริโภค ไปจนถึงทำการเกษตรได้ อันนำมาสู่ความสุขที่แท้จริง

สุชาติ น้อยชม ผู้นำเครือข่ายบริหารจัดการน้ำ ชุมชนบางเคียน จังหวัดนครสวรรค์
ชาวนาผู้ไม่ยอมแพ้ ผสานพลังชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวสู่ความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืน

ชีวิตชาวนาของ นายสุชาติ น้อยชม ชาวชุมชนบางเคียน จังหวัดนครสวรรค์ ก็คงจะวนเวียนกับการปลูกข้าวที่ไม่ได้ข้าว สวนทางกับดอกเบี้ยจากการกู้หนี้ยืมสินที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ เมื่อหน้าน้ำก็น้ำท่วมหมด พอน้ำหลากไปหมดก็แห้งแล้ง ชาวนาหลายคนเลือกจะทิ้งท้องนาไปทำงานอื่นเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว

แต่ความเจ็บปวดจากการเป็น ‘ชาวนาที่ปลูกข้าวไม่ได้’ กลับผลักดันให้เขาเลือกที่จะสู้ และเขาเริ่มมีความหวังกับบ้านตัวเอง เมื่อได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการ ‘รักน้ำ’ ของโคคา-โคลา

เมื่อมาปรึกษากับชาวบ้านในชุมชน สิ่งที่เขาได้รับกลับเป็นคำสบประมาท เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าใครจะมาแก้ปัญหานี้ได้ ประกอบกับยังคงมีบาดแผลจากการถูกหลอกให้ทำโครงการต่างๆ ที่ไม่สัมฤทธิ์ผล แต่ด้วยความมุ่งมั่นพิสูจน์ให้เห็นถึงผลดีของการบริหารจัดการน้ำ ในที่สุดสุชาติก็ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือจากคนในชุมชน

จากที่เคยต่อสู้เพียงลำพัง ก็มีพี่น้องในชุมชนมาร่วมสู้ไปด้วยกัน พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งให้กลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืน ไม่ต้องมีใครละทิ้งบ้านไปทำงานที่อื่น และคนที่จากไปก็กลับมา ให้บ้านกลายเป็นบ้านที่แท้จริง

แดน ศรีชุ่มใจ อาสาสมัครชุมชน บ้านแม่ตาลน้อย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
คนตัวเล็กๆ ผู้ปกป้องผืนป่าต้นน้ำกว้างใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้าน

อีกหนึ่งเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ที่ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ นายแดน ศรีชุ่มใจ อาสาสมัครชุมชน ที่ตั้งใจจะฟื้นฟูพื้นที่อ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริ บ้านแม่ตาลน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ด้วยแนวคิดว่า “คนกับป่าต้องพึ่งพากัน ถ้าเราไม่มีป่า เราก็ไม่มีน้ำ” และมีความเชื่อว่า หากบริหารจัดการน้ำได้ ชุมชนใกล้เคียงจะมีน้ำใช้ตลอดปี

เขาและทีมงานกลุ่มเล็กๆ จึงสำรวจและศึกษาวิธีฟื้นฟูป่า ด้วยความช่วยเหลือจากโครงการ “รักน้ำ” เพื่อหาวิธีการคืนความสมบูรณ์ให้แก่ป่าต้นน้ำ เช่น การปลูกกล้วยเพื่อป้องกันไฟป่า เพราะต้นกล้วยทำให้แนวกันไฟมีความชื้น เมื่อไม่มีไฟ ต้นไม้ก็เติบโตได้ตามธรรมชาติ และป่าก็เริ่มฟื้นกลับมาสู่ความสมบูรณ์

ภายใต้การสนับสนุนจาก โครงการ ‘รักน้ำ’  โดย โคคา-โคลา และความร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงผลกำไร จากคนคนเดียว เป็นคนกลุ่มเล็กๆ และจากคนกลุ่มเล็กๆ สู่ความร่วมมือกับคนในชุมชนใกล้เคียง ความสามัคคีของผู้คนในพื้นที่ได้กลายมาเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลง และนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผืนป่าต้นน้ำ บ้านแม่ตาลน้อย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปางอย่างยั่งยืน

เรื่องราวของฮีโร่คนธรรมดาทั้ง 3 คน บอกเราว่า ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่คนธรรมดาตัวเล็กๆ จะเป็นฮีโร่ เขาหรือเธออาจเป็นคนใกล้ตัวคุณ หรืออาจเป็นคุณเองที่ไม่นิ่งนอนสยบยอมต่อปัญหาแล้วลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพราะฮีโร่ตัวจริงจะเป็นใครหรือสวมชุดอะไรก็ได้ เพียงแค่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่น และถึงแม้ไม่มีพลังพิเศษหรืออำนาจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้อย่างพลิกฝ่ามือ แต่ความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนที่เห็นคุณค่าของการทำดีนั้น เมื่อรวมกันแล้วก็เป็นพลังมหาศาลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน

Fact Box

โครงการ ‘รักน้ำ’ คือโครงการด้านความยั่งยืนของโคคา-โคลา ที่ดำเนินการร่วมกับองค์กรไม่แสวงผลกำไร นั่นคือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต และชุมชน ในการแก้ปัญหาน้ำในแต่ละพื้นที่ ด้วยการบริหารจัดการน้ำชุมชนที่แตกต่างไป โดยเน้นให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตั้งแต่ระบุปัญหา หาทางแก้ไข ดำเนินการ และติดตามผล

นอกเหนือจากการเข้าไปช่วยชุมชนแก้ปัญหาน้ำแล้ว โครงการ “รักน้ำ” ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกัน ดังที่ชุมชนทุกแห่งในโครงการไม่เพียงร่วมกันแก้ปัญหา แต่ยังแบ่งปันองค์ความรู้การจัดการน้ำไปสู่ชุมชนรอบข้างที่ไม่ได้อยู่ในโครงการอีกด้วย ปัจจุบัน คนไทยกว่า 1 ล้านคนได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านโครงการ 'รักน้ำ'

Tags: , , , , ,