*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของละคร

บิน (BIN) เป็นละครเวทีเกี่ยวกับตัวละครชื่อ ‘ยุ๊ด’ (ไม่ใช่ยุดธรรมดา แต่เป็น ยุ๊ด ที่มีไม้ตรีด้วย) เขาวนเวียนอยู่ในสถานที่ที่ชื่อว่า ‘โรงนำกลับมาใช้ใหม่’ เขาเข้าๆ ออกๆ ที่นี่หลายต่อหลายครั้งในแต่ละช่วงอายุ ในบางช่วงเขาเพลิดเพลินกับอำนาจที่ระบบมอบให้ แต่ในบางช่วงอายุเขาก็พบว่าระบบกำลังหลอกลวงทุกคนอยู่อย่างร้ายกาจ ละครถูกเล่าผ่านนักแสดงสี่คนที่เล่นเป็นยุ๊ดในห้าช่วงวัยด้วยกัน ได้แก่ 15,23,30,45 และ 46 ปี ละครเรื่องนี้เขียนบทและกำกับโดยสองพี่น้อง กรีก – พิรุฬห์ลักษณ์ แจ่มอำพร และ กรีซ-ณัฐฐาพิรุฬห์ แจ่มอำพร ซึ่งพวกเธอเองนอกจากทำละครเวทียังเปิดโรงเรียนสอนศิลปะและการแสดงชื่อ Homeroom ที่จังหวัดอ่างทอง และแรงบันดาลใจแรกของละครเรื่องนี้เองก็มาจากเด็กคนหนึ่งในโรงเรียนที่พวกเธอนิยามว่า “กลัวกระดาษเปล่า” ไม่กล้าวาดอะไรลงไปทั้งสิ้น

ฉากหลังของเรื่องนี้เป็นโลกสมมติที่ตัวละครผูกติดอยู่กับระบบที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด ทุกคนมีไดอารี่ที่ต้องจดรายงาน มีการคัดแยกคนเป็นหมวดหมู่ด้วยเกณฑ์การตัดสินที่คลุมเครือ และทุกคนใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘แสง’ เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนคล้ายสกุลเงิน แต่ค่าของมันมีมากกว่าแค่การแลกเปลี่ยนสิ่งของ เพราะ ‘แสง’ ยังเป็นสิ่งที่กำหนดอายุขัยของพวกเขา ทุกคนต้องใช้มันเพื่อชีวิตต่อไปในแต่ละวัน
อย่างน้อยนั่นก็เป็นสิ่งที่ระบบบอกพวกเขา

ระบบและกฎระเบียบของโลกในเรื่องทั้งหมดออกจะคลุมเครือ ดูไม่ได้สมเหตุสมผลและไม่ได้เข้าใจง่ายนัก ชวนให้นึกถึงงานเขียนของคาฟกา ที่ตัวละครมักถูกระบบที่มองไม่เห็นควบคุม ทำให้สับสน รวมถึงทำร้าย จนติดอยู่ในเขาวงกตไร้ทางออกและเต็มไปด้วยกับดัก และหากตีความในภาพรวมที่ใหญ่ขึ้น นั่นก็อาจเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนล้วนกำลังถูกสังคมจริงๆ กระทำอยู่ 

การนำตัวละครตัวเดียวมาคลี่ออกเป็นหลายช่วงวัย ยิ่งทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนที่เกิดขึ้นจากระบบ หรือกระทั่งบุคคลอื่นที่ล้วนเป็นฟันเฟืองในระบบ (ซึ่งละครจงใจเล่าโดยไม่ให้เห็นพวกเขาเหล่านั้น) ว่าส่งผลอย่างไรกับยุ๊ดบ้างในแต่ละช่วงอายุ หากดูไปเรื่อยๆ จะพบว่าการเติบโตทำให้ยุ๊ดค่อยๆ ชาชิน พ่ายแพ้ ยอมจำนน แต่ด้วยลักษณะอะไรบางอย่างของเขา อาจจะเป็นความฝันถึงแสงอาทิตย์ในเพลงที่ร้องหรือเศษเสี้ยวของความหวังที่จะบินออกจากเขาวงกตไร้หลังคา ยุ๊ดถึงยังมีความดื้อดึงพยายามต่อสู้อย่างเงียบๆ หรืออย่างน้อยก็ตั้งคำถามต่อระบบ ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วคำตอบและบทสรุปอาจไม่ได้ทำให้อะไรมีค่าขึ้นมาแถมยังนำไปสู่คำถามอีกมากมาย

นักแสดงซึ่งเป็นหัวใจหลักของละครเล่นออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ในฉากที่รู้สึกว่าค่อนข้างยาก อย่างซีนที่ต้องเล่นกับอากาศให้เหมือนมีตัวละครอื่นแวดล้อม ทุกคนก็ทั้งทำให้รู้สึกเหมือนมีตัวละครล่องหนกำลังทำร้ายพวกเขาอยู่รวมถึงแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงวัย ซึ่งวิธีการนี้เองยังสะท้อนบุคคลิกของยุ๊ดที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงอายุด้วย นอกจากนั้นยังรู้สึกชอบดนตรีประกอบเป็นการส่วนตัว ซึ่งใช้วิธีบรรเลงดนตรีสดเล่นไปพร้อมกับเรื่อง และนักดนตรีมีแค่คนเดียวกับกีต้าร์ที่เขาประยุกต์การเล่นไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์ของแต่ละฉาก บางครั้งเป็นเมโลดี้ บางครั้งเป็นเสียงเคาะ เสียงบิดสาย จนถึงช่วงท้ายเรื่องที่เสียงร้องของเขาออกมาสอดรับกับกีต้าร์ทำให้ยิ่งส่งอารมณ์ของตอนจบออกมาได้อย่างสวยงาม

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือวิธีการเล่าของละคร ที่คล้ายกับการแสดงชิ้นส่วนเล็กๆ ของความทรงจำสลับไปมา มากกว่าจะเล่าเรื่องเรียงลำดับเป็นเส้นตรง ทำให้ระหว่างฉากมีช่องว่างที่เว้นไว้ให้คนดูเติมเต็มเองได้มากมาย บวกกับการออกแบบเวทีให้นักแสดงเดินไปมาล้อมรอบคนดู มีฉากหลังที่มองไม่เห็นแต่มักมีเสียงเล็ดลอดออกมา มีด้านข้างที่ต้องคอยสังเกต ยิ่งช่วยเพิ่มรายละเอียดให้กับการตีความมากขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้จึงทำให้ลำดับเวลาของเรื่องทับซ้อนกัน บางครั้งพวกเขาอยู่คนละช่วงเวลา บางครั้งก็เหมือนเวลาจะถูกดึงให้มาบรรจบในระนาบเดียวกัน สร้างมิติให้ตัวละครตัวเดียวสามารถถูกอ่านได้หลากหลายรูปแบบ อย่างในฉากท้ายๆ ที่อาจเป็นเพียงแค่ความฝันของยุ๊ดในวัย 46 ตัวละครทุกตัวคุยกันอย่างชัดเจนเหมือนไม่มีเส้นแบ่งเวลา เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พวกเขาได้เจอเพื่อนซึ่งสามารถสนิทใจได้จริงๆ ในแง่หนึ่งนี่คงเป็นซีนที่ดูมีความสุขที่สุดแต่ในขณะเดียวกันก็เศร้าที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วทั้งชีวิตอันโดดเดี่ยวของยุ๊ดคนที่อยู่ข้างเขาจริงๆ ก็มีแต่ตัวเอง

เพลงที่ยุ๊ดร้องมาตั้งแต่เด็กพูดถึงสิ่งที่วนเวียนโผล่มาจากขอบฟ้าและจะกลับมาใหม่ที่เดิม มันอาจเป็นเหมือนความหวังถึงอะไรบางอย่างที่แม้จะหายไปก็จะกลับมา แต่ในอีกแง่หนึ่งทั้งหมดก็เป็นแค่การวนเวียนอยู่ที่เดิม เหมือนทั้งชีวิตยุ๊ดที่ติดอยู่ในระบบซึ่งทำร้ายเขา มันป้อนแสงที่คล้ายกับความหวังให้เขา และสิ่งนั้นเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ได้ไปไหน ยังคงวนเวียนอยู่ในนี้ 

ในตอนจบของเรื่อง ยุ๊ดในวัย 46 กำลังจะออกบิน ตัวเขาเองที่เหลือแค่ตัวเขาเอง และกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่กำลังจะเสร็จสิ้น วิธีเดียวที่จะออกจากระบบอาจหมายถึงความตาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านั่นทำให้ระบบเปลี่ยนแปลงหรือแม้แต่หมายความว่าสิ่งนั้นคืออิสระแท้จริง เพราะที่สุดแล้วความตายหรือการได้ออกบินก็เป็นผลจากสิ่งที่ระบบกระทำต่อเขาอยู่ดี เมื่อละครจบแล้วทำให้นึกถึงสิ่งที่ผู้เขียนบทเล่าว่าเป็นแรงบันดาลใจแรกของละคร เด็กคนที่ไม่กล้าวาดอะไรลงไปในกระดาษเปล่า ชีวิตในระบบบางอย่างอาจเป็นอะไรแบบนั้น หน้ากระดาษเปล่าไร้ความหมายในไดอารี่ที่เราไม่กล้าแม้แต่จะวาดอะไรลงไป

Fact Box

บิน (BIN) จัดแสดงอีกจนถึงวันที่ 29 กันยายน และ 4 ตุลาคม ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/events/833269637066586/

Tags: , ,