เสียงตอกไข่ลงกระทะ กลิ่นและรสชาติของอาหารที่ถูกหยิบยื่นให้เคล้าคลอไปกับรสชาติของบทสนทนาธรรมดาของหญิงสาวธรรมดาสองคน กระตุ้นประสาทสัมผัสและความรู้สึกพิเศษอย่างประหลาดในใจเรา บทละคร Sunny Side Up : เกือบสุข ที่ถูกสร้างขึ้นจากนักแสดง รวมถึงตัวตนของนักแสดงเองกำลังตั้งคำถามกับผู้ชมเกี่ยวกับ ‘ความบกพร่อง’ และ ‘ความสุข’ ของตัวเราเองได้อย่างน่าสนใจ
ละครเรื่องนี้เป็นผลงานการเขียนบทและกำกับของ สตางค์—ภัทรียา พัวพงศกร นักเขียนบทละครเวทีมือรางวัลจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงในปี 2015 และเป็นบรรณาธิการหมวดท่องเที่ยวของนิตยสาร The Cloud งานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Performative Arts Festival 2019 จัดโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) สตางค์สร้างบทละครโดยอ้างอิงจากบทสนทนาของนักแสดงทั้งสองคนคือ เม็ดพลอย–สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักเขียนผู้พิการทางสายตาเจ้าของผลงานหนังสือ จนกว่าเด็กปิดตาจะโต และกำลังศึกษาปริญญาโทด้านจิตวิทยา อีกคนคือซันนี่–โรฬา วรกุลสันติ นักแสดงอิสระทั้งละครเวที โฆษณา ภาพยนตร์ และกำลังรับการบำบัดจากอาการไบโพลาร์
ละครเริ่มต้นด้วยหญิงสาวที่ออกมาเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ชีวิตวัยเด็ก ประสบการณ์โลดโผนตอนวัยรุ่น การลงรายละเอียดของเรื่องเล่าทำให้ผู้เขียนเห็นภาพตามได้ชัดเจน แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็พบว่าเรื่องเล่าสีฉูดฉาดเหล่านั้นเป็นเรื่องราวของหญิงสาวอีกคนที่กำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่อีกมุมหนึ่งของเวทีและเธอเป็นผู้พิการทางสายตาตั้งแต่กำเนิด บทสนทนาทั้งคู่เริ่มต้นจากตรงนี้ เรื่องราวหลังจากนี้เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องชีวิตและความฝันระหว่างการซ้อมละครเรื่องนี้ ตัดสลับกับการเล่าเรื่องของซันนี่ที่สวมบทบาทเป็นเม็ดพลอยและเล่าเรื่องราวของเธอ
ตัวบทละครเป็นอย่างที่นักแสดงคนหนึ่งพูดว่า “เหมือนเครื่องพ่นคำคม” คือมีความเป็นวรรณกรรมสูงอาจเพราะนักแสดงและผู้เขียนบทเองเป็นนักเขียนทั้งคู่ แต่การพูดออกมาอย่างธรรมชาติมากๆ ของนักแสดงทำให้เราไม่รู้สึกขัดหูเท่าไร พอเป็นช่วงที่เล่าเรื่องให้ผู้ชมฟัง ตัวบทที่ดูเป็นภาษาเขียนก็มีพลังขึ้นมามากกว่าเดิม เรื่องเล่าของนักแสดงทำงานตั้งแต่ตอนที่เผยว่าใครเจ้าของเรื่องเล่านั้น มันทำให้ผู้เขียนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองระหว่างฟังเรื่องราวต่างๆ ของนักแสดงว่าความรู้สึกเศร้าใจหรือเห็นใจที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเรารู้ว่าเจ้าของเรื่องเป็นผู้พิการทางสายตารึเปล่า ประเด็นนี้ผุดขึ้นมาตั้งแต่ต้นเรื่องและวนเวียนอยู่เพื่อให้ผู้เขียนหาคำตอบอยู่ตลอดเรื่องและมันก็เป็นประเด็นหลักของเรื่องนี้ด้วยที่ว่า เราควรมองเพื่อนมนุษย์ด้วยสายตาแบบไหน
ตอนหนึ่งในการแสดงมีการพูดถึงซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัวซึ่งเป็นตัวแทนของความหวังในชีวิต และ นกนางนวล ของโจนาธาน ลิฟวิงสตันที่พยายามฝึกบินและกลายเป็นนกที่บินเก่งจนนกนางนวลตัวอื่นๆ สรรเสริญให้โจนาธานเป็นพระเจ้า นั่นเป็นภาพสะท้อนเกี่ยวกับประเด็นในเรื่องได้ดีมากๆ เรามักจะมองคนที่มีความบกพร่องไม่ว่าทางด้านร่างกายหรือจิตใจว่าเป็นคนพิเศษเพียงแค่เขาทำอะไรที่คนทั่วไปก็ทำกัน เช่น วาดรูปได้ เขียนหนังสือได้ บางทีเราอาจจะชมเขาเพราะเรามองว่าเขามีความบกพร่องกว่าเรา การทำเรื่องเหล่านี้ได้จึงกลายเป็นเรื่องพิเศษแต่มันกลายเป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับพวกเขาที่ไม่ได้ถูกชื่นชมจากสิ่งเขาทำจริงๆ ละครบอกเล่าเรื่องนี้ด้วยบทสนทนาที่ธรรมดาที่สุดเพื่ออธิบายความรู้สึกเหล่านี้ด้วยอาการที่ไม่ฟูมฟายและไม่ทำให้เราถอยหนีออกจากตัวงาน กลับกันยิ่งทำให้อยากรู้จักนักแสดงมากขึ้น
แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงหนึ่งก็ยังมีความรู้สึกว่าละครอธิบายบางอย่างล้นเกินไปหน่อย โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้ที่มีอาการไบโพลาร์ มีความพยายามอธิบายตัวโรคอย่างตรงไปตรงมาแทนการเล่าเรื่องแบบก่อนหน้า ส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นทางเลือกที่ตรงไปหน่อย เมื่อเทียบกับการอธิบายเรื่องความบกพร่องทางสายตาผ่านประสบการณ์ชีวิตของตัวนักแสดงแล้ว เราจะเข้าใจภาวะของอย่างหลังได้ดีกว่า จริงอยู่ที่เนื้อหาตรงนี้เป็นเรื่องที่เล่ายากพอสมควร แต่เมื่อเล่าออกมาตรงๆ ด้วยข้อมูลอาการมันทำให้ผู้เขียนเข้าใจ ‘สภาพ’ ของโรคนี้ แต่ยังไม่เข้าถึง ‘ภาวะ’ ที่ผู้เป็นโรคต้องเผชิญเท่าไหร่นัก
ฉากภาพท้องฟ้าที่ถูกวาดอยู่บนพื้นห้องก็เป็นองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งท่ี่ผู้เขียนชอบ เมื่อมองภาพรวมก็เห็นบรรยากาศที่ดูสบายเหมือนสถานที่ที่ทำให้เราสบายใจ ทำให้นึกถึงการบำบัดและความผ่อนคลาย และมันยังทำให้เห็นถึงความอิสระแต่ก็ไม่แน่นอน ไม่คงที่และไม่มั่นคง พร้อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาของตัวละครด้วย พอท้องฟ้ากลายเป็นพื้นให้ยืนแล้วมันมีความรู้สึก upside down กลับหัวกลับหางอยู่ในนั้น ซึ่งก็บ่งบอกความหมายเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของตัวละครได้เป็นอย่างดี
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ชอบมากคือการที่ละครใช้กลิ่นเพื่อพาเราเข้าไปสู่เรื่องเล่าในละคร ซึ่งออกแบบโดยคุณชลิดา คุณาลัย บางทีกลิ่นและอาหารที่ผู้กำกับให้เราทานระหว่างการแสดงยังชวนให้เรานึกถึงเรื่องราวของตัวเองด้วย ส่วนตัวรู้สึกว่ามีน้อยไปหน่อย นานๆ จะมาเสียที (แอบคาดหวังจากการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นละครมีกลิ่น) ถ้าหากพัฒนาต่อและใส่เข้ามาให้มากขึ้นอีกนิดในจังหวะที่เหมาะสม น่าจะทำให้มันกลายเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งได้ และอีกส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือนี่เป็นละครที่เป็นกันเองกับผู้ชมในทุกรูปแบบ มีบทบรรยายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ มีกลิ่น มีรสชาติ มีไมค์ติดกับตัวนักแสดง มีครบทุกประสาทสัมผัสและเป็นรายละเอียดที่ทีมงานใส่ใจและน่าชื่นชมมากๆ
โดยรวมแล้วละครเรื่อง Sunny Side Up : เกือบสุข มีจังหวะที่เรียบง่าย มีบทสนทนาที่ธรรมดาแต่น่าสนใจไม่น้อย ละครท้าทายมุมมองของผู้ชมที่มีต่อคนอื่นๆ ในสังคมผ่านเรื่องราวเล็กๆ ของคนบกพร่องทั้งสองคน เพื่อขยายภาพใหญ่ให้เห็นว่าเราทุกคนต่างเป็น ‘คนผิดปกติเป็นปกติ’ ทุกคนต่างบกพร่องและสมบูรณ์ในชีวิต ทุกคนมีสิทธิ์จะหวังและฝัน เป็นทั้งคนพิเศษและคนธรรมดา เป็นทั้งนกกระเรียนและนกนางนวล
ขอบคุณภาพจาก: ละครเวที Sunny Side Up: เกือบสุข
Tags: โรคซึมเศร้า, ละครเวที, คนตาบอด, sunny Side Up เกือบสุข, ผู้บกพร่องทางสายตา, ไบโพลาร์