ถึงแม้ช่วงต้นปีนี้เทรนด์ ‘มุ้ปอร’ (มูฟออน) กำลังมาแรง แต่ก็ไม่น่าสายเกินไปที่จะทบทวนถึงละครเวทีและศิลปะการแสดงของปี 2019 (หลังจากที่ได้สรุปรวมละครเวทีแห่งทศวรรษ 2010s ไปแล้ว) ต้องบอกกล่าวเป็นธรรมเนียมเช่นเคยว่าละครเวทีที่กล่าวถึงในบทความนี้ไม่ใช่ละครเวทีที่ดีที่สุด แต่เป็นผลงานที่มีแง่มุมน่าสนใจจนผู้เขียนอยากจะจดจำและบันทึกเอาไว้

ก่อนอื่นขอย้อนความถึงละครเวทีที่เคยถูกเขียนถึงไปแล้วใน The Momentum ในฝั่งของศิลปินรุ่นใหม่ งานที่น่าสนใจคือ What’s left: Resonance from the Discarded ผลงานสองเรื่องสองรสของสุรัตน์ แก้วสีคร้ามและกวิน พิชิตกุล ที่เล่นกับการทำซ้ำและก่อกวนอารมณ์ผู้ชม ส่วนในฝั่งของรุ่นใหญ่ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เลิกเต้นชั่วคราวแล้วหันมานั่งคุยกับผู้คนชนิดปอกเปลือกใน สัตว์มนุษย์ , ภัทรสุดา อนุมานราชธน มีผลงานสุดแสนน่ารัก My Mother’s Kitchen ว่าด้วยเรื่องราววุ่นๆ ในครัวและความต่างทางวัฒนธรรม ส่วน ธีระวัฒน์ มุลวิไล กลับมาสร้างความสั่นสะเทือนอีกครั้งกับ The (Un)Governed Body งานเคลื่อนไหวทางร่างกายที่ตั้งคำถามถึงการควบคุมและถูกควบคุม 

ส่วนละครเวทีเรื่องอื่นๆ ในปี 2019 ที่ผู้เขียนขอกล่าวถึงเพิ่มเติมมีดังนี้ครับ

เดชคัมภีรธรรมดา: ภาคธรรมดา 

ตัวอย่างของงานประเภท ‘ธรรมดาจนดี’ เนื้อหาของละครแทบไม่มีอะไรเลยนอกจาก เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ กับ กวิน พิชิตกุล ซ้อมละครเรื่องหนึ่งไปเรื่อยๆ (คำโปรยของงานชิ้นนี้ยังเขียนว่า “เรื่องราวธรรมดาๆ ของนักละครสามัญชนคนธรรมดาสองคน ไม่พิเศษ ไม่เทวดา”) ทั้งสองพูดคุย คิดท่าทาง จัดบล็อคกิ้ง จัดข้าวของ แล้วก็กลับไปนั่งพูดคุยกันต่อ แต่ความเป็นธรรมชาติ ลื่นไหล ขำขันแต่พองามคือจุดแข็งของละครเรื่องนี้ นอกจากนั้นมันยังสร้างบรรยากาศพิเศษของโลกของละครที่ซ้อนอยู่ในละครอีกทีด้วย 

Hand to God 

คณะ Peel the Limelight ขึ้นชื่อเรื่องการนำบทละครดีๆ มาสรรค์สร้างในรูปแบบละครโรงเล็ก ทั้ง I Am My Own Wife และ Death and the Maiden พวกเขามาถึงจุดพีคสุดกับละครเรื่อง Hand to God ที่สร้างจากบทละครของ โรเบิร์ต แอสกินส์ ว่าด้วยเด็กหนุ่มที่เพิ่งสูญเสียพ่อไป เขาเข้าร่วมชมรมละครหุ่นของโบสถ์ ทว่าหุ่นมือกลับมีชีวิต อ้างตัวว่าเป็นซาตาน และพยายามครอบงำพระเอก

แอสกินส์ได้แรงบันดาลใจจากการเติบโตในเมืองเคร่งศาสนา ละครเรื่องนี้จึงว่าด้วยครอบครัวและชุมชนโบสถ์ที่ฉากหน้าพยายามทำตัวเคร่งศีลธรรม หากแต่ภายในกลับซ่อนไว้ด้วยความปรารถนาโดยเฉพาะเรื่องเซ็กซ์ เช่นนั้นแล้ว Hand to God จึงมีทั้งคำพูดหยาบโลน พฤติกรรมกักขฬะ และฉากการร่วมรักของหุ่นมือ (!!) ที่ทำเอาคนดูต้องร้องอุทานด้วยความสะใจแทบจะทุกห้านาที

สิ่งที่ต้องชื่นชนอย่างมากของ God to Hand คือเหล่านักแสดงที่เล่นกันได้วายป่วงสุดๆ แต่โดดเด่นที่สุดหนีไม่พ้น เจมส์ เลเวอร์ พระเอกของเรื่องที่รับทั้งบทหนุ่มติ๋มและหุ่นมือชั่วร้าย อีกอย่างที่ละครทำได้ดีคือการนำเสนอหัวใจหลักของบทละคร นั่นคือการตั้งคำถามถึงความชั่วร้ายที่มนุษย์ทำทีเป็นหนีห่าง แต่ที่จริงแล้วเราก็หลงใหลและอยากเห็นมันทวีดีกรีมากขึ้น เหมือนกับการหัวร่องอหายไปกับละครเรื่องนี้นั่นเอง

A Midsummer Night’s Dream : ฝันกลางสวน 

ครบรอบ 20 ปีคณะละคร B-Floor กับผลงานเล่นใหญ่ที่สุดในชีวิตที่กำกับโดย จารุนันท์ พันธชาติ สร้างจากผลงานชื่อก้องของ วิลเลียม เชกสเปียร์ ว่าด้วยเรื่องรักวุ่นๆ และความผิดฝาผิดตัวแบบชวนหัว ละครเรื่องนี้ทำให้เราทึ่งตั้งแต่การเลือกเล่นกลางแจ้ง (ที่สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ) ต้องลุ้นกับฟ้าฝนหรือไม่ก็อากาศร้อนอบอ้าว (กลัวนักแสดงเป็นลม) แถมเซ็ตติ้งของละครยังสุดแสนอลังการ ทั้งไฟประดับตามต้นไม้ ทางเดิน การเชิดหุ่นยักษ์ แถมยังมีทั้งพูด มูฟเมนต์ และมิวสิคัล แต่ถึงจะจัดเต็มเบอร์นี้ตัวละครเองมีปัญหาเรื่องความวุ่นวายและยืดเยื้อช่วงท้ายพอสมควร ถึงกระนั้นนี่เป็นงานที่ทะเยอทะยานทว่าดูได้อย่างเพลิดเพลิน

แสงทองผ่องอำไพ 

เป็นเรื่องถกเถียงกันเสมอระหว่างเส้นแบ่งของ ‘ละครแปล’ กับ ‘ละครดัดแปลง’ แต่ ‘แสงทองผ่องอำไพ’ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของละครดัดแปลงชั้นเยี่ยม โดยแปลงจากเรื่อง The Bald Soprano ของ เออแฌน อิโอเนสโก (Eugène Ionesco) ให้อยู่ในบริบทแบบไทยๆ อย่างชาญฉลาด ด้วยฝีมือของเจ้าแม่แปลงบท ปานรัตน กริชชาญชัย (เธอยังเป็นผู้ทำบทเรื่อง A Midsummer Night’s Dream ด้วย)

เรื่องราวของ แสงทองผ่องอำไพ เล่าถึงกลุ่มชนชั้นสูงที่นัดพบกันที่บ้าน แต่อยู่ดีๆ ก็มีช่างไฟมาแจ้งข่าวสารที่นำไปสู่บทสนทนาลากยาวที่ไม่ได้แก่นสารใดๆ ตามแนวทางของละครแอบเสิร์ด ซึ่งส่วนตัวแล้วผู้เขียนมองว่าเป็นแนวละครที่ทำออกมาได้ยาก เพราะต้องนำเสนอความตลกและความอิหยังวะไปพร้อมกัน ซึ่งผู้กำกับ ญาดามิณ แจ่มสุกใส ก็บาลานซ์ทั้งสองด้านได้อย่างสมดุล จากประสบการณ์การทำละคร สุดแสนเจ๊กใจ ม๊าหายไป 6 เดือน ฯลฯ ที่เป็นดราม่าคอเมดี้ กับ Medium (and the secret chamber of Jubjang) ที่เป็นแนวแอบเสิร์ด ทำให้เห็นเลยว่าตอนนี้เธอก้าวไปสู่อีกเลเวลแล้ว 

The Quiet House 2nd edition 

ปกติผู้เขียนไม่ค่อยถูกชะตากับบูโตนัก ด้วยความนิ่งช้าชวนอึดอัดของมัน แต่สำหรับ The Quiet House 2nd edition ที่นำแสดงโดยศิลปิน 3 สัญชาติ ธีระวัฒน์ มุลวิไล (ไทย), ยูโกะ คาวาโมโตะ (ญี่ปุ่น) และเอเจ โพธิสาน (ลาว) เริ่มต้นด้วยการเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าก่อนจะค่อยๆ รวดเร็วและตึงเครียดมากขึ้น จนกลายเป็นการแสดงที่มีความสำคัญในทุกห้วงวินาที

ผู้ชมต่างแปลกใจที่มีการแจกหน้ากากอนามัยหน้างาน ก่อนจะพบว่าฉากของละครเต็มไปด้วยก้อนหินและเศษฝุ่นคละคลุ้ง เมื่อทำการบ้านเพิ่มเติมก็ได้ทราบว่าแรงบันดาลใจของงานคือระเบิดที่ตกค้าง (UXO – Unexploded Ordnance) กว่า 270 ล้านลูกในประเทศลาวจากสงครามอินโดจีน เช่นนั้นแล้วนักแสดงจึงอาจเป็นตัวแทนของวิญญาณหรือคนตายที่อยู่ในบ้านเงียบงัน หากแต่คอยส่งเสียงแห่งความเจ็บปวดออกมาอย่างไม่สิ้นสุด 

Violent Event 

ผลงานของคณะละครจากเยอรมนี Billinger & Schulz ที่จัดแสดงในงาน BIPAM 2019 น่าจะเป็นผลงานที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดของปี 2019 เหตุที่มันพูดถึงความรุนแรงในมิติที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยปกติแล้วสื่อศิลปะหลายชิ้นมักนำเสนอว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่เลวร้าย หากแต่ Violent Event ไม่ได้ชี้นำคนดูในทางนั้น แต่เป็นการตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรียกว่าความรุนแรง

ช่วงแรกของละครประกอบด้วยการกระทำของนักแสดงที่ล้วนนำพามาซึ่งความไม่สบายใจ ตั้งแต่การปาลูกบาสอัดใส่กัน การมัดมือมัดเท้ามัดปาก ไปจนถึงการกรอกน้ำ waterboarding จริงอยู่ที่เรารู้ว่าการแสดงเหล่านี้ผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างรัดกุม แต่เราก็ยังกระอักกระอ่วนอยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้นนักแสดงยังแสดงความเห็นอกเห็นใจกันด้วยการคอยถามอีกฝ่ายว่าเธอโอเคไหม ไหวหรือเปล่า ยิ่งทำให้คนดูทำตัวไม่ถูกมากขึ้นไปอีก

ครึ่งแรกของ Violent Event เป็นความรุนแรงที่มองเห็น ส่วนครึ่งหลังไปสู่เรื่องของความรุนแรงแบบมองไม่เห็น (ผู้ชมต้องใช้จินตนาการ) เช่น ฉากที่นักแสดงโมโนล็อกถึงความตายอันสยดสยอง บทพูดเรื่องการเตรียมตัวเก็บกระเป๋าเพื่อไปฆ่าคนที่บ้าน และฉากสุดท้ายที่เป็นการเต้นประกอบเพลงเกี่ยวกับฮิตเลอร์ มุสโสลินี พระเยซู ที่สื่อถึงความรุนแรงเชิงประวัติศาสตร์ เช่นนั้นแล้ว Violent Event จึงเป็นงานที่คมคาย มันไม่ได้ตั้งคำถามแบบนางงามประเภทว่า “เราจะหยุดความรุนแรงได้อย่างไร” หากแต่เป็นคำถามว่า “อะไรกันแน่ที่เรียกว่าความรุนแรง”