สิบปีที่ผ่านมาวงการศิลปะการแสดงบ้านเราผ่านความเปลี่ยนแปลงมามากมาย ตั้งแต่การจองบัตรด้วยการโทรศัพท์มาสู่การส่งข้อความทางเฟซบุ๊กหรือไลน์, โรงละครขนาดเล็กที่เคยมีมากมาย แต่บัดนี้สูญสลายไปเกือบหมดแล้ว (โรงละครพระจันทร์เสี้ยว, สถาบันปรีดี พนมยงค์, B-Floor Room, Thong Lor Art Space, Democrazy Theatre) ไปจนถึงสูจิบัตรละครที่หลายคณะงดการแจกกระดาษแต่ใช้วิธีแสกนคิวอาร์โค้ดแทน (น้องเกรียตา ทุนแบร์ย คงถูกใจสิ่งนี้)

ในเมื่อปีหน้าคือปี 2020 ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสำนักข่าวศิลปวัฒนธรรมทั่วโลกที่จะนึกใคร่ครวญทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2010 จนถึง 2019) เราจึงขอบอกเล่าละครเวทีที่น่าประทับใจหรือน่าจดจำของทศวรรษ 2010 ผ่านคำให้การของเหล่านักวิจารณ์จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC – International Association of Theatre Critics, Thailand Centre) และเพื่อความหลากหลายจึงมีทั้งคนที่ดูละครเวทีมาเกินครึ่งชีวิตและนักวิจารณ์เลือดใหม่ที่ดูละครมาไม่กี่ปี 

แต่ละคนจะเลือกเรื่องใดเป็นอันดับหนึ่งและมีท็อปเท็นเป็นเรื่องอะไรบ้าง เชิญติดตามได้ครับ

บางละเมิด (2012 & 2015, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์)

งานแสดงเดี่ยวที่เนื้อหากล้าหาญกว่าวิธีนำเสนอ ผลงานของ B-Floor Theatre ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกเมื่อนำกลับมาจัดแสดงอีกครั้งเมื่อต้นปี 2015 มีเจ้าหน้าที่ทหารกรุณามาถ่ายวีดิทัศน์ให้ฟรีทุกรอบ ที่ Thong Lor Art Space (ซึ่งไม่มีแล้ว) ถ้าอรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ต้องแสดงละครเรื่องนี้อีก ก็หมายความว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในประเทศนี้ นับตั้งแต่ที่ละครแสดงครั้งแรกปี 2012 ที่ B-Floor Room (ซึ่งไม่มีแล้ว) จนถึงวันที่แสดงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  และหมายความด้วยว่าอรอนงค์ยังไม่ได้เข้ารับการปรับทัศนคติและยังไม่ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ – ปวิตร มหาสารินันทน์

ไม่มีละครเรื่องไหนในรอบสิบปีที่ผ่านมาที่กล้าพูดถึงมาตรา 112 และการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาแต่มีศิลปะได้เท่ากับการแสดงเดี่ยว ‘บางละเมิด’ โดย อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ได้อีกแล้ว ถึงแม้ว่าการแสดงจะมีทั้งการเคลื่อนไหวร่างกายและการพูด แต่อรอนงค์ก็ไม่ได้ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายอำพรางประเด็นที่ล่อแหลม เธอกลับใช้คำพูดเผยสิ่งที่ล่อแหลมและอันตรายให้ปรากฏเป็นรูปธรรมบนเวที และใช้ร่างกายสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ในภาวะที่ถูกล่วงละเมิดและกดขี่ ‘บางละเมิด’ เป็นผลงานที่ประกาศความเป็นศิลปินอย่างเต็มตัวของอรอนงค์ – อมิธา อัมระนันทน์

การรีสเตจของ ‘บางละเมิด’ ในปี 2015 ทำให้เห็นพลังของศิลปะการแสดงอย่างชัดเจน เพราะนอกจากศิลปินจะสะท้อนประเด็นการถูกริดรอนเสรีภาพในการแสดงออกที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านร่างกายและคำพูดได้อย่างคมคายแล้ว การแสดงนี้ยังสามารถสร้างความสั่นคลอนให้กับบุคคลบางกลุ่ม จนต้องส่งเจ้าหน้าที่หมุนเวียนกันมาบันทึกภาพการแสดงทุกรอบ ทำให้เห็นถึงการคุกคามที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ศิลปะ ไปพร้อมกับตอกย้ำการละเมิดที่เกิดขึ้นในดินแดนที่เราไม่เคยได้เป็นเจ้าของแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี – แก้วตา เกษบึงกาฬ

Something Missing Vol. 3 (2017, ธีระวัฒน์ มุลวิไล & Jongyeon Yoon) 

ชอบความ intertextuality ของงานนี้ ที่รวมเอาเรื่องนี่นั่นโน่น ทั้งคลาสสิค ทั้งนิทานพื้นบ้าน และอีกหลากหลายแหล่ง (คล้ายกับการดัดแปลงของพวก Splashing Theatre แต่เราชอบชิ้นนี้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่สีสันและรูปลักษณ์ และการ ‘เล่น’ ของตัวงานด้วย) มาสร้างสรรค์ที่มีลักษณาการกึ่ง collage และในตัวของมัน มีความทีเล่นทีจริงที่มีประเด็นความรุนแรงซ่อนอยู่ และนำเสนอได้อย่างน่าทึ่ง มีการฉายให้เห็นความรุนแรงที่ซุกซ่อนในหลายๆ อณูของสังคม โดยที่เผยอีกว่าเหมือนว่าไม่มีอะไร แต่ที่จริงแล้วมันมี อีกอย่างคือ สีสรรพ์ (ขอเลือกสะกดแบบนี้) ของตัวการแสดง ทำให้รู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็นประเด็นชีวิตคน ความรุนแรง หรือแม้แต่ตัวการแสดงเอง มันนำเสนอในลักษณะทั้งเสียดสีและยั่วล้อ เป็นนาฏกรรมอันตื่นตา ที่ดูน่าเศร้าแต่ทว่าน่าดูชมไปพร้อมกัน – นภัสรพี สุนทรธิรนันทน์

เพลงพิงค์ ๐.๓: the musical ??? (2017, g’s)

หมดกัน! สงสัย ‘กัลปพฤกษ์’ ต้องกลายเป็นนักวิจารณ์รสนิยมถ่อยสถุล ถึงได้เลือกงานที่ถือเป็นขีดสุดแห่งความต่ำชั้นจัญไรให้เป็นละครแห่งทศวรรษ การแสดงเดี่ยวโดยศิลปิน g’s มีที่มาจากการทดลองทำงานกับสิ่งที่เขาเกลียดที่สุดคือ ‘สีชมพู’ ถ่ายทอดผ่านการแสดงสั้นของหลากตัวละคร ทั้งสจ๊วตในชุดถุงน่องซีทรูเห็นเครื่องเพศ ลูกเสือที่นอยด์กับเครื่องแบบตัวเองตลอดเวลา สาวซ่าที่เกิดอารมณ์เพศขณะสวมกางเกงนักมวย นักว่ายน้ำหุ่นผอมแห้งที่อยากลดน้ำหนัก และที่ชวนช็อคที่สุดคือ กวีชุดดำที่หมกมุ่นกับเลข 6 และการดื่มน้ำ ก่อนจะแก้ผ้านำเหยือกมารองปัสสาวะอุ่นสดจากองคชาติ นั่งจ้องมอง แล้วยกซดจนไม่เหลือแม้หยดสุดท้าย ทำเอาคนดูแทบหัวใจวายว่านี่กำลังนั่งดูอะไรอยู่ แต่ความอัปรีย์ทั้งหมดนี้กลับมาพร้อมอารมณ์กวีที่เล่นกับความ kitschy สีสดได้อย่างพิสุทธิ์งดงาม จนต้องจดจำไปจวบจนวันตาย ไม่เฉพาะเพียงทศวรรษนี้ – ‘กัลปพฤกษ์’

 

Flu-Fool (2011, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)

ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2010 งานธีระวัฒน์จะค่อนข้างไปในทางมินิมอลหรือมีคอนเซ็ปต์หลักอย่างเดียวให้ยึดเหนี่ยว (เช่น ตัวกันถนนใน Fundamental หรือการเต้นใน The (Un)Governed Body) ผลงานเรื่อง Flu-Fool เมื่อปี 2011 น่าจะถือเป็นจุดตัดทางอาชีพของธีระวัฒน์ เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่ใช้สไตล์แบบ ‘เยอะๆ’ หรือ More is more จำได้ว่าการแสดงชิ้นนี้มันวุ่นวาย (ในทางที่ดี) และอลังการมาก ฉากติดตาคือการใช้เครื่องบดกระดาษที่ลอยไปกลางอากาศ งานสเกลใหญ่และซ่อนนัยอันน่าสะพรึงไว้มากมายแบบนี้อาจจะไม่สามารถทำได้ในยุคนี้ – คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

 

Something Missing: Rite of Passage (2016, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)

ด้วยสถานะปฏิกิริยาฉับพลันต่อจุดพลิกผันสำคัญของการเมืองร่วมสมัย ละครเรื่องนี้จึงแสดงเพียง 2 รอบในเดือนพฤศจิกายนปี 2016 แต่เป็นสองรอบที่คลั่งบ้า พลุ่งพล่าน ฮาร์ดคอร์ และอันตราย ความรุนแรงเถื่อนถ้ำที่ทีมนักแสดงชาวไทยและเกาหลีใต้ปลดปล่อยออกมา ณ ชั้นบนสุดของอาคารที่ยังไม่แล้วเสร็จดี ทำให้บรรยากาศโดยรอบเหม็นฉุนคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นของความตาย – Rite of Passage คือห้วงสุดท้ายของลมหายใจแห่งขณะเวลาที่เพียงสัมผัสแผ่วเบาก็ยอกแยสงไปถึงอวัยวะภายใน คือภาพแทนพิธีกรรมดึกดำบรรพ์คาวเลือดเพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน และคือสารทางการเมืองที่ท้าทายและดุดันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะการแสดงไทย – ชญานิน เตียงพิทยากร

 

Splash (2014, ธนพนธ์ อัคควทัญญู)

การแสดงสด Splash ในเทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ครั้งที่ 7 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกสนใจในการแสดงละครเวที ความโดดเด่นในการเลือกใช้การสาดสีผสานรวมเข้ากับเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นของโปรดของผู้นิยมงานศิลปะในหลากแขนง และนอกจากความรู้สึกสะใจที่สุดตอนที่สีแต่ละสีนั้นถูกสาดแล้วสาดเล่าลงบนผืนผ้าใบสีขาว  ความฝักใฝ่ใคร่รู้ในความหมายที่แฝงอยู่ในการร้อง เต้น เล่นละครเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นของใหม่ที่น่าติดตามสำหรับช่วงวัยนักศึกษาของข้าพเจ้าในตอนนั้นเสียเหลือเกิน – ดนยา สุทธิวรรณ

 

TOP 10 ของนักวิจารณ์

ปวิตร มหาสารินันทน์

1. บางละเมิด (2012, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์)
2. The Gentlemen (2015, พิเชษฐ กลั่นชื่น)
3. In เธอ’s View (2014, วิชย อาทมาท)
4. กลับมาเถิดวันทอง (2011, ประดิษฐ์ ประสาททอง)
5. พบรักมักก(ร)ะสัน (2013, ณัฐ นวลแพง)
6. ความรักและเงินตรา (2010, อัจจิมา ณ พัทลุง)
7. [CO/EXIST] (2017, นพพันธ์ บุญใหญ่)
8. การหายตัวไปของเด็กชายในบ่ายวันอาทิตย์ (2016, ธนพนธ์ อัคควทัญญู)
9. ปรารถนา: ภาพเหมือนการเข้าสิง (2018, Toshiki Okada)
10. น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล (2019, สุวรรณดี จักราวรวุธ)

อมิธา อัมระนันทน์

1. บางละเมิด (2012 & 2015, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์)
2. Flu-Fool (2011, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)
3. (In)Sensitivity (2013, ดุจดาว วัฒนปกรณ์)
4. Happy New Year Mr. Smith (2016, นพพันธ์ บุญใหญ่)
5. Hipster the King (2014, ธนพล วิรุฬหกุล)
6. Lear & His 3 Daughters (2012, จารุนันท์ พันธชาติ)
7. In เธอ’s View x New Cambodian Artists (2019, วิชย อาทมาท)
8. ที่ ไม่มีที่ (2016, ประดิษฐ ประสาททอง)
9. การหายตัวไปของเด็กชายในบ่ายวันอาทิตย์ (2016, ธนพล อัคควทัญญู)
10. มนต์รักเพลงสวรรค์ (2015, ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์)

นภัสรพี สุนทรธิรนันทน์

1. Something Missing Vol.3 (2017, ธีระวัฒน์ มุลวิไล & Jongyeon Yoon)
2. เงามัจจุราช (2011, ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์)
3. พระคเณศเสียงา (Contemporary Version) (2012, พิเชษฐ์ กลั่นชื่น)
4. บางละเมิด (2012, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์)
5. Fundamental (2016, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)
6. [CO/EXIST] (2017, นพพันธ์ บุญใหญ่)
7. Ceci n’ést pas la politique (2017, จารุนันท์ พันธชาติ)
8. Demon in Venice (2012, จิตติ ชมพี)
9. การหายตัวไปของเด็กชายในบ่ายวันอาทิตย์ (2016, ธนพล อัคควทัญญู)
10. แม่นาค เดอะ มิวสิคัล (2009 & 2019, สุวรรณดี จักราวรวุธ)

‘กัลปพฤกษ์’

1. เพลงพิงค์ ๐.๓: the musical ??? (2017, g’s)
2. Whaam! ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของนักบินอวกาศผู้ไม่มีใครรู้จัก (2015, ธนพนธ์ อัคควทัญญู)
3. Albatross (2018, ธนพนธ์ อัคควทัญญู)
4. สันดานกา (Revival) (2014, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)
5. การหายตัวไปของเด็กชายในบ่ายวันอาทิตย์ (2016, ธนพนธ์ อัคควทัญญู)
6. Something Missing Vol. 3 (2017, ธีระวัฒน์ มุลวิไล & Jongyeon Yoon)
7. แบบทดสอบความอดทน (2015, จารุนันท์ พันธชาติ)
8. พอ-นิยม (2013, ธนพล วิรุฬหกุล)
9. เดินตามพิซซ่าบอย (2019, g’s)
10. ไตรยางค์แสนสุข (2015, สันติ จิตระจินดา)

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

1. Flu-Fool (2011, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)
2. Something Missing Vol.3 (2017, ธีระวัฒน์ มุลวิไล & Jongyeon Yoon)
3. Blissfully Blind (2017, ดุจดาว วัฒนปกรณ์)
4. ปรารถนา: ภาพเหมือนการเข้าสิง (2018, Toshiki Okada)
5. The Chairs (2012, อัจจิมา ณ พัทลุง)
6. Siam Supernatural Tour (2018, นพพันธ์ บุญใหญ่)
7. รักนะ อีดอก (2012, พันพัสสา ธูปเทียน)
8. Damage Joy (2011, นานา เดกิ้น)
9. F_CK ทอง (2011, ดุจดาว วัฒนปกรณ์)
10. ระเบียงโลกย์ (2012, พรรณศักดิ์ สุขี)

แก้วตา เกษบึงกาฬ

1. บางละเมิด (รีสเตจ 2015, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์)
2. Hipster the King (รีสเตจ 2014, ธนพล วิรุฬหกุล)
3. (Tie) สถาปนา: ภูเขาน้ำแข็ง (2014, ธีระวัฒน์ มุลวิไล
3. (Tie) สถาปนา: ถังแดง (2014, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)
4. แม่นาค เดอะ มิวสิคัล (รีสเตจ 2019, สุวรรณดี จักราวรวุธ)
5. Siam Supernatural Tour (2018, นพพันธ์ บุญใหญ่)
6. Blissfully Blind (2017, ดุจดาว วัฒนปกรณ์)
7. The Gentlemen (2015, พิเชษฐ กลั่นชื่น)
8. เพลงนี้พ่อเคยร้อง (2015 & 2018, วิชย อาทมาท)
9. ปรารถนา: ภาพเหมือนการเข้าสิง (2018, Toshiki Okada)
10. Long Live Jit Poumisak ชุมนุมเรื่องเล่าวีรกรรมวีรชนปฏิวัติ (2019, ภาณุวัฒน์ อินทวัฒน์)

ชญานิน เตียงพิทยากร

1. (tie) Something Missing: Rite of Passage (2016, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)
1. (tie) สถาปนา: ภูเขาน้ำแข็ง (2014, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)
1. (tie) Iceberg, the Invisible (2015, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)
2. แบบทดสอบความอดทน (2015, จารุนันท์ พันธชาติ)
3. (tie) หลงกล (ส่วนหนึ่งของรวมละครสั้นชุด “หลง”) (2016, ดุจดาว วัฒนปกรณ์)
3. (tie) Blissfully Blind (2017, ดุจดาว วัฒนปกรณ์)
4. (tie) Flu-Fool (2011, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)
4. (tie) สถาปนา: ถังแดง (2014, ธีระวัฒน์ มุลวิไล)
5. (tie) ปรารถนา: ภาพเหมือนการเข้าสิง (2018, Toshiki Okada)
5. (tie) The Gentlemen (2015, พิเชษฐ์ กลั่นชื่น)

ดนยา สุทธิวรรณ

1. Splash (2014, ธนพนธ์ อัคควทัญญู)
2. สัตว์มนุษย์ (2019, ดุจดาว วัฒนปกรณ์)
3. Whaam! ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของนักบินอวกาศผู้ไม่มีใครรู้จัก (2015, ธนพนธ์ อัคควทัญญู)
4. Siam Supernatural Tour (2018, นพพันธ์ บุญใหญ่)
5. สวรรค์อาเขต (2018, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์)
6. Taxi Radio (2018, นพพันธ์ บุญใหญ่)
7. Hand to God (2019, Peter O’Neill)
8. Teenage Wasteland: Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum (2017, ธนพนธ์ อัคควทัญญู & ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี)
9. นาง(ร้าย) (2019, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล & วิชย อาทมาท)
10. Little Shop of Horrors the Musical (2019, ปีย์วรา กิจจำนงค์พันธุ์)

 

*ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (International Association of Theatre Critics, Thailand Centre) เกิดจากการรวมตัวกันของนักวิจารณ์ศิลปะการแสดงในไทยเมื่อปี 2554 ก่อนจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ International Association of Theatre Critics (IATC) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักวิจารณ์ศิลปะการแสดงที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ก่อตั้งในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2499 โดยได้รับการตอบรับเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการในปี 2555 ซึ่งชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงของไทยถือเป็นภาคีสมาชิกนักวิจารณ์ศิลปะการแสดงเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 7 ในทวีปเอเชีย ต่อจากจีน ไต้หวัน อินเดีย อิหร่าน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ติดตามได้ที่ www.facebook.com/IATC.Thailand