แม้ต่างเชื้อชาติศาสนามักจะมีความเชื่อเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป แต่ความเชื่อหนึ่งที่ปรากฏคล้ายๆ กันในหลายวัฒนธรรมก็คือ นรก

ทั้งนี้ นรกที่บรรยายไว้ก็จะมีลักษณะหลากหลาย ตั้งแต่นรกภูมิแบบในเตภูมิกถาไปจนถึงนรกใน Divine Comedy ของ Dante มีทั้งแบบร้อนและแบบเย็น แบ่งเป็นขุมจำนวนต่างๆ กัน แต่ไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างไร นรกในแทบทุกวัฒนธรรมก็ดูจะเป็นสถานที่ของคนบาป มีแต่ความทุกข์ทรมาน ไม่มีใครอยากไปเยี่ยมเยียน ด้วยเหตุนี้ คำว่า นรก จึงมักมีความหมายเชิงลบและถือเป็นคำหยาบในหลายๆ ภาษา

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาษาอังกฤษ คำว่า hell นั้นเป็นมากกว่าแค่คำที่ใช้เรียก นรก เพราะมีลักษณะเป็นคำกึ่งอเนกประสงค์ที่ใช้ได้หลากหลายความหมาย คล้ายคำว่า เหี้ย ในภาษาไทย

สัปดาห์นี้ เราไปดูกันว่า นอกจากใช้เรียกนรกแล้ว คำว่า hell ใช้ยังไงได้อีกบ้างในภาษาอังกฤษ

ตอบรับ/ปฏิเสธให้สะใจ

เราสามารถเติมคำว่า hell เพื่อเพิ่มอรรถรสให้แก่สิ่งที่เราจะพูดได้แม้แต่กับคำพื้นฐานที่ใช้ตอบรับว่าเห็นด้วยหรือพอใจอย่าง Yeah ตัวอย่างเช่น เราอยากกินบุฟเฟ่ต์หมูกระทะร้านหนึ่งมากแต่ไม่กล้าไปกินคนเดียวเพราะกลัวโดนสังคมประณาม แล้ววันหนึ่งมีเพื่อนมาชวนว่าไปกินบุฟเฟ่ต์ร้านนี้กันไหม หากเรารู้สึกว่าตอบแค่ Yeah! แล้วไม่สมน้ำสมเนื้อกับความกระหายหมูกระทะของเรา ก็อาจจะเพิ่มระดับความสะใจด้วยการตอบว่า Hell yeah! แทน ก็จะได้อารมณ์ว่า ไปสิวะ!

ทั้งนี้ Hell yeah! จะใช้แสดงความตื่นเต้นดีใจก็ได้ เช่น เมื่อทีมฟุตบอลหรือนางงามที่เราเชียร์อยู่ชนะ ก็อาจจะแสดงความยินดีปรีดาด้วยการพูดว่า Hell yeah! ได้ความหมายประมาณว่า “มันต้องอย่างนี้สิ”

ในทางตรงกันข้าม เราก็สามารถอัปเกรด No ให้เป็น Hell no! ได้เช่นกันหากต้องการปฏิเสธอะไรสักอย่างให้แซ่บซุย ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนมาถามเราว่าชอบทุเรียนไหม แล้วบังเอิญเราเกลียดทุเรียนเข้าไส้ แทนที่จะตอบ No ธรรมดา เราก็ยกระดับเป็น Hell no! เพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่า ไม่ใช่แค่ไม่ชอบ แต่รังเกียจเลยทีเดียว

ทั้งนี้ เราจะใช้ Hell no! เวลาที่เราพบเห็นอะไรที่ทำให้เราของขึ้นก็ได้ เช่น เมื่อเราไถไอจีไปแล้วเห็นว่าแฟนเราไปคอมเมนต์รูปแฟนเก่า แถมยังใช้อิโมติคอนรูปหัวใจด้วย เราก็อาจจะปรี๊ดแตกและพูดว่า Hell no! ก่อนจะไปเผชิญหน้าแฟน เป็นต้น

ถามคำถามให้ถึงพริกถึงขิง

เราสามารถเติมคำว่า the hell ลงในคำถามต่างๆ เพื่อแสดงความงุนงงหรือความรำคาญได้ แม้จะหยาบเล็กน้อยแต่ได้อารมณ์ ตัวอย่างเช่น เพื่อนถามเราว่ารู้ไหมว่าโทรศัพท์มือถือของมันอยู่ที่ไหน ถ้าเรารำคาญระดับปกติก็อาจจะตอบว่า How should I know? ประมาณว่า จะไปรู้ได้ยังไง แต่ถ้าเรารำคาญมากด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ก็อาจจะอัพเกรดประโยคเป็น How the hell should I know? แปลได้ทำนองว่า กูจะไปตรัสรู้ได้ยังไง

คำว่า the hell นี้นำไปเติมความเผ็ดและก้าวร้าวได้แทบทุกประโยค เช่น ใช้เปลี่ยน Where have you been? (ไปอยู่ไหนมา) ให้กลายเป็น Where the hell have you been? (หายหัวไปอยู่ไหนมา) หรือ เปลี่ยน What’s wrong with you? (เธอเป็นไรเนี่ย) ให้กลายเป็น What the hell is wrong with you? (มึงเป็นเหี้ยไรเนี่ย) แม้แต่คำถามคำเดียวอย่าง What? (อะไรนะ) เราก็ยังสามารถอัปเกรดเป็น What the hell? (เหี้ยไรเนี่ย) เพื่อให้เห็นว่าเรารู้สึกงุนงงและไม่อยากจะเชื่อสิ่งที่ประสบพบเจอได้ด้วย

ถ้าอยากให้ฟังดูเบาลงเหมือนที่ทุกอย่างดูซอฟต์ลงเมื่อเป็นสีพาสเทล จะเปลี่ยน the hell เป็น the heck ก็ได้ เช่นแทนที่จะพูดว่า What the hell? ก็อาจจะพูดว่า What the heck? แทน

เพิ่มดีกรีความรุนแรง

นอกจากใช้แสดงความสะใจแล้ว ภาษาอังกฤษยังใช้ hell ในสำนวน like hell เพื่อเน้นระดับความรุนแรงของคำกริยาได้ด้วย เช่น ถ้าเราเจอหมาบ้าวิ่งกวดจนเราต้องวิ่งหน้าตั้งสี่คูณร้อย เราก็อาจพูดว่า I ran like hell. เพื่อให้เห็นว่าไม่ได้วิ่งหนีเฉยๆ แต่วิ่งแบบโกยสี่ตีนหมา เลยทีเดียว หรือถ้าเดินแล้วหัวแม่โป้งนิ้วเท้าชนขาโต๊ะแล้วเจ็บมาก ตอนนี้นิ้วหัวแม่โป้งบวมเท้าฉึ่ง เราก็อาจพูดว่า It hurts like hell. แปลเป็นไทยประมาณว่า เจ็บเหี้ยๆ

แต่ถ้าหากเป็นคำคุณศัพท์ เราจะใช้ as hell มาต่อท้ายเพื่อเน้นคำได้ เช่น หากเราโกรธมากเพราะโดนเพื่อนร่วมงานโยนความผิดให้กลางที่ประชุม ก็อาจจะพูดว่า I was mad as hell. แปลให้ได้อารมณ์ก็ทำนองว่า โกรธเหี้ยๆ หรือหากเรามั่นใจมากว่าเจ้านายเราเป็นคนขโมยขนมของเราไปกิน ไม่ผิดตัวแน่นอน ก็อาจจะบอกว่า I’m sure as hell it was my boss who took my snack.

ช่างแม่ง

บางครั้งเราก็แคร์ทุกอย่างบนโลกไม่ได้จริงๆ ไม่อย่างนั้นก็คงเสียสติเสียก่อน ในกรณีที่เราต้องการบอกให้โลกรู้ว่าเราไม่สนใจอะไรทั้งนั้นแล้ว เราอาจจะพูดว่า What the hell! (ต้องพูดด้วยน้ำเสียงแบบปลงเล็กน้อย) อารมณ์ทำนองว่า เอาวะ ตัวอย่างเช่น หากเรามีงานที่ต้องทำให้เสร็จคืนนี้เลยตัดสินใจไม่ไปกินข้าวกับเพื่อน แต่เพื่อนก็คะยั้นคะยอ ชักแม่น้ำทั้งห้าจนเราเริ่มรู้สึกว่า เออ ช่างงานเหอะ ไปกินข้าวกับเพื่อนดีกว่า เราก็อาจจะพูดว่า What the hell! I’ll finish it when I get back. ประมาณว่า เอาวะ ช่างแม่ง เดี๋ยวกินเสร็จค่อยกลับมาทำให้เสร็จ

แต่ถ้าเกิดเป็นการช่างแม่งด้วยอารมณ์โมโห ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ แล้ว ก็อาจจะใช้ To hell with … เช่น ที่ทำงานมีกฎห้ามผู้หญิงใส่กางเกง แล้วเรารู้สึกว่ากฎนี้มันงี่เง่ามาก ไม่รู้แหละ วันนี้ฉันจะใส่กางเกง เราก็อาจจะบอกว่า To hell with the stupid rule. I’m gonna wear my pants, and no one can stop me. หมายความว่า ช่างกฎงี่เง่าแม่งละ จะใส่กางเกง ใครจะทำไม

มันสุดจริงๆ

เวลาที่เราต้องการบอกว่าอะไรอย่างหนึ่งมีความสุดทางในทางที่ดีหรือทางที่ไม่ดี ก็อาจจะใช้พูดว่า one hell of a … ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราเทิดทูนบูชาบียอนเซ่มากเพราะรู้สึกว่าเป็นนักร้องที่สุดยอดทั้งร้องทั้งเต้น มีลูกคอเยอะกว่าเจดีย์เจ็ดชั้น เราก็อาจจะบอกว่า Beyoncé is one hell of a singer. หมายความประมาณว่า บียอนเซ่แม่งเป็นนักร้องที่เจ๋งหว่ะ

คำพูดนี้ใช้กันบ่อยมากก็จนมีการเขียนรวบจาก one hell of a … เป็น one helluva ด้วย เช่น My date last night was one helluva disaster. ได้ความหมายประมาณว่า เมื่อคืนที่ไปออกเดทมา พังห่ามาก

ว่าด้วยความฉิบหาย

เนื่องจากคำว่า hell โดยปกติมีนัยยะเชิงลบ จึงไปอยู่สำนวนต่างๆ ที่เกี่ยวกับความฉิบหายวายวอด ตัวอย่างเช่น go to hell in a handbasket สำนวนใช้กันมากในฝั่งอเมริกา มีความหมายว่า เดินหน้าสู่ความฉิบหาย เช่น พอบริษัทเปลี่ยนประธานปุ๊บ จากที่เคยรุ่งเรืองก็เริ่มฉิบหาย ลูกค้าหนีหายรายได้หดจนส่อแววเจ๊ง แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า Since the new CEO took over, the company’s gone to hell in a handbasket.

นอกจากนั้นยังมีสำนวน All hell breaks loose. หมายความว่า ความวายป่วงบังเกิด คนแตกฮือเป็นผึ้งแตกรัง โกลาหลไปหมด ให้ภาพเหมือนนรกแตกแล้วภูติผีปีศาจพากันออกมาสร้างความปั่นป่วนบนโลก ตัวอย่างเช่น ระหว่างที่ทุกคนนั่งกินข้าวกัน อยู่ๆ ก็มีแมลงสาบบินลงมากลางโต๊ะ ทำให้วงแตกกระเจิดกระเจิงกันไปคนละทิศคนละทาง แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า As soon as the cockroach landed on the dining table, all hell broke loose.

ไม่มีทาง

ที่น่าสนใจคือคำว่า hell ยังถูกเอาไปใช้ในสำนวนที่หมายถึง ไม่มีทางเกิดขึ้น ด้วย สำนวนแรกคือ when hell freezes over แปลตรงตัวหมายถึง เมื่อนรกแข็งเป็นน้ำแข็ง เนื่องจากปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะมีภาพว่านรกเป็นสถานที่ที่มีแต่ความร้อนและเปลวไฟ การที่นรกจะกลายเป็นสถานที่เย็นยะเยือกจึงดูเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (อันที่จริงนรกเย็นก็มีอยู่ เช่น โลกันตนรกในเตภูมิกถาและ Cocytus ใน Inferno ของ Dante)

ด้วยเหตุนี้ สำนวนนี้จึงนำมาใช้กันในความหมายว่า ไม่มีทางเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเราทะเลาะกับเพื่อน แล้วเพื่อนอีกคนบอกให้เราเอ่ยปากขอโทษเพื่อให้เรื่องจบๆ ทั้งที่เราไม่ใช่ฝ่ายผิด เราก็อาจจะพูดว่า I’ll apologize to him when hell freezes over. ก็จะหมายความประมาณว่า ให้ขอโทษเหรอ รอชาติหน้าตอนบ่ายๆ นะ หรือถ้ามีคนถามว่าเมื่อไหร่กรุงเทพฯ จะไม่มีรถติด เราก็อาจจะตอบว่า When hell freezes over.

อีกสำนวนที่คล้ายกันคือ a cold day in hell ใช้ในการเปรยว่าคงไม่มีทางเกิดขึ้นเหมือนที่นรกคงไม่มีวันที่จะเย็นขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น หากเราปวารณาตัวเป็นสัตว์กินเนื้อและไม่มีทางจะเลิกกินเนื้อแล้วหันไปหาผัก เราก็อาจจะพูดว่า It will be a cold day in hell when I become a vegan.

ส่วนอีกสำนวนหนึ่ง คือ not have a snowball’s chance in hell ความหมายตรงตัวทำนองว่า มีโอกาสรอดพอๆ กับก้อนหิมะในนรก เนื่องจากนรกร้อนมาก หากมีใครเอาก้อนหิมะลงไปในนรกก็คงละลายในพริบตา ดังนั้น สำนวนนี้จึงใช้ในความหมายว่า แทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้ ไม่น่าทำได้ ตัวอย่างเช่น เราดูโปรเจ็กต์ที่เพื่อนจะเอาไปเสนอเจ้านายแล้วรู้ทันทีว่ายังไงก็ไม่ได้ไฟเขียวแน่นอน ก็อาจจะพูดว่า There isn’t a snowball’s chance in hell that his project will be approved.

 

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
  • Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
  • Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.

Fact Box

คำว่า hell ยังไปโผล่ในสุภาษิตด้วย เช่น Hell hath no fury like a woman scorned. หมายถึง นรกที่ว่าเกรี้ยวกราดแล้วก็สู้ยังผู้หญิงที่ถูกเมินหยามไม่ได้

และ The road to hell is paved with good intentions. สำนวนนี้มีสองความหมาย ความหมายแรกคือ หากเอาแต่คิดแต่ไม่ลงมือทำ ก็ไม่เกิดผลอะไร นัยยะว่าหากมีแต่เจตนาว่าจะทำโน่นทำนี่ แต่ไม่ลงมือทำจริงๆ ก็จะเป็นหนทางไปสู่หายนะนั่นเอง ส่วนอีกความหมายคือ สิ่งที่ทำด้วยเจตนาดีก็อาจส่งผลร้ายได้ เข้าทำนอง ทำคุณบูชาโทษ โปรดสัตว์ได้บาป

Tags: , ,