ความขวัญผวาของภาพยนตร์ The Wicker Man (ต้นฉบับดั้งเดิมที่สร้างในปี 1973) คือ การที่มนุษย์ใช้กิจกรรมทางเพศ (การสืบพันธุ์) เป็นเครื่องสังเวยต่อเทพเจ้า เพื่อบันดาลให้ผลผลิตทางการเกษตรผลิดอกออกผล แต่ถ้าดินฟ้าอากาศยังไม่เป็นใจ พืชผลไม่ออกดอกออกรวงตามที่หวัง การเอาชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ (รวมถึงคน) เข้าแลก ก็จะนำพามาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรในฤดูกาลถัดๆ ไปด้วยเช่นกัน
The Wicker Man (1973) เป็นผลงานการประพันธ์บทภาพยนตร์ของ แอนโธนี แชฟเฟอร์ (Anthony Shaffer, 1926-2001) กำกับภาพยนตร์โดย โรบิน ฮาร์ดี (Robin Hardy, 1929-2016) โดยมี คริสโตเฟอร์ ลี (Christopher Lee, 1922-2013) ดาราผู้ยิ่งใหญ่แห่งเกาะอังกฤษร่วมลงทุนสนับสนุนการสร้าง
เหตุการณ์ในภาพยนตร์ระบุชัดว่าเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 1973 ที่กล่าวถึง ‘ฮาว์วี’ (รับบทโดย เอ็ดเวิร์ด วู้ดเวิร์ด (Edward Woodward, 1930-2009) จ่าตำรวจหนุ่มใหญ่ที่ขับเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลออกไปสืบสวนคดีเด็กสาวหายตัวไปอย่างลึกลับบนเกาะซัมเมอร์ไอส์ล (Summer Isles) ชุมชนเล็กๆ บนเกาะแห่งหนึ่งทางตะวันตกของสก็อตแลนด์
ระหว่างการสอบสวน ชาวบ้านทุกๆ คนบนเกาะดูเหมือนจะมีเลศนัยลึกลับอะไรบางอย่าง และที่สำคัญคือ เขาได้พบได้เห็นพฤติกรรมประหลาดๆ ของชาวเกาะ เช่น ชาย-หญิง ร่วมรักกันบนลานกว้างยามค่ำคืน หญิงสาวในร่างอันเปลือยเปล่านั่งร่ำไห้อยู่กับป้ายหินหลุมศพกลางป่าช้า การเต้นรำรอบกองไฟของบรรดาสาวๆ ด้วยร่างอันเปลือยเปล่าในสวนหินคล้ายสโตนเฮนจ์ เป็นต้น
ตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่งคือสาวสวยลูกเจ้าของผับ นาม ‘วิลโลว์’ นำแสดงโดย บริทท์ เอ็คแลนด์ (Britt Ekland 1942-) เซ็กซี่สตาร์คนสำคัญของวงการภาพยนตร์ยุค ’70s
ในคืนแรกที่จ่าฮาว์วีค้างคืนบนห้องพักของผับ ลอร์ดซัมเมอร์ไอส์ล (รับบทโดยตัวคริสโตเฟอร์ ลี เอง) ได้นำเด็กชายวัยกระทงมาหา วิลโลว์ ในฐานะที่เธอเองเป็นเทพธิดาแอโฟรไดท์ประจำเกาะ ในขณะที่ลูกค้ายังคงกินดื่มอยู่ข้างล่างของผับ เพียงครู่เดียว ห้องของฮาร์วีก็ได้ยินทั้งเสียงเพลงขับกล่อมและเสียงหนุ่มสาวฉอเลาะครวญครางมาจากห้องนอนของสาววิลโลว์
และอีกคืนถัดมา สาวสวยวิลโลว์ก็เปลื้องผ้าร้องเพลง เต้นยั่วยวนเหมือนจะส่งสัญญาณไปยังจ่าฮาร์วีที่อยู่ห้องติดกันจนเขาเองรุ่มร้อนด้วยเปลวไฟสวาท แต่ด้วยความที่เป็นคริสตศาสนิกชนที่เคร่งครัด จึงทำให้จ่าฮาร์วีกัดฟันรอดจากลีลาราคะลุ่มหลงนี้มาได้
ยิ่งสืบสวนสาวลึกลงไป จ่าฮาร์วียิ่งพบว่าชาวบ้านชาวเกาะทุกคนล้วนโกหกหน้าตาย และเด็กสาวที่หายตัวไปนั้นน่าจะยังมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะถูกใช้เป็นเหยื่อในพิธีบูชายัญในวันที่ 1 พฤษภาคม (May Day Festival) ที่กำลังจะมาถึง จ่าฮาร์วีจึงปลอมตัวเอาชุดตัวตลกหลังค่อมของเจ้าของผับมาใส่ แอบแฝงไปกับขบวนแห่ในพิธี
เมื่อพิธีกรรมใกล้เสร็จสมบรูณ์ จากผู้ตามล่ากลายมาเป็นผู้ถูกล่า จ่าฮาร์วีในฐานะของ “ผู้บริสุทธิ์” (the virgin) เพราะยั้งใจไม่ให้ไปมีเพศสัมพันธ์กับสาวสวยวิลโลว์ และอยู่ในฐานะของ ‘ไอ้หน้าโง่ (the fool) เพราะขโมยชุดตัวตลกมาใส่ และอยู่ในฐานะของ ‘ผู้มีอำนาจของพระราชา’ (the power of king) เพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการใช้กฎหมายโดยตรง และมาถึงยังเกาะแห่งนี้ด้วยตนเอง (มาสืบสวนคดีด้วยตัวของเขาเอง ‘ด้วยเจตจำนงของตนเอง’) (come here of own free-will) ซึ่งในวันนี้นั้น จะเป็นวันที่เทพพระอาทิตย์จะโน้มกายเข้าหาเทพีแห่งพืชผล การบูชายันต์ด้วยชีวิตก็จะนำพาให้ต้นไม้พืชพันธุ์ต่างๆ ออกดอกออกผลสมบูรณ์
เมื่อแรกออกฉายในประเทศอังกฤษ ภาพยนตร์ The Wicker Man ไม่ค่อยได้รับการชื่นชมเท่าไร ชื่อเสียงของภาพยนตร์ก็เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่เนื่องด้วยทั้ง แอนโธนี แชฟเฟอร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ และ โรบิน ฮาร์ดี ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้สร้างให้ The Wicker Man แฝงแนวคิดทฤษฎีวิชาการทางมานุษยวิทยาไว้ในตัวบทภาพยนตร์อย่างมากมาย
แต่ด้วยความคิดทางมานุษยวิทยานี้อาจจะล้ำยุคล้ำสมัยไปหน่อยเกินกว่าผู้คนในวงกว้างจะเข้าใจ ตัวหนังคงจะต้องรอไปอีก 10-20 ปี กว่าที่นักวิจารณ์และนักวิชาการจะหยิบเอา The Wicker Man มาสู่ชั้นเรียนในมหาวิทยาลัย จวบจนปัจจุบัน The Wicker Man กลายมาเป็นหนึ่งในบรรดาหนัง cult classic ของวงการภาพยนตร์อังกฤษอย่างสง่างาม
แนวคิดทางมานุษยวิทยาที่ว่านี้ก็ล้วนมาจากหนังสือ The Golden Bough ของ เซอร์ เจมส์ เฟรเซอร์ (1854 –1941) อีกด้วยเช่นกัน การแสดงออกถึงพฤติกรรมประหลาดๆ ของการประกอบพิธีกรรมโดยผู้คนบนเกาะนี้ ก็ล้วนแต่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่ต้องการความรู้ความเข้าใจในศาสตร์สมัยใหม่เช่นนี้เป็นพื้นฐานในการตีความด้วยกันทั้งสิ้น อาทิ การร่วมรักหมู่บนลานกว้าง ก็เพื่อจะให้ผืนดินแห่งนั้นปลูกพืชพันธุ์ออกดอกออกผลได้มากขึ้น การเต้นรำรอบเสา (May-Pole Dance) ก็คือการบูชาแท่งลึงค์ หรือ Phallic Symbol (สิ่งแทนอวัยะสืบพันธุ์ชาย) อันเป็นเครื่องหมายของการกำเนิดชีวิต การให้หญิงสาวที่ตั้งครรภ์เดินไปสัมผัสดอกต้นแอปเปิ้ล ก็เพื่อให้ต้นแอปเปิ้ลนั้นติดช่อออกผลได้ดี การเต้นรำกระโดดข้ามกองไฟ ก็เพื่อให้ไฟชำระครรภ์มารดาให้บริสุทธิ์สะอาดและให้ทารกเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง
ทั้งนี้รายละเอียดของพิธีกรรมอันแปลกประหลาดเหล่านี้ล้วนอ้างอิงมาจากหนังสือ The Golden Bough แทบจะทั้งสิ้น และยิ่งมีนัยยะอันส่อถึงเรื่องราวทางเพศและกามารมณ์ด้วยแล้ว ศาสนจักรจึงมักจะแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อเรื่องราวและแนวคิดการบูชาเทพยาฟ้าดินด้วยกิจกรรมทางเพศเรื่อยมา และกดดันให้ผู้ที่ถือปฎิบัติพิธีกรรมเช่นนี้กลายเป็นความเชื่อนอกรีตหรือลัทธินอกศาสนา (Paganism) ไปแทน
นอกจากสาระสำคัญของ The Wicker Man จะเกี่ยวพันกับความเชื่อนอกรีตแล้ว ความโดดเด่นของ The Wicker Man อีกส่วนหนึ่งก็คือการใช้เพลงประกอบลงไปในตัวภาพยนตร์นั่นเอง เกือบๆ จะเรียกได้ว่า The Wicker Man เป็นเสมือนภาพยนตร์ประเภทละครเพลง (musical) ด้วย โดยเฉพาะกระบวนการสร้างสรรค์เพลงที่จะแต่งเพลงขึ้นก่อน ฝึกซ้อมนักร้อง-นักแสดงให้สามารถร้องเพลงเหล่านั้นได้ดี ออกแบบท่าเต้น แล้วจึงถ่ายทำฉากที่มีเพลงประกอบนั้นๆ
โดยที่ฝาแฝดพี่-น้องของ แอนโธนี แชฟเฟอร์ คือ ปีเตอร์ แชฟเฟอร์ (Peter Shaffer 1926-2016) ก็คลุกคลีอยู่กับการเขียนบทในวงการละครเวทีด้วย และเพื่อนสนิทคนนึงของปีเตอร์ ซึ่งก็คือ พอล จิโอวานนี (Paul Giovanni, 1933-1990) นักการละครชาวอเมริกัน ที่มีความสามารถพิเศษทั้งการเล่นและแต่งเพลง รับเข้ามาทำหน้าที่แต่งเพลงและดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ The Wicker Man
หลักๆ ดนตรีใน The Wicker Man แบ่งออกเป็นสองลักษณะคือ เพลงขับร้องในสไตล์โฟล์คซอง อันประกอบด้วยเครื่องดนตรีแบบง่ายๆ คือ กีตาร์โปร่ง กีตาร์เบส ไวโอลิน ฟลุ๊ตหรือเรคอร์เดอร์ เครื่องเคาะจังหวะอย่างกลอง และจิ๊งหน่อง (เครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆ ที่ให้ดีดให้เสียงสะท้อนในกระพุ้งแก้ม) (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Jew’s Harp)
ส่วนดนตรีอีกประเภทที่ใช้ประกอบอยู่ในภาพยนตร์ คือดนตรีสำหรับขบวนแห่แหนในแบบ ‘มาร์ชชิ่งแบนด์’ หรือ ‘แตรวง’ ขนาดเล็กๆ ที่มีเครื่องดนตรีไม่เกิน 10 ชิ้น เช่น ทรัมเป็ต ทรอมโบน คลาริเน็ต กลอง ฉาบ เป็นต้น
รวมๆ แล้ว เพลงและดนตรีประกอบประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Wicker Man ไม่ได้มีความใหญ่โตโอฬารแต่อย่างใด ผิดกับดนตรีประกอบภาพยนตร์ในยุค ’70s เรื่องอื่นๆ ที่มักจะเป็นผลงานดนตรีแบบออร์เคสตรา หรือไม่ก็เป็นดนตรีร็อกหรือดิสโก้ แต่ดนตรีใน The Wicker Man กลับให้ความสำคัญแก่การสร้างบรรยากาศของพิธีกรรม ด้วยการใช้สำเนียงดนตรีแบบยุคกลาง (Medieval) หรือยุคมืด (Dark Age) และเล่าเรื่องผ่านเนื้อหาของบทเพลงที่สามารถตีความได้สองแง่สองง่าม อันเป็นเอกลักษณ์โบราณดั้งเดิมของความเป็นบทเพลงชาวบ้าน จนทำให้เพลงประกอบภาพยนตร์ The Wicker Man ได้กลายเป็นหมุดหลักสำคัญของวงการดนตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเพลงในแนว Pagan Folk หรือ Dark Folk ที่มีวงดนตรีสัญชาติอังกฤษเป็นหัวหอกนำในอุตสาหกรรมเพลง
ใน The Wicker Man มีฉากเพลงร้องอยู่ 3-4 เพลง ที่กลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน เพลงแรกก็คือเพลง Corn Rigs เพลงโฟล์คซองสไตส์หวานๆ ที่ พอล จิโอวานนี ผู้แต่ง นำคำร้องมาจากเพลงพื้นบ้านพื้นถิ่นมาดัดแปลงโดยแต่งเป็นท่วงทำนอง (หรือเมโลดี) ขึ้นใหม่ เนื้อหาก็บรรยายถึงการไถนาในทุ่งข้าวบาเล่ย์ เมื่อไถนาเสร็จแล้วก็พลอดรักกันกับสาวคนรัก
คำร้องเพลงนี้สืบไปได้ว่า แต่งโดยกวีชาวสก๊อต โรเบิร์ต เบิร์น (Robert Burns, 1759-1796) (ผลงานที่ลือชื่อที่สุดของเบิร์นก็คือเนื้อร้องในเพลง “Auld Lang Syne” นั่นเอง) ต้นฉบับกวีนิพนธ์เพลงไถนาที่ว่านี้ก็คือ The Rigs O’ Barley ลองฟังเวอร์ชั่นในภาพยนตร์ในฉากที่จ่าฮาร์วีมาถึงเกาะซัมเมอร์ไอส์ลอันมีทัศนียภาพที่งดงามได้ที่นี่
อีกเพลงหนึ่งที่จิโอวานนี นำมาจากต้นฉบับเพลงโฟล์คเก่าแท้ๆ ก็คือเพลง Sumer Is A-Cumen In บทเพลงเก่าแก่อายุเกือบ 800 ปี แต่งขึ้นด้วยภาษาของแคว้นเวสเซ็กซ์ (Wessex) ย้อนกลับไปในยุคกลางของอังกฤษแท้ๆ เล่าเรื่องการเฉลิมฉลองให้กับฤดูร้อนกำลังจะมาถึง เหล่าสรรพสัตว์น้อยใหญ่ออกมาส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวอย่างรื่นรมย์ โดยเฉพาะเสียงนกร้อง กุ๊กกู กุ๊กกู ที่เป็นจังหวะอยู่ในบทเพลง ซึ่งจิโอวานนีดัดแปลงมาใส่ไว้ในฉากจบของภาพยนตร์
สำหรับเพลงที่ จิโอวานนี แต่งขึ้นเองใหม่ทั้งหมด ก็เช่น Gently Johnny อันเป็นเพลงในฉากเข้าด้ายเข้าเข็มของหนุ่มน้อยในพิธีขึ้นครูกับสาววิลโลว์ แม้จะเป็นเพลงท่วงทำนองช้าๆ เศร้าๆ แต่ความหมายของเพลงกลับเย้ายวนอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง เพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งที่นักดนตรีรุ่นหลังหยิบนำมาคัฟเวอร์ใหม่อยู่หลายเวอร์ชั่น เช่นเวอร์ชั่นเสียงร้องของนักร้องหญิงของวง The Arkham Rebellion
และบทเพลงที่โด่งดังที่สุดของภาพยนตร์ The Wicker Man ก็คงต้องยกให้กับเพลง Willow’s Song หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า How Do ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงร้องที่อยู่ในฉากที่สาวสวย วิลโลว์ แม็กเกรเกอร์ เต้นยั่วยวนด้วยร่างอันเปลือยเปล่านั่นเอง ด้วยความยาวกว่า 4 นาที คงต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์โลกว่า ดาราสาว บริทท์ เอ็คแลนด์ ร้องเพลงในฉากมิวสิคัลโดยไม่ได้สวมอะไรเลยตลอดทั้งเพลง (แต่เอ็คแลนด์เปิดเผยในภายหลังว่า ช็อตเปลือยทั้งตัวนั้นเป็นของนักแสดงสแตนด์อิน และบทสนทนาและเสียงร้องในบทเพลงก็เป็นของนักพากย์หญิงคนอื่น เหตุที่เธอเป็นชาวสวีเดนและไม่สามารถพูดอังกฤษสำเนียงสก็อตได้ดีนัก) ลองชมเพลง Willow’s Song เวอร์ชั่นที่คัฟเวอร์ขึ้นใหม่ เช่นของ Robert Reed และ Angharad Brinn ได้ที่นี่ หรือของวง The Mock Turtles เวอร์ชั่นเสียงร้องผู้ชาย ได้ที่นี่
จนปัจจุบัน ภาพยนตร์ The Wicker Man กลายมาเป็นหมุดหมายของวงการเพลงแห่งเกาะอังกฤษ เช่น วงเฮฟวีเมทัลรุ่นใหญ่อย่าง Iron Maiden ก็แต่งเพลง “The Wicker Man” ไว้ในอัลบั้ม Brave New World (2000) หรือในมิวสิกวิดีโอเพลง Burn the Witch จากอัลบั้ม A Moon Shaped Pool (2016) ของวง Radiohead ที่เป็นแอนิเมชั่นแบบสต็อปโมชั่นที่ได้แรงบันดาลใจมากจากรายการเด็ก Trumptonshire แต่ทางวงก็กลับพลิกให้ตัวละครในเพลงถูกจับเผาเหมือนดังในภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน มีวงดนตรีหลายๆ วงที่อาศัยเสน่ห์ของเรื่องราวลึกลับในตำนาน พิธีกรรมของบรรดาแม่มดหมอผี หรือแม้กระทั่งจิตวิญญาณของป่าและธรรมชาติ ฯลฯ มาเป็นแก่นในการสร้างสรรค์งาน หัวหอกนำทัพก็อย่างเช่น ริตชี แบล็กมอร์ (Ritchie Blackmore 1945-) อดีตมือกีตาร์เทพจากวง Deep Purple ที่หันมาสนใจดนตรีโบราณแบบ Medieval Song และหันมาเล่นดนตรีในแนว Medieval Rock ร่วมกับศรีภรรยา แคนดิกซ์ ไนท์ (Candice Night 1971-) ในนามวง Blackmore’s Night ที่ผสมผสานสำเนียงเพลงโฟล์คซองแบบโบราณเข้ากันกับสไตล์ดนตรีร็อกสมัยใหม่ ยังผลให้แฟนเพลงหันกลับมาสนใจดนตรีสำเนียงอังกฤษยุคเก่าได้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ที่เกาะอังกฤษมีวัฒนธรรมเก่าแก่มากมาย และก็เป็นประเทศที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก แต่กลับมีผู้คนสนใจหันมาจัดเทศกาลในแนว Paganism เพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งก็คือการกลับเข้าไปใกล้ชิดกับธรรมชาติ เอาตัวตนเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติได้แนบชิดมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
เทศกาลดนตรี เช่น Wickerman Festival ที่จัดขึ้นที่เมือง Dundrennan ในเขตดัมฟรีส์ แอนด์ แกโลเวย์ ทางตอนใต้ของของสก๊อตแลนด์ วงดนตรีส่วนใหญ่ที่ขึ้นแสดงเวทีนี้จะเป็นวงร็อกท้องถิ่นของทางสก็อตแลนด์เอง แต่ในวันสุดท้ายของเทศกาล หุ่นไม้ขนาดใหญ่ยักษ์อันเป็นสัญลักษณ์ของงานก็จะถูกเผาในพิธีปิดงานด้วย
งานเทศกาลอีกแห่งหนึ่งก็คือ Mercian Gathering จัดขึ้นที่เมือง Nuneaton เขตวอร์ริคเชียร์ เป็นประจำทุกๆ ปี เทศกาลนี้ค่อนข้างจริงจังกับกิจกรรมต่างๆ มากกว่า เช่น มีการทำพิธี มีการแต่งกายแบบโบราณ (ไม่รู้เรียกว่าเป็น cosplay ได้หรือเปล่า) การจัดฟอรั่มพูดคุย การสร้างงานศิลปะ ปลูกพืชสมุนไพร ฯลฯ
ศิลปินในแนว Pagan Folk รุ่นใหม่ๆ เช่น Damh the Bard ที่เป็นหนึ่งในผู้นำของบทเพลงในแนว Pagan Folk นี้ ก็จัดการแสดงที่นี่ทุกๆ ปี ลองชมคลิปกิจกรรมต่างๆ ของเทศกาลนี้ผ่านบทเพลง The Wicker Man ที่ Damh the Bard แต่งขึ้นใหม่สำหรับงานเทศกาลนี้ได้ที่นี่ ซึ่งเราจะพบว่า Wicker Man ไม่ได้น่ากลัว (และอนาจาร) เหมือนเช่นในภาพยนตร์ แต่กลับกลายมาเป็นสื่อที่ชักนำให้เราเคารพและรักษา ‘ธรรมชาติ’ ของเราเองให้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
Tags: Pagan Folk, Paganism, Dark Folk, The Wicker Man