***บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ***
เย็นวันนั้น
ในฤดูร้อนปี 1986 เด็กหญิงวัย 11 ขวบสองคนถูกศาลตัดสินให้เข้ารับโทษในสถานพินิจด้วยข้อหาที่ผู้เขียนยังไม่บอกแน่ชัดนัก เพียงเริ่มต้นด้วยฉากสั้นๆ นั้น ก่อนจะตัดไปอีกหลายปีต่อมา คือปี ค.ศ.2011 ผู้เขียนบอกเล่าเราถึงชีวิตของ ‘แอมเบอร์’ หัวหน้าทีมทำความสะอาดของสวนสนุกแห่งหนึ่งในเมืองย่านชายทะเล การทำงานของแอมเบอร์แลกกับค่าตอบแทนน้อยนิด และฉกชิงเอาของในตู้ของหายของผู้มาใช้บริการสวนสนุกไปแบ่งปันกับเพื่อนฝูงบ้าง
ชีวิตของแอมเบอร์ดูเหมือนจะราบเรียบกับการทำงานในแต่ละวัน มีลูกน้องที่มีปัญหาบ้างแต่ก็ช่วยเหลือเจือจานกันไปตามอัตภาพ เธอมีคนรักรูปหล่อชื่อวิคที่ทำหน้าที่เป็นผู้คุมเครื่องเล่น ทั้งที่หลายคนมองว่าวิคกับแอมเบอร์ไม่ได้เหมาะสมกันเพราะฝ่ายชายดูจะหล่อเกินไปที่จะคบคนที่ดูอมทุกข์อย่างแอมเบอร์ด้วยซ้ำ
แต่คืนหนึ่ง ชีวิตแอมเบอร์ก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อเธอต้องเข้าไปทำความสะอาดในส่วนเขาวงกต ซึ่งเป็นเครื่องเล่นที่เธอรับอาสาดูแลเองเพราะความยุ่งยากในการไล่เช็ดกระจกตามจุดต่างๆ เธอพบศพเด็กสาวถูกฆ่าตายอยู่ในนั้น เรื่องนี้กลายเป็นคดีอื้อฉาวในเมืองเล็กๆ ที่เธออาศัยอยู่ ทำให้ ‘เคิร์สตี’ นักข่าวจากหนังสือพิมพ์แนวแทบลอยด์ เดินทางมาจากในเมืองเพื่อทำข่าวคดีนี้
ชีวิตของแอมเบอร์พลิกตลบอีกครั้งเมื่อเจอหน้าเคิร์สตี มันไปกวนตะกอนความทรงจำที่เธอเคยอยากลืมให้ฟุ้งกระจายขึ้นมาอีกครั้ง เพราะทั้งคู่ต่างเคยรู้จักกันมาก่อน และอยากจะลืมความสัมพันธ์นี้จากเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อน แต่จู่ๆ เส้นชีวิตที่ควรแยกจากกันก็กลับมาพาดผ่านกันอีกครั้งโดยไม่คาดฝัน เหตุเพราะศพเด็กในเขาวงกตสวนสนุกนี่เอง
ย้อนกลับไปในวัยเยาว์ เคิร์สตีคือเด็กผู้หญิงในครอบครัวชั้นล่างที่สังคมรอบข้างรังเกียจ ชื่อเก่าของเธอคือ ‘เจด’ วันหนึ่งในฤดูร้อน ‘แอมเบอร์’ หรือชื่อเดิมคือ ‘เบล’ หรือ ‘แอนนาเบล’ เด็กสาวที่มีฐานะร่ำรวบ เคยได้แสดงน้ำใจกับเจด เพราะเห็นว่าร้านค้าไม่ต้อนรับเจดที่พยายามจะขอซื้อช็อกโกแลตคิทแคทสักแท่ง มิตรภาพของทั้งคู่เริ่มต้นจากวันนั้น แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในเย็นวันหนึ่ง เมื่อเจดและเบล ‘พลั้งมือ’ ทำให้ ‘โคลอี้’ เด็กหญิงวัยสี่ขวบเสียชีวิต
ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ในปี 1986 และปี 2001 ทำให้เราอนุมานได้ไม่ยากว่า ตอนต้นเรื่องที่เล่าถึงเด็กสองคนในสถานพินิจนั้นก็คือเจดและเบลนั่นเอง
การกลับมาพบกันอีกครั้งของเด็กหญิงทั้งสอง กับปัจจุบันในชื่อ ‘เคิร์สตี’ และ ‘แอมเบอร์’ เหมือนปลุกอดีตที่ทั้งคู่ต่างพยายามลบออกไปจากชีวิตให้กลับมาเป็นฝันร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะจากคดีฆาตกรรมหญิงสาวที่พบศพในสวนสนุก ก็เริ่มเกิดคดีฆาตกรรมเหยื่อผู้หญิงรายอื่นๆ ตามมา คนหนึ่งมีหน้าที่ทำข่าว อีกคนพัวพันกับคดีทั้งในฐานะประจักษ์พยาน และกำลังตกที่นั่ง ‘จำเลยสังคม’ โดยไม่รู้ตัว ทั้งจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในเมืองแห่งนั้น และการถูกขุดคุ้ยอดีตในวัยเยาว์
รอยบาปที่ลบไม่ออก
ในเรื่องมีการกล่าวถึงคดีของ จอน เวนาเบิล และโรเบิร์ต ธอมป์สัน แบบไม่ลงรายละเอียด คดีนี้เป็นคดีสะเทือนขวัญคดีหนึ่งในอังกฤษ (ที่หารายละเอียดอ่านได้ไม่ยาก) เมื่อผ่านช่วงการรับโทษมาแล้ว ผู้ก่อคดีก็ออกจากที่คุมขัง เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนประวัติ และใช้ชีวิตในสังคมต่อไป จนทุกวันนี้ไม่มีใครรู้หรอกว่า อดีตอาชญากรทั้งสอง ‘กลายเป็นใคร’ และจะก่ออาชญากรรมขึ้นอีกหรือไม่
ทฤษฎีอาชญากรรมนั้นมีหลากหลาย หนึ่งในนั้นที่ทำให้คนหวั่นหวาดที่สุดคือ คนเหล่านี้ ‘มีสิทธิก่อคดีซ้ำ’ โดยที่ไม่รู้ว่าจะยกระดับความโหดเหี้ยมมากขึ้นอีกแค่ไหน ยิ่งเมื่อคิดว่าเคยเป็นอาชญากรมาตั้งแต่ยังเป็น ‘เยาวชน’ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ในวรรณกรรมแนวสืบสวนหลายเรื่องทั้งของฝรั่งและญี่ปุ่นพูดถึง คือ ‘ความสะเทือนขวัญของคดี’ และการเรียกร้องให้กระบวนยุติธรรมพิจารณาโทษตามความเป็นจริง มากกว่ายึดกฎหมายอย่างตายตัว โดยตั้งคำถามว่าเยาวชนที่ก่ออาชญากรรมนั้น ควรได้รับโทษเท่าผู้ใหญ่หรือไม่ เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นย่อมรู้ตัวว่า มีกฎหมายคุ้มครองการกระทำผิดของเยาวชนในระดับหนึ่ง พวกเขาจึงมีโอกาสที่จะล้างประวัติและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในสังคมภายหลังจากกระบวนการยุติธรรมเชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้ได้รับการลงโทษอย่างสาสมแล้ว แต่ก็มีหลายคดีที่อาชญากรเด็กพ้นโทษออกมาแล้วสามารถก่อเหตุประหวั่นพรั่นพรึงให้สังคมได้อีก ซึ่งสะท้อนมาจากคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การล้างประวัติอาชญากรถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้ ‘ผู้ที่สำนึกผิดแล้ว ’สามารถใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้ เพราะผู้ที่พลาดพลั้งและสำนึกผิดจริงย่อมอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เราก็ไม่มีทางรู้อีกละว่า สังคมจะเปิดใจและยอมรับคนที่เคยผิดพลาดมีคดีติดตัวมามากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องสะเทือนขวัญอย่างรุนแรง
การ ‘ตีตรา’ หรือ ‘ลบ’ รอยบาปของอาชญากรหรือผู้กระทำผิด จึงยังเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่จบสิ้น ระหว่างชีวิตของมนุษย์ที่อยากกลบฝังอดีต และสังคมที่เรียกร้องความปลอดภัยสูงสุดต่อทรัพย์สิน ชีวิต และความเป็นอยู่
วันใหม่ในความเลือนลาง
ฉากหน้าของนวนิยายเรื่อง ‘เย็นวันนั้น เธอ ฉัน เด็กคนนั้นที่ตาย’ อาจเป็นนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ว่าในอดีต ‘เจด’ และ ‘เบล’ ก่อคดีร้ายแรง ‘ฆ่า’ เด็กผู้หญิงวัยสี่ขวบได้อย่างไร และปัจจุบันใครกันคืออาชญากรที่ก่อคดีสะเทือนขวัญในเมืองเล็กๆ แห่งนั้น ที่โยงใยไปสู่อดีตของทั้งคู่ที่ปัจจุบันคือ ‘เคิร์สตี’ และ ‘แอมเบอร์’ แต่ที่จริงแล้ว นวนิยายนี้มีรสชาติของดราม่าหนักหน่วง ตามสูตรของโศกนาฏกรรมกรีกโบราณที่ว่า ‘ความพลาดพลั้งครั้งเดียวทำให้เกิดความวิบัติของชีวิตตามมาอย่างไม่มีสิ้นสุด’ เหมือนที่เจดและเบลต้องประสบ และเราพร้อมจะเห็นใจเธอทั้งสองในวัยเยาว์ได้มากน้อยแค่ไหน
อีกส่วนที่เข้มข้นของนวนิยายเรื่องคือ ‘พลังของผู้หญิง’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงเหล่าผู้หญิงที่เผชิญชะตากรรมร่วมกัน มีทั้งความรู้สึกรักและชัง แต่ก็ยังปลอบโยนและเอื้ออาทรต่อกันเมื่อเห็นอีกฝ่าย ‘ถูกกระทำ’ จากฝ่ายชายหรือสังคมรอบข้าง
เมื่อ ‘วันใหม่’ ในชีวิตที่ทั้งเคิร์สตีและแอมเบอร์เฝ้าฝันกลายเป็นความเลือนลาง เพราะอดีตเริ่มถูกขุดคุ้ยขึ้นมา แอมเบอร์จากที่เคยมีต้นทุนชีวิตสูงกว่าในวัยเด็กกลับกลายเป็นตกต่ำกว่า เธอมีเพียงสามีที่ในที่สุดก็เหมือน ‘คนแปลกหน้า’ ขณะที่เคิร์สตีมีสามีและลูกอีกสองคน พร้อมการงานที่มั่นคงกว่า
ในรอยผูกพันบางเบาระหว่างทั้งสองที่เกาะเกี่ยวกันเพียงแค่—รอยบาปที่ลบไม่ออกในอดีต กับ ‘วันนี้’ ที่ชีวิตของทั้งสองมีเส้นทางแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเช่นนี้ การตัดสินใจ ‘เลือก’ ของแอมเบอร์ในท้ายที่สุด เพื่อให้อีกฝ่ายรอดปลอดภัยและมี ‘ชีวิตใหม่’ ได้ต่อไป จึงบอกให้รู้ว่า ในความเป็นผู้หญิงนั้นสละเพื่อ ‘เพื่อน’ ได้มากเพียงใด
Fact Box
- ‘เย็นวันนั้น เธอ ฉัน เด็กคนนั้นที่ตาย’ (The Wicked Girls) Alex Marwood / เขียน กานต์สิริ โรจนสุวรรณ / แปล น้ำพุสำนักพิมพ์ ราคา 325 บาท