นี่คือสารคดีที่ว่าด้วยการสัมภาษณ์ ‘พระวีระธู’ ผู้นำของกลุ่ม Ma Ba Tha กลุ่มชาตินิยมที่เคลื่อนไหวขับไล่มุสลิมโรฮิงญาออกจากพม่า โดยข้ออ้างว่าคนเหล่านี้จะเข้ามากลืนชาติและทำลายศาสนา

หนังเริ่มต้นจากการสัมภาษณ์พระวีระธู ไล่เรียงประวัติตั้งแต่บวชใหม่ ย้ายไปมัณฑะเลย์ ศึกษาพระธรรมจนสามารถเขียนหนังสือเกี่ยวกับการนั่งสมาธิจนเป็นที่โด่งดังระดับประเทศ เป็นพระที่มีชาวบ้านนับหน้าถือตา ต่อมาเขาก่อตั้งขบวนการ ‘969’ ประกาศเจตจำนงขับไล่มุสลิม บอยคอตกิจการมุสลิม ออกเดินสายเทศนาความชั่วร้ายของโรฮิงญา ทั้งหมดนำไปสู่การใช้ความรุนแรง เผาบ้านเรือนมุสลิม ซึ่งลุกลามออกไปในหลายเมืองทั่วพม่า ต่อมาวีระธูโดนทางการสั่งห้ามขึ้นเทศน์ และโดนจับในปี 2003

ในคุก วีระธูเรียนรู้การนั่งสมาธิ และเขียนอ่านหนังสือ ระหว่างนั้นได้เกิด Saffron Revolution พระนำขบวนประชาชนต่อต้านรัฐทหารในปี 2007 นางอองซานซูจี ได้รับการปล่อยตัวในปี 2010 และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่เขาได้รับการปล่อยตัวออกมาพร้อมนักโทษการเมืองคนอื่น หลังออกมาเขาตั้งขบวนการ ‘Ma Ba Tha’ ขึ้นมาแทน 969 และเริ่มปฏิบัติการขับไสมุสลิมอย่างรุนแรง

ตัวหนังดูเหมือนตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง เกือบทั้งเรื่อง หนังปล่อยให้วีระธูพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดอย่างไม่มีการขัดขวางใดๆ หนังเปิดฉากด้วยการที่วีระธูเปรียบเทียบมุสลิมกับปลาดุก จากนั้นเขาพูดอย่างที่เขาเชื่อหมดเปลือกด้วยความภาคภูมิใจ ไม่มีสักนาทีที่เขามีท่าทีลังเลต่อสิ่งที่เขาเชื่อ เขาให้ดูโฆษณาชวนเชื่อที่ลูกศิษย์ลูกหาช่วยกันจัดทำขึ้นจากคดีต้นทาง ที่หญิงชาวพุทธถูกข่มขืนแล้วฆ่าอย่างทารุณ หวยออกที่นักเดินทางมุสลิมสามคนที่อยู่ในบริเวณเกิดเหตุ เอ็มวีฉายภาพการทารุณหญิงสาวของโจรชั่ว ปลุกกระแสต่อต้านมุสลิมในประเทศ หนังตัดสลับระหว่างบทสัมภาษณ์กึ่งถ้อยแถลงของวีระธูเข้ากับภาพจากสไลด์ชวนเชื่อของเขา วีดีโอชวนเชื่อของเขา บทสัมภาษณ์จากนักข่าว จากคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และพระผู้ใหญ่รูปอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นด้วยกับวีระธู และที่รุนแรงสุดขีดคือคลิปเหตุการณ์จริงของการไล่รื้อเข้าทำร้ายคนมุสลิมอย่างเหี้ยมโหด

หลายคนอาจรู้จัก Barbette Shroeder ในฐานะคนทำหนัง thriller ยุค 90’s จากหนังอย่าง Single White Female (1992) Before and After( 1996) หรือ Murder by Numbers (2002) แต่นอกจากนี้เขายังเป็นคนทำสารคดีที่น่าสนใจอีกด้วย โปรเจกต์สารคดีของเขามีชื่อว่าไตรภาคของปีศาจ (Trilogy of Evil) เรื่องแรกคือ General Idi Amin (1975) สารคดีสัมภาษณ์นายพลอีดี้ อามิน จอมเผด็จการจากอูกันดาที่ว่ากันว่าฆ่าคนไปจำนวนมากระหว่างดำรงตำแหน่ง เรื่องที่สองคือ Terror’s Advocate (2007) ที่สัมภาษณ์ Jacques Verges ทนายคนสำคัญที่ต่อสู้คดีให้กับ FLN กลุ่มมุสลิมสังคมนิยมในอัลจีเรียที่นับเป็นผู้ก่อการร้ายและเป็นทนายให้กับ เขียว สัมพันธ์ หนึ่งในผู้นำเขมรแดง, Carlos The Jackal มือสังหารและผู้ก่อการร้ายชาวเวเนซูเอลา และเป็นทนายของกลุ่มผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงในปาเลสไตน์  

The Venerable W. เป็นภาคสุดท้ายของไตรภาคปีศาจ จากเผด็จการทหาร ทนายของผู้ก่อการร้าย มาสู่ผู้นำทางศาสนานักปลุกระดม นี่คือหนังที่ฉายภาพน่ากระอักกระอ่วนโดยไม่ประนีประนอม เพราะโครงสร้างของหนังที่เป็นสารคดีแบบตรงไปตรงมา หนังเล่าผ่านเสียงพูดของหญิงสาวคนหนึ่งที่น่าจะเป็นคนพม่า (แต่พูดภาษาอังกฤษ) พูดถึงความเกลียดชังในประเทศในฐานะพยานรู้เห็น สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่หนังจะไหลไปสู่การสัมภาษณ์อันยาวนาน

หนังไม่ตั้งคำถามใดๆ ต่อการกระทำของวีระธู หนังปล่อยให้เขาพูดมากเท่าที่เขาต้องการ และเขาไม่ปิดบังความภูมิใจ ความพึงพอใจที่เขามีต่อขบวนการทั้งหมด เขาเล่าให้ฟังถึงชีวิตของตัวเองตั้งแต่ครั้งเป็นเด็กยากจนที่มาบวช ไล่ไปจนถึงความคิดของเขาเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา เขาไม่ปิดบังความเกลียดชังของตัวเองแม้แต่น้อย สำหรับเขานี่ไม่ใช่เรื่องของการเหยียดสีผิวหรือเชื้อชาติ แก่นแกนของเขาในเรื่องนี้คือการปฏิบัติการในนามชาตินิยม เขาเชื่อสุดใจว่าพวกมุสลิมจะยึดครองประเทศ พวกคนอพยพจากปากีสถานเหล่านี้ออกลูกไม่หยุด เข้ายึดครองที่ดินทำกินจากคนพม่าพื้นเมือง คนพวกนี้เข้าซื้อที่ดิน ประกอบกิจการ ถ้าหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปศาสนาพุทธจะถูกทำลาย และคนพม่าจะถูกกลืนชาติ มีแต่การขับไล่คนพวกที่ไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศนี้ออกไปเท่านั้น จึงจะทำให้ชาติพม่าดำรงอยู่ต่อไปได้

จากกรณีการฆ่าข่มขืนหญิงสาวชาวพม่า วีระธูและลูกศิษย์ลูกหากระจายความเกลียดชังออกไปผ่านทางการจำหน่ายจ่ายแจกวีซีดีเพลงปลุกใจ ถ้อยแถลงที่เขาชี้ให้เห็นว่าคนพวกนี้อันตรายอย่างไร ไปจนถึงการทำมิวสิกวิดีโอจำลองการฆ่าเพื่อกระตุ้นความโกรธแค้นเกลียดชัง วีซีดีเหล่านี้ทั้งขายทั้งแจกให้กับคนทั่วไป และเมื่อใดที่วีระธูขึ้นเทศน์ เช่นกัน เขาจะพูดเรื่องนี้

หนังถ่ายทำทุกอย่างโดยแทบไม่ถามกลับเรื่องความเชื่อของเขาเลย จนราวกับว่าหนังเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่เขาทำ หากสิ่งที่หนังใช้ตอบโต้ประกอบขึ้นจากบทสัมภาษณ์นักข่าวที่ติดตามเรื่องของวีระธู คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงพระผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเขา หนังตัดสลับบทสัมภาษณ์ของคนเหล่านี้ ที่ไม่ได้ตอบโต้วีระธูแบบคำต่อคำ แต่ฉายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากขบวนการเติบโตขึ้นอย่างน่ากลัว ภาพฟุตเตจสยองขวัญของการเผารื้อไล่บ้านเรือนผู้คนต่อหน้าเจ้าของ จนถึงการรุมทำร้ายผู้คน

หนังฉายภาพให้เห็นว่าขบวนการของวีระธูไม่ได้เกิดขึ้นเดี่ยวๆ มันพัวพันอยู่กับประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของพม่า รัฐบาลทหารไม่พอใจการกระทำของเขา จับเขาเข้าคุกหลายปี ในขณะเดียวกัน พลังของพุทธศาสนา ก็ไม่ได้เพียงนำไปสู่การขับไล่คนต่างศาสนิก หากนำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐใน Saffron Revolution ที่พระเป็นผู้นำขบวนประท้วงรัฐบาล (กระทั่งวีระธูที่ตอนนั้นอยู่ในคุกยังให้สัมภาษณ์ว่าเขาเป็นคนริเริ่ม Saffron Revolution ก่อนที่หนังจะไปสอบถามพระผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่งซึ่งตอบว่ามันเป็นการปฏิวัติของทุกคน มันเกิดจากทุกคนไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง) ไปจนถึงการรวมตัวกันหน้าที่พักของนางอองซานซูจี การปล่อยตัวซูจี และชัยชนะของการเลือกตั้งครั้งใหญ่

นี่จึงเป็นสารคดีที่ฉายภาพได้เป็นอันดี ว่าศาสนาไม่สามารถแยกออกจากการเมืองได้อย่างที่เราเข้าใจ ศาสนาพุทธเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับการเมืองตลอดเวลา อย่างน้อยก็สำหรับประเทศพม่า ที่พระสงฆ์ไม่ได้ทำหน้าที่แค่รูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ แต่มีส่วนร่วมกับสังคม พระที่ได้รับการเคารพ (รวมถึงวีระธู) คือพระที่เป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้าน พระที่มีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในระดับชุมชนและประเทศ ศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐ เท่ากับที่รัฐเป็นเครื่องมือของศาสนา ความหวาดกลัวการสิ้นสูญของศาสนาพุทธ (ซึ่งเป็นอเทวนิยมไม่มีรูปเคารพ เชื่อในการสิ้นสูญ นิพพาน ตายไปไม่เกิดอีก) สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังชาตินิยมที่น่าหวาดแสยงที่สุด เป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในการจัดการคนเห็นต่าง

รัฐศาสนาจึงมักลงเอยด้วยการเบียดขับคนนอกศาสนา (ของตน) ออกไป นำไปสู่ความรุนแรงและการทำให้คนอีกคนไม่ใช่คน เพราะคนอื่นนั้นไม่นับถือสิ่งเดียวกับที่เรานับถือ ยิ่งหนังจบลงด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของ Ma Ba Tha ในการรณรงค์/บังคับให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีออกกฎหมายห้ามคนมุสลิมที่แต่งกับหญิงพุทธบังคับให้หญิงพุทธเปลี่ยนศาสนา หรือห้ามคนมุสลิมมีเมียมากกว่าหนึ่งคน  ชัยชนะอันพิลึกพิลั่นเป็นตอนจบของหนังและเป็นตอนเริ่มต้นของขบวนการชาวพุทธหัวรุนแรงที่ยังคงดำเนินต่อไปในพม่า

ตอนจบของไตรภาคพบปะปีศาจนี้ จึงเป็นสารคดีที่ทำให้ผู้ชมจ้องลึกลงไปในดวงตาของปีศาจ ให้ปีศาจ (ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าปีศาจของแนวคิดประชาธิปไตย / เสรีนิยม / รัฐที่แยกศาสนาออกจากรัฐ / การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน) ได้พูดในสิ่งที่ตนเองคิด เพื่อให้ผู้ชมได้รู้ว่าทำไมเราถึงเชื่อหมดใจในเรื่องหนึ่งๆ และปฏิเสธความจริงแบบอื่นๆ

ไม่ใช่ผู้ชมทุกคนจะคิดแบบเดียวกับวีระธู หรือแม้แต่ไม่ใช่ทุกคนจะต่อต้านวีระธู แต่การได้ปะทะเข้ากับถ้อยแถลงที่ไม่ตัดทอนของปีศาจก็ทำให้เรามองเห็นฐานรากของแนวคิดทั้งหมด ซึ่งอาจสำคัญในพิจารณามากกว่าการต่อต้านหรือโอบรับโดยสิ้นเชิงเสียอีก

Fact Box

  • พระวีระธูเคยขึ้นปกนิตยสาร TIME ฉบับเดือนกรกฎาคม ปี 2013 ในฐานะ The Face of Buddhist Terror โดยเขายังถูกขนานนามเป็น บิน ลาเดน แห่งเมียนมาร์ เมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมา ทาง Facebook ก็ได้ทำการลบเพจของพระวีระธู เนื่องจากเป็นพื้นที่เผยแพร่ hatespeech ที่มีต่อชาวมุสลิมและนำไปสู่ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา
  • เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 พระวีระธูได้ออกมาประณามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นผู้ทำลายพุทธศาสนา พร้อมเรียกร้องให้คสชหยุดใช้ ม. 44 กับวัดพระธรรมกาย ทั้งยังเป็นแกนนำในการรวมตัวกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ที่หน้าสถานทูตไทยในเมียนมาร์
Tags: , , , ,