กลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เทศกาลความคิดสร้างสรรค์ออนไลน์ Lions Live โดย Cannes Lions กับโปรแกรมหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือการเชิญทีมงานเบื้องหลัง The Truth Is Worth It  ประกอบด้วย Amy Weisenbach ตำแหน่ง Senior Vice President, Marketing ของ New York Times ทีมครีเอทีฟ Toby Treyer-Evans และ Laurie Howell ผู้เป็น Group Creative Director จาก Droga5

หนังโฆษณาชุดนี้ โดยหลักคือการเล่าเรื่องเบื้องหลังการทำข่าว แต่ด้วยวิธีการเล่าเรื่อง ทำให้คนดูได้เห็นและรับรู้ความรู้สึกในการทำงานราวกับได้ลงสนามทำข่าวจริง เป้าหมายคือการทำให้คนรู้สึกว่าความจริงที่นักข่าวทุ่มเทนำมารายงานคุ้มค่าพอที่จะให้เงินสนับสนุน 

เบื้องหลังงานโฆษณาเพื่อวงการข่าวชิ้นนี้น่าสนใจที่จะศึกษาไม่แพ้งานข่าวที่ถูกพูดถึง

ทำอย่างไรให้คนรู้ว่าความจริงคุ้มค่าที่จะจ่าย

New York Times เป็นสื่อที่ได้รับการชื่นชมในทางธุรกิจว่า สามารถอยู่ได้โดยรายได้จากระบบสมัครสมาชิก (subscription)

แต่ความจริงไม่ง่ายขนาดนั้น เอมี่เล่าว่าปัจจุบันสื่อในสหรัฐอเมริกาถูกคุมคามหลายด้าน ทั้งจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเคยออกมาทวีตด่าสื่อแบบไม่ไว้หน้า รวมไปถึงการแข่งขันทางธุรกิจอย่างดุเดือด แม้จะมีรายได้จากค่าสมาชิก แต่คนส่วนใหญ่ยังคงไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องจ่ายเงินเพื่อที่จะอ่านข่าว ทั้งที่เนื้อหาเหล่านั้นเขาสามารถหาอ่านได้ฟรีๆ จากเว็บฯ อื่นๆ 

NYTimes พยายามบอกว่าข่าวของเขาคือ Quality Journalism กว่าจะได้ข่าวหนึ่งชิ้นไม่ได้ง่ายดายนัก คนมักเข้าใจว่านักข่าวคงเขียนข่าวในออฟฟิศบนตึกสูงที่

ปลอดภัย อยู่กันสบายๆ แต่ความจริงคือข่าวหลายชิ้นเขียนขึ้นระหว่างลงภาคสนามในพื้นที่จริง NYTimes ลงทุนสูงมากกับกับการลงพื้นที่ของนักข่าว ดังนั้น เมื่อผู้อ่านจ่ายค่าสมาชิก เงินจากกระเป๋าคุณก็จะไปช่วยสนับสนุนนักข่าวจริงๆ 

Droga5 ทำงานให้ NYTimes ตั้งแต่ปี 2017 แคมเปญแรกคือ The Truth ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่เฟกนิวส์เกลื่อนเมืองความจริงจึงคือสิ่งสำคัญ งานชิ้นนั้นมีความเรียบง่ายแต่ทรงพลัง เป็นการสร้างน้ำเสียงที่เด่นชัดให้ NYTimes ผ่านผลงานโฆษณา

ปี 2019 ทีมงานอยากพัฒนาไอเดียจากงานชิ้นเดิมให้น่าสนใจและทรงพลังยิ่งขึ้น เพื่อสื่อสารว่า นักข่าวต้องแลกอะไรบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งความจริง ที่นำไปสู่งานข่าวคุณภาพ อันคุ้มค่ากับการจ่าย

Show the Story Behind the Story

โทบี้และลอรี่เลือกที่จะใช้สไตล์งานสารคดีมาเล่าเรื่องในแคมเปญโฆษณานี้ แสดงให้เห็นถึงความทุ่มของนักข่าว โดยย่อยให้เป็นหนังความยาวไม่กี่นาที เพื่อกระตุ้นให้คนมาเปิดดูหนังโฆษณาหลังกินข้าวเที่ยงแบบง่ายๆ ทำให้ดูแล้วรู้สึกชอบ และอยากสนับสนุนโดยการจ่ายเงินเป็นสมาชิก

ทีมคิดว่าคงเข้าที หากนำการเขียนพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์มาใช้ โดยให้ข้อความนั้นถูกเขียนและแก้ไขแบบเรียลไทม์ คล้ายเวลาที่นักข่าวเคาะแป้นพิมพ์และมีการแก้ไขไปด้วยระหว่างเขียนข่าว เป้าหมายคืออยากให้คนดูเหมือนไปอยู่ในหัวของนักข่าว ได้เห็นภาพอย่างที่นักข่าวเห็น ปะทะกับเหตุการณ์จริงที่นักข่าวต้องเผชิญเวลาลงพื้นที่ 

องค์ประกอบของหนังที่มีข้อความ ภาพ และเสียง แต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันไป

ข้อความที่มีลักษณะเหมือนพาดหัวข่าว เล่าว่านักข่าวคิดอะไรอยู่ ภาพคือการเล่าว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเขา และเสียงเล่าว่านักข่าวกำลังรู้สึกอะไรอยู่ 

นอกจากนี้ทีมยังพบว่าวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ ทำให้เขาสามารถเล่าเหตุการณ์การทำข่าวที่ปกติจะกินเวลานานหลายเดือน ให้ดูสั้นกระชับในโฆษณาเพียงหนึ่งเรื่องได้ 

หัวใจของงานชิ้นนี้ในมุมมองของครีเอทีฟ คือข้อความพาดหัวข่าวที่ถูกแก้ไขตลอดเรื่อง โดยมีเสียงเคาะแป้นพิมพ์ประกอบ ทั้งทำให้คนเข้าถึงการทำงานข่าว และสื่อสาร DNA ของแบรนด์อย่างชัดเจน

ภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้เริ่มต้นมี 3 เรื่อง และถ้าสังเกตให้ดี สไตล์การเขียนแก้พาดหัวข่าวไม่เหมือนกัน ทำให้รสชาติของหนังแตกต่างกันไปเช่นกัน

งานโฆษณาที่ใช้มาตรฐานเดียวกับงานข่าว

ในเมื่อเป็นงานโฆษณาที่พูดถึงนักข่าวและการทำข่าว ขั้นตอนแรกของการทำงานก็ต้องเริ่มที่ห้องข่าว ทีม Droga5 เริ่มจากไปสัมภาษณ์นักข่าว ให้พวกเขาเล่าถึงเส้นทางกว่าที่ข่าวหนึ่งชิ้นจะได้เผยแพร่ ทีมครีเอทีฟต้องพยายามหาเหตุการณ์ที่สามารถทำให้หนังดูตื่นเต้นน่าสนใจ โดยที่ยังคงความจริงของข่าวไว้ และนำสิ่งนี้เป็นฐานในการเขียนบท

โทบี้เล่าว่าทีมพยายามท้าทายตัวเอง ด้วยการเขียนบทให้คำในแต่ละข้อความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ อยากให้คนดูเหมือนอยู่ในกระแสสำนึกหรือห้วงความคิดของนักข่าวที่กำลังเจอเหตุการณ์จริง ทุกคำทุกข้อความต้องเป็นเรื่องจริง ตรงต่อข้อเท็จจริงที่สุด ทีมอยากให้ผลงานโฆษณาชุดนี้มีความซื่อตรงอย่างสมบูรณ์ (Integrity) ในมาตรฐานเดียวกับงานข่าวของ NYTimes

ภาพนิ่งและฟุตเทจที่ใช้ในหนังเป็นภาพจากเหตุการณ์จริงจากมือถือของนักข่าวทีม Droga5 ต้องขอข้อมูลทุกอย่างที่นักข่าวมี ทั้งโน้ต ข้อความที่ส่งระหว่างเพื่อนร่วมงานและครอบครัว เพื่อนำมาประกอบในการเล่าเรื่อง และเพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างคือความจริง ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักข่าวด้วย เพราะภาพบางส่วนเป็นข้อมูลอ่อนไหวของแหล่งข่าว ที่อาจส่งผลกับการทำงานของนักข่าวที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จริงในปัจจุบัน

ต่อยอดพลังของความจริง 

The Truth Is Worth It กวาดรางวัลใหญ่จากหลายเวทีการประกวด รวมถึงรางวัล Grand Prix จาก Cannes Lions ปี 2019 นอกจากนี้ แคมเปญยังได้รับการพูดถึงและต่อยอดในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะคำว่า ‘worth it’ มีการนำไปใช้เล่าเรื่องเหตุการณ์อื่นที่มีการค้นหาความจริงในบริบทคล้ายกับในภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ 

ในฝั่งของ NYTimes นับตั้งแต่ทำแคมเปญ The Truth Is Worth It ยอดสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น 6.5 ล้านคน ผู้อ่านมอง NYTimes เปลี่ยนไป และให้คุณค่าที่แตกต่างออกไปในเชิงบวก หลังแคมเปญนี้ 12.4% ของผู้อ่านรู้สึกว่าข่าวของ NYTimes คุ้มค่าที่จะจ่าย

ทีม Droga5 ยังช่วยทำหนังโฆษณาแบบเดียวกับ The Truth Is Worth It แต่มีเนื้อหาอื่นๆ เช่น เล่าเรื่อง Climate Change ในเกาะกาลาปากอส บางคลิปก็มาจากบทความข่าวสดๆ ร้อนๆ ที่ลงในเว็บไซต์ไม่นานนัก เพื่อขับเน้นให้งานข่าวมีพลังมากขึ้น

เรื่องน่าสนุกอีกข้อคือ ห้องข่าวมีการส่งเรื่องเข้ามา pitch กับฝ่ายการตลาด เพื่อให้ทีมข่าวไปทำเป็นหนังโฆษณา เพราะนักข่าวเห็นแล้วว่าการที่คนอ่านเข้าใจขั้นตอนการทำข่าวส่งผลให้ข่าวมีพลังมากขึ้น

2 ปีหลังจากทำแคมเปญนี้ NYTimes ยังเอาคอนเซปต์คำว่า The Truth ไปใช้กับผลงานอีก 3 ชิ้น หนึ่งคือ 1619 Project เป็นสารคดีข่าวที่ทำขึ้นในวาระครบรอบ 400 ปีที่เกิดเหตุการณ์ขนย้ายชาวแอฟริกันมาที่อเมริกา ซึ่งเป็นส่วนทำให้เกิดระบบทาสในประเทศ ชิ้นที่สองคือ The Truth Is Local นำข่าวท้องถิ่นเมืองชิคาโกมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการขนาดย่อมในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์จริง และชิ้นที่สามคือ Long Fight for Pay Equality in Sport หนังโฆษณาที่พูดถึงความเท่าเทียมทางเพศในวงการกีฬา 

แคมเปญล่าสุดที่ Droga5 ทำกับ NYTimes คืองานที่ชื่อ The Truth Is Essential ครั้งนี้พวกเขาเลือกที่จะเล่าในมุมของผู้อ่านบ้าง โดยพยายามสื่อสารว่า ข่าวของ NYTimes ครอบคลุมการดำเนินชีวิตหลายด้าน งานข่าวและความจริงอยู่ในส่วนหนึ่งของชีวิต มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ตอนแรกพวกเขาตั้งใจเน้นเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในปี 2020 แต่เมื่อโรคโควิด-19 ระบาด พวกเขาก็เปลี่ยนแผน ช่วงนั้นคนอเมริกันยังสับสนและเข้าใจโรคนี้น้อยมาก การป้องกันก็หละหลวม ทีมจึงทำหนังโฆษณาที่เรียบง่ายหนึ่งชิ้นเพื่อบอกว่า โควิดไม่ใช่แค่โรคหวัดธรรมดา มีความจริงเกี่ยวกับโรคที่คุณควรรู้ 

จากนั้นก็ทำหนังโฆษณาเรื่องใหม่ Life Needs Truth โดยนำพาดหัวข่าวมาเล่าเรื่องเหมือนกัน แต่ด้วยน้ำเสียงและสารที่สื่อแตกต่างกับผลงานชุดก่อน สองครีเอทีฟจาก Droga5 เรียกงานนี้ว่าเป็น Visual Poem เพื่อนำเสนอว่า ข่าวของ NYTimes เกี่ยวพันกับชีวิตคนในหลายมิติทั้งด้านกว้างและลึก ซึ่งยังเป็นการเล่าเรื่องที่มีพลังไม่ผิดกัน

The Truth Is Worth It กลายเป็นแคมเปญที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในวงการสื่อมวลชน นอกจากจะทำหน้าที่เป็นหนังโฆษณาที่ดี มันยังบอกเราอีกว่าข่าวคุณภาพต้องมุ่งนำเสนอความจริงเพราะนั่นคือคุณค่าที่แท้จริง อันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของสื่อต่อสังคม

Fact Box

ชมแคมเปญภาพยนตร์โฆษณาต่างๆ ของ New York Times ได้ตามนี้

  • The Truth Is Worth It

https://youtu.be/PZJdKuTRN5E

  • The Truth Is Essential

https://www.youtube.com/watch?v=R33PT49Lor0

  • Climate Change ที่เกาะกาลาปากอส

https://www.youtube.com/watch?v=KgxcWoc6F5k

  • The Truth Is Essential (Covid-19)

https://www.youtube.com/watch?v=R33PT49Lor0

  • Life Needs Truth

https://www.youtube.com/watch?v=pp8vIJhwESw

  • 1619 Project

https://www.youtube.com/watch?v=G1imfEXKaeM