แรกเริ่มเดิมที การชูสามนิ้วขึ้นเหนือหัว เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จากวรรณกรรมเรื่อง The Hunger Games ของ ซูซานน์ คอลลินส์ (Suzanne Collins) ที่มีความหมายถึงคำขอบคุณ ให้เกียรติ และบอกลาบุคคลอันเป็นที่รัก ทว่าในโลกแห่งความจริง สัญลักษณ์แห่งความอาลัยจากหนังสือและภาพยนตร์ ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘การต่อต้านอำนาจเผด็จการ’ ไปแล้ว
The Hunger Games เล่าเรื่องราวของ แคตนิส เอฟเวอร์ดีน เด็กสาวจากครอบครัวยากจนในเขต 12 ที่อาสาแทนน้องสาวเข้าร่วมเกมล่าชีวิต ให้เด็กจากเขตปกครองที่ 1-12 ห้ำหั่นกันเองจนเหลือคนสุดท้าย การต่อสู้ยาวนานต่อเนื่องหลายวันของเยาวชนจากเขตต่างๆ จะถูกถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ความเป็นความตายกลายเป็นความบันเทิงให้เหล่าชนชั้นปกครองในเมืองหลวงที่ไม่ต้องส่งอาสาสมัครลงไปเสี่ยงเหมือนเขตอื่นๆ และตัวเอกของเรื่องอย่างแคตนิส ระหว่างกำลังแข่งขัน เธอทำมือให้เหลือสามนิ้ว ยกขึ้นแตะริมฝีปาก และชูขึ้นเหนือหัวให้แก่ผู้เข้าแข่งขันอีกคนที่จากไป การกระทำของแคตนิสสร้างแรงบันดาลใจจนทำให้ประชาชนหลายเขตนำการชูสามนิ้วที่เห็นจากการถ่ายทอดสดในเกมล่าชีวิต มาใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านอำนาจเผด็จการ
การชูสามนิ้วในประเทศไทยถูกตีความหลายความหมาย เริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมชูสามนิ้วของ ฤทธิพงษ์ มหาเพชร เมื่อปี 2557 แต่ความหมายยังคงคลุมเครืออยู่หลายปี บ้างก็ว่าเป็นสัญลักษณ์ของผู้ไม่ยอมถูกกดขี่ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพี่เป็นน้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร หรือเป็นตัวแทนของ ‘เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ’ ตามการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 แต่ในมุมของคนที่ไม่เห็นด้วย มองว่าการชูสามนิ้วคือสัญลักษณ์ของกบฏ มีความหมายแฝงว่าต้องการทำลายประเทศชาติ และดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
หลายปีที่ผ่านมา สัญลักษณ์สามนิ้วถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ท้าทายอำนาจรัฐไทย และเห็นได้ชัดที่สุดคือการชุมนุมหลายครั้งในปี 2563 ที่ผู้ชุมนุมจะชูสามนิ้วเวลาเพลงชาติดังขึ้น เวลาใกล้สลายตัว หรือตอนที่ขบวนเสด็จฯ แล่นผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม ‘Mob Fest’ บนถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว กลุ่มผู้ประท้วงได้นำสิ่งที่อยู่ในวรรณกรรมและสื่อบันเทิงมาปรับใช้เพื่อแสดงออกทางการเมือง เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน
หลังการทำรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมจัดตั้งรัฐบาลทหารเพื่อทำให้ประเทศอยู่ในความสงบเรียบร้อยเป็นเวลา 1 ปี ทั่วประเทศจะต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และพลเอก มินต์ ส่วย (Myint Swe) วัย 69 ปี ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำห้ามเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา (Specially Designated Nationals) จะทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี
ด้านชาวเมียนมาที่อยู่ต่างประเทศและรู้ข่าวการทำรัฐประหารในบ้านเกิด ต่างพากันออกมาชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา ต่อต้านการทำรัฐประหาร โดยชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย นัดกันรวมตัวต่อต้านการกระทำของกองทัพ พวกเขาสวมเสื้อสีแดง ถือรูปของนางอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) และชูสามนิ้วเหมือนกับผู้ชุมนุมไทย
ประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ออกมาเคาะกระทะ กะละมังสังกะสี และบีบแตรรถยนต์ ดังกึกก้องในหลายพื้นที่นานกว่า 40 นาที เพื่อแสดงความไม่ยอมรับและเชื่อว่าเสียงดังจะขับไล่ปีศาจร้าย ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากลงภาพจุดเทียนและชูสามนิ้วในแฮชแท็ก #voiceoutfordemocracy ด้านข้าราชการและแพทย์ในหลายเมืองนัดกันหยุดงาน ยืนยันว่าจะไม่ทำงานภายใต้รัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม
สำนักข่าวรอยเตอร์สเผยแพร่ภาพทีมแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง ติดโบสีแดงซึ่งเป็นสีประจำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ก่อนชูสามนิ้วเพื่อถ่ายภาพ ยืนยันว่าจะต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพ โดยรอยเตอร์สรายงานว่าวันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2564) มีการนัดหยุดงานของแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลกว่า 70 แห่ง ใน 30 เมือง โดยตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์สว่า ไม่ยินดีรับคำสั่งจากรัฐบาลทหารที่ไม่มีความชอบธรรมใดๆ
เช่นเดียวกับนักแสดงและคนในวงการบันเทิงเมียนมาหลายคนที่ออกมาประณามกองทัพ เรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี ซึ่ง ไป๋ ทากุล (Paing Takhon) นายแบบสัญชาติเมียนมา เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ใหม่เป็นภาพยืนชูสามนิ้วและสวมเสื้อสีแดง แสดงจุดยืนทางการเมืองแบบชัดเจน
ท่ามกลางสถานการณ์การรัฐประหารที่สร้างความตึงเครียดไปทั่วโลก ประชาชนชาวเมียนมาที่ต่อต้านกองทัพพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแสดงจุดยืน ทำอารยะขัดขืน รวมถึงการใช้วัฒนธรรมร่วมอย่างการชูสามนิ้วจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงมาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการของพวกเขา
อ้างอิง
https://www.japantimes.co.jp/news/2020/10/15/asia-pacific/thailand-three-fingered-salute/
Tags: ต่างประเทศ, อองซานซูจี, รัฐประการ, ม็อบไทย, Politics, ชูสามนิ้ว, The Momentum, สามนิ้ว, Global Affairs, อารยะขัดขืน, พม่า, The Hunger Games, ชุมนุม, เมียนมา