คำถามว่าด้วยพันธุกรรม (Nature) และการเลี้ยงดู (Nurture) เป็นคำถามยอดฮิตตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และยังมีการศึกษาเพื่อหาคำตอบอยู่เนืองๆ ว่าที่ปัจเจกชนแต่ละคนมีทักษะ ความสามารถ และความชาญฉลาดแตกต่างกันนั้นเกิดจากปัจจัยภายในเช่นพันธุกรรม หรือปัจจัยภายนอกอย่างการเลี้ยงดู การศึกษาในลักษณะดังกล่าวมักจะใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นคู่ฝาแฝดแท้ โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างทักษะ โรคภัยไข้เจ็บ และอีกสารพัดมิติ กับการเลี้ยงดูซึ่งอาจจะแตกต่างกัน เช่น ถูกแยกจากกันตั้งแต่เด็ก

ผลสรุปที่ได้คือไม่มีผลสรุป! นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าทั้งสองปัจจัยมีผลทั้งสิ้นโดยส่วนใหญ่จะมีผลอย่างละครึ่ง แม้ในบางแง่มุมพันธุกรรมจะมีผลมากกว่า เช่น โรคที่บางอย่าง อาการทางจิต หรือกระทั่งความฉลาด แต่ถึงอย่างนั้นพันธุวิศวกรรมก็ยังไม่สามารถสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบได้เพราะปัจจัยอย่างการเลี้ยงดูมีผลอย่างยิ่ง

ในหนังสือ ยอดมนุษย์นักกีฬา : มหัศจรรย์พันธุกรรมหรือสัจธรรมการซ้อม (The Sports Gene) โดยเดวิด เอปสตีน (David Epstein) ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นข้างต้นโดยตรง แต่จะพาเราไปสำรวจโลกของนักกีฬาหลากชนิดที่ความสำเร็จทางกีฬาเป็นดอกผลจากทั้งพันธุกรรมและการฝึกซ้อม หนังสือเล่าด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย โดยเราแทบไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ทางกีฬาใดๆ ก็สามารถสนุกไปกับเรื่องเล่าจากทุกมุมโลก และสารพัดกีฬาที่เราอาจจะไม่คุ้นเคย ตั้งแต่เกมส์กระดานหมากรุก สารพัดกีฬากรีฑา ไปจนถึงการแข่งสุนัขลากเลื่อนระยะไกล

ในบทแรกๆ เขาเปิดฉากโดยกล่าวถึงกฎจำง่ายยอดฮิตอย่างกฎ 10,000 ชั่วโมงซึ่งอิงจากงานวิจัยโดย เค. แอนเดอรส์ อีริกส์สัน (K. Anders Ericsson) ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1992 ก่อนจะแพร่สะพัดเป็นวงกว้างจากหนังสือยอดฮิต Outliers โดย มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) โดยสามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่า การฝึกฝนเป็นเวลา 10,000 ชั่วโมงจะทำให้ไม่ว่าใครก็ตามสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดก็ได้ หากจะกล่าวแบบไทยๆ ก็คงไม่ต่างจากวลีที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

ผู้ที่โกรธเคืองกับกระแส ‘กฎ 10,000 ชั่วโมง’ มากที่สุดคือนักวิจัยเจ้าของการศึกษาที่นำไปสู่กฎดังกล่าว โดยในปี ค.ศ. 2012 เขาได้ออกแถลงการณ์ที่เรียกกฎ 10,000 ชั่วโมงว่าเป็นสิงประดิษฐ์ พร้อมทั้งออกมาตอบโต้ถึงการตีความผิดๆ ของสื่อสาธารณะ และพยายามอธิบายถึงผลงานวิจัยจริงๆ ของเขา อีกทั้งระบุว่าเลข 10,000 ชั่วโมงเป็นการกำหนดแบบตามใจฉันให้ฟังติดหูเท่านั้น

จวบจนปัจจุบันกฎ 10,000 ชั่วโมงก็ดูจะไม่จางหายไปจากกระแสสังคม หนังสือยอดมนุษย์นักกีฬาหยิบประเด็นดังกล่าวมาตีแผ่อย่างค่อนข้างละเอียด พร้อมทั้งเสนอหลากหลายตัวอย่างเพื่อ ‘คัดง้าง’ กับกฎดังกล่าว โดยหยิบยกกรณีศึกษาการใช้เวลาฝึกซ้อมเพื่อเปลี่ยนนักกอล์ฟมือสมัครเล่นให้เป็นมืออาชีพซึ่งแต่ละคนจะใช้เวลาแตกต่างกัน (แน่นอนว่ามีทั้งมากกว่าและน้อยกว่า 10,000 ชั่วโมง) ขึ้นอยู่กับทักษะพื้นฐานของคนเหล่านั้น และที่สำคัญคือพันธุกรรมซึ่งเปรียบเสมือน ‘ตัวคูณ’ ของความรวดเร็วในการพัฒนาทักษะซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล

ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้ ‘มักง่าย’ โดยใช้พันธุกรรมมาอธิบายว่าเป็นสาเหตุเพียงหนึ่งเดียวทักษะที่เหนือมนุษย์ของนักกีฬา มีการระบุอย่างชัดเจนว่าไม่มียีนโดดเดี่ยวใดๆ ที่ทำให้มนุษย์วิ่งเร็วขึ้นหรือกระโดดไกลขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือปฏิสัมพันธ์ของสารพัดยีนซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จ เขาเปรียบเทียบว่ายีนมนุษย์จำนวน 23,000 คู่ก็ไม่ต่างจากสูตรการสร้าง ‘ร่างกายมนุษย์’ แต่หากหน้าใดหน้าหนึ่งฉีกขาดหรือเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้หน้าอื่นๆ แตกต่างไปจากเดิมเช่นกัน

ประเด็นเรื่องพันธุกรรมยังถูกสำรวจอย่างถึงแก่นว่าด้วยเรื่องเล่าของชาวมารูนจากหมู่บ้านยอดมนุษย์นักกรีฑาในจาไมกาซึ่งสร้างนักวิ่งแชมป์โอลิมปิกมานักต่อนัก จากสมมติฐานที่ว่าพวกเขามียีนของ ‘นักรบ’ ซึ่งผ่านการคัดเลือกความแข็งแกร่งด้วยพ่อค้าทาสก่อนที่คนที่แข็งแกร่งที่สุดจะหนีเอาชีวิตรอด ได้รับอิสระ และกลายเป็นบรรพบุรุษของเหล่ายอดมนุษย์ในปัจจุบัน เรื่องเล่าดังกล่าวดูเข้าเค้า แต่ความเป็นจริงแล้ว ชาวจาไมกาไม่ได้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างจากชาวแอฟริกันในประเทศอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือพวกเขาแทบทุกคน ‘วิ่ง’ ตั้งแต่เด็กทำให้หลงเหลือเพียงคนที่แกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะได้ไปต่อในถนนของนักกรีฑาอาชีพ

ตลอดหนังสือที่ถือว่าหนาไม่ใช่เล่นเล่มนี้ ผู้อ่านจะสัมผัสกับสารพัดตัวอย่างและข้อคัดง้างด้วยสไตล์การเล่าเรื่องซึ่งเต็มไปด้วยสีสันและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เดินทางไปรอบโลกเพื่อเก็บข้อมูล บางจังหวะที่ปูเรื่องแบบราบเรียบแล้วหักมุมซะอย่างนั้นจนทำให้ต้องลุ้นเสมอว่าเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดมาหลายหน้าจะมีบทสรุปเป็นอย่างไร เช่น นักกรีฑาบางคนซึ่งทุ่มเทฝึกซ้อมด้วยความรักในกีฬาตั้งแต่เด็กจนสามารถคว้าแชมป์ได้ กลับต้องเสียแชมป์ให้กับนักกีฬาอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ใส่ใจแม้แต่จะฝึกซ้อมแต่มาพร้อมกับพรสวรรค์

อีกประเด็นที่น่าสนใจแต่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงตรงๆ คือความกังวลต่อการแบ่งแยกทางพันธุกรรมสำหรับนักกีฬา โดยชี้ให้เห็นถึงเส้นบางๆ ที่ ‘ขวางกั้น’ ไม่ให้นักกีฬาบางคนลงสนามเนื่องจากพันธุกรรมของเขาหรือเธอส่งผลให้กลไกบางอย่างของร่างกายทำงานผิดแผกแตกต่างจากคนทั่วไป เช่นกรณีที่นักกรีฑาหญิงซึ่งมีอัณฑะภายในทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทนเทอโรนของเธอสูงผิดปกติ และบางคนมองว่านี่คือสาเหตุที่เธอได้เปรียบในการแข่งขัน

ในโลกที่นวัตกรรมด้านพันธุวิศวกรรมก้าวหน้า ยิ่งชวนให้ครุ่นคิดว่าเงื่อนไขใดบ้างที่ควรกำหนดเพื่อให้การแข่งขันกีฬานั้นยุติธรรมแต่ไม่เลือกปฏิบัติกับคนบางกลุ่ม  

บทสรุปของหนังสือเล่มนี้ก็คล้ายคลึงกับบทสรุปของงานวิจัยเกี่ยวกับฝาแฝดข้างต้น คือการจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องพร้อมทั้งฮาร์ดแวร์ นั่นคือร่างกายที่ถูกกำหนดโดยพันธุกรรม และซอฟต์แวร์ คือการฝึกซ้อมในกีฬาที่สามารถทำให้ร่างกายนั้นเปล่งประกายออกมาได้ เขายกตัวอย่างยูเซน โบลต์ นักวิ่งชาวจาไมกาเจ้าของสถิติโลกที่อาจเป็นได้เพียงนักกีฬาบาสเกตบอลระดับกลางๆ หากไม่ได้ตัดสินใจหยุดตามความฝันนั้นแล้วผันตัวมาเล่นกรีฑา

เพราะแต่ละคนเกิดมาโดยมีฮาร์ดแวร์แตกต่างกัน จึงต้องเฟ้นหาและออกแบบซอฟต์แวร์ที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุดโดยไม่มีสูตรสำเร็จที่จะบอกได้ว่า ฝึกหนักแค่ไหนจึงจะได้เข้าใกล้การเป็นมืออาชีพ

Tags: , , , ,