หนังเกี่ยวกับอะไร

ย้อนกลับไปที่ประเทศอิหร่านช่วงยุค 80s อิหร่านกำลังทำสงครามกับอิรัก หนังเล่าเรื่องของ ‘ชิเดห์’ (Narges Rashidi) สาวมุสลิมที่ยังคงปฏิบัติตัวเหมือนช่วงก่อนปฏิวัติอิหร่าน

และเนื่องจากสามีของชิเดห์ถูกเกณฑ์ไปเป็นแพทย์สนาม เธอจึงต้องเลี้ยง ‘ดอร์ซ่า’ (Avin Manshadi) ลูกสาวของเธอโดยลำพัง ท่ามกลางวิกฤตสงครามและการหลบๆ ซ่อนๆ ใช้ชีวิตผิดกฎระเบียบข้อบังคับของศาสนา และเธอยังต้องเผชิญกับอีกหนึ่งปัญหาเมื่อดอร์ซ่าเชื่อว่ามี ‘ยิน’ ปีศาจร้ายตามความเชื่อของศาสนาอิสลามคอยวนเวียนอยู่ในบ้านของเธอ

 

สิ่งที่ควรรู้ก่อนไปดูหนัง

มันไม่ใช่หนังผีตุ้งแช่และไม่ใช่หนังผีที่มุ่งแต่จะขายความน่ากลัว แต่เป็นหนังสยองขวัญสอดแทรกมุมจิตวิทยาที่ตัวละครต้องเผชิญความเครียดจากสิ่งต่างๆ รอบตัว อีกทั้งฉากหลังยังเป็นการสะท้อนการจำกัดเสรีภาพในการใช้ชีวิตของเพศหญิงในที่สาธารณะอีกด้วย

 

สิ่งที่ชอบที่สุด

1. บรรยากาศหนังตึงเครียดมาก แม้หน้าหนังจะบอกชัดเจนว่าเป็นหนังสยองขวัญเหนือธรรมชาติ แต่สิ่งที่ช่วยเพิ่มความตึงเครียดอย่างมากคือสถานการณ์ที่ตัวละครต้องเผชิญ ทั้งภัยลูกหลงจากสงคราม และการที่เธอยังคงปฏิบัติตัวเหมือนก่อนการปฏิวัติอิหร่าน ยังคงดูวิดีโอเทปเต้นแอโรบิกของตะวันตก และแต่งตัวเปิดเผยเนื้อหนัง ซึ่งผิดกฎระเบียบข้อบังคับของอิหร่านเวลานั้น ซึ่งเธอเป็นอิสระในกำแพงบ้านแต่ไม่ใช่ในที่สาธารณะ

2. การใช้ Jump Scare น้อยแต่แม่นยำ มันมีบางครั้งที่จังหวะตุ้งแช่กลับกลายเป็นการเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมันถูกใช้สร้างความขนลุกให้คนดูได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ต้องหยิบมาใช้พร่ำเพรื่อ แต่หยิบมาเมื่อไรมีอันต้องสะดุ้งโหยงกันแน่นอน

3. การไต่ระดับความสยองขวัญ ต้องชมผู้กำกับอย่างหนึ่งเลยว่าเขาสร้างบรรยากาศให้ค่อยๆ ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จากจุดที่ยินดูจะเป็นเพียงแค่จินตนาการของเด็กขี้กลัวกลับค่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงว่ามันจะอาจจะมีตัวตนอยู่จริง ยิ่งพอถึงช่วงท้ายๆ นี่แค่เพียงลมพัดก็ทำให้ขนลุกได้แล้ว (ยินตามความเชื่อของอิสลามนั้นจะมาตามสายลม) ไคลแม็กซ์ช่วงท้ายเรื่องคือพีกถึงขีดสุดความหลอนสั่นประสาทจนขนลุกไปตามๆ กัน

 

สิ่งที่ไม่ชอบที่สุด

สิ่งที่รู้สึกขัดใจเล็กน้อยมีเพียงข้อเดียวคือการใช้เทคนิค Jump Scare ในบางครั้งดูจะมาผิดที่ผิดทางพอสมควร โดยส่วนใหญ่แล้วมันมาถูกจังหวะจนน่ากลัวมากๆ แต่บางครั้งมันก็ตุ้งแช่แบบไม่ได้เรียกเสียงกรี๊ดแต่กลับเป็นเสียงหัวเราะแทน ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่อยากจะผ่อนคลายความตึงเครียดกดดันของคนดูหรือเปล่า

 

เราเรียนรู้อะไรจากหนัง

ในช่วงที่จิตใจอ่อนแอ ความเชื่อของเราก็สั่นคลอนได้เหมือนกัน ชิเดห์เป็นตัวละครที่ไม่เชื่อในเรื่องสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ เธอมองทุกอย่างว่าสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล แต่ภายใต้ภัยสงคราม ลูกสาวที่มีอาการแปลกๆ ส่งผลให้เธอเริ่มเครียดจนเริ่มฝันร้ายหลายครั้ง ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่งอาจจะมาจากความผิดหวังของตัวเธอเองที่ไม่ได้เรียนหมอต่อ เพราะเลือกข้างการเมืองผิดฝั่งตั้งแต่สมัยยังวัยรุ่น สิ่งที่เราควรเรียนรู้คือการค่อยๆ ลดความเครียดไม่ให้สะสมจนลุกลามมาทำลายตัวเอง พยายามพาตัวเองออกจากปัญหาต่างๆ ทีละอย่าง ซึ่งอาจจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นก็เป็นได้

 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากหนัง

เห็นเป็นหนังภาษาอิหร่าน ผู้กำกับก็เป็นชาวอิหร่าน แต่หนังเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในฐานะตัวแทนประเทศอังกฤษ เพราะทุนสร้างส่วนใหญ่เป็นของสตูดิโอประเทศอังกฤษ

 

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

ใครที่เป็นคอหนังสยองขวัญต้องไม่พลาดจริงๆ เราอาจจะผ่านตาหนังสยองขวัญจากโซนเอเชียตะวันออกทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือจากฮอลลีวูดมาเยอะแยะมากมาย แต่เชื่อว่าสไตล์หนังสยองขวัญอิหร่านมันมีความแปลกใหม่ชวนให้ลองไปสัมผัสอยู่เหมือนกัน

 

ควรชวนใครไปดู

ถ้าตอบแบบเท่ๆ คงต้องให้ชวนหนุ่มสาวรัฐศาสตร์ไปดูภาพอิหร่านในช่วงหลังการปฏิวัติ แต่ใจจริงอยากให้ชวนคนกลัวผีไปดูเหลือเกิน รับรองว่าปิดตาทั้งเรื่อง

 

ความคุ้มค่าต่อเงินที่เสียไป

หนังดีๆ แบบนี้คุ้มทุกบาทแน่นอน แนะนำว่าต้องรีบดูตั้งแต่สัปดาห์แรกด้วย เพราะไม่รู้ว่ารอบฉายสัปดาห์ที่สองจะเหลือน้อยแค่ไหน

 

ขอ 3 คำจากหนังเรื่องนี้

ผี ผ้า ห่ม

Tags: , , , , , , , , , , , , ,