ไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ แต่รวมเรื่องสั้น 6 เรื่องของ ฟรานซ์ คาฟคาในเล่มนี้ช่างเรียงตัวกันเป็นไทม์ไลน์เหมาะเจาะจนกลายเป็นจิ๊กซอว์ต่อเติมภาพของนักเขียนหนุ่มผู้ดิ้นรนสร้างสรรค์งานอันเป็นเอกลักษณ์จนถึงขั้นมี adjective เฉพาะให้งานสไตล์คลุมเครือ มืดหม่น เน้นการตีแผ่ภาวะอารณ์ข้างในว่า ‘คาฟคาเอสก์’ (Kafkaesque) เพราะทั้ง 6 เรื่องต่างกระจายตัวอยู่ในจังหวะสำคัญในช่วงชีวิตต่างๆ ของคาฟคา ตั้งแต่เรื่องสั้นชิ้นแรกๆ ไปจนถึงงานชิ้นสุดท้าย จนทำให้เราได้เห็นความเติบโตของข้างในคาฟคาเอง และปฏิสัมพันธ์ของเขาต่อสิ่งอื่นที่ค่อยๆ เคลื่อนจากตัวเองออกมาเป็นความใคร่รู้ในความเป็นไปของโลก

หากจะกล่าวว่าเรื่องสั้นของคาฟคา ก็คืออัตชีวประวัติของเขาเองก็คงไม่เกินเลยไปนัก ทั้งหมดทั้งมวลล้วนบรรจุด้วยความสัมพันธ์เครียดขึ้งระหว่างเขากับพ่อ ผู้ตีกรอบให้คาฟคาตั้งแต่เรื่องการเรียน การแต่งงาน ไปจนถึงอาชีพ ตัวอย่างความอัดอั้นในชีวิตของคาฟคาในระยะนี้ถ่ายทอดอยู่ในนิยายเล่มดังของเขาหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นMetamorphosis หรือ Letter to His Father หรือจะเป็นเรื่องสั้น คำพิพากษา ในเล่มนี้ที่หากถอดรหัสชื่อตัวละครดีๆ แล้วจะพบว่า เกออร์ก ชายหนุ่มผู้เขียนจดหมายถึงเพื่อนรักในรัสเซียก็คือตัวคาฟคา ผู้นิยมชมชอบการเขียนจดหมาย ส่วนฟรีดาก็คือ เฟลิเช คู่หมั้นของคาฟคาในขณะนั้น การปะทะคารมกันระหว่างเกออร์กและพ่อจึงเทียบเท่ากับความสัมพันธ์แบบไม่ลงรอยระหว่างเขากับพ่อ เพราะพ่อของเกออร์กผู้ดูอ่อนเปลี้ยเพลียแรงในช่วงต้นๆ ของเรื่องกลับพลิกเกม หยิบไพ่ไม้ตายขึ้นมาตีแสกหน้าความเลื่อนลอยทางเหตุผลและอารมณ์ของเกออร์ก จนความเชื่อมั่นของเขาถูกสั่นคลอน และนำไปสู่ตอนจบชวนหวั่นใจ

การต่อสู้เพื่อจุดยืนของตัวเอง การพยายามสื่อสารกับครอบครัวว่าสิ่งที่เขาเลือกมีคุณค่าไม่แพ้สิ่งที่พ่อปูทางไว้ให้ถูกย้ำอีกครั้งใน ช่างเครื่อง เรื่องสั้นถัดมาที่เป็นต้นเค้าของนิยาย Amerika คาร์ลเป็นหนุ่มละอ่อนที่จู่ๆ ก็เข้าไปช่วยต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้ช่างเครื่อง จนเกิดเป็นความภูมิอกภูมิใจอย่างฉับพลันขึ้นมาว่า “หากพ่อแม่เห็นเขาในเวลานี้ที่เขาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมต่อหน้าผู้ทรงเกียรติในต่างแดน […] พ่อและแม่จะเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับตัวเขาหรือไม่”

แม้ในท้ายที่สุดเราจะพบผลลัพธ์ของการเรียกร้องนี้ว่าไม่ได้นำไปสู่อะไร อีกทั้งยังมีการเฉลยว่า หนุ่มน้อยคาร์ลก็ยังอยู่ในความประคบประหงมของผู้อาวุโสกว่า แล้วความภาคภูมิชั่ววูบนั้นจะกลายเป็นอะไร หรือมันคือความสับสนของตัวคาฟคาเองที่สุดท้ายก็ยังติดอยู่ในหล่ม ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง’ ระหว่างความต้องการเป็นอิสระหรืออยู่ในเงื้อมเงาของพ่อ

ภาวะตบตี ตั้งคำถามถึงความเป็นตัวของตัวเองดูจะวกกลับมาอีกครั้งใน รายงานสำหรับสมาคมวิชาการ ผู้เล่าเรื่องคือ ลิงที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ตัวเองใกล้เคียงความเป็นมนุษย์ที่สุด แต่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของลิงตัวนี้จะมาจากความต้องการก้าวไปสู่วิวัฒนาการใหม่ หากแต่เป็นความต้องการพื้นฐานที่ต้องการออกไปจาก ‘กรง’ ที่กักขังมันไว้ ราวกับคาฟคาจะบอกกับเราว่า แท้จริงแล้วตัวตนหรืออัตลักษณ์ก็คือการแสดง การเป็นตัวของตัวเองไม่ได้หมายถึงอิสรภาพ แต่เป็นเพียงการพาตัวเองไปสู่ภาวะใหม่ และทำให้เรารู้สึกแปลกปลอมต่อสิ่งที่ไม่ได้เลือกกระนั้น

จิ๊กซอว์สำคัญอีกชิ้นคือความพะวงเรื่องอาการป่วยไข้ของคาฟคาเอง เขาได้นำเสนอไว้ผ่านเรื่องสั้นที่ยากจะปะติดปะต่ออย่าง หมอชนบท การถูกตั้งคำถามของหมอ ความไม่เชื่อมั่นของชาวบ้าน และการเรียกร้องขอความตายของคนไข้อาจเป็นสภาพจิตใจส่วนลึกของคาฟคาที่หวาดหวั่นการมาถึงของโรคร้ายที่จะเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของเขาในเวลาต่อมา

ส่วนอีก 2 เรื่องที่เหลือดูจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวคาฟคากับโลกมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกนึกคิดต่อความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่ถ่ายทอดออกมาได้สุดแฟนตาซี แต่แสนทารุณใน แดนลงทัณฑ์เกาะประหลาดที่มีการพิพากษานักโทษด้วยนวัตกรรมเครื่องประหารที่ออกแบบอย่างล้ำสมัย ทรมานทรกรรมรีดเลือดยาวนานถึง 12 ชั่วโมง ทว่ารับประกันความตายอันแสนสุข เป็นค่านิยมแบบ pleasure & pain ความภาคภูมิในความรุนแรงของสงครามที่สื่อผ่านนายทหารบนเกาะ ผู้แสนอิ่มเอมในเทคโนโลยีนี้และยินดีเป็นร่างสุดท้ายให้เครื่องประหารดื่มกินเลือด เพราะประเพณีนี้กำลังจะถูกยกเลิกไป

โยเซฟิเนอ นักร้องสาวหรือประชากรหนู ที่เป็นชื่อเรื่องของเล่มนี้ และเป็นเรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายในชีวิตของคาฟคา ดูคล้ายจะเป็นจดหมายลาตายของเขา อีกทั้งตั้งคำถามต่อคุณค่าของศิลปะไปพร้อมกัน หลายส่วนของเรื่องตอกย้ำว่า หนูโยเซฟิเนอไม่ได้มีความสามารถการร้องเพลงแตกต่างจากหนูตัวอื่นๆ แต่เป็นโยเซฟิเนอเองที่เชื่อมั่นในพรสวรรค์ของตน พร้อมกับแรงสนับสนุนของเหล่าหนูที่เห็นคุณค่าของเสียงเพลงนี้ และเพื่อจะรักษาความสมบูรณ์แบบของการร้องเพลงไว้ โยเซฟิเนอจึงเลือกจากไปอย่างลึกลับพร้อมกับความทรงจำของชาวเมืองที่จดจำเธอได้น้อยลงๆ ดูเหมือนคาฟคาจะไม่ยี่หระว่าความตายจะลบล้างสิ่งที่เขาสร้างสรรค์มา แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ผลงานอันจัดเจนของเขายังคงเป็นที่กล่าวถึงอยู่เสม

นอกจากเรื่องสั้นทั้งหมดจะเป็นเหมือนแผนที่ศึกษาเส้นทางชีวิตและความคิดของคาฟคา องค์ประกอบร่วมอีกอย่างหนึ่งคงเป็นการที่ตัวละครจากแทบทุกเรื่องคล้ายเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ และย่องจากมาเงียบๆ เสมอ ทั้งคาร์ลที่การดำรงอยู่ของเขาบนเรือไม่ก่อให้เกิดอะไร ครั้นแล้วก็ลงเรือขึ้นฝั่งไปอย่างราบรื่น, การแยกตัวเองเป็นคนนอกของลิงที่มีวิวัฒนาการกว่าลิงด้วยกัน แต่ก็ไม่ใช่คนอย่างสมบูรณ์, หรือนักสำรวจในเรื่อง แดนลงทัณฑ์ ที่เดินทางไปยังเกาะแห่งนั้นและจากไปโดยไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร การเข้ามา-จากไปอย่างเงียบเชียบของตัวละครเหล่านี้คงไม่ต่างจากการที่คาฟคาส่องกล้องทางไกลเข้าไปชะโงกมองชีวิตตัวเองในช่วงเวลาต่างๆ แล้วถ่ายทอดเป็นเรื่องราว กลบร่องรอยความจริงบางส่วน เปิดเผยความรู้สึกสุดหยั่งที่เรียกร้องการถอดรหัสเพื่อไขความเข้าใจ จนกลายเป็นความจริงที่ถูกเจือจาง แต่ความคลุมเครือราวกับเดินวนกลับไปกลับมาในจิตใจไม่สิ้นสุดเช่นนี้ไม่ใช่หรือที่เป็นเสน่ห์ในงานของคาฟคา จนทำให้ความมืดมน ไร้ทางออก ไม่มีคำอธิบายที่ชัดแจ้งคือลายเซ็นที่น่าจดจำ

Photo: Library House

FACT BOX:

Fun Fact about Kafka

  • แม้งานของคาฟคาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเสมือนจริง แต่ก็มีองค์ประกอบแฟนตาซีร่วมด้วยเสมอ ตีความกันว่าความแฟนตาซีนั้นคือความรู้สึกแปลกแยก ความกังวลต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิต
  • คาฟคาไม่ได้เป็นนักเขียนโด่งดังสมัยยังมีชีวิตอยู่ ผลงานหลายชิ้นถูกนำมาตีพิมพ์หลังคาฟคาจากโลกนี้ไปแล้ว งานเกือบทั้งหมดถูกรวบรวมโดย แมกซ์ บรอด (Max Brod) เพื่อนสนิทของคาฟคา
  • สไตล์การเขียนอันโดดเด่นของคาฟคาถูกนำไปตั้งเป็นคำคุณศัพท์ว่า Kafkaesque และถูกนำมาใช้แพร่หลายเมื่อจะสื่อถึงเรื่องเซอร์เรียล หรือการต่อสู้กับภาวะบางอย่าง
  • คาฟคาเทิดทูนบูชาการเขียนมาก เขาเคยกล่าวว่า เขาต้องการความโดดเดี่ยวเมื่อเขียนหนังสือ แต่ไม่ใช่แบบพวกฤาษี เพราะมันไม่เพียงพอ แต่เป็นความสันโดษแบบคนตาย
Tags: ,