หากว่าเราไม่นับการเริ่มต้นสู่เส้นทางดนตรีอาชีพของ จอห์น เลเจนด์ (John Legend) ด้วยการถูกทาบทามให้มาเล่นเปียโนเพลง Everything is Everything ของ ลอรีน ฮิลส์ (Lauryn Hills) แรปเปอร์สาวของวง Fugees เมื่อปี 1998 ก็คงต้องนับการเริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีอาชีพของเขา เมื่อเขาได้พบกับ คานเย เวสต์ (Kanye West) แล้วได้เปลี่ยนชื่อตัวเองจาก จอห์น โรเจอร์ สตีเฟน (John Roger Stephen) เป็น จอห์น เลเจนด์ ก่อนที่จะออกอัลบั้มGet Lifted ภายใต้สังกัด G.O.O.D Music ของคานเย เวสต์ ในปี 2004 และได้รับ 3 รางวัลแกรมมีจากอัลบั้มแรกของเขา
สไตล์ดนตรีของ จอห์น เลเจนด์ ในแบบ R&B/Soul ร่วมสมัย และเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เขาได้ร่วมงานกับศิลปินฮิปฮอปดังๆ มากมาย อาทิ André 3000 จาก Outkast, Common, Jay Z, Kanye West (เจ้าของค่าย) และ The Roots และด้วยเนื้อหาในเพลงของเขาที่มักพูดถึงความรักและสิทธิเสรีภาพ เขาจึงมักได้เป็นตัวแทนศิลปินร่วมร้องเพลงและแสดงในคอนเสิร์ตการกุศลต่างๆ รวมไปถึงการได้ร่วมขับเคลื่อนในแคมเปญหาเสียงของอดีตประธานาธิบดีอย่าง บารัก โอบามา ในเพลง Yes We Can ร่วมกับ Will.I.Am ในปี 2008 หรือร้องเพลง Motherless Child สำหรับระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ (Hope for Haiti Now) ในปี 2010 อีกทั้งยังออกอัลบั้ม Wake Up! กับ The Roots ที่มีเนื้อหาในเพลงส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ทำออกมาในปีเดียวกัน
จนกระทั่งในปี 2015 หลังจากที่เขา (และ Common) ได้รางวัลออสการ์จากเพลง Glory ในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง Selma ที่เป็นภาพยนตร์อัตชีวประวัติของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง นักสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของคนผิวสี เขาก็ได้ออกมาประกาศโครงการใหม่ของเขาที่ได้ก่อตั้งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า #FREEAMERICA เพื่อย้ำเตือนให้สังคมตระหนักถึงการใช้อำนาจอย่างเลยเถิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐอเมริกา ที่จับกุมเยาวชนและชายผิวสีเข้าสู่เรือนจำมากมาย จนกลายเป็นกระแสวิจารณ์ของสังคมอย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา ที่สังคมอเมริกันทุกวันนี้ ทุกๆ 4 คน จะมีคน 1 คนที่มีประวัติทางอาชญากรรม และทำให้จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาถึง 700%
การเคลื่อนไหวทางสังคมของ จอห์น เลเจนด์ มักถูกถ่ายทอดผ่านตัวตนและบทเพลงของเขาเสมอ และแน่นอนว่าเมื่อมาถึงอัลบั้มที่ 6 เขาก็ได้ตั้งชื่ออัลบั้มใหม่ว่า Darkness and Lights ที่พูดถึงตัวตนของเขาที่ก้าวผ่านประสบการณ์ส่วนหนึ่งของความรัก การได้เป็นพ่อคน และความผิดหวังในผลลัพธ์ของการเมืองสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา ทำให้อัลบั้มนี้นั้นอัดแน่นไปด้วยเพลงที่แสดงถึงตัวตนทั้งด้านมืดและด้านสว่างของเขา ผสานกับประสบการณ์ชีวิตใหม่ที่เขาได้พบเจอ
หลังจากอัลบั้มที่แล้ว Love in the Future (2013) ที่มีเพลงดังอย่าง All of Me ได้ทำให้เขาโด่งดังมากกว่าเดิม แต่ในการทำงานของอัลบั้ม Darkness and Lights เขากลับใช้จำนวนนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์น้อยลงกว่าอัลบั้มที่แล้วเกือบ 3 เท่าตัว โดยเน้นการทำงานกับโปรดิวเซอร์หลักที่ชื่อว่า เบลก มิลส์ (Blake Mills) เพียงคนเดียว
เบลก มิลส์ นั้นถือเป็นโปรดิวเซอร์ใหม่ไฟแรงที่เพิ่งได้รับรางวัลแกรมมี จากการโปรดิวซ์วงร็อกที่ผสมผสานกับดนตรีบลูส์ที่ชื่อว่า Alabama Shakes เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา โดยสไตล์ของมิลส์นั้นถือว่าสัมผัสได้ชัดเจนมากในอัลบั้มนี้ และทำให้รู้สึกได้ว่าตัวตนของพาร์ตดนตรีในอัลบั้มมีความรู้สึกที่แตกต่างจริงๆ
ความ Darkness ของอัลบั้มนี้ ถูกแฝงไว้มากมายในเนื้อเพลงแต่ละเพลง อย่างเช่น Marching into the Dark ที่มีประโยคอย่าง “Now what good is a dream when the dreamer dies?” ซึ่งเป็นประโยคที่แสดงออกถึงความผิดหวังเรื่องการเมืองของเขาที่ไม่สามารถปิดกั้นไว้ได้
แต่ในทางกลับกัน ในอัลบั้มนี้ก็ยังมีความ Lights ให้เห็นอยู่ อย่างเพลง Right by you (for Luna) ที่เขาแต่งให้ Luna ลูกสาวของเขาที่เพิ่งอายุได้ 8 เดือน รวมไปถึงเพลงอย่าง Penthouse Floor ที่ฟีเจอริงกับ Chance the Rapper แรปเปอร์จากชิคาโกที่กำลังมาแรงมากๆ ในขณะนี้ แล้วยังมีเพลง Overload ที่โปรดิวซ์และฟีเจอริงโดย Miguel ที่เป็นการผสมผสานเสียงร้องของ Miguel เข้ากับไลน์กีตาร์ได้อย่างลงตัว ทำให้อัลบั้มนี้ได้บอกเล่าถึงตัวตนของเขาทั้งสองด้าน ผ่านเนื้อเพลงและดนตรีที่เขาเติบโตขึ้น
นอกจากนี้ จุดเด่นของอัลบั้มคือการเรียบเรียงและการบันทึกเสียง (Mastering) ของเพลงแต่ละเพลง ที่ทำให้เครื่องดนตรี เสียงร้อง และองค์ประกอบต่างๆ ดูโดดเด่นและน่าสนใจ เปรียบเสมือนกับภาพวาดของศิลปะร่วมสมัยที่สามารถกระจายจุดสนใจของแต่ละองค์ประกอบได้อย่างลงตัว ซึ่งก็คงต้องยกความดีความชอบให้กับมิลส์ที่มาเป็นโปรดิวเซอร์หลักในอัลบั้มนี้ ทำให้ Darkness and Lights ที่เมื่อฟังดูผิวเผินแล้ว อาจจะไม่ใช่ตัวตนที่ใหม่ของ จอห์น เลเจนด์ แต่ถ้าหากว่าใครที่รู้จักเขาดี ก็คงจะเห็นว่าตัวตนของเขาได้ขยายขอบเขตให้กว้างขึ้นไปอีก และเขาก็ยังกล้าที่จะนำเสนอแง่มุมทั้งความสุขและความผิดหวังของเขาให้คนฟังได้รับรู้
ถึงแม้ว่าสไตล์ของ จอห์น เลเจนด์ ที่หลายคนลงความเห็นว่าเขาเป็นเพียงแค่ Urban Contemporary R&B แต่ในความร่วมสมัยและตัวตนของเขาก็ได้นำพาตัวเขาเองให้เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบอย่างศิลปินรุ่นก่อนๆ เคยทำไว้อย่าง มาร์วิน เกย์ (Marvin Gaye)ไม่แน่ว่าวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า บทเพลงในอัลบั้มนี้ของเขาอาจกลายเป็น R&B/Soul อมตะก็ได้ ใครจะรู้
Tags: Music, TheReview, Darkness and Lights, John Legend