หนอนหนังสือทั้งหลายอาจจะพอจินตนาการภาพความสุขเวลาเข้าร้านหนังสือออก นอกจากจะตื่นเต้นกับหนังสือออกใหม่แล้ว บางคนยังหลงรักความเงียบสงบของร้านและสามารถจะขลุกตัวอยู่ในร้านหนังสือได้คราวละนานๆ หนักกว่านั้นบางคนชอบรูปเล่ม สัมผัสในมือ กลิ่นกระดาษและหมึกพิมพ์ การอ่านไล่ทีละตัวอักษรไปพร้อมๆ กับจินตนาการถึงเนื้อเรื่อง บางคนอาจจะเลือกซื้อเพราะดีไซน์ ประเภทหรือคุณค่าของหนังสือเอง แต่ที่แน่ๆ โลกอันกว้างใหญ่ซึ่งบรรจุอยู่ในหนังสือนั้นเป็นเสน่ห์ที่หนอนหนังสือทั้งหลายมักจะดำดิ่งลงไปเพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเองเสมอ

เป็นหนังสือที่เหมาะกับคนรักหนังสือ (และคนที่ฝันอยากมีร้านหนังสือ)
ทั้งยังช่วยฉายให้เห็นภาพการเอาตัวรอดของร้านหนังสืออิสระในเวลาที่ธุรกิจหนังสือโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลงอีกด้วย

Bookstore Style เสน่ห์ของร้านหนังสือที่ซีกโลกใต้ โดยคุณ หนุ่ม หนังสือเดินทาง พาเราไปสัมผัสบรรยากาศเช่นนั้น หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ค่อนข้างอยากเขียนถึงเป็นการส่วนตัวแม้ว่าจะออกมาได้ราวสองปีแล้วก็ตาม ส่วนหนึ่งเพราะว่าเป็นหนังสือที่เหมาะกับคนรักหนังสือและคนที่ฝันอยากมีร้านหนังสือ ทั้งยังช่วยฉายให้เห็นภาพการเอาตัวรอดของร้านหนังสืออิสระในเวลาที่ธุรกิจหนังสือโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลงอีกด้วย

ภายในเล่ม คุณหนุ่มได้เล่าย้อนถึงประสบการณ์ช่วงที่เขาพักจากการทำร้านหนังสือ (Passport Bookstore) ในกรุงเทพฯ แล้วไปทำงานที่นิวซีแลนด์ พร้อมแวะเยี่ยมออสเตรเลีย จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับร้านหนังสือดีๆ หลากหลายรูปแบบ หลายๆ ร้านเป็นร้านหนังสือเฉพาะทาง บางร้านขายแต่หนังสือทำครัวหรือศิลปะ บางร้านขายหนังสือมือสองเพียงอย่างเดียว และบางร้านก็ลงทุนถึงขนาดปรับเปลี่ยนบ้านทั้งหลังให้เป็นร้านหนังสือ

ด้วยวิธีการเล่าเรื่องและเนื้อหาของ Bookstore Style ทำให้เราอาจนิยามหนังสือเล่มนี้ได้ว่าเป็นสารคดีท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม หนังสือสามารถพาผู้อ่านไปได้ไกลกว่านั้น เพราะภายในเล่มมีข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของคุณหนุ่มซึ่งเปรียบเสมือนบทวิเคราะห์ที่อาจช่วยชี้แนะแนวทางในการทำธุรกิจขนาดย่อมอย่างร้านหนังสือที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจขนาดย่อมประเภทอื่นๆ ได้ นอกจากนี้เมื่อคำนึงถึงบริบททางเวลา ณ ตอนที่คุณหนุ่มอยู่ที่นั่น (2011) จะเห็นว่าเป็นประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของธุรกิจหนังสือ เพราะร้านหนังสือเชนสโตร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Borders ซึ่งมีสาขามากกว่า 600 สาขาในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกต้องปิดตัวลงในที่สุด เนื่องมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับรูปแบบใหม่ของการบริโภคในยุคโลกาภิวัตน์ได้* เหตุการณ์นี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนว่าร้านหนังสือทั่วโลกอาจถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำธุรกิจเมื่อมีอีบุ๊กและโลกออนไลน์เข้ามาแข่งขัน

หากนับรวมร้านหนังสือเล็กๆ ในเล่มที่คุณหนุ่มกล่าวถึงซึ่งประสบสภาวะเดียวกันกับ Borders และเมื่อทาบภาพร้านหนังสือจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลียลงบนผืนภาพธุรกิจหนังสือโลกแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นภาพย่อที่สะท้อนภาพใหญ่ของธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์โลกในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ..ร้านที่ปรับตัวได้ดีจะอยู่รอด ส่วนร้านที่ปรับตัวไม่ได้จะตายไป…

ที่จริงแล้ว การล้มหรือขาลงของธุรกิจหนังสืออาจไม่ต่างไปจากประเด็นถกเถียงในสังคมว่า ‘แอนะล็อกกับดิจิทัลอย่างไหนดีกว่ากัน?’ โดยเฉพาะการเปรียบเทียบแผ่นเสียงกับซีดีหรือไฟล์เพลง เพียงแต่วงการหนังสือมีพัฒนาการที่ช้ากว่ามาก ย้อนเวลากลับไปก่อนการปิดตัวของ Borders แท็บเล็ตคินเดิล (Kindle) สำหรับอ่านหนังสือโดยเว็บไซต์อเมซอนเพิ่งจะวางตลาดในปี 2007 หลังจากนั้น การแข่งขันและเปรียบเทียบอีบุ๊กกับหนังสือเล่มก็ตามมา หลายบทความต่างสนับสนุนอีบุ๊กเนื่องจากเป็นทางเลือกที่ดีของนักเขียนในการเข้าถึงผู้อ่าน โดยที่นักเขียนไม่ต้องถูกบวกเปอร์เซ็นต์มากเท่ากับการพิมพ์กับสำนักพิมพ์ ทั้งยังทำให้ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อการอ่านลดลงอีกด้วย ในส่วนของการผลิตก็สามารถช่วยลดต้นทุนในการพิมพ์และจัดส่งไปได้อย่างมาก ฟากฝั่งอังกฤษเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง ในปี 2013 แม้ว่ายอดขายหนังสือเล่มจะยังคงตัว แต่ยอดขายอีบุ๊กกลับเพิ่มสูงถึง 134 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลจากสมาคมสิ่งพิมพ์อังกฤษ) ซึ่งเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดอีบุ๊กในต่างประเทศ คำถามที่ตามมาคือ นี่เป็นจุดจบของหนังสือเล่มแล้วหรือไม่? ส่วนคำตอบนั้นมีอยู่แล้วที่พารากราฟแรกของบทความนี้ คำตอบที่คนรักหนังสือรู้ดีแก่ใจ…

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นภาพย่อที่สะท้อนภาพใหญ่ของธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์โลกในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

ข้ามมามองที่ฝั่งของบ้านเรา ธุรกิจหนังสือช่างเต็มไปด้วยความลักลั่น แม้ว่าอีบุ๊กจะไม่ได้มีผลกับวงการหนังสือเฉกเช่นในต่างประเทศเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังพอใจกับการซื้อหนังสือเล่มมากกว่า แต่คนไทยอ่านหนังสือกันเยอะขึ้น (ความหมายตามตัวอักษร/literally ‘อ่านตัวหนังสือ’) ผ่านสื่อออนไลน์** ซึ่งทำให้รูปแบบในการเสพเนื้อหาและการอ่านเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เมื่อผนวกกับภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจของบ้านเราเอง การหยิบจับซื้อหาหนังสือเป็นเล่มๆ ก็ลดลงทันตาเห็น ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ ยอดขายช่วงเดือนตุลาคมในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2559 ตกลงกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ (ยังไม่นับนิตยสารที่ปิดตัวไปหลายหัวและขาดทุนอีกหลายเจ้า)*** และแม้ว่างานสัปดาห์หนังสือฯ จะเป็นช่วงเวลา 2 ครั้งต่อปีที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่มองในด้านกลับงานสัปดาห์หนังสือก็จำกัดการซื้อหนังสือไว้ที่ราว 2 ครั้งต่อปี ซึ่งทำให้ตลาดหนังสือในช่วงเวลาอื่นซบเซาไปตามๆ กัน ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ก็คือบรรดาร้านหนังสืออิสระทั้งหลายนั่นเอง****

ร้านหนังสืออิสระบ้านเรามีภาระที่ต้องแบกรับมากมาย เช่นว่าได้รับส่วนแบ่งในการขายเพียง 25 เปอร์เซ็นต์จากราคาบนปก (โดยไม่เคยมีการปรับเรตราคานี้มาหลายปีแล้ว) หรือมิฉะนั้นก็ต้องซื้อขาดโดยแบกภาระค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง หากขายไม่ได้เงินก็จะจมอยู่อย่างนั้น ในขณะที่ถ้าเป็นร้านหนังสือเชนสโตร์บางแห่งซึ่งผลิตและเป็นสายส่งเองก็สามารถจะเพิ่มส่วนแบ่งในการขายได้สูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์***** เมื่อเทียบกันแล้ว การลดราคาสำหรับร้านหนังสืออิสระจึงเป็นเรื่องใหญ่กว่ามาก ..นี่ยังไม่นับรวมค่าที่และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องครอบคลุมอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในภาพรวมของวงการสิ่งพิมพ์อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสียทีเดียว อย่างน้อยสำนักพิมพ์ก็จะได้มีช่องทางใหม่ๆ ในการขาย ผู้อ่านเองก็มีทางเลือกมากขึ้น ส่วนร้านหนังสืออิสระที่เกิดจากความรักและทุนทรัพย์ส่วนตัวของเจ้าของร้านนั้น แม้จะยากสักหน่อยแต่ก็ไม่ใช่ไม่มีทางออก…

กลับมามองที่ Bookstore Style ซึ่งให้ภาพเสน่ห์ของร้านหนังสือจากหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาและจุดยืนของร้านซึ่งสัมพันธ์กับภาพลักษณ์ที่ชัดเจน (อันเป็นส่วนสำคัญในการขาย) ร้านหนังสือในฐานะตัวแทนของวัฒนธรรม ณ ที่หนึ่งๆ การปรับตัวเคลื่อนไปกับยุคสมัยอย่างการมีหน้าร้านออนไลน์หรือการคัดสรรหนังสือที่อาจช่วยยกระดับผู้อ่าน และที่สำคัญอีกประการคือ การสร้างประสบการณ์การซื้อที่แตกต่างให้กับผู้บริโภค เช่น การมีพนักงานขายที่มีความรู้และรักในหนังสืออย่างแท้จริง (มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง) หรือการที่ร้านหนังสือมีปฏิสัมพันธ์และหยั่งรากอย่างเหนียวแน่นกับผู้คนและชุมชนที่ตั้งอยู่ผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการใช้พื้นที่ร้านอย่างหลากหลาย เช่น การมีคาเฟ่ในร้าน เป็นต้น

เสน่ห์ของร้านหนังสือจึงผูกโยงอยู่กับความพยายามในการหาจุดยืนหรือที่ทาง ซึ่งเป็นทางเลือกในแบบฉบับของตัวเอง อันเป็นส่วนที่ทำให้ร้านหนังสืออิสระแตกต่างจากร้านเชนสโตร์และอยู่รอดได้ ความมีชีวิตจิตใจของร้านนอกจากจะเป็นเสน่ห์แล้ว ยังสะท้อนความตั้งใจซึ่งนำมาสู่อัตลักษณ์ที่เข้มแข็งในประเทศที่ไม่ได้มีการอ่านเป็นวัฒนธรรมและภาครัฐแทบไม่เคยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างบ้านเรา ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับร้านหนังสืออิสระอาจจะเป็นเช่นที่คุณหนุ่มมองว่า แต่ละร้านจะต้องชัดเจนในแนวทางของตัวเองก่อน

“ถ้าร้านหนังสือแต่ละร้านมีเรื่องราวของตัวเอง… เมื่อเทียบกับวันในฤดูร้อนแล้ว ร้านไหนกันที่ให้ความรู้สึกเหมือนวันที่ได้กลิ่นหอมกรุ่นของกุหลาบ และหากร้านหนังสือเป็นเหมือนคนปลูกผัก แปลงไหนกันที่คนปลูกรู้จักหัวหอมที่ตัวเองปลูกอย่างถ่องแท้”

คุณหนุ่มทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าตีความอุปมาจาก ‘โจ’ เจ้าของร้าน Unity Books นี้ออกเมื่อไหร่ การเป็นเมืองหนังสือโลกของเราจึงจะใกล้ความเป็นจริง

Recommended: สำหรับคนรักหนังสือแล้วจะมีอะไรดีไปกว่าหนังสือที่เกี่ยวกับหนังสือ และเขียนโดยคนขายหนังสือได้อีก? จากประสบการณ์ที่เคี่ยวกรำบนเส้นทางหนังสือ (ในเกือบทุกๆ ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของร้าน นักอ่าน หรือนักเขียน) การันตีด้วยชื่อ ‘หนุ่ม หนังสือเดินทาง’ เราจะได้พบกับสำนวนภาษาที่ละเมียดละไมลื่นไหล รวมถึงข้อคิดเห็นอันละเอียดลออ ช่างสังเกตสังกาผ่านสายตาที่มองธุรกิจนี้อย่างเข้าใจจากพี่หนุ่ม สำหรับเราหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือฟีลกู๊ด เพราะอ่านแล้วให้แรงบันดาลใจ และรู้สึกดีทุกครั้งที่เปิดอ่าน หักคะแนนในจุดของความส่วนตัว (น้อยคนน่าจะอินกับหนังสือเล่มนี้) และเลย์เอาต์หนังสือซึ่งแปลกๆ ไปบ้าง เช่นว่าวางตัวอักษรในกรอบทับรูปภาพอีกทีหนึ่ง หรือ selection รูปที่ดูประหลาดๆ ซึ่งคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะมีความสำคัญกับหนังสือสารคดีท่องเที่ยวพอสมควร

หวังว่ารีวิวนี้จะช่วยให้ผู้อ่านสนุกกับการอ่าน Bookstore Style มากขึ้น และเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้ดีอย่างไร

อ้างอิง:

*https://www.bloomberg.com/news/articles/2011-11-10/the-end-of-borders-and-the-future-of-books

**http://www.thaihealth.or.th/Content/31159-%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%20%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A5.html

***http://thaipublica.org/2016/01/print-1/

****ประเด็นเพิ่มเติมในที่นี้ คือการจำกัดเนื้อหาของหนังสือไว้ที่การพิมพ์เฉพาะหนังสือที่ขายดีในงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการที่รัฐควรมีมาตรการในการจัดการหรือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้สำนักพิมพ์เล็กๆ และหนังสือที่มีคุณภาพอยู่ได้ http://thaipublica.org/2016/02/print-6/ อ่านบทวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ใน http://pokpong.org/writing/thai-book-business/

*****ข้อมูลตรงกันทั้งใน Bookstore Style และ จากบทสัมภาษณ์ทีม Readery กับเจ้าของร้านสุนทรภู่ ใน http://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9590000066012

Tags: ,