ความสนใจที่หลากหลาย ทำให้คนเรามีทางเลือกที่มากขึ้น
เสียงน้องผู้หญิงคนหนึ่งดังขึ้น “คุณป้าคะ…” จะมีคุณป้าคนไหนอีกในสถานที่แห่งนี้นอกจากฉัน เมื่อหันไป จึงแลเห็นใบหน้าใสกิ๊งที่มองตรงมา นั่นทำให้อารมณ์ระอุเล็ก ๆ จากคำว่าคุณป้าเย็นลง…. ก็ปูนนี้แล้วนี่นะ จะให้สาวน้อยหน้าใสที่เพิ่งจะหัดเดินทางแบบแบ็คแพค เรียกพี่ก็กระไรอยู่ “วันนี้คุณป้าไปไหนมาคะ”
เป็นคำถามที่กระตุ้นความอยากเล่าได้ดีเชียว
“พิพิธภัณฑ์พุชกินค่ะ” ฉันตอบไป
ห้องแสดงงานจำลองศิลปะยุคอิตาลีโบราณ
ใบหน้าใสขมวดคิ้วเล็กน้อย คงเป็นชื่อที่ไม่เคยคุ้น ฉันจึงขยายความให้ว่าพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงงานศิลปะด้านต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ กับที่พักของเรานี่เอง แค่เดินโผล่ออกจากที่พัก เลี้ยวซ้าย แล้วก้าวเดินต่อไปอีกนิดเดียวไม่เกิน 500 เมตรก็เจอแล้ว เรากำลังจะใส่สีตีไข่คุณงามความดีของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อยุยงให้เข้าไปเยี่ยมชม ก็เจอเข้ากับประโยคถัดมาเสียก่อน
“พิพิธภัณฑ์ศิลปะเหรอคะ” ว่าแล้วสาวน้อยก็ถามต่อมาอย่างจริงใจ “พิพิธภัณฑ์แบบนี้เขาไปดูอะไรกันคะ..หนูไม่รู้จริงๆ”
นั่นสิ…เลยยังไม่ตอบทันที ลองถามย้อนกลับไปบ้าง ในเมื่อน้องอยู่เที่ยวที่นี่ตั้งหลายวัน ถ้าไม่เข้าพิพิธภัณฑ์ แล้วไปไหนกัน
“หนูเน้นดูบ้านเมืองค่ะ หาของกิน เดินดูโน่นนี่ แค่นี้ก็เพลินแล้ว”
คนเราแต่ละคน… มีความชอบพอ และความสนใจที่ต่างกันจริง ๆ หากความสนใจที่หลากหลาย จะช่วยให้เรามีทางเลือกในการเที่ยวมากขึ้น (เชื่อฉันสิ)
ห้องแสดงงานจำลองศิลปะอิตาลีช่วงศตวรรษที่ 15
การเข้าพิพิธภัณฑ์ เป็นความชอบพออย่างหนึ่งของฉัน เป็นโอกาสที่จะได้เห็นผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ถูกเลือกเฟ้นอย่างดีมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะด้านต่าง ๆ หรือจะพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ สนุกกับการได้เห็นภาพวาด งานปั้น ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละอารยธรรม และถ้าผ่านพิพิธภัณฑ์มาหลายแห่ง หลายต่อหลายครั้งจะได้เห็นความละม้ายอันน่าอัศจรรย์ของสิ่งที่นำมาแสดงไม่ว่าจะรูปลักษณ์ หรือแนวคิด ทั้งที่เจ้าของผลงานหรือเจ้าของอารยธรรม อยู่ห่างไกลกันคนละซีกโลก และบางครั้งก็ห่างไกลกันคนละช่วงเวลาด้วยซ้ำ
ก่อนหน้าที่ฉันจะเดินทางมายังเมืองมอสโกไม่ได้รู้สึกสนใจที่จะเข้าไปชมงานในพิพิธภัณฑ์พุชกิน (Pushkin Museum of Fine Arts) สักเท่าไร เพราะเมื่อเทียบชื่อชั้นของสถานที่แห่งนี้กับพระราชวัง และมหาวิหารอื่นของตัวเมืองแล้ว สถานที่แห่งนี้ถูกกล่าวถึงน้อยมาก
ท่าวที่พักในตัวเมืองมอสโกก็ช่างเป็นใจ ใกล้ชิดกับพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเสียขนาดนั้น เช้าก็เห็น เย็นก็เห็น จะไม่แวะเข้าไปดูสักหน่อยก็กระไรอยู่
รูปปั้นเดวิดจำลอง
ด้านนอกพิพิธภัณฑ์พุชกิน เป็นอาคารขนาดใหญ่ประดับด้วยแนวเสาจำนวนมากที่หัวเสาทั้งหมดเป็นแบบโยนิก ให้บรรยากาศที่เคร่งขรึม เมื่อก้าวเข้าไปด้านใน พื้นที่รองรับส่วนกลางนั้นโปร่งโล่ง ออกแบบให้ผู้เข้าชมเลือกได้ว่าจะเริ่มชมงานจากห้องแสดงทางด้านซ้าย ด้านขวา หรือด้านหน้า เป็นการช่วยกระจายจำนวนคน ลดความแออัดได้เป็นอย่างดี
เราไม่มีแผนการเดินชมพิพิธภัณฑ์ คือเดินดูไปเรื่อยๆ หากสงสัยอะไรก็ค่อยหาข้อมูลในเอกสารที่ได้มา ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจเป็นระยะ เริ่มจากลานกว้างแรกของอาคารชั้นล่างที่จู่ ๆ ก็เจอกับเดวิด ประติมากรรมชิ้นเอกที่เป็นผลงานของมิเกลันเจโล (Michelangelo) ยืนต้อนรับตรงเชิงบันไดเสียอย่างนั้น
นี่ไม่ใช่รูปปั้นเดวิดของจริง เพราะของจริงนั้นแสดงอยู่ที่ อักกาเดเมีย แกลอรี (Accademia Gallery) ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี นั่นทำให้ต้องอ่านข้อมูลในเอกสารที่ได้รับมาตั้งแต่ตอนซื้อตั๋วเข้าชม ทำให้รู้ว่าลานนี้มีชื่อว่า อิตาเลียน คอร์ทยาร์ด (Italian Courtyard) ซึ่งจำลองบรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบาร์เจลโล (Bargello National Museum) เมืองฟลอเรนซ์ ภายในลานเต็มไปด้วยงานจำลองปูนปลาสเตอร์ของประติมากรชั้นเอกของโลกชาวอิตาลีในยุคเรอเนสซองค์ น่าสนใจตรงมีประติมากรรมเดวิดวางแสดงในที่เดียวให้เห็นถึง 3 เวอร์ชัน นั่นคือเวอร์ชันของมิเกลันเจโล โดนาเตลโล (Donnatello) และ แวร์รอกกีโอ (Verrochio)
รูปปั้นจำลองปิเอตา ปัจจุบันวางแสดงที่วิหารวาติกัน
งานจำลองศิลปะชิ้นเอกของโลกที่แสดงภายในพิพิธภัฑณ์พุชกิน ไม่ได้มีแค่งานศิลปะอิตาลียุคเรอเนสซองค์ หากยังมีงานจำลองในยุคกรีก โรมันโบราณ อิตาลีโบราณ ยุโรปยุคกลาง และที่นี่ดูจะให้ความสำคัญกับงานของมิเกลันเจโลเป็นพิเศษ ถึงขั้นมีห้องจัดแสดงผลงานของศิลปินท่านนี้โดยเฉพาะ
เหตุไฉนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จึงมีการวางแสดงงานจำลองศิลปะชิ้นเยี่ยมของโลกจำนวนมาก?
จากซ้ายไปขวา: รูปปั้นจำลองบาคคัส (Bacchus), รูปปั้นจำลองบรูตุส (Brutus) และรูปปั้นจำลองทาสใกล้ตาย
หากย้อนดูประวัติพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่แปลกใจ เพราะวัตถุประสงค์เดิมนั้นเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนทางด้านศิลปะ จึงมีการสั่งทำแบบจำลองศิลปะชิ้นเอกจากทั่วโลกด้วยปูนปลาสเตอร์เป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาวางแสดงให้ศิลปิน และนักศึกษาด้านศิลปะได้เรียนรู้ ซึ่งทั้งหมดเป็นงานแบบจำลองเกรดเอ ที่มีรายละเอียดสัดส่วนและขนาดเท่ากับงานต้นฉบับของจริงเป๊ะ ๆ
ห้องแสดงงานประติมากรรมจำลองของมิเกลันเจโล เป็นห้องที่ฉันใช้เวลานานเป็นพิเศษ เพราะก่อนหน้านี้มีโอกาสได้เห็นผลงานต้นฉบับอยู่หลายชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นกระจัดกระจายวางแสดงอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ทั้งในอิตาลี และนอกอิตาลี ฉะนั้นใครที่เป็นแฟนพันธ์แท้ของมิเกลันเจโล หากต้องการได้เห็นผลงานของเขาให้ครบถ้วน ควรมาพุชกิน แม้ว่างานจำลองเหล่านี้จะให้อารมณ์และความรู้สึกไม่เท่ากับงานต้นฉบับของจริงก็ตาม
งานโบราณวัตถุ กรีกและโรมันโบราณ
นอกเหนือจากงานจำลองเหล่านี้แล้ว พิพิธภัณฑ์พุชกินยังจัดแสดงงานโบราณวัตถุของอารยธรรมโบราณที่สำคัญของโลก อย่างอียิปต์ กรีก และโรมัน โดยเฉพาะโบราณวัตถุจากอียิปต์ มีมากกว่า 6,000 ชิ้น แม้จะไม่มากเท่าที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ แต่ก็ไม่น้อยเลยทีเดียว มีทั้งโลงศพที่ทำจากไม้ ทำจากหิน ภาชนะดินเผา และเครื่องประดับต่าง ๆ ซึ่งบางชิ้นออกแบบได้เก๋ไก๋ กลมกลืนราวกับเป็นงานในยุคนี้
ภาพ Scipio Africanus Accepting the surrender of King Syphax
ภาพงานจิตรกรรมที่แสดงภายในพิพิธภัณฑ์พุชกินก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน มีทั้งงานของศิลปินแนวหน้าชาวเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี ทั้งยังมีห้องจัดแสดงงานของแรมบรันต์ (Rembrandt) ซึ่งเป็นศิลปินชื่อดังชาวเนเธอร์แลนด์และลูกศิษย์ โดยเฉพาะ แต่กลายเป็นว่าหลังจากที่เดินชมจนทั่วถ้วน ฉันกลับชอบงานภาพวาดในยุคไบเซนไทน์ และอิตาลีช่วงศตวรรษที่ 13 – 16 เป็นพิเศษเพราะถูกใจกับภาพสีสด ที่เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา ประสมกับกรอบรูปที่ดูจะวิจิตรสวยงามเป็นพิเศษกว่ายุคอื่น
นอกจากนี้ยังมีการจัดงานนิทรรศการหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ช่วงที่ฉันเข้าไปชมงานเป็นช่วงที่ทางพิพิธภัณฑ์กำลังจัดแสดงงานภาพวาดของศิลปินเนเธอร์แลนด์ ยุคศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคทองทางศิลปะของเนเธอร์แลนด์อยู่พอดี มีจิตรกรชื่อดังที่เป็นที่รู้จักกันดีหลายคน แต่ที่โดดเด่นที่สุดคงเป็นแรมบรันด์และเฟอร์เมร์ (Vermeer) จึงเป็นความบังเอิญประสมความโชคดี ที่เดินอยู่ใจกลางเมืองมอสโกแท้ ๆ แต่ได้ยลงานศิลปะยุคสำคัญของเนเธอร์แลนด์จากคอลเลคชั่นงานสะสมส่วนตัวที่เจ้าของเก็บสะสมงานยุคนี้ไว้มากที่สุด โดยเฉพาะงานของแรมบันต์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้เทคนิคแสงและเงา
นิทรรศการหมุนเวียน
ด้วยเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงภายในพิพิธภัณฑ์พุชกิน สำหรับฉันจึงเสมือนได้เดินทางท่องโลกกระโดดไป กระโดดมา จากสถานที่หนึ่งไปสู่อีกสถานที่หนึ่งอย่างสนุกสนาน แถมยังได้นั่ง Time Machine ย้อนกลับคืนสู่อดีตอีกด้วย
และนั่นเป็นคำตอบที่ฉันให้กับสาวน้อยหน้าใสที่เจอะเจอกันที่โฮสเทลว่าคุณป้าเข้าไปดูอะไรในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ
Tags: รัสเซีย, มอสโก, พุชกิน, Pushkin Museum