“ในอเมริกา คุณดูโทรทัศน์ ในโซเวียตรัสเซีย โทรทัศน์ดูคุณ”

ผมเคยได้ยินมุกตลกนี้มานานพอสมควร มุกเสียดสีอารมณ์ขันร้ายกาจที่แสดงถึงโลกอันกลับตาลปัตรในสังคมเผด็จการ รัฐที่คอยสอดส่อง ควบคุม คุกคามประชาชนในทุกมิติ โลกที่เต็มไปด้วยเครื่องดักฟังและการจดจ้องจับผิดจากผู้มีอำนาจ ประชาชนกลายเป็นมือตีนของรัฐที่คอยสอดส่องกันเอง โลกที่เสียงของประชาชนไม่เคยถูกรับฟัง มีแต่ถูกดักฟัง 

นวนิยายเรื่อง เริงโลกีย์ที่ปราก ของ ฟิลิป รอธ (Philip Roth) นักเขียนอเมริกันนามอุโฆษผู้ล่วงลับ พาเราย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1976 ยุคที่โลกสังคมนิยมยังเรืองอำนาจ และกรุงปรากแห่งประเทศเชโกสโลวาเกีย (หรือสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน) ตกอยู่ใต้การยึดครองของโซเวียตรัสเซีย เผด็จการสังคมนิยมที่ควบคุมนครแห่งนี้ไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

เรื่องเริ่มต้นขึ้นที่นิวยอร์ก เมื่อซีซอฟสกี นักเขียนหนุ่มตกอับผู้ลี้ภัยจากเชโกสโลวาเกียมาอยู่ที่อเมริกา เดินทางมาพบกับซุกเคอร์แมน นักเขียนอเมริกันเชื้อสายยิวผู้โด่งดัง ซีซอฟสกีเล่าให้ซุกเคอร์แมนฟังถึงชะตากรรมของตัวเองในประเทศบ้านเกิด บรรยากาศการข่มขู่คุกคาม สภาพสิ้นไร้ไม้ตอกของเหล่าศิลปิน-นักเขียนที่พยายามจะขัดขืนต่อผู้มีอำนาจ ยูโทเปียของการเสพสังวาสอันสุดเหวี่ยง และต้นฉบับงานเขียนชั้นยอดของบิดาของซีซอฟสกี ที่บัดนี้ตกอยู่ในมือของโอลกา อดีตภรรยาของซีซอฟสกี ผู้เกลียดชังและสาปส่งสามีเก่าที่ทอดทิ้งเธอไว้หลังม่านเหล็กและหนีมาเสวยสุขกับสาวคนใหม่ที่อเมริกา 

ซีซอฟสกีขอร้องให้ซุกเคอร์แมนเดินทางไปพบกับโอลกาที่กรุงปราก ให้เขาหาทางหว่านล้อมให้เธอมอบต้นฉบับมาให้ได้ ก่อนที่งานเขียนชั้นยอดเหล่านั้นจะหายสาบสูญไปตลอดกาลจากผู้มีอำนาจที่จ้องจะทำลายมัน เมื่อซุกเคอร์แมนเดินทางไปถึงกรุงปราก ได้สัมผัสกับสภาพบ้านเมือง ความคิดจิตใจ และเรื่องเล่าจากปากคำของผู้คนที่ตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการ สภาพความเป็นจริงที่เห็นกับตาตัวเองเหล่านั้นจึงย้อนกลับมาท้าทายความเชื่อ ความเข้าใจ และมุมมองของนักเขียนจากประเทศโลกเสรีที่เคยวาดภาพความเป็นจริงเหล่านี้ไว้อีกแบบหนึ่ง

นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นในลักษณะของบันทึก เป็นบันทึกของซุกเคอร์แมน มีการลงวันที่และสถานที่กำกับไว้ตามลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างปั่นป่วน ชวนหัว สับสนอลหม่าน และการแสดงอารมณ์อย่างล้นเกินของตัวละคร อาจกล่าวได้ว่าตัวละครอื่นๆ ทั้งหมดยกเว้นซุกเคอร์แมน กำลังแสดงบทบาทเหมือนนักแสดงบนละครเวทีที่แผดเสียงเซ็งแซ่ใส่กันและรับส่งบทกันอย่างออกรส โดยมีซุกเคอร์แมน (และเราคนอ่าน) เป็นผู้ชมมหรสพอันแสนครื้นเครงและล้นเกินนี้ 

สำหรับผม เสียงเซ็งแซ่ของตัวละครอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้คนของประเทศเผด็จการทั้งสิ้นนั้น ช่วยเปิดทางให้เราสังเกตเห็น ‘ความเงียบ’ อันแสนจะอื้ออึง (และน่าสงสัย ?) ของซุกเคอร์แมนได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนวางซุกเคอร์แมนให้อยู่สถานะของผู้สังเกตการณ์อย่างเงียบเชียบที่แทบจะไม่มีส่วนร่วมอะไรเลยกับตัวละครเหล่านั้น ไม่ว่านายคนนี้จะไปที่ไหน ทำอะไร หรือคุยกับใคร ก็ล้วนทำตัวเป็นเหมือนไม้ประดับที่ถอยห่างออกมาจากผู้คนและเหตุการณ์เหล่านั้นเสมอ หรือถ้าจะมีบทพูดหรือบทบรรยายความรู้สึกของนายคนนี้ผุดโผล่ขึ้นมาในช่วงใด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการพูดถึงแต่เรื่องของตัวเองอยู่เสมอ

ด้วยอาการสงบปากสงบคำและการสงวนท่าทีของซุกเคอร์แมน เมื่อมองเทียบกับตัวละครอื่นๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นตัวละครที่ดู ‘ปกติ’ ที่สุดในเรื่อง ความปกติที่ว่านี้สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกกับสถานะความเป็น ‘คนนอก’ ของเขา ทั้งความเป็นคนนอกในความหมายที่เขาเลือกจะวางสถานะของตัวเองไว้แบบนั้น ความเป็นคนนอกในความหมายของการเป็นแต่เพียงคนที่ผ่านมาชั่วคราว ไม่ได้ร่วมอยู่ในสถานะและชะตากรรมเดียวกับผู้คนในประเทศเผด็จการ การรักษาความปกติดังกล่าวไว้จึงคล้ายกับเป็นการส่งสารว่าไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งและไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของโลกเผด็จการอันกลับตาลปัตรและบิดเบี้ยวนี้ ซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนได้เน้นย้ำกับเราอยู่หลายครั้งว่า ซุกเคอร์แมนเข้าออกในประเทศนี้ได้อย่างเสรีก็ด้วยเอกสิทธิ์ของความเป็นนักเขียนอเมริกันที่คอยคุ้มครองอยู่

แม้นิยายเรื่องนี้จะเขียนถึงสังคมเผด็จการ การข่มขู่คุกคาม และการเซ็นเซอร์ตัวเองของประชาชน แต่ผมคิดว่าความโดดเด่นของมันไม่ได้อยู่ที่การวิพากษ์สภาวะเหล่านั้นโดยตรง หากแต่อยู่ที่การวิพากษ์มุมมองที่มีต่อสังคมเผด็จการนั้นต่างหาก 

สิ่งที่นักเขียนลี้ภัยอย่างซีซอฟสกีกระทำต่อนักเขียนอเมริกันอย่างซุกเคอร์แมนคือ การสร้างความ Exotic ของโลกเผด็จการขึ้นมายั่วเย้า หลอกล่อ และปั่นหัวด้วยเรื่องเล่าที่สอดคล้องกับมายาคติบางอย่างที่ประเทศโลกเสรีมีต่อประเทศเผด็จการ ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังของการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นมาจากความสาแก่ใจล้วน ๆ เพียงอย่างเดียว หรือเป็นอุบายที่ต้องการอาศัยสถานะความเป็นนักเขียนอเมริกันชื่อดังของซุกเคอร์แมนมาเป็นกระบอกเสียงเพื่อบอกเล่าถึงชะตากรรมของผู้คนในประเทศเผด็จการบ้านเกิดตนก็ตาม

เมื่อไปถึงกรุงปราก ซุกเคอร์แมนได้พบกับโอลกา อดีตภรรยาของซีซอฟสกี ณ คฤหาสน์หรูหราของผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง อันเป็นเสมือนดินแดนโลกเลื่อนลอยที่เหล่าศิลปินและนักเขียนมารวมตัวกันทุกค่ำคืน เป็นยูโทเปียของการเสพสังวาสสุดเหวี่ยง อันเป็นเสรีภาพเพียงไม่กี่อย่างที่หลงเหลืออยู่ หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกก็คือ เป็นเสรีภาพเพียงอย่างเดียวที่ ‘ได้รับอนุญาต’ ให้หลงเหลืออยู่ในประเทศที่เสรีภาพในการคิดและเขียนถูกควบคุมไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

ศิลปินและนักเขียนที่มารวมตัวกันเสพสมสโมสร ณ คฤหาสน์แห่งนี้ต่างรู้ดีว่า แม้พวกตนจะได้รับอนุญาตให้มีเสรีภาพในการเย็ด แต่ทุกซอกทุกมุมของห้องต่างๆ ก็มีเครื่องดักฟังของทางการติดไว้อยู่เสมอ นั่นก็หมายความว่า เสรีภาพที่ได้รับอนุญาตให้มีได้นี้ จึงไม่ใช่เสรีภาพจริง ๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการควบคุมสอดส่องจากทางการที่เสมือนเป็นอุบายกวาดต้อนให้ศิลปินและนักเขียนเหล่านี้มารวมตัวกันเพื่อจะได้รู้ว่าคนพวกนี้คิดอ่านอะไรกันอยู่

ความแหลมคมของประเด็นนี้คือการชี้ให้เห็นว่า เสรีภาพในเรื่องเซ็กซ์ดำรงอยู่แค่ในสถานะสัญลักษณ์ของเสรีภาพเท่านั้น หาใช่เสรีภาพโดยสารัตถะของตัวมันเอง กลไกการควบคุมของรัฐเผด็จการคือการพรากเสรีภาพในเชิงสารัตถะไป เหลือไว้เพียงเสรีภาพในเชิงสัญลักษณ์ ให้พอใจกับเสรีภาพในเชิงสัญลักษณ์ และอ้างว่านั่นคือเสรีภาพอย่างเดียวที่เป็นไปได้ ในขณะที่เสรีภาพในเชิงสารัตถะถูกพรากออกไปทีละน้อย 

ดังนั้นแล้ว การจะประเมินว่ามีเสรีภาพมากน้อยเพียงใด จึงไม่ได้พิจารณาจากสิ่งที่ได้รับอนุญาตให้กระทำ เพราะรัฐเผด็จการก็ย่อมอ้างสิ่งที่ได้รับอนุญาตให้กระทำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองอยู่แล้ว แต่ต้องพิจารณาจากสิ่งใดบ้างที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำต่างหาก

(เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ผมพลันนึกถึงคำพูดของผู้คนบางจำพวกที่ชอบแก้ต่างให้รัฐเผด็จการว่า “เผด็จการตรงไหน ? คุณก็ยังทำมาหากินได้ ไปกินไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครห้าม ไม่เห็นว่าจะมีเผด็จการตรงไหน” ถ้าเช่นนั้นก็ลองทำสิ่งที่พวกเขาห้ามดูสิ ลองไปยืนชูสามนิ้วหน้าทำเนียบรัฐบาลดูสิ)

หากมองในอีกแง่หนึ่ง การที่รัฐเผด็จการอนุญาตให้มีพื้นที่เพื่อให้เหล่านักเขียนและศิลปินเสพสมสโมสรกันได้อย่างเสรีนั้น ความหมายด้านกลับของมันคือ การลดทอนความหมายของเสรีภาพให้หดแคบลง (เหลือแค่เรื่องเซ็กซ์) เพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเห็นว่า ถ้ามีเสรีภาพแล้วทำตัวฟอนเฟะมั่วเซ็กซ์กันแบบนี้ ก็อย่าไปมีมันเลยเสรีภาพ ดูชนชั้น ‘กินแรง’ น่าขยะแขยงพวกนี้สิ เสพสุขอยู่บนการใช้แรงงานอันเหนื่อยยากของเหล่ากรรมาชน! คนพวกนี้หรือที่เราจะให้อนุญาตให้พวกมันคิดและเขียนอะไรออกมาได้อย่างเสรี!! พวกศัตรูของประชาชน!!! 

ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีเหตุการณ์ตอนไหนที่บ่งชี้ว่าซุกเคอร์แมนปรารถนาในตัวโอลกาเลยแม้แต่น้อย (แม้โอลกาจะคอยรบเร้าอยู่ตลอดเวลาว่า “เย็ดฉันสิ ๆ เมื่อไหร่คุณจะเย็ดฉัน” ก็ตาม) การเดินทางมากรุงปรากของซุกเคอร์แมนอาจไม่ได้มีแรงจูงใจทางเพศมากเท่ากับที่แค่ต้องการมาเสพภาพความ exotic อันเร้าตาตื่นใจในโลกอันกลับตาลปัตรของสังคมเผด็จการเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อพบว่าความ ‘ง่าย’ ของโอลกาเป็นอะไรบางอย่างที่เรียกร้องมากกว่าการมีเซ็กซ์กันแล้วจบ เอกสิทธิ์ความเป็นนักเขียนอเมริกันที่ซุกเคอร์แมนถือครองอยู่ ใช้จ่ายได้แค่เพียงการมีเซ็กซ์แบบไร้พันธะเท่านั้น 

จุดที่แสบที่สุดของนิยายเรื่องนี้ก็คือ เมื่อซุกเคอร์แมนได้รู้ความจริง (อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ?) จากโอลกาว่า เรื่องที่ซีซอฟสกีเล่าให้ซุกเคอร์แมนฟังว่าพ่อของเขาเป็นยิวที่ถูกนาซียิงตายอย่างน่าสะเทือนใจนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงเรื่องที่กุขึ้นมา ในประเด็นนี้หากกล่าวตามสำนวนของมิลาน คุนเดอรา ก็ต้องบอกว่า ซุกเคอร์แมนตกหลุมพรางของ ‘รสนิยมสาธารณ์’ (Kitsch) เข้าอย่างจัง 

รสนิยมสาธารณ์อยู่ในเรื่องเล่าสำเร็จรูปและภาพพจน์อันดาษดื่นที่มุ่งสร้างความซาบซึ้ง สะเทือนใจ ความรู้สึกโอ่อ่ายิ่งใหญ่ที่ทำให้จิตวิญญาณบวมโตจากการได้เสพมันเข้าไป ทั้งเรื่องของพ่อชาวยิวที่ถูกยิงตายอย่างน่าสะเทือนใจ ต้นฉบับงานเขียนอันยิ่งใหญ่ของนักเขียนผู้จากไปก่อนกาล ความรู้สึกว่าได้ปกป้องต้นฉบับนั้นไว้จากเงื้อมมือของเผด็จการ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนคือองค์ประกอบของความเป็นรสนิยมสาธารณ์ทั้งสิ้น 

หากจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้ซุกเคอร์แมนเจ็บใจในเรื่องนี้ การรู้ว่าตัวเองถูกหลอกด้วยเรื่องเล่าที่กุขึ้นมานั้นคงไม่ทำให้เจ็บใจมากเท่ากับความรู้สึกที่ว่าตัวเองพร้อมจะเชื่อและกระโจนเข้าไปหามันอย่างไร้ข้อกังขา การเคลิ้มคล้อยไปกับเรื่องเล่าอันน่าสะเทือนใจนี้เองที่เป็นตัวการสมรู้ร่วมคิด ก่อนที่จะโดนสภาพความเป็นจริงในโลกเผด็จการตบหน้าฉาดใหญ่ ดังที่โอลกาพูดกับซุกเคอร์แมนในตอนหนึ่งว่า

“…คนพวกนี้ชอบบอกว่าพ่อโดนนาซีสังหารกันทั้งนั้นแหละ มาตอนนี้แม้แต่เด็กสาวอายุสิบหกปีก็รู้แล้วว่าเชื่อไม่ได้ มีแต่คนอย่างคุณเท่านั้นแหละ พวกยิวชาวอเมริกันโง่เง่า ปัญญาเบา อารมณ์หวั่นไหวง่าย ที่คิดว่าความทุกข์ทรมานมีข้อดี” (หน้า 60)

ไม่ว่าจะด้วยสภาพความเป็นสังคมปิดของสังคมเผด็จการที่ทำให้คนนอกไม่ค่อยรับรู้เรื่องราวความเป็นไปภายในนั้นมากนัก หรือการสร้างภาพแทนบางอย่างขึ้นมาจากมุมมองของคนนอกเพื่ออธิบายสิ่งที่มองเห็นได้เพียงบางส่วน ที่ทำให้ความจริงบางอย่างผิดเพี้ยนไป และถูกลดทอนความซับซ้อนของมันลงกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าประเภทเสพง่ายขายคล่องทั้งหลาย ผมคิดว่าการวิพากษ์สังคมเผด็จการ กับการวิพากษ์มุมมองที่เรามีต่อกัน เป็นสองสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

Fact Box

เริงโลกีย์ที่ปราก (The Prague Orgy)

Philip Roth เขียน

บัญชา สุวรรณนานนท์ แปล

สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์