คืนก่อนการเลือกตั้ง แอปพลิเคชันรายงานผลการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ที่รัฐบาลอาเซอร์ไบจานภูมิใจนำเสนอต่อประชาชนและสังคมโลก เร่ิมทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

มันรายงานผลผู้สมัครรายบุคคลของปีนั้นออกมาเสร็จสรรพ …ตั้งแต่คืนนั้นเลย

หมายความว่า รู้ผลตั้งแต่ยังไม่มีใครเดินไปเลือกตั้งแม้แต่คนเดียวด้วยซ้ำ!

ความลับนี้แตกเพราะว่า หลังจากรัฐบาลโฆษณาแอปพลิเคชัน ประชาชนมือซนบางคนลองเข้าไปดูเล่นๆ เพื่อทดสอบในคืนก่อนเลือกตั้ง ปรากฏว่าทางโน้นใจร้อนรีบอัปโหลดผลที่เตรียมเอาไว้ใส่ในระบบ

ก็อย่างที่คิดไว้ การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นเรื่องหลอกลวง คะแนนที่จะประกาศเป็นทางการนั้นคำนวณไว้หมดแล้ว เพื่อให้รัฐบาลรักษาอำนาจต่อภายใต้ระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ แบบไม่เขิน

แต่ดันมาเขินและกระอักกระอ่วน เพราะตอบคำถามไม่ได้ว่าแอปฯ นี้เดินทางข้ามเวลาได้อย่างไร

นี่เป็นหนึ่งในกรณีที่รัฐบาลเผด็จการใช้กลโกงการเลือกตั้งเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองภายใต้ผ้าคลุมประชาธิปไตยสวยหรู หนึ่งในอาภรณ์เข้าสมาคมในเวทีโลก

ยังมีเคสสนุกๆ อย่างการห้ามไม่ให้เครื่องบินของคู่ต่อสู้ทางการเมืองลงจอดในวันเลือกตั้ง (มาดากัสการ์) ประกาศผลการเลือกตั้งที่มีคะแนนมากกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ถึง 17 เท่า (ลิเบอเรีย) ลอบสังหารคู่แข่งที่ดูสูสี (ปากีสถาน) ฯลฯ

นิค ชีสแมน และไบรอัน คลาส สองอาจารย์มหาวิทยาลัยด้านประชาธิปไตยและการเมืองโลกในสหราชอาณาจักร เข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งหลายประเทศทั่วโลก สัมภาษณ์บุคคลสำคัญทั้งนักการเมือง คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งผู้สมรู้ร่วมคิดจำนวนนับร้อยคน ถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ How to Rig an Election (วิธีโกงการเลือกตั้ง) หนังสือชื่อ ‘ฮาวทู’ แสบๆ ที่ไม่ได้เอาไว้แนะนำเผด็จการ(ผู้คร่ำหวอดอยู่แล้ว) แต่เตือนไม่ให้เรามัวเมาไปกับหน้าฉากที่เห็นว่ามีการเลือกตั้งแล้วมั่นใจไปว่านี่คือประชาธิปไตย

ชีสแมนกับคลาส เปิดด้วยข้อมูลที่ว่า แม้ตอนนี้จำนวนประเทศที่มีการเลือกตั้งจะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ค่าเฉลี่ย ‘คุณภาพ’ ของการเลือกตั้งที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยทั่วโลกนั้นกลับลดลงจนน่าใจหาย

ทั้งสองพยายามเน้นว่า นี่ไม่ใช่การแบ่งแยกว่าเป็นการเลือกตั้งที่เกิดในทวีปใด แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป มีแนวโน้มคุกคามกระทั่งการเลือกตั้งภายในสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป และน่าเป็นห่วง สำหรับนักรัฐศาสตร์ที่เคยฝันหวานว่าประชาธิปไตยจะกลายเป็นระบอบที่ครอบคลุมนานารัฐประเทศทั่วโลก เพราะดูเหมือนนั่นจะเป็นแค่ฉากหน้าของเรื่องทั้งหมด

หนังสือแบ่งบทต่างๆ สำรวจการโกงเลือกตั้งแต่ละแบบ ได้แก่ 1. เจอรี่แมนเดอริ่ง หรือการขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งประหลาดๆ เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ 2. การซื้อเสียง วิธีที่ใช้งบประมาณสูงแต่ไม่ค่อยการันตีผลตอบรับ 3. ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามหรือห้ามไม่ให้พวกเขาได้พื้นที่สื่อ รวมทั้งข่มขู่ผู้สนับสนุนของอีกฝ่ายเพื่อไม่ให้พวกเขาออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียง 4. แฮ็กข้อมูลฝ่ายตรงข้าม แฮ็กระบบเลือกตั้ง และใช้ข่าวปลอม 5. ยัดบัตรเลือกตั้งของตัวเองเพิ่มเข้าไป

แม้เทคโนโลยีจะทำให้เสียงประชาชนสะท้อนไปกว้างไกลมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ผู้เขียนทั้งสองมองว่ามันยิ่งเพิ่มเครื่องมือให้เผด็จการควบคุมความคิดมวลชน อย่างเช่นในบทที่ 4 ซึ่งเปิดด้วยชีวิตของนักแฮ็กการเลือกตั้งมืออาชีพ ที่ช่วย ‘ลูกค้า’ (รัฐบาลเผด็จการ) แฮ็กสมาร์ตโฟนและกระจายข่าวเท็จผ่านกองทัพบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมๆ เพื่อดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม และเข้าควบคุมการถกเถียงในโลกออนไลน์

ทำไมต้องเป็นแบบแอบๆ

ก่อนจะโดนผู้อ่านจากทางบ้านตะโกนถามว่า ‘เผด็จการ’ ที่พูดๆ กันนี่มันคืออะไร แค่คำที่ใช้เหยียดผู้มีอำนาจปกครองที่ตัวเองไม่ชอบหรือเปล่า ชีสแมนและคลาสขอแบ่งระบอบการปกครองของรัฐต่างๆ ในโลกออกเป็น 4 แบบ ตามความเข้มข้นของประชาธิปไตย ได้แก่ ‘อำนาจนิยมสัมบูรณ์’ คือรัฐที่ไม่มีการเลือกตั้งเลย อย่างจีนและซาอุดิอาระเบีย ‘อำนาจนิยมแบบครอบงำ’ ซึ่งจัดการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมจำกัดสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมือง จนเป็นไปได้ยากที่ฝ่ายตรงข้ามจะเอาชนะได้  อย่างรวันดาและอุซเบกิสถาน แบบที่ 3 คือ ‘อำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน’ คือการเลือกตั้งที่ปล่อยให้อีกฝ่ายแข่งขันด้วยการเมืองร้อนแรง แต่ถูกจับมือมัดไว้ด้านหลัง แบบสุดท้ายคือ ‘ประเทศประชาธิปไตย’ ซึ่งผลการเลือกตั้งมีแนวโน้มจะเสรีและเป็นธรรม สมเหตุสมผล

แล้วทำไมไม่เป็นอำนาจนิยมสัมบูรณ์กันให้สิ้นเรื่อง! มาแอบๆ กั๊กๆ อยู่ทำไม ผู้เขียนทั้งสองบอกว่า นอกจากผลประโยชน์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ (ยกเว้น เกาหลีเหนือที่จัดไปอย่างเปิดเผย ไม่ได้แคร์เรื่องนี้เท่าไร) เพื่อต่ออายุรัฐบาลใหม่ และการอ้างความชอบธรรมในการรักษาอำนาจ จากสถิติพบว่า รัฐอำนาจนิยมที่ปล่อยให้มีการเลือกตั้งแต่โกงสำเร็จ สามารถกระชับอำนาจในมือได้ดีกว่ารัฐที่ไม่จัดการเลือกตั้งเลย

รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก

เรื่องนี้จะโทษรัฐบาลประเทศนั้นๆ อย่างเดียวไม่ได้ หลายครั้งเราอาจสงสัยว่าทำไมตัวแทนประเทศที่เชิดชูความเป็นประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ ถึงได้กล่าวชื่นชม “ความมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และสงบเรียบร้อย” ของการเลือกตั้งที่เห็นชัดๆ ว่าสกปรก

ผู้เขียนเปรียบเทียบว่า มันก็เหมือนกับการไปชมการแสดงมายากล ส่วนหนึ่งที่เราโดนตบตาได้ง่าย เพราะเราตั้งใจจะให้เขาหลอกตั้งแต่แรกแล้ว

ประเทศตะวันตกยอมปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเอาไว้เหนือหลักการ ส่วนสำคัญก็เป็นเพราะต้องการเข้าถึงทรัพยากรในประเทศนั้นๆ หรือเพราะเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ บังเอิญว่าถ้าประเทศนั้นอยู่ในจุดสำคัญที่จะใช้ต่อกรกับ ‘ผู้ก่อการร้าย’ หรือศัตรูของประเทศ มหาอำนาจก็ยอมไม่หือไม่อือกับการเลือกตั้ง ที่ดูยังไงๆ ก็โกง

ต้นทุนในการสูญเสียอำนาจมันเยอะไป

“ก็ไม่ได้อยากเป็นหรอกนะ”

เผด็จการบางคนอาจพูดอย่างนั้น ชีสแมนกับคลาสเองก็พยายามหาเหตุผลว่าทำไมบางคนถึงต้องกระเสือกกระสนกระชับอำนาจในมือไว้ ทั้งๆ ที่ใจจริงอาจไม่ได้อยากอยู่ตรงนี้

อย่างที่เขาว่ากันว่า ลงจากหลังเสือมันยาก แต่ถ้าจะอธิบายเป็นเหตุผลทางวิชาการ ทั้งสองบอกว่า มาจากปัจจัยต่างๆ รวมกัน เช่น พวกเขามักไม่อยากลงจากอำนาจเมื่อเชื่อว่าการอยู่ในตำแหน่งของตัวเองนั้นสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมือง หรือเมื่อตอนอยู่ในอำนาจ ตนเองได้เข้าไปพัวพันกับการคอร์รัปชันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเต็มสูบ แล้วกลัวโดนคิดบัญชีย้อนหลัง หรือเมื่อพวกเขาไม่เชื่อมั่นพรรคคู่แข่งและสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในประเทศอีกต่อไป

และเหตุผลสุดท้าย ก็เมื่อพวกเขาอยู่ในตำแหน่งนี้มานาน ยิ่งนาน ยิ่งมีต้นทุนสูงในการลงจากตำแหน่ง

แม้ภาพทั้งหลายจะดูมืดมนสำหรับผู้นิยมประชาธิปไตย แต่ในส่วนท้ายเล่ม ผู้เขียนพยายามเสนอแนะวิธีการดึงประเทศแสร้งเป็นประชาธิปไตยเหล่านี้กลับมาสู่ลู่ทาง เช่น การเข้าแทรกแซงของนานาประเทศ หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสอดส่องการเลือกตั้งให้ดีขึ้น

นั่นแน่ ใครบางคนอาจกำลังบอกว่า ทำไมต้องเป็นประชาธิปไตย ในเมื่อหลายๆ ประเทศที่ปกครองด้วยอำนาจนิยม กลับได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า ตัวอย่างคลาสสิคก็คือพี่ใหญ่จีน และประชาธิปไตยไม่ใช่ยารักษาสารพัดโรคที่แต่ละประเทศเผชิญต่างกันไป

ชีสแมนและคลาสไม่ได้ถกเถียงเรื่องนี้โดยตรง แต่บอกว่าประเทศประชาธิปไตยมีแนวโน้มจะเคารพสิทธิมนุษยชนของพลเมืองมากกว่า และนั่นไม่ใช่หรือ คือประเทศที่เราอยากใช้ชีวิตอยู่

หนังสือเล่มนี้เน้นไปที่ข้อกังวล ว่าการเลือกตั้งกำลังถูกใช้เป็นแค่โรงละครของเผด็จการที่เขียนบทไว้หมดแล้วว่าจะให้ใครชนะ (ซึ่งพึงระวังว่าไม่ได้จำกัดเฉพาะรัฐบาลทหาร แต่รวมทั้งรัฐบาลพลเรือนที่ใช้อำนาจไปกำจัดคู่แข่งอย่างผิดๆ) อย่างไรก็ตาม ด้วยใจความของหนังสือที่ชัดเจนนี้ อาจทำให้เนื้อหาบางส่วนอ่านแล้วดูซ้ำซ้อนและย้ำคิดย้ำทำอยู่บ้าง แต่เหมาะจะอ่านเอาเพลินๆ ไว้เพื่อรู้เท่าทัน …และเครียดกุมขมับในบางคราว

Fact Box

  • How to Rig an Election ตีพิมพ์เมื่อปี 2018 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล
  • นิค ชีสแมน (Nic Cheeseman) เป็นศาสตราจารย์ด้านประชาธิปไตยศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมและบรรณาธิการผู้ร่วมก่อตั้งสารานุกรมออกซ์ฟอร์ดว่าด้วยการเมืองแอฟริกัน
  • ไบรอัน คลาส (Brian Klaas) เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเมืองโลกแห่งมหาวิทยาคอลเลจลอนดอน และคอลัมนิสต์วอชิงตันโพสต์
  • สำหรับคนที่สงสัยว่าประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มระบอบการปกครองแบบไหน ในดัชนีท้ายเล่มจัดให้เป็นประเภท Dominant Authoritarian หรืออำนาจนิยมแบบครอบงำ และไม่เสรี

 

Tags: , , , ,