เมื่อพูดถึงหนังสือธรรมะ ประเด็นหลักคงเป็นการสั่งสอนศีลธรรม นิยามความดีความชั่ว ท่องแดนสวรรค์นรก ซึ่งท้ายที่สุดประเด็นเหล่านั้นอาจทำให้เห็นปัญหาของปรัชญาศาสนาที่นำไปสู่การตัดสินพฤติกรรมนอกหลักศาสนาว่าชั่ว และตั้งอยู่บนฐานคิดแบบขั้วตรงข้าม ซึ่งไม่ได้สอดรับกับหลักการสากล ที่มุ่งเน้นความอดทนอดกลั้นต่อความหลากหลายและการตัดสินบนฐานของอคติ 

แต่จะมีหนังสือสักเล่มไหมที่จะไม่พาหลักคิดแบบพุทธหลุดออกจากประเด็นปัญหานี้? ใจที่เธอกลัว เป็นหนังสือธรรมะที่ไม่ได้พาคนอ่านเลยเถิดไปสู่การตัดสินใคร แต่เป็นเพียงการนำทางเข้าไปสู่ภายในและเปิดใจรับกับปีใหม่ด้วยหัวใจที่อ่อนโยน

ใจที่เธอกลัว เป็นหนังสือแปลจากชื่อภาษาอังกฤษ คือ The Places that Scare You โดย เพม่า โชดรัน (Pema Chödrön) แปลโดยคุณ อัญชลี คุรุธัช สำนักพิมพ์ ปลากระโดด 

เพม่า โชดรันเป็นภิกษุณีสายวชิรยานธิเบตชาวอเมริกันที่เป็นที่รู้จักในโลกตะวันตก ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดกัมโป ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแคนาดา และจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาให้แก่สาธารณชน หน้าปกของหนังสือ ใจที่เธอกลัว ระบุว่าเป็น “คู่มือความกล้าในช่วงเวลายากลำบาก” เนื้อหาว่าด้วยนิยามและการทำงานของโพธิจิต

โพธิจิต และการเดินทางสู่ดินแดนแห่งโพธิจิต

ในแต่ละศาสนาหรือแต่ละนิกายจะมีวิธีการในการเข้าใจสภาวะทางจิตใจของตัวเองต่างกันไปตามชื่อเรียก วิถีปฏิบัติ และความเชื่อ ซึ่ง ‘โพธิจิต’ เป็นคำที่เพม่าใช้อธิบายสภาวะที่อยู่ลึกที่สุดของจิตสำนึกและเป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่มีอยู่ในตัวของทุกคน แต่ถูกห่อหุ้มและปิดกั้นด้วยเงื่อนไขของแต่ละคนแตกต่างกันไป แต่หากปลอกเปลือกสิ่งเหล่านั้นออกไปได้ มนุษย์ทุกคนจะรู้จักกับหัวใจที่เปิดกว้างและตื่นรู้ นำไปสู่การความเข้าใจต่อตัวเองและความเป็นไปของโลก 

แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เพม่าพร่ำอธิบายและเป็นประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ สิ่งที่สำคัญกว่า คือช่วงระหว่างเดินทางไปสู่โพธิจิตต่างหาก 

การเดินทางสู่โพธิจิตเกิดขึ้นภายใน เราต้องฝ่าด่านผ่านเปลือกต่างๆ ที่เป็นเกาะกำบังโพธิจิตไว้ เพม่าอธิบายว่าเปลือกพวกนั้นคือ อคติและอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธ ความเฉยเมย ความอิจฉาริษยา ความก้าวร้าวความทะนงตน ความไม่แน่นอน ฯลฯ สิ่งเดียวที่จะนำพาเราก้าวข้ามผ่านกำบังเหล่านี้ไปได้ คือความกล้าหาญดังนักรบที่ไม่เกรงกลัวต่อความเจ็บปวด 

อันที่จริงการเปรียบว่าเป็นการรบก็ดูเหมือนจะขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายสูงสุดคือสันติภาพของหัวใจตนเอง การรบไม่น่าจะเป็นอุปมาอุปไมยที่ดี แต่นั่นอาจจะเป็นเพียงการเรียกกำลังใจให้แก่ผู้อ่านของเพม่า เพราะวิธีการรบของนักรบในรูปแบบของเพม่าทั้งสงบ สันติ และอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจผ่านการภาวนา

การภาวนา หรือ สมถะ-วิปัสสนา

การภาวนา หรือเรียกว่า สมถะ-วิปัสสนา เป็นพื้นฐานฝึกจิตใจเพื่อเข้าถึงโพธิจิต การภาวนาจะพาเราเดินไปสัมผัสกับความคิด อารมณ์ และความรักอย่างแท้จริงผ่านบทสนทนาของตัวเราเองที่เกิดขึ้นภายใน การภาวนาจะโอบรับเราอย่างที่เราเป็น ซึ่งผลที่ได้ไม่ใช่แค่ตัวเราเอง แต่ยังเป็นไมตรีที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่น โดยอาศัยหลักการคร่าวๆ ดังนี้ 

  1. ความแน่วแน่ คือการเข้าใจความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตามร่างกาย โดยเริ่มจากจิตรับรู้ที่ศีรษะแล้วไปตามอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย จิตอาจจะฟุ้งซ่านไปที่อื่นบ้าง และครั้งที่รู้ตัวก็บอกจิตอย่างเมตตาว่า “จงอยู่นี่!” การฝึกฝนจะผ่อนคลายสำนึกของเราจากการหมกมุ่นวิ่งไล่หาอดีตหรืออนาคต 
  2. การมองเห็นอย่างชัดเจน การฝึกจิตทุกวันทำให้เรามองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นทุกวัน สิ่งต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็น อคติ ความทะนงตน การมองโลกในแง่ร้ายเพื่อเป็นเกราะปกป้องคุ้มครองตัวเองแต่ในขณะเดียวก็ปิดกั้นเราจากสัจธรรมของสรรพสิ่ง เมื่อมองเห็น เราจะอยากเริ่มหาช่องทางระบายของเสียที่รกรุงรังภายในจิตใจและเปิดใจสู่เนื้อแท้ของสรรพสิ่ง
  3. การเผชิญหน้ากับความเครียดทางอารมณ์ หลายคนคิดว่าการวิปัสสนาคือการลบล้างเอาพลังงานร้ายออกไปจากร่างกาย แต่แท้ที่จริงมันคือการเผชิญหน้ากับพลังงาน รับรู้ถึงพลังงานร้ายนั้น เปิดใจรับความกระสับกระส่ายที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนความขี้ขลาดที่จะเผชิญหน้ากับพลังงานนั้นเป็นความคุ้นชิน 
  4. เราใส่ใจกับปัจจุบัน คือการกลับมาสู่จิตและกายอันเป็นปัจจุบัน ละสำนึกของตัวเองออกจากการย้อนเวลาสู่อดีตและวิ่งไล่จับอนาคต เพื่อรับรู้และเมตตาต่อการมีอยู่ของตัวเองในปัจจุบันขณะ ความเข้าใจตัวเองจะนำไปสู่ไมตรีต่อผู้อื่นโดยปริยาย

สิ่งพิเศษที่ทำให้การวิปัสสนาของหนังสือเล่มนี้มีลักษณะเฉพาะตัวและดูจะเป็นแนวทางพิเศษกว่าเรื่องไหนๆ คือเพม่านำเสนอการวิปัสสนาเพื่อความเข้าใจต่อตัวเอง สร้างหัวใจที่อ่อนไหวต่อความเป็นไปของโลกในปัจจุบันขณะ มากกว่าเป็นจะเป็นการสะกดจิตหรือสะสมผลบุญเพื่อชาตินี้หรือชาติหน้า และเป็นการวิปัสสนาที่ไม่ได้นำไปสู่การเลือกมองแต่ความดี แต่โอบรับทุกอารมณ์ความรู้สึกด้วยความเข้าใจที่จะเป็นจุดกำเนิดของไมตรีต่อผู้อื่น 

‘ทองเล็น’ และไมตรีต่อผู้อื่น 

เมื่อโพธิจิตหลุดจากเกราะกำบัง มันจะปะทุออกมาแบบไม่อาจหยุดยั้งได้ สิ่งหนึ่งที่เพม่าใช้ส่งผ่านความดีงามของโพธิจิตสู่ผู้อื่นคือ ‘ทองเล็น’  

ทองเล็น คือรูปแบบหนึ่งของการอธิษฐาน โดยเริ่มจากการหายใจเข้าพร้อมกับระลึกถึงการสูดรับเอาความทุกข์ พลังลบ ความเดือดร้อนของผู้อื่นเข้ามา แล้วหายใจออกพร้อมกับความสุข พลังบวก และจิตอธิษฐานให้คนผู้นั้นหรือสิ่งสิ่งนั้นพ้นจากความเดือดร้อน พร้อมทั้งปล่อยเอาสิ่งต่างๆ ที่รับมาออกไปด้วย เราสามารถทำได้ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น ทั้งคุ้นเคยและแปลกหน้า ทั้งรักใคร่และเกลียดชัง 

เพม่าบอกว่าทองเล็นเป็นการฝืนจิตใจให้อ่อนโยน เปิดหัวใจสู่การโอบรับทั้งความสุขและความทุกข์ เป็นสายสัมพันธ์สร้างสันติภาพจากตัวเองต่อผู้อื่นและสามารถเชื่อมโยงถึงระดับมนุษยชาติ จุดยืนของเพม่าตรงนี้เราจึงอาจกล่าวได้ว่าเพม่าเชื่อว่าสันติภาพภายในใจจะนำพาไปสู่สันติภาพในระดับมนุษยชาติได้ ซึ่งตรงนี้เราถกเถียงกันต่อได้ 

นี่เป็นเพียงข้อเสนอหลักๆ ที่ผู้อ่านจะพบในหนังสือเล่มนี้ ยังมีหลักคิดและวิถีปฏิบัติเรื่องอื่นๆ ที่อิงกับแนวทางของหลักศาสนาพุทธและนำเสนอในภาษาหรือสไตล์ที่แตกต่างออกไปจากหนังสือธรรมะหรืออ้างว่าเป็นหนังสือธรรมะโดยทั่วๆ ไป ฉะนั้นการที่เพม่าจะบอกว่า ใจที่เธอกลัว เป็น ‘คู่มือความกล้าในช่วงเวลายากลำบาก’ ก็คงจะจริง โดยเฉพาะในแง่ของการจัดการภายในใจของเรา  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เธอบอกจะไม่มีอะไรให้ถกเถียงหรืออภิปรายเลย การชวนอ่าน ใจที่เธอกลัว จึงเป็นการชวนถกเถียงด้วยตามแนวทางการสร้างปัญญาของพุทธศาสนา

ถกกับเพม่า

ปัญหาหนึ่งที่เราอาจนำมาถกเถียงกันต่อไปได้ คือการที่นักคิดจำนวนมากวิจารณ์แนวคิดของศาสนาพุทธว่าเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการจัดการในระดับปัจเจกที่มากเกินไป จนอาจทำให้ละเลยและเพิกเฉยต่อปัญหาของผู้อื่นหรือปัญหาในระดับสังคม เพราะปัญหาความทุกข์ร้อนบางเรื่องมีเหตุจากโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ซึ่งมีขอบเขตกว้างและลึกเกินกว่าจะจบปัญหานั้นๆ เพียงการจัดการกับภายในของเรา

บางคนถึงขั้นวิจารณ์ว่า ท้ายที่สุดแล้วฐานคิดแบบพุทธนำไปสู่การปิดหูปิดตามนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลมากกว่าเผชิญหน้ากับสัจธรรมด้วยซ้ำ ลองคิดเล่นๆ ว่าชาวเวเนซุเอล่าคงไม่อาจพ้นทุกข์จากความอดอยาก จากการล้มละลาย เพียงเพราะการวิปัสสนาของชาวพุทธทั้งโลก หรือแม้กระทั่งนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกตัดสินจำคุกโดยรัฐบาลทหารก็ไม่อาจหลุดพ้นทุกข์ได้จากเมตตาที่เกิดขึ้นแค่ในระดับจิตใจ เพราะฉะนั้นข้อเสนอของเพม่าจึงอาจจะมีปัญหา หากมันถูกเชื่อมโยงไปในระดับของสังคมหรือมนุษยชาติ

พอถกมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจรู้สึกว่าแล้วมันจะมีประโยชน์อะไรที่จะยังคงอ่านหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนเลยอยากขอสรุปแบบนี้ว่า ข้อเสนอต่างๆ ของเพม่านั้นใช้ได้ดีมากในระดับการจัดการกับภายในตัวเอง ในสภาวะที่โลกหมุนเร็วและยุ่งเหยิง บางครั้งมนุษย์เราเองก็ยังต้องการแนวทางปฏิบัติบางอย่างที่ยังคงเชื่อมหัวใจไว้กับความสงบและสันติภาพจากภายใน เพียงแค่อย่าเพิกเฉยต่อปัญหารอบตัวที่เกิดขึ้นภายนอกไปในขณะเดียวกัน

Tags: , , , , , , , ,