โคตรซ้าย! คือความรู้สึกของผมหลังจากอ่านเรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องในเล่มนี้จบลงด้วยความอิ่มเอิบหัวใจ

ความ ‘ซ้าย’ ของหนังสือเล่มนี้มีทั้งซ้ายในความหมายแบบกว้าง ซึ่งหมายถึงสำนึกขบถและความกล้าหาญในการลุกขึ้นมาต่อกรกับอำนาจกดขี่และความไม่เป็นธรรมต่างๆ กับซ้ายในความหมายที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง อันเป็นความพยายามจะส่งเสียงไปถึงประเทศมหาอำนาจสองขั้วในปัจจุบันซึ่งก็คืออเมริกาและจีน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ในนามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบัน) ธารสองสายที่ไหลเวียนอยู่ในตัว Ken Liu นักเขียนหนุ่มเจ้าของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ เขาเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กช่วงหนึ่งในจีน ก่อนที่ครอบครัวจะพาย้ายไปอยู่ที่อเมริกา

ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ Ken Liu อาศัยทั้งเรื่องเล่าปรัมปรา ภูมิปัญญาโบราณ และประวัติศาสตร์การเมืองของจีนมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างโลกแห่งเรื่องเล่าของเขาขึ้นมา และในขณะเดียวกันก็ผสานความเป็นวิทยาศาสตร์และไซไฟเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ สารัตถะของความเป็นมนุษย์ภายใต้อำนาจกดขี่ควบคุมในรูปแบบต่างๆ แนวโน้มของโลกอนาคตที่กำลังใกล้เข้ามา การผงาดขึ้นของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นอำนาจคุกคามและควบคุมในรูปแบบใหม่ที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่

หากแบ่งเรื่องสั้นทั้งหมดในเล่มออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ก็จะประกอบด้วยเรื่องสั้นกลุ่มที่ใช้เรื่องเล่าปรัมปรา ภูมิปัญญาโบราณ และประวัติศาสตร์การเมืองของจีนมาเป็นวัตถุดิบในการเล่า และเรื่องสั้นกลุ่มที่เป็นวรรณกรรมแนวไซไฟที่พูดถึงสองด้านของเหรียญเดียวกันคือความเป็นมนุษย์ VS เทคโนโลยี

ในเรื่องสั้นชื่อ อุปนิสัยการทำหนังสือของสิ่งมีชีวิตบางชนิด เรื่องสั้นเรื่องแรกในเล่ม Liu ใช้วิธีเล่าเรื่องประหนึ่งรายการสารคดีวิทยาศาสตร์ พาเราจินตนาการถึงวิธีเก็บรักษาและถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาของสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่นในจักรวาล ชาวควอตโซลีที่เก็บรักษาภูมิปัญญาไว้ในสมองศิลา ชาวแครู’อีที่ขนาดร่างกายเท่าเครื่องหมายอัญประกาศ ชาวเอสเพอโรกับการทำแผนที่สมอง ฯลฯ

น่าสังเกตว่าในบรรดาเผ่าพันธุ์เหล่านี้ มีทั้งเผ่าที่พยายามจะซ่อนเร้นภูมิปัญญาของตนไว้อย่างมิดชิด และเผ่าที่พยายามหาทางแย่งชิงเอาภูมิปัญญานั้นมาเป็นของตน ราวกับผู้เขียนกำลังชี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า ตราบใดที่เป็นสัตว์แห่งเรื่องเล่า ก็ย่อมเป็นสัตว์แห่งการเมืองด้วย นั่นก็เพราะในความหมายหนึ่ง การเมืองก็คือการแย่งชิงเรื่องเล่าและแย่งชิงการเล่าเรื่องนั่นเอง

ในเรื่องสั้น นักเวทอักษร ตัวละครในเรื่องแสดงให้เราเห็นว่าความคิดทางการเมืองและประวัติศาสตร์บาดแผลที่ฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามจะลบล้างทำลาย สามารถแทรกตัวอยู่ในศาสตร์แห่งการทำนายตัวอักษรได้อย่างไร ถ้อยคำธรรมดาที่ดูเหมือนไม่มีพิษภัย เมื่อกะเทาะความหมายออกมาทีละส่วนแล้วประกอบกันขึ้นใหม่ สามารถพลิกผันความหมายกลายเป็นนัยทางการเมืองได้อย่างทรงพลัง

ในเรื่อง ชายเจ้าปัญญากับพญาวานร บัณฑิตคนยากขวัญใจคนจน ผู้รับจ้างว่าความร้องทุกข์ของคนตัวเล็กตัวน้อยให้กับทางการ จับพลัดจับผลูไปพัวพันกับคดีกบฏ การสังหารหมู่ และหนังสือต้องห้าม เขาต้องเผชิญกับบททดสอบว่าด้วยความหาญกล้ายืนหยัดปกป้องความเป็นธรรมในระดับที่ซับซ้อนกว่าที่เคยเป็นมา

ผู้เขียนกำลังบอกกับเราว่า แม้อำนาจในการกดขี่บีบคั้นจะทรงพลังมหาศาลสักปานใด ก็ไม่มีทางที่อำนาจนั้นจะกดขี่ได้อย่างสมบูรณ์ เรื่องราวเหล่านั้นย่อมหาวิธีเล็ดลอดออกมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และในทางกลับกัน ยิ่งบีบคั้นมากเท่าไร กลวิธีที่จะปกป้องและบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นก็ยิ่งทรงพลังและแยบยลมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

ในเรื่อง สวนสัตว์กระดาษ ที่แม้เส้นเรื่องหลักจะเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกชาย แต่ลึกลงไปแล้วคือการตั้งคำถามเรื่องความเป็นคนตะวันออก-ตะวันตก การปรับตัวของคนจีนที่ย้ายมาอยู่อเมริกา และการแสวงหาอัตลักษณ์ของลูกครึ่งจีน-อเมริกา รากเหง้าตัวตนที่ไม่อาจปฏิเสธ สภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึงระหว่างตัวตนสองแบบที่ไม่อาจบรรลุการเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้โดยสมบูรณ์ การดิ้นรนที่จะบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตนภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ

นอกจากเรื่องสั้นที่หยิบยกมากล่าวถึงข้างต้นแล้ว เรื่องสั้นอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นแนวไซไฟ แม้ผู้เขียนจะชวนให้เราตั้งคำถามกับอำนาจการคุกคามของเทคโนโลยีที่กำลังแผ่ขยายบทบาทของมันเข้ามากำกับควบคุมชีวิตมนุษย์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจไม่ต่างอะไรกับสุนัขที่ไล่งับเงาสะท้อนของตัวเองบนผิวน้ำ เทคโนโลยีบันดาลความสะดวกสบาย กระทั่งพัฒนาถึงขั้นรู้คิดและตัดสินใจแทนเราในเรื่องต่างๆ ได้ มนุษย์หวาดกลัวว่าตนจะถูกปฏิบัติราวกับเป็นเครื่องจักร และขณะเดียวกันก็หวาดกลัวเครื่องจักรที่เริ่มเลียนแบบมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ

ในเรื่องสั้น เพอร์เฟกต์เป๊ะ ผู้เขียนพาเราจินตนาการถึงสังคมที่แต่ละคนมีระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์เป็นเพื่อนคู่คิดประจำตัว (เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง Her (2013)) จนถึงจุดที่ตัวละครในเรื่องต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เขาได้ตัดสินใจเลือกด้วยตัวเองจริงๆ ไม่ใช่ผ่านสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์คัดสรรมาให้แล้วว่าสิ่งนี้ ‘ดี’ และ ‘เหมาะสม’ กับเขามากที่สุดเมื่อวิเคราะห์จากฐานข้อมูลอุปนิสัยใจคอของเจ้าตัว และในระดับที่ใหญ่กว่านั้น คือความสงสัยว่าบริษัทเจ้าของปัญญาประดิษฐ์นี้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าได้ทุกคนจนมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ กำลังอาศัยข้อมูลเหล่านี้คิดอ่านแผนการใดอยู่หรือไม่

เช่นเดียวกับในเรื่อง สถานะปกติ เล่าถึงโลกอนาคตที่มนุษย์กลายเป็นไซบอร์ก และมีเครื่องที่เรียกว่า ‘เรกูเลเตอร์’ ประจำตัว อันเป็นเครื่องที่ใช้ควบคุมระดับการขึ้นลงของอารมณ์ความรู้สึกให้อยู่ในสถานะปกติ ด้วยความเชื่อที่ว่าอารมณ์ความรู้สึกที่แกว่งไกวขึ้นลงไม่คงที่ทำให้มนุษย์ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย แต่เมื่อถึงคราวต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ ตัวละครย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ยังเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้ชีวิตและคิดอ่านตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเจ้าเครื่องนี้

ฉากหลังของเรื่องสั้นทั้ง 2 เรื่องนี้ คือสังคมแห่งโลกอนาคตที่ตกอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของเทคโนโลยีอย่างเกือบจะเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ความรู้สึกสงสัยและกังขาต่อเทคโนโลยีของตัวละครในทั้งสองเรื่องถูกคนอื่นๆ ในสังคมมองว่าเป็นความผิดปกติ แต่ใช่หรือไม่ว่าการลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อ ‘อำนาจ’ ย่อมจะถูกฝ่ายที่ถือข้างอำนาจนั้นมองว่าเป็นความผิดปกติที่ต้องถูกกำจัดอยู่ร่ำไป อำนาจที่คอยนิยามว่าอะไรคือความปกติและอะไรคือความผิดปกติ การตั้งคำถามต่อเทคโนโลยีจึงไม่เท่ากับว่ากำลังปฏิเสธเทคโนโลยี แต่คือชั่งน้ำหนักตรวจสอบดุลอำนาจที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีนั้นต่างหาก

ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขสภาวะแบบไหน ตัวละครของ Liu ก็ดิ้นรนและขัดขืนอยู่เสมอ ตัวละครของเขาไม่ใช่วีรบุรุษที่มาพร้อมกับพลังวิเศษ แต่คือคนตัวเล็กตัวน้อยที่หาญกล้าท้าชน ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่พยายามจะกดขี่ควบคุม หากนี่คือความหมายและพลังของความเป็น ‘ซ้าย’ ก็ขอให้พลังของหนังสือเล่มนี้จงปลุกความเป็นซ้ายในตัวคุณ!

Fact Box

สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ
Ken Liu เขียน
ลมตะวัน แปล
สำนักพิมพ์ Salt

*หมายเหตุ: เรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องที่ถูกตีพิมพ์ในเล่มนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหนังสือรวมเรื่องสั้น The Paper Menagirie and Other Stoires (2016) ของ Ken Liu เท่านั้น เรื่องสั้นส่วนที่เหลือสำนักพิมพ์จะนำมาพิมพ์ในเล่มถัดไป

Tags: , ,