เราทุกคนล้วนมีประสบการณ์และเรื่องราวเป็นของตัวเอง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างงดงามและน่าติดตาม เมื่อตอนยังเด็ก ฉันไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่จะอยากอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวอักษรยาวหลายร้อยหน้าไปทำไม หนังสือการ์ตูนยังจะสนุกเสียกว่า เพราะมีภาพให้ดู ให้เห็นความเป็นไปของตัวละคร แต่หนังสือจำพวกนวนิยายนั้นดูแล้วออกจะน่าเบื่อ พอโตขึ้นมาอีกนิด ฉันมีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมเยาวชนเรื่องหนึ่ง ซึ่งที่ยอมหยิบมาอ่านก็เพราะมันยังมีภาพประกอบอยู่บ้าง แม้นานๆ จะโผล่มาเสียรูป หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า ห้าสหายผจญภัย นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ฉันหลงเข้าไปเป็นหนอนหนังสือ 

ฉันเพิ่งเข้าใจ ณ ตอนนั้นเอง ว่านวนิยายที่มีแต่ตัวอักษรนั้นสนุกอย่างไร เราสร้างภาพขึ้นเองในใจ สร้างสถานที่ไปตามจินตนาการ สร้างใบหน้าตัวละครตามที่เราจะนึก โลกของฉันเปิดออกกว้างกว่าที่เคยผ่านหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า รู้ตัวอีกทีฉันก็อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นนักเขียน และมีหนังสือเป็นของตัวเอง

การได้อ่านหรือได้รู้กระบวนการของนักเขียนคนอื่นๆ ก็น่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน เราอยากรู้ว่าหนังสือเล่มไหนมีที่มาอย่างไร ทำไมพวกเขาถึงประสบความสำเร็จ พวกเขามีความสุขหรือพบเจอความทุกข์อะไร สิ่งใดบ้างที่หล่อหลอมให้ถ่ายทอดเรื่องราวบาดลึกได้ถึงเพียงนั้น คอลัมน์ The List สัปดาห์นี้ จึงว่าด้วยภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับนักเขียน มันอาจไม่ใช่เรื่องจริงของนักเขียนตัวจริงเสียทั้งหมด แต่ทุกเรื่องล้วนมีตัวละครเอกเป็นนักเขียน ดังนั้นไม่มากก็น้อย เราจะได้เรียนรู้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรถึงเขียนออกมาอย่างนั้น ขอให้สนุกกับภาพยนตร์และขอให้คุณได้เป็นตัวละครเอกในเรื่องราวของใครสักคนหนึ่ง

Midnight in Paris (2011)

ผลงานการเขียนบทและกำกับโดย วูดดี อัลเลน ผู้กำกับที่ผลิตภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องมาเกือบครึ่งศตวรรษ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของอัลเลนถูกปล่อยตัวไปในปีที่ผ่านมา นั่นคือ A Rainy Day in New York ที่ได้นักแสดงขวัญใจผู้ชมมาร่วมจอหลายคน แต่ท่ามกลางกระแส #MeToo จึงส่งผลให้เรื่องนี้ไม่ได้เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาตามแผนที่วางเอาไว้

Midnight in Paris เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ไปกว่า 150 ล้านเหรียญทั่วโลก ซึ่งถือเป็นรายได้สูงสุดในบรรดาภาพยนตร์ทั้งหมด เมื่อทำการคัดเลือกนักแสดง อัลเลนรู้ว่าเขาต้องการนักแสดงสาวชาวฝรั่งเศส สำหรับบทเอเดรียน่า ดังนั้น ตัวเลือกแรกของเขาคือ มารียง กอตียาร์ แล้วเมื่อเธอได้คุยกับเขา บทสนทนาดำเนินไปมากกว่าหนึ่งชั่วโมง และแน่นอนว่าเธอตอบรับด้วยความตื่นเต้น

ในปี 2011 ชีวิตของกิลถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เขาทำงานเป็นนักเขียนบทและมีคู่หมั้นที่อีกไม่ช้าคงได้แต่งงานกัน กิลมีโอกาสได้ไปเที่ยวกับครอบครัวของอิเนซที่ปารีส นครที่น่าหลงใหลและมีมนต์สะกดให้ผู้คนหลงรัก แล้วด้วยอะไรหลายๆ อย่างในตัวกิล การเดินทางครั้งนี้ทำให้เขาครุ่นคิดอย่างหนักที่จะเปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเขียนนิยาย พร้อมกับย้ายมาปักหลักในปารีส ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความคิดของอิเนซ

ค่ำคืนหนึ่งภายใต้มนต์สะกด กิลเดินไปตามถนนของปารีสเพื่อกลับโรงแรม โลกในอดีตกลับทับซ้อนกับโลกปัจจุบัน กิลหลงเข้าไปยังช่วงเวลาในปี 1920 เขาเจอคนดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักปรัชญา หรือนักวาด ศิลปินเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ เขาหลงใหลได้ปลื้มกับช่วงเวลาตรงหน้าและต้องการจะไขว่คว้าไว้ตลอดกาล กิลหลบเข้าไปยังโลกแห่งความฝันโดยที่หลงลืมไปว่าบางทีความงดงามแท้จริงนั้นอาจไม่ได้อยู่ที่นั่น ไม่ใช่สำหรับเขา เพราะไม่ว่าช่วงเวลาไหนๆ ความงดงามก็ต้องเสื่อมคลายในสักวัน

Ruby Sparks (2012)

ภาพยนตร์โรแมนติกคอมแมดี้ ที่ได้คู่รักในชีวิตจริงมาสวมบทคู่รักในภาพยนตร์ ได้แก่ พอล ดาโน และโซอี้ คาซาน ทั้งคู่คบกับมาตั้งแต่ปี 2007 นอกจากนั้นโซอี้ยังเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ส่วนผู้กำกับนั้นก็เป็นคู่รักเช่นเดียวกัน โจนาธาน เดย์ตัน และวาเลรี่ ฟาริส ที่เคยสร้างชื่อไว้ใน Little Miss Sunshine (2006)

สำหรับความรัก เราต้องการคนที่เหมือน หรือคนที่ต่าง เราต้องการคนที่พูดเรื่องเดียวกัน หรือคนที่พูดเรื่องแปลกใหม่ที่เราไม่รู้ แบบไหนถึงจะดีกว่า? ไม่มีใครตอบได้ จนกว่าจะได้พบสิ่งนั้นกับตัวหรอกจริงไหม และนี่คือสิ่งที่คาลวิน ต้องเผชิญหน้าและตัดสินใจ

คาลวิน เป็นนักเขียนนวนิยายที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แต่สิ่งนั้นก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายเขาเอง เพราะตอนนี้คาลวินกำลังดิ้นรนที่จะสร้างงานชิ้นใหม่ และเขายังแทบไม่มีไอเดียอะไรเลย เขาต้องไปพบจิตแพทย์ เพื่อหาลู่ทางทั้งในงานและจิตใจของตัวเอง

จิตแพทย์แนะนำให้เขาเขียนอะไรสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ที่เขาอยากเขียน คาลวินจึงเขียนถึงผู้หญิงที่เขาพบในความฝัน รูบี้ เป็นสาวในอุดมคติที่อยู่ในจินตนาการ แต่เช้าวันหนึ่งจินตนาการนั้นกลับปรากฎในความจริง รูบี้ยืนอยู่ในบ้านของเขา หลังจากงงเป็นไก่ตาแตกอยู่พักใหญ่ คาลวินก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า รูบี้คือผู้หญิงในหนังสือของเขาจริงๆ เพราะไม่ว่าจะเขียนอะไรเพิ่มเติมลงไป เธอก็เป็นแบบนั้น แสดงออกแบบนั้น ช่วงแรกความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นไปได้ด้วยดี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งรูบี้ก็เปลี่ยนไป คาลวินกลัวจะเสียเธอไปยิ่งกว่าสิ่งใด เขาจึงต่อเติมรูบี้ตามต้องการ บงการเธออยู่เบื้องหลัง โดยที่เธอไม่รู้อะไรเลย และนั่นแหละคือความพินาศ ความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ร่วมกันสร้างมีแต่จะย่อยยับและทำให้เจ็บปวด โลกนี้ไม่ได้มีใครเป็นศูนย์กลางของใครทั้งนั้น มีแต่วงโคจรที่จะหมุนไปพร้อมๆ กัน หากเราค่อยๆ เรียนรู้ที่จะวิ่งไปพร้อมกัน

The End of the Tour (2015)

ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับนักเขียน เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลส เจ้าของผลงานเลื่องชื่ออย่าง Infinite Jest นวนิยายที่มีความหนามากกว่าหนึ่งพันหน้า เขาคือคนที่หลายคนชื่นชมและยกย่อง แต่ภายใต้ใบหน้าที่เราคุ้นเคยนั้นวอลเลสต่อสู่กับโรคซึมเศร้ามาอย่างยาวนาน จนที่สุดแล้วเขาก็จากไปในวัย 46 ปี

เนื้อหาของภาพยนตร์อ้างอิงมาจากหนังสือของเดวิด ลิปสกี้ นักข่าวโรลลิ่งสโตน เรื่อง Although of Course You End Up Becoming Yourself ว่าด้วยช่วงเวลาห้าวันที่เขาไปสัมภาษณ์วอลเลส ซึ่งหลังจากการไปทำงานครั้งนั้น บทสัมภาษณ์ระหว่างลิปสกี้และวอลเลสไม่ได้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารโรลลิ่งสโตน เนื่องจากทางทีมกำหนดเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ ให้เขาทำเสียก่อน แต่หลังจากที่วอลเลสเสียชีวิตลง ลิปสกี้จึงนำเทปสัมภาษณ์นี้ออกมาปัดฝุ่นใหม่

หลังทราบข่าวการเสียชีวตอของวอลเลสในปี 2008 ลิปสกี้รู้สึกใจหายเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อสิบสองปีก่อน เขาเคยมีโอกาสพบกับวอลเลสตรงๆ ผู้ชายที่ทุกคนต่างชื่นชมในผลงาน เขามีพรสวรรค์ มีความลุ่มลึก และมีในสิ่งที่ยากจะหาจากคนอื่น แต่เขาก็จากไปโดยการตัดสินใจของตัวเอง ลิปสกี้จึงหยิบบันทึกบทสนทนาเก่าในครั้งนั้นขึ้นมาฟัง แล้วภาพยนตร์ก็กลับสู่ช่วงเวลาไม่นานหลังวอลเลสปล่อยตัวหนังสือ

ลิปสกี้เดินทางไปพบวอลเลสที่บ้านย่านชานเมือง เขาช่างเป็นคนที่ถ่อมตัวและเป็นมิตร แต่ก็ไม่สนใจที่จะถูกสัมภาษณ์เท่าไรนัก สิ่งที่พวกเขาทำดูเหมือนการพูดคุยเสียมากกว่า มีการตั้งคำถาม ตอบคำถาม ตั้งแต่เรื่องจิปาถะทั่วไปจนถึงแนวคิดหรือทัศนคติ วอลเลสในมุมที่คนอย่างเราๆ คงไม่มีวันได้รู้จักหรือเห็นว่าเขาตอบคำถามอย่างไร เรื่องราวขับเคลื่อนไปด้วยเรื่องไม่จริงจัง แต่ในจุดหนึ่งก็จริงจังจนตึงเครียด พวกเขามีความเคารพกัน แต่ก็ริษยากัน ระหว่างที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันนั้นดูเหมือนจะมีบรรยากาศของการแข่งขันอบอวลอยู่เบาๆ แรงปรารถนาที่ซ่อนตัวอยู่กำลังพลุ่งพล่านออกมาให้เราเห็นผ่านบทตอนของบทสนทนาที่คืบคลานไปเรื่อยๆ

The Wife (2017)

The Wife เป็นผลงานภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับชาวสวีเดน บียอร์น รันจ์ เนื้อหาของเรื่องสร้างมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกัน ซึ่งได้นักแสดงรุ่นเก๋าอย่างเกล็นน์ โคลส และโจนาธาน ไพรซ์ มาร่วมงาน โดยก่อนหน้านี้เกล็นน์เคยติดต่อไปยังแกรี โอลด์แมน สำหรับบทโจเซฟ แคสเซิลแมน ด้วย แต่เขาไม่พร้อมสำหรับบทบาท

ในช่วงต้นของเรื่อง โจนาธาน ไพรซ์ ได้โควทประโยคจาก ‘ดอนกิโฆเต้’ มากล่าว ที่น่าตลกก็คือไพรซ์ได้รับบทเป็นดอนกิโฆเต้ ‘ตัวจริง’ ในภาพยนตร์เรื่อง The Man Who Killed Don Quixote งานกำกับชิ้นล่าสุดของ เทอรี กิลเลียม

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่กล่าวว่า “Behind Every Great Man, There is Always a Great Woman” ประโยคนี้ดูจะไม่เกินเลยเท่าไรนักสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ในเมื่อโจน แคสเซิลแมน เลือกที่จะยืนเคียงข้างและคอยเป็นแรงสนับสนุนเขาตลอดมา จนในที่สุดความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ก็ปรากฎ โทรศัพท์ปริศนาสายหนึ่งโทรเข้ามาแจ้งว่าโจเซฟ สามีของเธอได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม

ขณะที่ข่าวดีมาถึง โจนเองก็ไม่คิดหรอกว่านี่จะเป็นเหมือนจุดทำลายความสัมพันธ์ที่ยืนยาวมานานสี่สิบปี ณ จุดนี้เอง เราจะได้เห็นว่าเหตุการณ์ในอดีตนั้นมีความเป็นมาอย่างไร ชีวิตคู่ที่ใครเห็นก็ต่างชื่นชมนี้มีความขมขื่นอะไรซ่อนอยู่บ้าง สมัยโจนยังคงเป็นนักศึกษาสาว เธอเป็นมีความสามารถในการเขียนไม่เป็นรองใคร และอย่าง (ไม่) ตั้งใจ โจนก็มีความสัมพันธ์กับโจเซฟ ซึ่งตอนนั้นเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรมที่มีภรรยาอยู่แล้ว แต่ไม่นานนักการแต่งงานของโจเซฟก็ล้มเหลว และเขาก็มาลงเอยอยู่กับเธอ

ไม่ใช่แค่ชีวิตของโจเซฟที่พลิกผัน เพราะชีวิตโจนเองก็ไม่ต่างกัน แม้เธอจะมีความสามารถและความฝัน แต่ผลงานของนักเขียนหญิงก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับเท่าไร เธอจึงก้มหน้ายอมรับความจริงแสนเจ็บปวดนั้น แล้วอยู่เบื้องหลังผลงานต่างๆ ของโจเซฟ เธอเป็นนักเขียนในเงามืดที่ไม่เคยเปิดเผยตัวตน ดังนั้น ข่าวดีที่เดินทางมาถึงนี้จึงส่งผลสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งหัวใจ หรือนี่คือผลตอบแทนที่ความรักมอบให้เธอ…

Vita and Virginia (2018)

ภาพยนตร์โรแมนติกที่อิงไปกับอัตชีวประวัติของนักเขียนหญิง เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ซึ่งดัดแปลงมาจากจดหมายของเธอที่ส่งถึงหญิงสาวอีกคน ในช่วงที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองกำลังดำเนินไป ในตอนแรก เอวา กรีน ถูกคัดเลือกให้รับบทเวอร์จิเนีย วูล์ฟ แต่ก็ถูกแทนที่ด้วย แอนเดรีย ไรซ์โบโรห์ หลังจากนั้นแอนเดรียเองก็ถอนตัวออกไปเช่นกัน บทจึงมาตกอยู่ที่เอลิซาเบธ เดบิคกี

อิโซเบล วอลเลอร์บริดจ์ นักแต่งเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้บอกว่า เธอใช้จังหวะการเต้นของหัวใจที่แท้จริงของเอลิซาเบธ เดบิคกี ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย เราจะได้ยินเสียงหัวใจของเธอที่ถูกบันทึกไว้ในฉากเปิดตัว ผสมผสานไปกับดนตรีที่ถูกสร้างขึ้น จังหวะที่ทุกอย่างกำลังจะเริ่มต้นนั่นคือจังหวะเดียวกันกับหัวใจที่เธอใส่ลงไปในความรู้สึกวูล์ฟ

วิตา แซ็ควิลล์-เวสต์ นักเขียนและกวีชาวอังกฤษ เธอแต่งงานและมีลูกชายตัวน้อยแล้วถึงสองคน แต่ถึงอย่างนั้นนั่นก็ไม่อาจขวางกั้นความรักในหัวใจเธอได้ ในวันหนึ่งวิตาได้รับเชิญไปที่ Bloomsbury Group สถานที่ซึ่งนักเขียน ปัญญาชน และศิลปินมารวมตัวกัน เธอต้องการไปตามคำเชิญ เพราะในทางหนึ่งวิตาต้องการได้รับการยอมรับจากบุคคลในกลุ่ม แต่เธอขัดคำสั่งแม่ แล้วไปปรากฎตัวภายในงาน เหตุผลที่แม่ของวิตาไม่ปลื้มหากเธอจะไปงานนี้ก็เพราะครั้งหนึ่งวิตาเคยก่อวีรกรรมมาก่อน เธอแต่งตัวเป็นผู้ชาย แล้วหนีไปกับหญิงสาวนามไวโอเล็ต

การพบกันหนแรกระหว่างวิตากับวูล์ฟไม่มีอะไรเกินเลยทั้งนั้น แต่เพียงชั่วพริบตาที่ทั้งสองสบตากันนั้นราวกับว่าความสัมพันธ์ได้ก่อรูปสร้างร่างขึ้นแล้ว พวกเธอเริ่มติดต่อกันในเชิงการทำงาน มิตรภาพ จนพัฒนาเป็นความรัก… จดหมายหลายฉบับถูกส่งหากัน รวมถึงการนัดพบ แม้ว่าทั้งคู่จะมีสามีแล้วก็ตาม แรงปรารถนาถูกขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับความหลงใหล ความสัมพันธ์เกี่ยวกระหวัดผูกพันจนลึกซึ้ง และนี่เองคือเรื่องราวของเธอทั้งสอง อิทธิพลของวิตาต่อวูลฟ์นั้นถูกแสดงออกผ่านผลงานชิ้นสำคัญอย่าง Orlando: A Biography เปรียบได้กับจดหมายรักฉบับยาวที่วูล์ฟตั้งใจจะมอบให้เธอ และผลงานนั้นก็กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของงานวรรณกรรมจวบจนวันนี้

Tags: , ,